เรื่อง : เกศินี จิรวณิชชากร
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

โรงแรมอมารี

พ่อครัวเก็บผักจากแปลงผักลอยฟ้าเพื่อนำไปปรุงอาหารในครัวพนักงาน (ภาพ : โรงแรมอมารี เอเทีรยม)

ถ้าเอ่ยถึง “โรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ในมโนทัศน์อาจปรากฏภาพรีสอร์ต กระท่อมไม้ไผ่เรียงตัวเป็นทิวแถวท่ามกลางธรรมชาติสวยงาม แต่ทว่า ณ ใจกลางเมืองสีเทาๆ อย่างกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบและมลพิษ ยังมีโรงแรมระดับ ๔ ดาวแห่งหนึ่งที่ดำเนินกิจกรรมสีเขียวมาต่อเนื่องนานนับทศวรรษ

ตึกสูง ๒๒ ชั้นของโรงแรมอมารี เอเทรียม ตั้งอยู่บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ก้าวแรกที่เข้าไปเยือนบริเวณล็อบบี เราจะสัมผัสได้ถึงกลิ่นหอมอ่อนๆ โชยอยู่ในอากาศที่เย็นกำลังดี ไม่หนาวจนเกินไป สุรชัย พานวัน ผู้จัดการแผนกวิศวกรรมเล่าว่า อุณหภูมิภายในโรงแรมถูกปรับให้สัมพันธ์กับสภาพอากาศภายนอกในแต่ละฤดูกาล ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ ๒๔-๒๔.๕ องศาเซลเซียส ส่วนภายในห้องพักแขกซึ่งมีอยู่ ๕๖๘ ห้องนั้น ผู้เข้าพักจะปรับอุณหภูมิได้ในช่วงระหว่าง ๒๓-๒๕ องศาเซลเซียส อันเป็นระดับอุณหภูมิที่สบายกำลังดีสำหรับมนุษย์ และไม่สิ้นเปลืองพลังงานจนเกินพอดี

โดยทั่วไปโรงแรมระดับนี้จะมีภาระค่าไฟฟ้าสำหรับระบบทำความเย็นอยู่ที่ราว ๖๐% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด แน่นอนว่าความพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของโรงแรมย่อมหมายถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศโลก สุรชัยยังเล่าอีกว่าทางโรงแรมได้ปรับเปลี่ยนระบบทำความเย็นไปเป็นระบบปลอดสารซีเอฟซี ทุ่มเงินลงทุนไปหลายล้านบาท แต่จะช่วยประหยัดค่าไฟได้ประมาณ ๒ แสนบาทต่อเดือน คาดการณ์ว่าอัตรานี้จะคืนทุนภายในระยะเวลา ๕ ปี

กิจกรรมการพยายามลดใช้ไฟฟ้าและประหยัดน้ำเป็นสิ่งที่ดำเนินไปอยู่ทุกวันในโรงแรม พนักงานที่เข้าใหม่จะต้องผ่านการอบรมเพื่อปลูกจิตสำนึกในเรื่องรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่วนแขกที่เข้าพักในโรงแรมติดต่อกันหลายคืนก็มีส่วนร่วมลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรโลกและลดปริมาณน้ำเสียได้โดยเลือกที่จะช่วยกันลดการซักผ้าปูเตียงและผ้าขนหนูที่เพิ่งใช้งานเพียงเล็กน้อย วิธีการคือนำป้ายงดซักผ้าปูเตียงที่โรงแรมจัดไว้ให้วางไว้บนเตียง และแขวนผ้าขนหนูบนราวตากผ้า เพื่อสื่อสารให้แม่บ้านทราบ (หากแขกต้องการให้ซักผ้าขนหนูจะใส่ในอ่างอาบน้ำ)

change02

ผ้าห่อเสื้อผ้าซักรีด หนึ่งในหลากหลายผลงานการแปรสภาพผ้าขนหนูและผ้าปูเตียงเก่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งมีทั้งตู้เก็บผ้า ถุงผ้า ผ้าคลุม ตู้กดน้ำดื่ม ผ้ารองถาดเสิร์ฟในห้องอาหาร แผ่นรองแก้ว ผ้าคลุมเครื่องชั่งน้ำหนักตัว ผ้าเช็ดมือ ไปจนถึงผ้าเช็ดกระจก

change03

แม่บ้านแผนกซักรีดกำจัดคราบเฉพาะจุดด้วยสบู่เหลือใช้จากห้องพัก

สำหรับเสื้อผ้าที่แขกผู้เข้าพักต้องการส่งบริการซักรีด ทางโรงแรมได้เตรียมถุงผ้าเพื่อบรรจุเสื้อผ้าใส่แล้ว และเมื่อซักรีดเรียบร้อยแล้วจะส่งกลับมาในห่อผ้าเรียบหรูเมื่อพินิจดูดีๆ อาจสังเกตเห็นว่าถุงผ้าและห่อผ้านั้นมีเนื้อแบบเดียวกับผ้าปูเตียงนั่นก็เพราะผ่านการตัดเย็บมาจากผ้าปูเตียงที่เสื่อมสภาพนั่นเอง

เมื่อเปิดห่อผ้าออกจะพบเสื้อผ้าหอมๆ ที่ซักรีดอย่างสะอาด ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นผ่านการซักขจัดคราบเลอะเฉพาะจุด (อย่างเช่นตามคอเสื้อ หรือรอยคราบต่างๆ) ด้วยสบู่ก้อนที่เหลือจากห้องพักแขกในทุกๆ วัน วันละกว่า ๕๐ ก้อน ที่ไม่ต้องถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

แม่บ้านแผนกซักรีดเล่าว่าน้ำสบู่จากการละลายสบู่ก้อนเหล่านี้เป็นมิตรต่อผิวของพวกเธอ แม้ว่าจะต้องยืนขัดคราบเลอะบนเสื้อผ้าอยู่ทุกๆ วัน แถมยังกำจัดคราบได้สะอาดไม่เหลือร่องรอย ภาระหนักที่สุดภายในห้องซักรีดน่าจะเป็นงานของเครื่องทุ่นแรงอย่างอุโมงค์ซักผ้าขนาดใหญ่สำหรับรับมือกับผ้าปูเตียง เครื่องซักผ้าขนาดมหึมานี้ถูกออกแบบมาให้มีระบบหมุนเวียนและบำบัดน้ำในตัว ในแต่ละวันจึงต้องการน้ำป้อนเข้าระบบเพียงน้อยนิด ทั้งยังไม่ปล่อยน้ำเสียออกสู่ภายนอกเลย

แต่เดิมน้ำทิ้งจากทุกกิจกรรมในโรงแรมอมารี เอเทรียม จะถูกบำบัดก่อนปล่อยลงคลองแสนแสบด้านหลังโรงแรม ภายหลังเมื่อพัฒนาขึ้นมาเป็นโรงแรมใบไม้เขียว ๕ ใบ (ลำดับชั้นสูงสุดตามโครงการใบไม้เขียว อันเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) จึงได้เริ่มนำน้ำที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ทั้งหมดตามคำแนะนำในคู่มือของโครงการฯ ลออจิต อิงเจริญสุนทร ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลเล่าว่า ปัจจุบันน้ำที่บำบัดแล้วจะนำไปใช้รดต้นไม้ทั้งหมดจนไม่เหลือทิ้งออกไปภายนอก

แม้จะเป็นโรงแรมตึกสูงใจกลางเมืองอันมีพื้นที่จำกัด แต่ก็แลเห็นได้ถึงความพยายามปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะพืชสีเขียวที่คงทนและใช้ประโยชน์ได้มากอย่างต้นกล้วยลูกดกที่แออัดอยู่บนพื้นที่ว่างรอบรั้วโรงแรม ทางด้านบนสวนลอยของอาคารก็ยังเต็มไปด้วยพืชผักสวนครัวและสมุนไพรนานาชนิดสำหรับประกอบอาหารในครัวของพนักงาน จึงเป็นโชคดีของพนักงานโรงแรมที่ได้กินผักสดๆปลอดสารพิษ เพราะเติบโตขึ้นด้วยน้ำหมักชีวภาพจากเปลือกผลไม้ ซึ่งก็เป็นผลงานจากส่วนเกษตรของโรงแรมนั่นเอง

change04

น้ำหมักชีวภาพจากเศษเปลือกผลไม้นำไปใช้ในแปลงปลูกพืชในโรงแรมและทำความสะอาดคราบสกปรกในท่ีอน้ำ

เปลือกผลไม้จะไม่มีวันกลายเป็น “ขยะ” เช่นเดียวกับอาหารที่เหลือจากห้องอาหารจะมีผู้รับซื้อไปส่งฟาร์มหมูวันต่อวัน ทางด้านของเหลือใช้ใน “ถังขยะ” จากห้องพักจะผ่านมือเหล่าแม่บ้านมดงานคัดแยกตามประเภทเพื่อรวบรวมไปขายให้บริษัทรับซื้อขยะเพื่อรีไซเคิล แม้ว่า “ขยะ” ทั้งหลายจะขายได้เงิน แต่การลดขยะคือประเด็นสำคัญที่สุด ซัปพลายเออร์เองก็มีส่วนช่วยลดการเผาผลาญทรัพยากรและลดมลพิษได้ เช่นการเลิกใช้ถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งบรรจุผักผลไม้ส่งให้โรงแรม แต่หันมาใช้ตะกร้าที่โรงแรมแจกให้

เหล่านี้คือกิจกรรมบางส่วนที่โรงแรมสัญชาติไทยแห่งนี้ดำเนินการต่อเนื่องนานนับสิบปี เพราะ “ความต่อเนื่อง” คือกุญแจสำคัญในการสร้างองค์กรหรือชุมชนรักษ์สิ่งแวดล้อม มาร์โค เอ แซกเซอร์ ผู้จัดการทั่วไปกล่าวว่า “เราดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด และต่อยอดจากรากฐานที่มีอยู่เสมอ เพราะหากทำๆ หยุดๆ ก็จะไม่เกิดการพัฒนาสิ่งสำคัญอีกอย่างคือการสื่อสารให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน เราไม่สามารถปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้พนักงานได้ ถ้าเราไม่ลงมือทำจริงจังและบอกให้ทุกคนรู้ว่าเรากำลังทำอะไร เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำที่นี่ก็จะเป็นสิ่งที่พวกเขาจะกลับไปทำที่บ้านด้วย อย่างในยุโรปแต่ละครัวเรือนต่างทำกิจกรรมเหมือนกับที่เรากำลังพยายามอยู่นี้ ทั้งการแยกขยะ ทำปุ๋ยจากเศษอาหาร นำปุ๋ยไปปลูกผัก พวกเขาทำกันเป็นกิจวัตรเลย”

ผู้บริหารชาวอิตาลีที่นั่งแท่นดูแลโรงแรมสีเขียวแห่งนี้มานาน ๘ ปี ชี้ความแตกต่างของแขกผู้เข้าพักชาวยุโรปและเอเชีย “ที่นี่เห็นได้ชัดว่าแขกชาวยุโรปจะมีส่วนร่วมลดการซักผ้าปูเตียงและผ้าขนหนูกันมากกว่า ทางฝั่งเอเชียก็เห็นกันว่าเป็นเรื่องปรกติที่มักจะคิดว่าในเมื่อเสียเงินเข้าพักในโรงแรมแล้ว เราก็มีสิทธิ์ใช้สอยทุกอย่างได้เต็มที่ ถึงแม้ธรรมดาเราอยู่บ้านอาจจะเปลี่ยนผ้าปูเตียงหรือผ้าขนหนูอาทิตย์ละครั้ง แต่เมื่อเข้าพักโรงแรมคุณก็จะคิดว่าฉันจ่ายเงินแล้วคุณต้องเปลี่ยนให้ฉันทุกวัน ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลยเพราะมันไม่ได้สกปรก สังคมน่าจะช่วยกันสร้างจิตสำนึกในเรื่องนี้”

ได้ยินแบบนี้ทำให้เกิดคำถามว่าการพยายามลดใช้ทรัพยากรต่างๆ นี้จะมีผลกระทบต่อความพึงพอใจของผู้ใช้บริการหรือไม่ “แขกย่อมคิดว่ามันฟังดูดีกว่าถ้าเขาได้เข้าพักในโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่แน่นอนว่าลูกค้าจะไม่ยอมเสียเงินเพิ่มเพื่อสิ่งเหล่านี้ ในส่วนของโรงแรมก็ต้องจัดการทุกอย่างไม่ให้บกพร่อง แขกควรได้รับการบริการทุกสิ่งครบถ้วนตามที่ควรจะได้โดยทั่วไป”

แต่ละวันมีผู้แวะเวียนมาใช้บริการโรงแรมหรูกลางใจเมืองแห่งนี้นับร้อยคน และอาจเพียงแค่ผ่านไปโดยไม่ทันสังเกตเห็นความพยายามรักษาสิ่งแวดล้อมของโรงแรมเลยก็ตาม ด้านผู้บริหารอมารี เอเทรียมก็ยืนยันจะเดินต่อไปบนเส้นทางนี้ ด้วยว่านโยบายสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เพียงการทำกิจกรรมเขียวๆ แต่มันคือวิถีทางการดำเนินการโดยรวม เป็นส่วนสำคัญของระบบทั้งหมด และที่สำคัญยังให้ผลตอบแทนที่ “คุ้มค่า” อันยั่งยืนมากกว่าตัวเลขเงินตราในวันนี้พรุ่งนี้

โรงแรมคือที่พักพิงชั่วคราวของผู้คนที่เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ พวกเขามาแล้วก็ไป แต่ร่องรอยที่ตกค้างจากช่วงเวลาสั้นๆ นั้นคือความ “ประทับใจ” ซึ่งอาจก่อเกิดขึ้นอย่างเรียบง่ายเมื่อได้อยู่ท่ามกลางสถานที่เป็นมิตรและปลอดภัย …ทั้งต่อผู้คนและสรรพสิ่งรอบตัว

๑๐ ไอเดียเขียวๆ จากทุกจุดในโรงแรม

  1. จัดภาชนะขนาดเล็ก และตัดแบ่งอาหารค็อกเทลเป็นคำเล็กๆ เพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งจากการตักอาหารบุฟเฟต์มากเกินพอดี
  2. งดจัดวางกระดาษ ดินสอ และเครื่องดื่มล่วงหน้าในห้องจัดสัมมนา ลดการก่อขยะที่ไม่จำเป็น
  3. ลดใช้ดอกไม้ หรือใช้ดอกไม้ที่ปลูกภายในโรงแรม และพยายามหมุนเวียนการใช้ไม้ดอกไม้ประดับในจุดต่างๆ
  4. ลดใช้เครื่องปรับอากาศโดยเปิดหน้าต่างรับลมในระหว่างที่แม่บ้านทำความสะอาดห้อง
  5. เปลี่ยนก๊อกน้ำในส่วนพนักงานให้เป็นก๊อกน้ำแบบกด เพื่อควบคุมปริมาณการใช้น้ำ และติดตั้งชักโครกรุ่นที่สามารถเลือกกดน้ำน้อย หรือมากได้
  6. แบ่งโซนห้องพักสูบและไม่สูบบุหรี่ เพราะควันบุหรี่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องปรับอากาศลดลง ๓ เท่าตัวทั้งยังสิ้นเปลืองพลังงานในการทำความสะอาด ห้องพักมากกว่าปรกติ
  7. ติดแผ่นฟิล์มกันความร้อนตามกระจกหน้าต่าง
  8. บริจาคของใช้ส่วนตัวที่ผู้เข้าพักไม่ต้องการเพื่อมอบแก่คนยากไร้หรือมูลนิธิต่างๆ
  9. เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผักจากฟาร์มออร์แกนิก หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่มีสารเคมีอันตราย รวมถึงอุดหนุนผลิตภัณฑ์ในประเทศ
  10. ติดตั้งระบบบันทึกข้อมูลการใช้น้ำและพลังงานตามแต่ละจุดเพื่อตรวจสอบการใช้ทรัพยากร และลดการรั่วไหลในแต่ละจุด อีกทั้งเป็นประโยชน์ในการวางแผนลดใช้ทรัพยากร