เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

dwarfbike01

“เราสร้างจักรยานตามโจทย์ของผู้บริโภค
และแก้ปัญหาจักรยานแบบดั้งเดิม”

อมรชัย ชัยรัตน์
ผู้ผลิต “จักรยานแคระ” DWARF BIKE

ไม่ต่างกับจักรยานทำมือยี่ห้ออื่น Dwarf Bike เกิดจากความท้าทายและอยากลอง

อมรชัย ชัยรัตน์ เจ้าของบริษัท ช. ฐิติชัย จำกัด ผู้ชอบเครื่องยนต์กลไกเป็นทุนเดิม เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่ามาจากการท้าทายกับเพื่อนเรื่องการสร้างจักรยานล้อเดียวที่ขี่ได้  เขาทดลองทำโดยซื้อเฟรมจักรยานเด็กเก่า ๒ คันมาดัดแปลงเป็นจักรยานคันเล็กทรงแปลกตา ให้ชื่อว่า

“‘จักรยานแคระ’ แนวคิดมาจากจักรยานล้อเดียวของนักเล่นกายกรรมที่หกหน้าหกหลังได้ ผมเอาล้อเล็ก ๆ ๒ ล้อมาชิดกัน แก้ปัญหาวงเลี้ยวด้วยการใช้ระบบคันชัก ให้เฟืองและบันไดมาอยู่ด้านหน้า” ส่วนคนขี่ต้องนั่งบนอาน จับแฮนด์ที่สูงชะลูดจนคล้ายกับลอยตัวปั่นอยู่เหนือล้อ

จากจักรยานต้นแบบ อมรชัยพัฒนารูปทรงให้สวยงามขึ้นและลดจุดบกพร่อง เช่น เพิ่มจุดบรรทุกสิ่งของ ใส่กลไกปรับความสูง ฯลฯ จนเป็นจักรยานแคระสำหรับวางขายรุ่นแรกเมื่อปี ๒๕๔๑

อมรชัยบอกว่าจักรยานแคระขี่ไม่ยาก เพียงแต่ต้องซ้อมในช่วงแรก เมื่อจับจังหวะได้ ก็ขี่ได้ไม่ต่างกับจักรยานปรกติ

dwarfbike02

“จักรยานม้วน” จักรยานแฮนด์เมดอีกประเภทที่อมรชัยผลิตขึ้นเพื่อแก้ปัญหาข้อพับหลวมของจักรยานพับที่วางขายทั่วไปในตลาด (เมื่อกางออกจะเป็นดังภาพล่างด้านบนของบทความ)

dwarfbike03

อมรชัย กับ “จักรยานแคระ” จักรยานแฮนด์เมดแบบแรกที่เขาผลิตขึ้น ด้านหลังคือภายในโรงงานสร้างจักรยานขนาดเล็กของเขาย่านบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งวันนี้ผลิตจักรยานแฮนด์เมดตามคำสั่งซื้อและโจทย์ที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละเจ้า

ดูราวกับความคิดสร้างสรรค์ของชายผู้นี้จะไม่มีวันหมด ๒ ปีต่อมา อมรชัยสร้าง “จักรยานม้วน” เพื่อแก้ปัญหาจักรยานพับที่พับเก็บลำบากและเมื่อใช้งานไปนาน ๆ บานพับก็มักหลวม

“ความยากคือการคิดรูปแบบบานพับ ผมใช้เวลาเป็นปีถึงได้คำตอบว่าต้องไม่มีกลไกล็อก แบ่งพับเป็น ๓ ตอนคือ คอหน้า แฮนด์ และลำตัว ทั้งหมดพับเสร็จใน ๑๐ วินาที เมื่อใช้ก็แค่กางออก”

ตามด้วย “สามล้ออเนกประสงค์”-ท้ายรถบรรทุกของได้ เข้าโค้งไม่พลิกคว่ำ  “สามล้อสุขภาพ”-เหมือนนั่งโซฟาขี่จักรยาน  “จักรยานครอบครัว”-จักรยาน ๒ ตอน ผู้ขี่ ๒ คน ผู้โดยสาร ๑ คน

เขาบอกว่าผู้อุดหนุนส่วนใหญ่เป็นคนที่ชอบความแปลก

อมรชัยได้รับสิทธิบัตรเรื่อง “ระบบโซ่” และ “คันชัก” ซึ่งทั่วโลกมีเพียง ๕ สิทธิบัตรสำหรับจักรยาน และเขาเป็นเพียงเจ้าเดียวที่นำมาผลิตจักรยานจำหน่าย โดยตั้งใจจะสร้างจักรยานแบบใหม่ ๆ ออกมาให้ได้ทุกปี

“ผมพยายามออกแบบจักรยานเพื่อตอบสนองความต้องการผู้ใช้  อยากให้คนติดตามว่าเราจะผลิตอะไรออกมาอีก  ไม่เคยคิดจะผลิตขายแข่งกับจักรยานยี่ห้อดัง หวังว่าสักวันลูกค้าจะเห็นถึงความตั้งใจของเรา และผมภูมิใจว่าคนไทยทำได้”

อมรชัยยอมรับว่าสิ่งที่เขาแก้ไม่ตกมีปัญหาเดียว คือคนไทยไม่เชื่อใจสินค้าไทย  ปัจจุบันเขามีรายได้หลักมาจากการรับผลิตจักรยานตามคำสั่งลูกค้าต่างประเทศ

“ผมถึงตั้งชื่อยี่ห้อว่า Dwarf Bike เพราะในประเทศนี้ถ้าคุณผลิตสินค้ายี่ห้อคนไทยเมื่อไร คุณเจ๊งเมื่อนั้น”