ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์
namchai4sci@gmail.com

magnet-therapy01

ตัวอย่างข้อมูลการบำบัดด้วยแม่เหล็กในเว็บไซต์ต่างประเทศ http://www.glogster.com/rwj5046/magnet-therapy/g-6ljmhekf5bj0riiqn06foa0

ผมจำได้ว่าตั้งแต่สมัยจบปริญญาตรีใหม่ ๆ เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อนนั้นมีเพื่อนมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเตียงแม่เหล็ก บางคนถึงกับมาชวนให้ไปขายด้วยกัน ราคาสมัยนั้นอยู่ที่ ๒-๓ หมื่นบาท ซึ่งถือว่าแพงไม่ใช่เล่นเลยทีเดียว เดี๋ยวนี้มีผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นอีกมาก เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน พรม ผ้าห่ม แผ่นยางรองเท้า ฯลฯ

มีแม้กระทั่งปลาสเตอร์ปิดแผลและน้ำดื่ม !

โดยโฆษณาสรรพคุณกันจนเลิศเลอ ว่าสิ่งเหล่านี้รักษาได้สารพัดโรค แต่แม่เหล็กช่วยรักษาโรคหรือเพิ่มสมรรถภาพร่างกายในรูปแบบต่างๆ ได้จริงหรือ ?

 

แม่เหล็กช่วยเลือดไหลเวียน ?

คำกล่าวอ้างที่ใช้กันบ่อยในหมู่ผู้ขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้คือ แม่เหล็กถาวรในอุปกรณ์พวกนี้ไปช่วย “จัดระเบียบ” โครงสร้างสนามแม่เหล็กของร่างกาย และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น

แม่เหล็กไปเกี่ยวอะไรกับการไหลเวียนของเลือดด้วยหรือ ?

หากยังจำข้อมูลสมัยเรียนตอนเด็กๆ ภายในเลือดของเราจะมีเม็ดเลือดซึ่งมีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ ธาตุเหล็กที่ว่านี้จับกับโปรตีนชื่อเฮโมโกลบิน (haemoglobin) ที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง คอยช่วยจับออกซิเจนเพื่อส่งมอบต่อไปยังเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย

เป็นไปได้หรือไม่ว่า แม่เหล็กจะไปกระตุ้นร่างกายในทางใดทางหนึ่ง ทำให้เม็ดเลือดแดงทำงานดีขึ้น หรือระบบหมุนเวียนเลือดทำงานได้ดียิ่งขึ้น ? สำหรับกรณีธาตุเหล็กในเม็ดเลือดแดงนั้นสนามแม่เหล็กที่ใช้กันแรงไม่พอจะก่อผลใดๆ แน่

ส่วนเรื่องการกระตุ้นการหมุนเวียนเลือด มีผู้อ้างข้อมูลจากหนูทดลองซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Bioelectromagnetics ค.ศ. ๒๐๐๔ ว่า การใช้แท่งแม่เหล็กขนาด ๒๐x๒๐x๑๐ ลูกบาศก์มิลลิเมตร (mm3) วางไว้ที่ขมับของหนู แล้วใช้แม่เหล็กระดับ ๑๐๐ มิลลิเทสลา หรือ mT (T หมายถึงเทสลา คือหน่วยวัดความหนาแน่นของเส้นแรงแม่เหล็ก) กระตุ้นนาน ๑๕ นาที จะสามารถช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์

แต่ก่อนหน้านั้นก็มีการทดลองในมนุษย์ที่ให้ข้อมูลขัดแย้งกัน ดังงานวิจัยชิ้นหนึ่งใน ค.ศ. ๑๙๙๑ (โดยทีมวิจัยเยอรมนี) และหนังสือซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๙๙๖ ชื่อ Handbook of Biological Effects of Electromagnetic Fields (ของ Frank S. Barnes และ Ben Greenebaum) ระบุว่า เมื่อใช้สนามแม่เหล็กที่แรงเป็น ๑๐ เท่า คือ ๑.๐ เทสลา นาน ๑๐ นาที กระตุ้นตรงหัวแม่มือของอาสาสมัครก็ไม่พบการเปลี่ยนแปลงใดๆ ของการไหลเวียนเลือดเลย

จึงต้องถือว่าเรื่องการกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตนั้น ผลยังไม่ชัดเจนว่าช่วยได้ และอันที่จริงมีแนวโน้มตรงกันข้ามด้วยซ้ำ !

 

magnet therapy02

แขนงของเส้นเลือดส่วนศีรษะ คอ และอกของมนุษย์ ถ่ายด้วยระบบแม่เหล็กไฟฟ้า เรียกว่าเป็นภาพแบบ magnetic resonance angiogram https://en.wikipedia.org/wiki/Vertebral_artery_dissection#/media/File:Angio_MR.jpg

แม่เหล็กช่วยแก้ปวด ?

มีการทดลองที่ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๒ ในวารสาร American Journal of Obstetrics and Gynecology (ฉบับที่ ๑๘๗ ปีที่ ๖ หน้า ๑๕๘๑-๑๕๘๗) ระบุว่า เมื่อให้ผู้ป่วยที่เจ็บปวดกระดูกเชิงกรานแบบเรื้อรังแปะแม่เหล็กกับท้องไว้นาน ๑ เดือน ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดน้อยลงเมื่อเทียบกับกลุ่มทดลอง แต่ก็มีการทดลองจำนวนมากกว่าที่ทดสอบแล้วไม่ได้ผลดีดังที่อ้าง เช่น งานวิจัยใน ค.ศ. ๒๐๐๘ นำโดย แมกซ์ พิตต์เลอร์ (Max Pittler) ที่ลงในวารสาร Focus on Alternative and Complementary Therapies (ฉบับที่ ๑๓ ปีที่ ๑ หน้า ๕)

โรคข้ออักเสบก็เป็นอีกโรคที่มักกล่าวขวัญถึงเมื่อเอ่ยอ้างสรรพคุณวิธีการรักษาด้วยแม่เหล็ก มีงานวิจัยของทีมวิจัยชาวสโลวาเกียที่อ้างว่า การทดสอบในผู้ป่วย ๕๗๖ คน โดยรักษาด้วยสนามแม่เหล็กแรงๆ ที่ให้เป็นช่วงๆ ครั้งละเพียงเสี้ยววินาที แต่ทำต่อเนื่องนาน ๑๐ วัน ซึ่งผลในการรักษาไขข้อบางตำแหน่งชัดเจนดี

แต่เมื่อมีการทบทวนผลการวิจัยหมวดนี้ขนานใหญ่ใน ค.ศ. ๒๐๑๒ โดยตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสาร Rheumatology (Oxford) (ฉบับที่ ๕๑ ปีที่ ๑๒ หน้า ๒๒๒๔-๒๒๓๓) กลับได้ข้อสรุปในทางตรงกันข้าม ซึ่งผู้เขียนก็วิเคราะห์ไว้ว่าที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นได้ว่า การทดลองแต่ละครั้งมีกลุ่มตัวอย่างน้อย และอาจมีการสุ่มตัวอย่างไม่ทั่วถึงดี จึงทำให้ผลผิดเพี้ยน ยังไม่นับว่าอาจมีอคติที่อยากให้สำเร็จมาเกี่ยวข้องด้วย

กรณีที่มีข้อสรุปเป็นสองทางเช่นนี้ นักวิทยาศาสตร์มักจะบอกให้รอดูผลการทดลองเพิ่มเติมอีก เพราะถ้าวิธีการนี้ดีจริงและใช้งานได้จริงๆ ก็จะต้องมีการยืนยันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ครับ

 

magnet therapy03

เซลล์มะเร็งระยะแพร่กระจาย (สีเหลืองกลางภาพ) โดนเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายรุมโจมตี https://restoreimmunehealthdotcom2.files.wordpress.com/2012/08/istock_000019908954medium-purchased.jpg

สมานแผลหรือแม้แต่รักษามะเร็ง ?

งานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๐ ในวารสาร Acta Medica Austriaca (ฉบับที่ ๒๗ ปีที่ ๓ หน้า ๖๑-๖๘) ของออสเตรีย ระบุว่า การให้สนามแม่เหล็ก ๐.๒-๑๐.๐ มิลลิเทสลา แก่ผู้ป่วยกระดูกหัก นาน ๑๕ นาทีถึง ๒๔ ชั่วโมงต่อวัน นาน ๓ สัปดาห์ไปจนถึง ๑๘ เดือน (จะสังเกตได้ว่าใช้ค่าต่างๆ ที่หลากหลายและเปรียบเทียบผลกันยาก) ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่รู้สึกปวดน้อยลง และกระดูกสมานตัวเร็วยิ่งขึ้น แม้ในการทดลองของนักวิจัยกลุ่มนี้จะไม่เห็นผลที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการรักษาอาการอักเสบก็ตาม

แต่ในปีเดียวกัน โรเบิร์ต พาร์ก (Robert L. Park) ก็ออกหนังสือ Voodoo Science : The Road from Foolishness to Fraud ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งให้ข้อมูลเน้นย้ำว่า สนามแม่เหล็กไม่ได้มีประโยชน์ใดๆ และไม่ช่วยเรื่องการสมานแผลหรือกระดูกเลย

สำหรับผลของแม่เหล็กต่อเซลล์มะเร็งนั้น มีการทดลองกับเซลล์มะเร็งสัตว์และเซลล์มะเร็งมนุษย์หลายชนิดใน ค.ศ. ๑๙๙๔ โดยตีพิมพ์ในเอกสารประกอบการประชุม “Non-Invasive permanent magnetic field modality induces lethal effects on several rodent and human cancers : An in-vitro study. Proceedings of the American Association for Cancer Research” (ฉบับที่ ๓๕ หน้า ๓๘๖) ที่สรุปว่า เมื่อใช้แม่เหล็กถาวรที่แรงมากขนาด ๑๑.๖ เทสลา จะมีเซลล์มะเร็งเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ยังอยู่รอดได้ คือ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ของเซลล์มะเร็งเต้านม ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของเซลล์มะเร็งรังไข่ และ ๔ เปอร์เซ็นต์ของเซลล์มะเร็งช่องปาก !

แม้ผลการทดลองจะน่าสนใจเพียงใด แต่ก็เป็นการทดลอง “นอกร่างกาย” คือนำเซลล์ไปเลี้ยงนอกร่างกาย ซึ่งไม่แน่ว่าจะเกิดผลแบบเดียวกับเซลล์ในร่างกายหากทำแบบเดียวกัน และคงเป็นเรื่องยากที่จะใช้สนามแม่เหล็กที่แรงขนาดนั้นกับคนเป็นๆ

ยังมีอีกหลายโรคที่ไม่อาจกล่าวถึงได้หมดในที่นี้ ไม่ว่าจะเป็นไมเกรน กระดูกอ่อน พาร์กินสัน ฯลฯ หรือแม้แต่ความสามารถในการฆ่าแบคทีเรีย น่าสนใจว่าในที่สุดแล้วการรักษาด้วยแม่เหล็กจะกลายเป็นวิธีการรักษาวิธีหนึ่งของแพทย์อย่างเป็นทางการ หรือจะหดหายไปในฐานะงานวิจัยที่ไม่ได้มาตรฐาน

และเป็นได้แค่เพียงอคติที่อยากได้ วิธีการรักษาแบบพิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อนเท่านั้น !