โลกใหญ่ รอบรั้วอาเซียน
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

fm asean“ผู้ให้กำเนิดรายการ ‘คลื่นอุษาคเนย์’ FM 96.5 MHz คือ คุณวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายคลื่นวิทยุ 96.5 MHz บมจ.อสมท. ‘คลื่นความคิด’ ที่อยากให้ทำรายการวิทยุเรื่องอาเซียนโดยเฉพาะ  ช่วงแรกเราพยายามทำความรู้จักประเทศเพื่อนบ้านผ่านศิลปวัฒนธรรมเพราะเท่าที่เห็นส่วนใหญ่มักพูดกันด้านเศรษฐกิจ  อาจเป็นครั้งแรกของวงการวิทยุที่มีรายการนำเสนอเรื่องอาเซียนแบบเจาะลึก ต่างจากยุคก่อนที่รายการวิทยุของสำนักข่าวแปซิฟิกมองว่าประเทศในอุษาคเนย์เป็นเพื่อนบ้าน ไม่ได้มองเป็น ‘อาเซียน’ หรือ ‘อุษาคเนย์’

“เรามองว่าอาเซียนอยู่ได้ด้วยความหลากหลาย นี่คือคุณค่า เราพยายามพูดถึงหัวใจว่า ‘เอกภาพในความหลากหลาย’ คืออะไร แล้วคัดประเด็นมารับใช้โจทย์นี้  ในช่วงปีแรก ๆ แนวทางของเรายังไม่ชัดเจนนัก เราพยายามพาผู้ฟังไป ‘รู้จักเพื่อนบ้าน’ ตอนแรกออกอากาศเรื่องเรียนรู้เพื่อนบ้านผ่านบทเพลง จัดบ่อยเข้าเราก็พบว่ามีจุดแข็งทางนี้มากกว่าด้านอื่น จึงเน้นเรื่องอาหาร ดนตรี ประเพณี เช่นเรื่อง ‘ไม้จิ้มฟัน’ คำภาษาพม่ามีความหมายว่า ‘เครื่องค้นหา’ หรือเรื่องรถสามล้อประเทศต่าง ๆ ในอุษาคเนย์ซึ่งมีทั้งความเหมือนและต่าง ฯลฯ  นี่เป็นตัวอย่างการทำความเข้าใจความคิดความเป็นอยู่ของเพื่อนบ้าน และในช่วงปีหลังเราพยายามสร้างคอลัมน์ (ช่วงต่าง ๆ ของรายการ) ให้น่าสนใจ เช่น ‘ข่าวอุษาคเนย์’ รายงานความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในภูมิภาค, ‘สีสันอุษาคเนย์’ นำเสนอเกร็ดน่ารู้ เช่น นิทาน เพลงของแต่ละประเทศในภูมิภาค, ‘ปริศนาอุษาคเนย์’ เป็นช่วงตอบคำถามชิงรางวัล, ‘สนทนาอุษาคเนย์’ เจาะลึกเรื่องเฉพาะ อาจเชิญแขกรับเชิญมาพูดคุย เป็นต้น

“ส่วนประเด็นร้อน ๆ เรื่องการเมืองมักนำเสนอเป็นรายงานข่าว ที่เคยทำใกล้เคียงการเจาะลึกเรื่องการเมืองคือประเด็นเรื่องแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยซึ่งคนจำนวนมากไม่เข้าใจว่าทำไมต้องดูแลคนเหล่านี้ มองว่าพวกเขาเข้ามาสร้างปัญหา แต่เราพยายามบอกว่าในอีกมิติคนเหล่านี้เป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย  ท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรง เรามีหลักการว่าจะพยายามนำเสนอด้านบวกของคนเล็ก ๆ ส่วนการเจาะลึกโดยตรงสื่ออื่นทำหน้าที่อยู่แล้ว เช่นในช่วงที่ไทยมีปัญหาเรื่องเขาพระวิหารกับกัมพูชาเมื่อปี ๒๕๕๑ เราต่อสายคุยกับนักวิชาการไทยที่ไปมีครอบครัวในกัมพูชา สอนหนังสือที่นั่น เราอยากรู้ว่าเขามีคำอธิบายเรื่องสถานการณ์กับลูกอย่างไร ตอบคำถามลูกศิษย์อย่างไร ดำรงชีวิตท่ามกลางสังคมที่มองว่าเป็นศัตรูอย่างไร เราอยากให้มีเสียงอื่น ๆ โดยเฉพาะเสียงของคนในพื้นที่ คนเล็ก ๆ ปรากฏในสื่อหลักด้วย

“กลุ่มเป้าหมายของเราคือคนฟังที่สนใจประเด็นทางสังคม ไม่ได้สนใจเฉพาะเรื่องบันเทิงอย่างเดียว  ห้าปีที่ผ่านมาหลังออกอากาศมากว่า ๒๐๐ ตอน ระหว่างจัดรายการเราได้เรียนรู้ไปด้วย บางเรื่องผู้ฟังเป็นคนแนะนำเรา  เราพยายามปรับตัวเพราะโลกยุคนี้ทุกอย่างแทบจะเป็นการถ่ายทอดสด หรือ ‘Live’ เราพยายามทำให้มีอารมณ์และบรรยากาศแบบนั้นเกิดขึ้นในรายการ  ล่าสุดมีช่วง ‘อุษาคเนย์สัญจร’ คือถ้าผู้จัดรายการเดินทางไปลาวก็จะนำเสียงสัมภาษณ์ บรรยากาศกลับมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเสียงไก่ขัน น้ำไหล ฯลฯ ซึ่งทำให้รายการมีสีสันน่าฟังขึ้น  ปีล่าสุดเรามีทิศทางชัดเจนว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมผู้ฟังกลุ่มเล็ก ๆ เข้าสู่การเป็นประชาคม
อาเซียน  ทุกวันนี้ช่วงเวลาออกอากาศราวชั่วโมงครึ่งถือว่านาน เราพยายามถามตัวเองว่ารายการมีคุณภาพสมเวลาที่ทางสถานีให้หรือไม่ เรามองว่ายังคงเกลี่ยเวลาให้แต่ละประเทศในอุษาคเนย์ไม่เท่ากัน ยังขาดประเด็นเกี่ยวกับฟิลิปปินส์ บรูไน ติมอร์ ดังนั้นถ้าเจอประเด็นหรือแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องจะรีบนำเสนอทันที

“ส่วนเรื่องประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ทางกายภาพเกิดขึ้นแน่นอน อาจมีอาคารสำนักงาน กิจกรรมต่าง ๆ แต่ในทางปฏิบัติคงต้องค่อย ๆ โตไปด้วยกัน  อุปสรรคบางเรื่องเช่นประวัติศาสตร์ชาตินิยมคงต้องปล่อยให้เลือนไปกับคนรุ่นเก่า เราหวังกับคนรุ่นใหม่เพราะคงเปลี่ยนความคิดคนที่โดนฝังหัวมานานไม่ได้  ดังนั้นที่ผ่านมา
ทางรายการจึงพยายามเปิดพื้นที่สนับสนุนเยาวชนที่ทำกิจกรรมข้ามพรมแดน เพราะพวกเขาคือความหวัง”

รายการ “คลื่นอุษาคเนย์” ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา ๑๔.๓๕-๑๖.๐๐ น.ทางสถานีวิทยุคลื่น 96.5 MHz คลื่นความคิด หรือฟังรายการสด/ย้อนหลังได้ทาง www2.mcot.net/fm965