เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ (patwajee@gmail.com)
ภาพประกอบ : จัน-เจ้า-ค่ะ

green cloth01

อากาศร้อนจัดแบบนี้ หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยคือโรคผดผื่นคันอันเกิดจากเหงื่อ ยิ่งเสื้อผ้าที่เก็บความร้อนและอับชื้นยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ไปใหญ่

ใช่แล้วค่ะ มิเพียงแค่เลือกดีไซน์ของเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับฤดูกาล…บ้างว่าร้อนนี้ต้องโปร่งบาง บ้างขอสั้นจู๋แบบไม่กลัวแสงอัลตราไวโอเลต…สิ่งสำคัญไม่แพ้กันก็คือการเลือกเส้นใยผ้านั่นเอง

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังแนะนำว่าผ้าที่เหมาะกับหน้าร้อนคือผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ซึ่งก็คือผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ลินิน ฝ้าย ป่าน หรือผ้าจากเส้นใยกัญชง  ส่วนเด็กเล็กที่ผิวหนังบอบบางแพ้ง่ายควรสวมเสื้อผ้าทำจากผ้าฝ้ายเพราะเป็นเส้นใยที่มีความแข็งแรงทนทานและเหนียวนุ่มระบายอากาศได้ดี ไม่ทำให้เกิดการแพ้

แต่ทว่าการเลือกผ้าจากเส้นใยธรรมชาติเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ  นักพัฒนาทั้งด้านสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมล้วนเห็นตรงกันว่าควรมองให้ลึกถึงที่มา นั่นคือต้องเป็นเส้นใยธรรมชาติที่ปลูกด้วยวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพราะการปลูกพืชเพื่อทำเครื่องนุ่งห่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมมหาศาล ซึ่งเหตุผลด้านนี้เองที่นำไปสู่แนวคิดเรื่องการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) และธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม (Social Enterprise)

ธนศักดิ์ เมฆขจร หรือกิ๊ก แห่งเครือข่ายฝ้ายพันดาว ชายหนุ่มผู้สวมใส่เสื้อผ้าฝ้ายทุกวันจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไปแล้วและทำงานส่งเสริมให้ผู้สูงวัยในหมู่บ้านแถบอำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ปลูกและปั่นฝ้ายปลอดสารพิษมานับสิบปีจนสามารถสร้างเครือข่ายผู้ผลิตใน ๓ หมู่บ้าน โดยตั้งเป็น “ธนาคารฝ้าย” ที่บริหารงานแนวราบ (ไม่มีหัวหน้า-ลูกน้อง) จนมีกองทุนมูลค่านับแสนบาท และมีนักออกแบบชาวญี่ปุ่นชื่อดังเจ้าของสินค้ายี่ห้อ “USATO” รับประกันการซื้อผ้าฝ้ายทั้งหมดด้วยราคาที่เป็นธรรมเพื่อนำไปออกแบบและจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น และล่าสุดเพิ่งขยายตลาดในประเทศไทยโดยวางขายที่เลมอนฟาร์ม

กิ๊กบอกว่าธรรมชาติให้สิ่งที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ เช่น มอบฝ้ายให้แก่คนเหนือซึ่งเป็นเมืองที่หนาวเย็น และให้ผ้าไหมแก่คนสุรินทร์ที่อากาศร้อน โดยคุณสมบัติร่วมกันของผ้าจากเส้นใยธรรมชาติก็คือระบายอากาศได้ดี และนำมาพัฒนาให้เหมาะสมกับทุกสภาพอากาศได้ เช่น ถ้าร้อนก็ใช้ผ้าฝ้ายชนิดบาง ถ้าหนาวก็ใช้ชนิดเส้นใยหนา  ยิ่งเป็นผ้าฝ้ายทอมือที่ทอแบบหลวมก็ยิ่งยืดหยุ่นระบายอากาศได้ดีและเกาะติดสีธรรมชาติได้ดีและทนกว่าผ้าฝ้ายจากโรงงาน

ทว่าสิ่งสำคัญที่กิ๊กค้นพบในการส่งเสริมการทำฝ้ายปลอดสารพิษกลับไม่ใช่เพียงเหตุผลด้านคุณสมบัติของเนื้อผ้าที่สวมใส่สบายเท่านั้น แต่กลับเป็นความเชื่อมโยงความสัมพันธ์และการเกื้อหนุนกันภายในครอบครัวและชุมชนที่ใส่ใจผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เจ้าของผลิตภัณฑ์ที่รับประกันการซื้อวัตถุดิบด้วยราคาที่เป็นธรรม ไปจนถึงผู้ซื้อเสื้อผ้าไปสวมใส่

“คนที่ใส่เสื้อผ้าของกลุ่มเราจะรู้สึกอุ่นทั้งกายและใจ เพราะเท่ากับได้เกื้อกูลคนทุกคนที่อยู่ในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นไปจนถึงมือผู้ซื้อ” …ซึ่งก็คือการอธิบายความหมายของคำว่า “Fair Trade” หรือ “Social Enterprise” อย่างเห็นภาพได้ชัดเจนนั่นเอง

แตกต่างจากการปลูกฝ้ายด้วยสารเคมีและกระบวนการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมราวขอบฟ้ากับก้นเหว นักวิเคราะห์ประมาณการว่าในแต่ละปีอุตสาหกรรมฝ้ายใช้ยาฆ่าแมลงคิดเป็น ๑ ใน ๔ ของการใช้ยาฆ่าแมลงในภาคการเกษตรทั้งหมด  และข้อมูลจากกระทรวงป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐฯ ระบุว่า ๗ ใน ๑๕ ชนิดของยาฆ่าแมลงที่ใช้ในอุตสาหกรรมฝ้ายในสหรัฐฯ มีแนวโน้มหรือเป็นที่รู้กันว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์

ขั้นตอนกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้เสื้อผ้าสำเร็จรูปก็เป็นต้นตอการทำลายสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและสุขภาพของผู้เกี่ยวข้อง ไม่แพ้การทำผ้าผืน  แหล่งผลิตเสื้อผ้าบางแห่งกลายเป็นแหล่งมลพิษ เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ดูสวยงามบนเรือนร่างคุณก็อาจจะเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษด้วยเช่นกัน

green cloth02

เมื่อ ๒ ปีที่แล้วกรีนพีซประเทศจีนเปิดเผยผลการเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งจากโรงงานลงสู่แม่น้ำเพิร์ลในเมืองซินถัง เมืองที่ผลิตยีนมากที่สุดในโลก และแม่น้ำเซาซีในเมืองกู่ร้าว เมืองที่ผลิตชุดชั้นในมากที่สุดในโลก พบว่า ๑๗ จาก ๒๑ ตัวอย่างมีโลหะหนัก ๕ ชนิด คือ แคดเมียม โครเมียม ปรอท ตะกั่ว และทองแดง  ตัวอย่างหนึ่งพบแคดเมียมเกินกว่ามาตรฐานของประเทศจีนถึง ๑๒๘ เท่า

ต่อมาเมื่อปลายปีที่แล้วกรีนพีซเปิดเผยผลการสุ่มซื้อเสื้อผ้าแบรนด์เนมจำนวน ๗๘ ยี่ห้อที่ผลิตใน ๑๘ ประเทศทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตในจีน เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ พบสารอันตรายในผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าชั้นนำ ๑๔ ยี่ห้อ เช่น อาดิดาส ยูนิโคล่ คาลวินไคลน์ เอชแอนด์เอ็ม อาเบอร์ครอมบี้แอนด์ฟิตช์ ลาคอสต์ คอนเวิร์ส และราล์ฟลอเรน เป็นต้น  สารดังกล่าวคือสารลดแรงตึงผิวชื่อ Nonylphenol Ethoxylates (NPE) ซึ่งใช้ซักล้างทำความสะอาดผ้า  สารอันตรายนี้จะส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนของมนุษย์โดยเฉพาะในสตรี รบกวนพัฒนาการทางเพศและส่งผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์ แม้มีการปนเปื้อนในปริมาณน้อยนิดแต่ก็อาจส่งผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์อย่างใหญ่หลวง

จริงอยู่เสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังหาซื้อยากและราคาแพง แต่ตอนนี้ทิศทางกระแสโลกกำลังวิ่งไปทางนั้น และผู้บริโภครวมถึงผู้ซื้อยุคใหม่ก็เป็นผู้มีอำนาจกำหนดมาตรฐานและทิศทางของตลาดเสียด้วย

นักการตลาดยุคใหม่ได้จัดกลุ่มผู้บริโภคแตกต่างจากที่เคยเป็นมา  ปัจจุบันมีกลุ่มผู้บริโภคใหม่ที่เรียกกันว่า LOHAS: Lifestyles of Health and Sustainability ที่ดำรงชีวิตด้วยวิถีแห่งสุขภาพที่ดีและนิเวศวิทยาอย่างยั่งยืน และกำลังเติบโตอย่างน่าจับตามอง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฟูกูโอกะรายงานว่า จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นพบว่า มีประชากรถึง ๒๙.๓ % จัดอยู่ในกลุ่ม LOHAS ส่วนมากเป็นเพศหญิง มีการศึกษาค่อนข้างสูง โดย ๕๕.๖ % จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป และกว่า ๕๐ % มีรายได้มากกว่า ๕๑,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ทำให้ญี่ปุ่นเป็นตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ขนาดใหญ่อันดับต้นของโลก รองจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ร้อนนี้มาลองร่วมกระแสรักโลกรักสุขภาพและเป็นคนรุ่นใหม่ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเพื่อนมนุษย์กันเถอะค่ะ