ทีมการเดินทางสู่ปลายฝัน
เรื่อง : อดิเรก เร่งมานะวงษ์
ภาพ : คุภัทร เร่งมานะวงษ์

“แน่ใจนะครับที่จะไปหาพระอาจารย์ มีคนรู้จักหลายคนว่า ท่านเป็นพระผีบ้า”

น้ำเสียงกังวลใจของหลานชาย ผู้ทำหน้าที่ถ่ายรูปและกำหนดเป้าหมายการเดินทาง ทำให้ผมแอบลังเลกับคำถามที่ย้ำๆ หลายวันก่อน จนเกือบถึงครึ่งทางของจุดหมายข้างหน้าแล้ว

เช้าวันหนึ่งของเดือนตุลาคม เมื่อมองพ้นกระจกรถยนต์ บนเนินเขาเห็นต้นพญาสัตบรรณเรียงราย หลายต้นออกดอกสีขาวบานสะพรั่ง บางดอกเริ่มโรยรา ท่ามกลางสีเขียวของหญ้าและพุ่มไม้เล็กๆ ที่ได้รับน้ำฝนวันเว้นวัน

ผมตอบยืนยันกับหลานชายถึงความตั้งใจไปเจอพระอาจารย์ พระผีบ้าที่ได้ยินข่าวมาอาจมีบางสิ่งซ่อนอยู่ หลายคนเป็นแรงบันดาลใจแก่สังคม ผมบอกตัวเองว่า “โลกนี้เปลี่ยนแปลงด้วยคนธรรมดาสามัญหรือคนผีบ้า มิใช่เทวดานางฟ้าองค์ใด”

เมื่อเข้าสู่หมู่บ้านโจด ตำบลสามสวน อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ จะเห็นป้ายวัดป่าภูพระบาทเคียงคู่ป้ายป่าชุมชนภูตะเภา เลี้ยวเข้าไปตามถนนลูกรัง บางช่วงเป็นหลุมบ่อมีน้ำขังนอง แหงนมองขึ้นไปบนภูเขาจะเห็นยอดเจดีย์ของวัดเหลืองอร่ามตา เงาเมฆทาบทับแมกไม้ แสงแดดสาดทะลุใส่ใบไม้ที่ซ่อนตัว บรรยากาศรื่นรมย์ข้างทางระหว่างขึ้นภูเขาไม่ชันใช้เวลาไม่นาน

เบื้องหน้านอกจากพระพุทธมหารัตนเจดีย์ตระการตาแล้ว ยังมีบันไดพญานาค กำแพงท้าวเวสสุวรรณ พระพุทธรูปมากมาย พญาช้างตัวโตสีแก่นขนุนเข้ม วิหารคดตระหง่าน และก้อนหินแท่งมหึมาที่บรรจงแกะสลักรูปทรงต่างๆ ในชีวิตผมถือเป็นวัดป่าที่ใหญ่โตงดงามแห่งหนึ่ง

เข้าไปในเจดีย์พระอาจารย์เจิมฤทธิ์ สุทธจิตโต รออยู่ท่ามกลางพระพุทธรูปมากมาย โครงกระดูกมนุษย์ในตู้กระจก เหลือบเห็นโลงแก้วมีรูปหล่อเท่าคนจริงพร้อมป้ายฉายาของท่านเอง เมื่อมองพระอาจารย์ วัยของท่านไม่น่าเกิน ๔๐ ท่านนั่งสงบเงียบ สวมหมวกไหมพรมสีน้ำตาลเข้ม แต่ห่มจีวรไม่เหมือนพระภิกษุทั่วไป ผ้าเก่าๆ ขนาดเท่าฝ่ามือหลากสีปะติดปะต่อกันคล้ายลายลูกเต๋า ผมรู้สึกอึดอัดเล็กน้อย ผุดคิดในใจว่า “ไม่แปลกใจเลยที่หลายคนมองเป็นพระผีบ้า”

ราวกับพระอาจารย์รู้ว่าผมคิดอะไรอยู่ จึงกล่าวว่า

“ในสมัยพุทธกาล พระสงฆ์จะแสวงหาเศษผ้าตามป่าช้า ผ้าห่อศพ หรือสถานที่ต่างๆ ที่เขาทิ้ง เช่น ผ้าเปื้อนฝุ่น ผ้าตกอยู่ในกองขยะ หรือญาติโยมคนใดต้องการถวายผ้าแก่พระภิกษุก็จะแขวนไว้ตามป่าหรือทางสัญจรผ่านพระสงฆ์ก็จะนำไปซัก ตัด เย็บ ย้อมเป็นจีวร เรียกผ้าชนิดนี้ว่า บังสุกุลจีวร”

พระอาจารย์เห็นว่าปัจจุบันการตัดเย็บสบงจีวรของพระสงฆ์เปลี่ยนไป รวมทั้งการครองผ้าจีวรที่มีพิธีกรรมทางศาสนากำกับ แต่พระสงฆ์สมัยนี้ค่อนข้างละเลย เช่นการอธิษฐานผ้า

“ถ้าเป็นพระภิกษุที่ถือเคร่งทางวินัยจะตัดเย็บจีวรจากผ้าที่ว่ามา”

พระอาจารย์บอกต่อว่า

“รู้ว่ามีคนคิดเป็นพระผีบ้าและไม่ศรัทธา แต่เข้าใจ ถ้าว่างช่วงต้นเดือนหน้ามีกฐินของวัด… กฐินแปลว่าไม้สะดึงสำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรถวายพระ จะมีชาวบ้านร่วมกันสะดึงปะผ้ากฐินตามหลักพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้”

สายลมโชยอ่อนสัมผัสตัวแผ่วเบา ประหนึ่งเป็นผู้ดู ผู้ฟัง เหมือนผม

พระอาจารย์เจิมฤทธิ์ เปลือกหุ้มทุกข์ สุขในแก่น (ของพระผีบ้า)
วัดป่าภูพระบาท พระอาจารย์เจิมฤทธิ์ยืนท่ามกลางพุทธมหารัตนเจดีย์และวิหารคด
phrapeeba02
ชาวบ้านร่วมกันสะดึงปะผ้ากฐินตามหลักพระธรรมวินัย
phrapeeba03
วันงานทอดกฐินของวัดป่าภูพระบาท กฐิน แปลว่า ไม้สะดึงสำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรถวายพระ ทำให้จีวรของพระอาจารย์แตกต่างจากพระสงฆ์ทั่วไป

ผู้ไปก่อนกาลเวลา

เจ้าชายสิทธัตถะทรงออกจากพระราชวังไปทำสมาธิที่ป่า วันที่ตรัสรู้ ประทับใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก

ผมหลับตานึกถึงพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ห่มผ้าตัดกิเลสตัณหา และหลบหนีความวุ่นวายทางโลกไปอยู่ท่ามกลางแมกไม้ทะมึน มองไปทางไหนก็ป่า

พระอาจารย์เล่าถึงการมาที่แห่งนี้ “เป็นลูกคนชายคนเดียวคนสุดท้อง ฐานะยากจน แต่พ่อกับแม่ส่งให้เรียนได้ อาชีพตอนหนุ่มเป็นครูสอนเด็กนักเรียน สอนไม่นาน ต้องการบวช เพราะรู้เป้าหมายตนเอง จำพรรษาที่วัดหลายแห่ง แห่งสุดท้ายที่จังหวัดสกลนคร พอดีมีญาติในหมู่บ้านนี้เสียชีวิต มาร่วมงานนอนที่ป่าช้าของหมู่บ้าน มองเห็นภูเขารู้สึกสงบเย็นเหมาะแก่การภาวนา เลยขึ้นมา จากวันนั้นถึงวันนี้ ๙ ปีแล้ว”

การสร้างวัดและสถาปัตยกรรมมากมายไม่มีพระลูกวัดช่วย ไม่มีหน่วยงานใดสนับสนุน แต่ด้วยความเกื้อกูลจากผู้มีจิตศรัทธาโดยไม่ได้ร้องขอ ทำไปเรื่อยๆ ทีละนิด แม้หลายครั้งเจอความขัดแย้งจากรัฐและชุมชนบ้าง แต่ก็ผ่านพ้นมาได้ วัดนี้ถือเป็นมรดกแผ่นดินที่พระอาจารย์ต้องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เผยแผ่หลักธรรม และเป็นแหล่งเรียนรู้สมุนไพรและรักษาป่าไปในตัว

“วันเวลาจะกลืนกินเรา จึงต้องกลืนกินเวลาก่อน หรือไปก่อนกาลเวลา ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ไม่อยากเห็นภาพตัวเองเป็นพระแก่ๆ มาสร้างวัด ไม่อยากเสียดายว่า ตอนมีกำลังวังชาทำไมไม่ทำ เตือนตัวเองเสมอว่าความตายมาเยือนในทุกขณะ การรอเวลาเป็นการเปล่าประโยชน์ ตอนแก่ตัวลงอยากภาวนาเพราะเป็นสิ่งเดียวที่ทำได้ จะให้แบกหินปูนทรายคงไม่ไหวแล้ว” พระอาจารย์เล่าพลางพยักหน้าเป็นช่วงๆ

พระอาจารย์เล่าต่อ “คนเราต้องมีสติ ให้ตายก่อนตาย เพราะเดี๋ยวจะตายก่อนถ้าเราไม่พยายามตัดรัก โลภ โกรธ หลง ดังนั้นถ้าต้องการศึกษาธรรมะก็ทำเลยไม่ต้องรอบวชเป็นพระ หลายคนบรรลุพระโสดาบันโดยไม่จำเป็นต้องบวช เช่น พระเจ้าสุทโธทนะ พระบิดาของพระพุทธเจ้า”

ผมพยักหน้าหงึกๆ เช่นกัน ค่อยๆ ทำความเข้าใจ พระอาจารย์จึงเอ่ยชวน

“นั่งนาน น่าเบื่อ ยืดแข้งยืดขาไปขึ้นภูเขากันดีกว่า”

phrapeeba04
ต้นไม้แม้ยืนต้นเดียวโดดเดี่ยวลำพัง แต่สามารถสร้างคุณค่าและประโยชน์แก่สรรพสิ่งบนโลก
phrapeeba05
ต้นหมากเล็บแมว ผลไม้หายาก ที่กิ่งเต็มไปด้วยหนามแหลม

ธรรมชาติของต้นไม้

ระหว่างทางจากวิหารคดขึ้นสู่ภูเขา พระอาจารย์เดินนำพร้อมไม้เท้า สีดำลายขาวที่เป็นประกายจ้าเมื่อต้องแสง ต้นไม้เขียวขจีเรียงรายสองฟากฝั่ง ทางเดินค่อยๆ แคบลงๆ จนเดินได้เพียงคนเดียว บรรยากาศสงบ สันโดษ

พระอาจารย์กล่าวว่า “แก่นไม้นับเป็นแก่นธรรม แฝงเปลือกปริศนา”

เปลือกต้นประดู่ตะปุ่มตะป่ำแตกสะเก็ดเป็นแนวยาว สีออกเทาเจือน้ำตาล แต่ซ่อนความงามไว้ข้างใน ต่างจากต้นไม้สูงเรียวยาว ผิวเปลือกเรียบเนียนเป็นเงาน่าสัมผัส แต่ไร้แก่น เหมือนบางคนแต่งกายดีอยู่ในสถานที่สวยงาม แต่กลับไร้แก่นสาร ใจเป็นโพรงเป็นบ่อ

ช่างไม้เรียนรู้และดูออกว่าต้นไม้แต่ละชนิดนำไปใช้งานอะไรบ้าง? เช่นเดียวกับการศึกษาคนและธรรมชาติ มีจริตหรือความประพฤติ กิริยา นิสัย อย่างไร?

ไม้ประดู่ พะยูง แก่นไม้มีลวดลายสวยงาม นำมาแกะสลักสร้างงานที่ประณีตบรรจง

เมื่อเปรียบเทียบกับต้นมะกอก ยูคาลิปตัส ทำได้เพียงไม้แบบก่อสร้าง ไม้นั่งร้าน การมองแค่เปลือกเป็นการมองที่ฉาบฉวย ไม่ได้มองลึกลงไปข้างในที่อาจมีความงามซ่อนอยู่ เราสามารถออกแบบชีวิตตัวเราเองได้ว่าอยากเป็นไม้ประเภทไหน

ระหว่างทางพบพันธุ์ไม้และสมุนไพรหลายชนิด กระทั่งผลไม้ป่าหายากที่ไม่ได้เห็นมานานอย่าง “หมากเล็บแมว” ซึ่งกิ่งเต็มไปด้วยหนามคม กำลังออกลูกเต็มต้น กิ่งโน้มลงแทบแตะพื้นดิน ผลสีดำมีรสหวานหอม ผลสีเขียวยังไม่สุกจะออกเปรี้ยวฝาด

พระอาจารย์ให้ความรู้เรื่องต้นไม้และสมุนไพรต่างๆ ทำให้ผมครุ่นคิด เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ว่าหากเราเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจตัวเอง คนรอบข้าง และสิ่งรอบตัว ว่าล้วนมีลักษณะเฉพาะที่อาจแตกต่าง เราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

มาถึงลานโล่งบนยอดภูซึ่งล้อมรอบด้วยต้นไม้ กอไผ่ และพุ่มไม้ จะพบก้อนหินแกะสลักปางปรินิพพานที่เพิ่งเสร็จ ทอดร่างดับขันธ์มุ่งสู่ปรินิพพานกับคำสอนเรื่องความประมาทในชีวิต

นอกจากนั้นยังพบรอยพระพุทธบาทเบื้องซ้าย พระอาจารย์สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะสมัยพระอโศกมหาราช และซากวัดร้าง ซึ่งล้วนแฝงเปลือกปริศนาธรรม

แดดส่องลอดกลีบใบไม้ลงมาระบายสีบนก้อนหินแกะสลัก ทำให้อดนึกถึงครั้งพระพุทธเจ้าก่อนเสด็จปรินิพพานได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า

“บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลายให้จำมั่นไว้ว่า สิ่งทั้งปวงมีเสื่อมและสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

รอยยิ้มผมปรากฏบนใบหน้า เหมือนบังเอิญเจอสิ่งของที่หายไปนาน ความหวังถูกปลุกให้ลุกขึ้นอีกครั้ง

phrapeeba06
ระหว่างทางจากวิหารคดขึ้นสู่ภูเขา พบก้อนหินแกะสลักปางปรินิพพาน รอยพระพุทธบาท โบราณ และซากวัดร้า
phrapeeba07
ก้อนหินแกะสลักปางปรินิพพานที่เพิ่งเสร็จไม่นาน ทอดร่างดับขันธ์ดับมุ่งสู่ปรินิพพานกับคำสอน ความประมาทในชีวิต
phrapeeba08
ทางเดินภายในวิหารคด กับสูตรแห่งแสงสว่างของพระพุทธเจ้า ว่าไม่มีแสงสว่างใดเสมอด้วยแสงแห่งปัญญา

แก่นที่อยู่ข้างใน

เมื่อลงจากภูเขามุ่งตรงมาภายในวิหารคด ผมเหมือนล่องลอยบนโรงมหรสพกรีกโบราณ อยู่บนที่สูงทำให้มองเห็นทุกอย่างเบื้องล่าง แสงแดดอุ่นที่คอยวิ่งไล่หลังกลับมาไล้บริเวณต้นขา เงาแดดลอดผ่านช่องระเบียง เป็นแสงงดงามยิ่งนัก แต่เสียงนกบางตัวเหมือนกำลังสงสัยว่าผมมาทำอะไรที่นี่?

“การเข้าใจถึงธรรมะแห่งการพ้นทุกข์ คำว่า พุทโธ แต่ละคนตีความต่างกัน ไม่ใช่เพียงแค่หลับตาหรือตามลมหายใจเท่านั้น แท้จริงคือ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้ปลุก ผู้เบิกบาน เราต้องรู้จักความทุกข์เรื่องนั้นๆ หาวิธีแก้ไข และที่สำคัญอย่าให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซ้ำซาก”

พระอาจารย์ย้ำว่า เมื่อเราเข้าใจพุธโธ เท่ากับเราสามารถสร้างและมีความสุขแล้ว

สิ่งปรารถนาของพระอาจารย์

“เดินทางออกจากวัฏจักรกงกรรมกงเกวียน ไม่เดินตามธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ (ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ / ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ / อายตนะ๖ ภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์) กงล้อเกวียนที่หักไม่อาจขับเคลื่อนต่อไป ผู้ที่สามารถหักห้ามใจตนเองได้ ย่อมไม่ปรารถนาสร้างกรรมใหม่ ชีวิตของเราที่เกิดมามีความหิวกระหายโหยหาอาวรณ์ ผู้เพียรฝึกจะไม่มาเกิดอีก พระพุทธเจ้าสอนไว้เช่นนี้”

ผมถามถึงการสร้างเปลือกของพระอาจารย์ ที่ได้สร้างวัด เจดีย์ พระเครื่องที่ปั้นเอง และสิ่งมากมาย ซึ่งต่างจากที่รับรู้ว่า วัดป่าควรปลีกวิเวก สงบเงียบ ไม่สะสมหรือก่อสร้างวัตถุอันใดนัก

พระอาจารย์ตอบ “วัตถุมงคลเครื่องรางของขลังไม่ใช่สิ่งที่ทำให้พ้นทุกข์ แต่นำพาสู่วิธีดับทุกข์ เช่น นายช่างไม้ที่คัดสรรแก่นไม้ ต้องศึกษาเรียนรู้คุณสมบัติของไม้จากการรู้จักเปลือกไม้นั้นก่อน ค่อยทิ้งเปลือกเพื่อเอาแก่น เมื่อใดที่เราเข้าถึงแก่นธรรมแห่งทางหลุดพ้นได้แล้ว วัตถุมงคลเครื่องรางของขลังต่างๆ เราจะวางลง เหมือนนายช่างไม้ที่วางเปลือกไม้ หากยังไม่พบแก่นก็ยังต้องอาศัยเปลือกเพื่อค้นหาให้ถึงแก่นพระสัทธรรม (คำสอนของพระพุทธเจ้า) พระเครื่องที่ปั้นเองจำนวน ๑,๘๔๙,๙๙๙ องค์ ไม่ปลุกเสก เพราะพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตื่น ผู้รู้ ผู้เบิกบานอยู่แล้ว บรรจุเรียงรายในไหรอบเจดีย์ หากวันหนึ่งวัดพังทลายจะได้รู้ว่าสถานที่นี้เคยเป็นวัดมาก่อน

“สักวันหนึ่งต้องตายจากโลก มาตัวเปล่าไปตัวเปล่า ไม่อยากตายเปล่า ดังนั้นไม่ต้องสนใจเลยว่าฉันเป็นใคร จงให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำแล้วจะเข้าใจชีวิตและสัจธรรมนั้น”

……….

ฟ้าเริ่มเปลี่ยนสี ตะวันคล้อยต่ำลงเรื่อยๆ

“อย่าหวั่นไหวในความริษยาว่าร้าย วัวไม่ถูกฝึกย่อมไม่อาจเทียมเกวียนได้ คนไม่ถูกตำหนิย่อมไม่สามารถทำดีได้เช่นกัน ใครมองว่าเราด้อยค่าเพียงดิน แต่วันหนึ่งดินต้องกลบหน้าทุกคน อย่าให้ราคากับคนที่ขวางทางสร้างความดีของเรา” พระอาจารย์สอน

“ครั้งหนึ่งพระอานนท์เคยปุจฉากับพระพุทธเจ้าว่า หากบุคคลไม่มีเงินและปัจจัย ๔ ทำทาน แต่อยากจะทำ มีวิธีอื่นมั้ยพระพุทธเจ้าข้า พระพุทธองค์ตรัสว่า รอยยิ้มไงล่ะอานนท์ เป็นการให้ทานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ อานิสงส์ได้มากน้อยอยู่ที่ความจริงใจและเจตนาของผู้ให้ทาน”

คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแนวทางสร้างความสุขแก่ผู้อื่นอย่างง่ายๆ ไม่ต้องลงทุน

ผมรู้สึกรบกวนเวลาพระอาจารย์มากไปกับการชี้แนะธรรมด้วยคำพูดพรั่งพรู การขึ้น-ลงภูเขา และเดินรอบๆ วัด แต่พระอาจารย์กลับไม่มีทีท่าเหนื่อยหน่าย

“ตายไปในแต่ละทุกวัน และเกิดใหม่ในทุกเช้า ทิ้งความทุกข์ยากลำบากเมื่อตะวันตกดิน พร้อมกับมีชีวิตใหม่ๆ ตอนดวงอาทิตย์ขึ้น

ในระหว่างวันเจออะไรบ้าง ให้ทำความเข้าใจตัวเราและคนรอบข้าง นำมาปรับปรุงตัวเองแล้วจะมีความสุข ความล้มเหลวท้อแท้มีได้ทุกคน แต่ถ้าเราล้มเลิกยิ่งจะล้มเหลว ลองนำสูตรแห่งแสงสว่างของพระพุทธเจ้าไปใช้ พระองค์ตรัสว่าแสงสว่างทั้งหลายในโลกนี้ย่อมส่องได้ชั่วเวลาหนึ่ง เช่น แสงอาทิตย์ส่องเฉพาะกลางวัน แสงจันทร์ส่องกลางคืน ยกเว้นแสงแห่งปัญญาที่จะส่องสว่างตลอดเวลา” พระอาจารย์เอ่ยสอน

ผมเพ่งมองพระอาจารย์อีกครั้ง ขอให้สิ่งที่ท่านปณิธานและปฏิบัติอยู่นั้นบังเกิดผล เพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์เส้นทางธรรมและเดินทางออกจากวัฏจักรกงกรรมกงเกวียนให้ได้

“ความสุขจะซ่อนอยู่ในความทุกข์ เหมือนแก่นไม้ที่ซ่อนอยู่ในเปลือกไม้” พระอาจารย์กล่าวทิ้งท้าย

ใบหน้าพระอาจารย์ปรากฏรอยยิ้มบางๆ

ใบหน้าผมปรากฏรอยยิ้มแย้ม

#ธรรม #พุทธศาสนา #พระอาจารย์ #วัด #ชัยภูมิ #สุขหมุนรอบตัวเรา #ค่ายนักเล่าความสุข #มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์ #นิตยสารสารคดี #เพจความสุขประเทศไทย #สสส