สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ : สัมภาษณ์
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

jullapol01เดิน...เขาอาจเป็นนักเดินป่าไม่กี่คนที่ก้าวย่างมาแล้วถ้วนทั่วทุกขุนเขาในภาคเหนือ และลัดเลาะถึงในเขตแดนเพื่อนบ้านบ้าง แต่นี่ไม่ใช่การเดินอย่างผู้พิชิต ตรงกันข้ามมันเป็นการเดินอย่างนอบน้อมและสมถะ เพื่อผูกมิตรกับธรรมชาติและหมู่บ้านของผู้คนหลากท้องถิ่นหลายวัฒนธรรมซึ่งเขาเชื่อว่าคือสถานที่เก็บซ่อนภูมิปัญญาที่ช่วยให้เรากลับมาเข้าใจตัวเราเอง พร้อมกับช่วยโลกซึ่งกำลังเต็มไปด้วยปัญหา

ต้นไม้...เขาปลูกมาแล้วนับแสนต้น ในทุกที่ที่มีโอกาส  มิใช่การปลูกอย่างเลื่อนลอยแต่ปลูกอย่างรู้จริงในกระบวนการของระบบนิเวศ นิสัยและชนิดของพันธุ์ไม้ท้องถิ่น สภาพของดิน แสงแดด ลม ความชื้น และน้ำ  ต้นไม้ที่เขาปลูกงอกงามสูงใหญ่ทั่วพื้นที่ซึ่งเคยเป็นเพียงแผ่นดินว่างเปล่า แต่วันนี้กลับมีสภาพคล้ายกับป่าธรรมชาติ  เขายืนยันหนักแน่นว่า ต้นไม้เป็นทรัพยากรที่ปลูกทดแทนได้ในชั่วอายุคนเรา และไม้เป็นวัสดุที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างบ้านให้มนุษย์อยู่อาศัย

บ้าน...เขากล่าวเสมอว่าคนไทยใช้คำว่า “ปลูกเรือน” ไม่ใช่ “สร้างบ้าน” เพราะว่าเรือนมีชีวิต และบ้านของสถาปนิกอย่างเขาก็เป็นเพียงบ้านไม้หน้าตาเรียบง่ายและธรรมดาที่สุด แต่เย็นสบายอย่างยิ่ง ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีรั้วบ้าน ไม่มีเหล็กดัด ไม่มีมุ้งลวด  ถึงมีขโมยเข้าบ้านก็คงไม่ได้อะไรกลับไป เพราะไม่มีสิ่งมีค่าเก็บซ่อนสะสมในบ้านเหมือนบ้านคนอื่นสักอย่าง ยกเว้นเครื่องไม้เครื่องมือสารพัดที่เขาใช้พึ่งตนเองในการสร้างบ้าน ประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ รวมทั้งทำสวนและทำครัวอย่างมีความสุข

จุลพร นันทพานิช...เกือบจะเรียนไม่จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และเกือบจะตายด้วยไข้มาลาเรีย  แต่วันนี้เขาเป็นอาจารย์พิเศษของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และได้รับการคัดเลือกให้เป็นอาจารย์ดีเด่นจากการสอนวิชาประยุกต์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี ด้วยกระบวนการสอนและถ่ายทอดประสบการณ์อย่างคนรู้จริง จนผลงานของนักศึกษาโดดเด่นสร้างชื่อเสียงให้แก่คณะในระดับประเทศ

สารคดี...ชวนคุณผู้อ่านค้นหาความหมาย “ลึกๆ” ของความ “เขียว” ในสถาปัตยกรรมแห่งชีวิตของชายผู้นี้