ชุมชน “ตลาดน้อย” ย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ไม่ได้มีแต่สิ่งเก่าๆ หากยังเป็นแหล่งรวมของแนวคิดด้านสถาปัตยกรรมที่เกิดจากสถาปนิกผู้อยู่กับการปรับสร้างสิ่งใหม่
ภายในตรอกเล็กๆ ในชุมชนโชฎึก ตึกแถวคูหาลึกสุดคือที่ตั้งของ Creative Crews Office
“We are an integrative architectural firm practicing architecture, interior design, landscape design, and urban design focused on creating designs.”
Creative Crews บริษัทออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ออกแบบภายใน และผังเมือง ที่มีกลุ่มนักสถาปนิกที่พร้อมจะออกแบบสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ภายใต้การอยู่กับสิ่งเดิมโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม
เมื่อเข้ามาสุดตรอกเล็กๆ มีตึกแถวสองสามหลังเรียงกันอยู่ เดินขึ้นไปที่ชั้น 2 ของอาคารเก่าที่ถูกปรับแต่งออกแบบใหม่ในลักษณะคอร์ตยาร์ดที่มีเพดานสูงโปร่งแบบดับเบิลวอลุ่ม พร้อมปลูกต้นลำดวน ให้กลายเป็นมุมสังสรรค์พื้นที่สีเขียวภายในอาคาร
ถัดจากห้องโถงจะเป็นห้องประชุมบนที่มาพร้อมฟังก์ชันแบ่งเป็นสองห้องย่อยหรือควบรวมเป็นหนึ่งห้องใหญ่ ที่มีลักษณะแปลกไปจากห้องประชุมทั่วไป เพราะได้แนวคิดจากการนำวัสดุในพื้นที่มาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะเก้าอี้ที่ได้วัสดุจากโรงน้ำแข็งที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ
ภายในห้องประชุมมีโล่ที่ได้จากการประกวดรางวัลต่างๆ ที่ทาง Creative Crews เคยได้รับ
2019 – INSIDE Awards, Health & Education – Winner
2020 – DEmark Awards, Interior Design – Winner
2020 – Good Design Award – Winner
2020 – Design that Educates Awards – Honorable mention
พื้นที่การเรียนรู้ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา ในพระราชูปถัมภ์
เป็นอีกผลงานที่ Creative Crews ได้ใช้ความสามารถในการออกแบบมาสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นในระดับที่แตกต่างกัน อันเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อการออกแบบพื้นที่เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง ทั้งหลักสูตรพรีเบรลล์ ที่เน้นให้เด็กๆ ได้เรียนรู้พื้นฐานสำคัญที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในอนาคต มีกำแพงรูที่แสงสามารถส่องผ่านเข้ามาได้ สำหรับเด็กที่มองเห็นเลือนราง ให้เด็กได้สัมผัส เริ่มตั้งแต่รูปทรงพื้นฐาน ความแตกต่างของขนาด ผิวสัมผัส และน้ำหนัก ไปจนถึงรูปร่างที่ซับซ้อนขึ้น เช่น สัตว์ต่างๆ มีแคปซูลของกลิ่นต่างๆ ที่เด็กๆ ควรรู้จักไว้เพื่อฝึกระมัดระวังความปลอดภัยของตัวเอง เช่น กลิ่นไฟ ควัน แก๊สรั่ว มีพื้นที่ส่วนการเรียนรู้เสียงของสภาพแวดล้อมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
ตารางผังอักษรเบรลล์ที่ติดไว้บริเวณทางเดินของบันได ที่ใช้ในการศึกษาในการนำมาปรับใช้ในโครงการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา ในพระราชูปถัมภ์
ภายนอกห้องทำงานบริเวณทางเดินจะเป็นส่วนของพื้นที่เก็บวัสดุตัวอย่างจากที่ทาง Creative Crews เคยใช้ในการเสนอลูกค้า
ภาพบรรยากาศการทำงานของเหล่าสถาปนิกของ Creative Crews ที่ต่างคนต่างตั้งใจทำงานอย่างใจจดใจจ่อ ภายใต้ความเงียบที่ไร้เสียงรบกวน
พื้นที่สำหรับรับประทานอาหารของพนักงาน มีระเบียงที่สามารถออกไปยืนพักผ่อนสูดอากาศเป็นอีกมุมที่มองเห็นสภาพแวดล้อมของชุมชนโดยรอบ
ตลอดทางของบันไดจะถูกออกแบบให้มีการใช้ของจากในพื้นที่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นประตูแบบตะแกรงเหล็กที่เราเห็นกันทั่วไป ขณะเดียวกันรายละเอียดของสีทาผนังเดิมที่ทาไว้อย่างไรก็คงไว้อย่างนั้น หรือร่องรอยของการทุบพื้นและผนังบางส่วนก็ปล่อยให้เห็นผิวหยาบกร้านดิบๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของตึกที่เปลี่ยนผ่านกาลเวลา
ทางเข้าคือทางกลับ ประตูทางเข้าและทางออกที่ชั้น 1 หากมองออกไปจะเห็นตึกแถวคูหาลึกสุดในตรอกเล็กๆ คือที่ตั้งของบริษัทครีเอทีฟ ครูส์ จำกัด