พระไพศาล วิสาโล
ภาพประกอบ : อ้อย กาญจนะวณิชย์

“สลัม” หรือชุมชนแออัดแห่งหนึ่งเกิดเพลิงไหม้ บ้านเรือนเสียหายไปหลายสิบหลัง มูลนิธิแห่งหนึ่งจึงนำข้าวสารมาแจก โดยขอให้ประธานกรรมการชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ ปัญหาก็คือข้าวสารที่ได้รับมานั้นไม่พอแจกแก่ทุกครอบครัว ประธานชุมชนจึงไปปรึกษาอาจารย์ผู้หนึ่งซึ่งมาทำวิจัยในชุมชนแห่งนั้น ได้รับคำตอบว่า ควรแจกให้คนที่จนที่สุดก่อน หมดเมื่อไรก็หยุดเมื่อนั้น ประธานชุมชนเห็นดีด้วยจึงทำตามที่ได้รับคำแนะนำ ปรากฏว่าไม่ทันข้ามวันเขาก็ถูกโจมตีว่า “ไม่ยุติธรรม” คนหนึ่งที่โจมตีอย่างแรงก็คือคนสนิทของประธานชุมชน ทั้ง ๆ ที่มีฐานะดี อีกทั้งบ้านก็ไม่ถูกไฟไหม้ แต่เขาเห็นว่าตัวเองก็ควรได้รับแจกข้าวสารด้วยเช่นกัน เขาตัดพ้อว่า “ผมเป็นลูกน้องมัน แต่มันไม่เห็นความดีของผมเลย”

เรื่องต่อมาเกิดขึ้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในชนบท ผู้มีจิตศรัทธาจากกรุงเทพฯ สงสารชาวบ้านที่ต้องทนทุกข์ในฤดูหนาว จึงนำผ้าห่มมาถวายหลวงพ่อเพื่อขอให้ช่วยแจกต่อ หลวงพ่อก็เรียกชาวบ้านมารับแจกครบทุกบ้าน ไม่ว่ารวยหรือจน แต่บางบ้านหลวงพ่อแจก ๒ ผืนเพราะเห็นว่าเป็นบ้านใหญ่มีลูกหลานเยอะ และยากจนกว่าบ้านอื่น ปรากฏว่ามีชาวบ้านหลายคนไม่พอใจ คนที่ไม่พอใจก็คือคนที่ได้รับแจกผ้าห่มเพียงผืนเดียวนั่นเอง

กรณีแรกนั้นชาวบ้านไม่พอใจเพราะไม่ได้รับแจกข้าวสาร ส่วนกรณีที่ ๒ ทั้ง ๆ ที่ได้รับแจกผ้าห่มอย่างทั่วถึง แต่ชาวบ้านก็ไม่พอใจ เพราะได้รับน้อยกว่าคนอื่น (หรือพูดให้ถูกกว่านั้นก็คือ เพราะมีคนอื่นได้รับแจกมากกว่า) ทั้ง ๒ กรณีจะไม่มีปัญหาถ้าแจกให้ทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะทุกคนจะรู้สึกว่าตนได้รับความยุติธรรม

นี้ไม่ใช่เป็นทัศนะของชาวบ้านระดับล่างเท่านั้น ชนชั้นกลางในเมืองก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์ เล่าว่า คราวหนึ่งได้เสนอให้ที่ทำงานแบ่งเงินรายได้พิเศษที่เป็นค่าพิมพ์ดีดจากโครงการวิจัยให้แก่พนักงานพิมพ์ดีดทุกคน โดยมีหลักเกณฑ์ว่าให้ตามปริมาณที่ผู้นั้นพิมพ์จริงและในอัตราที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งหมายความว่าใครพิมพ์มากก็ได้มาก ใครพิมพ์น้อยก็ได้น้อย ปรากฏว่าถูกทักท้วงจากเลขานุการสถาบัน เธอเสนอให้เอาเงินมารวมเป็นกองกลางแล้วแบ่งให้พนักงานทุกคนเท่า ๆ กันหมด ไม่ว่าจะพิมพ์งานวิจัยนั้นหรือไม่ ผลก็คือสถานการณ์สงบราบเรียบ ไม่มีเสียงต่อว่าให้ได้ยิน

ทุกคนพอใจเพราะได้รับเท่าเทียมกัน จึงรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรม ถ้าเช่นนั้นจะพูดได้ไหมว่าความยุติธรรมหมายถึง “ความเท่าเทียมกัน” ฟังดูก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ความจริงไม่ได้ง่ายเช่นนั้น เราลองมาดูอีกกรณีหนึ่งซึ่งถ่ายทอดมาจากประสบการณ์ของ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ เช่นกัน

ปั๊มโยกที่บ่อน้ำกลางหมู่บ้านแห่งหนึ่งเกิดเสียขึ้นมา นักศึกษาที่เป็นพัฒนากรในหมู่บ้านนั้นจึงออกไปเรี่ยไรชาวบ้าน บ้านละ ๑๐ บาท เป็นค่าซ่อม แต่ชาวบ้านหลายคนบอกว่าทำอย่างนั้นไม่ถูก เหตุผลก็คือชาวบ้านใช้น้ำจากบ่อไม่เท่ากัน บ้านที่อยู่ใกล้บ่อใช้น้ำมากควรจ่ายมาก บ้านที่อยู่ไกลไม่ค่อยได้ใช้น้ำจากบ่อควรจ่ายน้อย จะไปเรียกเงินจากเขาเท่า ๆ กันได้อย่างไร
ในกรณีนี้ ความยุติธรรมหมายถึงการจ่ายเงินไม่เท่ากัน ใครใช้น้อยควรจ่ายน้อย ใครใช้มากควรจ่ายมาก

ทั้ง ๔ กรณีนี้บอกอะไรเราบ้าง ? ในทัศนะของคนทั่วไป ความยุติธรรมไม่ได้หมายถึงความเท่าเทียมกันเสมอไป ความยุติธรรมหมายถึงความเท่าเทียมกันต่อเมื่อฉันเป็นฝ่ายได้ คือได้รับเท่า ๆ กับคนอื่น ถ้าได้น้อยกว่าคนอื่นแสดงว่าไม่ยุติธรรม แต่เมื่อถึงคราวที่ฉันเป็นฝ่ายเสีย จะเสียเท่า ๆ กันไม่ได้ ต้องเสียไม่เท่ากัน (คือฉันเสียน้อยกว่าคนอื่น) ถึงจะเรียกว่ายุติธรรม

ความยุติธรรมในทัศนะของคนทั่วไป (อาจจะรวมถึงตัวเราเองด้วย) จึงมี ๒ ด้านหรือ ๒ มาตรฐาน (ที่ฝรั่งเรียกว่า double standard) จะใช้มาตรฐานอันไหนสุดแท้แต่ว่าฉันเป็นฝ่ายได้หรือเสีย การยึดถือความยุติธรรมแบบนี้ทางพุทธศาสนาเรียกว่า “อัตตาธิปไตย” คือเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง หรือถือเอาประโยชน์ของตนเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน

ในบางกรณี หากใครสักคนจะต้องเสียมากกว่าคนอื่น เขาก็จะเรียกร้องความเท่าเทียมกันทันที เพื่อจะได้เสียเท่า ๆ กับคนอื่น เช่น เศรษฐีที่มองว่าการเสียภาษีแบบอัตราก้าวหน้านั้นไม่เป็นธรรม เพราะจะทำให้เขาเสียมากกว่าคนอื่นๆ ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่มีการเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีที่ดินหรือภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้า เขาจะโจมตีว่าเป็นภาษีที่ไม่ “ยุติธรรม” สำหรับเขา ความยุติธรรมคือการเสียภาษีในอัตราเท่า ๆ กัน

ความยุติธรรมที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางนี้ ไม่เพียงทำให้เราเห็นแก่ตัวมากขึ้นเท่านั้น หากยังมีโอกาสเป็นทุกข์มากขึ้นด้วย เวลาเห็นคนอื่นได้มากกว่าเรา ใคร ๆ ก็ดีใจเมื่อมีข่าวว่าจะได้โบนัส แต่เรารู้สึกอย่างไรหากรู้ว่าเพื่อนได้โบนัสมากกว่าเรา เราจะยังมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มอีกหรือไม่ แทนที่จะนึกดีใจที่ตัวเองได้โบนัสเพราะจะได้ออกรถกับเขาเสียที เราอาจเป็นทุกข์ยิ่งกว่าตอนไม่ได้ข่าวนี้เสียอีก เพราะไปคิดเอาว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรม หรือไม่ก็เพราะไปนึกอิจฉาเพื่อนที่ได้มากกว่าเรา ทั้ง ๆ ที่เขาอาจทำงานมากกว่าเรา หรือมีผลงานดีกว่าเรา แต่ข้อเท็จจริงเหล่านั้นกลับไม่เข้ามาในความคิดของเราเลย เพราะไปจมอยู่กับความผิดหวังหรือไม่พอใจแต่แรกแล้วที่ได้โบนัสน้อยกว่าเขา

ความยุติธรรมนั้นเป็นหลักการที่ดีอันควรยึดถือ ไม่ใช่เพราะมันช่วยให้ฉันได้เท่ากับคนอื่น หรือเสียน้อยกว่าคนอื่น แต่เพราะเป็นหลักการที่ช่วยให้สังคมเกิดความสงบสุขและสามารถแก้ความขัดแย้งได้ด้วยสันติวิธี สังคมที่ไร้ความยุติธรรมย่อมสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้คนและยากที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติได้ ความยุติธรรมในความหมายที่มุ่งประโยชน์ส่วนรวมนี้ต่างหากที่ถือว่าเป็น “ธรรม” อันพึงรักษาไว้ และผู้ที่ยึดถือความยุติธรรมในความหมายดังกล่าว โดยไม่คำนึงว่าตนจะได้หรือเสีย ย่อมเรียกว่ามี “ธรรมาธิปไตย” คือมีธรรมเป็นใหญ่

การยึดถือความยุติธรรมโดยมุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรามักเผลอเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่เสมอ ดังนั้นจึงมักเรียกร้องความยุติธรรมเพื่อประโยชน์ของตน แต่กลับยอมให้มีความอยุติธรรมเกิดขึ้นหากตนเองได้รับผลประโยชน์หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้รับผลกระทบจากความอยุติธรรมนั้น ไม่มีใครชอบแน่หากตัวเองหรือลูกหลานถูกรุมประชาทัณฑ์ แต่คนจำนวนไม่น้อยกลับสนับสนุนหรือพอใจที่ได้เห็นผู้ต้องหาคดีฆ่าข่มขืนถูกชาวบ้านรุมประชาทัณฑ์ หรือผู้ค้ายาถูกฆ่าตัดตอนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

rubaroon

ความยุติธรรมถูกนำมาใช้อย่างเลือกปฏิบัติเมื่อใดก็ตามที่เราเอาประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือเอา “ความถูกใจ” เป็นใหญ่ยิ่งกว่า “ความถูกต้อง” การรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาคดีฆ่าข่มขืนกลายเป็นความยุติธรรมในสายตาของคนจำนวนไม่น้อย เพราะมันได้ตอบสนองความแค้นหรือความสะใจของเขา แต่อะไรจะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองหากผู้คนใช้ศาลเตี้ยกันหมดโดยไม่นำพากระบวนการยุติธรรมเลย ผู้คนเหล่านี้คงไม่ได้คิดกันเท่าไร เพราะในเวลานั้นความถูกต้องไม่สำคัญเท่ากับความถูกใจ จะว่าไปแล้วอะไรก็ตามที่ถูกใจ เราก็มักจะมองว่าเป็นความถูกต้องไปได้ง่าย ๆ

ความยุติธรรมนั้นถ้ายึดถือไว้ไม่ดีหรือไม่ถูก สามารถทำให้เราเป็นคนเห็นแก่ตัวและเย็นชาไร้น้ำใจได้ แม่วัยรุ่นที่ทิ้งลูกจนตายนั้นสมควรได้รับโทษทัณฑ์ตามกระบวนการยุติธรรม แต่ควรหรือไม่ที่เราจะยินดีที่ครึ่งชีวิตของเธอต้องลงเอยในคุก ผู้ที่ถูกลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมถึงอย่างไรก็ควรได้รับความเห็นใจจากเรา แม้เขาจะทำผิดจริงก็ตาม เราอาจไม่เห็นใจที่เขาต้องติดคุกเพื่อชดใช้กรรม แต่ก็ควรเห็นใจที่เขาถูกความทุกข์และความผันผวนต่าง ๆ ในชีวิตผลักดันให้ต้องมาทำสิ่งที่ผิดศีลธรรมและผิดกฎหมาย แม่วัยรุ่นที่ทิ้งลูก ตลอดจนฆาตกรทั้งหลาย น้อยคนนักที่ไม่เคยตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรมทั้งในวัยเด็กและเมื่อโตขึ้น สำนึกในความยุติธรรมที่ปิดกั้นเราไม่ให้มองเห็นความจริงอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะความจริงจากแง่มุมของผู้อื่น อาจทำให้เราเป็นคนแข็งกระด้างไปได้ (เป็นเพราะเหตุนี้หรือเปล่า ตัวละครตัวหนึ่งในนิยายของ อัลแบร์ กามูส์ นักเขียนรางวัลโนเบลชาวฝรั่งเศส จึงพูดว่า “ผมรักแม่มากกว่าความยุติธรรม”)

เมตตาและกรุณาเป็นสิ่งที่ควรมีควบคู่กับสำนึกในความยุติธรรม ความยุติธรรมช่วยให้เราตั้งมั่นอยู่ในความถูกต้อง รู้ผิดรู้ชอบ ไม่เอาเปรียบหรือเบียดเบียนผู้อื่นก็จริง แต่ถ้ามีเมตตาและกรุณาประกอบด้วย ก็จะช่วยให้เราไม่ยึดมั่นกับความถูกความผิดอย่างแข็งทื่อ หรือเห็นคนผิดเป็นคนชั่วร้ายที่ต้องขจัดไปจากโลกสถานเดียว เมตตาและกรุณายังช่วยไม่ให้ความโกรธเกลียดครอบงำจนทำร้ายคนผิดอย่างเกินเลยหรือไร้มนุษยธรรม

เมตตาและกรุณายังช่วยให้เรายินดีที่คนอื่นได้รับความยุติธรรม แม้นั่นจะหมายถึงการที่เราสูญเสียผลประโยชน์ไปบ้าง หรือได้รับประโยชน์น้อยกว่าเขา เมื่อกรรมกรเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในยามที่ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น คนชั้นกลางในเมืองย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนหากรัฐบาลยอมขึ้นค่าแรง แต่ถ้าเรามีความเห็นใจกรรมกร นึกถึงลูกเมียของเขาที่อยู่อย่างขัดสน เราย่อมไม่ขัดขวางหรือรังเกียจที่เขาเหล่านั้นจะได้รับความยุติธรรม ตรงกันข้าม หากขาดความเห็นใจกรรมกร เราย่อมทนไม่ได้ที่เขาจะได้รับความยุติธรรม เพราะจะทำให้เราเดือดร้อน ในทำนองเดียวกัน หากเพื่อนร่วมงานได้รับโบนัสมากกว่าเรา เราจะไม่ทุกข์ก็ต่อเมื่อเรามีความปรารถนาดีต่อเขา หากขัดเคืองใจ ลองเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ว่าโบนัสที่เขาได้มากนั้นจะช่วยให้เขาผ่อนบ้านได้เร็วขึ้น หรือมีเงินช่วยค่ารักษาพยาบาลให้แก่ภรรยาที่กำลังป่วยหนักได้มากขึ้น เขามีภาระต้องเลี้ยงดูพ่อแม่และลูกหลายคน ดีแล้วที่เขาได้โบนัสมาก ๆ เป็นต้น การมองในแง่นี้นอกจากจะช่วยให้เราเห็นใจเขาและมีความปรารถนาดีต่อเขามากขึ้นแล้ว ยังช่วยเปิดใจให้เรายอมรับความจริงที่ว่าเขาทำงานหนักและมีผลงานดี ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เราเกิดความยินดีที่เขาได้โบนัสมากกว่าเรา

ความยินดีเมื่อคนอื่นได้ดีมีสุขนั้นเรียกว่า มุทิตา เมื่อเรามีมุทิตาจิต เราจะเป็นทุกข์น้อยลงเมื่อคนอื่นได้มากกว่าเรา เราจะไม่ตีความหรือบิดความยุติธรรมให้เข้าข้างตัวเอง เพื่อเราจะได้เท่ากับคนอื่น หรือเพื่อเราจะได้เสียน้อยกว่าคนอื่น ยิ่งมีอุเบกขาเข้ามาเสริมด้วย ก็จะช่วยให้ทำใจสงบได้แม้ในยามที่เรา (หรือพรรคพวกของเรา) เป็นฝ่ายเสียประโยชน์ เพราะอุเบกขาคือการวางเฉยได้แม้ประสบกับสิ่งที่ไม่ถูกใจ และที่วางเฉยได้ก็เพราะคำนึงถึงความถูกต้องมากกว่านั่นเอง

เมื่อมีทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ซึ่งรวมเรียกว่าพรหมวิหาร ๔ ความยุติธรรมที่เรายึดถือจึงจะเป็นธรรมอย่างแท้จริง เป็นการยึดถือเพื่อมุ่งความถูกต้องและประโยชน์ต่อส่วนรวม คือเป็น “ธรรมาธิปไตย” ไม่ใช่ “อัตตาธิปไตย” หรือการยึดถือเพื่อเอาประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง

ความขัดแย้งในทุกวันนี้ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่มักเกี่ยวข้องกับความยุติธรรม สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายได้ยากก็เพราะแต่ละฝ่ายมองความยุติธรรมต่างกัน ฝ่ายหนึ่งมองความยุติธรรมว่าหมายถึงความเท่าเทียมกัน แต่อีกฝ่ายมองว่าต้องไม่เท่าเทียมกันถึงจะยุติธรรม แต่ไม่ว่าจะต่างกันอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือมองความยุติธรรมโดยเอาผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง คนทั่วไปยอมรับไม่ได้หากความยุติธรรมหมายถึงการที่อีกฝ่ายได้มากขึ้นขณะที่ตนมีเหลือน้อยลง ทั้ง ๆ ที่เดิมก็มีมากอยู่แล้ว

ปัญหาความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะเกิดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือความอยุติธรรมในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งในกระบวนการยุติธรรมเอง ที่สะสมมานาน ความอยุติธรรมนั้นจะกลายเป็นความยุติธรรมได้ต่อเมื่อฝ่ายหนึ่ง (โดยเฉพาะฝ่ายรัฐ) ยอมเสียผลประโยชน์ เช่น กระจายอำนาจให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง (คือประชาชนในท้องถิ่น) แต่กระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อทุกฝ่าย (รวมทั้งประชาชนในส่วนอื่นๆ ของประเทศด้วย) ไม่มองความยุติธรรมโดยเอาผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง แต่มุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก คำนึงถึงความถูกต้องมากกว่าความถูกใจ และที่สำคัญคือมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาเป็นพื้นฐาน พรหมวิหารทั้ง ๔ จะช่วยให้ความยุติธรรมที่แท้จริงบังเกิดขึ้นได้โดยเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย แม้จะมีบางฝ่ายสูญเสียประโยชน์ไปบ้างก็ตาม

พรหมวิหารทั้ง ๔ จึงเป็นประหนึ่งวิหารอันเป็นที่สถิตของความยุติธรรมอย่างแท้จริง และคุ้มครองป้องกันไม่ให้ผันแปรไปด้วยอำนาจของประโยชน์ส่วนตัว ความยุติธรรมเช่นนี้แหละที่จะสามารถนำสังคมไทยไปสู่สันติสุขได้ในที่สุด