luangportuad06

จากเด็กชาย ถึงสมเด็จเจ้าฯ

หลวงพ่อทวด มีนามเดิมว่า ปู่ หรือปู ตามเรื่องเล่าของคนในแถบถิ่นบ้านเกิดของท่าน ที่เล่าขานกันอยู่ในทุกวันนี้ว่า เมื่อรู้คลานท่านคลานอย่างแข็งกล้าปราดเปรียวเหมือนปูลม พวกญาติผู้ใหญ่จึงเรียกชื่อท่านว่าปู

ในเอกสาร “สำเนาหนังสือครั้งกรุงเก่า ว่าด้วยการพระราชทานที่กัลปนา ยอเข้าตำราหมื่นตราพระธรรม วิลาศเอาไปวิวาทเป็นหัวเมือง” ที่ปรากฏอยู่ใน เทศาภิบาล เล่มที่ ๓-๔ ร.ศ.๑๒๖ ซึ่งคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี พิมพ์เผยแพร่เมื่อปี ๒๕๑๐ เล่าประวัติ “สมเด็จพระราชมุนี” ในช่วงวัยเยาว์ไว้คร่าวๆ ว่า

เมื่อยังแบเบาะแม่พาไปนาด้วย ผูกเปลให้นอนใต้ต้นหว้า แม่ลงเก็บเกี่ยวข้าวในนา  เมื่อหยุดพักเหนื่อยขึ้นมาจะกินน้ำ เห็นงู “ตระบองสลา” ขดพันเปลลูกอยู่ก็ตกใจร้องโวยวายให้สามีมาช่วย

ข้างพ่อมาเห็นว่างูพันเปลอยู่โดยไม่ได้ทำร้ายลูก ก็เชื่อว่าเป็นพญางูศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านภาคใต้เรียกกันว่า ทวดบองหลา จึงจัดหาดอกไม้ธูปเทียนมาบูชา ชั่วครู่งูก็เลื้อยไป  เมื่อเข้าไปดูลูกในเปลก็พบแก้วดวงหนึ่งที่พญางูคายไว้ให้

เหตุการณ์นั้นเป็นเสมือนปฐมบทที่แสดงถึงบุญญาธิการของเด็กชาย ซึ่งในกาลต่อมาได้เกิดตำนานอภินิหารอีกมากตามมา

ตามตำนานประวัติหลวงพ่อทวดที่เขียนขึ้นในชั้นหลัง  เล่าว่า ท่านเกิดวันศุกร์ เดือน ๔ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๒๕ ที่บ้านสวนจันทร์ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ สงขลา (ในเวลานี้) เป็นลูกของนายหู-นางจัน ซึ่งอายุมากแล้ว ฐานะแร้นแค้นแต่ยึดมั่นในศีลธรรม มีใจเป็นกุศลอยู่เสมอ ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งคู่เป็นบ่าวอาศัยอยู่ในบ้านของเศรษฐีปาน

เมื่อได้ดวงแก้วจากพญางู คู่ผัวเมียเก็บรักษาไว้อย่างดีในฐานะคู่บุญของลูก  แต่เมื่อรู้ถึงผู้เป็นนาย ก็ได้ขอลูกแก้วนั้นไป ด้วยคิดว่าจะช่วยเสริมบารมีให้แก่ตน

แต่ผลกลับเป็นในทางตรงกันข้าม  เมื่อเอาดวงแก้วมาครอบครอง ทุกข์โศกโรคภัยก็รุมเร้า จนต้องนำคืนให้เจ้าของเดิม  ครอบครัวสินทรัพย์ของเศรษฐีจึงคืนสู่ความเป็นปรกติสุข  และจากนั้นมาพ่อแม่ของเด็กชายก็ไม่ถูกใช้งานหนักอย่างแต่ก่อน มีความสุขสบายตามควรแก่อัตภาพ

ในสำเนาหนังสือกรุงเก่า ว่าด้วยการพระราชทานที่กัลปนาเล่าประวัติหลวงพ่อทวดในช่วงถัดจากนั้นว่า

อยู่มากุมารนั้นก็ค่อยจำเริญอายุสถาพรแล้ว  แลบิดาก็นำเอาไปบวชไว้ ณ วัดกุฎีหลวงซึ่งสมเด็จพระจวงอยู่นั้น แล้วก็ให้ชื่อเณรปู และชีต้นก็ให้ร่ำเรียน นโม ก ข แลขอมไท  จบแล้วจึงเรียนธรรมบททศชาติสมเด็จพระชินเสน ณ วัดศรีกูญัง

วัดศรีกูญังในเอกสารโบราณนั้นสันนิษฐานกันว่าคือ วัดสีหยัง ที่บางทีชาวบ้านเรียกกันว่าวัดคูยัง ด้วยมีคูน้ำกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๒๐๐ เมตร ล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน  แต่ทุกวันนี้เหลืออยู่เพียงด้านตะวันออกกับด้านเหนือ  ส่วนแนวคูด้านใต้ได้กลายเป็นที่ตั้งโรงเรียน กับด้านตะวันตกที่ถมทำทางสาย ๔๐๘  ซึ่งวัดสีหยังตั้งอยู่ช่วงระโนด-สทิงพระ ในหมู่บ้านสีหยัง ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

ส่วนวัดกุฎีหลวงที่บรรพชาเป็นสามเณร หรือวัดดีหลวงในปัจจุบัน ก็ตั้งอยู่บนเส้นทางเดียวกัน ถัดลงไปทางใต้ราว ๓ กิโลเมตร ในตำบลดีหลวง อำเภอสทิงพระ  และห่างจากวัดดีหลวงไม่ไกลเกินระยะสายตา ก็คือสำนักสงฆ์ต้นเลียบ ซึ่งมีต้นเลียบใหญ่อายุเกิน ๔๐๐ ปี ที่ว่าเป็นสถานที่ฝังรกของหลวงพ่อทวดอยู่หน้าวัด  และมีการสร้างรูปปั้นตาหู-ยายจันซึ่งเป็นโยมพ่อโยมแม่ของท่านไว้เป็นที่สักการบูชาด้วย

จากสทิงพระ สามเณรปูกราบลาอาจารย์ไปเล่าเรียนต่อยังสำนักพระครูกาเดิม วัดเสมาเมือง ในเมืองนครศรีธรรมราช

…อยู่ร่ำเรียนเป็นหลายปีครบอายุยี่สิบเอ็ด แลพระขุนลกก็รับเอาเจ้าเณรปูไปสู่สำนัก พระมหาเถรปิยทสสีนั้นเรียนว่าจะบวชเจ้าเณรปูเป็นภิกขุ แลจึงพระมหาเถรนั้นก็คิดด้วยสงฆ์ในอาราม ว่าพัทธสิมา อุทกสิมา หามิได้ แลจึงให้พระขุนลกจัดหาเรือมาดตะเคียนลำ ๑ มาด  พยอมลำ ๑ มาด  ยางลำ ๑ มาด เอามาขนาน ณ คลองหน้าท่าเรือแล้ว  แลพระขุนลกแลญาติพี่น้องก็แต่งสบงจีวรครบด้วยธูปเทียนแล้วเจ้าเณรปูไปสู่พระมหาเถรปิยทสสีเป็นอุปัชฌาจารย์  แลพระมหาเถรพุทธสาครเป็นกรรมวาจา  แลพระมหาเถรศรีรัตนเป็นอนุ  แลบวชเจ้าเณรปูเป็นภิกขุแล้ว  จึงพระมหาปิยทสสีก็ให้นามชื่อเจ้าสามิราม…

ตามประวัติใน “สำเนาหนังสือครั้งกรุงเก่า ว่าด้วยการพระราชทานที่กัลปนา”

หลวงพ่อทวด หรือสามิรามภิกขุในเวลานั้น อุปสมบทแบบนิกายมอญตามพระอุปัชฌาจารย์ที่เป็นพระมอญมาจากเมืองหงสาวดี  ทำพิธีบวชในโบสถ์แพ ที่คลองท่าแพ ในตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งทุกวันนี้มีการสร้างศาลาหลวงพ่อทวดกลางน้ำไว้เป็นอนุสรณ์ บริเวณหน้าวัดท่าแพ

หลังรับการศึกษาในสำนักวัดเสมาเมือง ๓ ปี จบธรรมบทบริบูรณ์ ก็กราบลาพระครูกาเดิมกลับภูมิลำเนาที่สทิงพระ  ก่อนออกเดินทางไกลสู่กรุงศรีอยุธยา และเกิดตำนาน “เหยียบน้ำทะเลจืด” แต่ครั้งยังเป็นพระหนุ่ม ในช่วงอาศัยเรือสำเภานายอินทร์จากภาคใต้ไปยังพระนครหลวงนั่นเอง

จากท่าเรือเมืองสทิงพระ เจ้าของเรือแวะนมัสการพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช  แล้วชักใบแล่นออกสู่ทะเลกว้าง  เดินทางกลางสมุทรไป ๓ วัน ๓ คืน จนถึงแถบปากน้ำชุมพรก็เกิดพายุคลื่นคะนอง ท้องทะเลปั่นป่วนจนไม่อาจแล่นเรือต่อไปได้ ต้องลดใบทอดสมอรอพายุสงบ จนน้ำจืดในเรือหมดลง คนในเรือเดือดร้อนไม่มีน้ำดื่มกิน เจ้าของเรือเป็นเดือดเป็นแค้นว่าเพราะพระภิกษุปูอาศัยมาด้วยจึงเกิดเหตุเภทภัยรุนแรงที่ไม่เคยประสบมาก่อน จึงให้ลูกเรือนำท่านลงเรือเล็กจะส่งขึ้นฝั่งหรือปล่อยเกาะไปตามยถากรรม

…จึงเจ้าสมิก็ลงไป ณ เรือสัดจอง  จึงเอาเท้าข้างซ้ายเป็นทู่นั้นแช่ลง ณ น้ำๆ นั้นก็จืด แลจึงเจ้าสมิก็อาบน้ำนั้น จึงเจ้าสเภาก็ถามว่าลงอาบน้ำนั้นเค็มหรือจืด จึงบาทเจ้าก็ว่าจืด  จึงอาบได้ จึงเจ้าสเภาก็ว่าเรามิเคยเห็นน้ำอยู่กลางทะเลนี้จะจืดแล บาทเจ้าก็เอากระบวยตักน้ำมายื่นให้แก่เจ้าสเภา จึงเจ้าสเภาก็รับเอามาชิมดูน้ำ นั้นก็จืด…

ตามตำนานว่าบริเวณที่เป็นน้ำจืดนั้นมีปริมณฑลเท่าวงล้อเกวียน ให้ลูกเรือตักดื่มกินและตักเก็บใส่ภาชนะด้วยความอัศจรรย์ใจ  ส่วนนอกนั้นก็เป็นน้ำเค็มตามธรรมชาติของทะเล

นายอินทร์ผู้เป็นเจ้าของเรือสำเภาเห็นอย่างนั้นก็กราบขอขมา และขอให้ท่านร่วมโดยสารเรือต่อไปจนถึงกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในเวลานั้นเป็นแผ่นดินของสมเด็จพระมหินทราธิราช

ภิกษุปูไม่จำวัดในเมือง เพราะต้องการความสงบสันโดษ  ท่านไปพำนักอยู่ที่วัดแค (ราชานุวาส) ที่ตั้งอยู่บนเกาะลอย นอกกำแพงเมืองอยุธยา

ในระหว่างนั้นช่วงหนึ่งท่านได้มาศึกษาปริยัติธรรมและบาลีอยู่กับสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นที่วัดป่าแก้ว หรือวัดใหญ่ชัยมงมล พระอารามหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยา  และเป็นที่พำนักของพระสังฆราชฝ่ายอรัญวาสี  ทำให้คาดได้ว่าพระสามิรามก็คงเป็นพระฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ปฏิบัติกัมมัฏฐานและธุดงควัตรขั้นอุกฤษฏ์

เรื่องเล่าตามตำนานว่า ในกาลสมัยต่อมาประเทศลังกาอันมีพระเจ้าวัฏฏะคามินีเป็นกษัตริย์ ประสงค์จะได้กรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศราช แต่ไม่ต้องการรบราฆ่าฟันให้เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อ จึงคิดวางแผนการยึดครองอย่างสันติวิธี

รับสั่งให้เบิกทองคำในท้องพระคลัง นำมาหล่อเป็นตัวอักษรบาลีขนาดใบมะขามจำนวน ๘๔,๐๐๐ เม็ด  มอบให้พราหมณ์ผู้เฒ่า ๗ คน นำลงเรือพร้อมเสื้อผ้าแพรพรรณรวม ๗ ลำเรือ ออกเดินทางสู่กรุงศรีอยุธยา โดยมีพระราชสาสน์ท้าเมืองกรุงศรีอยุธยาให้แปลและเรียงลำดับพระธรรมในเม็ดทองคำ ให้เสร็จภายใน ๗ วัน

หากแปลได้จะถวายข้าวของมีค่า ๗ ลำเรือเป็นบรรณาการ  แต่หากทำไม่สำเร็จก็ให้จัดดอกไม้เงินดอกไม้ทองถวายเป็นราชบรรณาการแก่กรุงลังกาทุกปีเยี่ยงประเทศราชทั้งหลาย

ทราบความดังนั้น กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาก็มีราชโองการให้ขุนนางอำมาตย์นิมนต์พระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิทั่วพระนครมาแปลอักษรทองคำ ที่กรุงลังกาส่งมาท้าพนัน

แต่ผ่านไป ๖ วัน ยังไม่มีภิกษุรูปใดมาตามประสงค์  คืนนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุบินว่า พญาช้างเผือกจากทิศตะวันตก เข้ามาในพระราชนิเวศน์ ขึ้นไปยืนผงาดบนพระแท่น เปล่งเสียงก้องไปทั่วทิศ

โหรประจำราชสำนักทำนายว่า จะมีพระภิกษุจากทิศตะวันตกมาช่วยกู้สถานการณ์บ้านเมือง พระองค์ก็รับสั่งให้ออกตามหาพระรูปนั้นทันที

มีขุนนางไปเจอพระภิกษุปูที่วัดราชานุวาส  เมื่อไต่ถามก็ได้ความว่า ท่านมาจากเมืองตลุง (ในเวลานั้น) ก็เชื่อว่าตรงตามพระสุบิน จึงนิมนต์มาเข้าเฝ้า

เมื่อมาถึงประตูวิหารหลวงที่ประชุมสงฆ์ ท่านก้าวไปเหยียบบนแผ่นหินศิลาแลงที่ยืนล้างเท้า

แผ่นหินนั้นก็หักเป็นสองท่อน

เป็นตำนานอภินิหารอีกคราวหนึ่ง ที่สร้างความอัศจรรย์ใจแก่ผู้คนในที่นั้น

เหตุการณ์แก้ปริศนาที่มีเมืองเป็นเดิมพัน ในตำนานเมื่อ ๔๐๐ ปีก่อน ได้รับการบรรยายอย่างเห็นภาพ ในประวัติหลวงพ่อทวดที่เขียนขึ้นในชั้นหลัง

เมื่อท่านเข้าไปในวิหาร ก่อนนั่งประจำที่เพื่อแปลพระธรรมจากอักษรทองคำ พระสามิรามแสดงอาการอันเป็นปริศนาธรรมต่อหน้าพราหมณ์ทั้ง ๗ ด้วยการเอนกายลงนอนในท่าสีหไสยาสน์ แล้วลุกขึ้นนั่งตัวตรง กระเถิบไปข้างหน้า ๕ ครั้ง จึงไปนั่งในที่อันควร

พราหมณ์จากลังกาเห็นก็หัวเราะ และพูดเย้ยท่านว่าคนที่ดูเหมือนเด็กไร้เดียงสาหรือคนบ้าอย่างนี้หรือที่จะแปลพระธรรม

ท่านหัวเราะบ้าง แล้วถามพราหมณ์ว่า ในบ้านเมืองของท่านก็มีคนที่แสดงกิริยาอาการอย่างนี้ ท่านไม่เคยพบเห็นหรือ

กลุ่มพราหมณ์ผู้เฒ่าฉงนใจนิ่งอยู่  แต่ก็นำบาตรใส่เม็ดอักษรทองคำประเคนท่าน

พระสามิรามรับมาตั้งจิตอธิษฐาน จากนั้นก็ลงมือแปลและเรียงข้อธรรมในเม็ดทองคำทั้ง ๘๔,๐๐๐ เม็ด โดยไม่ติดขัดอย่างใด

แปลไปได้ช่วงหนึ่ง ท่านก็พบว่าเม็ดอักษรทองคำหายไป ๗ ตัว จึงท้วงถามขึ้นว่าอักษร สัง วิ ทา ปุ กะ ยะ ปะ ขาดไป  พราหมณ์ทั้ง ๗ ถึงกับอึ้ง และยอมนำอักษรที่ซ่อนไว้ออกมาคืน

พระหนุ่มชาวสยามจึงสามารถแปลพระไตรปิฎกในเม็ดทองคำขนาดใบมะขามได้เสร็จสิ้นในเย็นวันนั้น

สยามมีชัยในการสัประยุทธ์กันทางธรรมเหนือลังกา ด้วยบุญบารมีและความปราดเปรื่องของพระสามิราม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์

ท่านยังคงพำนักอยู่ที่วัดราชานุวาส จนกาลต่อมาเกิดโรคห่า (อหิวาต์) ระบาดรุนแรงในพระนคร  พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ระลึกถึงดวงแก้วคู่บุญที่ทวดบองหลาคายไว้ให้ ทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมทั่วเมือง โรคห่าก็ทุเลาหายไป

ด้วยคุณความดีและประโยชน์สุขที่ท่านทำให้บ้านเมือง พระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระสังฆราชคุณูปรมาจารย์  และมีกระแสรับสั่งว่า ถ้าประสงค์สิ่งใดก็ขอให้บอก พระองค์จะพระราชทาน

แล้ววันหนึ่งท่านก็ทูลขอกลับภูมิลำเนา  แม้จะทรงเสียดายอย่างไรพระองค์ก็มิอาจขัดขวางความปรารถนาของท่าน จึงมีพระบรมราชานุญาตให้เป็นไปตามประสงค์

การกลับสู่บ้านเกิดของสมเด็จพระราชมุนีฯ ไม่ได้ใช้ทางเรืออย่างที่พระภิกษุปูเดินทางมา  แต่เป็นการจาริกรุกขมูลตามทางบก เลาะไปริมฝั่งทะเลอ่าวไทย  ซึ่งปรากฏอยู่ในตำนานว่า ก่อนนั้นเมื่อศึกษาธรรมจนแตกฉานแล้ว ท่านเคยออกธุดงค์บำเพ็ญเพียรจากอยุธยาลงมาทางบางกอกอยู่เสมอ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นป่าดงที่เหมาะแก่การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน  คราวธุดงค์กลับภาคใต้ท่านก็มาพักที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแถวท่าน้ำสามเสน  กระทั่งมีการสร้างวัดประสาทบุญญาวาสขึ้นที่ตรงนั้นในสมัยรัชกาลที่ ๓  และมาถูกไฟไหม้ใหญ่ในปี ๒๔๙๘ ซึ่งเจ้าอาวาสวัดช้างให้ที่ปัตตานีได้นิมิตว่าหลวงพ่อทวดบอกให้ไปช่วยบูรณะวัดประสาทบุญญาวาสที่ได้รับความเสียหาย  ท่านจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงตามนิมิต โดยพำนักที่วัดเอี่ยมวรนุช  เมื่อได้รับการยืนยันว่าวัดประสาทบุญญาวาสถูกไฟไหม้จริง ท่านจึงปรึกษาเจ้าอาวาสวัดประสาทบุญญาวาสขณะนั้น เรื่องการบูรณะวัดขึ้นมาใหม่ โดยการจัดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดขึ้นอีกรุ่นหนึ่งด้วย

นอกจากในกรุงเทพฯ จุดพักตามเส้นทางจาริกบ้านเกิดของสมเด็จพระราชมุนีฯ ที่ต่อมากลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สักการบูชาของผู้คนมาจนทุกวันนี้ ยังมีในแถบชายฝั่งทะเลตั้งแต่นครศรีธรรมราชไปจนถึงสงขลา

ที่บ้านหน้าโกฏิ ในอำเภอปากพนัง บริเวณที่ท่านเคยปักกลดค้างแรม ชาวบ้านได้พร้อมใจกันพูนดินเป็นเนิน ซึ่งทุกวันนี้มีการปลูกศาลาประดิษฐานรูปหลวงพ่อทวดนั่งสมาธิไว้ภายใน

ที่วัดหัวลำภูใหญ่  อำเภอหัวไทร  เดิมเป็นหาดทรายขาวสะอาดมีต้นลำภูใหญ่ร่มรื่น ท่านได้มาพักบำเพ็ญวิปัสสนา  เมื่อท่านธุดงค์ผ่านไปแล้วชาวบ้านสร้างศาลาถวาย มีการจัดงานนมัสการบูชาทุกปี

เมื่อธุดงค์ไปถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ หรือวัดราชประดิษฐาน เมืองสทิงพระ  ซึ่งตามประวัติว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่พระชินเสนสร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๕๐๐  พุทธบริษัทได้แซ่ซ้องสาธุการต้อนรับท่านด้วยความศรัทธา พร้อมทั้งได้เรียกท่านด้วยนามใหม่ว่า สมเด็จเจ้าพะโคะ

 

อริยสงฆ์ผู้รับกัลปนาจากกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา

สมเด็จเจ้าพะโคะ หรือพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ พำนักอยู่ที่วัดพะโคะช่วงหนึ่ง  ท่านก็เริ่มพิจารณาถึงการบูรณะปูชนียสถานที่ชำรุดหักพังจากการรุกรานทำลายของเหล่าโจรสลัด

ด้วยบริเวณรายรอบวัดพะโคะนั้นเป็นชุมชนโบราณที่มีความรุ่งเรืองมากจากการเป็นเมืองท่าค้าขายแลกเปลี่ยน ทำให้บ้านเมืองแถบนี้ถูกโจมตีจากโจรสลัดอยู่เสมอ  ตามประวัติศาสตร์ว่าถูกปล้นสะดมเผาเมืองครั้งใหญ่ในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  จากนั้นเจ้าอาวาสวัดพะโคะที่เคยอยู่กรุงศรีอยุธยา และเป็นพระภิกษุผู้ใหญ่ที่มีบารมี ซึ่งก็น่าจะได้แก่ สมเด็จพระราชมุนีฯ ได้ขอพระราชทานการบูรณะวัดพะโคะครั้งสำคัญเมื่อปี ๒๑๕๓ ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ

ท่านเดินทางไปยังกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งเพื่อขอพระราชทานกัลปนา  พระเจ้าอยู่หัวทรงศรัทธา มีพระบรมราชโองการให้จัดศิลาแลงลงลำเรือสำเภา กับช่างหลวงฝีมือเอกมาบูรณะวัดพะโคะ

จากหนังสือ ประชุมพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสมัยอยุธยา ภาค ๑ ว่า การเดินทางไปเฝ้ากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาครั้งนี้ พระเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อมใสท่านยิ่งนัก  นอกจากศิลาแลงและนายช่างหลวงพระราชทานสำหรับการบูรณะวัดพะโคะ ยังโปรดพระราชทานที่ดินเป็นกัลปนาขึ้นกับวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ จำนวน ๙๐ ฟ้อน มีอาณาเขตทิศเหนือถึงแหลมตะลุมพุก ทิศใต้ถึงแหลมสน ทิศตะวันออกจดทะเล ทิศตะวันตกจดทะเลสาบ ครอบคลุมวัด ๖๓ แห่ง  พร้อมทั้งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในถิ่นนั้น ให้ถือวัดพะโคะเป็นศูนย์กลางการติดต่อทั้งหลาย

การกัลปนานั้น สมคิด ทองสง อธิบายไว้ใน “พุทธศาสนาและการกัลปนา” ว่า

การกัลปนาคือประเพณีการอุทิศที่ดิน ผู้คน และทรัพย์สินเงินทองให้กับสิ่งที่เป็นตัวแทนของศาสนาและความศักดิ์สิทธิ์ เช่น วัด พระบรมธาตุ พระพุทธบาท เป็นต้น  โดยให้ปัจจัยที่อุทิศหรือกัลปนานี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายศาสนา  ฝ่ายบ้านเมืองจะเข้าไปก้าวก่ายหรือล่วงละเมิดมิได้  ก่อนหน้านี้ผู้นำชุมชนจะเป็นผู้กัลปนา  แต่ต่อมาถือว่าเป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์เพราะมีอำนาจที่จะปกป้องคุ้มครองสิ่งที่กัลปนาได้  การกัลปนาดังกล่าวมีบทบาทมากต่อการขยายตัวของชุมชนโบราณตั้งแต่หมู่บ้านไปจนถึงเมืองใหญ่ เพราะการอุทิศปัจจัยการผลิตให้กับวัดย่อมทำให้วัดมีความเจริญซึ่งจะนำพาให้ชุมชนได้เจริญไปด้วย

ในสมัยอยุธยา เมื่อพระมหากษัตริย์จะพระราชทานกัลปนาแก่วัดใดก็จะตรา “พระตำราบรมราชูทิศ” ขึ้นเป็นเอกสาร  การพระราชทานกัลปนาแก่วัดต่างๆ รอบทะเลสงขลาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒  และต่อมา นอกจากที่ดิน ทรัพย์สิน และผู้คนแล้ว พระมหากษัตริย์ยังทรงให้อำนาจแก่พระสงฆ์อีกด้วย  เนื่องจากบริเวณนี้อยู่ไกลจากราชธานีมาก การให้อำนาจแก่พระสงฆ์ยังเป็นการคานอำนาจฝ่ายบ้านเมืองในท้องถิ่นทางหนึ่งด้วย

ในยามมีศึกสงคราม หากเจ้าเมืองมีกำลังไม่มากพอ ทางกรุงศรีอยุธยาก็อนุญาตให้ผู้นำสงฆ์ทำหน้าที่เป็นผู้นำทัพอีกฝ่ายหนึ่งด้วย  และการกัลปนายังมีผลสืบเนื่องถึงทายาท ในกรณีที่ผู้มีชื่อในพระตำราฯ เสียชีวิต วัดยังสามารถเอาลูกหลานมาเป็นผู้รับสืบทอดภารกิจได้

เวลานั้นพระครูราชเมาฬีศรีปรมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพะโคะรูปก่อนสมเด็จเจ้าพะโคะ เป็นเจ้าคณะที่มีอำนาจปกครองวัดรอบทะเลสาบ และมีกำลังคนข้าพระจำนวนมาก  ท่านได้รับกัลปนาวัดรอบทะเลสาบสงขลาให้มีศูนย์กลางอยู่ที่วัดพะโคะ

แม้เมื่อสิ้นพระครูราชเมาฬีฯ แล้ว การสนับสนุนจากส่วนกลางก็ยังมีอยู่ในสมัยเจ้าอาวาสรูปต่อมา

…ผู้นำสงฆ์ที่มีบทบาทสูงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในช่วงต่อมาคือ สมเด็จพระราชมุนี หรือที่ชาวใต้รู้จักกันดีในนาม “หลวงพ่อทวด”  นอกจากเรื่องราวเล่าขานในเรื่องของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นตำนานที่แนบแน่นอยู่ในวิถีแห่งชุมชนแล้ว หลวงพ่อทวดยังมีบทบาทในการสร้างชุมชนพุทธศาสนา และเป็นศูนย์รวมทางด้านจิตใจของชาวพัทลุง สงขลา และบริเวณใกล้เคียงมาจนถึงปัจจุบัน  บทบาทของท่านได้รับแรงสนับสนุนจากอยุธยาอย่างไม่เคยมีมาก่อน  ซึ่งจะเห็นได้จากการที่พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็น “สมเด็จพระราชมุนี” และกัลปนาวัดให้อย่างคึกคัก ด้วยการส่งสิ่งของมาช่วยบูรณะวัดอย่างมากมาย ทั้งยังส่งเสริมให้มาสร้างศาสนสถานฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาอีกด้วย

สอดคล้องตรงกับที่ สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ระบุในรายงานการวิจัย “พุทธศาสนาแถบลุ่มทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออก สมัยกรุงศรีอยุธยา” ว่า

…พระซึ่งมีบทบาทมากและยาวนานที่สุดในการทำหน้าที่สำคัญนี้ได้แก่ “หลวงพ่อทวด” หรือ “สมเด็จพระราชมุนีฯ” ซึ่งตามตำนานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันตรงกันว่า เป็นผู้ที่มีความรู้ในพระไตรปิฎกแตกฉาน  ท่านมีบทบาทสำคัญในการสร้างชุมชนพุทธในเมืองพัทลุงและสงขลา  อีกทั้งยังเป็นผู้นำสำคัญในการบูรณะวัดและก่อสร้างศาสนสถานทั้งสองฟากฝั่งทะเลสาบ  เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของประชาชนในบริเวณรอบทะเลสาบสงขลาและใกล้เคียง  นอกจากนั้นพุทธศาสนิกชนแถบลุ่มทะเลสาบก็ยังเชื่อว่าท่านคือองค์พระโพธิสัตว์ศรีอริยเมตไตรย