เรื่อง : นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

musicophiliaหนังสือ Musicophilia ของ โอลิเวอร์ แซ็กส์ (Oliver Sacks) เล่าเรื่องอาการความจำเสื่อม(amnesia) ได้อย่างน่าสนใจทำให้เราเข้าใจอาการความจำเสื่อมและผู้ป่วยความจำเสื่อมได้มากขึ้น รวมทั้งเข้าใจชัดเจนขึ้นด้วยว่า ที่ว่าเสื่อมนั้นคืออะไรกันแน่

โอลิเวอร์ แซ็กส์ เป็นจิตแพทย์ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเรื่อง Awakenings ที่นำไปสร้างเป็นหนังโดยมี โรบิน วิลเลียมส์ และ โรเบิร์ต เดอ นีโร นำแสดง หนังเล่าเรื่องผู้ป่วยพาร์กินสันที่นิ่งไปนานหลายปีจนกระทั่งไม่มีใครสนใจ แต่แท้จริงแล้วเขายังคงรับรู้สภาพแวดล้อมและกลับมาเป็นคนปรกติได้

เรื่องราวเกี่ยวกับคนรักความจำเสื่อมถูกสร้างเป็นหนังมามากไม่ว่าหนังไทย เกาหลี หรือฝรั่ง แต่ไม่มีเรื่องไหนกินใจอ่านแล้วน้ำตาซึมได้เท่ากับเรื่อง “In the Moment: Music and Amnesia” ที่ โอลิเวอร์ แซ็กส์ เขียนในหนังสือ Musicophilia เล่มนี้

แซ็กส์เล่าเรื่องนักประพันธ์เพลงและวาทยกรชื่อ ไคลฟ์ ที่ป่วยด้วยไข้สมองอักเสบในคราวหนึ่ง หลังจากฟื้นไข้มาได้เขากลายเป็นคนความจำเสื่อม ไม่สามารถจำอดีตได้ และไม่สามารถจำเรื่องใหม่ๆ ได้ด้วย เขาไม่สามารถใช้ชีวิตเช่นปรกติได้ จนกระทั่งในที่สุดต้องไปอาศัยอยู่ในสถาบันรับผู้พิการทางสมอง

การที่คนเราไม่สามารถบันทึกความจำใหม่ๆ ได้น่ากลัวเพียงไร? ไคลฟ์อ่านหนังสือ เขาลืมทันทีที่เขาอ่าน เราจะเห็นเขาถือหนังสือเล่มเดิมและพูดว่า “หนังสือเล่มใหม่” ทุกครั้งที่พลิกหน้าถัดไปหรือแม้เพียงกะพริบตา ทันทีที่กะพริบตา หนังสือเล่มที่ปรากฏต่อสายตาก็หายไป พาความจำที่ได้อ่านหายไปด้วย  ครั้นลืมตา เขาพบ “หนังสือเล่มใหม่” ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ไคลฟ์จำภรรยาสุดที่รักไม่ได้ ตลอดเวลา ๒๐ ปีที่เขาป่วย ภรรยาของเขาคือ เดบอราห์ ยังคงดูแลเขาใกล้ชิด  แม้เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องไปอยู่ที่สถาบันนั้น เดบอราห์ก็ไปเยี่ยมสม่ำเสมอ  ไคลฟ์รับรู้ได้ว่าเขากับเธอมีความผูกพันบางประการ แต่เขาไม่รู้ว่าเดบอราห์คือใคร เขาไม่รู้ว่าเดบอราห์มาเยี่ยมถี่เพียงใด เพราะเขาจะลืมทุกอย่างทันทีที่เธอกลับไป  เดบอราห์เล่าว่าบางครั้งเพียงลับสายตา ไคลฟ์ก็จะโทร. มาและพูดว่าไม่ได้พบเธอนานแล้ว อยากให้มาหาเร็วที่สุด

ไคลฟ์อ่านหนังสือได้แต่จำอะไรไม่ได้หลังจากกะพริบตา ไคลฟ์ผูกพันกับผู้หญิงคนหนึ่งแต่ไม่รู้ว่าเธอคือภรรยา และไม่รู้ว่าเธอมาเยี่ยมเขาสม่ำเสมอตลอดระยะเวลา ๒๐ ปีที่เขาป่วย เขายังคงช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ว่าจะกินข้าว อาบน้ำแต่งตัว ทำความสะอาดร่างกายหลังขับถ่าย แต่เขาไม่รู้ว่าทั้งหมดนั้นเพื่ออะไร กินมื้อไหน อาบน้ำหรือยัง แต่งตัวจะไปไหนหรือไม่ไปไหน

ไคลฟ์อ่านหนังสือได้และพูดได้  ความจำเกี่ยวกับความหมายของคำเรียกว่า semantic memory ต่างจากความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่เรียกว่า explicit memory  และแตกต่างจากความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตแต่ละช่วงที่เรียกว่า episodic memory  การแพทย์พบว่าลำพัง semantic memory ที่ไม่มี explicit memory และ episodic memory ร่วมด้วยนั้นแทบจะไม่สามารถพาชีวิตให้เดินไปอย่างมีจุดหมายได้เลย

เขาอ่านหนังสือได้แต่เปลี่ยนหน้าไม่ได้ เขาพูดได้แต่ถูกขัดจังหวะไม่ได้เพราะเขาจะลืมและเปลี่ยนเรื่องใหม่ทุกครั้ง ดังนั้นเวลาพูดเขามักพูดคนเดียวและเปลี่ยนเรื่องไปได้เรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว  ซึ่งสำคัญมากที่จะต้องรู้ว่าเขาพูดจาลักษณะนั้นเพราะความจำเสื่อม มิใช่เพราะเป็นโรคจิต  หากแพทย์สำคัญผิดว่าเขาเป็นโรคจิตและจ่ายยาแก้โรคจิต เขากลับจะมีอาการทรุดลงเนื่องจากฤทธิ์ข้างเคียงของยา

ไคลฟ์จำภรรยาไม่ได้และจำไม่ได้ว่าสองคนรักกันเมื่อไรอย่างไร  ปัจจุบันไคลฟ์ดีใจที่ผู้หญิงคนนี้มาเยี่ยม เศร้าใจเมื่อเธอหายไป แต่ก็จำไม่ได้ว่าเธอหายไปเมื่อไร  ดีใจอีกครั้งเมื่อเธอเยี่ยมหน้ามาที่ประตู แม้จะไม่รู้ว่าเธอออกไปเมื่อไร เมื่อครู่นี้ หรือเมื่อ ๓ วันก่อน หรือเมื่อสัปดาห์ก่อน เดบอราห์เขียนว่า “เขาอยู่กับคนแปลกหน้าในสถานที่ใหม่ตลอดเวลา” และ “ทุกครั้งที่ฉันไปหา เขาจะเข้ามาใกล้ชิด ซบฉัน และร้องไห้” คำถามคือ ไคลฟ์จำผู้หญิงคนนี้ได้อย่างไร?

คำตอบคือ เขามีสิ่งที่เรียกว่า emotional memory แปลว่า ความจำเกี่ยวกับอารมณ์  การทดลองที่มีชื่อเสียงกระทำโดยนายแพทย์ชาวสวิสชื่อ เอดูอาร์ คลาปาแร็ด (Édouard Claparède) ในปี ค.ศ. ๑๙๑๑  คุณหมอซ่อนเข็มไว้ในมือแล้วเดินจับมือกับผู้ป่วยที่ความจำเสื่อมด้วย Korsakoff syndrome (โรคความจำเสื่อมจากพิษเหล้า)  เขาพบว่าผู้ป่วยเหล่านี้จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่มีใครยอมจับมือเขาอีกเลย

ซิกมันด์ ฟรอยด์ เชื่อว่าทารกจำเหตุการณ์ไม่ได้ก็จริง แต่ทารกมี emotional memory ฝังลึกลงในจิตใต้สำนึกและจะกลายเป็นหางเสือคัดท้ายชีวิตที่เหลือในภายหน้า  นักจิตวิเคราะห์พบว่าผู้ป่วยความจำเสื่อมที่มาตามนัดสม่ำเสมอนั้นสามารถสร้าง transference หรือประสบการณ์ร่วมด้านอารมณ์กับนักจิตวิเคราะห์ได้ แม้ว่าเขาจะจำสิ่งที่พูดกันในแต่ละครั้งไม่ได้เลย  ปัจจุบันเราเชื่อว่า emotional memory ฝังลึกลงในส่วนที่ลึกที่สุดของบริเวณสมองที่เรียกว่า limbic system ที่ซึ่งไม่มีโรคอะไรจะทำลายมันได้โดยง่าย

ไคลฟ์ล้มป่วยเพียงไม่กี่ปีหลังแต่งงาน ความรักของคนทั้งคู่ยังดูดดื่มไม่คลายจาง และความหลงใหลในดนตรีของคนทั้งสองเป็นประสบการณ์ร่วมพิเศษอีกชั้นหนึ่ง นั่นทำให้เดบอราห์เป็นคนสำคัญต่ออารมณ์ของไคลฟ์เสมอ แม้ไคลฟ์จะไม่รู้ว่าเธอเป็นใครและมาเยี่ยมเขาทั้งหมดกี่พันครั้งติดต่อกันนาน ๒๐ ปีก็ตาม สำหรับไคลฟ์ สิ่งที่ก่อร่างขึ้นมาเป็นผู้หญิงคนนี้ไม่ใช่แค่สิ่งที่เขาเห็นหรือเสียงที่ได้ยินเธอพูด แต่เขาสามารถสัมผัสกลิ่นกายเธอในอดีตและผูกพันกับบรรยากาศแห่งความรักรอบตัวคนทั้งสองในเวลานั้นซึ่งไคลฟ์ก็ไม่รู้ว่าเป็นเวลาไหน

ผมเคยพูดและเขียนในหลายวาระว่า เวลาสามีภรรยาทะเลาะกันอย่าใช้เหตุผลเป็นอันขาด ให้ใช้อารมณ์ วางเหตุผลลงให้ได้ ปล่อยให้อารมณ์ลอยขึ้นมา อารมณ์รักที่เคยมีต่อกันในอดีตจะเข้ามาแก้ปัญหาให้เอง นี่คือคำอธิบายถึงสิ่งที่ผมเคยพูดและเขียน

เรื่องน่าประหลาดใจมากที่สุดคือไคลฟ์ยังเล่นเปียโนหรือคีย์บอร์ดได้ดีไม่มีที่ติ เขาสามารถบรรเลงเพลงคลาสสิกที่ชื่นชอบได้เป็นเลิศไม่ผิดเพี้ยน และเขามีความสุขล้นเหลือกับการทำเช่นนั้นร่วมกับผู้หญิงคนนั้น

การเล่นดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของความจำที่เรียกว่า implicit memory ซึ่งอาจแปลได้ว่าเป็นความจำจากภายใน  นักปรัชญาด้านดนตรีเชื่อว่าการได้ยินเสียงท่วงทำนองของดนตรีที่แท้มิใช่ “ได้ยินท่วงทำนอง” (hearing of a melody) แต่เป็น “ได้ยินไปด้วยกันกับท่วงทำนอง” (hearing with memory)  นั่นคือ ดนตรีมิใช่ของแปลกปลอม แต่ดำเนินไปด้วยกันกับชีวิตหรือตัวตน ซึ่งภาษาทางจิตวิทยาเรียกว่า self

ประเด็นสำคัญคือไคลฟ์สูญเสียความจำทั้งหมด แต่เขาไม่สูญเสียตัวตนหรือ self

คนอย่างไคลฟ์ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต เขามีเพียงปัจจุบันซึ่งสามารถหายไปได้ทุกเวลาแม้เพียงกะพริบตา ท่วงทำนองดนตรีเป็นอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาสามารถอยู่กับปัจจุบันได้นาน  เมื่อเขาเล่นดนตรีเขาจะอยู่ เมื่อเขาหยุดเล่นเขาก็สูญหายไปกับกาลเวลาอีก

ทั้งหมดนี้คือชีวิตของคนความจำเสื่อม และความสำคัญของดนตรีที่มีต่อชีวิต