ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

Austria /freeplastic ข้อสงสัยของเด็กน้อยกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้คุณแม่เริ่มคิดอย่างจริงจังว่าขยะพลาสติกที่เห็นเกลื่อนอยู่นั้นส่งผลกระทบอย่างไรต่อโลก

หลังซันดราและครอบครัวเดินทางกลับถึงออสเตรีย เธอดูสารคดีเรื่อง “โลกพลาสติก” (Plastic Planet) แล้วก็รู้ว่าพลาสติกที่ผลิตขึ้นจากปิโตรเลียมนั้นมีพิษอย่างไร  พวกมันใช้เวลาย่อยสลายนานหลายร้อยปี และส่งผลกระทบต่อผืนดิน แหล่งน้ำ เกิดสารก่อมะเร็งขึ้นในกระบวนการผลิต  ทุกวันนี้มนุษย์ผลิตพลาสติกเป็นจำนวน ๒๔๐ ล้านตันต่อปี และตัวเธอเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเมื่อยังซื้อหาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพลาสติกมาใช้

ครอบครัวนักกายภาพบำบัดอายุ ๔๐ ปีจึงเริ่มทดลองใช้ชีวิตเรียบง่ายที่ไร้พลาสติก  จากความตั้งใจทดลองช่วงสั้นๆ สัก ๑ เดือน ที่สุดกลายเป็นวิถีชีวิตในอีกหลายปีถัดมา  เธอเริ่มจากการขนพลาสติกในบ้านทั้งหมดออกไปกองนอกบ้าน แล้วหาของอื่นมาแทนที่ เช่น แปรงสีฟันที่ด้ามจับทำจากไม้ กล่องนมโลหะ กล่องอาหารทำจากวัสดุโลหะ กระดาษ หรือแก้ว  ทุกคนในครอบครัวล้วนยอมรับว่านี่เป็นการกระทำอันสุดโต่ง เพราะแม้แต่กระดาษชำระก็ยังมีหีบห่อทำจากพลาสติก  เริ่มแรกลูกๆ ของเธอแนะนำให้ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ แต่ก็ค่อนข้างมีปัญหา ลองเปลี่ยนมาใช้ใบไม้ก็เช่นกัน สุดท้ายพวกเขาเลือกใช้กระดาษเช็ดมือรีไซเคิลแผ่นใหญ่แบบที่ตามโรงแรมและภัตตาคารใช้กัน

“บางคนคิดว่าพวกเรากำลังจะกลับไปอยู่ยุคหิน แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราเพียงแต่กลับไปหาชีวิตที่เรียบง่าย เงียบ และสะดวกสบาย” คุณแม่ลูกสามเล่า

ซันดราพบว่าในยุคที่อะไรๆ ก็ผลิตขึ้นจากพลาสติก เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะอยู่โดยไร้พลาสติกอย่างแท้จริง เพราะแม้แต่วัสดุทำจากโลหะหรือแก้วก็ยังมีพลาสติกปะปนอยู่บ้าง แต่สิ่งที่เธอและครอบครัวได้ซึมซับจนติดเป็นนิสัยคือการใช้พลาสติกเท่าที่จำเป็น และคิดให้มากก่อนควักกระเป๋าซื้อของ

ทุกวันนี้ครอบครัวเคราท์วาชล์ยังใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออุปกรณ์อย่างหมวกกันน็อกที่มีส่วนผสมของพลาสติก แต่พยายามเดินทางด้วยรถยนต์พร้อมกับเพื่อนบ้าน และใช้สินค้ามือสองมากขึ้น