maewong05

(ซ้าย) รอยตีนกวางป่าและนากใหญ่ขนเรียบ สัตว์ป่าที่อยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์(Threatened species) ตามบัญชีรายชื่อและสถานภาพของชนิดพันธุ์ IUCN Red List รอยตีนนี้พบบริเวณริมลำน้ำแม่วงก์ห่างจากแก่งลานนกยูงไปทางต้นน้ำประมาณ ๑ กิโลเมตร (ภาพ : ขวัญชัย ไวธัญญาการ, สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าสากล (WCS) ประเทศไทย)
(กลาง) หมูหริ่ง ภาพถ่ายบริเวณขุนน้ำเย็น
(ขวา) เลียงผา ภาพถ่ายบริเวณกิ่งกระทิง (ภาพ : โยธิน สุไพบูลย์วัฒน)

maewong07

(ซ้าย) กิ้งก่าเขาหางสั้น (Acanthosaura sp.) อาศัยในป่าสมบูรณ์เท่านั้น ชนิดที่พบในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์มีหางสั้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับชนิดที่มีอยู่ในสารบบ คาดว่าจะเป็นกิ้งก่าชนิดใหม่ของโลก
(ขวา) ตุ๊กกายต้นไม้แม่วงก์ (Cyrtodactylus sp.) อาศัยในป่าสมบูรณ์ที่ถูกรบกวนน้อย สัตว์กลุ่มนี้ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ พบ ๒ ชนิด คือชนิดที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ และชนิดที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นดิน ซึ่งเป็นกลุ่มตุ๊กกายคอขวั้นทั้งสองชนิด (ภาพ : ดร.นณณ์ ผานิตวงศ์)

คำสารภาพของนักเลงไม้กลับใจ

“ผมเคยเจอคุณสืบปี ๒๕๒๙  ตอนนั้นคุณสืบไปอพยพสัตว์ป่า เจอกันเขาด่าผมเป็นคนซื้อขายสัตว์ ผมเถียงว่าถึงผมไม่ซื้อมันก็ตายอยู่ดี  ตอนนั้นชาวบ้านเรียกผมว่า ‘ตัวละพัน’ ใครจับชะนีมาส่งผมจ่ายตัวละพัน ลูกชะนีก็ตัวละพัน ลูกกระจง เลียงผา ตัวละพันเหมือนกันหมด  ทุกคนจับสัตว์เอามาให้ผม ผมจ่ายตัวละ ๑,๐๐๐ บาท”

อดิศักดิ์ จันทวิชานุวงษ์ เล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งมีการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนเชี่ยวหลานหรือเขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเก็บน้ำ  ผลของการปิดประตูเขื่อนทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเชี่ยวหลานเอ่อท้นท่วมพื้นที่ป่ากว่า ๑ แสนไร่ ภูเขากลายเป็นเกาะ สัตว์ป่าจำนวนมากหนีตาย บ้างลอยคอบ้างติดอยู่ตามเกาะแก่ง  ขณะนั้น สืบ นาคะเสถียร ในฐานะหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา เดินนำหน้าลูกน้องออกช่วยชีวิตสัตว์ป่า

ช่วงเวลาเดียวกันนั้น อดิศักดิ์ทำงานเป็นผู้รับเหมาสัมปทานไม้ในพื้นที่น้ำท่วมป่า เขาพบสืบในเวลานั้นเอง

“ผมเถียงว่าเขา (คุณสืบ) ไม่เข้าใจ  ถามชาวบ้านก็บอกว่าเอามาขายให้ผมตัวละพัน  ความจริงผมซื้อมาแล้วก็ไปถามสวนสัตว์ต่าง ๆ ว่ามีที่ไหนต้องการสัตว์พวกนี้บ้าง จับมาจากป่าที่กำลังจะถูกน้ำท่วมตาย  คิดว่าถึงเราไม่เอา มันก็ตายอยู่ดีส่งมอบให้สวนสัตว์ยังมีโอกาสรอด”

อดิศักดิ์ถ่ายทอดเรื่องราวบนผืนป่ารอยต่อ ๓ จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี ระนอง และพังงา ที่ค่อย ๆ กลายเป็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลานว่า “มีชาวบ้านลงเรือไปจับสัตว์  เจอกระรอกก็จับใส่ตาข่าย ไม่ก็เอาหวายร้อยไว้เป็นพวง  นั่งเรือไปเจอหมูป่า กวาง เลียงผา ยิงได้ชาวบ้านโยนกระรอกทิ้งเลย  ยิงหมูป่าได้ก็โยนค่าง ชะนีทิ้ง เพราะเรือแบกเยอะไม่ไหว  เรียกว่ายิงทิ้งยิงขว้างก็ว่าได้  นี่คือภาพจริงที่เกิดขึ้น”

ภาพที่เคยได้เห็นกับตาทำให้อดิศักดิ์ตระหนักว่าจะเกิดอะไรตามมาเมื่อมีโครงการเขื่อนขนาดใหญ่เกิดขึ้นในผืนป่า  เมื่อข้อมูลในร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA: Environmental Health Impact Assessment) โครงการเขื่อนแม่วงก์ เรื่องแผนการนำไม้ออกจากพื้นที่โครงการและแผนการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าในพื้นที่โครงการก่อสร้าง ปรากฏมาตรการสำคัญที่ไม่น่าจะลดผลกระทบได้  อดิศักดิ์จึงคิดว่านี่เป็น EHIA ที่ไม่สมบูรณ์

“ผมคิดว่า EHIA ฉบับนี้ลงรายละเอียดเรื่องมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ไม่น่าจะลดผลกระทบได้ เช่นระบุว่างานแผ้วถางและนำไม้ออกจากอ่างเก็บน้ำให้เร่งรีบดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนฤดูฝน แต่ในแผนการต้องตัดต้นไม้นานถึง ๓ ปีหรือมากกว่า จะทำอย่างไรให้ตัดก่อนฤดูฝน  หรือระบุว่าการตัดฟันต้นไม้ แผ้วถางไผ่ ไม้พุ่มไม้เล็ก ให้เริ่มจากทางนอกสุดของพื้นที่หัวงานเข้าไป และต่อไปยังพื้นที่อ่างเก็บน้ำ  ส่วนการเตรียมพื้นที่ที่เป็นอ่างให้เริ่มต้นจากพื้นที่ทั้งสองฝั่งของลำน้ำแม่วงก์ออกไปเพื่อบังคับให้สัตว์ป่าออกห่างจากลำน้ำแม่วงก์  หากพบสัตว์ป่าต้องให้โอกาสสัตว์ป่าหลบเลี่ยงออกไปอย่างปลอดภัย ต้องควบคุมไม่ให้มีการลักลอบล่าสัตว์ป่าอย่างเข้มงวด  ระบุอย่างนี้ทั้งที่รู้ ๆ กันดีว่าธุรกิจตัดไม้เป็นเรื่องของอิทธิพลและผลประโยชน์  ในอดีตการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเป็นแหล่งธุรกิจมืด และจะเปิดโอกาสให้ขบวนการค้าสัตว์ป่าฉวยโอกาสจ้างคนงานและแฝงตัวเข้ามาล่าสัตว์อย่างไม่มีใครควบคุมได้  คนที่ศึกษาและทำรายงานเรื่องนี้ไม่มีประสบการณ์ในการทำไม้เลย”

อดิศักดิ์ถ่ายทอดประสบการณ์ในฐานะอดีตผู้รับเหมาสัมปทานไม้ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลานมาก่อนว่า

“ผมบอกได้เลยว่าไม่มีใครไม่โกง มันมั่วไปหมดทั้งระบบเรื่องไม้กับการสร้างเขื่อน”

ราวปี ๒๕๒๘-๒๕๒๙ เขาเป็นคนหนึ่งที่ไปขอรับสัมปทานตัดไม้จากผืนป่าที่กำลังจะถูกน้ำท่วม  เขาเล่าว่า “ผมเข้าไปทีหลัง แถมยังเป็นบริษัทตัดไม้เล็ก ๆ  ไปถึงเขาแบ่งพื้นที่กันหมดแล้ว ลองเสี่ยงไปหาเจ้าถิ่นที่คิดว่าพอช่วยเราได้ ปรากฏเขาเอ็นดูเราเป็นเด็กน้อยเลยพาเราไปหาเจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกให้ช่วยหาพื้นที่ให้เด็ก ๆ ทำมาหากินหน่อย  เจ้าหน้าที่ก็พาไปชี้ป่าให้กว้างยาวสัก ๕ กิโลเมตร”

ทีแรกอดิศักดิ์สงสัยว่าพื้นที่สีเขียวซึ่งอยู่คนละด้านกับบริเวณที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ จะกลายเป็นเขตตัดไม้ได้อย่างไร

“แต่เขายืนยันว่าให้สิทธิ์เราตรงนี้จริง ๆ  แค่มีข้อแม้ว่าต้องชักลากซุงมากองรวมกันในฝั่งที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ อยู่ห่างออกไปสัก ๑๐ กิโล  แค่นี้ก็ทำให้ไม้เถื่อนกลายเป็นไม้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว  แม้แต่ต้นไม้ที่อยู่ห่างออกไป ๒๐ กิโลก็ยังมีคนตัด ใครเขาก็ทำกันแบบนี้”

ทุกวันนี้เนินเขาที่นักค้าไม้คนนี้เคยตัดไม้อย่างผิดกฎหมายโดยเปิดเผยเพราะได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ยังคงตระหง่านอยู่คนละฝั่งกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน

“เป็นเครื่องยืนยันว่าตอนนั้นเขาอนุญาตให้ผมตัดไม้นอกเขตจริง ๆ”

นักเลงไม้คนนี้ยังเผยเคล็ดลับการตัดไม้นอกพื้นที่สัมปทานว่า “เวลาตีตราไม้จะมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งมาคอยควบคุม เราเป็นคนวัดคนตีเลขหน้าเขียง  เขาจะเป็นคนอ่านว่าวัดรอบโคนต้นได้เท่าไหร่ ประเมินว่าต้นไม้นี้สูงกี่เมตร จากโคนถึงพูพอนควรตัดแบ่งเป็นกี่ท่อน นี่เรียกว่าการตีตรา  สมมุติว่าเราวัดขนาดต้นยาง เส้นรอบวงข้างล่าง ๔ เมตร ข้างบนตรงที่มันแตกพูพอนน่าจะ ๒.๕ เมตร ไซต์นี้น่าตัดได้ ๔ ท่อน  แต่ความจริงไม่มีใครทำอย่างนั้นหรอก ไม้ยาง ๒.๕ เมตรข้างนอก (นอกเขตสัมปทาน) มีเยอะแยะไป ไม่ต้องอยู่ในเขื่อนก็ได้ อยู่ป่าไหนก็ได้ในเวิ้งนั้น  จากเดิมที่น่าจะตัดได้ ๓ ท่อน เราให้เจ้าหน้าที่เขียนไป ๕ ท่อนเลย แล้วเอาไม้จากป่าอื่นมาสวมตอ เขาเรียกว่าต่อไม้”

เขาเล่าต่อถึงการสวมตอหรือเรียกว่าการทำบัญชีปลอม  “ลองคิดเล่น ๆ ว่าเรามีบัญชีปลอมสวมรอยไม้ ๔,๐๐๐ ท่อน  เบาะ ๆ ท่อนละหมื่นคิดเป็นเงินเท่าไหร่”

ชายผู้เคยเป็นนักค้าไม้ ตัดไม้นอกพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้ง ๆ ที่รู้แก่ใจดี ปัจจุบันกลายมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรักษาผืนป่าตะวันตก บอกว่านั่นเป็นการโกงไม้ระดับ “เบบี๋”  แม้สร้างเขื่อนเสร็จแล้วหลายปี ผู้รับเหมาออกจากพื้นที่แล้วก็ยังมีการลักลอบตัดไม้บริเวณเขื่อน เมื่อถนนหนทางเข้าป่าได้รับการพัฒนาหลังจากการสร้างเขื่อนแล้ว

“ลองรถลากไม้ ๕๐ ตันเคยวิ่งเข้าไปเอาไม้ได้ รถกระบะนี่วิ่งสบายเลย  ทุกสันเขา ทุกงวงลาดเขา รถขึ้นไปถึงหมด อีกไม่นานก็กลายเป็นสวนยาง ไร่กาแฟ และสุดท้ายแหล่งท่องเที่ยว  กรณีเขื่อนเชี่ยวหลานทำเคลียร์คัต (การตัดต้นไม้ พุ่มไม้ ออกจากพื้นที่น้ำท่วมให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดการเน่าเสียของน้ำ) ตั้งแต่ปี ๒๕๒๙-๒๕๓๕ ยังมีไม้ขนออกมาจากเขื่อนเลย อ้างว่าดำลงไปตัดไม้ใต้น้ำ ข้างใต้เขื่อนยังมีไม้ที่ยังไม่ตัดจมน้ำอยู่ คุณเชื่อไหม…

“อีกประเด็นเป็นเรื่องผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนทั้งใกล้และไกลเขื่อน  พอโครงการเริ่ม คนสร้างเขื่อนซึ่งมีหลายระดับตั้งแต่วิศวกรถึงคนงาน กับคนตัดไม้ที่มีทั้งนายหัว เสี่ยคนค้าไม้ เสมียน คนงาน แห่มารวมกันนับหมื่นคน  มันเป็นตลาดขนาดใหญ่กลางป่า

“แรก ๆ ชาวบ้านก็ยังงง ๆ  พอปรับตัวได้ก็เอาละโว้ย จะรวยแล้วพวกเรา  มีที่ดินก็ปลูกผัก เลี้ยงไก่ มีเงินน้อยดาวน์มอเตอร์ไซค์มารับจ้าง มากหน่อยทำวินสองแถว โรงน้ำแข็ง  แต่ที่บูมที่สุดคือร้านโชห่วย ร้านอาหาร บาร์และคาเฟ่ และซ่องทุกระดับชนชั้น อบายมุขมีทุกรูปแบบให้เลือกตามกำลังเงิน

“ครึกครื้นกันอยู่ได้ ๔ ปี ทุกอย่างหายวับไปกับตาเมื่อเขื่อนสร้างเสร็จ  ใครลงทุนน้อยก็พอคุ้ม ใครหน้าใหญ่กู้หนี้จำนองที่ดินมาก็สุดช้ำ  ที่ดินบ้านช่องหลุดลอยไปตามน้ำในเขื่อน  ที่สุดนายทุนนอกพื้นที่ก็ย่างกรายมา พัฒนาเป็นรีสอร์ตรองรับการท่องเที่ยวต่อไป  คนเคยทำสวน จับปลาอย่างอิสระ ก็กลายเป็นลูกจ้างนายทุน  เอวัง !”

maewong04

ภาพจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ในป่าแม่วงก์-คลองลาน โดยกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล(WWF) ประเทศไทย ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สามารถถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ถึง ๑๒ ชนิด เฉพาะสัตว์ตระกูลเสือ ได้แก่ เสือโคร่ง เสือดาว เสือลายเมฆ เสือไฟ (ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย)

maewong06

(ซ้าย) ปลาสร้อยลูกบัว [Lobocheilus rhabdoura (Fowler 1934)] อาศัยในแม่น้ำลำธารบริเวณที่น้ำไหลถ่ายเทดี และตามพื้นกรวดและหิน
(ขวา) ปลาเลียหิน (Garra cambogiensis) ปลาลำธารที่วิวัฒนาการจนมีปากดูดติดกับหินได้ มักอาศัยอยู่ตามแก่งที่น้ำไหลแรง (ภาพ : ดร.นณณ์ ผานิตวงศ์)

หัวใจของผืนป่าแม่วงก์

ผมหลงรักป่าแม่วงก์ตั้งแต่แรกพบ  ที่นี่สวยสงบ เขียวขจี ดูดีแบบเรียบ ๆ เหมือนสุภาพสตรีที่ไม่แต่งหน้า  ป่านี้ไม่ได้งดงามเตะตาหรือมีชื่อเสียงโด่งดังระดับนานาชาติอย่างป่าห้วยขาแข้ง ป่าเขาใหญ่ หรือป่าทุ่งใหญ่นเรศวร  แต่ก็มีเสน่ห์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นแก่งลานนกยูงที่ลำน้ำแม่วงก์ไหลผ่าน มีลานกว้างริมน้ำให้นกยูงไทยออกหากิน หรือมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติมออีหืด

ครั้งแรกที่ผมมาเยือนป่าแม่วงก์ ปลายทางอยู่บนยอดมออีหืด  อีก ๒ เดือนต่อมาผมกลับมาเยือนป่านี้อีกครั้งหนึ่งคราวนี้มีโอกาสสัมผัสป่าองคาพยพหนึ่งของผืนป่าตะวันตกของประเทศไทยในพื้นที่เขตจังหวัดนครสวรรค์มากกว่าเดิม

จากตีนมออีหืด ผมเดินรวดเดียวถึงยอดเขา แล้วออกเดินป่าต่อโดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวาเป็นผู้นำทาง

“วันนี้เราจะเดินป่ากันเป็นระยะทางประมาณ ๗ กิโล” เอนก แก้วนิ่ม เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวาพูดขึ้น  พื้นเพเขาเป็นคนบึงบอระเพ็ด อำเภอเมืองนครสวรรค์ มาทำงานในป่าตั้งแต่ปี ๒๕๔๘

เราลงจากมออีหืดทางอีกด้านหนึ่งของภูเขา ลัดเลาะไปตามทางเดินไหล่เขา บางช่วงเป็นโขดหินสูงชันกลางพงหญ้ารก ต้องเกาะต้นไม้ยึดไว้เป็นหลัก  ไม่นานก็ลงสู่ป่าตีนเขา

เราเดินไปตามทางเดินแคบ ๆ ที่เรียกว่าป่องมออีหืด บริเวณนี้ชาวบ้านมักเข้ามาเก็บของป่าจำพวกหน่อไม้ เห็ดโคน ผักหวาน ผักกูด  ก่อนตัดตรงเข้าป่าลึก  ระหว่างทางพี่เอนกเล่าว่า เมื่อก่อนมีชาวบ้านแอบเข้ามาล่าสัตว์พวกหมูป่าไปขาย  แต่เดี๋ยวนี้ลดลงจนแทบไม่พบคนลักลอบล่าสัตว์แล้ว

“เราส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความรู้กับชาวบ้าน สร้างสัมพันธ์กับเด็ก ๆ ให้เป็นกระบอกเสียงให้เรา  ครั้งหนึ่งเราเคยให้เด็กเขียนว่าเคยกินอะไร เด็กยังซื่อก็ตอบว่าเคยกินเก้ง เม่น กวาง  เรารู้แล้วว่าครอบครัวไหนกินสัตว์ป่าอะไรบ้าง  ด้านหนึ่งแสดงให้เห็นว่าป่านี้ยังมีสัตว์ป่าสมบูรณ์ แต่เราต้องอธิบายว่าการจับสัตว์ป่ามากินจะทำให้สัตว์ป่าลดจำนวนลง ต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้”

เราเดินลึกเข้าไปในความร่มครึ้มของผืนป่า  ร่องรอยแห่งหายนะกลางป่าเมื่อราว ๓๐ ปีก่อนปรากฏขึ้นอย่างเห็นชัด คือตอไม้สักจำนวนไม่หวาดไม่ไหว บ่งชี้ว่าพื้นที่แถบนี้ทั้งหมดเคยเป็นพื้นที่สัมปทานไม้มาก่อน  หลักฐานคือตอไม้สักที่ยังไม่ย่อยสลาย บางตอมีต้นสักรุ่นลูกเติบใหญ่ขึ้นโอบคลุมโคนตอสักต้นแม่ราวกับไม่ยอมแพ้ในโชคชะตา  พี่เอนกเล่าว่าสักเป็นไม้มหัศจรรย์ เมื่อต้นแม่ถูกฟันจนเหลือแต่ตอ ต้นสักรุ่นลูกก็ยังแตกขึ้นใหม่เติบโตจนกลายเป็นต้นสักใหญ่ที่แข็งแรงมั่นคง  ตอสักบางตอมีต้นสักรุ่นลูกโอบล้อมอยู่รอบด้าน ๒-๓ ต้น

“ผมคิดว่าประเทศไทยโชคดีที่มีไม้สักขึ้นเองตามธรรมชาติ ทั่วโลกมีเพียง ๓ ประเทศเท่านั้น คือ อินเดีย พม่า และไทย  แม้แต่ในลาว ป่าสักธรรมชาติก็เป็นเพียงป่าผืนเล็ก ๆ ชายแดนฝั่งตรงข้ามจังหวัดอุตรดิตถ์เท่านั้น ขณะที่ป่าสักในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ก็ไม่ได้ขึ้นเองตามธรรมชาติ” ผมแลกเปลี่ยนความรู้กับพี่เอนก

เราเดินลึกเข้ามาในผืนป่าแม่วงก์ ต้นไม้ใหญ่ขนาด ๑-๒ คนโอบพบได้ทั่วไป

ก่อนหน้านี้เคยมีคนบอกว่าป่าแม่วงก์บริเวณที่จะสร้างเขื่อนเป็นป่าเสื่อมโทรม นั่นอาจเป็นเพราะเวลามองจากเฮลิคอปเตอร์ด้านบนลงมา ป่าแม่วงก์ไม่ได้มีเรือนยอดไม้แน่นทึบจนมองไม่เห็นพื้นล่างอย่างป่าดิบชื้นที่เป็นภาพจำของ “ป่าอุดมสมบูรณ์”  ทว่าระบบนิเวศส่วนใหญ่ในป่าแม่วงก์เป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังซึ่งมีลักษณะเป็น “ป่าโปร่ง” ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรมแต่ประการใด

ป่าเต็งรังมีต้นไม้สำคัญ เช่น เต็ง รัง เหียง พลวง ประดู่ มะขามป้อม  มีไม้พุ่มความสูงไม่เกิน ๗ เมตร เช่น พุ่มทุ่ง ปอบิด แป้ง ปรงเหลี่ยม มีหญ้าระบัดขึ้นอยู่ทั่วไปเป็นอาหารของสัตว์กินพืช โดยเฉพาะป่าแม่วงก์เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์กินพืชอย่างกระทิง วัวแดง กวาง เก้ง ฯลฯ

ส่วนต้นไม้เด่นในป่าเบญจพรรณ เช่น สัก เสลา ตะแบก ประดู่แดง สมอพิเภก กระพี้เขาควาย ตะเคียนหนู  มีป่าไผ่กระจายอยู่ทั่วไป เป็นแหล่งอาหารของสัตว์กินพืชเช่นกัน

จากผลการศึกษาของกรมป่าไม้เมื่อปี ๒๕๓๗ ประเมินป่าไม้ในเชิงปริมาณพบว่า พื้นที่ป่าที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์มีไม้ใหญ่ ๕๕๖,๖๑๔ ต้น คิดเป็นปริมาตรไม้ ๑๔๗,๔๑๐ ลูกบาศก์เมตร  ในจำนวนนี้เป็นไม้สัก ๕๗,๙๑๓ ต้น คิดเป็นปริมาตรไม้ ๑๒,๒๖๐ ลูกบาศก์เมตร  รวมถึงลูกไม้ ๓,๙๒๓,๑๒๘ ต้น และกล้าไม้ ๑๒,๓๔๔,๙๐๔ ต้น  หรือถ้าเปรียบเทียบพื้นที่ป่า ๑ ไร่ที่จะถูกน้ำท่วม จะมีต้นไม้ ๘๐ ต้น เป็นไม้สัก ๑๓ ต้น ลูกไม้ ๕๗๖ ต้น และกล้าไม้อีก ๑,๘๘๐ ต้น

ด้านสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ รายงานการติดตามและประเมินผลกระทบโครงการเขื่อนแม่วงก์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ของฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์พบสัตว์ทั้งหมด ๔๐๗ ชนิด  แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ๕๘ ชนิด  นก ๒๘๗ ชนิด  สัตว์เลื้อยคลาน/ครึ่งบกครึ่งน้ำ ๖๒ ชนิด  ในจำนวนนี้มีสัตว์ป่าที่อยู่ในสถานะถูกคุกคาม ๔๔ ชนิด  และที่กำลังจะสูญพันธุ์ ๓ ชนิด คือ เสือโคร่ง เลียงผา และสมเสร็จ

เราเดินมาถึงทางแยก  พี่เอนกเล่าว่าถนนสายข้างหน้านี้เคยเป็นเส้นทางชักลากไม้ในอดีต  ปัจจุบันลึกเข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตรเป็นที่ตั้งของหน่วยจัดการต้นน้ำขุนน้ำเย็น มีแหล่งเพาะพันธุ์กล้าไม้ มีเจ้าหน้าที่เฝ้าประจำดูแลเรื่องการปลูกป่า  เราไม่ได้มุ่งหน้าไปทางนั้น แต่เลือกตัดตรงไปยังลำน้ำแม่วงก์ เสียงน้ำกระทบโขดหินดังขึ้นทุกที  เมื่อก้าวพ้นพงหญ้าสูงมิดศีรษะ พลันก็ปรากฏภาพลำน้ำแม่วงก์ไหลผ่านแก่งหิน ริมสองฝั่งเป็นป่าหญ้า มีต้นไม้แน่นทึบเป็นฉากหลัง

“ที่นี่เรียกว่าจุดล่องแก่งท่าตาไท เป็นจุดเริ่มต้นของการล่องแก่ง ๗ กิโลเมตร ใช้เวลา ๒ ชั่วโมงเศษถึงแก่งลานนกยูง” พี่เอนกเล่าถึงกิจกรรมล่องแก่งตามลำน้ำแม่วงก์อันเป็นจุดขายหนึ่งของกิจกรรมเที่ยวป่านี้  อย่างไรก็ดีเขาบอกว่าเดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวไม่มีเวลามากนัก เลยย้ายไปเริ่มต้นตรงจุดล่องแก่งตาอีแย้ ร่นไปอีกประมาณ ๒ กิโลเมตร “ใช้เวลาชั่วโมงเศษ ๆ กำลังดี”

จากจุดล่องแก่งท่าตาไทถึงแก่งลานนกยูง หากล่องแก่งไปตามลำน้ำแม่วงก์คิดเป็นระยะทางประมาณ ๗ กิโลเมตร  ขณะที่เส้นทางบนบกยาว ๔ กิโลเมตรเท่านั้น  นั่นเพราะลำน้ำแม่วงก์มีลักษณะคดเคี้ยวเลี้ยวลดไปตามผืนป่าที่ราบริมน้ำระหว่างภูเขา

ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร องค์กรที่มีส่วนสำคัญในการรักษาผืนป่าตะวันตก เคยกล่าวถึงความสำคัญของป่าลักษณะนี้ว่า “ปัจจุบันประเทศไทยเหลือป่าในพื้นที่ราบอยู่น้อยมาก และน่าจะเหลืออยู่เพียง ๒ แห่งในป่าตะวันตกคือริมลำน้ำแม่วงก์กับริมลำห้วยขาแข้ง  ป่าลักษณะนี้มีศักยภาพสูงในการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า เป็นพื้นที่หากินและขยายพันธุ์ของสัตว์ป่าในฤดูแล้ง  สัตว์ป่าบางชนิดเช่นนกยูงต้องการหาดทรายหรือหาดกรวดริมน้ำในการหากิน และไม่สามารถบินขึ้นไปอาศัยอยู่บนภูเขาสูงอย่างที่มีคนชอบพูดกัน  จะเห็นว่าปัจจุบันป่าที่ราบริมน้ำซึ่งเป็นที่อยู่ของนกยูงไทยเหลืออยู่เพียง ๓ แห่งเท่านั้น คือป่าแม่ยมในอุทยานแห่งชาติแม่ยม จังหวัดแพร่ ป่าริมลำห้วยขาแข้ง และป่าริมลำน้ำแม่วงก์”

ขณะที่ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ www.siamensis.org กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม อธิบายว่า “การกระจายพันธุ์ของพืชและสัตว์บางชนิด เช่นพืชในกลุ่มขิง/ข่า เฟิน และต้นไม้ชายน้ำหลายชนิด พบบริเวณริมลำธารที่มีน้ำไหลเท่านั้น  ป่าหญ้าและพุ่มไม้ริมน้ำรวมทั้งเกาะแก่งในป่าริมน้ำยังเหมาะต่อการวางไข่และอนุบาลตัวอ่อนลูกปลา ในฤดูน้ำหลาก แก่งคือปอดของสายน้ำ เพราะน้ำที่ไหลมากระทบแก่งจะแตกออกเป็นฝอยเพิ่มออกซิเจนให้น้ำเหมือนเวลาเราใส่หัวฟู่ในตู้ปลา  สายน้ำที่ยังไหลอยู่เปรียบดั่งสายน้ำที่มีชีวิต หากวันหนึ่งมีสิ่งกั้นขวางการไหลจนกลายเป็นน้ำนิ่ง คุณภาพของน้ำจะด้อยลงทันที”

ดร.นณณ์กล่าวถึงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของลำน้ำแม่วงก์ รวมทั้งป่าที่ราบริมลำน้ำสายนี้ไปตลอดกาล

“การสร้างเขื่อนแม่วงก์จะทำให้การขึ้นลงของน้ำไม่เป็นไปตามฤดูกาลอีกต่อไป  ปลาที่อาศัยในแหล่งน้ำไหลและว่ายหนีขึ้นต้นน้ำไม่ทันจะตายทันที เช่น กลุ่มปลาจิ้งจกติดหิน ปลาค้อ ปลาเลียหิน  นอกจากนี้เราพบว่าปลา ๖๔ ชนิดที่อาศัยอยู่ในลำน้ำแม่วงก์มีเพียง ๘ ชนิดที่สามารถสืบพันธุ์ในแหล่งน้ำนิ่งได้  ความนิ่งของน้ำในเขื่อนยังทำให้คุณภาพของน้ำโดยรวมแย่ลง และจะทำให้เกิดการระบาดของหอยเชอรี่ซึ่งชอบน้ำนิ่ง รวมทั้งชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอื่น ๆ โดยเฉพาะพวกพืชต่างถิ่นตามแนวขอบอ่างอย่างแน่นอน”

ในการสร้างเขื่อนแม่วงก์ น้ำจะท่วมหลากเข้าไปในป่าที่ราบทุกช่องสันเขา เหลือเพียงป่าส่วนที่เป็นภูเขาสูงชัน  แม้พื้นที่น้ำท่วมจะคิดเป็นเพียงร้อยละ ๒ ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หรือร้อยละ ๐.๑๒ ของป่าตะวันตก  ทว่าหากเปรียบกับร่างกายมนุษย์ พื้นที่นี้คงไม่ต่างจากหัวใจ

 

ต้นกระบาก ๒๐๐ ปี กับเวลาที่เหลืออยู่

“เร่งฝีเท้าเถอะ ฝนทำท่าจะตกแล้ว”

สมยศ สุขเกษม เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวาซึ่งร่วมเดินป่ากับเรามาตั้งแต่ต้นเอ่ยขึ้น เขาเหมือนเงี่ยหูฟังอะไรสักอย่าง สักพักก็ย้ำว่า “เร็วเถอะ มาทางด้านโน้นแล้ว”

สัมผัสป่าและสัญชาตญาณของนักคุ้มไพรช่างแม่นยำเหลือเกิน เพราะไม่นานฝนก็เทกระหน่ำ  ขณะเรากำลังย่างย่ำลงบนทางเดินที่เคยเป็นเส้นทางชักลากไม้ในอดีต ในทิศทางมุ่งหน้าออกจากป่าแม่วงก์ สักพักพี่สมยศเร่งฝีเท้าจ้ำอ้าวจากไป ผมเร่งฝีเท้าตามด้วยไม่อยากเดินลุยฝนในป่านาน ๆ แม้จะเปียกปอนไปหมดแล้ว

ผมออกจากป่ามานั่งพักหลบฝนที่ศาลาปากทางเข้าแก่งลานนกยูงกับเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา ๓-๔ คน  พี่สมยศรีบขับรถกระบะกลับไปรับเพื่อนที่เกาะกลุ่มเดินตามหลังมาห่าง ๆ  เราพูดคุยฆ่าเวลาด้วยเรื่องจิปาถะ ทั้งชีวิต การงาน ฤดูกาล ฟ้าฝน เขื่อนแม่วงก์ น้ำ เสือ สัตว์ป่า ที่ตั้งใหม่ของหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวาหากมีการสร้างเขื่อน  ไม่มีคำถามคำตอบว่าใครอยากได้เขื่อนแม่วงก์หรือไม่

สักพักหนึ่งผมก็นึกขึ้นได้ว่าลืมเป้าหมายสำคัญไป คือต้นกระบากใหญ่อายุ ๒๐๐ ปี  กระบากต้นนี้น่าจะอยู่ในเส้นทางเดินป่าของเราหากฝนไม่ตกเสียก่อน

“ลองเดินไปดูสิ เลาะโขดหินริมลำน้ำแม่วงก์ขึ้นไป สุดทางแล้วเลี้ยวซ้ายตัดเข้าป่าไปไม่เกิน ๑ กิโล” เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวาคนหนึ่งบอก

ผมถามย้ำเส้นทางจนมั่นใจว่าจะไม่เดินหลงป่า แล้วรีบคว้ากระเป๋ากล้องสะพายไหล่  ต้นกระบากต้นนี้ผมเคยเห็นแต่ในภาพถ่าย มันใหญ่ขนาด ๔-๕ คนโอบเลยทีเดียว…

ในการเดินป่าเพียงลำพัง แม้เป็นเพียงระยะทางสั้น ๆ แต่ท่ามกลางสภาพบรรยากาศอึมครึม ฟ้าฝนไม่เป็นใจ ก็ชวนให้รู้สึกวังเวง นึกประหวั่นถึงสิ่งร้ายต่าง ๆ นานา ได้แต่คิดข่มใจว่าเรามาดี…

เลี้ยวซ้ายตัดจากโขดหินริมน้ำเข้าป่าก็พบตอไม้สักขนาดใหญ่ที่สุดตั้งแต่เห็นมาในป่านี้  ตอไม้สักตั้งอยู่ริมทางเดินฝั่งตรงข้ามต้นยางบงที่ยังมีชีวิต  ผมรีบเดินผ่านไป กระทั่งเจอต้นกระบากใหญ่ ๒๐๐ ปี โคนต้นมีป้ายระบุว่าวัดรอบลำต้นเมื่อปี ๒๕๕๔ ได้ ๖๐๙ เซนติเมตร

ช่างเป็นต้นกระบากที่สูงและใหญ่โตจริง ๆ  ผมได้แต่นึกเสียดายที่ไม่ชวนใครร่วมเดินทางมาด้วย เพราะหากมีใครสักคนยืนเกาะอยู่ตรงโคนต้น ภาพถ่ายต้นกระบากนั้นคงสำแดงความใหญ่โตโอฬารได้อย่างชัดเจน

ท่ามกลางความเงียบสงัดจนได้ยินเสียงละอองฝนโปรยกระทบใบไม้  ผมสังเกตว่าต้นไม้ใกล้ ๆ กันมีป้ายเตือนสตินักเดินป่า ซึ่งพบได้ตามป่าเขาลำเนาไพรหรือจุดท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ  ข้อความนั้นมีว่า

ในโลกเรานี้ไม่มีสิ่งมีชีวิตอันใดที่จะมหัศจรรย์และยิ่งใหญ่เท่าต้นไม้  ต้นไม้สามารถปรับตัวอยู่ได้ในธรรมชาติ  ไม้ใหญ่ในป่าจะแผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมให้เกิดความชุ่มชื้นภายใต้ร่มเงาเป็นที่พึ่งของสรรพชีวิต  ช่วยต้านแรงน้ำ ลม และฝนที่โปรยปรายให้อาบร่วงลงสู่พื้นดินอย่างช้า ๆ ส่งให้รากได้ดูดซับความชื้นต่อไป  ใบก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องฟอกอากาศ  เมื่อแก่จัดก็ร่วงลงสู่พื้น ชะลอการระเหยของน้ำ

ขณะเดียวกันมันก็เปิดโอกาสให้เกิดชีวิตใหม่สืบทอดเป็นสังคมป่าได้อย่างไม่น่าเชื่อและไม่มีวันสิ้นสุด  สำหรับเราเขาเป็นเพื่อนที่มีแต่ “ให้” “แล้วเราจะไม่คบเขาไว้หรือ” “เขาให้อะไรแก่เราบ้าง เราจะตอบแทนเขาอย่างไร”

อ่านจบผมเดินไปโคนต้นกระบาก ลูบคลำลำต้นชื้นแฉะ

นี่คือต้นกระบากอายุ ๒๐๐ ปีที่เติบโตในป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ พื้นที่คุ้มครองที่น่าจะปลอดภัยที่สุดแล้วสำหรับเหล่าสรรพสัตว์และต้นไม้

แต่วันนี้ ไม่มีใครล่วงรู้ว่าลมหายใจต้นกระบาก ๒๐๐ ปีจะยาวนานอีกสักเท่าไร

ขอขอบคุณ
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย, สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าสากล (WCS) ประเทศไทย, คุณอรัญญา กอนี, ดร. อนรรฆ พัฒนวิบูลย์, คุณเอื้อพันธ์ ชำนาญเอื้อ

อ้างอิง
ร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จัดทำโดยบริษัทครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัด, เมษายน ๒๕๕๕
รายงานการติดตามและประเมินผลกระทบโครงการเขื่อนแม่วงก์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์  โดยฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร, มิถุนายน ๒๕๕๒
ศศิน เฉลิมลาภ, “เหตุผลการคัดค้านการสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในประเด็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง และ เหตุผลการคัดค้านการสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในประเด็นคุณค่าของทรัพยากรสัตว์ป่าและระบบนิเวศวิทยาของป่าที่ราบริมน้ำแม่วงก์”, เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ โครงการเขื่อนแม่วงก์ ที่ KU HOME วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๕