นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Hikikomori01

มีรายงานว่าเด็กญี่ปุ่นจำนวนมากมีอาการของ Hikikomori Syndrome มาตั้งแต่ปี ๑๙๙๖ นอกจากญี่ปุ่น ยังพบรายงานเกี่ยวกับเด็กที่มีอาการคล้ายคลึงกันนี้จากประเทศเกาหลี ไต้หวัน และสิงคโปร์ด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศที่กล่าวมาล้วนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจมั่งคั่งทั้งสิ้น และเท่าที่ทราบ ยังไม่มีรายงานกลุ่มอาการนี้อย่างเป็นทางการในประเทศไทย

เด็กที่มีอาการของฮิคิโคโมริซินโดรม หรือป่วยด้วยโรคฮิคิโคโมริ หมายถึง เด็กที่แยกตัวออกจากสังคม เก็บตัวอยู่เฉพาะในห้องส่วนตัว หรือในบ้าน เป็นแรมเดือนหรือหลายปี

ก่อนที่จะลงรายละเอียดของโรคหรือกลุ่มอาการนี้ มีหลายประเด็นที่ควรทำความเข้าใจก่อน หรือจะพูดให้ถูกคือ ถึงตอนนี้ก็ยังมีอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับฮิคิโคโมริที่เรายังไม่เข้าใจ

จิตแพทย์และนักจิตวิทยาญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่า ฮิคิโคโมริเกิดขึ้นได้เฉพาะในประเทศญี่ปุ่น เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม และมิใช่โรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิใช่โรคทางจิตเวช

หากฮิคิโคโมริเกิดขึ้นได้เฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ก็จะมีคำถามตามมาว่าญี่ปุ่นมีอะไรที่ชาติอื่นไม่มี

คำตอบคือ ญี่ปุ่นมีระบบการศึกษาที่เคี่ยวเข็ญเด็กอย่างเอาเป็นเอาตาย อย่างที่เราทราบกันว่าการแข่งขันของเด็กญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่ชั้นอนุบาล ญี่ปุ่นมีระบบการจ้างงานตลอดชีวิต มีวัฒนธรรมการทำงานที่เรียกร้องให้คนทำงานหนัก หนักกว่า และหนักที่สุด ญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีการสื่อสารเลิศที่สุดในโลก ที่สำคัญคือ ญี่ปุ่นผ่านความบอบช้ำอย่างรุนแรงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

ทั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระบบการศึกษาแบบญี่ปุ่น และวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและมีอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมานานครึ่งศตวรรษแล้ว ซึ่งนักสังคมวิทยาเชื่อว่าทั้งหมดนี้เป็นการบ่มเพาะปรากฏการณ์ฮิคิโคโมริที่สำคัญก่อนที่จะถูกกระตุ้นให้แสดงออกอย่างชัดเจนด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารในช่วง ๑๐ ปีหลัง

เหล่านี้คือสิ่งที่ชาติอื่นไม่มี และแม้ว่าระบบการศึกษาและวัฒนธรรมการทำงานอาจเป็นเรื่องที่เลียนแบบกันได้ แต่ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ ๒ แบบที่ญี่ปุ่นเผชิญ เป็นเรื่องพิเศษเฉพาะตัว

และเมื่อมองว่าฮิคิโคโมริเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม ไม่ใช่โรค เพราะฉะนั้นการใช้คำว่า “โรค” หรือ “Syndrome” ในบทความนี้จึงอาจถือว่าผิด

นักจิตวิทยาญี่ปุ่นมีความเห็นว่าฮิคิโคโมริเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างแท้จริง เกิดขึ้นเพราะเด็กญี่ปุ่นไม่ยอมรับวิถีชีวิตในสังคมของคนส่วนใหญ่ เขาจึงกำหนดตนเอง (autonomy) “เป็น” ฮิคิโคโมริ เขาพอใจชีวิตที่เป็นและไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร หากจะมีผลเสียอยู่บ้างก็คือ เมื่อเขาใช้ชีวิตในห้องนานๆ ก็จะขาดทักษะในการเข้าสังคมกับคนส่วนใหญ่

ขอให้สังเกตข้อความในย่อหน้าที่ผ่านมา เราจะไม่พูดว่า “เด็กญี่ปุ่นไม่ยอมรับวิถีชีวิตในสังคมของคนปรกติ” เพราะนั่นเท่ากับบอกว่าเด็กฮิคิโคโมริผิดปรกติ นอกจากนี้การที่นักจิตวิทยาเลือกใช้คำว่า “autonomy” ก็เป็นการย้ำว่าฮิคิโคโมริเป็นพัฒนาการของคนกลุ่มหนึ่ง เพราะคนทุกคนเมื่อพัฒนาไป ย่อมผ่านจุดที่จะต้องมี autonomy ด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อมองว่าฮิคิโคโมริไม่ใช่โรค การช่วยเหลือเด็กที่มีอาการฮิคิโคโมริจึงเป็นเพียงการนำตัวเด็กเหล่านั้นมารวมกลุ่มกันแล้วใช้ระบบเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อไม่ให้พวกเขาตัดขาดจากสังคมภายนอกมากจนเกินไป ในทางตรงข้าม หากฮิคิโคโมริเป็นโรค การรักษาก็จะมุ่งไปในทางวินิจฉัยให้จงได้ว่าพวกเขาแต่ละคนป่วยเป็นโรคอะไรกันแน่ เช่น เป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) โรคซึมเศร้า (Major Depression) โรคกลัวที่โล่ง (Agoraphobia) โรคตื่นตระหนก (Panic Disorder) หรือแม้กระทั่งเป็นบุคคลออทิสติก (Autistic) เมื่อวินิจฉัยแล้วก็จ่ายยาหรือทำจิตบำบัดเฉพาะโรคไปตามการวินิจฉัยนั้น

ข้อเสียสำคัญของการมองฮิคิโคโมริเป็นโรค คือทำให้เกิดการตีตรา (stigma) การตีตราเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ครอบครัวไม่ยอมรับว่าเด็กของตนกำลังมีอาการของฮิคิโคโมริซินโดรมและต้องการความช่วยเหลือ ทำให้การช่วยเหลือเนิ่นช้าออกไปและยิ่งยากต่อการช่วยเหลือมากขึ้นทุกที ยิ่งไปกว่านั้น ตอนที่ข่าวฮิคิโคโมริปรากฏในสังคมญี่ปุ่นครั้งแรกๆ ได้เกิดความคลาดเคลื่อนในการรายงานข่าว โดยมีการระบุว่าเด็กที่มีอาการฮิคิโคโมริทำร้ายมารดาของตนอย่างรุนแรง ส่งผลให้สังคมญี่ปุ่นหวาดระแวงเด็กฮิคิโคโมริ

เกี่ยวกับเรื่องการตีตราหรืออคติที่มีต่อผู้ป่วยจิตเวชนั้น ถ้าจะให้เห็นภาพชัดขึ้นคงต้องยกกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในบ้านเรา นั่นคือกรณีหญิงสาวที่ใช้มีดทำร้ายนักเรียนในบริเวณโรงเรียน และกรณีชายหนุ่มที่ทำลายพระพรหมเอราวัณจนกระทั่งตนเองถูกรุมทำร้ายถึงตาย จริงอยู่ที่ผู้ก่อเหตุทั้งสองเป็นผู้ป่วยโรคจิตเรื้อรังซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ประเด็นคือ หากสังคมไม่มีอคติ และรู้ว่าโรคจิตเกิดจากสารเคมีบางตัวในสมองผิดปรกติ ผู้ป่วยทั้งสองก็จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วตั้งแต่หลายปีก่อน และสามารถหายขาดได้ในที่สุด แทนที่จะกลายมาเป็นผู้ป่วยโรคจิตเรื้อรัง จนกระทั่งก่อเหตุ และนำมาสู่บทลงเอยเช่นนั้น

สำหรับฮิคิโคโมริ เนื่องจากนักวิชาการญี่ปุ่นเกรงว่าสังคมจะมีอคติ จึงพยายามไม่ผูกโยงคำว่าฮิคิโคโมริเข้ากับเรื่องทางจิตเวช พวกเขาต้องการให้มองฮิคิโคโมริเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมเท่านั้น

แต่ในอีกทางหนึ่ง เมื่อมองว่าฮิคิโคโมริเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม ก็ทำให้วงวิชาการละเลยและไม่เอาจริงเอาจังกับผู้ที่มีอาการฮิคิโคโมริ ผลที่เกิดขึ้นคือ ไม่มีใครทราบตัวเลขที่แท้จริงของเด็กที่ “เป็น” ฮิคิโคโมริในญี่ปุ่น อาจจะเพราะไม่สนใจที่จะสำรวจทางระบาดวิทยาอย่างจริงจัง หรืออาจเพราะครอบครัวของเด็กฮิคิโคโมริส่วนใหญ่ปิดบังข้อมูลเพราะความอับอาย เอกสารบางชิ้นระบุว่าญี่ปุ่นมีเด็กฮิคิโคโมริถึง ๑ ล้านคน ขณะที่เอกสารบางชิ้นก็ว่ามีเพียง ๕ หมื่นคนเท่านั้น

ครอบครัวของเด็กที่มีอาการฮิคิโคโมริมักจะอับอายที่มีเด็กเช่นนี้อยู่ในบ้าน เมื่ออับอายก็ซ่อน เมื่อซ่อนก็เท่ากับหมักหมมปัญหา ทำให้อาการของเด็กรุนแรงมากขึ้นและยากต่อการเข้าช่วยเหลือ ยิ่งไปกว่านั้นนักจิตวิทยาจำนวนหนึ่งยังเชื่อว่า สาเหตุไม่ใช่เพียงเพราะครอบครัวอับอาย แต่ที่แท้แล้วเด็กฮิคิโคโมริเกิดขึ้นได้ก็เพราะครอบครัวของเด็กเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ สนับสนุนให้เป็นเช่นนั้น อย่างน้อยก็ในตอนเริ่มต้น คุณแม่จำนวนมากเริ่มต้นเรื่องนี้เพราะต้องการปกป้องลูกของตนจากการถูกรังแกที่โรงเรียน ทั้งยังเห็นว่าการที่ลูกขังตัวเองอยู่ในห้องในบ้านในสายตา ก็ยังดีกว่าหายตัวไปข้างนอก

ปัจจัยสำคัญอีกข้อที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ โลกปัจจุบันรวมทั้งสังคมญี่ปุ่น ไม่เว้นแม้แต่สังคมไทย มาถึงจุดที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนคนหนึ่งสามารถขังตัวเองได้อย่างสมบูรณ์

เด็กที่มีอาการฮิคิโคโมริมักเป็นเด็กผู้ชายและมักเป็นลูกคนโต เด็กเหล่านี้จะไม่ไปโรงเรียน ใช้ชีวิตในห้องส่วนตัวตลอดเวลา ส่วนใหญ่จะนอนตอนกลางวันและตื่นตอนกลางคืน อาจจะออกจากห้องไปที่ครัวในกลางดึกบ้างเพื่อหาอาหารกิน หรือมีบ้างที่จะออกจากบ้านกลางดึกเพื่อไปซื้อเสบียงจากร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง กิจกรรมที่พวกเขาทำขณะตื่นกลางดึกนั้นคือดูทีวีไปเรื่อยๆ เซิร์ฟไปตามเน็ต เล่นเกม และอ่านการ์ตูน

เรียกได้ว่าครบสูตร

หนักที่สุดคือนั่งจ้องผนังเฉยๆ ไปเรื่อยๆ

ขอให้สังเกตว่าพวกเขาไม่นิยมแช็ตหรือส่งเมลให้ใครหรือสื่อสารกับใครแม้ในความจริงเสมือน พวกเขาอาจมีโทรศัพท์มือถือไว้ข้างตัวแต่ก็มิใช่เพื่อการพูดคุย พวกเขาสร้างโลกเสมือนขึ้นเพื่อให้ตนเองอยู่อย่างแท้จริง และพวกเขาสามารถอยู่ได้จริงๆ ตลอดไปเสียด้วย

หลายปีมานี้ผมพบเด็กไทยในครอบครัวคนชั้นกลางเขตเมืองที่ไม่เรียนหนังสือมากขึ้น เด็กเหล่านี้จะอยู่บ้านเฉยๆ เล่นเน็ต เล่นเกม และอ่านการ์ตูน แต่ที่พิเศษกว่าเด็กฮิคิโคโมริ คือพวกเขาเมาท์ แช็ต และบางคนชอปด้วย จึงยังไม่อาจเรียกว่าฮิคิโคโมริได้เต็มปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดว่าเราไม่เคยแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ (ที่จริงแล้วเขาว่าเราเป็นผู้ชนะเสียด้วยซ้ำไป) และต่อให้เรามีการศึกษาระบบทารุณกรรม แต่เราก็ยังไม่มีวัฒนธรรมการจ้างงานตลอดชีวิต เราไม่มีแม้กระทั่งวัฒนธรรมการทำงานหนัก เด็กพวกนี้จึงไม่ใช่เด็กฮิคิโคโมริ

อย่างไรก็ตาม มีข้อเหมือนอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือพฤติกรรมเช่นว่านี้พบเฉพาะเด็กในครอบครัวคนชั้นกลางเท่านั้น ครอบครัวที่พ่อแม่รวยพอที่จะปรนเปรอลูกด้วยวัตถุถึงห้องนอน แต่ก็ไม่รวยพอที่จะส่งลูกหนีจากการศึกษาระบบทารุณกรรมไปเรียนต่างประเทศ

ที่แท้แล้วเด็กแยกตัวบ้านเราเป็นเด็กอะไร ?