luangportuad02

ปาฏิหาริย์…

พาดหัวหนังสือพิมพ์ธรรมะ-พระเครื่องอันดับหนึ่งของประเทศ มติสวรรค์ ฉบับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔

“ปาฏิหาริย์หลวงพ่อทวดช่วยน้ำท่วม เกิดประกายไฟบนลูกแก้ว”

รายละเอียดของข่าวระบุว่า ระหว่างที่ทางวัดห้วยมงคล อำเภอหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์  กำลังระดมข้าวของอุปโภคบริโภคนำไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคกลาง ได้เกิดประกายไฟมีควันพวยพุ่งออกมาจากลูกแก้วที่อยู่ในมือหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่  แต่เมื่อตรวจสอบก็ไม่พบว่าลูกแก้วมีรอยไฟไหม้แต่อย่างใด  เจ้าอาวาสจึงเชื่อว่าอาจเป็นการแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อทวดเพื่อจะบอกว่าท่านก็ห่วงใยบ้านเมืองที่เกิดภัยพิบัติใหญ่ครั้งนี้

นี่อาจถือเป็นเหตุการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับอภินิหารหลวงพ่อทวดที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงที่เกิดสถานการณ์มหาอุทกภัย ๒๕๕๔

แต่หากย้อนกลับไปในอดีต ข่าวคราวเกี่ยวกับปาฏิหาริย์พระเครื่องหลวงพ่อทวดมีมาโดยตลอด และจำนวนหนึ่งมักเกี่ยวพันกับคนมีชื่อเสียงและผู้มีฐานะทางสังคม

ที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์หัวสีหลายฉบับ ก็ในคราวโจรปล้นเงิน ๖ แสนกว่าบาท จากเจ้าหน้าที่ธนาคารทหารไทย สาขายะลา  แต่ไม่สามารถเอาเงินไปได้

ไทยรัฐ พาดหัว  “ฮือฮาหลวงปู่ทวด โจรบุกยิง ชิง ๖ แสน-ปืนด้านดื้อๆ”

เดลินิวส์ “อภินิหาร ‘ปู่ทวด’ โจรชิง ๖ แสน ต้องเผ่นหนี”

ภายหลังเจ้าหน้าที่ธนาคารที่เป็นผู้ถือเงินในวันเกิดเหตุได้เล่าเหตุการณ์วันนั้นว่า ระหว่างถือเงินในถุงกระดาษสีน้ำตาลเดินไปส่งให้ลูกค้าในสำนักงานซึ่งอยู่ห่างจากธนาคารราว ๑๐๐ เมตร มีโจรมาจี้จะเอาเงิน ก็เกิดการยื้อยุดกัน  โจรยิงเขานัดหนึ่ง แต่ลูกปืนไม่ออก มีเสียงดังแชะ  จากนั้นก็ยิงซ้ำอีก ๒ นัด แต่ผลเหมือนเดิม

โจรหันไปยิงเจ้าหน้าที่อีกคน อีก ๒ นัด ปืนก็แชะเหมือนเดิม

เจ้าหน้าที่ธนาคารรายหลังให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ปืนของโจรจ่อมาที่เขาในระยะใกล้มาก จนเขาเห็นว่าตรงปากกระบอกปืนมีควันขึ้น แต่ไม่รู้ว่ากระสุนไปไหน

หลังเหตุการณ์ไม่เป็นดังคาด โจรวิ่งไปขึ้นรถจักรยานยนต์ที่เพื่อนติดเครื่องรออยู่แล้ว เร่งรถหนีไปโดยไม่ได้แตะต้องเงิน

ต่อมาโจรถูกจับได้ มายกมือไหว้และกล่าวขอโทษเจ้าหน้าที่ทั้งสอง ซึ่งได้นำความมาเล่าต่อว่า โจรบอกว่าเขาหนีไปด้วยความกลัว ไม่กล้าหยิบเงิน ๖ แสนกว่าบาทที่หล่นกระจายอยู่เกลื่อนพื้น เพราะรู้ว่าคนที่ตนยิงนั้นมีของดี “ในปืนกระบอกหนึ่งจะมีลูกปืน ๖ นัด  แต่มือปืนมักจะเหลือไว้ในกระบอก ๑ นัด เพื่อไว้ป้องกันตัวเอง  พอหนีไปได้ เย็นวันนั้นมือปืนรายนี้ได้ลองเอาปืนที่มีกระสุนเหลืออยู่อีก ๑ นัด ไปยิงลูกมะพร้าว เพราะยังสงสัยว่าทำไมเมื่อเช้าพลาดได้  ปรากฏว่ามะพร้าวถูกกระสุนปืนหล่นลงมาทั้งทะลาย”

เจ้าหน้าที่ธนาคารคนที่เล่า บอกว่าเขาแขวนพระเครื่องหลวงพ่อทวดวัดศรีมหาโพธิ์ (อำเภอโคกโพธิ์ ปัตตานี) ซึ่งมีตะกรุดอยู่ด้านหลังด้วย

หลังจากนั้นชาวบ้านก็มักเรียกพระเครื่องหลวงพ่อทวดรุ่นนี้ว่า “รุ่นพิมพ์ ๕ แชะ”

แต่นั่นก็ยังถือเป็นเหตุการณ์ในชั้นหลัง  เรื่องราวเกี่ยวกับอภินิหารหลวงพ่อทวดมีการบันทึกไว้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวนับแต่มีการสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เมื่อปี ๒๔๙๗  เขียนโดย อนันต์ คณานุรักษ์  ผู้จัดสร้างพระเครื่องนั่นเอง

ในบันทึกเรื่องหนึ่งเขาอ้างถึงพลตำรวจ รวย ดำรักษ์  ที่ถูกทางการส่งไปปราบโจรผู้ร้ายที่พัทลุงเมื่อปี ๒๔๙๙  นั่งเรือไปปะกับโจรแถวทะเลน้อย ถูกโจรยิงด้วยปืนสั้นเข้าที่คิ้วซ้าย ถึงสลบตกน้ำ รู้สึกตัวอีกทีเมื่อขึ้นมานั่งอยู่ริมน้ำ ปืนเล็กยาวของเขาหายไปพร้อมกับเรือ

ผู้เขียน (อนันต์ คณานุรักษ์) ถาม “ใครเอาตัวพลฯ รวยขึ้นจากน้ำเมื่อกำลังสลบอยู่”

เขาตอบ  “ไม่ทราบ”
“มีใครอยู่ใกล้เคียงที่นั่นบ้าง”
“ไม่มีใคร เขานั่งอยู่คนเดียว”

ผู้เขียนถามพลตำรวจหนุ่มต่อไปว่า แล้วรอดชีวิตจากกระสุนที่ยิงในจุดสำคัญและสลบจมน้ำมาได้อย่างไร มีของดีอะไรติดตัวบ้าง

พลฯ รวยตอบว่า “ผมมีพระเครื่องหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ได้ขอจากท่านอาจารย์ทิม ที่วัดช้างให้  อยู่ในกระเป๋าเสื้อ ๑ องค์  ผมจึงเชื่อแน่ว่า หลวงพ่อทวดฯ ได้กรุณาคุ้มครองชีวิตผมไว้จึงรอดตายมาได้ทั้งสองครั้ง”

อีกเรื่องเป็นจดหมายจากขุนเจนเวชศาสตร์ เขียนถึง อนันต์ คณานุรักษ์  ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๙๙  เล่าเหตุการณ์คราวไปเยี่ยมญาติที่ชุมพร และได้มอบพระเครื่องหลวงพ่อทวดฯ แก่นายเขียว ซึ่งเมื่อรับแล้วก็นำไปแขวนกับเสา ยกปืนเตรียมยิง  ตนรีบร้องห้ามแต่ไม่ทันเขาเหนี่ยวไก เสียงปืนดังแชะ  เขาเหนี่ยวไกซ้ำอีกที กระสุนจึงระเบิดขึ้น ปืนแตกหักเป็นสองท่อน  คนยิงไม่ได้รับอันตรายอะไร แต่ต้องสูญเสียปืนแก๊ปกระบอกนั้นไป  กลายเป็นเรื่องเล่าลือในถิ่นนั้น

อีกเรื่องหนึ่ง อนันต์ คณานุรักษ์ บันทึกว่าเมื่อปี ๒๕๐๒ มีคนมุสลิมจากอำเภอจะนะ (สงขลา) มาที่วัดช้างให้กับเพื่อนชาวพุทธ ขอพระเครื่องหลวงพ่อทวดฯ จากพระครูวิสัยโสภณ เจ้าอาวาสวัดช้างให้ และท่านได้ให้ไว้ ๑ องค์  ผ่านไปเดือนเศษเขากลับมาพร้อมเพื่อนทั้งชาวพุทธและมุสลิมอีกหลายคน  มาเล่าให้ฟังว่าเมื่อได้พระเครื่องหลวงพ่อทวดฯ ไปแล้ว  เขาถูกคนที่อาฆาตเขา ๒ คนระดมยิงขณะเดินผ่านทุ่งนาเข้าป่าละเมาะ  กระสุนของคนแรกผ่านศีรษะไป อีกคนยิงเขาเข้าที่หน้าท้อง เสื้อขาดเป็นรู แต่ปรากฏว่ากระสุนลูกปรายไม่เข้า เพียงแค่มีรอยช้ำเป็นจุดแดงๆ  เขาไปแจ้งกำนัน และถูกขอให้เลิกอาฆาตต่อกัน  ซึ่งเขายอม แต่ไม่ไว้ใจคู่อริ กำนันจึงพาขึ้นรถไฟไปสาบานต่อหน้าสถูปหลวงพ่อทวดที่วัดช้างให้ ว่าจะไม่คิดปองร้ายต่อกันอีกต่อไป

เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของเรื่องเล่าหลายๆ เรื่องที่เผยแพร่อยู่ในหนังสือ ประวัติหลวงปู่ทวด “เหยียบน้ำทะเลจืด” ที่ อนันต์ คณานุรักษ์ บันทึกไว้นับแต่มีการสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดรุ่นแรกออกมา

 

luangportuad05

(พระเครื่อง) ต้นธารความศรัทธา

หลวงพ่อทวดมีชีวิตอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งโลกยังไม่มีเทคโนโลยีในการบันทึกภาพ  รูปลักษณ์หน้าตาของท่านที่เห็นจากพระเครื่องหรือประติมากรรมที่เกิดขึ้นในชั้นหลังซึ่งกินเวลาห่างกันหลายร้อยปี ล้วนเป็นภาพจากนิมิตที่ว่ากันว่าท่านแสดงอภินิหารให้เห็น

เริ่มจากที่พระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดช้างให้ เมื่อปี ๒๔๘๔  ได้สืบประวัติความเป็นมาของวัดพบว่า เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  เจ้าอาวาสรูปแรกคือหลวงพ่อทวด  แต่ยังมีความข้องใจเรื่องอาณาเขตของวัด ถามชาวบ้านข้างเคียงก็ไม่มีใครรู้ชัด

กระทั่งคืนหนึ่งท่านฝันว่า พบชายแก่ยืนอยู่กลางลานวัด จึงถามเรื่องที่กำลังสงสัย  ผู้เฒ่าคนนั้นบอกให้ไปถามท่านเหยียบน้ำทะเลจืดใน “เขื่อน” หรือสถูปศักดิ์สิทธิ์ที่บรรจุอัฐิหลวงพ่อทวด ที่หน้าวัดช้างให้  จากนั้นก็นำเจ้าอาวาสไปที่เขื่อน

เมื่อไปถึงมีภิกษุผู้เฒ่า ๔ รูปเดินออกมา ซึ่งก็คืออดีตเจ้าอาวาสวัดช้างให้รูปก่อนๆ คือ หลวงพ่อสี หลวงพ่อทอง หลวงพ่อจันทร์ และรูปหลังสุดถือไม้เท้า ๓ คดยันพื้น

ชายเฒ่าชี้บอกว่า พระชรารูปนี้แหละคือ หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด

จากนั้นภิกษุชราก็เดินนำพระอาจารย์ทิมไปชี้เขตวัดทั้ง ๔ ทิศ ตลอดถึงเนินดินที่เคยเป็นโบสถ์โบราณ และได้บันดาลให้เห็นวัตถุมีค่าในหลุมนิมิต

เมื่อจะกลับเข้าไปในเขื่อน ท่านสั่งว่า ถ้าต้องการสิ่งใดก็ขอให้บอก

พัฒนาบูรณะวัดช้างให้จนเจริญขึ้นแล้ว พระอาจารย์ทิมก็ดำริจะสร้างพระอุโบสถใหม่แทนของเดิมสมัยหลวงพ่อทวดซึ่งพังทลายสูญหายไปสิ้นแล้ว  เริ่มวางศิลาฤกษ์ในปี ๒๔๙๕  แต่ก็มีอันต้องหยุดชะงักด้วยปัจจัยในการก่อสร้างต้องใช้ทุนสูง

จนถึงต้นปี ๒๔๙๗  อนันต์ คณานุรักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี (๒๔๘๙-๒๔๙๑) มากราบอัฐิหลวงพ่อทวดที่วัดช้างให้ และได้นมัสการพระอาจารย์ทิม

เขาบันทึกถึงการมาเยือนวัดช้างให้ และได้รู้จักท่านเจ้าอาวาสเป็นครั้งแรกว่า

ในการสนทนากันตอนหนึ่งข้าพเจ้าได้เรียนถามท่านอาจารย์ฯ ว่า “โบสถ์ที่สร้างค้างอยู่นั้นท่านไม่คิดจะสร้างพระเครื่องไว้แจกจ่ายแก่ผู้สละทรัพย์โมทนาสร้างโบสถ์บ้างหรือ”

ท่านอาจารย์ตอบว่า “เคยคิดมา ๒ ปีแล้วแต่ไม่สำเร็จ”

ข้าพเจ้าจึงรับว่า “ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าขอรับจัดสร้างขึ้นถวาย”

จากนั้นเขาบันทึกไว้อีกว่า
…เห็นพระเครื่องลอยเด่นอยู่ตรงหน้าเป็นรูปพระภิกษุชรานั่งขัดสมาธิอยู่บนดอกบัวมีสีพระองค์ดำ ปรากฏการณ์อันมหัศจรรย์ครั้งนี้โดยหลวงพ่อทวดฯ บันดาลให้ข้าพเจ้าได้เห็นเป็นมโนภาพอย่างชัดเจนยิ่งนัก ข้าพเจ้าจึงดูนาฬิกาที่ข้อมือ ขณะนั้นเวลา ๑๓.๒๕ น.

ข้าพเจ้าจึงได้เรียนให้ท่านอาจารย์ทราบว่า  “ตามนิมิตโดยอำนาจของหลวงพ่อทวดครั้งนี้ เนื่องจากท่านแนะนำให้สร้างพระเครื่องขึ้นแทนองค์ของท่านเอง จำเป็นที่เราจะต้องปฏิบัติตาม และขอให้ท่านอาจารย์เป็นสื่อการติดต่อกับวิญญาณของท่านในพิธีการที่จะสร้างพระเครื่องทุกๆ ระยะโดยใกล้ชิดด้วย”

เริ่มกดพระพิมพ์เข้าเบ้าพิมพ์เป็นปฐมฤกษ์ในวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๔๙๗  จนถึงวันที่ ๑๕ เมษายนปีนั้น ได้พระเครื่องเนื้อว่านรุ่นแรก ๖๔,๐๐๐ องค์ ประกอบพิธีปลุกเสกในอีก ๓ วันต่อมา คือวันอาทิตย์ที่ ๑๘ เมษายน ตรงกับขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕  ตั้งแต่เที่ยงวันไปจนกระทั่งสี่โมงเย็น ในพระอุโบสถเก่า โดยมีพระครูวิสัยโสภณเป็นประธานในพิธีบริกรรม

…ผู้เขียนสร้างพระเครื่องเป็นรูปพระภิกษุชราต่างองค์สมเด็จท่านและตามนิมิต ณ วัดช้างให้ ซึ่งปรากฏทราบกันมาดีแล้ว

ผู้เขียนปรารภกับพระครูวิสัยโสภณว่า “พระเครื่องนี้จะให้ชื่อว่าพ่อท่านทวดตามความนิยมเรียกของคนถิ่นนั้น”

แต่ท่านพระครูฯ นั่งสมาธิถามท่าน “ท่านว่าไม่เอา”
ถามต่อไปว่า “จะให้ชื่อว่าสมเด็จเจ้าพะโคะหรือ”
ท่านว่า “ชื่อนี้ให้เขาเรียกกันทางโน้น” (หมายถึงภูมิลำเนาเดิมหรือวัดพะโคะ)
“ถ้ากระนั้นจะชื่ออย่างไร ?”
วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของท่านบอกว่า “ให้ชื่อ หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด”

พระอริยสงฆ์เก่าแก่ยุค ๓๐๐-๔๐๐ ปีก่อน จึงเป็นที่รู้จักของคนรุ่นหลังในชื่อ หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด  ซึ่งตามความจริงนั่นไม่ใช่ทั้งชื่อและฉายาของท่าน