พระไพศาล วิสาโล
ภาพประกอบ : อ้อย กาญจนะวณิชย์

david330ใครที่รักศิลปะ หากได้ไปอิตาลีย่อมอดไม่ได้ที่จะต้องไปเมืองฟลอเรนซ์  และเมื่อถึงฟลอเรนซ์ สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือไปชมประติมากรรมอันเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก นั่นคือ “เดวิด” (David, ค.ศ. ๑๕๐๔) ผลงานของไมเคิลแองเจโล

ได้เห็นรูปสลักนี้จากหนังสือหรือโปสต์การ์ด ย่อมให้ความรู้สึกไม่เหมือนได้ดูกับตา เพราะ “เดวิด” ของจริงนั้นใหญ่โตมาก คือสูงกว่า ๕ เมตร อีกทั้งยังยืนโดดเด่นเป็นสง่า  เป็นงานแกะสลักที่งดงามน่าทึ่ง เพราะนอกจากจะแสดงออกถึงเรือนร่างตามแบบอุดมคติประหนึ่งเทพเจ้าโรมันแล้ว ยังดูเหมือนมีชีวิต เลือดเนื้อและจิตใจ อย่างไม่น่าเชื่อว่าที่ตระหง่านอยู่นั้นแท้จริงคือหินอ่อนทึบตัน ท่วงท่าร่างกายและอวัยวะดูเหมือนจะขยับเขยื้อนได้ กล้ามเนื้อผุดเป็นริ้วลอน รวมทั้งเส้นเลือดและเส้นเอ็นปูดโปนตามร่างกายเปลือยเปล่า โดยเฉพาะที่แขนและหลังมือ  สามารถสะกดผู้ดูให้แน่นิ่ง งงงัน และอัศจรรย์ใจไปพร้อมกัน

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ชายหนุ่มวัย ๒๖ จะสลักแท่งหินอ่อนขนาดใหญ่นี้ให้กลายเป็นผลงานที่งดงามได้โดยลำพังผู้เดียว  ไมเคิลแองเจโลใช้เวลาถึง ๑๘ เดือนทำงานหามรุ่งหามค่ำโดยไม่ย่อท้อต่อดินฟ้าอากาศที่ผันผวน  ที่น่าพิศวงกว่านั้นก็คือ ผลงานอันยิ่งใหญ่นี้แกะสลักจากวัตถุดิบที่ใครต่อใครล้วนส่ายหน้าว่าไม่มีดีเสียแล้ว  แท่งหินอ่อนขนาด ๑๘ ฟุตที่ไมเคิลแองเจโลได้รับมานั้นเคยผ่านมือช่างแกะสลักมาแล้ว ๒ คน  คนแรกทำค้างไว้แล้วทิ้งไป คนที่ ๒ มาทำต่อไม่สำเร็จ ผลคือแท่งหินที่เสียรูปยับเยิน จากนั้นก็ถูกทิ้งนานเกือบ ๔๐ ปีโดยไม่มีช่างผู้ใดเหลียวแล

แต่ไมเคิลแองเจโลไม่เหมือนคนอื่น เขารับงานชิ้นนี้มาทำอย่างไม่เกี่ยงงอน  แทนที่จะมองว่าแท่งหินอ่อนนี้เป็นปัญหา เขากลับมองเป็นเรื่องท้าทาย  ความมั่นใจในฝีมือของตนทำให้เขาพร้อมจะปลุกปล้ำกับแท่งหินแท่งนี้  ด้วยความวิริยอุตสาหะของเขา ผลงานเอกอุระดับโลกก็บังเกิดขึ้นในที่สุด

ความสำเร็จของไมเคิลแองเจโลเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ผลงานที่ดีเลิศนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยวัตถุดิบดีหรือมีพร้อมทุกอย่าง แม้วัตถุดิบจะมีคุณภาพต่ำแต่ก็สร้างสรรค์ให้เกิดผลงานชั้นเลิศได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่สติปัญญาและความพากเพียรของผู้กระทำมากกว่าอะไรอื่น  ทำนองเดียวกับอาหารอร่อย รสชาติดี ไม่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องปรุงที่เพียบพร้อมหรือวัตถุดิบคุณภาพดี  แม้ได้ของไม่ดีมา แต่แม่ครัวที่เก่งและใส่ใจย่อมปรุงอาหารให้อร่อยได้

ผลงานฉันใด ชีวิตคนเราก็ฉันนั้น  แม้บางคนจะเกิดมามีร่างกายพิกลพิการ สุขภาพไม่ดี ลำบากยากจน เรียกว่ามีต้นทุนที่เสียเปรียบมาตั้งแต่แรก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะต้องลงเอยด้วยความล้มเหลวตกต่ำ หากมีความพากเพียรและใช้สติปัญญาก็สามารถใช้ต้นทุนที่มีอยู่ในการพัฒนาชีวิตให้เจริญงอกงามได้  หลายคนที่ตาบอด หูหนวก ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ไม่ใช่เพราะโชค แต่เพราะเขาไม่ดูแคลนหรือรังเกียจสิ่งที่มีอยู่ในตัว หากรู้จัก
ใช้หรือพัฒนาศักยภาพจนพบความสุขหรือสร้างสรรค์ความสำเร็จแก่ชีวิตได้  ในขณะที่บางคนมีพร้อมทุกอย่าง แต่ชีวิตกลับตกต่ำ ระทมทุกข์ ซ้ำยังไม่สามารถทำตนให้เป็นประโยชน์แก่โลกได้

เคยมีคนถามไมเคิลแองเจโลว่าเขามีเคล็ดลับอย่างไรในการแกะสลักได้อย่างงดงาม เขาตอบว่าเขาเพียงแต่จินตนาการจนเห็นประติมากรรมปรากฏอยู่ในแท่งหิน จากนั้นสิ่งที่เขาทำก็คือสลักส่วนเกินออกเพื่อให้ประติมากรรมนั้นแสดงตัวออกมา

นี้คือเหตุผลที่ไมเคิลแองเจโลไม่ปฏิเสธแท่งหินอ่อนบิดเบี้ยวผิดรูปแท่งนั้น เพราะเมื่อเขาเพ่งมอง สิ่งที่เขาเห็นคือรูปสลักอันงดงามซ่อนอยู่ในแท่งหินผิดรูปนั้น  พูดอีกอย่างหนึ่ง เขาเห็น “แวว” หรือ “ศักยภาพ” ของสิ่งที่ดูเหมือนต่ำต้อย  จะว่าไปแล้วทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรต่ำต้อยไร้ค่าอย่างแท้จริง ทุกสิ่งล้วนมีประโยชน์หรือมีศักยภาพที่จะกลายเป็นสิ่งประเสริฐได้เสมอ อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นประโยชน์หรือนำศักยภาพของมันออกมาได้อย่างเต็มที่หรือไม่  มูลสัตว์หากกองอยู่บนถนนย่อมกลายเป็นขยะหรือสิ่งปฏิกูลน่ารังเกียจ แต่ถ้าอยู่ในสวนก็กลายเป็นปุ๋ยที่บำรุงต้นไม้ให้งอกงาม ออกดอกออกผลน่าชื่นชม  กิ่งไม้แห้งใบไม้เหลืองที่ดูไร้ค่า หากนำมาตกแต่งในแจกันก็กลายเป็นสิ่งงดงามได้  คนสมองทึบอับปัญญามาแต่เล็ก อาจกลายเป็นนักเขียนหรือนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก  ไม่จำต้องพูดถึงพระอรหันต์จำนวนไม่น้อยต่างเคยเป็นปุถุชนผู้โง่งมหรือคนเกกมะเหรก แม้แต่วณิพก คนอัปลักษณ์ หรือฆาตกรที่ใครๆ พากันรังเกียจเหยียดหยาม ก็มีศักยภาพที่จะบรรลุธรรมได้ทั้งนั้น

ในการดึงศักยภาพออกมาให้เปล่งประกายนั้น สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ วิริยอุตสาหะ  หากขาดความพากเพียรพยายาม แม้ไมเคิลแองเจโลจะมีความมั่นอกมั่นใจในฝีมืออย่างไรก็ไม่อาจผลิตงานชั้นเลิศออกมาได้ จะว่าไปแล้วความพากเพียรพยายามนั้นสำคัญยิ่งกว่าความมั่นใจในฝีมือด้วยซ้ำ  ห้าปีหลังจาก “เดวิด” สำเร็จเสร็จสิ้น ไมเคิลแองเจโลได้รับการ “ขอร้อง” จากพระสันตะปาปาให้วาดภาพจิตรกรรมบนเพดานวิหารซิสตินในกรุงวาติกัน  เขาปฏิเสธทันทีเพราะเขาถนัดแต่งานแกะสลัก ไม่เคยวาดภาพบนพื้นที่ขนาดใหญ่มาก่อน แต่ภายหลังก็จำยอมรับงานชิ้นนี้ ทั้งๆ ที่คาดว่างานนี้จะล้มเหลวไม่เป็นท่า (ในส่วนลึกเขาเชื่อว่านี้เป็นแผนของศิลปินคู่แข่งที่หวังทำลายชื่อเสียงของเขา)

เขาทำงานชิ้นนี้ด้วยความทุกข์ทั้งกายและใจ เพราะนอกจากเป็นงานที่ไม่ถนัดแล้ว ยังต้องวาดภาพในท่าที่ลำบากอย่างยิ่ง ทั้งแหงนคอทั้งนอนวาด แต่เขาไม่ย่อท้อ ทำงานอย่างทุ่มเทโดยใช้สติปัญญาและความสามารถอย่างเต็มที่  กว่าจะเสร็จก็ใช้เวลาถึง ๔ ปีโดยที่ไม่มีใครช่วยวาดด้วยเลย (เพราะฝีมือไม่ถูกใจเขา) ผลก็คือ ภาพจิตรกรรมที่สร้างความตื่นตะลึงแก่ผู้คนไม่เว้นแม้แต่ศิลปินชั้นนำ โดยเฉพาะภาพ “การสรรค์สร้างอดัม” (The Creative of Adam, ๑๕๑๑) ซึ่งมีพลังมาก  ผลงานชิ้นนี้นอกจากจะงดงามแล้วยังแหวกขนบที่ถือปฏิบัติกันในเวลานั้น เกิดจิตรกรรมแนวใหม่ที่มีอิทธิพลต่อศิลปินยุคหลังๆ

ความที่เขาเป็นประติมากร ภาพบุคคลมากหน้าหลายตาบนเพดานจึงมีลักษณะคล้ายรูปแกะสลักที่มีความลึกและทรวดทรงเหมือนจริงผสานกับลักษณะอุดมคติ อีกทั้งยังมีท่วงท่าหลากหลายที่เป็นต้นแบบให้แก่งานชิ้นหลังๆ  ทันทีที่ผลงานชิ้นนี้ปรากฏต่อสาธารณชน ไมเคิลแองเจโลก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นจิตรกรอัจฉริยะ  กระทั่งทุกวันนี้ใครไปกรุงโรมยังต้องยอมเข้าแถวนับชั่วโมงเพื่อเห็นภาพชุดนี้กับตา [เช่นเดียวกับภาพ “การพิพากษาครั้งสุดท้าย” (Last Judgment, ๑๕๓๗ -๑๕๔๑) ที่เขาวาดบนผนังวิหารเดียวกันในอีก ๓๐ ปีต่อมา]

ไม่น่าเชื่อว่านี้คือผลงานที่ไมเคิลแองเจโลลังเลใจที่จะรับทำเพราะไม่ถนัดและไม่มีความมั่นใจเลย แต่เป็นเพราะความพากเพียรอันแรงกล้าเขาจึงสร้างสรรค์ผลงานชั้นเลิศที่ลือเลื่องมาจนทุกวันนี้แม้ผ่านมา ๕ ศตวรรษแล้วก็ตาม  นี้เป็นอีกตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ศักยภาพจะแสดงออกมาอย่างเต็มที่นั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือความพากเพียรพยายาม  ปราศจากสิ่งนี้แล้วศักยภาพก็จะยังซุกซ่อนต่อไป และความสำเร็จก็มิอาจเกิดขึ้นได้