คอลัมน์ โลกใบใหญ่ ตะวันออก
เรื่อง : สุภาภรณ์ อัษฎมงคล

after tsunami01

ซ้าย : เวิ้งบ้านพักอาศัยแห่งหนึ่งในเมืองอิชิโนมากิ จ.มิยางิ ถูกทิ้งร้างหลังสึนามิสร้างความเสียหาย
ขวา : คุณยายคัตสุโกะ อาโอคิ(เสื้อสีชมพู) นั่งกอดเข่าคุยกับเพื่อนบ้านในวันแสงแดดอ่อนตอนเย็น

๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔ แผ่นดินไหว ใหญ่ขนาด ๙ ริกเตอร์ และคลื่นยักษ์สึนามิโถมซัดเข้าใส่หลายจังหวัดในภูมิภาคโทโฮกุ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น ซ้ำเติมด้วยหายนะจากอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

ข้อมูล ณ วันที่ ๒๘ กรกฎาคมปีเดียวกัน มีผู้เสียชีวิต ๑๖,๐๐๐ คน สูญหาย ๕,๐๐๐ คน และอยู่ในศูนย์อพยพ ๙๒,๐๐๐ คน  ท่าเรือเสียหายกว่า ๓๐๐ แห่ง สูญเสียพื้นที่เกษตรกรรม ๕๘,๓๑๔ เอเคอร์

รอวันดอกไม้บาน

“ฉันคิดว่าสิ่งที่ได้พบเจอในครั้งนี้เลวร้ายยิ่งกว่าตอนสงครามโลกเสียอีก” คุณยายคัตสุโกะ อาโอคิ วัย ๗๙ ปี เผยความรู้สึก

บ่ายวันนั้น เราพบคุณยายกำลังนั่งคุยกับเพื่อนร่วมรุ่นอีก ๓ คนที่ด้านหลัง “บ้าน”

ถ้าจะพูดให้ตรงกับความจริง มันคือ “บ้านชั่วคราว” ในศูนย์พักพิงที่ทางการจัดพื้นที่ไว้ให้ในเมืองอิวากิ มิใช่บ้านเกิดเมืองนอนในเมืองฮิราโนที่พวกเธอจากมา

คุณยายและชาวเมืองฮิราโน ๕,๔๙๐ คน หรือประมาณ ๒,๐๐๐ ครอบครัว ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศตนเอง ด้วยว่าตำแหน่งแห่งที่ของเมืองฮิราโนอยู่ในจุดที่ค่อนข้างกำกวมในเรื่องความปลอดภัยจากรังสีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ มีบางส่วนของเมืองอยู่ใน “เขตบังคับย้าย” (No-go zone) คือรัศมี ๒๐ กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้า ขณะที่อีกค่อนอยู่ในข่ายที่ให้อพยพโดยสมัครใจ คืออยู่ภายในระยะ ๓๐ กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้า  ในที่สุด นายกเทศมนตรีจึงตัดสินใจประกาศให้อพยพ

ถ้านึกไม่ออกว่าบ้านชั่วคราวเป็นอย่างไร ขอให้จินตนาการถึงตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า กล่องโลหะสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวตั้งเรียงเป็นแถว  คุณยายอาโอคิพักอาศัยอยู่ในบ้านพื้นที่ ๓๐ ตารางเมตรแบบนี้กับสามีวัยไล่เลี่ยกันเพียงลำพัง

มองด้วยตาเปล่า เห็นได้ว่ามีหม้อหุงข้าว ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ที่ได้รับบริจาคจากสภากาชาดญี่ปุ่น พอสนองตอบความต้องการขั้นพื้นฐานได้  ทว่าการเข้ามาอยู่ในศูนย์พักพิงคือการถอนรากถอนโคนชีวิตเกษตรกรเช่นคุณยาย จากที่เคยปลูกข้าวปลูกมันกินเอง กลับต้องซื้อกิน ท่ามกลางความหวาดหวั่นเรื่องกัมมันตภาพรังสี  ทุกครั้งที่ซื้อพืชผักผลไม้ คุณยายต้องย้ำถามเรื่องสถานที่ปลูก ให้แน่ใจว่าไม่ได้มาจากฟุกุชิมะ

“คิดถึงบ้าน” คุณยายบอก และว่าอยากกลับไปปลูกอะไรที่บ้านเหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ก็เป็นเพียงการปลูกดอกไม้ในกระถาง อย่างทิวลิปที่เพิ่งลงเมล็ดพันธุ์ไว้เมื่อไม่กี่วันก่อน รอวันผลิบาน

“ใจจริงฉันอยากปลูกดอกทานตะวัน แต่มันหมดฤดูเสียแล้ว” คุณยายรำพึง

after tsunami02

ซ้าย : “บ้านพักชั่วคราว” สำหรับผู้ประสบภัยที่ย้ายมาจากเมืองฮิราโน ลี้ภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ
ขวา : รายการโทรทัศน์แทบจะเป็นความบันเทิงเดียวที่สามีของคุณยายอาโอคินั่งเฝ้าหน้าจอได้ตลอดทั้งวัน

เยียวยา-ฟื้นฟู

๗ เดือนหลังเหตุการณ์ ที่เมืองอิชิโนมากิ จังหวัดมิยางิ ซึ่งคลื่นสึนามิกลืนชีวิตผู้คนไปราว ๔,๐๐๐ คน และสูญหายอีกกว่า ๗๐๐ คน จากจำนวนชาวเมือง ๑๖๐,๐๐๐ คน  เราพบ เอตสุโร่ คิตามูระ รองนายกเทศมนตรีเมืองอิชิโนมากิ เขาสรุปสถานการณ์ให้ฟังว่าสถานการณ์ปัจจุบันเริ่มดีขึ้น แต่บางส่วนยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้น

๕๐,๐๐๐ คนคือตัวเลขของผู้อพยพ ที่แยกย้ายไปอยู่ตามบ้านพักชั่วคราว ๗,๓๐๐ หลัง และอีก ๗,๐๐๐ หลังที่เป็นบ้านเช่า นอกจากนั้นมีอีกราว ๒,๐๐๐ คนที่ยังอาศัยอยู่บนชั้นสองของบ้านตัวเอง  เหตุผลก็คือสึนามิสร้างความเสียหายให้เฉพาะชั้นล่าง แต่คนเหล่านี้ก็ถูกนับว่าเป็น “ผู้อพยพ” เช่นกัน พวกเขาได้รับสิ่งของบรรเทาทุกข์และอาหารเช่นเดียวกับผู้ที่อยู่ตามศูนย์อพยพ

อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ยุติลงทั้งหมดในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ดังนั้นผู้อพยพต้องพึ่งตัวเองให้ได้  คำถามถัดมาคือ แล้วชาวบ้านจะเริ่มชีวิตใหม่อย่างไร

รองนายกเทศมนตรีคาดว่ามีคนว่างงาน ๓๐,๐๐๐ คนจากประชากร ๑๖๐,๐๐๐ คน  ในจำนวนนี้ ๑ ใน ๓ ทางเทศบาลมีงานชั่วคราวให้ทำ โดยวางแผนไว้ว่าจะให้มาทำช่วยกันความสะอาดเมือง ขณะที่อุตสาหกรรมหลักของเมือง ๒ ชนิด คือการผลิตกระดาษ กับการประมงและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องนั้น งานก็หดหายไปราวร้อยละ ๓๐  ส่วนพื้นที่การเกษตร ๑๐,๐๐๐ เฮกแตร์ (๑ ไร่ = ๐.๑๖ เฮกแตร์) ก็มีถึงร้อยละ ๒๐ ที่ถูกน้ำทะเลเข้าท่วมขัง ต้องระบายน้ำเค็มออกก่อนจึงจะฟื้นฟูให้กลับมาเพาะปลูกได้ดังเดิม

อีกปัญหาชวนปวดหัวคือเรื่องขยะ เหตุการณ์หายนภัยซ้ำซ้อนคราวนั้นได้ทิ้งดินโคลนและเศษซากปรักหักพังไว้ถึง ๖ ล้านตัน หรือเท่ากับปริมาณขยะของเมืองอิชิโนมากิประมาณ ๑๐๐ ปี  แน่นอนว่าทางเทศบาลไม่อาจรับมือกับปัญหาขนาดนี้ได้ตามลำพัง ที่ผ่านมามีเรี่ยวแรงจากอาสาสมัครมาร่วมลงมือเก็บกวาด แต่ในระยะต่อจากนี้ได้วางแผนให้บริษัทเอกชนมารับช่วงงาน โดยต้องทุ่มงบประมาณอีกถึง ๒ แสนล้านเยนในการกำจัดขยะต่อ

ถัดจากปัญหาขยะ ความท้าทายที่กำลังเผชิญและต้องลงมือทำต่อไปคือการสร้างกำแพงกั้นคลื่นทะเล  ความสูงของกำแพงยังสรุปตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้ เพราะจุดประสงค์ของคนแต่ละกลุ่มที่ใช้พื้นที่ชายฝั่งนั้นแตกต่างกัน เช่นท่าเรือประมงกับท่าเรืออุตสาหกรรมย่อมมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน

“เราพยายามจะปกป้องทุกพื้นที่ตามชายฝั่งที่มีคนอยู่…ที่ไหนมีคน เราจะต้องทำกำแพงกั้นคลื่นทะเลที่นั่น” รองนายกเทศมนตรีอิชิโนมากิกล่าว

ย่อมไม่มีใครรู้ว่ากำแพงกั้นคลื่นจะช่วยชีวิตคนให้รอดพ้นจากคลื่นสึนามิในครั้งต่อไปได้หรือไม่ เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตอันสดใสจะกลับมาเยือนเมืองอิชิโนมากิอีกเมื่อไรแต่ถึงไม่รู้ก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่ยังอยู่ที่ต้องเดินหน้ากันต่อไป

after tsunami03

ซ้าย : เอตสุโร่ คิตามุระ รองนายกเทศมนตรีเมืองอิชิโนมากิกางแผนที่อธิบายว่าต้องทำกำแพงกั้นทะเลตามแนวชายฝั่ง
ขวา : ซากปรักหักพังจากอดีตสิ่งของเครื่องใช้ตามบ้านกลายเป็นขยะกองมหึมา เป็นอีกปัญหาที่ต้องสะสางของเมืองอิชิโนมากิ

รัฐบาลกลางสนับสนุน ท้องถิ่นลงมือ

ความเสียหายที่รุนแรงในภูมิภาคโทโฮกุนั้น จำเป็นต้องมีการฟื้นฟูกันอย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพราะครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คน สังคม และเศรษฐกิจ

หลังเหตุการณ์ไม่นาน คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีมติแต่งตั้งสภาออกแบบเพื่อการฟื้นฟู (Reconstruction Design Council) ประกอบด้วยนักวิชาการด้านการป้องกันภัยพิบัติ สถาปนิก และนักปรัชญา เป็นที่ปรึกษาพิเศษ

ข้อใหญ่ใจความของเอกสารความยาว ๔๓ หน้าชิ้นนี้ มุ่งไปที่การให้จังหวัดและเทศบาลซึ่งเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารงานและรับผิดชอบการฟื้นฟูภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลกลาง

กระบวนการฟื้นฟูวางอยู่บนแนวคิด “ลดภัยพิบัติ” (disaster reduction) โดยมี ๓ เสาหลักในนโยบายการทำงาน ได้แก่ การสร้างพื้นที่ประสบภัยให้กลับฟื้นขึ้นมาใหม่ การฟื้นฟูชีวิตของผู้คนในชุมชน และการฟื้นฟูอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจท้องถิ่น

ร่างดังกล่าวมีการรับฟังประชาพิจารณ์จากคนในท้องถิ่น เพื่อให้คำแนะนำได้ส่งผลต่อนโยบายและมาตรการอย่างเป็นจริงเป็นจังต่อไป และเพื่อให้เข้ากับสภาพท้องถิ่นนั้น ๆ

โยชิโอ อันโด ที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการของสำนักงานใหญ่กระทรวงฟื้นฟู บอกว่าต้องมีการทบทวนการใช้พื้นที่อยู่อาศัยและการสร้างบ้านในเขตที่ประสบภัยสึนามิ  การสร้างบ้านบนพื้นที่เดิมนั้นเป็นไปไม่ได้เพราะไม่มีใครรู้ว่าสึนามิจะมาตอนไหน กลางวันหรือกลางคืน ดังนั้นจึงต้องจัดการพื้นที่อยู่อาศัยให้ขึ้นไปอยู่พื้นที่สูงกว่าเดิม เพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ รวมทั้งต้องมีการก่อสร้างบ้านแบบใหม่ขึ้นมาให้สามารถรับภัยสึนามิได้ด้วย

ขนาดของโครงการที่จะลงไปทำงานในพื้นที่ฟื้นฟูนั้นต้องอาศัยงบประมาณทั้งสิ้น  ๒๓ ล้านล้านเยน และคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูถึง ๑๐ ปี

สิบปีอาจเป็นได้ทั้งเวลาที่ยาวนาน หรืออาจผ่านไปชั่วพริบตา ขึ้นอยู่กับว่ามองจากมุมใด จากสายตาของผู้ประสบภัย จากแว่นของผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม หรือจากมุมมองภาครัฐ

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้น เชื่อแน่ว่าจิตวิญญาณแบบญี่ปุ่นมีพละกำลังพอที่จะต้านทานแรงสั่นสะเทือนที่ตามมาหลังภัยพิบัตินั้นอย่างแน่นอน

…..

สุภาภรณ์ อัษฎมงคล เป็นสื่อมวลชนรายเดียวจากประเทศไทยที่ได้รับเชิญให้ไปสังเกตการณ์การฟื้นฟูหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิในพื้นที่ประสบภัย ร่วมกับเพื่อนสื่อมวลชนจากเอเชียอีก ๑๐ ประเทศช่วงปลายเดือนตุลาคม ๒๕๕๔