เรื่อง : พราวพิศุทธิ์ เตียงพลกรัง
ภาพ : ณัฐกิตติ์ มีสกุล
ฅ ฅน ขึงขัง ช ช้างจึงต้องวิ่งหนี?
อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะสำหรับชาวกูยหรือส่วย ช้างเปรียบเสมือนคนในครอบครัว จะตีหรือดุเขาก็ต้องมีเหตุผลว่าเขาทำผิดจริง ตามที่ ลุน ศาลางาม กล่าวว่า
“คนเลี้ยงช้างกับช้างนี่ผูกพันกันเหมือนพ่อแม่กับลูก เชือกไหนอายุเยอะก็รู้สึกเหมือนเป็นพ่อแม่”
คนเลี้ยงช้างที่นี่ไม่ได้เพียงเลี้ยงช้างไว้เพื่อหารายได้เท่านั้น ช้างเหมือนคนในครอบครัวไม่ใช่เรื่องเกินจริง หัวหน้าครอบครัวส่วนมากใช้เวลาดูแลช้างมากกว่าดูแลลูกเมียของตนจากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่
“โอ๊ย ลืมตามาก็เห็นช้างแล้ว” ลุน ศาลางาม ตอบคำถามที่ว่าใช้ชีวิตอยู่กับช้างมานานเท่าไร
คนบ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ที่เป็นชาวกูยส่วนใหญ่เกิดมาปู่ย่าตาทวดก็เป็นคนเลี้ยงช้าง พอรู้ภาษาก็เริ่มขี่ช้าง ลำบากหรือสบายก็อยู่ด้วยกัน ถ้ามีงานก็ไปรับจ้างพอมีรายได้ก็เอามาจุนเจือครอบครัว
ในอดีตกูย กวย หรือส่วย เป็นกลุ่มคนที่เลี้ยงช้างมาตั้งแต่โบราณ ถิ่นฐานมาจากทางใต้ของลาวแถบจำปาสักและสาละวัน เมื่อย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ไทย ยึดอาชีพทำนาและจับช้างเพื่อใช้เป็นช้างศึก
ปัจจุบันชาวกูยยังคงเลี้ยงช้างต่อไป แต่ไม่มีการจับช้างจากป่าแล้ว การเลี้ยงช้างไม่ใช่เพื่อลากจูง แต่เลี้ยงไว้เหมือนคนในครอบครัว เพราะชาวกูยมีความเชื่อว่าการใช้งานช้างหนักเป็นบาป
ในยุคหนึ่งที่เกิดปัญหาช้างเร่ร่อนขึ้น ทางรัฐได้มีการจัดตั้งโครงการนำช้างกลับบ้าน จะจัดสรรเงินเดือนให้ช้างแต่ละเชือก โดยช้างจะมีงานแสดงโชว์ที่ศูนย์คชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ เพื่อให้ควาญและช้างได้กลับบ้านเกิด ไม่ต้องเดินเร่ร่อนในเมืองที่มีแต่ป่าคอนกรีต
กลับรัง (ของ)ควาญ
หลังจากที่นำช้างกลับบ้าน เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของหมู่บ้านช้าง มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามายังตำบลเป็นจำนวนมาก หลายบ้านสร้างบ้านให้ช้างใหม่ มีการมุงหลังคาอย่างดี หลายบ้านสามารถส่งลูกๆ เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้โดยไม่ลำบาก
ส่วนที่เหลือเป็นช้างที่ออกไปเที่ยว ก็คือการที่ควาญนำช้างใส่รถบรรทุกออกไปเดินเป็นช้างแท็กซี่หรือไปโชว์ช้าง เพื่อบริการนักท่องเที่ยวอยู่ตามต่างจังหวัดและปางช้างทั่วประเทศ ถ้ารายได้ดีควาญก็จะยังไม่กลับบ้าน
แต่เมื่อประสบปัญหาโรคระบาดอย่างโควิด-19 การปิดประเทศเป็นเหมือนการปิดเครื่องช่วยหายใจของทั้งหมู่บ้าน คนที่อยู่ต่างจังหวัด บริษัท หรือปางต่างๆ ถูกเลิกจ้าง เกิดปัญหาช้างตกงาน จึงต้องนำช้างกลับถิ่นเดิมคือสุรินทร์
เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจมาถึง นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของชาวช้าง เนื่องจากปัญหาช้างตกงานและนักท่องเที่ยวที่ลดลงเพราะปิดประเทศ แต่ก็มีบางครอบครัวที่ยังดำเนินอาชีพเลี้ยงช้างต่อไปได้ อย่างเช่น วรัญญู เหมือนรัตน์ เจ้าของช้าง
ตอนนี้เขามีช้างที่ตกงานและช้างมีเงินเดือนอยู่อย่างละครึ่ง เขาได้นำเงินเดือนของช้างที่คชอาณาจักรมาซื้ออาหารให้แก่ตัวที่เหลือ ที่พอเอาตัวรอดได้ในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ส่วนหนึ่งเพราะเขานำช้างกลับบ้านตั้งแต่ปี 2560 ก่อนเกิดโรคระบาด ทำให้มีการเตรียมตัวที่พร้อมทั้งที่อยู่อาศัย และมีการขายของที่ระลึก เช่น แหวนหางช้าง พระพิฆเนศงาช้าง ก็เป็นรายได้ทางหนึ่งของครอบครัว
“มีอะไรที่อยากเปลี่ยนแปลงอีกไหม อย่างเช่นการปรับตัวกับอนาคต” ฉันถาม ก่อนที่เขาจะตอบว่า
“เรื่องของช้างความเป็นจริงไม่ต้องปรับตัวกับอนาคตนะครับ ไม่มีอะไรให้ปรับตัว แต่เราจะสื่อสารกับคนภายนอกให้รับรู้ได้อย่างไรแค่นั้นเอง”
รายได้เสริมที่แทบจะมาแทนรายได้หลักก็คือการทำอาชีพยูทูบเบอร์ ไม่ใช่แค่บ้านของวรัญญู แทบทั้งหมู่บ้านจะมีช่องช้างในเว็บไซต์ยูทูบให้คนที่ชื่นชอบช้างได้ติดตาม และสามารถติดต่อบริจาคช่วยค่าอาหารช้างได้อีก
นอกจากครอบครัวที่ไปต่อได้แล้ว ยังมีช้างอีกจำนวน 296 เชือกที่กำลังรับมือกับความลำบากในแต่ละวัน และภาระตกอยู่ที่ควาญว่าจะสามารถหาอาหารให้ช้างและจุนเจือครอบครัวได้เพียงพอหรือไม่
บุญญารัตน์ ศาลางาม ควาญที่มีช้างตกงานในครอบครองถึงสามเชือก นอกจากข้าวที่ต้องการวันละสามมื้อ ยังมีหญ้าเนเปียร์ที่เป็นอาหารของช้างที่ต้องการวันละหนึ่งคันรถ ด้วยวิกฤตที่ถูกเลิกจ้างกะทันหัน จากวันนั้นก็ตกงานมาเกือบขวบปี ความลำบากเกิดขึ้นในทุกๆ วัน ด้วยความรักและผูกพันกับช้างทำให้เธอไม่สามารถขายช้างเพื่อความอยู่รอดได้ เธอยังคงมีความหวังว่าจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้จากการช่วยเหลือของรัฐ
ภาวะชะงัก
“พี่เห็นคนเลี้ยงช้างประกาศขายช้างเต็มเลย”สิวาวุธ หมื่นแสน อุปนายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย พูดกับนักเรียนค่ายสารคดีโดยใช้คำแทนตัวว่าพี่ ซึ่งก็หมายถึงอายุอานามและประสบการณ์เกี่ยวกับช้างที่มากกว่าผู้สัมภาษณ์ จากประโยคข้างต้น มีชาวช้างประกาศขายช้างจริง
บ้างขายเพราะไม่มีคนเลี้ยง ลูกหันไปทำอย่างอื่น งานลากไม้ก็ไม่มีอีกแล้ว ช้างมีคุณค่าสำหรับเขา แต่เมื่อมันถึงเวลาที่ช้างไม่ได้สร้างมูลค่าให้เขาเลย เขาจึงต้องขายช้างไปทำงานอย่างอื่น ยิ่งไม่มีเวลาดูแล เขายิ่งไม่สามารถหากินกับช้างที่เขารักได้
“ในปัจจุบันถ้าคนไม่มีเงินมันอยู่ไม่ได้” พี่สิวาวุธพูดต่อ
ใครในโลกทุนนิยมฟังก็เถียงไม่ออก ทุกสิ่งต้องใช้เงิน แค่มีใจรักช้างมันไม่เพียงพอสำหรับการทำมาหากินของชาวกูย ถามถึงการแก้ปัญหาในอนาคตกับพี่สิวาวุธ ได้คำตอบว่า
“ยุทธศาสตร์ช้างอีก 20 ปีข้างหน้าต่อไป ไม่มีใครตอบได้ แต่อีกหน่อยช้างคงไม่ได้อยู่บ้านแบบสุรินทร์ อีกไม่นานมันอาจจะหายไปแน่นอน”
เป็นอีกประโยคที่ใครฟังก็พยักหน้าตามหงึกๆ เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครตอบได้จริงๆ ช้างที่เคยอยู่สุขสบายอาจจะกลับมาเร่ร่อนอีกครั้ง หากรัฐบาลไม่สนับสนุน
“ถ้าเจ้าของช้างไม่มีรายได้ อีกหน่อยคงไม่มีทางเลือก อาจจะเอาช้างไปบริจาคหากช้างกลายเป็นภาระของคนเลี้ยง” เขาเดาอนาคตต่อ
อย่างบุญญารัตน์ ศาลางาม ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าการตกที่นั่งลำบากของคนเลี้ยงทำให้ช้างกับคนอยู่ด้วยกันได้ยากขึ้นหากช้างไม่ทำรายได้ให้ควาญ
มีคุณค่าหรือเป็นภาระ
ในวันที่ช้างไทยหมดมูลค่าจากการปิดประเทศ และคนในประเทศไม่สามารถสนับสนุนอาชีพคนเลี้ยงช้างต่อไปได้ คำถามคือ
“ถ้าในอนาคตช้างเหลือเพียงแค่คุณค่า แต่ไม่มีมูลค่าแล้ว การเลี้ยงดูช้างจะเป็นไปในทิศทางไหน”
“ถ้าอาชีพคนเลี้ยงช้างอยู่ดีกินดี ก็จะมีคนเลี้ยงช้างต่อไป” พี่สิวาวุธตอบกลับสั้นๆ และพูดต่อว่า
“อนาคตอยู่ที่ว่าปัจจุบันจะเอาช้างไปไว้ตรงไหน มองเห็นคุณค่าของช้างอย่างไร เราจะทำอย่างไรให้ไม่เหมือนอดีต ก่อนโควิดคนเลี้ยงช้างมีความสุขกันมาก แต่มันจะกลับไปกิจวัตรเดิมหรือเปล่า คนจะกลับเอาช้างไปเดินเร่ร่อนหรือเปล่า” นี่คือสิ่งที่ชาวช้างกังวล
หลังจากลงพื้นที่ไปยังบ้านตากลางก็สัมผัสได้ถึงความเหนียวแน่นของคนในชุมชน เหงื่อที่ไหลเข้าไปในตาแต่ก็ยังยิ้มได้ อาจเป็นเพราะได้ดูแลช้างที่เขารักเหมือนลูก
ช้างเป็นสัตว์ที่มีจิตวิญญาณ แต่ละเชือกมีบุคลิกต่างกันไปตามที่ควาญเลี้ยง บ้างดุร้าย บ้างขี้เล่น แต่ควาญย้ำเสมอว่าช้างเป็นสัตว์อันตราย การล่ามโซ่มันจำเป็นต้องล่ามเพื่อความปลอดภัยของทุกคนและตัวช้างเอง การล่ามโซ่ การใช้ตะขอ ไม่ได้ทำให้คุณค่าของช้างลดลง หากแต่การไม่สนใจความเป็นอยู่ของช้างต่างหากที่ทำให้คุณค่าของช้างลดลงจนกลายเป็นภาระของคนเลี้ยง
“ถ้าปัจจุบันเราไม่ได้วางแผนไว้ ก็จงรู้ไว้เลยว่าช้างมันจะไม่มีมูลค่าและคุณค่า เพราะคนไทยไม่เห็นคุณค่าของช้างไทย ถ้าปัจจุบันมันยังเป็นแบบนี้อยู่นะ มันอยู่ที่ปัจจุบันนี่แหละ มันไม่ได้อยู่ที่อนาคตหรอก” สิวาวุธ หมื่นแสน พูดทิ้งท้ายก่อนการสัมภาษณ์จะจบลง
สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับคนไทยแล้วว่า จะกำหนดให้ช้างไทยเป็นสิ่งที่มีคุณค่าหรือเป็นภาระกับควาญ