วิทย์ (ทด) ลองของ
ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์*
เปิดประตูสู่เรื่องลี้ลับ เหนือธรรมชาติ หรือไสยศาสตร์
ที่ท้าทาย และยากพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

todjit01เคยมีประสบการณ์เหมือนกับตัวลอยขึ้นไปแล้วมองลงมาเห็นร่างกายตัวเองกันบ้างไหมครับ ?

เรื่อง “การถอดจิต” แบบนี้พบในบันทึกโบราณของชนชาติต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับลัทธิ พิธีกรรม และศาสนา ในภาษาอังกฤษใช้ว่า Out-of-Body Experience (OBE) ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ประสบการณ์ออกนอกร่างกาย” โดยมีลักษณะสำคัญคือต้อง (๑) ตระหนักรู้การเคลื่อน (จิต) ออกนอกกาย ตามมาด้วย (๒) ผู้มอง (หรือจิต) ลอยห่างออกไปจากร่าง โดยมักลอยสูงขึ้น และจบลงที่ (๓) มองเห็นร่างกายตัวเองนอนอยู่

ลองมาดูกันว่าวิทยาศาสตร์รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ชวนพิศวงนี้

ยา–บ้า–ฝัน

งานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าในบรรดาคนทั่วไปนั้น มีคนที่เคยถอดจิตมากถึง ๑๐ % (บ้างก็รายงานสูงกว่านี้) แต่ต่างสรุปตรงกันว่า ไม่ใช่ทุกคนจะถอดจิตได้

ข้อมูลการแพทย์สมัยใหม่ทำให้ทราบว่า ผู้ป่วยอาจรู้สึกคล้ายถอดจิตได้ในบางสภาวะ เช่น ป่วยจากโรคปวดหัวข้างเดียว (ไมเกรน) โรคลมชัก (ลมบ้าหมู) หรือป่วยหนักเจียนตาย เป็นต้น  แม้แต่การขาดน้ำ การปีนภูเขาสูง การวิ่งมาราธอน และการจมน้ำ ก็อาจกระตุ้นให้เกิดการถอดจิตได้  ยาบางอย่าง เช่นยาบ้า ก็มีรายงานว่าเป็นสาเหตุได้เช่นกัน แต่กรณีนี้แยกจากอาการประสาทหลอน (hallucination) ยากมาก

ตัวเลข ๑๐ % ข้างต้นได้รวมคนปรกติไว้ด้วย แถมบางคนก็มีประสบการณ์แบบนี้มากกว่า ๑ ครั้ง ซึ่งเหมาะกับการทดสอบซ้ำทางวิทยาศาสตร์  นอกจากนี้มีหลายเทคนิคที่อ้างกันว่าช่วยให้ถอดจิตได้ด้วย เช่น การฝันรู้ตัว (lucid dreaming) หรือการนั่งสมาธิ เป็นต้น

todjit02

แบบจำลองคอมพิวเตอร์แสดงตำแหน่งของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถอดจิต (TPJ, แถบสีชมพู)
ที่มา : Blank, O., 2005, The Neuroscientist, 11(1)ม 16-24

จับจริต ถอดจิต

คำว่า “การถอดจิต” ในภาษาไทยนั้นมีมาแต่เมื่อใดไม่ทราบแน่ แต่ฝรั่งช่างค้นคว้าระบุว่ามีคนสนใจเรื่อง OBE มากว่าครึ่งศตวรรษแล้วเป็นอย่างน้อย  จอร์จ ไทรเรลล์ (George Tyrrell) ใช้คำว่า Out-of-Body Experience เป็นคนแรกในหนังสือชื่อ Apparition ของเขาที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๙๔๓

แต่กว่าจะมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็ต้อง ค.ศ. ๑๙๖๘ นู่น โดย ซีเลีย กรีน (Celia Green) สรุปข้อมูลแบบสอบถามจากตัวอย่างราว ๔๐๐ คน นำมาใช้จัดจำแนกประเภท OBE ได้ละเอียดมากขึ้น  ข้อมูลบางอย่างที่กรีนได้มาก็ขัดแย้งกับงานของคนอื่น เช่น เพียง ๔ % จากกลุ่มตัวอย่างของกรีนที่ระบุว่ามีเส้นหรือสายใยอะไรบางอย่างเชื่อม “จิต” กับร่างกายไว้ แต่ในงานของหลายกลุ่มนั้นตัวอย่างส่วนใหญ่กลับระบุว่ามีเส้นสายดังกล่าวปรากฏอยู่ ซึ่งก็แปลกดีเพราะในหมู่นักถอดจิตชาวไทยนั้นแทบไม่มีการพูดถึงสายเชื่อมอะไรแบบนี้เลย

ข้อสรุปบางเรื่องก็ตลกดี เช่น การสำรวจคราวหนึ่งพบว่า ๘๕ % ของผู้ตอบแบบสำรวจซึ่งเคยมี OBE ระบุว่าได้ยินเสียงดังมากควบคู่ไปด้วย ทำให้เกิดศัพท์การแพทย์จำเพาะว่าเป็น กลุ่มอาการศีรษะระเบิด (Exploding Head Syndrome, EHS) …ฟังชื่ออาการแล้วอดหวาดเสียวแทนไม่ได้จริงๆ

หลังเกิด OBE ผู้ที่ประสบเหตุอาจจะหลับไปเลยหรือไม่ก็สะดุ้งตื่น บางคนรู้สึกราวกับถูกกระตุกเบาๆ แล้วตื่น แต่บางคนก็คล้ายกับถูกดึงหรือแม้แต่ถูก “ดูด” กลับเข้าร่างอย่างแรง

ขณะที่บางคนถอดจิตแล้วยังอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเดิมๆ แต่บางคนกลับไปโผล่ในโลกที่ไม่คุ้นเคย

ค.ศ. ๑๙๙๙  แวกเนอร์ อะลิเกรตติ (Wagner Alegretti) และ แนนซี ทริเวลลาโต (Nanci Trivellato) สำรวจทางออนไลน์พบว่า จากผู้ตอบแบบสอบถาม ๑,๑๘๕ คน มีราว ๘๕ % ที่เคยเจอ OBE โดย ๓๗ % บอกว่าเคยแล้ว ๒-๑๐ ครั้ง แต่เกือบ ๖ % บอกว่าเจอเป็นว่าเล่น คือมากกว่า ๑๐๐ ครั้ง !!!

แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ๔๐ % บอกว่ารู้สึกราวกับมีตัวตนสองร่างอยู่ต่างสถานที่พร้อมๆ กัน และราว ๓๘ % บอกว่าขณะเกิด OBE ได้ลอยทะลุผ่านของแข็ง เช่นกำแพงหรือผนังด้วย

เฉียดดับจิต ถอดจิต

ค.ศ. ๒๐๐๑ ทีมวิจัยของ พิม ฟาน ลอมเมล (Pim van Lommel) จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ตีพิมพ์การค้นพบที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับ OBE ในวารสารการแพทย์อังกฤษที่เก่าแก่และโด่งดังคือ The Lancet โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นจำนวน ๓๔๔ คน แต่กู้ชีพคืนกลับมาได้

ทีมวิจัยพบว่า ๑๘ % ของผู้ป่วยกลุ่มนี้มี OBE ร่วมด้วย ผู้ป่วยหลายคนจำรายละเอียดสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องผ่าตัดได้ แม้ว่าจะถูกประกาศว่าเสียชีวิตแล้ว เพราะสัญญาณประสาทจากสมองราบเรียบไปแล้ว

ลอมเมลสรุปว่าผู้ป่วยยังมีการรับรู้ (consciousness) แม้ว่าระบบประสาทจะหยุดทำงานไปแล้วก็ตาม และเสนอ “สมมติฐาน” ว่าสมองในตอนนั้นทำหน้าที่คล้ายจานรับสัญญาณ ส่วนข้อมูลที่เข้าสู่สมองก็มาจากความจำเดิมและการรับรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ คล้ายกับคลื่นวิทยุหรือคลื่นโทรทัศน์ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศนั่นเอง

วิทยาศาสตร์ทางจิตก็ฟังดูแปลกๆ ชวนงุนงงแบบนี้แหละครับ 🙂

ไม่ต้องแปลกใจนะครับ ถ้าผมจะบอกว่านักวิทยาศาสตร์ทั่วๆ ไป เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้คงต้องอุทานว่า “อะไรของมันกันนี่ !” …เพราะคำอธิบายแบบนี้ไปไม่ได้กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์แบบมาตรฐาน

ถามต่อไปอีกว่าถ้าอยากถอดจิต โดยไม่ต้องอาศัยยาหรือเจ็บป่วย จะเป็นไปได้หรือไม่ และมีบางแห่งในสมองที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางควบคุมเกี่ยวกับการรับรู้ตัวตนและตำแหน่งหรือไม่

ค.ศ. ๒๐๐๕ มีงานวิจัยที่แสดงว่าส่วน เทมพอรัล–พาไรทัล จังก์ชัน (temporal–parietal junction, TPJ) ของสมองซีกขวาน่าจะเป็นตำแหน่งดังกล่าว เพราะในผู้ป่วยที่ส่วนนี้ผิดปรกติไปมักปรากฏว่าเกิด OBE ขึ้นได้ เมื่อลองกระตุ้นด้วยไฟฟ้าอ่อนๆ ใกล้กับตำแหน่งดังกล่าวก็ทำให้เกิด OBE ได้เช่นกัน

แถมการเปลี่ยนแปลงกระแสไฟฟ้าไปเล็กน้อย ขณะที่บอกให้ผู้ป่วยสังเกตไปยังจุดจำเพาะของร่างกาย ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงส่วนของร่างกายที่มองเห็นได้ เช่น แขนขาขยับเปลี่ยนตำแหน่ง หรือแม้แต่หดสั้นลง เป็นต้น

todjit03

ภาพแสดงการทดลองเรื่องถอดจิตในคนปรกติของเออร์สัน
ที่มา : Ehrsson, H., 2007, Science, 317, 1048

ถอดจิตง่ายๆ…ทำได้เอง

ค.ศ. ๒๐๐๗ ทีมวิจัยนำโดย โอลาฟ แบล็งก์ (Olaf Blanke) จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตีพิมพ์ในวารสารระดับโลกอย่าง Science ว่าสามารถทำให้คนปรกติธรรมดารู้สึกราวกับถอดจิตได้ โดยอาศัยอุปกรณ์สร้างภาพเสมือน (virtual reality)

เมื่อสวมอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว ผู้ร่วมทดลองจะเห็นภาพด้านหลังของตัวเขาเอง ซึ่งก็จะทำให้เกิดอาการสับสนเหมือนกับ “ถอดจิต” ไปยืนอยู่ทางด้านหลังของตัวเอง  ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อทดลองใช้ไม้แตะไปที่หลังของ “ร่างจำลอง” ที่มองดูอยู่ อย่างเป็นจังหวะสอดคล้องกับที่เอาไม้แตะไปที่หลังของผู้ร่วมทดลองจริงๆ ก็ทำให้ผู้ร่วมทดลองรู้สึกราวกับ “ร่างจำลอง” ที่เห็นเป็น “ร่างจริง” ของตนที่ถอดจิตออกไปมองดูอยู่แม้ทดลองแตะไม้ที่ร่างจำลองเท่านั้น ผู้เข้าร่วมทดลองก็ยังรู้สึกราวกับโดนไม้แตะที่ร่างกายจริงๆ !

ในวารสาร Science ฉบับเดียวกันนั้นเอง เฮนริก เออร์สัน (Henrik Ehrsson) จากสหราชอาณาจักร ก็แสดงให้เห็นเรื่องการถอดจิตในคนปรกติเช่นกัน โดยอาศัยการทดลองคล้ายคลึงกันกับของทีมแบล็งก์ แต่เขาใช้กล้องวิดีโอถ่ายภาพแทน  เออร์สันให้ผู้เข้าทดลองนั่งบนเก้าอี้ สวมแว่นครอบตาที่แสดงภาพจากกล้องวิดีโอ ๒ ตัว ด้านซ้ายแสดงภาพจากกล้องตัวซ้าย และด้านขวาแสดงภาพจากกล้องตัวขวา ทำให้เห็นเป็นภาพเป็น ๓  มิติ โดยกล้องตั้งอยู่ทางด้านหลังห่างจากผู้ร่วมทดลองราว ๒ เมตร

เมื่อเออร์สันยืนอยู่ข้างผู้ร่วมทดลอง แล้วใช้แท่งพลาสติก ๒ แท่งสัมผัสพร้อมๆ กันที่อกของผู้ร่วมทดลอง (ซึ่งผู้ร่วมทดลองมองไม่เห็น) กับอกของ “ร่างจำลอง” ที่เป็นภาพลวงตาที่สร้างขึ้น (ตรงตำแหน่งด้านหน้ากล้องที่ผู้ร่วมทดลองมองเห็น)

ผลที่ได้คือผู้ร่วมทดลองยืนยันว่า พวกเขาต่างรู้สึกราวกับว่าตัวเองย้ายไปนั่งอยู่ทางด้านหลังของตำแหน่งที่นั่งอยู่จริงๆ และ “รู้สึก” ว่าร่างกายตรงตำแหน่งนั้นสัมผัสกับแท่งพลาสติกจริงๆ

จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า OBE หรือ “การถอดจิต” นั้น อย่างน้อยส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความสับสนในกลไกการประสานข้อมูลระหว่างภาพที่เห็นกับประสาทสัมผัสอื่นๆ ของร่างกายและการตีความโดยสมอง

เรื่องการถอดจิตจึงสามารถพิสูจน์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยประการฉะนี้

เชิงอรรถ

*สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
namchai4sci@gmail.com  Facebook: Namchai Chewawiwat