somkiat03เหตุใดการทำงานของ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นเพื่อดูแลกิจการโทรคมนาคมจึงถูกตั้งคำถามมากเหลือเกิน
องค์กรอิสระเกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ที่กำหนดให้มีองค์กรที่เป็นอิสระจากการแทรกแซงทางการเมือง  ในกิจการโทรคมนาคมเองก็เช่นกัน สมัยหนึ่งนักการเมืองหากินกับสัมปทานโทรคมนาคม และสัมปทานวิทยุโทรทัศน์กันมาก  รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้มีการตั้ง กสทช. ขึ้นมา แต่เป็นการคิดที่ไม่ครบ  คืออยากให้เป็นอิสระจากนักการเมืองขณะที่พฤติกรรมในระบบสัมปทานได้ฝังรากลึกลงบนสังคมไทย  ทำให้เอกชนเกิดความเชื่อว่าในประเทศนี้ถ้าคุณจะได้เปรียบคู่แข่งหรือสู้ชนะ  คงไม่ใช่ด้วยวิธีการลดราคา หรือปรับปรุงบริการให้ดีกว่าคู่แข่ง ทำเสียงให้ชัดกว่าหรือสื่อสารข้อมูลเร็วกว่า  แค่คุณเอาเวลาไปล็อบบีรัฐ คุณก็สามารถทำกำไรได้มากกว่ากันเยอะ

สมมุติคุณไปดำเนินการใด ๆ จนได้สัญญาเงื่อนไขดี ๆ มาสักสัญญาหนึ่ง  คุณหากินกับสัญญานั้นไปได้อีกนานเลย  ความรู้สึกหรือทัศนคติแบบนี้อาจติดมาถึงยุคใบอนุญาต  คือเอกชนรู้ว่าการตกลงกติกากับ กสทช. มีประโยชน์มากกว่าการปรับปรุงคุณภาพบริการให้แก่ผู้บริโภค  ดังนั้นถ้าคุณโน้มน้าว กสทช. ให้ออกกฎการประมูล 3G ที่คุณได้ประโยชน์  เผลอ ๆ คุณฟันกำไรได้ ๕-๖ พันล้าน หรือหมื่นล้านในพริบตา  ไม่ต้องมานั่งรอกำไรจากการให้บริการผู้บริโภคที่ช้ากว่าและเหนื่อยกว่ากันมาก

การเป็นองค์กรอิสระจากการเมืองเป็นเรื่องดี แต่ยากที่จะเป็นอิสระจากกลุ่มผลประโยชน์  ถ้าเป็นประเทศที่ธรรมาภิบาลเข้มแข็งเขาอาจจัดการได้ เช่น ถ้าจับได้ว่า กสทช. ไปรับเลี้ยงจากเอกชน หรือเดินทางไปดูงานต่างประเทศด้วยเงินเอกชน  นี่เป็นเรื่องใหญ่นะครับ  แต่เมืองไทยครั้งหนึ่งมีข่าวว่าเอกชนรายหนึ่งนำไอโฟนไปแจก กสทช. เป็นข่าวอื้อฉาวอยู่พักหนึ่งแต่แล้วก็เงียบไป  ยิ่งประเทศที่ธรรมาภิบาลไม่เข้มแข็ง  การเป็นองค์กรอิสระยิ่งมีความเสี่ยงว่าจะดำเนินการแย่กว่าองค์กรแบบไม่อิสระ  เพราะหากอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง คุณยังไปโวยวายกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงได้  รัฐมนตรีมีที่มาจาก ส.ส. และ ส.ส. มาจากการเลือกตั้ง  อย่างน้อยคุณยังมีทางไล่เบี้ย  แต่ถ้าเป็นองค์กรอิสระ  คุณจะทำอะไร ? แม้แต่นายกรัฐมนตรียังสั่งไม่ได้เลย

เราจะมีวิธีการตรวจสอบการทำงานของ กสทช. อย่างไร
ตอนเขียนกฎหมาย กสทช. ผมนึกถึงเรื่องนี้พอสมควร  แต่สุดท้ายก็พบว่ายังไม่พอ เช่น ผมเสนอเขียนเป็นกฎหมายว่าให้เปิดเผยบันทึกการประชุมทุกครั้ง จะได้รู้ว่าคณะกรรมการฯ แต่ละท่านพูดหรือลงคะแนนอย่างไร แต่ตอนหลังเนื้อหาเหล่านี้ถูกตัดตอนบอนไซหมด  เขาเปิดเผยเอกสารน้อยที่สุดเท่าที่เขาคิดว่ากฎหมายยอมรับได้  ไม่มีวัฒนธรรมของการทำงานอย่างโปร่งใสและมีธรรมาธิบาลเท่าไรเลย เพราะฉะนั้นการตรวจสอบในทางปฏิบัตินั้นไม่ง่าย

ช่วงก่อนเปิดประมูลคลื่นความถี่ 3G ประชาชนไปให้ข้อมูลในกระบวนการรับฟังความเห็นว่าการประมูลด้วยวิธีการแบบนี้ไม่ดี น่าจะใช้วิธีอื่น  ตามกฎหมาย กสทช. มีหน้าที่ตอบว่าถ้าไม่ใช้วิธีที่ประชาชนเสนอ  เหตุผลคืออะไร แต่เขาก็ตอบแบบขอไปที

อีกครั้งหนึ่งตอน กสทช. กำลังทำแผนแม่บทโทรคมนาคม  ในฐานะประชาชนคนหนึ่งผมเสนอให้ตั้งเป้าว่าอย่างน้อยค่าโทรศัพท์ของเมืองไทยต้องถูกเป็นอับดับ ๒ ของอาเซียน  ผมคิดว่าวิธีนี้ดีที่สุด  เมื่อประเมินผลก็จะรู้ว่าค่าโทรศัพท์ไทยถูกจริงหรือเปล่า  ถ้าไม่ถูก กสทช. จะนั่งเฉยไม่ได้ เพราะผลการประเมินจะประจานการทำงานของคุณอยู่  ปรากฏว่าเขาไม่รับความเห็นนี้ บอกว่าข้อเสนอเดิมของ กสทช. ดีอยู่แล้ว  ซึ่งไม่ใช่การให้เหตุผลเลย  เป็นการตอบขอไปทีแบบมั่ว ๆ ตามกฎหมาย  คุณควรจะต้องบอกว่าเหตุใดจึงไม่ควรทำค่าโทรศัพท์ถูกเป็นอันดับ ๒ ของอาเซียน

ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนกิจการโทรคมนาคมไทยถูกควบคุมโดยโอเปอเรเตอร์ยักษ์ใหญ่ ๓ เจ้า ผู้บริโภคอย่างเราควรเฝ้าระวังอย่างไร
ประชาชนควรจะต้องโวยวายกับ กสทช. ให้มากที่สุดว่า  กสทช. ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ได้อย่างไร ต้องบอกว่าคุณทำเสียหายอย่างนี้เรารับไม่ได้  สื่อมวลชนคอลัมนิสต์ต้องช่วยกัน  ไม่ใช่ไปรับงบประชาสัมพันธ์จาก กสทช. แล้วไม่ตรวจสอบ เผลอ ๆ แถมแก้ต่างให้ด้วย  ส่วนการทำงานของเอกชนผู้ให้บริการ 3G ก็เช่นกัน มีคนพูดกันว่าทุกวันนี้เอกชนแต่ละเจ้ามีอิทธิพลต่อ กสทช. ไม่เท่ากัน  เปรียบเปรยว่าถ้าถือโทรศัพท์ไปที่สำนักงาน กสทช. บางเจ้าเปิดมามีสัญญาณ ๓ ขีด บางเจ้ามี ๒ ขีด บางเจ้าขีดเดียว  สัญญาณที่ว่านี้ไม่ใช่สัญญาณคลื่นโทรศัพท์นะครับ  แต่เป็นสัญญาณว่า กสทช. เอ็นดูใครแค่ไหน  ขณะที่สัญญาณของประชาชนดูเหมือนจะเกือบเป็นศูนย์

ประเทศกำลังเดินเข้าสู่ยุค 3G เราควรแสวงประโยชน์อะไรกับยุคเทคโนโลยีนี้บ้าง
ภาคธุรกิจตอนนี้พร้อมแล้วที่จะเอา 3G ไปใช้ โดยเฉพาะพวกที่ทำแอปพลิเคชัน ทำเว็บอีคอมเมอร์ซ  วงการสื่อสารมวลชนคงได้ใช้ประโยชน์เยอะ เมื่อวานผมไปออกรายการโทรทัศน์  วันนี้ดูรายการผ่านไอแพดได้แล้ว  ล่าสุดซีทีเอช (CTH) ได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ  เขาก็คงพยายามถ่ายทอดสดออกไปในทุก ๆ แพลตฟอร์ม  ส่วนการถ่ายทอดสดภาคสนามของรายการโทรทัศน์  เมื่อก่อนต้องมีรถโอบีคันใหญ่จึงจะถ่ายทอดสดได้  ต้องอาศัยเครื่องไม้เครื่องมือราคาแพง  พอคุณมี 3G แค่ใช้กล้องถ่ายแล้วก็ส่งข้อมูลผ่าน 3G ไปยังห้องส่งได้

สำหรับประชาชนทั่วไป คนที่จะได้ประโยชน์จาก 3G มากที่สุดคือคนที่มีอุปกรณ์พวกสมาร์ทดีไวส์ (smart device) พวกแท็บเล็ต ไอโฟน กาแล็กซี สำหรับเล่นอินเทอร์เน็ต เช็กอีเมล ดูข่าวสาร เรื่อยไปถึงหักบัญชีธนาคาร หรือสไกป์ (skype) ให้อาจารย์ที่กรุงเทพฯ สอนเด็กต่างจังหวัด  อีกกรณีคือถ้าคลื่น 3G มีในพื้นที่ของคุณแล้ว แต่สายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังต่อมาไม่ถึง  คุณก็สามารถนำอุปกรณ์ เช่น ไอโฟนมารับคลื่น 3G กระจายสัญญาณเป็น wifi ออกไปให้เครื่องพีซีรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้  อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะกระจายไปในพื้นที่ห่างไกลได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามธุรกิจจำนวนหนึ่งจะเสียเปรียบโอเปอเรเตอร์ เช่น ผู้ที่คิดจะทำมาค้าขายผ่านมือถือ  สมมุติคุณเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์  คุณมีข่าวอยากให้บริการผ่าน 3G  หรืออยากให้เอสเอ็มเอสข่าวของคุณไปถึงมือผู้บริโภค  บริษัทโทรศัพท์มือถือก็จะบอกว่าถ้าคุณอยากจะเอาข่าวมาปล่อย  ผมขอหักส่วนแบ่งกี่เปอร์เซ็นต์ เหมือนน้ำพักน้ำแรงถูกสูบไป เพราะฉะนั้น กสทช. ต้องพยายามกำกับดูแลให้มันยุติธรรมกว่าที่เป็นอยู่นี้

ค่าให้บริการ 3G ที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร
3G แบบทดลองใช้ถ้าคุณไปสมัครตอนนี้ค่าบริการถือว่าแพง  ลองดูแพ็กเกจต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ประมาณ ๖๐๐-๗๐๐ บาทต่อเดือนขึ้นไป ดาวน์โหลดข้อมูลได้ ๕ กิกะไบต์  ถ้าดาวน์โหลดเกินคิดเงินเพิ่ม  แต่ถ้าคุณลองไปดูแพ็กเกจของอังกฤษหรืออีกหลายประเทศทั่วโลก  เขาขายกันอยู่ที่ ๑ กิกะไบต์ต่อเดือน แล้วกำหนดราคาต่ำกว่าเรา  หมายความว่าผู้บริโภคชาวไทยถูกบังคับให้ซื้อกินเกินความต้องการ  คือแม้จะเทียบกันกิกะไบต์ต่อกิกะไบต์แล้วของไทยเหมือนว่าราคาจะถูกกว่า  แต่ว่าคุณต้องกินเยอะ  ทั้งที่ความจริงคุณควรมีสิทธิ์เลือกกินนิดเดียวได้  สรุปคือขณะที่หลายประเทศมีแพ็กเกจขนาดเล็กให้เลือกกิน  ผู้บริโภคชาวไทยกลับถูกยัดเยียดขาย

มีข้อบังคับหรือไม่ว่าการปูพรม 3G ให้ครอบคุลมพื้นที่ทั่วประเทศนั้นต้องใช้ในเวลานานเท่าไร
กสทช. กำหนดไว้ไม่ครบทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์  คือเขากำหนดว่าภายใน ๒ ปีแรกต้องให้ครอบคลุมจำนวนประชากร ๕๐ เปอร์เซ็นต์ก่อน  ปีที่ ๔ เพิ่มขึ้นเป็น ๘๐ เปอร์เซ็นต์  แต่ไปไม่ถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นะ  สาเหตุที่ต้องใช้วิธีนี้เพราะประชากร ๑๐ เปอร์เซ็นต์แรกจะได้ใช้ 3G ที่ต้นทุนถูกกว่า  อีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ต่อมาต้นทุนจะสูงขึ้นและจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาไม่ได้วัดเรื่องความครอบคลุมของสัญญาณจากขนาดของพื้นที่  แต่ดูจากจำนวนประชากร  การจะให้ครอบคลุมประชากร ๑๐ หรือ ๒๐ เปอร์เซ็นต์แรกต้องทำอย่างไร  โอเปอเรเตอร์แค่ปักเสาในกรุงเทพฯ เท่านั้นก็อาจจะพอแล้ว  เพราะปักในหัวเมืองได้ประชากรเยอะ  คนอยู่กันหนาแน่น  คุณไปปักในขอนแก่นให้ครอบคลุมเท่ากับคนในกรุงเทพฯ นี่ขอนแก่นแพงกว่า  ถ้าคุณไปปักที่หนองคายก็ยิ่งแพงกว่าขอนแก่น  ถ้าไปปักบนยอดดอย คนอยู่น้อยก็ยิ่งแพงกว่า  ฉะนั้นถ้าจะให้ครบหมดทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์มันจะแพงมาก  พื้นที่ส่วนที่ขาด กสทช. จึงต้องบริหารเงินใน “กองทุนให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง” ไปช่วยจ้างโอเปอเรเตอร์ติดตั้งเสา  กองทุนนี้มีมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาถูกใช้อย่างไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก  เมื่อเม็ดเงินในตลาดโทรคมนาคมมากขึ้น  กองทุนก็โตตาม  เราต้องช่วยกันจับตาดูว่าเงินกองทุนจะถูกนำไปใช้อย่างไร

วันนี้ญี่ปุ่นรุดหน้าไปถึงยุค 4G เช่นเดียวกับอีกไม่น้อยกว่า ๒๐-๓๐ ประเทศทั่วโลก หลายประเทศก็เข้าสู่ยุค 3G มานานแล้ว  อาจารย์คิดว่ายุคสมัยของ 3G ในเมืองไทยจะยาวนานสักเพียงใด
โทรศัพท์มือถือของไทยเริ่มให้บริการราว พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๐ เป็นเทคโนโลยียุคอนาล็อกหรือเรียกว่ายุค 1G ใช้โทร.คุยกันอย่างเดียว  ราว พ.ศ. ๒๕๓๗ เทคโนโลยียุคดิจิทัลก็เข้ามา  เริ่มต้นสามารถส่งผ่านข้อมูลแบบง่าย ๆ เช่น ส่งเอสเอ็มเอสหรือดาวน์โหลดเว็บไซต์แบบไม่ใช้ข้อมูลเยอะ ๆ เรียกว่ายุค 2G ที่มีการพัฒนามาเป็นลำดับ  จนมาถึงยุค 3G ที่เน้นส่งข้อมูลมากกว่าคุยกันแล้ว และสามารถส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูง ๆ ด้วย

จะเห็นว่าตัวเทคโนโลยีมีมาก่อน การบริการถึงค่อยตามมา เพราะการให้บริการเป็นเรื่องของตัวสัญญาและการจัดสรรคลื่นความถี่  เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชนที่จะตกลงกันให้เทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันหรือไม่

วันนี้เทคโนโลยี 4G มีใช้ในต่างประเทศแล้ว สำหรับประเทศไทย กสทช. ประกาศว่ากลางปีนี้จะมีการประมูล 4G ซึ่งช่วงเริ่มต้นคงมีใช้กันในวงแคบ ๆ เพราะในมุมมองของโอเปอเรเตอร์ที่ลงทุน  เขาเพิ่งลงทุนกับ 3G ไปหมาด ๆ  ถ้าเร่งลงทุน 4G ต่อทันที ก็จะทำให้ 3G ดูดีน้อยลง เนื่องจากความเร็วมันต่างกัน  คือเขาจะลงทุนเพียงเพื่อถือสิทธิ์ให้ได้ที่ดินใหม่ หมายถึงคลื่นความถี่สำหรับการให้บริการ 4G ในอนาคต  เรียกว่าขอเอาเสาไปปักไว้ก่อนเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของและสำหรับทำการตลาดบอกว่าบริษัทของเรามี 4G ใช้แล้ว  แต่คิดว่าคงจะไม่ได้ปูพรมกันขนานใหญ่  อย่างเร็วอีก ๓-๔ ปีถึงจะเริ่ม

กรณีนี้ กสทช. จะเข้ามาเร่งให้โอเปอเรเตอร์รีบดำเนินการ 4G ได้ไหม
กสทช. ก็พยายามเร่งอยู่  แต่สาเหตุไม่ได้มาจากการมองผู้ใช้บริการเป็นตัวตั้ง แต่เป็นความต้องการจากฝั่งของโอเปอเร-เตอร์มากกว่า  เนื่องจากสัมปทานในระบบ 2G ของ ๒ เจ้า คือ สัมปทานบางส่วนของเอไอเอส และสัมปทานทั้งหมดของทรูมูฟ กำลังจะหมดลงในช่วงเดือนกันยายนปีนี้  เขาต้องคืนคลื่นความถี่ให้ กสทช. เขาก็บอกว่าถ้าคืนคลื่นไป ลูกค้าในปัจจุบันจะเคว้ง ไม่รู้ไปอยู่ไหน ขอให้ กสทช. รีบออก 4G มารองรับ 2G ที่กำลังจะหมดลงก่อน

ในมุมของผู้ประกอบการ เขาย่อมอยากได้คลื่นให้เร็วที่สุด  และด้วยตอนนี้ตลาดโทรคมนาคมไทยยังไม่ได้เปิดเสรี  การเอาของมาแจกกันตอนนี้มั่นใจได้ว่าจะมีเพียง ๓ รายเท่านั้นที่ได้รับ  แต่ถ้ารอไป ในอนาคตอาจมีรายใหม่เข้ามา ก็เสี่ยงว่าจะต้องเจอคู่แข่งขันหลายราย  ดังนั้นขอให้ กสทช. รีบเปิดประมูลดีกว่า ให้เขาได้คลื่นมาก่อน  ของอย่างนี้สิบเบี้ยใกล้มือเอามาก่อนครับ  จะใช้จริงหรือไม่ค่อยว่ากัน  ๑. เพื่อเป็นการได้ครองตลาดต่อไป  ๒. เป็นการตัดคู่แข่งในอนาคตไปในตัว

ทำไมอาจารย์ในฐานะผู้บริโภคจึงดูไม่เร่งร้อนให้เกิด 4G ในเร็ววัน
ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งต้องการใช้  แน่นอนว่าต้องมีคนกลุ่มหนึ่งได้ใช้ประโยชน์  แต่หากถามถึงความจำเป็นที่จะต้องรีบมี  ในมุมมองของผู้บริโภคไม่มีความจำเป็นมากมายเลย  เมื่อ 3G ที่ออกมาปรับปรุงการส่งข้อมูลที่ช้าให้คลี่คลายแล้ว  ความเร็วของ 3G ถือว่าใช้ได้ในระดับแอปพลิเคชันทั่วไป  ดูยูทูบด้วย 3G ได้สบาย  ส่วน 4G จะใช้กับการสื่อสารข้อมูลที่ความเร็วสูงขึ้นไปกว่านั้นมาก  เช่นคุณต้องการดาวน์โหลดหนังความคมชัดสูงระบบบลูเรย์ทั้งเรื่อง หรือดูหนังทั้งเรื่องผ่านมือถือ ผ่านแท็บเล็ต  อย่างนั้นคุณต้องการความเร็วระดับ 4G แล้ว ก็คงมีคนจำนวนหนึ่งต้องการครับ พวกที่เป็นแนวหน้าหรือชอบเทคโนโลยีมาก ๆ  หรือคนทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง  แต่ว่าสำหรับคนทั่วไปคงจะไม่ได้ใช้กันแพร่หลายแน่นอน  ผมถึงบอกว่าถ้า 4G ออกมาในปีสองปีนี้  คงออกมาเพื่อทำการตลาดให้เห็นว่าบริษัทเราเป็นผู้นำ  และการที่ กสทช. เร่งให้มีการประมูล  ผู้ได้รับประโยชน์คือโอเปอเรเตอร์มากกว่า

มันเหมือนกับเวลาคุณดื่มน้ำ  คุณกระหายน้ำจัดเพราะเพิ่งเดินผ่านทะเลทราย  คุณไม่ได้กินอะไรมาหลายวัน  คุณมาถึงที่พัก ดื่มน้ำไปเหยือกใหญ่  นั่นคือ 3G ที่คุณดื่มไปแล้ว ๑ เหยือก  เหลืออีก ๑ เหยือกเป็นเหยือกของ 4G น้ำเหยือกนี้อร่อยรสชาติดียิ่งกว่าเหยือกแรก  แต่คุณดับกระหายไปเยอะแล้ว ก็ดื่มต่อไม่หมด  มีบางคนที่กระหายหนักอยากจะดื่มต่อ  แต่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่

ดังนั้นหากมีการประมูล 4G  ประเด็นสำคัญกว่าคือการปรับโครงสร้างตลาด  หมายความว่าในเมื่อ 2G และ 3G เคยมีโอเปอเรเตอร์ ๓ รายมาก่อน  แล้ว 4G ยังมี ๓ รายเหมือนเดิม ไม่มีการเปิดตลาด ผมมีคำถามว่าผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ที่สุดหรือไม่

อนาคตข้างหน้า ผู้ที่มีความต้องการเพียงเทคโนโลยีระดับ 2G หรือน้อยกว่านั้น จะใช้ชีวิตอย่างไรบนดวงดาวที่หมุนไปไวเหลือเกิน
คงต้องช่วยกันเรียกร้องว่าแพ็กเกจต่าง ๆ ที่ออกมาในระบบ 3G ต้องมีแพ็กเกจที่เป็น voice หรือบริการรับส่งเฉพาะข้อมูลเสียงอย่างเดียวด้วย  หมายความว่าในอนาคตข้างหน้าที่อาจจะไม่มี 2G แล้ว  เมื่อคุณไปสมัครบริการ 3G  แล้วผู้ประกอบการสมคบกันกำหนดว่าคุณต้องใช้เสียงและข้อมูลด้วย  หากคุณยืนยันว่าคุณต้องการแค่โทรศัพท์สำหรับพูดคุยกันอย่างเดียวเท่านั้น  แล้วคุณกลับถูกบังคับให้ต้องซื้อแพ็กเกจพ่วงกับข้อมูลมันก็ไม่ยุติธรรม  ฉะนั้นต้องมั่นใจว่าจะมีแพ็กเกจให้คุณสามารถใช้อย่างเหมาะสม ในราคาที่สมน้ำสมเนื้อ กสทช. ต้องกำหนดให้โอเปอเรเตอร์มีทางเลือกให้ผู้บริโภค

มันเหมือนกับเรื่องน้ำมันกับรถยนต์  ถ้าตอนนี้รถคุณยังเติมเบนซิน ๙๕ คุณหาปั๊มเติมน้ำมันยากมาก อาจจะต้องขับไปไกล  เท่ากับคุณถูกบังคับกลาย ๆ ให้เติมเบนซิน ๙๑ ซึ่งถ้ารถคุณเติมเบนซิน ๙๑ ไม่ได้  คุณตายอย่างเขียดเลย

ซื้อโทรศัพท์ ติดตามแพ็กเกจใหม่ ๆ นี่เราต้องเดินตามเทคโนโลยีตลอดไปงั้นหรือ
แล้วแต่คุณครับ วันนี้คนที่ไม่ใช้โทรศัพท์เลยก็มี  ถ้าคุณยังมีเจตจำนงเสรี  คุณยังมี free will อยู่  ถ้าคุณไม่สนว่าจะแตกต่างจากคนอื่น  ทุกวันนี้ผู้คนในหมู่บ้านอามิช (Amish) ในอเมริกา เขาก็ไม่มีทีวี เขายินดีที่จะขี่รถม้า เขาก็ยังอยู่กันได้  ถ้าคุณอยากใช้ชีวิตอย่างนั้นมันก็มีทางเลือก  แต่คุณจะเสียโอกาสเยอะนะ  คุณจะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร หรือต้องอ่านข่าวเอาจากหนังสือพิมพ์ ไม่ได้รับเอสเอ็มเอสหรือคลิปโหลดจากมือถือ  คือคุณจะมีไลฟ์สไตล์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งคุณคงจะเป็นกลุ่มคนที่เล็กลง ๆ ทุกที

บทเรียน 3G สอนอะไรกับเรา
คนไทยอยากได้ผลลัพธ์ คืออยากได้ 3G แต่ไม่สนใจกระบวนการว่าจะพิสดารผิดปรกติ เอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจอย่างไร เอาเปรียบประชาชนไหม  ถ้าประชาชนคิดตัดช่องน้อยแต่พอตัว บอกว่า “ไม่เป็นไร” เราจะแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ของประเทศไทยไม่ได้เลย  ถ้าประชาชนคิดแบบเดียวกันว่าถ้ามีคอร์รัปชันแต่ประชาชนได้ประโยชน์  เรายอม  คอร์รัปชันก็จะมา  ถ้าประชาชนตัดช่องน้อยแต่พอตัวเรื่องการศึกษา  คิดว่ามีสตางค์ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนอินเตอร์ จ่ายแป๊ะเจี๊ยะเข้าโรงเรียนดัง ๆ แล้วไม่ช่วยกันปฏิรูปการศึกษาให้เกิดขึ้น  ตัวเราเองไปได้ แต่ประเทศในส่วนรวมไปไม่ได้นะ  แล้วเมื่อส่วนรวมไปไม่ได้  สุดท้ายประชาชนก็ไปไม่ได้อยู่ดี

3G สะท้อนว่าเราต้องไม่มองระยะสั้น ไม่มองเฉพาะผลลัพธ์เฉพาะหน้า  แต่ต้องมองให้ยาว มองทั้งกระบวนการ  ผลลัพธ์ระยะยาวจะดีได้กระบวนการต้องถูกด้วย  เพราะถ้ากระบวนการไม่ดี  สุดท้ายประชาชนต้องมีส่วนร่วมในผลของกระบวนการที่ผิดพลาดนั้นอยู่ดี  ถ้าประชาชนไม่ตื่นตัว รัฐก็จะไม่ทำในสิ่งที่ประชาชนอยากได้จริง ๆ