maewong08

เมื่อเขื่อนผุดขึ้นกลางป่า

“ที่พวกเรากำลังนั่งอยู่ตอนนี้ และเตรียมซุกหัวนอนกันในคืนนี้ ตั้งแต่สันเขาลูกนี้ถึงสันเขาลูกโน้น ต่อไปจะกลายเป็นสันเขื่อนแม่วงก์  แม่น้ำจะถูกคันหินถมแกนดินเหนียวสูง ๕๖ เมตรกั้นขวาง  ขอให้ลองจินตนาการว่าตอนนี้เรากำลังนั่งอยู่ใต้บาดาล หรือไม่ก็อยู่ใต้สันเขื่อนพอดี”

อดิศักดิ์ จันทวิชานุวงษ์ อธิบายพร้อมทำท่าประกอบ

ต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ ผมเดินทางไปเยือนป่าแม่วงก์เป็นครั้งแรก  จากกรุงเทพมหานครนั่งรถเลียบชายป่าตะวันตกขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี  จากจุดนี้ไปอีกประมาณ ๒ ชั่วโมงก็เข้าเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์

เราค้างแรมกันที่จุดกางเต็นท์แก่งลานนกยูงซึ่งอยู่ติดลำน้ำแม่วงก์หรือห้วยแม่เรวา พื้นที่ราบแคบ ๆ บริเวณช่องเขาสบกก  ชาวบ้านเล่าว่าสาเหตุที่เรียก “เขาสบกก” เนื่องจากภูเขาทั้งสองลูกมีลักษณะคล้ายกบสองตัวหันหน้าเข้าหากัน  กบตัวหนึ่งอยู่ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ อีกตัวอยู่จังหวัดกำแพงเพชร มีลำน้ำแม่วงก์ไหลผ่านเป็นเส้นแบ่งเขต

อุทยานแห่งชาติแม่วงก์มีพื้นที่ ๕๕๘,๗๕๐ ไร่  ทิศเหนือติดอุทยานแห่งชาติคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร  ทิศใต้ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี  ทิศตะวันตกติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก  ทิศตะวันออกติดหมู่บ้านในอำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ห่างออกไปราว ๘๐ กิโลเมตรคืออำเภอเมืองนครสวรรค์และแม่น้ำเจ้าพระยา

ทางเข้าหลักของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์อยู่ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร แต่การที่คณะของเราเลือกเข้าป่าแม่วงก์ทางหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา หรือหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ที่ มว. ๔ (แม่เรวา) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ ก็เนื่องด้วยพื้นที่แถบนี้จะเป็นที่ตั้งโครงการเขื่อนแม่วงก์ที่มีข่าวว่ารัฐบาลอนุมัติเห็นชอบในหลักการแล้ว

ย้อนหลังไปประมาณ ๓ สัปดาห์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรายงานมติการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕ เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์บริเวณเขาสบกก ตำบลแม่เลย์ อำเภอแม่วงก์  ระยะเวลาก่อสร้าง ๘ ปี  งบประมาณ ๑๓,๒๘๐ ล้านบาท  ความจุอ่างเก็บน้ำ ๒๕๘ ล้านลูกบาศก์เมตร  มีพื้นที่ชลประทานประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ ไร่  และมอบหมายให้กรมชลประทานรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “ร่วมดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด”

ข่าวนี้สร้างความประหลาดใจให้ผู้คนในสังคม ด้วยคาดกันว่าโครงการเขื่อนเป้าหมายลำดับต้น ๆ ที่จะถูกผลักดันให้สร้างน่าจะเป็นเขื่อนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่ มากกว่า

ทว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์ก็ไม่นับว่าเป็นเรื่องใหม่ มีความพยายามผลักดันการสร้างเขื่อนนี้มาไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีแล้ว

วาสนา จำปาปัน ชาวบ้านตำบลแม่เลย์ อำเภอแม่วงก์ เปิดร้านขายของชำอยู่ใกล้ปากทางเข้าหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวาเล่าว่า “ฉันได้ยินเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ  เกิดมาก็ฟังเรื่องเขื่อน ถึงปีนี้มีข่าวครึกโครมกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา ก็ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้น”

ชาวบ้านอีกคนบอกว่าโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์มักถูกหยิบมาพูดบ่อยครั้งเมื่อถึงช่วงฤดูหาเสียงเลือกตั้ง เขาสงสัยว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการหาเสียงเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นเพราะเป็นนโยบายรูปธรรมชัดเจน

ในอดีตป่าแม่วงก์เคยเป็นที่อยู่ของชาวเขากว่า ๓๐๐ ครอบครัว  ราวปี ๒๕๒๕ หลังจากอธิบดีกรมป่าไม้นั่งเฮลิคอปเตอร์สำรวจป่าแล้วขีดเส้นเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ก็มีการอพยพผู้คนออกนอกเขตอุทยานฯ  ส่วนหนึ่งย้ายไปอยู่อำเภอคลองลาน จ.กำแพงเพชร

หลังการนั้น แนวคิดที่จะสร้างเขื่อนกลางป่าก็ชัดเจนขึ้น

ตั้งแต่ปี ๒๕๒๕-๒๕๒๗ เป็นต้นมา กรมชลประทานสำรวจความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการในลุ่มน้ำสะแกกรัง โดยมีโครงการเขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการสำคัญในการพัฒนาลุ่มน้ำ  รัฐบาลญี่ปุ่นโดยไจก้า (JICA)ให้ความช่วยเหลือในการศึกษาด้านความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ทว่าก็ไม่มีครั้งใดที่โครงการเขื่อนแม่วงก์จะผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) ตลอดจนคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ

มกราคม ๒๕๔๑ ที่ประชุม คชก. มีมติไม่เห็นชอบกับการดำเนินโครงการเขื่อนแม่วงก์  มีนาคมปีเดียวกัน มีมติครั้งที่ ๒ ให้กรมชลประทานดำเนินการ ๓ ประการคือ ๑. จัดทำประชา-พิจารณ์  ๒. ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อนิเวศวิทยาทั้งทางตรงและทางอ้อม  ๓. ประเมินต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมและเปรียบเทียบผลประโยชน์ของทางเลือกต่าง ๆ

พฤศจิกายน ๒๕๔๓ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีความเห็นสอดคล้องกันว่า โครงการเขื่อนแม่วงก์ควรผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ก่อน  ซึ่งที่ผ่านมาโครงการนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตชาวบ้านได้อย่างไร

ธันวาคม ๒๕๔๕ ที่ประชุม คชก. มีมติยืนยันเป็นครั้งที่ ๓ ไม่เห็นชอบรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

อีก ๕ ปีต่อมา กันยายน ๒๕๕๐ กรมชลประทานว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ (SEA) งบประมาณ ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท

เป็นการตำน้ำพริกละลายลำน้ำแม่วงก์อีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่ผลการศึกษาอย่างต่อเนื่องเกือบ ๓๐ ปีน่าจะเพียงพอต่อการสรุปได้แล้วว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์บริเวณเขาสบกกในเขตอุทยานแห่งชาติเป็นเรื่องไม่สมควร

ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ให้ความเห็นว่า “มันน่าจะสรุปผลแล้วเคาะเลิกโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่เขาสบกกไปตั้งนานแล้ว  การผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนใหญ่ในเขตป่าอนุรักษ์อย่างไม่มีวันสิ้นสุด รื้อผลวิจัยเก่า นำไปอ้างเป็นงานวิจัยใหม่ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ เรื่อยไป คิดว่าจะทำวิจัยจนกว่าผลการวิจัยจะผ่าน เป็นตลกร้ายที่ขำไม่ออกจริง ๆ”

maewong03

(ซ้าย) เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติขึ้นจุดชมวิวมออีหืด หากมีการสร้างเขื่อน เขาลูกนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของผนังกั้นน้ำ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)
(ขวา) ลำน้ำแม่วงก์ช่วงที่ไหลผ่านแก่งลานนกยูง บริเวณเขาสบกก ต.แม่เลย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ มีลักษณะเป็นเกาะแก่ง มีหาดทรายและหาดกรวดริมน้ำ หากมีการสร้างเขื่อนบริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งของสันเขื่อนซึ่งเป็นหินถมแกนดินเหนียวสูง ๕๖ เมตร (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ขึ้นผามออีหืด

รุ่งเช้าผมตื่นมาพร้อมเสียงนกยูงร้องในราวป่า  เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวาเล่าว่าเดิมป่าผืนนี้เคยเป็นพื้นที่สัมปทานไม้ มีการบุกรุกป่าล่าสัตว์ตัดไม้จนสัตว์ป่าแทบสูญพันธุ์  แก่งลานนกยูงอันเป็นชื่อเรียกแก่งหินริมลำน้ำแม่วงก์บริเวณเขาสบกกซึ่งเคยมีนกยูงไทยอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ร้างไร้เงานกยูงไทยรำแพนหางมานานหลายปี  เพิ่งจะเมื่อ ๓-๔ ปีมานี้ที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ดำเนินการฟื้นฟูประชากรนกยูงไทย สัตว์ป่าซึ่งมีสถานภาพถูกคุกคามในระดับโลกอย่างจริงจัง แก่งลานนกยูงจึงเริ่มมีจำนวนนกยูงไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจะพบนกยูงไทยที่แก่งลานนกยูงได้ไม่ยากแล้ว

วันนี้เรานัดกันขึ้นมออีหืด

มออีหืดเป็นชื่อเรียกยอดเขาซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากช่องเขาสบกกและแก่งลานนกยูง  ด้วยความสูงระดับ ๓๑๕ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หากมีการสร้างเขื่อน ตลอดแนวสันเขาของมออีหืดจะกลายเป็นผนังกั้นน้ำ

เส้นทางเดินขึ้นมออีหืดมีระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร ความชันระดับ ๔๕ องศา บางช่วงชันมากจนก้าวเท้าแทบไม่ขึ้น  คนพิชิตยอดมออีหืดมาแล้วเคยบอกว่า “ตอนเดินขึ้นไม่อยากคุยกับใครเพราะหอบจนหายใจแทบไม่ทัน ตอนเดินลงก็ไม่อยากคุยกับใครเหมือนกันเพราะกลัวกลิ้งตกลงมา” นั่นคงเป็นที่มาของชื่อมออีหืด ซึ่งหมายถึงอาการหอบแฮก

จากตีนเขาถึงยอดเขา เราเดินผ่านป่าไผ่ ป่าเต็งรัง  เห็นต้นสัก ดอกไม้นานาชนิด รวมทั้งพันธุ์ไม้หายากอย่างตูมกา ยางพลวง เหมือดโลด ประดู่ส้ม ยางโอน ตะเคียนหนู แคหางค่าง มะม่วงหัวแมลงวัน ตะคร้อ พะยอม ส้านเล็ก เพกา หนามคนทา ปรู๋ แคทราย กว้าว  บางต้นมีติดป้ายชื่อชนิดพันธุ์เนื่องจากเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวากำหนดให้ทางเดินขึ้นมออีหืดเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ

เราแวะจุดพักระหว่างทางก่อนพิชิตยอดมออีหืด  ที่ระดับความสูงประมาณ ๓๑๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล ทัศนียภาพเบื้องล่างเป็นภาพพาโนรามามุมกว้างเกือบ ๑๘๐ องศา

ดวงอาทิตย์โผล่พ้นแนวเทือกเขาแม่กระทู้แล้ว แต่ป่าสักเบื้องล่างรวมทั้งบ้านเรือนยังถูกปกคลุมด้วยทะเลหมอกบาง ๆ

เขาแม่กระทู้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ห่างออกไปจากมออีหืดราว ๑๖ กิโลเมตร  เทือกเขานี้ทอดตัวยาวราวกำแพงยักษ์บริเวณพื้นที่รอยต่อจังหวัดกำแพงเพชรและนครสวรรค์  ที่ตำบลเขาชนกัน (อำเภอแม่วงก์ จ. นครสวรรค์) กำแพงยักษ์ขาดออกจากกันเป็นช่องแคบเล็ก ๆ มีลำน้ำแม่วงก์ไหลผ่านกลาง  ชาวบ้านเรียกพื้นที่ตรงนั้นว่า “เขาชนกัน” ครั้งหนึ่งเคยเป็นทำเลที่ตั้งทางเลือกในการสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยวิศวกรจะสร้างสันเขื่อนปิดเขาชนกันกั้นลำน้ำแม่วงก์ ให้พื้นที่ติดอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็นอ่างเก็บน้ำ  ประเมินว่าหากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่เขาชนกัน เขื่อนจะกักเก็บน้ำได้สูงสุดถึง ๓๘๐ ล้านลูกบาศก์เมตร  มากกว่าการสร้างเขื่อนที่เขาสบกกในเขตอุทยานฯ ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง ๒๕๘ ล้านลูกบาก์เมตร  ทว่าปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวมีชาวบ้านมาจับจองอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ ครัวเรือน หากสร้างเขื่อนต้องเสียงบประมาณในการเวนคืนที่ดินและจัดสรรที่อยู่ใหม่

ผมหันหลังกลับไปทางทิศตะวันตกของยอดมออีหืดก็พบทัศนียภาพงดงามไม่ต่างกัน  ในวันที่สภาพอากาศเป็นใจ ตรงสุดสายตาแตะขอบฟ้าคือยอดเขาโมโกจู ยอดเขาสูงสุดของผืนป่าตะวันตก ต้นกำเนิดลำน้ำแม่วงก์และลำน้ำอื่น ๆ อีกหลายสาย  เบื้องล่างคือป่าสักผืนใหญ่ บางหย่อมเคยผ่านการสัมปทานทำไม้มาก่อน ปัจจุบันอยู่ในสภาพฟื้นฟูมีอายุได้ ๒๐-๓๐ ปีแล้ว ขณะที่ป่าสักธรรมชาติส่วนใหญ่ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่มาก หากสังเกตดูจะเห็นลำน้ำแม่วงก์ไหลคดเคี้ยวในราวป่า

เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าหลายปีก่อนจากยอดมออีหืด เราจะมองเห็นภาพมุมกว้างของป่าแม่วงก์ได้ชัดเจนกว่านี้เพราะไม่มีต้นไม้บัง

เธอบอกว่าเมื่อครั้งยังเป็นป่าสัมปทาน ต้นไม้ถูกตัดฟันจนเหี้ยนเตียน แทบไม่มีไม้ใหญ่หลงเหลืออยู่ แต่ปัจจุบันป่าแม่วงก์กำลังได้รับการฟื้นฟู  เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวาและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ทำงานอย่างหนักเพื่อปกปักรักษาป่าผืนนี้ไว้  มีโครงการปลูกป่าที่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านชายป่า

บนยอดมออีหืด ผมนึกถึงประสบการณ์เดินทางไปเที่ยวเขื่อนครั้งแรก  แม้จำได้รางเลือนแต่ภาพอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ซึ่งภายในมีน้ำบรรจุอยู่เต็ม ในสายตาเด็กเมืองอย่างผมมันช่างให้ความรู้สึกรื่นรมย์ อัศจรรย์ในความยิ่งใหญ่ของสิ่งก่อสร้างฝีมือมนุษย์  เวลานั้นผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าแท้จริงใต้เขื่อนมีอะไรซ่อนอยู่

หลายคนอาจไม่รู้ว่าใต้ท้องเขื่อนไม่ใช่พื้นที่รกร้างหรือลานซีเมนต์ หากแต่เป็นชุมชน ต้นไม้ สายน้ำ สัตว์ป่า แหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ  มีสิ่งมีชีวิตนับล้าน ๆ ชีวิตที่ต้องแลกกับการสร้างเขื่อน  แม้แต่เกาะแก่งที่เห็นว่าสวยงามกลางทะเลสาบ เดิมก็คือยอดเขาอันเป็นบ้านของสรรพสัตว์ กระทั่งรังนอนของนกนานาชนิด

การสร้างเขื่อนในเขตป่าอนุรักษ์เพื่อกักเก็บน้ำ ก็คือการทำลายป่าอันเป็นบ่อเกิดของน้ำนั่นเอง  น่าคิดว่าหากวันนี้เรายังคงปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนในเขตป่าอนุรักษ์ รุกล้ำเข้าไปในเขตป่าต้นน้ำอันอุดมสมบูรณ์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เราจะยังมีน้ำเหลือสักเท่าไร  เมื่อป่าคือบ่อเกิดของน้ำ หาใช่เขื่อนไม่

บนยอดมออีหืด ลองสมมุติว่ามีการสร้างเขื่อนแม่วงก์จริง

คันหินถมแกนดินเหนียวจะถูกเทขวางการไหลของลำน้ำ ก่อตัวสูงขึ้นทีละชั้น ๆ จนกลายเป็นกำแพงยักษ์ความสูงเทียบเท่าตึก ๒๐ ชั้น หรือ ๕๖ เมตร  ความกว้างของสันเขื่อน ๙๐๓ เมตร ปิดช่องเขาสบกกที่ชาวบ้านบอกว่ามีลักษณะเหมือนกบสองตัวหันหน้าเข้าหากัน  ความกว้างของสันเขื่อน ๑๒ เมตรเพียงพอต่อการตัดถนนให้รถยนต์วิ่งบนสันเขื่อนได้  แล้วนับตั้งแต่นี้ไป ลำน้ำแม่วงก์ก็จะหยุดไหลอย่างเสรี

เมื่อประตูระบายน้ำถูกปิดเพื่อเริ่มกักเก็บน้ำ?ระดับน้ำใน“อ่าง”ซึ่่งคือป่าสมบูรณ์ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ๑๒,๓๗๕ ไร่ จะค่อย ๆ เอ่อท้นจนเกือบแตะปลายเท้าของเรา  ไม่มีแก่งลานนกยูง ไม่มีหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา  ไม่มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติมออีหืดอีกต่อไป

และน้ำท่วมป่าครั้งนี้จะไม่มีต้นไม้ใหญ่จมน้ำ นั่นก็เพราะสัมปทานไม้ในเขตป่าอนุรักษ์จะกลับมา นำไปสู่การลักลอบตัดไม้ทำลายป่าครั้งใหญ่ เนื่องจากประเทศไทยไม่มีโครงการที่เปิดโอกาสให้มีการตัดไม้ในป่าอนุรักษ์นับหมื่นไร่เช่นนี้มานานกว่า ๒๐ ปีแล้ว