ศรัณย์ ทองปาน : รายงาน
(ลงเผยแพร่ในวาระที่ ช้างฮานาโกะล้ม(ตาย) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙)

hanako01

ฮานาโกะเดินทางถึงท่าเรือเมืองโกเบในวันที่ ๒ กันยายน ๒๔๙๒ (ภาพ : Tokyo Zoological Park Society)

hanako02

ฮานาโกะ ในวันคล้ายวันเกิดอายุ 66 ปี (ภาพ : ชินเวศ สารสาส)

“…มีเด็กมาชุมนุมกันเกือบแสนคนเพื่อดูช้าง ช้างตัวเล็กมาก…”

พันโท พระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์ พ.ศ. ๒๔๓๒-๒๕๐๙) เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ช่วง พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗ ภายหลังมีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พระสารสาสน์ฯ ตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปพำนักในประเทศญี่ปุ่น แล้วเลยติดค้างอยู่ที่นั่นตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นเวลาถึง ๑๐ ปี กระทั่งสงครามสงบในปี ๒๔๘๘

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงไม่นานบุตรชายคนหนึ่งของคุณพระคือ ร้อยเอก สมหวัง สารสาส ซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดกับทางญี่ปุ่นเช่นกัน ตั้งใจจะปลอบขวัญเด็ก ๆ ที่ต้องเป็นกำพร้าจากสงคราม จึงซื้อลูกช้างพังเชือกหนึ่งส่งไปให้แก่สวนสัตว์อุเอะโนะ กรุงโตเกียว เมื่อปี ๒๔๙๒

คุณสมหวังเล่าเหตุการณ์ในพิธีส่งมอบช้างไว้ในหนังสือ ธรณีสีเหลือง ว่า

“…ข้าพเจ้าก็แปลกใจมากที่วันนั้นมีเด็กมาชุมนุมกันเกือบแสนคนเพื่อดูช้าง ช้างตัวเล็กมาก…ญี่ปุ่นตั้งชื่อช้างว่า Hanako ซึ่งแปลว่าดอกไม้ทอง…”

ก่อนหน้านั้นที่สวนสัตว์อุเอะโนะเคยมีช้างจากเมืองไทยเลี้ยงไว้มาก่อน แต่ล้ม (ตาย) ไปด้วยความอดอยากระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ช้างเชือกนั้นชื่อ “ฮานาโกะ” เป็นที่รักของเด็ก ๆ ชาวญี่ปุ่นอย่างยิ่ง ดังนั้นลูกช้างตัวน้อยจากเมืองไทยที่เดินทางไปถึงญี่ปุ่นเป็นเชือกแรกหลังสงครามโลกจึงได้รับการลงมติให้ใช้ชื่อเดียวกัน

ไม่มีหลักฐานประวัติเดิมของลูกช้างพังเชือกนี้ ทราบเพียงว่าชื่อพังคชา อายุ ๒ ปี ทางญี่ปุ่นจึงถือเอาว่าช้างเกิดเมื่อ ๒ ปีก่อนหน้านั้น คือในปี ๒๔๙๐ ส่วนวันเกิดสมมุติให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม ดังนั้นเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมาจึงเป็นวันคล้ายวันเกิดอายุ ๖๖ ปีของฮานาโกะ

ถ้าเป็นคนอายุขนาดนี้ต้องถือว่าเป็นคุณยาย หรืออย่างน้อย ๆ ก็รุ่นคุณป้าแล้ว

จากสวนสัตว์อุเอะโนะในช่วงแรกคุณป้าฮานาโกะได้รับการเคลื่อนย้ายไปเลี้ยงไว้ที่สวนสัตว์อิโนะกะชิระ (Inokashira Park Zoo) เมืองมุซะชิโนะทางตะวันตกของกรุงโตเกียว ตั้งแต่ปี ๒๔๙๗ ซึ่งที่นั่นก็ยังเป็นบ้านของคุณป้าจนถึงบัดนี้ ช้างพังเชือกนี้เป็น “เพื่อน” ของคนญี่ปุ่นมาสามชั่วอายุคน เป็นที่รู้จักและรักใคร่ของชาวญี่ปุ่นนับล้าน ๆ บัดนี้ฮานาโกะคือช้างเอเชียที่อายุยืนที่สุดในประเทศญี่ปุ่น

hanako03

ร้อยเอกสมหวัง สารสาส กับ ฮานาโกะ (ภาพ : ครอบครัวสารสาส)

hanako04

เค้กวันเกิดของ ฮานาโกะ (ภาพ : ชินเวศ สารสาส)

งานวันเกิดอายุ ๖๖ ปีของฮานาโกะจัดขึ้นอย่างอบอุ่น ณ สวนสัตว์อิโนะกะชิระ เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๖ ท่ามกลางประชาชนราว ๘๐๐ คนที่มาร่วมพิธี แขกผู้มีเกียรติที่ได้รับเชิญเข้าร่วมงานมีอาทิ นายกเทศมนตรีเมืองมุซะชิโนะ อุปทูตไทยประจำกรุงโตเกียว รวมถึงสมาชิกครอบครัวสารสาส ทุกคนร่วมกล่าวคำอวยพรให้ช้างฮานาโกะมีอายุยืนยาว ส่วนเจ้าของวันเกิดได้รับเค้กวันเกิดที่ทำจากขนมปัง มันเทศ หัวแครอต และสตรอว์เบอร์รี

ในระยะหลังฮานาโกะแทบไม่มีฟันเหลือแล้ว อาหารประจำวันจึงมีแต่ของอ่อน ๆ ชิ้นเล็ก ๆ เช่น กล้วยปอกเปลือกและผักที่หั่นเป็นชิ้น แต่ก็กินได้คราวละไม่มากนัก ส่วนน้ำดื่มจะต้องผสมทั้งเกลือ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง และสมุนไพร บางวันผู้ดูแลต้องให้กินไวน์เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต

ช้างชราก็คงไม่ต่างจากคนสูงอายุนัก ตามรายงานข่าวกล่าวว่า ฮานาโกะมีปัญหานอนไม่หลับ อารมณ์หงุดหงิด สายตาและการได้ยินเสื่อมถอยลง ผู้ดูแลต้องหมั่นทาน้ำมันมะกอกตามปลายหาง ปลายเท้า และเล็บ เพื่อไม่ให้ผิวแห้งเกินไป

ดร. ชินเวศ สารสาส บุตรชายของคุณสมหวัง ซึ่งได้รับเชิญไปร่วมงานวันเกิดอายุ ๖๖ ปีของฮานาโกะ เล่าให้ฟังว่า เรื่องของฮานาโกะเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนในญี่ปุ่นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง อาซาฮีชิมบุน หรือสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ทั้งเอ็นเอชเค ฟูจิ และทีวีโตเกียว แต่ในความรู้สึกของคนไทยแล้ว

“เขา (ฮานาโกะ) เหงานะ…วันที่ผมไปถึง เขารู้นะว่ามีคนไทยไปเยี่ยม เขาเดินไปสั่นกระดิ่ง (ต้อนรับ) เอง”

บางคนยืนยันว่า หากลองถามชาวญี่ปุ่นในเมืองไทยว่ารู้จักช้างฮานาโกะไหม แทบทุกคนจะพูดถึงอย่างสนิทสนม แต่สำหรับคนไทยด้วยกันดูเหมือนจะมีผู้รับรู้เรื่องนี้ในวงจำกัด ดร. ชินเวศถึงกับเปรียบเทียบว่า ฮานาโกะเป็นเสมือน “ทูตวัฒนธรรมที่เมืองไทยไม่เคยเหลียวแล” ขณะเดียวกัน ดร. ชินเวศก็ตระหนักดีว่าวันเวลาของคุณป้าเหลือน้อยลงทุกขณะ ความมุ่งหวังอย่างหนึ่งในฐานะทายาทของร้อยเอก สมหวัง สารสาส ผู้มอบช้างฮานาโกะเป็นของขวัญสำหรับเด็ก ๆ ญี่ปุ่นเมื่อกว่า ๖๐ ปีก่อนก็คือ

หากวันใดที่ฮานาโกะไม่อยู่แล้ว เขาต้องการจะสืบทอดภารกิจของบิดาโดยจัดหาลูกช้างเชือกใหม่ไปมอบให้อีกครั้ง ทว่าเรื่องนี้ก็คงต้องฝ่าด่านเงื่อนไขเรื่องข้อกฎหมายกันอีกไม่น้อยในวันที่รัฐบาลไทยรีบขอยืดอายุสัญญาให้หมีแพนด้าจากเมืองจีนได้อยู่ต่ออีก ๑๐ ปีแลกกับเงินก้อนใหญ่ ห่างออกไปหลายพันกิโลเมตร ณ สวนสัตว์อิโนะกะชิระ คุณป้าฮานาโกะยังทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรีให้แก่คนไทยและเมืองไทยอยู่อย่างเงียบ ๆ ตามลำพัง เช่นที่เคยเป็นมากว่า ๖๐ ปี

ขอขอบคุณ

  • ดร. ชินเวศ สารสาส คุณทวี โฆษิตจิรนันท์ คุณพันชนะ วัฒนเสถียร คุณชื่นกมล ศรีสมโภชน์ และคุณนิธาน ชัยเนตร Special Thanks to Tokyo Zoological Park Society

อ้างอิง

  • วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. บุคคลในตำนานสังคมไทย. กรุงเทพฯ : แสงดาว, ๒๕๔๙.
  • สมหวัง สารสาส. ธรณีสีเหลือง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เอกลักษณ์ดีไซน์, มปป.
  • “Nation’s oldest Asian elephant set to turn 65” ข่าวฮานาโกะจากเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ Japan Times วันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๒๐๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕)