เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

โรคของหมา แมว และคน คล้ายกันเข้าไปทุกทีไม่ว่าจะโรคเล็ก ๆ อย่างท้องเสีย ไข้ลมแดด ลมชัก หวัด ภูมิแพ้ หรือโรคที่มีความเสี่ยงอย่างเชื้อราที่ผิวหนัง พยาธิในเม็ดเลือด ไข้หัด ปอดบวม เนื้องอกในอวัยวะเพศ มดลูกอักเสบ นิ่ว กล้ามเนื้อหลังอักเสบหมอนรองกระดูกเสื่อม ข้อสะโพกเสื่อม เบาหวาน ต้อกระจก โรคแท้งติดต่อ (หมา) จนถึงร้ายแรงอย่างโรคหัวใจ ลำไส้อักเสบ ตับอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ ไตวายเรื้อรังและเฉียบพลัน มะเร็ง เอดส์ (แมว) ฯลฯ

ทำให้ต้องมี “คลินิกพิเศษ” ที่รักษาโดยสัตวแพทย์ “เฉพาะทาง”

นี่ถ้าใช้สิทธิ์บัตรทองได้ด้วย เจ๋งเลย

ในคน “คลินิกพิเศษ” อาจหมายถึงคลินิกอายุรกรรมตามโรงพยาบาลที่ “ตรวจโรคทั่วไป” และให้บริการ “นอกเวลาราชการ” ผู้ป่วยจะเสียค่าใช้จ่ายแพงกว่าที่ตรวจในเวลาราชการ

แต่ในสัตว์หมายถึงแผนกอื่นที่รักษาลึกกว่าอายุรกรรม ให้บริการทั้ง “ในและนอกเวลาราชการ” โดยสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ “เฉพาะโรค”  บางครั้งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีราคาสูงตรวจวินิจฉัย หรืออาจต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด เวชศาสตร์ฟื้นฟู ฝังเข็ม ธาราบำบัด ฯลฯ ร่วมกับฉีดยาหรือกินยา  ค่าใช้จ่ายที่แพง (แม้จะรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ของคณะสัตวแพทย์ในมหาวิทยาลัยรัฐบาล) จึงไม่ใช่เพราะรักษานอกเวลาเหมือนคน

มาโรงพยาบาลสัตว์หลายครั้ง ไม่เคยรู้สึกว่ากว้างจนเดินไม่ทั่วเท่าวันที่ต้องเก็บข้อมูลกลับไปเขียน

เมื่อต้องเขียนก็ยังลังเลว่าจะเริ่มต้นตรงไหนก่อน เพราะตรงไหน ๆ ก็ดู “พิเศษ” ไปหมด

เป็นเรื่องราวที่คนทั่วไปอาจไม่ได้เห็นบ่อยนัก บางคนเพิ่งรู้ด้วยซ้ำว่ามี

อยากเล่าให้ครบ แต่พื้นที่จำกัด จัดให้ได้แค่พอหอมปากหอมคอ
petclinic01


เสียดายที่ตัวเองไม่เคยอุ้มท้อง

จึงไม่ชัดเจนเรื่องความรู้สึกของคนที่อุ้มแม่หมามาอัลตราซาวด์ เพื่อขอดูความเคลื่อนไหวและฟังเสียงหัวใจเล็ก ๆ ของตัวอ่อนที่เต้นตึกตัก…ตึกตัก…อยู่ในท้องนั้น

ทีแรกคิดว่าคนที่น่าจะพาสัตว์เลี้ยงมาอัลตราซาวด์คงเป็นเจ้าของฟาร์มที่เพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยงขาย พอรู้เพศรู้จำนวนแล้วจะได้เปิดจอง  แต่สัตวแพทย์ยืนยันว่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ที่พามาคือผู้เลี้ยงที่รักสัตว์ของเขามากจริง ๆ

“สมัยก่อนความนิยมเรื่องการเลี้ยงหมาสายพันธุ์ต่างประเทศที่มีราคาแพงและคลอดยากมีไม่มาก แถมพฤติกรรมเจ้าของสัตว์สมัยนี้ยังเลี้ยงเหมือนลูก อัลตราซาวด์จึงจำเป็น ครรภ์แค่ ๒๘ วันก็รู้ผลแล้ว มันบ่งชี้ได้ว่าท้องจริงไหม ผนังเชิงกรานมดลูกของแม่ปรกติหรือเปล่า หัวใจของลูกหมาเต้นอย่างไร ดวงตา สมอง ขาอยู่ครบไหม ลูกหมามีกี่ตัว เพศอะไรบ้าง แล้วยังช่วยให้คำนวณวันคลอดได้แม่นยำขึ้น”

สัตวแพทย์หญิงอาจารีย์ หมู่ผึ้ง ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติกรรม คลินิกระบบสืบพันธุ์และภาวะมีลูกยาก อธิบายให้เข้าใจว่า การอัลตราซาวด์ไม่ใช่แค่จะได้รู้ว่าชีวิตเล็ก ๆ ที่อยู่ในท้องมีรูปลักษณะอย่างไร แต่ยังมีประโยชน์ในการตรวจหาโรคและคัดกรองลูกสัตว์ที่ผิดปรกติ เพื่อให้แม่หมาปลอดภัยมากที่สุดและให้ลูกหมาลืมตาดูโลกได้อย่างสมบูรณ์

ขณะเครื่องอัลตราซาวด์เริ่มทำงาน คลื่นเสียงความถี่สูงจะส่งผ่านผนังหน้าท้องสู่ภายในช่องท้อง เมื่อคลื่นเสียงกระทบอวัยวะที่มีความหนาแน่นแตกต่างกันจะสะท้อนกลับมายังเครื่องอัลตราซาวด์ แปลงเป็นสัญญาณภาพปรากฏบนจอมอนิเตอร์ให้เราเห็นชีวิตน้อย ๆ ของตัวอ่อนตรงปีกมดลูกของแม่หมา (ตัวอ่อนลูกหมาจะฝังตัวที่ปีกมดลูกทั้งสองข้าง ไม่ใช่ที่ตัวมดลูกอย่างในคน ทำให้ลูกหมามีพื้นที่อยู่รวมกันได้หลายตัว) แล้วอวัยวะสำคัญอย่างกระเพาะปัสสาวะ กระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง เส้นเลือด จะปรากฏตามมา

นั่นยังไม่น่าตื่นเต้นเท่ากับเมื่อได้ยินเสียงจังหวะ “ตึกตัก…ตึกตัก…” ของแต่ละหัวใจ

หรือเอาเข้าจริง เสียงหัวใจลูกสัตว์ทุกดวงรวมกันอาจดังน้อยกว่าเสียงจังหวะอันลุ้นระทึกจากหัวใจเจ้าของดวงเดียว

แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากแม่หมาท้องได้ ๔๕ วันขึ้นไปแล้วกลับพบว่า ความหวังจะได้อุ้มลูกหมาต้องสลาย เพราะแม่หมาเป็น “โรคแท้งติดต่อ”

อย่าคิดว่าเรื่องสัตว์แท้งเป็นเรื่องธรรมชาติเชียว ยิ่งถ้าเราดูแลแม่หมาเป็นอย่างดี ไม่ได้ถูกกระแทกรุนแรงจนเป็นเหตุให้แท้งแต่กลับแท้งในช่วงท้องแก่ แสดงว่าผิดธรรมชาติชัวร์

โรคนี้เกิดจากเชื้อบรูเซลลา เคนิส (Brucella canis) ซึ่งพบในวัว หมู แพะ และแกะ แต่ไม่เกิดกับแมว  แม่หมาที่เป็นโรคนี้มักพบใน ๘ สายพันธุ์ ได้แก่ เซนต์เบอร์นาร์ด, ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์, โกลเดนรีทรีฟเวอร์, ดัลเมเชียน, บาสเซตฮาวนด์, พิตบูลเทอร์เรียร์, ชิห์สุ และพูเดิล  แม่หมาบางตัวอาจแท้งทั้งครอกหรือแท้งบางตัวในคราวแรก แต่พอครบกำหนดคลอดตัวที่เหลือรอดก็จะตายในสัปดาห์แรกหรือก่อนหย่านม

เจ้าของที่พาสัตว์เลี้ยงมาตรวจอัลตราซาวด์ล้วนคาดหวังการรอดชีวิตค่อนข้างสูง ไม่ใช่ลูกก็เหมือนใช่ เจอสถานการณ์นี้เข้าไปจุกอกทุกคน

อันตรายของโรคนี้ไม่ใช่แค่หมาตัวเมียที่เคยแท้งแล้วจะแท้งอีกเท่านั้น หมาตัวผู้ก็เป็นและส่งผลถึงอัณฑะ ทั้งยังติดตัวอื่นได้จากการกินเนื้อเยื่อลูกหมาที่แท้ง เลียรกหรือน้ำคร่ำที่ออกมาหลังการแท้ง หรือผสมพันธุ์กับตัวอื่น  ส่วนเจ้าของก็อาจติดต่อจากการสัมผัสน้ำลายหรือน้ำมูกของหมาที่ติดเชื้อได้เช่นกัน

โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันทั้งคนและหมา ถ้าติดสู่คนโดยเฉพาะผู้หญิงตั้งครรภ์อาจเสี่ยงต่อการแท้งลูก แต่ก็ยังพอมียาปฏิชีวนะช่วยรักษา ทว่าหมายังไม่มียาใด ๆ รักษาได้

วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือเจ้าของต้องเอาใจใส่ดูแลหมาตัวเอง ถ้าหมาเรายังไม่เป็นก็อย่าปล่อยให้คลุกคลีกับหมาอื่นที่ไม่รู้ประวัติ อย่าให้กินเนื้อหรือเครื่องในสัตว์ดิบ ๆ  ส่วนหมาที่ติดเชื้อแล้วก็ควรทำหมันและดูแลให้ห่างจากตัวอื่น  ถ้าจะซื้อตัวใหม่มาเลี้ยงก็ต้องแน่ใจว่าปลอดภัยจากโรคนี้

อาการแท้งติดต่อจัดอยู่ในโรคระบาด แต่ไม่ได้เกิดกับหมาทุกตัว หากเจ้าของใส่ใจดูแลอย่างใกล้ชิด

แม่หมา แม่แมว บางตัวแม้ไม่ได้เป็นโรคแต่ก็อาจมีปัญหาคลอดยากไม่ต่างจากคน

เมื่อรู้กำหนดใกล้คลอดสัก ๒-๓ วัน จึงมีเจ้าของนำมาฝากให้สัตวแพทย์ดูแล

“เครื่องมือช่วยทำคลอดสัตว์จริง ๆ ไม่มีอะไรมาก สำคัญที่ขั้นตอนปฏิบัติมากกว่า  หมอจะสังเกตว่าสัตว์เริ่มมีถุงน้ำคร่ำออกมาหรือยัง ถ้ามีแสดงว่าอีกสักครึ่งชั่วโมงก็จะเริ่มคลอด  สัตว์คลอดทีละครอกต้องระดมทีมสัตวแพทย์มาช่วยกันเพื่อให้ปลอดภัยทุกตัว”

คุณหมออาจารีย์อธิบายลักษณะการคลอดโดยธรรมชาติของสัตว์ว่า จะเอาหัวออกก่อน ตามด้วยขาหน้า หากเกิดเหตุฉุกเฉินสัตวแพทย์จะช่วยดึง  บางครั้งหากแม่สัตว์คลอดลูกหลายตัวจนมดลูกล้า สัตวแพทย์จะให้ยากระตุ้นมดลูกช่วยยืดหยุ่นให้คลอดง่ายขึ้น  หรือหากลูกสัตว์เอาขาหลังออกก่อน หรือมีลูกสัตว์ตัวใดนอนขวางมดลูกอยู่ จึงคลอดออกมาไม่ได้แล้วยังทำให้ตัวอื่นไม่ได้ออกด้วย สัตวแพทย์จะผ่าตัดทำคลอดให้

หลังคลอดเจ้าของก็พากลับบ้านได้  ปรกติแม่สัตว์ทุกตัวจะเรียนรู้วิธีกกลูก เลียลูก กัดรก ให้นมลูกเองอัตโนมัติ อาจมีบ้างที่บางตัวไม่ยอมเลี้ยงลูก

แต่ก่อนจะคิดว่านั่นเป็นปัญหา เจ้าของต้องถามตัวเองก่อนว่า พื้นที่ที่ให้แม่หมาอยู่นั้นสะอาดพอไหม สงบดีหรือยัง มีอาหารพร้อมหรือเปล่า  ถ้าแม่หมาไม่มีความกังวลก็จะทำหน้าที่แม่เองโดยสัญชาตญาณ เว้นแต่ลูกหมาตัวไหนมีร่างกายผิดปรกติค่อยส่งต่อให้สัตวแพทย์ดูแล

“ถ้าลูกสัตว์ที่คลอดออกมาไม่แข็งแรง หรือปากแหว่ง เพดานโหว่ ขาพิการ ไม่มีรูก้น หมอจะดูว่าแม่มีนมให้ลูกไหม ถ้ามีก็ต้องพยายามทำให้ลูกดูดนมแม่ภายใน ๒๔ ชั่วโมงหลังคลอด อย่างน้อยได้ดูดนมน้ำเหลืองสัก ๒ ชั่วโมงก็ยังดี ลูกจะได้มีภูมิต้านทานดีขึ้นแล้วค่อยนำเข้าตู้อบออกซิเจนสัก ๒-๓ วัน”

ตู้อบสัตว์แรกเกิดที่คุณหมออาจารีย์เอ่ยถึงเป็นระบบปลอดเชื้อ ภายในมีอุปกรณ์สำหรับดูแลสัตว์อ่อน เช่น ไฟกกลูกสัตว์กำลัง ๖๐ วัตต์ จะอยู่ห่างจากตัวลูกสัตว์ ๑ ฟุต เพื่อรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้เหมาะสม  เครื่องให้ออกซิเจนแบบจุก ช่วยดูดเสมหะและน้ำจากทางเดินหายใจแก่ลูกสัตว์  ภายใต้การดูแลอย่างนุ่มนวลทว่ารวดเร็วและใกล้ชิดจากสัตวแพทย์ที่ชำนาญการเลี้ยงสัตว์อ่อนโดยเฉพาะ

เหนือตู้อบมีชื่อสัตว์ วันเดือนปีเกิด และชื่อเจ้าของ ไม่ต่างจากในโรงพยาบาลคน

ลูกสัตว์เล็ก ๆ หลายตัวทั้ง หมา แมว กระต่าย นอนหลับพริ้มอยู่ในตู้แคบ ๆ นั้น

ยังไม่รู้สึกรู้สาถึงความรักที่เจ้าของยอมจ่ายเงินเพื่อช่วงชิงลมหายใจอันมีค่ายิ่งของพวกมันไว้

petclinic02
ลูกหมา ลูกแมว ก็เหมือนเด็ก

ถึงเวลาที่ฟันน้ำนมทั้ง ๒๘ ซี่ของลูกหมา และ ๒๖ ซี่ของลูกแมวทยอยงอกขึ้นมา เป็นต้องคันเหงือกคันฟันอยากแทะโต๊ะ กัดรองเท้า กินโน่น เลียนี่ หาวิธีบรรเทาความรำคาญให้ตัวเอง

เจ้าของควรหาขนมขัดฟันมาช่วยนวดเหงือกให้ลูกหมาลูกแมว หรือหาของเล่นขบเคี้ยวที่ไม่แข็งไม่แหลมจนเกินไปมาให้แทะแทนที่จะลงโทษ  เพราะถึงอย่างไรก็ห้ามไม่ให้ซน ไม่ให้แทะ ไม่ได้อยู่ดีจนกว่าจะพ้น ๗ เดือน เมื่อเจ้าหมาน้อยมีฟันแท้ชุดใหม่ครบ ๔๒ ซี่ และเจ้าแมวน้อยมี ๓๐ ซี่ครบ

หมา แมว ก็เป็นฟันคุดได้เหมือนคนนะ

บางตัวปวดมากจนทำร้ายตัวเอง ถูไถใบหน้ากับพื้นแรง ๆ หรือใช้ตีนตะกุยเหงือกเพื่อลดความเจ็บปวด  เจ้าของบางคนเวลาปวดฟันรื้อตู้ยาสามัญประจำบ้านหยิบ “พาราเซตามอล” กินระงับปวด เลยคิดว่าถ้าหมา แมว ปวดก็น่าจะกินได้ด้วย

อย่าเชียว !

หลายตัวเสียชีวิตด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเจ้าของ เพราะยาของหมา แมว คน แม้ส่วนใหญ่จะเหมือนกัน แต่โดสที่ใช้ต่างกันมาก คล้ายกับเมื่อต้องให้เด็กกินยาผู้ใหญ่ หมอจะให้กินปริมาณน้อยกว่าครึ่งหนึ่งตามสัดส่วนน้ำหนักเด็ก  ถ้ากินเกินโดสที่เหมาะสม พิษของยาพาราฯ อาจทำให้การทำงานของตับล้มเหลว

หมายังพอให้กินยาพาราฯ ได้ (๑ เม็ดขนาด ๕๐๐ มิลลิกรัม ใช้รักษาหมาน้ำหนัก ๕๐ กิโลกรัม)

แต่แมวกินแล้วเสี่ยงตาย !

เพราะตับของแมวไม่มีกลไกขับของเสียเหมือนคนหรือหมา ทำให้เกิดพิษ เม็ดเลือดแดงแตก ตัวบวม ฉี่เป็นสีช็อกโกแลต ถ้าหาหมอทันก็มียาแก้ฤทธิ์เพื่อช่วยชีวิต แต่ส่วนใหญ่…ไม่รอด

ต้องไม่ลืมว่า หมา แมว คน มีธรรมชาติร่างกายที่แตกต่าง ถ้าไม่อยากทนเห็นเจ้าสี่ขาปวดฟันคุดควรอุ้มไปให้สัตวแพทย์ดูแลดีที่สุด

หมาทุกช่วงวัยมีปัญหาสุขภาพฟันไม่ต่างจากคน

บางคนมองหมาทีไร เหมือนมองเห็นความผิดของตัวเองที่ไม่พาหมามาหาหมอแต่เนิ่น ๆ

เมื่อถึงเวลาหมาเจ็บป่วยจนต้องขูดหินปูน จัดฟัน ถอนฟัน ใส่ฟันปลอม ฯลฯ และรู้ค่าใช้จ่าย…แทบช็อก

อยากขอร้องให้สัตวแพทย์วางยาสลบตัวเองแทนหมา

“การดูแลรักษาช่องปากและฟันให้สัตว์เลี้ยงในบ้านเรามีมานานแล้ว แต่ยังทำในวงแคบ  กลุ่มที่เคยใช้บริการแล้วกลับมาอีกยิ่งมีน้อยมาก มันเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ ไม่ค่อยมีใครพามาหาหมอเพื่อป้องกัน ส่วนใหญ่มาเพื่อรักษา”

สัตวแพทย์หญิงนุสรา พันธุ์ประภา คลินิกช่องปากและฟัน เล่าว่า โรคยอดนิยมของสัตว์เลี้ยง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ คือโรคเหงือกและฟันอักเสบ เพราะเจ้าของส่วนใหญ่ไม่ได้แปรงฟันให้สัตว์ทุกวันเหมือนที่ดูแลตัวเอง เมื่อมีหินปูน (คราบจุลินทรีย์) เกาะตามขอบฟันก็ทำให้เหงือกรอบฐานฟันระคายเคือง พอปล่อยทิ้งไว้นานก็จะติดเชื้อแบคทีเรียและเกิดหินปูนส่งผลให้เหงือกอักเสบ  บางตัวเป็นต่อมทอนซิล (ต่อมน้ำเหลืองใต้คาง) อักเสบร่วมด้วย

“โรคในช่องปากของสัตว์เกิดได้เร็วกว่าคน  ถ้าเทียบช่วงอายุของคนอยู่ที่ ๖๐-๗๐ ปี หมาหรือแมวก็อยู่ได้แค่ ๑๒-๑๕ ปีเองจึงเริ่มเป็นได้ตั้งแต่อายุ ๓ ปี  แต่ถ้าถามหมออยากให้พามาตรวจตั้งแต่เล็กนะ เจ้าของจะได้เรียนรู้วิธีแปรงฟันตั้งแต่ยังเป็นฟันน้ำนม แล้วยาสีฟันของหมาก็ไม่เหมือนคน ของคนจะมีฟองให้ต้องบ้วนออก แต่หมาบ้วนปากเองไม่เป็น ยาสีฟันจึงต้องไม่มีฟองและฟลูออไรด์ แปรงเสร็จแล้วกลืนได้โดยไม่ส่งผลกระทบกับระบบทางเดินอาหาร ส่วนแปรงสีฟันจะใช้แปรงเด็กก็ได้ แต่แปรงสำหรับหมาก็มี”

คุณหมอนุสราหยิบตัวอย่างแปรงสีฟันสำหรับหมาโดยเฉพาะมาให้เราดู ของหมาตัวใหญ่จะมีด้ามจับยาวกว่าของหมาตัวเล็ก  ร้าน pet shop ในบ้านเราจะมีขายแบบหัวแปรง ๒ ด้าน ๒ ขนาดในด้ามเดียวกัน และแบบสวมนิ้ว ผลิตจากพลาสติกคุณภาพดี ขนแปรงอ่อนนุ่ม กระชับและยืดหยุ่น ช่วยนวดเหงือกขจัดคราบจุลินทรีย์ที่เกาะติดตามฟันได้ดี  คุณหมอแนะนำเพิ่มว่า หากเจ้าของเลี้ยงหมาพันธุ์เล็กอย่างชิวาวา, ยอร์กเชียร์เทอร์เรียร์, ปอมเมอเรเนียน ฯลฯ ควรใช้แปรงมีด้ามยาวมากกว่าแบบสวมนิ้ว เนื่องจากหมามีกระพุ้งแก้มเล็กอาจทำให้เราแปรงได้ไม่ถึงซี่ใน

แม้คนจะแปรงฟันทุกวัน วันละ ๒ เวลา ก็ยังต้องตรวจสุขภาพในช่องปากทุก ๖ เดือน

ประสาอะไรกับสัตว์เลี้ยงที่ไม่ได้แปรงทุกวัน หรือบางตัวอาจไม่เคยแปรงเลยสักวัน

วันที่เรามามีเจ้าของรายหนึ่งพา “ป๊อกกี้” ปอมเมอเรเนียนเพศผู้วัย ๘ ปีมารักษา

“เขากินอาหารเม็ดไม่ได้แล้ว แม่ต้องคอยบี้หมู ต้มไก่ให้เละแล้วป้อน”

ผู้เป็น “แม่” เริ่มต้นเล่าสิ่งที่เกิดกับ “ลูก” ให้เราซึ่งต้องรับบทเป็น “เพื่อนของลูก” ฟัง

“ก่อนหน้านี้เขาเริ่มซึมผิดปรกติ แม่สังเกตเห็นว่าเขายังอยากกินอาหารนะ แต่เวลาเคี้ยวปากจะสั่น เหงือกก็บวม ป้อนอาหารเสร็จแม่จะเอาสำลีชุบน้ำบีบใส่ปากทำความสะอาดให้ เวลาเขาตื่นแม่จะเช็ดปากให้”

คนพูดน้ำตารื้น เสียงเครือ  คนฟังนึกอยากหยิบยาหม่องทาหน้าอกให้มันซึมเข้าไปข้างใน  การปรนนิบัติของแม่คนหนึ่งที่ทำให้ลูกตัวหนึ่งได้ยินแล้วอดห้ามใจไม่ให้ดราม่าลำบากจริง ๆ

“แม่เคยพาไปโรงพยาบาลสัตว์เล็กแห่งหนึ่ง เขาบอกว่าต้องถอนฟัน ประเมินค่าใช้จ่ายไว้ประมาณ ๕,๐๐๐ กว่าบาท หลังจากเขาตรวจสุขภาพก็บอกเราว่า ตอนทำฟันต้องวางยาสลบ แต่ป๊อกกี้อายุมากแล้วแม่ต้องยอมรับในกรณีที่เขาดมยาแล้วอาจไม่ฟื้น”

ผู้เป็นแม่จึงตัดสินใจอุ้มลูกกลับบ้านทันที

ขณะทบทวนความรู้สึกว่าต้องการให้ป๊อกกี้ทำอย่างไรต่อ ระหว่างปล่อยให้ฟันหลุดเองอย่างโอดโอย หรือเสี่ยงรักษาแต่อาจไม่ฟื้น ก็มีเพื่อนบ้านแนะนำให้ลองมารักษาอีกที่หนึ่ง

ขั้นตอนการตรวจสุขภาพของสัตว์เลี้ยงก่อนรักษาเริ่มต้นอีกครั้ง ตั้งแต่เจาะเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเอกซเรย์ปอด เพื่อดูแนวโน้มว่ามีอาการหอบให้ต้องเสี่ยงชีวิตระหว่างทำฟันไหม  นั่นหมายถึงค่ารักษาพยาบาลที่ต้องเริ่มนับ ๑ ใหม่

“หมอที่นี่ประเมินไว้ ๒ หมื่นบาท  สำหรับแม่ใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ซื้ออะไรได้มากมาย แต่ต่อให้แพงกว่านี้แม่ก็อยากรักษา ถ้าหมอรับประกันว่าหลังวางยาสลบแล้วป๊อกกี้จะฟื้น”

คุณหมอนุสราอธิบายเหตุผลที่ค่าทำฟันของสัตว์แพงกว่าคน แม้เครื่องมือที่ใช้ทำฟันจะเป็นแบบเดียวกัน (หมาหรือแมวตัวเล็กก็ใช้เครื่องมือสำหรับเด็ก) แต่สัตว์จำเป็นต้องมีขั้นตอนตรวจสุขภาพด้วย และระหว่างรักษาต้องมีวิสัญญีแพทย์เป็นผู้ให้ยาสลบชั่วคราว เพราะสัตว์ไม่ยอมอ้าปากเองเหมือนคน

เราขออนุญาตหมอตามป๊อกกี้ไปตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเอกซเรย์ปอด เป็นสิทธิพิเศษที่ไม่มีเจ้าของคนใดได้ดู เพื่อป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่าง “เจ้าของกับหมอ” ในกระบวนการจัดท่าสัตว์ก่อนตรวจ

เจ้าหน้าที่ห้องถ่ายภาพรังสีช่วยกันจับป๊อกกี้นอนตะแคง ใช้คลิปหนีบเบา ๆ ที่ขา เพื่อเตรียมวัดคลื่นไฟฟ้าของหัวใจผ่านสื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็ก

ขณะเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เริ่มทำงาน เครื่องแสดงผลจะค่อย ๆ เลื่อนกระดาษกราฟออกมาให้เห็นเป็นเส้นขึ้นลง เพื่อให้สัตวแพทย์เจ้าของไข้ใช้เป็นข้อมูลประเมินจังหวะการเต้นของหัวใจ ดูขนาดหัวใจว่าปรกติดีหรือผิดปรกติ ดูไปถึงเรื่องภาวะน้ำท่วมปอด หรือการคั่งของของเหลวในช่องอกและช่องท้องด้วย

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจถือว่าง่ายและสะดวก สัตว์ที่รับการตรวจจะไม่เจ็บ (เว้นแต่บริเวณขาที่ถูกคลิปหนีบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ยืนยันหนักแน่นแทนหมาว่า “แค่เบา ๆ”)  ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน ๑๐ นาที จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนเอกซเรย์ปอด

เครื่องเอกซเรย์สำหรับสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันพัฒนาไปมากจนต้องอ้าปากค้าง

ลืมไปเลยเรื่องบรรจุฟิล์มลงตลับ นำไปล้างในห้องมืดครึ่งชั่วโมง ถ้าภาพไม่ชัดก็เริ่มกระบวนการจัดท่าสัตว์ถ่ายใหม่ มิหนำซ้ำภาพที่ได้ยังไม่สามารถปรับความคมชัด และแสดงผลเป็นภาพเนกาทีฟอยู่

เดี๋ยวนี้เขาถ่ายภาพรังสีระบบดิจิทัลแล้ว ทันทีที่เริ่มกดถ่าย ภาพจะปรากฏในครึ่งนาที และเก็บสำเนาไว้ในหน่วยความจำคอมพิวเตอร์เครื่องหลัก (หมอจากทุกห้องตรวจเรียกดูภาพต้นฉบับได้พร้อมกัน) จะดูเฉพาะส่วนหรือขยาย ใช้โปรแกรมปรับสีภาพหรือบันทึกข้อความเพิ่มเติมก็ทำได้ แถมนำภาพจากคอมพิวเตอร์ไปอัปโหลดในอินเทอร์เน็ตเผื่อให้คุณหมอเรียกดูที่ไหนเมื่อไรก็ได้  ระบบดิจิทัลแบบนี้ช่วยให้สัตว์ได้รับรังสีน้อยกว่าแบบปรกติ อย่างน้อยก็ไม่ต้องถ่ายซ้ำเพราะภาพไม่คมชัด

หลังดูผลตรวจสุขภาพ ขนาดของหัวใจ สภาพปอด หลอดลม และสำรวจความลึกของร่องเหงือกในช่องปากป๊อกกี้อย่างละเอียด  คุณหมอนุสราเชิญเจ้าของเข้าพบในห้องตรวจเพื่อแจ้งผลและถามความเห็น

“ต้องถอนหมดปาก เจ้าของโอเคไหมคะ ?”

ดูจากสีหน้าคงไม่อยากโอเค แต่เหมือนเผื่อใจมาบ้างแล้ว เจ้าของจึงแค่พยักหน้าหงึกหงัก

เข้าใจได้ไม่ยาก อาการนี้เซ็งทั้งหมาและคน

ไม่รู้จะเซ็งทำไม เมื่อทั้งปากป๊อกกี้ก็เหลือฟันอยู่แค่ ๓-๔ ซี่

“นึกถึงตัวเองเวลาปวดฟันมันทรมานนะ แล้วป๊อกกี้ตัวเล็กแค่นี้ตอนเขาซึมน่าสงสารมาก ทิ้งไม่ลงหรอก”

เจ้าของพาป๊อกกี้จากไปพร้อมใบนัดหมายวันถอนฟัน เธอว่าก่อนกลับบ้านจะพาไปอาบน้ำเป่าขนที่ pet care จะได้หลับสบายตัว  ป๊อกกี้เป็นหมาโชคดีที่ได้รับความรักและห่วงใยราวกับลูกคนหนึ่ง

เรายังอยู่กับคุณหมอนุสรา เธอแบ่งปันประสบการณ์ “จัดฟันสัตว์” ที่นับวันยิ่งใกล้เคียงคน

“สัตว์ก็มีปัญหาสบฟันหน้าหรือฟันกรามด้านหลังผิดปรกติได้เหมือนคนนั่นละ  บางตัวฟันหน้าล่างคร่อมฟันหน้าบน  บางตัวอายุ ๗ เดือนแล้วฟันน้ำนมไม่ยอมหลุดก็ต้องพามาถอน (หรือจัดฟัน) ไม่อย่างนั้นฟันแท้จะงอกขึ้นมาซ้อนเกไปเบียดฟันน้ำนมทำให้เหงือกบริเวณนั้นอักเสบหรือเป็นแผล เกิดปัญหาบดเคี้ยวอาหาร หมอก็จะจัดให้มันขยับมาข้างหน้าสู่ตำแหน่งปรกติ”

คุณหมอนุสราเล่าว่า ก่อนจัดฟันเจ้าของต้องพาสัตว์เลี้ยงมาตรวจช่องปาก ขูดหินปูน พิมพ์ฟันเพื่อวางแผนการรักษา แล้วถ่ายภาพรังสีบริเวณฟันแบบเดียวกับคนทุกอย่าง  ส่วนเครื่องมือจัดฟันของสัตว์จะเป็นชนิดติดแน่นปลอดสนิม  หลังจัดฟัน เจ้าของต้องหมั่นแปรงหรือขัดฟันให้หมาหลังอาหารเพื่อป้องกันการเกิดหินปูน  ขั้นตอนรักษาทั้งหมดโดยทั่วไปใช้เวลาเพียง ๒ เดือน หรือบางกรณีอาจใช้เวลา ๒-๘ เดือน แต่ไม่นานนับปีเหมือนคน

ในคน – การจัดฟันอาจไม่เฉพาะรักษาโรค แต่ทำเพื่อความสวยงาม

ในสัตว์ – คุณหมอนุสรายืนยัน “หมอไม่จัดฟันให้หมาประกวดเด็ดขาด” จะทำเพื่อแก้ปัญหาในช่องปากเท่านั้น

สิ่งต่าง ๆ ในห้องตรวจ นอกจากโปสเตอร์เกี่ยวกับโรคในช่องปากของหมาแล้วยังมีโมเดลฟันตั้งอยู่ อันใหญ่เป็นฟันหมา อันเล็กเป็นฟันแมว

“หมาก็มีฟันปลอมนะ”

คุณหมอนุสราหยิบฟันลักษณะสามเหลี่ยมทำจากโลหะสีเงินให้เราดู

“ฟันปลอมหมาจะทำถาวร ถอดออกไม่ได้เหมือนของคน เพราะต้องระวังไม่ให้หมากลืน และจะใช้ได้กับตัวที่สภาพเหงือกยังแข็งแรงมีรากฟันอยู่เท่านั้น เนื่องจากจำเป็นต้องใช้วิธีครอบลงไป”

เธอครอบใส่โมเดลฟันให้ดู พร้อมให้ความรู้ว่า ฟันปลอมสำหรับสัตว์จะมีเฉพาะซี่สำคัญที่ต้องใช้บดเคี้ยวอาหาร คือฟันเขี้ยวด้านหน้า ๔ ซี่ และฟันกราม

สัตว์เลี้ยงที่ทำได้มีทั้งหมาพันธุ์ใหญ่ พันธุ์เล็ก และแมวตัวใหญ่  ถ้าซี่เล็กเกินไปช่างทันตกรรมจะไม่รับทำ

“การมีฟันปลอมไม่ได้ช่วยให้ชีวิตสัตว์กลับมาสมบูรณ์หรอก แต่มันช่วยให้คุณภาพชีวิตสัตว์ดีขึ้น  ถ้าฟันหลุดไปพออายุมากขึ้นกระดูกเบ้าฟันรอบช่องว่างระหว่างฟันที่หลอก็จะกร่อนลง ลิ้นจะห้อยออกมาด้านข้าง แต่ถ้ามีฟันปลอมมาประคองไว้จะช่วยลดการเกิดโรคผิวหนังตามมุมปากได้”

นึกถึงเจ้าป๊อกกี้ น่าเสียดายที่มันต้องถอนฟัน ทำให้ไม่เหลือรากฟันพอที่จะใส่ฟันปลอม ไม่อย่างนั้นเจ้าของอาจพาป๊อกกี้มาทำฟันปลอมก็ได้

คุณหมอนุสราให้ความเห็นว่า เรื่องฟันปลอมอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นนัก เพราะถึงไม่มีฟันสักซี่หมาแมวก็ยังคงบดเคี้ยวอาหารอ่อนได้ด้วยเพดานปากที่ธรรมชาติออกแบบมาให้มีลักษณะเป็นลอนคลื่นช่วยในการบดย่อย ซึ่งเมื่อลิ้นดันอาหารไปอัดกับลอนเพดานจะทำให้อาหารอ่อนแตกตัว หมาแมวก็กลืนได้อย่างสบาย

แต่การพามาขูดหินปูนนั้นถือว่าจำเป็น ถ้าไม่สะดวกพามาเจ้าของต้องขยันแปรงฟันหรือขัดฟันให้หมาแมวหลังอาหารเพื่อป้องกันการเกิดหินปูน  หรืออีกวิธีคือซื้อขนมที่เป็นผลิตภัณฑ์ช่วยขัดฟันให้กิน นอกจากหมาแมวจะได้ออกแรงกัดเคี้ยวบริหารกรามเพลิน ๆ แล้วยังช่วยขัดฟัน ขจัดเศษอาหารตามซอกฟันออกไปด้วย

ไม่ต้องใช้เงินมากเราก็ดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงของเราให้ดีได้

ยืนยันผลลัพธ์โดย “มะเมียะ” ชิห์สุเพศเมียตัวอ้วนที่ตัวเองเลี้ยงอยู่

ให้กินขนมแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก จนป่านนี้เป็นคุณป้าวัย ๙ ปีแล้ว ก็มีหินปูนบ้างตามวัย แต่สุขภาพฟันยังแข็งแรงสามัคคีเหนียวแน่นกับเหงือก ไม่เคยมีปัญหาเรื่องกลิ่นปากเน่าบูดกวนหัวใจคนเลี้ยง

ปัญหาเดียวที่พบคือติดขนม จนต้องนำขนมไปล่อให้ออกไปวิ่งบ้าง

 


“แฮก…แฮก…แฮก”

เสียงหอบหายใจพร้อมกันของคนกับหมา อาจเป็นภาษาเดียวที่ทำให้มนุษย์กับสัตว์กลมกลืน

วันที่อากาศดีลองพาหมาไปวิ่งเล่นบ้าง จะเห็นความสุขของมันล้นทะลักผ่านดวงตาใส เสียงหอบถี่ ส่ายสะโพก สะบัดหางรุนแรงราวกับจะให้หลุดกระเด็นจากก้น

เลี้ยงหมาต้องหมั่นพาออกกำลังกาย ไม่อย่างนั้นจะสะสมความเจ็บป่วย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน ไขข้ออักเสบ โรคระบบทางเดินอาหาร ท้องผูก ฯลฯ ส่งผลกระทบถึงสุขภาพจิต  หมาที่ถูกเลี้ยงแบบล่ามปลอกคอไว้ทั้งวันมักเครียด และแสดงออกโดยการเห่าหอนมากกว่าหมาที่ได้รับการเลี้ยงอย่างอิสระ จะวิ่ง เดิน เคลื่อนไหวอย่างไรก็ดูมีความสุข แค่เราโยนของเล่นหรือลูกบอลให้มันวิ่งไปรับรอบเดียวก็กระปรี้กระเปร่าดีใจราวกับได้ไก่ย่าง ๑๐ ไม้

ทางการแพทย์จึงนำวิธีออกกำลังกายมาใช้บำบัดโรคสัตว์ เพราะนอกจากสุขภาพกายจะแข็งแรงขึ้นยังทำให้สุขภาพจิตดีด้วย  สัตว์บางตัวที่ป่วยหนักจนออกกำลังกายปรกติไม่ได้ อาจเพิ่งผ่าตัดและมีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว หรือป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ข้ออักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง-ฉีกขาดหรือปวดเรื้อรัง เอ็นข้อเท้าฉีกขาด ปวดหลัง ฯลฯ  “ธาราบำบัด” เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้การออกกำลังกายเป็นเรื่องง่ายขึ้น

ธาราบำบัดตามโรงพยาบาลสัตว์จะใช้ “ลู่วิ่งใต้น้ำ” (underwater treadmill) เพื่อช่วยให้สัตว์ป่วยด้วยโรคกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ และระบบประสาทได้ฟื้นฟูร่างกายโดยเดินบน “สายพาน”

ชุดอุปกรณ์ลู่วิ่งใต้น้ำอยู่ในตู้กระจกใส (คล้ายตู้ปลาขนาดใหญ่) รองรับหมาพันธุ์ใหญ่อย่างโกลเดนรีทรีฟเวอร์, ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ หรือเซนต์เบอร์นาร์ดได้ถึง ๕๐ กิโลกรัม  พื้นตู้เป็นสายพานที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ควบคุมความเร็วได้ และมีระบบควบคุมอุณหภูมิน้ำให้สัตว์เดินในน้ำได้อย่างปลอดภัย

วันที่เรามาเยี่ยมชม พบเจ้าหมาสิงโตแคระพันธุ์ปอมเมอเรเนียนกำลังเดินสลับวิ่งเหยาะในน้ำ ๕๐๐ ลิตร สูงระดับข้อไหล่ อุณหภูมิ ๓๐ องศาเซลเซียส โดยมีระบบหัวฉีดน้ำส่งแรงดันออกมากระตุ้นให้เจ้าปอมฯ ลงน้ำหนักที่ขา มีสายรัดจูงคล้องหน้าอกทำหน้าที่แบบเข็มขัดนิรภัย  ขณะสายพานเลื่อนไปด้านหลังเรื่อย ๆ หากเจ้าปอมฯ เผลอเพลิดเพลินกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวจนหยุดเคลื่อนไหวแล้วตัวเลื่อนถอยหลังตามการทำงานของสายพาน สายรัดที่คล้องอยู่จะกระตุกกล้ามเนื้อให้มันหันกลับมาเดินหน้าต่อทันที

จุดเด่นของเครื่องลู่วิ่งใต้น้ำคือสัตว์ป่วยจะได้รับการรักษาตามอาการอย่างเหมาะสม  สัตวแพทย์จะประเมินว่าตัวใดต้องเดินในระดับน้ำลึกเท่าไรเพราะจะส่งผลต่อการทำกายภาพ  หากน้ำสูงระดับข้อไหล่สัตว์จะทิ้งน้ำหนักลงบนขาประมาณ ๓๘ เปอร์เซ็นต์ หากระดับน้ำสูงเท่าข้อสะโพกสัตว์จะทิ้งน้ำหนักประมาณ ๘๕ เปอร์เซ็นต์ และหากระดับน้ำสูงเพียงข้อเท้าสัตว์จะทิ้งน้ำหนักถึง ๙๑ เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัวปรกติที่ยืนบนพื้น

นวัตกรรมรักษาอาการบาดเจ็บโดยลู่วิ่งใต้น้ำนี้เคยทำให้ “อันโตนิโอ วาเลนเซีย” ยิ้มแต้มาแล้ว  ครั้งนั้นดาวเตะตำแหน่งปีกขวาทีมชาติเอกวาดอร์บาดเจ็บข้อเท้าหักจากการปะทะกับ เคิร์ก บรอดฟุต ในศึกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกรอบแบ่งกลุ่ม นัดแรกที่ปีศาจแดงเปิดบ้านเสมอกลาสโกว์เรนเจอร์ส ๐-๐ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๓  แพทย์คาดว่าเขาอาจต้องพักยาวจนถึงช่วงปลายฤดูกาล  แต่แล้วไม่กี่เดือนถัดมาวาเลนเซียก็กลับมาช่วยแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดได้เร็วกว่าที่คาด หลังฟื้นฟูอาการบาดเจ็บข้อเท้าหักด้วยวิธีทันสมัยอย่างลู่วิ่งใต้น้ำ

ลู่วิ่งใต้น้ำที่วาเลนเซียใช้รักษาในศูนย์ฝึกคาร์ริงตันนั้น เดิมคิดค้นขึ้นมาเพื่อให้นักบินอวกาศขององค์การนาซา(NASA) ได้ออกกำลังกายขณะปฏิบัติการในอวกาศ  ในลู่วิ่งจะมีน้ำเป็นตัวช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ โดยขยายส่วนผิวหน้าของเส้นเลือดและเพิ่มอุณหภูมิที่ผิวหนัง ช่วยลดความเจ็บปวดและการกระตุกของกล้ามเนื้อ แถมแรงดันน้ำยังช่วยให้ของเหลวในร่างกายไหลเวียนสะดวก ลดอาการบวมบริเวณต่าง ๆ และการลอยตัวในน้ำก็ไม่ทำให้น้ำหนักไปกดทับข้อขณะเคลื่อนไหวด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเครื่องแบบเดียวกับที่เจ้าปอมฯ ตัวน้อยกำลังเดินสลับวิ่งอย่างรื่นเริงตรงหน้า

ยุคนี้สมัยนี้คนดูแลคนด้วยกันอย่างไร ก็ดูแลสัตว์เลี้ยงที่ตัวเองรักอย่างนั้น

การรักษาในโรงพยาบาลสัตว์บางแห่งอนุญาตให้เจ้าของลงไปเดินเป็นเพื่อนสัตว์เลี้ยงตัวเองด้วย

เพราะสำหรับคนกับหมาบางครอบครัว การแยกจากกันเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ นับเป็นความปวดร้าวยิ่ง

ยังมีธาราบำบัดอีกแบบที่ใช้วิธี “ว่าย” ในสระ เหมาะสำหรับสัตว์ป่วยที่ยังไม่พร้อมจะเดิน ซึ่งมีเครื่องช่วยพยุงให้สัตว์ได้บริหารกล้ามเนื้อโดยไม่ต้องลงน้ำหนักร่างกายมากเกินไป แต่ไม่อนุญาตให้เจ้าของลงไปว่ายด้วย

เอาน่า เว้นระยะความห่วงใย เป็นกำลังใจอยู่ขอบสระก็พอ

“น้องดาว ไม่ต้องกลัวนะ”
“ค่อย ๆ ว่ายนะลูก หนาวไหม”

ชิห์สุเพศเมียวัย ๖ ปีพยายามตะกุยน้ำหาเจ้าของเสียงที่คอยให้กำลังใจ  แต่ยิ่งว่ายไปข้างหน้ากลับถูกรอกที่พยุงเสื้อแจ็กเกตชูชีพรั้งกลับมาตำแหน่งเดิม เป็นเช่นนี้ซ้ำ ๆ แต่ก็ยังตั้งหน้าพุ้ยน้ำเสียงดังจ๋อมแจ๋ม

“หมอบอกให้พาน้องมาว่ายน้ำสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ ๔ รอบ รอบละ ๑๐ นาที”

เมื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโลกของคนรักสัตว์ที่เลี้ยงดูกันแบบสมาชิกในครอบครัว สถานการณ์ก็ส่งให้เราต้องรับบท “พี่” ไปด้วย  เจ้าของน้องดาวเล่าว่า “ลูก” ของเธอเป็นโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน สันนิษฐานว่ากระโดดตกจากที่สูงผิดท่าเป็นเหตุให้ขาคู่หลังเดินไม่ได้ แต่ตอนนี้ผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว สัตวแพทย์นัดมาฝึกทำกายภาพสัปดาห์ละครั้ง เธอจึงพาน้องดาวมาเริ่มต้นวันแรก

“เหนื่อยหรือยัง อดทนหน่อยนะเดี๋ยวก็พักแล้ว”

ผู้เป็น “แม่” ส่งยิ้มให้ลูกสาวพลางสังเกตนาฬิกาไม่ขาดระยะ

เมื่อครบกำหนดเวลา เจ้าหน้าที่ประจำสระเข้ามาช่วยปลดน้องดาวออกจากตะขอขนาดใหญ่ที่คล้องเสื้อแจ็กเกตชูชีพไว้กับสายรัดที่ลำตัวให้ขึ้นจากสระ แล้วผ้าขนหนูอบอุ่นในมือแม่ก็โอบประคองน้องดาวต่อ

ช่วง ๒ นาทีที่พัก ชิห์สุขนสีขาว-น้ำตาลเดินตุปัดตุเป๋ห่างอกแม่มาให้เราลูบหัวลูบหลังเล่น คล้ายชวนคนเป็นพี่ให้รักใคร่เอ็นดู ก่อนผละไปทำกายภาพบำบัดต่อในสระขนาด ๒.๓๕ x ๓.๘ เมตร ลึก ๑.๕ เมตร

บนผนังสระด้านหนึ่งติดตั้งหัวพ่นฟองอากาศจำนวน ๔ หัว แบบเดียวกับในอ่างสปาหรือสระว่ายน้ำของคน ซึ่งทำหน้าที่ปล่อยแรงดันให้น้ำช่วยนวดตามกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

เจ้าหมาตัวเล็กที่ถูกห้อยอยู่ในสระครึ่งตัวเคลื่อนไหวร่างกายค่อนข้างพลิ้วกว่ารอบก่อน หน้าตาดูสบายอกสบายใจไม่เหนื่อย เหมือนว่ายน้ำเล่นมากกว่าทำกายภาพ

ส่วนหนึ่งคือผลจากแรงดันน้ำที่ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ดี และขาเล็ก ๆ ทั้งสี่ข้างที่ได้ออกกำลังก็ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากการผ่าตัดเร็วขึ้น

อีกส่วนเป็นไปได้ว่าเห็นแม่คอยดูอยู่ จึงอยากให้แม่ภูมิใจ

“จ๋อม…”

เสียงลูกบอลเล็ก ๆ กระทบผิวน้ำแผ่วมาจากสระใหญ่ขนาด ๑๕.๓๕x๓.๘ เมตรที่อยู่ติดกับน้องดาว

น้ำผึ้งและน้ำตาล ๒ พี่น้องพันธุ์โกลเดนรีทรีฟเวอร์สีน้ำตาลไหม้ ผลัดกันคาบลูกบอลเล่นขณะลอยคอให้หน้าพ้นน้ำ  ทั้งคู่สวมเสื้อแจ็กเกตชูชีพแบบเดียวกับน้องดาวเพื่อประคองให้ร่างกายไม่ต้องรับน้ำหนักตัวมากเกินไป แต่อิสระกว่าตรงที่จะว่ายไปทางไหนก็ได้โดยไม่ต้องมีรอกพยุง  บางจังหวะทั้งคู่ว่ายเนิบนาบสวนทาง บางจังหวะสลับมาว่ายร่วมทิศทางอย่างกระตือรือร้น ราวกับจะแข่งขันว่าใครจะถึงขอบสระก่อน

อยากส่งเสียงเชียร์ แต่เจ้าของปรามไว้

“อย่าเรียกชื่อเขานะคะ เดี๋ยวเขากลัวไม่ยอมว่ายต่อ”
“อย่าถ่ายรูปนะคะ เขาไม่ชอบแฟลช”

ท่าทีหวงสัตว์ของเจ้าของทำให้เราสำนึกได้ว่าควรถอยฉากออกมารักษาระยะห่างของตัวเองกับสัตว์เลี้ยง  แอบมองน้ำผึ้ง-น้ำตาลตาปริบ ๆ ทั้งคู่อารมณ์ดีมาก หน้าตาเป็นมิตรเหมือนรู้จักเรามาก่อน

แน่ะ ! ยังไปยักคิ้วหลิ่วตาให้หมาเขาอีก

ดีว่าเจ้าของไม่เห็น ไม่อย่างนั้นคงถูกเตือนเป็นครั้งที่ ๓

การว่ายน้ำในสระด้วยวิธีธาราบำบัดแบบนี้ต่างจากที่พวกมันว่ายเล่นตามบ่อหรือในคลอง เพราะไม่ต้องใช้แรงพยุงกล้ามเนื้อร่างกายโดยเฉพาะกระดูกสันหลังส่วนคอ แต่ร่างกายทุกส่วนยังได้ออกกำลังเต็มที่ และสระก็ผ่านการฆ่าเชื้อโรคอย่างมีมาตรฐาน น้ำในสระผ่านการตรวจสอบค่าความเป็นกรด-ด่างให้อยู่ในสภาพที่แบคทีเรียไม่สามารถเติบโต

ขณะน้ำผึ้ง-น้ำตาลแหวกว่ายเพลิดเพลิน ดูนุ่มนวลแต่สง่า เจ้าของจะคอยเดินรอบสระ

เปล่า…เธอไม่ได้เฝ้าระวังว่าใครจะเข้าใกล้ไปแตะต้องสัตว์เลี้ยงแสนรัก แต่เดินเป็นเพื่อนหมา

หากน้ำผึ้งหรือน้ำตาลหยุดว่าย เธอจะเรียกชื่อให้หันมาสนใจ พอเธอเดินไปทางไหนเจ้าตัวนั้นก็จะเริ่มว่ายตามไปทางเดียวกัน เป็นอุบายหลอกให้หมาว่ายน้ำอย่างต่อเนื่องตามเวลาที่สัตวแพทย์กำหนด

นอกจากหมาจะได้บำบัดแล้ว คนยังได้ออกกำลังโดยไม่รู้ตัว

หลังว่ายน้ำเสร็จเจ้าของน้องดาวและเจ้าของน้ำผึ้ง-น้ำตาลต่างพาสัตว์เลี้ยงไปอาบน้ำยังพื้นที่ที่จัดไว้  เราเห็นภาพการขัดขืนเล็ก ๆ ของเจ้าสี่ขา ท่าทีเรียกร้องความสนใจ ภาพเจ้าของบ่นไปหัวเราะไป แล้วหอมหมาระหว่างใช้ไดร์เป่าขนจนแห้ง

ธาราบำบัดไม่เพียงกระตุ้นการผ่อนคลายของร่างกายและจิตใจ

ยังเป็นวิธีผูกสายใยระหว่างมนุษย์และสัตว์ให้กระชับแน่น

เดี๋ยวนี้มีสระว่ายน้ำนอกโรงพยาบาลสัตว์ที่เปิดให้บริการสำหรับหมาโดยเฉพาะ (แค่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็เกือบ ๓๐ แห่ง) ไม่ต้องป่วยก็ไปว่ายเล่นได้ เพียงแต่หมาทุกตัวที่จะลงสระควรมีอายุ ๔ เดือนขึ้นไป ฉีดวัคซีนครบ และไม่มีเห็บ หมัด หรือไม่อยู่ระหว่างเป็นสัด

หมาทุกตัวชอบเล่นน้ำ (ตัวไหนกลัวน้ำน่าเป็นห่วงแล้วละ) ถ้าในสระมีทั้งหมาป่วยและไม่ป่วยอยู่รวมกัน เราจะแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าตัวไหนป่วย เพราะหน้าตามันดูมีความสุขเหมือนกันทุกตัว

การรักษาโรคอาจเป็นการให้หยูกยาหรือผ่าตัดโดยสัตวแพทย์

แต่การป้องกันหรือดูแลหลังการรักษาเป็นหน้าที่เจ้าของ

หมาบางตัวทั้งชีวิตนอกจากฉีดวัคซีนรวมประจำปีแล้ว อาจไม่เคยเป็นโรคอะไรให้ต้องถึงมือหมอ เพราะเจ้าของแบ่งเวลามาเล่นด้วย หมั่นพาไปออกกำลังกายอยู่เสมอ

แค่ดูแลด้วยความรัก หล่อเลี้ยงหัวใจด้วยความสุข ก็เป็นวัคซีนป้องกันโรคที่ดีที่สุดในโลกแล้ว

petclinic03
ฟุดฟิด…ฟุดฟิด…

จมูกเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อน อ่อนกว่าขนสีน้ำตาลของมันหลายเท่าขยับดุกดิกขึ้นลงชวนเอ็นดู

ในบรรดาสัตว์เลี้ยงยอดนิยม “กระต่าย” จัดอยู่ในชนิดที่เงียบที่สุด ไม่ช่างแสดงออกเหมือนสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ไม่ร้องพร่ำเพรื่อ หากเจ้าของไม่พยายามสังเกตคงยากจะรู้ว่ามันกำลังเจ็บปวด หวาดกลัว หรือต้องการอะไร  ยิ่งกระต่ายอายุมาก (๘-๑๒ ปี) ยิ่งมีปัญหาสุขภาพไม่ต่างกับคนแก่ แต่มันจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะทนไม่ไหวจริง ๆ  ปรกติกระต่ายจะใช้กลิ่นสื่อสารกัน จมูกของมันจึงมีหน้าที่สำรวจทุกอย่าง นาทีนี้มันกำลังฟุดฟิด ฟุดฟิดไม่หยุด เมื่อเจ้าของอุ้มเข้ามาภายในคลินิกกายภาพบำบัดท่ามกลางผู้คนแปลกหน้าที่รอต้อนรับมันอยู่ถึง ๕ คน

เวลาสัตว์ป่วยเจ้าของต้องแยกให้ออกก่อนว่าเกิดจาก “โรค” หรือ “ชรา”

บางตัวร่างกายและหัวใจอาจอ่อนล้าเกินกว่าจะพร้อมรับการรักษา

แต่เมื่อพวกมันพูดภาษาคนไม่ได้ เจ้าของจึงเป็นฝ่ายทำความเข้าใจและหาทางออกที่ดีที่สุดให้ แม้บางโรคที่มาพร้อมวัยชราจะไม่มียาหรือเทคโนโลยีต่าง ๆ กระตุ้นการรักษาได้ ก็ยังเพียรหา “ทางเลือก” อื่นอย่าง “ฝังเข็ม” เพื่อให้สัตว์เลี้ยงแสนรักใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างปรกติเท่าที่จะเป็นได้

เรื่องแบบนี้คนที่ไม่เลี้ยงสัตว์หรือมีฐานะการเงินไม่มากพอจะเข้าใจยากสักหน่อย แต่ไม่ว่าอย่างไรถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีคนในสังคมเดียวกันให้ความสำคัญกับชีวิตสัตว์มากถึงเพียงนี้

“ ‘โยโกะ’ เดินไม่ได้ เพราะกระดูกสันหลังเสื่อมกดทับเส้นประสาท”

เจ้าของชี้ให้ดูขาปุกปุยคู่หลังของกระต่ายเพศผู้วัย ๙ ปี ที่หมดแรงจากอาการอัมพาตด้วยวัยชราและเริ่มรักษาด้วยวิธีฝังเข็มมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕

ทั่วโลกต่างรู้จักการฝังเข็มมานานหลายพันปี  ชาวจีนเป็นผู้เริ่มนำศาสตร์นี้มาใช้ทั้งในคนและสัตว์ ตั้งแต่หมา แมว กระต่าย เต่า นก หมู ม้า ไปจนถึงวัว ควาย หมีแพนด้า ฯลฯ  แถมแพทย์จีนยังพบว่า บนร่างกายสัตว์มีตำแหน่งให้ฝังเข็มได้มากกว่า ๑๗๓ จุด

แม้วิทยาการแพทย์บนโลกจะก้าวไกลไปมาก แต่ผู้คนก็ยังนิยมรักษาตัวเองและสัตว์เลี้ยงด้วยวิธีฝังเข็มอยู่ เพราะเป็นการรักษาอย่างธรรมชาติโดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง และไม่มีสารเคมีตกค้างในร่างกาย

กลางปี ๒๕๕๕ สำนักข่าว APTN รายงานว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยงในฮ่องกงหันมานิยมดูแลรักษาสุขภาพหมาและแมวสุดที่รักด้วยวิธีฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้า  ไม่เพียงช่วยรักษาอาการไตวายของสัตว์เลี้ยงให้ทุเลาลง ยังรักษาอาการอื่น ๆ เช่น ข้อเสื่อม อัมพฤกษ์ อัมพาต ภูมิแพ้ หอบหืด ระบบย่อยอาหารและขับถ่ายผิดปรกติ ขนร่วง ผิวหนังอักเสบจากโรคภูมิแพ้ ฯลฯ ได้ด้วย  โรงพยาบาลสัตว์ในฮ่องกงจึงเปิดให้บริการแพทย์แผนจีนเป็นทางเลือกการรักษาอย่างแพร่หลาย โดยให้การแพทย์แผนตะวันตกช่วยส่งเสริมการรักษาร่วม

ยิ่งกว่านั้นในบรรดาสัตวแพทย์ ๘๖,๐๐๐ รายทั่วโลก มีประมาณ ๙๐๐-๒,๐๐๐ รายที่เลือกศึกษาวิธีฝังเข็ม  ในสหรัฐฯ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการแพทย์สมัยใหม่ก็ยังมีสัตวแพทย์เข้าอบรมวิชาฝังเข็มมากถึง ๓๐๐ ราย (นับจากปี ๒๕๔๖) และมีผลการรายงานว่า มีสัตว์เลี้ยงกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์อาการดีขึ้นหลังฝังเข็ม ทำให้การฝังเข็มเป็นที่ยอมรับและนิยมมากขึ้น แม้ค่ารักษาแต่ละครั้งจะราคาตัวละ ๙๕ ดอลลาร์สหรัฐ (ราว ๓,๓๒๕ บาท)

“ประเทศไทยมีสัตวแพทย์ฝังเข็มไม่ถึง ๑๐ คนหรอก  เข็มที่สัตว์เลี้ยงใช้และขั้นตอนการฝังเป็นแบบเดียวกับที่ใช้รักษาคนนี่ละ  ค่าบริการต่อครั้งราว ๗๐๐-๘๐๐ บาท”

สัตวแพทย์หญิงมาตยา ทวีชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านฝังเข็ม ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพสัตว์เลี้ยง สะท้อนความนิยมเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในบ้านเรา

แม้จำนวนสัตวแพทย์ที่เลือกเรียนศาสตร์นี้จะมีอยู่น้อยมาก เพราะคนไทยไม่ค่อยนำสัตว์เลี้ยงมาบำบัด แต่เมื่อเทียบราคาระหว่างการฝังเข็มในคนที่เริ่มต้นครั้งละ ๓๐๐ บาท (ขึ้นอยู่กับชนิดโรค) ก็ชวนให้อิจฉาสัตว์เลี้ยงแสนรักทั้งหลายที่เจ้าของยอมจ่ายเงินให้พวกมันมีสุขภาพแข็งแรงทั้งที่ราคาแพงกว่าคน

ปรัชญาการแพทย์จีนกล่าวไว้ “โรคเกิดจากความไม่สมดุลของพลังงานในร่างกาย”

เพราะแพทย์แผนจีนเชื่อว่าความเจ็บป่วยของร่างกายไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคอย่างเดียว

พลังงานชีวิตจะหมุนเวียนโดยมี “ชี่” นำช่องทางไหลเวียนไปตามอวัยวะสำคัญต่าง ๆ หากชี่ไหลเวียนราบรื่นสัตว์จะมีสุขภาพดี

ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นการบำบัดด้วยวิธีฝังเข็มเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยปรับสมดุล แก้ไขการไหลเวียนของพลังงานให้ราบรื่นขึ้น แล้วร่างกายจะได้รับการเยียวยาเองในเวลาต่อมา

“การฝังเข็มคงไม่ทำให้โยโกะกลับมาหายเป็นปรกติหรอก เพราะอายุเยอะแล้ว แต่จะช่วยให้มีแรงมากขึ้น”

คุณหมอมาตยาเล่าถึงผลการรักษาของเจ้าหูยาว หางกลมสั้น ที่นอนซุกอยู่ในอ้อมแขนเจ้าของ

หมอค่อย ๆ ขยับนิ้วปั่นเข็มขนาดเล็กเล่มบางฝังผ่านผิวหนังช่วงแกนสันหลังของโยโกะลงไปบริเวณระบบเส้นประสาทที่มีการเชื่อมโยงกัน ลึกราว ๑ เซนติเมตร ค้างไว้นาน ๑๕ นาทีให้ร่างกายรับรู้ว่ามีสิ่งแปลกปลอม เป็นการกระตุ้นระบบความรู้สึก

เกินจะเดาว่าโยโกะรู้สึกอย่างไร เท่าที่เห็นบางจังหวะกระตุกตัวคล้ายต่อต้าน บางจังหวะก็ดูผ่อนคลายกับการฝังเข็มจนง่วงนอนหลับตาพริ้ม

“โรคเสื่อมนี่บางทีการรักษาแผนปัจจุบันช่วยไม่ได้ หรือสัตว์บางตัวแก่ชราเกินกว่าจะรักษาด้วยวิธีผ่าตัด การฝังเข็มเป็นทางเลือกหนึ่งให้เจ้าของพิจารณา”

คุณหมอมาตยาให้ความเห็น และเล่าว่า จำนวนเข็มที่ใช้ฝังและความถี่ของการรักษาขึ้นอยู่กับอาการและสภาพร่างกายสัตว์เลี้ยง  บางรายหมออาจประเมินให้ฝังเข็ม ๑-๓ ครั้งต่อสัปดาห์ บางรายเดือนละครั้ง แต่ละรายใช้เวลารักษาไม่เท่ากัน อาจเพียงไม่กี่สัปดาห์จนถึงหลายเดือน

“ครึ่งปีที่ผ่านมาผมว่าอาการโยโกะดีขึ้นนะ จากที่เคยยืนแล้วปลายตีนหงิกพับงอ พอฝังเข็มสัปดาห์ละครั้งต่อเนื่อง
๑ เดือนก็เริ่มกางตีนได้เหมือนเดิม เริ่มลงน้ำหนักได้ ตอนนี้ ๒ สัปดาห์ค่อยมารักษาที”

ขณะเจ้าของเล่าคุณหมอมาตยาก็ช่วยเสริม

“ถ้าเป็นหมาหรือแมวหมออาจนัดฝังเข็มถี่กว่านี้ สัก ๕ วันต่อครั้ง หรือวันเว้นวันด้วยซ้ำ  แต่พอเป็นกระต่ายเราต้องระวังมากขึ้นเพราะเป็นสัตว์ที่เครียดง่าย ทั้งเราและเจ้าของก็ไม่อยากให้เขาเครียด”

ปัญหากระดูกสันหลังเสื่อมกดทับเส้นประสาทของโยโกะส่งผลให้ขาคู่หลังไร้เรี่ยวแรง แต่ขาคู่หน้าที่ยังใช้งานได้กลับมีแผลกดทับให้ต้องดูแลเพิ่ม เจ้าของจึงใส่ใจโยโกะเป็นพิเศษ

ฝ่าตีนของกระต่ายมีเพียงผิวหนังห่อหุ้มกระดูก และมีขนละเอียด สั้น บาง ปกคลุมอยู่เท่านั้น จึงอาจเสียดสีกับพื้นจนด้านและเป็นแผลง่าย

เจ้าของเป็นห่วงว่าหากตีนคู่หน้าของโยโกะไปครูดอะไรเข้าจะทำให้บาดเจ็บอีก จึงหาถุงเท้าคู่เล็กสำหรับหมาพันธุ์จิ๋วมาสวมให้

ใต้ฝ่าตีนเล็ก ๆ ทั้ง ๑๐ นิ้วจึงมีผ้ายืดนุ่มรองรับอยู่ด้วยความรัก

เมื่อครบกำหนดเวลา หมอค่อย ๆ ถอนเข็มตันปลายตัดนับสิบเล่มออกจากหลังของโยโกะทิ้ง หยิบเข็มชุดใหม่มาเริ่มฝังบนตีนคู่หน้าบ้าง โดยมีเจ้าของช่วยถอดถุงเท้าคู่จิ๋วให้อย่างเบามือ

ใช้เวลาฝังเข็มที่ตีนเท่ากับที่หลัง เมื่อเสร็จเรียบร้อยหมอช่วยนวดตีนอย่างนุ่มนวลให้โยโกะคลายปวด

โยโกะต้องมาฝังเข็มอย่างนี้อีกนาน อาจนานเท่ากับช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ของมัน

แต่ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง…

“ผมรู้มาว่าถ้ากระต่ายกินอะไรไม่ได้เมื่อไรก็เตรียมใจได้เลย แต่นี่ผมให้หญ้า แอปเปิล มะม่วง เป็นอาหารเขาก็ยังกินอยู่ แล้วจะให้ผมดูดายได้อย่างไร ก็จะพามาฝังเข็มเรื่อย ๆ นั่นละ”

สัตวแพทย์หญิงมาตยาบอกว่า ไม่บ่อยนักที่จะมีใครพากระต่ายมาฝังเข็ม อาจเป็นเพราะกระต่ายหลายตัวมักหมดลมหายใจก่อนอายุขัย จะด้วยวิธีเลี้ยงที่มนุษย์ไม่เข้าใจธรรมชาติของสัตว์ชนิดนี้ หรือเพราะอะไรก็ตาม

แม้กระต่ายจะไม่ชอบใช้เสียง และเจ้าของเป็นชายหนุ่มซึ่งเมื่อเทียบความอ่อนโยนกับเพศหญิงแล้วอาจทะนุถนอมได้ไม่ดีเท่า แต่ทั้งคู่ก็มีวิธีส่งความรักถึงกันผ่านสัมผัส

คนหนึ่งอุ้มประคองอย่างระมัดระวัง ราวกับสิ่งที่อยู่ในอ้อมแขนเป็นเด็กทารกแสนบอบบาง

อีกตัวซบและเลียแขนของผู้ที่ช้อนประคองมันอย่างตั้งใจและเนิ่นนาน

คนเลี้ยงกระต่ายรู้ดี ธรรมชาติของกระต่ายไม่ใช่สัตว์อ้อนมนุษย์ เมื่อไรที่มันยอมเลียให้แปลว่ารัก

ถัดจากการรักษาของโยโกะเป็นคิวของ “เบลล่า”

หมาไทยสีดำสนิทเพศเมียที่เจ้าของชาวต่างชาติต้องไปทำธุระในต่างประเทศนำมาฝากไว้ในความดูแลของสัตวแพทย์  แม้จะไม่รู้อายุแน่ชัด เพราะเจ้าของเก็บมาเลี้ยงจากจังหวัดนครพนมตอนโต แต่เมื่อพิจารณาจากใบหน้า ดวงตาที่เป็นต้อหิน สุขภาพฟัน และโรคภัยที่ติดตัวมาก็พอเดาได้ว่าเบลล่าอยู่ในวัยชรา

ขาคู่หน้าของเบลล่าเป็นอัมพาต อ่อนกำลังจนยืนทรงตัวไม่ได้ ครั้นจะเดินก็ต้องไถขาคู่หน้าที่แผละออกด้านข้างให้ช่วยนำทาง  อาการของมันเริ่มจากเป็นซีสต์ (cyst) โดยมีถุงน้ำอยู่ข้างในตรงเส้นประสาทบริเวณคอแล้วไม่สามารถผ่าตัดแก้ไขได้ เพราะอายุมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อการเต้นของหัวใจระหว่างวางยาสลบ แถมตาทั้งสองข้างบอดสนิทจากการเป็นต้อหินเรื้อรังซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากโรคเบาหวานที่ป่วยมานาน

อ่านไม่ผิดหรอก ทุกโรคที่ว่ามาเกิดขึ้นกับเบลล่าจริง ๆ

จำบรรทัดแรกที่เปิดเรื่องได้ไหม “โรคของหมา แมว และคน คล้ายกันเข้าไปทุกที”

คุณหมอมาตยาเลือกจุดฝังเข็มบริเวณใบหน้าของเบลล่า บรรจงปักเข็มไว้ข้าง ๆ เส้นประสาทบางเส้น คาเข็มไว้ราว ๒๐ นาที ระหว่างนั้นจะใช้ “เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า” ช่วย

คุณหมออธิบายว่า วิธีฝังเข็มบนใบหน้าด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เบลล่าหายจากต้อหิน แต่ช่วยป้องกันความดันขึ้นตาที่อาจเป็นเหตุให้เลือดออกในตาได้

เครื่องนี้ทำงานด้วยการเชื่อมต่อสายไฟจากเข็มเข้ากับเครื่องกระตุ้น แล้วใช้กระแสไฟฟ้าตรงประมาณ ๙ โวลต์(ไม่ทำให้ไฟดูด) กระตุ้นบริเวณกล้ามเนื้อเบลล่าอย่างเป็นจังหวะ โดยปรับระดับความถี่และความแรงให้เข็มกระดิกตามกระแสไฟฟ้า

เบลล่านอนหลับพริ้มเหมือนถูกวางยาสลบ ทั้งที่หมอไม่ได้ให้ยาแม้แต่นิดเดียว

บางครั้งมีอาการกระตุก มันอาจรู้สึกหน่วง ๆ ในจุดที่คาเข็มไว้ แต่คงไม่ถึงกับเจ็บปวด เพราะมันไม่ร้องและยังปิดเปลือกตาเหมือนหลับสบายอยู่

สิ้นสุดการฝังเข็ม หมอทยอยถอนเข็มออกอย่างเบามือจึงไม่มีเลือดออกสักนิด  เบลล่าขยับตัวเล็กน้อย ยืดแข้งขาบิดขี้เกียจคล้ายพยายามผ่อนคลายกล้ามเนื้อให้ตัวเองสบายที่สุด

วิธีฝังเข็มด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างการแพทย์แผนโบราณและเทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งที่จริงก็ใช้อย่างแพร่หลายในคนแล้ว แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสใช้

ในโรงพยาบาลสัตว์แม้จะยังมีไม่แพร่หลายนัก แต่น่าดีใจที่มีเจ้าของพาสัตว์เลี้ยงแก่ ๆ ที่เต็มไปด้วยโรคตามวัยมาใช้บริการ

การฝังเข็มนับเป็นทางเลือกพิเศษสำหรับเจ้าของที่พอมีกำลังจะจ่ายได้  คนธรรมดาทั่วไปคงไม่มีใครอยากให้สัตว์เลี้ยงต้องรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ใช่ไม่รัก แต่มีเงินไม่พอ ความรักกับความจริงบางทีวิ่งสวนทางกันแบบไม่ถนอมความรู้สึกเจ้าของ

ไม่มีพรวิเศษใดหยุดวัยชราหรือโรคนานาที่รุมเร้าสัตว์แก่ได้ แต่การให้ความรักและเอาใจใส่คือสิ่งที่ทุกคนทำได้ และมีค่ามากที่สุดในสายตาสัตว์เลี้ยง

อย่างน้อยก็ช่วยบำรุงความรู้สึกในหัวใจของพวกมันไม่ให้โรยราดั่งอายุขัย

 


สัตว์ที่ป่วยเพราะขาดการป้องกันโรคหรือป่วยด้วยวัยชราว่าน่าสงสารแล้ว

แต่สัตว์ที่ป่วยเพราะถูกคนเลี้ยงดูอย่างผิดธรรมชาติน่าสงสารกว่า

ภายในห้อง “คลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ” ของโรงพยาบาลสัตว์แห่งหนึ่ง (คำว่า ชนิด ที่ต่อท้าย สัตว์เลี้ยงแสดงถึงความพิเศษที่ถูกจัดให้อยู่ประเภท “exotic pet” ต่างจากหมาและแมว) มีสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการตรวจรักษาสัตว์เลี้ยงแปลก ๆ ทุกประเภท ทั้งสัตว์บกรวมถึงสัตว์ฟันแทะ สัตว์น้ำ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ปีก ประจำอยู่ห้องตรวจ

แพทย์ประจำคลินิกแจ้งเราคร่าว ๆ ว่า บ่าย ๒ ของวันนี้จะมีเต่าซูลคาตา (Geochelone sulcata) มาใช้บริการเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI : magnetic resonance imaging) ซึ่งถือเป็นสุดยอดเทคโนโลยีเครื่องวินิจฉัยโรคที่มีใช้เพียงเครื่องเดียวในกลุ่มประเทศอาเซียน และอนุญาตให้เราเยี่ยมชมได้

ย้อนนึกถึงวัยเด็ก เคยเห็นเพื่อนบ้านเลี้ยงลูกเต่าแก้มแดงสายพันธุ์เล็กขนาดเท่าเหรียญ ๑๐ บาท ดวงตาบ้องแบ๊วกับขาเล็ก ๆ ที่พุ้ยน้ำจ๋อมแจ๋มในตู้ปลานั้นแสนจะน่าเอ็นดูจนอดใจไม่ไหวต้องช้อนขึ้นมาวางเล่นบนฝ่ามือให้มันเดินดุกดิกพอจักจี้หน่อย ๆ ค่อยปล่อยกลับตู้ปลา  คิดไม่ถึงว่าเดี๋ยวนี้จะมีใครหันมาเลี้ยงเต่าซูลคาตาที่ใหญ่จนน่าเกรงขามเป็นอันดับ ๓ ของโลกรองจากเต่ายักษ์กาลาปากอส (Chelonoidis nigra) และเต่าอัลดาบรา (Aldabrachelys gigantea) อันที่จริงบ้านเราไม่ได้นิยมเลี้ยง เจ้าของที่พาเจ้าซูลคาตามารักษาเป็นเจ้าของฟาร์มเต่า

อ่างสีดำขนาดใหญ่แบบเดียวกับที่ใช้ผสมปูนวางอยู่บนรถเข็นสำหรับเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยถูกนำส่งถึงห้องคลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษช้าจากเวลาคาดการณ์นิดหน่อย

ที่อยู่ในอ่างคือเต่าซูลคาตาเพศผู้วัย ๒๐ ปี ขนาด ๒๕ นิ้ว หนัก ๔๓ กิโลกรัม (ก่อนป่วยเคยหนัก ๖๐ กว่ากิโลกรัม แต่เนื่องจากกินอาหารเองไม่ได้มา ๑ สัปดาห์ น้ำหนักจึงลดฮวบ) เจ้าของเล่าให้ฟังว่า สังเกตเห็นอาการผิดปรกติ มีน้ำมูก ไม่กินอาหาร ไม่ยอมเดิน จึงพามาตรวจและพบว่าป่วยเป็น “โรคนิ่ว” เบื้องต้นสัตวแพทย์ยังไม่รู้ตำแหน่งแน่ชัด

เคยเห็นแต่เต่าตัวใหญ่ตามสวนสัตว์ เพิ่งได้เห็นในโรงพยาบาลสัตว์ระยะประชิดก็คราวนี้

เจ้าเต่าตัวนี้มีกระดองด้านหลังสีน้ำตาล-เหลืองอันกว้าง แบน และลาดลงไปทางขอบด้านข้างลำตัว ขอบกระดองด้านที่ติดกับหัวและขอบด้านท้ายเป็นรอยหยักแบบฟันเลื่อย  กระดองด้านท้องมีลักษณะโค้งเว้าสีงาช้าง ผิวหนังออกสีทองกลมกลืนกับสีกระดอง หางยาวเล็กน้อย  สิ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กระดองคือขาอันแข็งแรงทั้งสี่ข้าง โดยเฉพาะขาคู่หน้าเต็มไปด้วยเกล็ดขนาดใหญ่เรียงตัวเป็นระเบียบเห็นได้ชัดเจน

สัตวแพทย์เจ้าของไข้และลูกทีมช่วยกันตรวจสุขภาพและฉีดยานำสลบแก่เจ้าเต่าวัยรุ่นเพื่อลดการหลั่งน้ำลายและให้หลับในระดับลึกที่สมบูรณ์

ปรกติแล้วเต่าถูกจัดอยู่ในจำพวกสัตว์เลือดเย็น เชื่องช้า นิ่ง

โอ้โฮ ! พอจะถูกฉีดยากลับแสดงกำลังมหาศาล ดิ้นจนเตียงเข็นสัตว์ป่วยสะเทือน สัตวแพทย์ ๗ คนช่วยกันจับยังถอนใจ แต่ไม่ถึง ๑๐ วินาทีเมื่อยาออกฤทธิ์ก็กลายเป็นเต่าสุขุม นอนนิ่ง และเงียบสงบในที่สุด

ทีมสัตวแพทย์เร่งเคลื่อนย้ายเต่าซูลคาตาออกจากห้องคลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษมุ่งสู่ศูนย์รังสีวินิจฉัยของโรงพยาบาล ทุกขั้นตอนต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วก่อนสัตว์จะฟื้นจากยานำสลบ

นักรังสีเทคนิคจัดให้เจ้าเต่านอนนิ่งอยู่บนเครื่องสนามแม่เหล็กแรงสูงเอ็มอาร์ไอ โดยมีเครื่องจับสัญญาณคลื่นแม่เหล็กวางอยู่ใต้ร่างกาย  แพทย์รับประกันว่าไม่ก่อให้เกิดมะเร็งหรืออันตรายใด ๆ ต่อสัตว์

ก่อนเครื่องจะทำงานยังพอมีเวลาให้บุคคลภายนอกซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาแต่ได้รับเชิญมาดูการทำงานของสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด จรลีออกจากห้องตรวจก่อนจะเป็นหมันตั้งแต่ยังไม่แต่งงาน

แม่เหล็กไฟฟ้าของเครื่องเอ็มอาร์ไอทรงพลังขนาดไหน อยากรู้ให้ลองนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บัตรต่าง ๆ ที่มีแถบแม่เหล็ก หรือสิ่งของที่มีแม่เหล็กเป็นตัวทำให้เกิดแรงดูด เข้าไปในห้องตรวจขณะเปิดเครื่อง  แล้วจะเห็นมันเสื่อมสภาพในบัดดล หรือถูกแม่เหล็กดูดให้ลอยคว้างผ่านหน้าไปกระแทกกับอุโมงค์แม่เหล็กอย่างรวดเร็ว ตามมาติด ๆ ด้วยเสียงระเบิดเปรี้ยง !

อยากลองนะ แต่รับวิทยาทานจากคุณหมอก็พอ

ขณะเครื่องกำลังเคลื่อนเจ้าเต่าซูลคาตาสู่อุโมงค์แม่เหล็ก และค้างไว้ตำแหน่งศูนย์กลางของสนามแม่เหล็กความเข้มสูง สัญญาณคลื่นวิทยุที่มีความถี่จำเพาะร่วมกับสนามแม่เหล็กแรงสูงจะถูกส่งเข้าสู่ร่างกายสัตว์กระตุ้นระบบอวัยวะที่ต้องการตรวจ  เมื่ออวัยวะนั้น ๆ ถูกกระตุ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงระดับพลังงานตามกระบวนการทางฟิสิกส์  หลังจากหยุดกระตุ้นไฮโดรเจนอะตอมภายในร่างกายจะคายพลังงานออกมาเป็นคลื่นสะท้อนกลับ เพื่อแปลงเป็นภาพถ่ายส่วนต่าง ๆ ของร่างกายออกมาประมวลผล และสร้างเป็นภาพเสมือนจริงด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความละเอียดในการแปลงสัญญาณสูง

เสียงของคลื่นแม่เหล็กขณะสแกนภาพจะแผดเสียงราวกับเครื่องตัดหญ้าขนาดใหญ่ดังเป็นจังหวะหลาย ๆ ช่วง โดยนักรังสีเทคนิคจะควบคุมการทำงานของเครื่องเอ็มอาร์ไออยู่ในห้องข้าง ๆ ที่มีหน้าต่างและกล้องโทรทัศน์วงจรปิดคอยติดตามผลจากห้องตรวจ

ระยะเวลากว่าครึ่งชั่วโมงที่ตรวจอยู่ ภาพบนหน้าจอคอมพิวเตอร์แสดงให้เห็นความเคลื่อนไหวที่คมชัดแบบโมเดล๓ มิติ โดยตัดขวางร่างกายแยกออกเป็นแผ่น ๆ

ในประเทศไทยเครื่องเอ็มอาร์ไอถือเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยของหน่วยรังสีวินิจฉัยทั้งในโรงพยาบาลคนและโรงพยาบาลสัตว์  นอกจากจะใช้ตรวจดูสมอง ระบบประสาท ไขสันหลัง และหมอนรองกระดูกได้ดี อวัยวะในช่องท้องน้อยอย่างต่อมลูกหมาก มดลูก รังไข่ มะเร็งสำไส้ใหญ่ส่วนปลายก็สามารถดูได้ ทั้งยังมีเทคนิคที่ทำให้มองเห็นเนื้อเยื่อในสีต่างกันได้หลากหลาย ช่วยให้แพทย์เห็นจุดผิดปรกติในร่างกายละเอียดขึ้น  อย่างกรณีของเจ้าเต่าซูลคาตาก็จะทำให้รู้ขนาดของก้อนนิ่วรวมถึงตำแหน่งที่ต้องผ่าตัดได้ชัดเจน

ขณะเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญเรื่องการแปลผลภาพจากเอ็มอาร์ไอและสัตวแพทย์เจ้าของไข้ลุ้น เราก็พลอยลุ้นไปด้วย

เมื่อเขาพบก้อนผลึกใดน่าสนใจแล้วชี้ชวนกันดู เราก็คอยชะเง้อชะแง้ตาม อยากรู้อยากเห็น

ว่องไวปานกามนิตหนุ่ม เมื่อรู้ผลสัตวแพทย์เจ้าของไข้รีบมารายงานให้เจ้าของสัตว์ที่รอลุ้นอยู่ด้านนอกห้องตรวจทราบ

“เดิมเราสันนิษฐานว่าก้อนนิ่วอาจอยู่ในลำไส้ แต่หลังจากดูโมเดล ๓ มิติโดยละเอียดจึงพบว่า ก้อนนิ่วขนาด ๘ เซนติ-เมตรนั้นอยู่ภายในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งใหญ่มากเมื่อเทียบกับท่อปัสสาวะของสัตว์เพียง ๑ เซนติเมตร  เมื่อมันเจ็บก็จะไม่กินอาหาร ทำให้ไม่ขับถ่าย”

นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ ผู้เชี่ยวชาญประจำคลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ ด้านรักษาสัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ลิง และสัตว์ป่า ผู้เป็นเจ้าของไข้เต่าซูลคาตาตัวนี้อธิบายปัญหาที่พบ

“เรารู้กระทั่งว่าก้อนนิ่วนั้นมีเปลือกหุ้มอยู่อีกชั้น ขนาดใหญ่เกินกว่าจะใช้อัลตราซาวด์ทำให้แตกตัว  สมมุติว่าต่อให้ทำมันแตกได้ก็เอาออกมาไม่ได้อีก ไม่รู้จะเอาอะไรเข้าไปปั่นให้ป่นละเอียดจนลอดผ่านท่อปัสสาวะเพียง ๑ เซนติเมตร มันมีแต่จะขยายขนาดขึ้นเรื่อย ๆ”

ประสิทธิภาพแห่งเครื่องแสดงผลช่วยให้สัตวแพทย์รายงานสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดและให้คำแนะนำวิธีรักษาแก่เจ้าของสัตว์ได้ทันที ไม่ต้องนัดฟังผลอีกครั้งข้ามวันข้ามสัปดาห์

“ตอนนี้คุณมีทางเลือกเดียว คือต้องยินยอมให้หมอเดินหน้าผ่าตัด ถ้าไม่ผ่ามันจะส่งเสียงร้อง ‘อ่าาาา’ทรมานอยู่อย่างนี้ และกินอะไรไม่ได้เพราะมันปวด”

นายสัตวแพทย์สื่อสารกับเจ้าของสัตว์ผ่านท่าทางยืดคอ อ้าปาก เลียนเสียงแหบต่ำของเต่าป่วย

อยากหัวเราะในอารมณ์ขันของหมอ แต่สถานการณ์ตึงเครียดที่เจ้าของยืนรับฟังอย่างสงบไม่เหมาะให้ผู้สังเกตการณ์ส่งเสียงใด ๆ

ถ้าไม่นับเต่าซูลคาตาซึ่งเจ้าของฟาร์มเต่าเลี้ยงไว้ ในบ้านเราเวลานี้มีคนทั่วไปนิยมเลี้ยงเต่าบกพันธุ์เล็กอยู่มาก และเสียเงินกับการรักษา “โรคนิ่ว” โดยไม่จำเป็น จากการเลี้ยงดูผิดวิธีที่ไม่เข้าใจวิถีการดำเนินชีวิตของสัตว์ คิดว่ามันชอบความร้อนและไม่ต้องการน้ำ จึงพยายามกกไฟและให้กินแต่น้ำจากผัก ร่างกายเต่าจึงขาดน้ำ แถมบางรายยังบำรุงอาหารแคลเซียมสูงให้เต่าเร่งสร้างกระดอง ล้วนเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่ทำให้เกิดการสะสมนิ่วในร่างกายเต่า

แต่หากมนุษย์เข้าใจสัตว์มากขึ้นก็จะช่วยให้คนและสัตว์อยู่ร่วมกันในธรรมชาติอย่างเป็นมิตร

โดยเฉพาะยุคที่กระแสการเลี้ยงสัตว์แปลกไว้ดูเล่น อย่างกระต่าย หนู งู นก เต่า ปลา กระรอก ชูการ์ไกลเดอร์ เม่น กิ้งก่า ฯลฯ กำลังเป็นที่นิยมมาก

คุณหมอเกษตรประเมินคร่าว ๆ ให้เราเห็นภาพว่า มันมีมากถึง ๕๐ ชนิด นับ ๕ ล้านตัว

แต่คนเลี้ยงที่เข้าใจลักษณะเฉพาะและพฤติกรรมการดำรงชีวิตของสัตว์จริง ๆ มีน้อยมาก

ทำให้มีสัตว์ป่วยจำนวนมหาศาล นับเฉพาะที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์แห่งนี้ก็ไม่ต่ำกว่า ๑๕,๐๐๐ ตัวต่อปี ซึ่งทั้งประเทศมีคลินิกสำหรับสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษน้อยมากไม่ถึง ๒๐ แห่ง (วัดจากจำนวนสัตวแพทย์ทั้งประเทศที่รักษาได้มีเพียง ๒๐ คน) ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ

ความจริงไม่อยากพูดถึงสัตว์ชนิดพิเศษจำพวกนี้ เกรงว่าถ้าสื่อสารไม่ดีจะกลายเป็นส่งเสริมให้คนนิยมเลี้ยง

ขอย้ำ การซื้อขายสัตว์ป่าเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงตามบ้านเรือนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม และผิดจริยธรรม  คนซื้อคนขายคือต้นเหตุของการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้วงจรชีวิตสัตว์ผิดเพี้ยน

ไม่ใช่สัตว์ทุกตัวที่พร้อมเกิดมาทำหน้าที่เป็นเพื่อนแก้เหงาให้คน มันมีชีวิตในแบบของมัน และเจ็บป่วยเป็น

ก่อนจะซื้อสัตว์มาเลี้ยงเพราะความน่าเอ็นดูของลูกสัตว์ใด ๆ แนะนำให้มาโรงพยาบาลสัตว์หลาย ๆ รอบ

มาแล้วมาอีก เพื่อสำรวจใจตัวเองให้แน่ชัด เมื่อเห็นสัตว์ป่วย สัตว์แก่ หมดความน่ารัก ยังรู้สึกอยากดูแลไปตลอดอายุของมันไหม

แล้วค่อยตัดสินใจอีกครั้ง…

petclinic04
๐๐.๐๐ นาฬิกา

ขณะที่หลายชีวิตกำลังหลับอุตุเอมใจ เจ้าของหลายคนวิ่งหน้าตื่นอุ้มหมาแมวมาหาหมอที่ห้องฉุกเฉินสำหรับสัตว์ป่วยหนักและวิกฤต

บางคนอุ้มหมาเหมือนอุ้มเด็กจริง ๆ หนีบเข้าเอว  หมาก็แสนรู้เก็บหางเรียบร้อยไม่มีแกว่งไกว

ข้างในห้องฉุกเฉินเปิดไฟสว่างโร่ เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์กู้ชีวิต เช่น กรงสำหรับสัตว์ป่วยหนัก เตียงสำหรับให้สัตว์นอนพักให้น้ำเกลือหรือให้เลือด เครื่องควบคุมระดับน้ำเกลืออัตโนมัติ เครื่องผลิตออกซิเจนอัตโนมัติ เครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องดูดเสมหะ เครื่องช่วยหายใจ ตู้สำหรับดมออกซิเจน ฯลฯ

สัตวแพทย์กระจายกำลังดูแลสัตว์ป่วย  บ้างทำแผลให้เชาเชาตัวใหญ่ที่บาดเจ็บสาหัสถูกรุมกัดมา  บ้างให้ออกซิเจนเจ้าปั๊กหน้าย่นตัวกะเปี๊ยกที่ป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วระยะสุดท้าย  บ้างเจาะเลือดแมวที่น้ำท่วมปอดจนหายใจหอบตัวโยนหลังจากเจ้าของพาไปทำหมันได้วันเดียว ฯลฯ  ตัวไหนเจ็บหนักก็ส่งเสียงร้องเล็ดลอดออกมาจากห้องตรวจ ชวนให้คนที่รออยู่ด้านนอกใจสั่น

เหนื่อยใจกับหมาแมวตัวเองแล้ว ยังต้องแบ่งใจไปช่วยลุ้นหมาแมวตัวอื่นที่สาหัสกว่าด้วย

บางตัวให้น้ำเกลือแล้วดีขึ้นก็ได้กลับบ้าน

บางตัวต้องพักค้างในโรงพยาบาลโดยเจ้าของเฝ้าดูแลไม่ห่างเตียงรถเข็น คอยเช็ดปากเช็ดตัวทำความสะอาดให้เดี๋ยวก้มกอดด้วยความรักเดี๋ยวปลอบประโลมด้วยความห่วงใยเหมือนลูกคนหนึ่ง

เจ้าของบางคนร้องไห้สติแตกเมื่อเห็นหมอพยายามปั๊มหัวใจให้สัตว์เลี้ยงตัวเองอยู่นาน แต่มันก็จากไปทิ้งลมหายใจสุดท้ายไว้ต่อหน้าต่อตา

ห้องฉุกเฉินจึงเป็นแผนกหนึ่งของโรงพยาบาลสัตว์ที่รวมจังหวะความรู้สึกของแต่ละชีวิตไว้ได้ครบรส มาถึงดึกดื่นแค่ไหน ง่วงอย่างไรก็หลับไม่ลง

โชค-วาสนาของคนกับสัตว์มีสุข-ทุกข์ไม่ต่างกัน  บางตัวได้รับการดูแลมาอย่างดีทั้งชีวิต บทจะป่วยเป็นโรคอะไรขึ้นมาครั้งแรกก็อาจวิกฤตแทบปลิดชีวิตได้  แมวบางตัวป่วยเป็นโรคลิ่มเลือดอุดตันและหัวใจโต  หมาบางตัวภาวะเลือดจางมากต้องการเม็ดเลือดแดงด่วน  แต่โรคของใครจะด่วนแค่ไหนก็ต้องอดทนรอ เพราะโรงพยาบาลไม่มีเลือดสำรองจะให้  ลมหายใจแทบขาดรอนทั้งสัตว์และคน ได้แต่อธิษฐานให้มีใครพาสัตว์เลี้ยงสุขภาพดีมาบริจาคเลือด

เลือดหมา-แมว-คน ถ้าใช้ร่วมกันได้คงดี

หมามีหมู่เลือดที่เรียกว่า “ดีอีเอ” (DEA : dog erythrocyte antigen) ถึง ๘ หมู่ คือ DEA 1.1, DEA 1.2, DEA 3, DEA 4, DEA 5, DEA 6, DEA 7 และ DEA 8

แมวมีเพียง ๓ หมู่ คือ A (พบมากในทุกสายพันธุ์ โดยเฉพาะแมวไทย), B (พบในสายพันธุ์ต่างประเทศราว ๑๐-๕๙ เปอร์เซ็นต์ ส่วนแมวไทยราว ๘ เปอร์เซ็นต์) และ AB (พบน้อยมากในทุกสายพันธุ์ไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์)

คนมี ๔ หมู่ คือ A, B, AB และ O ซึ่งไม่เหมือนแมวและไม่อาจใช้กับหมาได้ เพราะแม้เลือดของหมาและแมวจะมีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และน้ำเลือดคล้ายคน แต่ภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดแตกต่างจากคน

เลือดหมา-แมว-คน จึงต้องแยกใช้ของใครของมัน

ความต้องการเลือดเป็นปัญหาขาดแคลนระดับชาติ เกิดขึ้นทั้งในคนและสัตว์ นอกจากเกือบทุกโรงพยาบาลจะต้องมีตู้เก็บเลือดสำรองไว้ให้หมาแล้ว ยังจำเป็นต้องมี “ธนาคารเลือด” ด้วย

บริเวณชั้น ๓ ของโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน คือที่ตั้งธนาคารเลือดแห่งเดียวที่มีเทคโนโลยีการเก็บรักษาเลือดสัตว์ที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย

เมื่อครั้งที่ไปเยือนเห็นในตู้จัดเก็บและสำรองเลือดสดมีถุงเลือดที่ใช้ไปแล้วครึ่งหนึ่ง เหลืออยู่เพียง ๕ ถุง

ส่วนบนเตียงมีแมวไทยหนัก ๖ กิโลกรัมนอนให้สัตวแพทย์เจาะเส้นเลือดดำบริเวณขาเพื่อประเมินความสมบูรณ์ของร่างกาย พร้อมตรวจสอบว่าปลอดจากเชื้อโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและเอดส์หรือไม่  หากผลตรวจร่างกายและผลเลือดเป็นปรกติก็เข้าสู่ขั้นตอนเตรียมบริจาคเลือด

เจ้าของเล่าว่า บังเอิญพบแมวบาดเจ็บจากอุบัติเหตุและอยู่ในภาวะต้องการเกล็ดเลือดอย่างเร่งด่วน จึงพาแมวสุขภาพดีที่ตนเลี้ยงอยู่มาบริจาคให้แมวไม่มีเจ้าของตัวนั้น

ถึงจะโชคร้ายที่เจ็บป่วย แต่นับว่ายังโชคดีที่พบคนรวยน้ำใจพามารักษา

แมวป่วยต้องการเลือด น่าห่วงกว่าหมาหลายเท่า

เพราะแมวไม่มีผลิตภัณฑ์เลือดสำรองไว้ในธนาคารเหมือนหมา

เหตุผลคือ การบริจาคแต่ละครั้งจะเก็บเลือดได้เพียง ๑๐-๒๐ มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม  หมาอาจให้ได้ถึง ๓๕๐-๔๕๐ มิลลิลิตร  แต่แมวมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าหมามากจึงให้ได้เพียง ๔๐-๕๐ มิลลิลิตรเท่านั้น ซึ่งถุงที่เก็บเลือดสัตว์ใช้แบบเดียวกับที่เก็บเลือดคนซึ่งมีราคาหลายร้อยบาท  เลือดที่รับบริจาคจากแมวแต่ละตัวมีปริมาณน้อยมากไม่คุ้มที่จะใช้ จึงบรรจุในหลอดเก็บเลือดแทน

เมื่อมีแมวป่วยต้องการเลือดอย่างเร่งด่วน หนทางรอดคือต้องพาแมวสุขภาพดีมาบริจาค “เลือดสด” ให้เท่านั้น  ดีว่าหมู่เลือดแมวไม่หลากหลายอย่างหมา  ถ้าแมวไทยป่วยก็มีโอกาสหาเลือดได้ง่ายเพราะส่วนใหญ่มักมีเลือดหมู่ A  แต่หากเป็นแมวสายพันธุ์ต่างประเทศอาจต้องหาแมวสุขภาพดีสำรองไว้หลาย ๆ ตัว เพื่อทดสอบการเข้ากันได้ของเลือดผู้รับและผู้ให้ หรือต้องหาจากสายพันธุ์ต่างประเทศด้วยกันเท่านั้น

ธรรมชาติกำหนดความละเอียดอ่อนไว้ในสิ่งมีชีวิตเพื่อทดสอบการดิ้นรนใช้ชีวิต

อีกคิวที่รออยู่เป็นหมาลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์สีช็อกโกแลตชื่อ “โซโก้” วัย ๓ ปี หนัก ๒๗ กิโลกรัม มีพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกไวมากถึงมากที่สุด สะบัดหางร่าเริงตลอดเวลาเหมือนมาเที่ยวสวนสนุก คะนองดุจหมาดีดกะโหลกผิดจากหมาทั่วไปที่พอคุ้นกลิ่นโรงพยาบาลจะแสดงอาการกังวล ปลายหูลู่ หางลดต่ำ บางตัวเก็บปลายหางซุกไว้หว่างขาเลยก็มี

เจ้าของเพิ่งพาโซโก้มาบริจาคเลือดครั้งแรกโดยไม่ระบุผู้รับ ถือว่าพาหมามาทำบุญรูปแบบหนึ่ง และไม่ว่าหมาตัวใดได้รับเลือดไปย่อมเกิดคุณค่าและประโยชน์สูงสุดเท่ากัน

แม้ประเทศไทยจะมีธนาคารเลือดสัตว์มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ แถมทันสมัยไม่แพ้ธนาคารเลือดคน แต่เลือดก็ยังเป็นสิ่งขาดแคลนเสมอ เพราะสัตว์ไม่อาจเดินมาแจ้งความประสงค์ขอบริจาคเลือดได้เอง

“ต้องยอมรับว่าการรับรู้เรื่องบริจาคเลือดสัตว์ในบ้านเรายังไม่แพร่หลาย แม้แต่คนเลี้ยงสัตว์เองก็รู้น้อยมาก ที่สำคัญคือสัตว์ที่จะให้เลือดได้ต้องอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ตัวใหญ่ที่มีน้ำหนักมาก  เจ้าของหลายคนอยากพาสัตว์เลี้ยงมาบริจาคแต่ติดปัญหาเรื่องการเดินทาง เนื่องจากบ้านอยู่ไกลโรงพยาบาลสัตว์และไม่มีรถยนต์ส่วนตัว รวมถึงไม่พร้อมจะเสียค่าจ้างรถแท็กซี่รับส่งสัตว์เลี้ยงมาบริจาค กลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้แต่ละวันมีเจ้าของพาสัตว์มาบริจาคเลือดค่อนข้างน้อย”

นายสัตวแพทย์ธีรภัทร์ รุ่งนิรันดร หน่วยอายุรกรรมและสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ ให้ความเห็นถึงอุปสรรค

“ในช่วงวิกฤตที่ต้องการเลือดด่วนและทางโรงพยาบาลมีไม่พอ เราจะค้นแฟ้มประวัติเจ้าของที่เคยพาสัตว์มาบริจาคแล้ว โทร.ไปขอความช่วยเหลือ หรือให้เจ้าของสัตว์ป่วยช่วยติดต่อญาติ เพื่อน หรือประกาศหาผู้ใจบุญตามเว็บไซต์ให้ช่วยนำมาบริจาค เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า”

เมื่อมีเจ้าของพามาบริจาคน้อย เลือดในธนาคารจึงกลายเป็นสิ่งมีค่ามาก

ที่มีค่ากว่าคือ “เครื่องปั่นเหวี่ยงแยกส่วนประกอบเลือดสัตว์” ซึ่งมีใช้น้อยมากในโรงพยาบาลสัตว์บ้านเรา

โรงพยาบาลสัตว์ที่ไม่มี “เครื่องปั่นเหวี่ยงฯ” จะใช้วิธีให้เลือดทั้งถุง นับว่าสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ  เนื่องจากสัตว์แต่ละตัวมีความต้องการส่วนประกอบของเลือดแบบจำเพาะ บ้างมีปัญหาเลือดจางก็ต้องการแค่เม็ดเลือดแดง บ้างโปรตีนต่ำก็ต้องการแค่โปรตีนในน้ำเลือด  เลือดที่ได้รับบริจาคมา ๑ ถุงจึงอาจมีสัตว์รับผลประโยชน์และรอดชีวิตได้มากกว่า ๑ ตัว

ขณะโซโก้นอนซึมด้วยฤทธิ์ยานำสลบเพื่อป้องกันการดิ้นระหว่างเก็บเลือด สัตวแพทย์จะเริ่มโกนขนบริเวณคอซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ ทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อเพื่อลดการปนเปื้อนในเลือดและป้องกันการติดเชื้อบริเวณที่เจาะเลือด  ไม่นานของเหลวสีแดงเข้มก็ไหลผ่านสายยางขนาดเล็กที่เชื่อมระหว่างเข็มเจาะเลือดกับถุงเก็บเลือดขนาดบรรจุ ๓๕๐ มิลลิลิตรที่วางอยู่ใต้เตียง

ไม่เกินครึ่งชั่วโมงเลือดก็เต็มถุง สัตวแพทย์จะเลือกพิจารณาว่าจะนำไปเก็บเป็น “เลือดสด” ที่พร้อมนำไปใช้กับสัตว์อีกตัวทันที (ภายใน ๖ ชั่วโมง) หรือสำรองไว้ในตู้แช่ซึ่งมีอายุการเก็บได้นาน ๒๘ วัน เผื่อมีสัตว์ป่วยเป็นโรคโลหิตจาง เป็นพยาธิในเม็ดเลือดอย่างรุนแรง หรือเสียเลือดมากจากการผ่าตัดหรืออุบัติเหตุ จะได้นำเลือดไปใช้ หรือเลือกเก็บเป็น “เลือดแช่แข็ง” ไว้ใช้กรณีมีสัตว์ป่วยเป็นโรคเลือดบางชนิด เลือดแข็งตัวช้า หรืออยู่ในภาวะเลือดขาดโปรตีนหรือขาดสารอาหาร ฯลฯ

เลือดของโซโก้อยู่ในการพิจารณาข่ายหลัง จึงนำไปผ่านเครื่องปั่นเหวี่ยงฯ ด้วยระบบไฟฟ้าความเร็ว ๓๕๐ รอบต่อวินาที เพื่อแยกเม็ดเลือดแดง (เก็บในตู้เย็นได้ ๒๑ วัน) เม็ดเลือดขาว (ต้องใช้ทันที หรือเก็บในตู้เย็นไม่เกิน ๑ วัน) เกล็ดเลือด (ต้องใช้ทันที หรือเก็บในตู้เย็นไม่เกิน ๑ วัน) และน้ำเลือด (แช่แข็งแล้วเก็บได้นาน ๑ ปี) ออกจากกัน ซึ่งธรรมชาติกำหนดให้ส่วนประกอบต่าง ๆ มีความหนาแน่นไม่เท่ากัน เครื่องจึงสามารถดูดแยกส่วนได้

ภายในเครื่องปั่นเหวี่ยงฯ จะแบ่งที่เก็บเลือดออกเป็นช่อง ระบบอัตโนมัติจะทำงานโดยเก็บเม็ดเลือดแดงซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดไว้ชั้นนอก ถัดมาคือเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดตามลำดับ ส่วนน้ำเลือดจะอยู่ชั้นในสุด

สิ้นสุดการทำงานของเครื่อง สัตวแพทย์จะนำส่วนประกอบต่าง ๆ ที่แยกแล้วแช่ในตู้เย็นที่คงอุณหภูมิไว้ -๓๐ องศาเซลเซียส เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์เลือดให้ยาวนานขึ้น สำหรับนำไปกู้ชีวิตสัตว์ตัวอื่น

ใครเลี้ยงหมาพันธุ์ใหญ่และไม่ลำบากเรื่องการเดินทาง พาหมามาบริจาคเลือดเถอะ สำรองไว้ให้หมาตัวอื่นที่รอชีวิตใหม่อยู่ที่ห้องฉุกเฉินตามโรงพยาบาลสัตว์  ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งเจ้าหมาแสนรักของเราอาจป่วยอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องการเลือดอย่างเร่งด่วนบ้างก็ได้

แล้วเลือดที่ช่วยชีวิตก็อาจเป็นถุงที่หมาของเราบริจาคไว้เอง

เดินเข้าออกโรงพยาบาลสัตว์ ๒-๓ แห่งนานนับเดือน ได้สูตรถ่ายเทพลังชีวิตกลับมาเตือนสติตัวเอง

อาหารแพง ๆ ที่นอนสวย ๆ อาบน้ำตัดขนในคลินิกสัปดาห์ละครั้ง ไม่สู้อาหารที่มีประโยชน์ ที่นอนสะอาด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ยามสัตว์ตัวน้อยเจ็บป่วยเทคโนโลยีที่ดีและสัตวแพทย์ที่เก่งก็ไม่สู้อ้อมกอดสัมผัสรักจากเจ้าของที่หมั่นป้อนยาและอยู่ด้วยกันไม่ทอดทิ้ง

เป็น “ความรักเฉพาะทาง” ที่หาไม่ได้ตามแผนก “คลินิกพิเศษ”

คุณสมบัติของสัตว์เลี้ยงผู้บริจาคเลือด๑.หมาหรือแมวสุขภาพดี วัย ๑-๖ ปี ไม่จำกัดเพศและพันธุ์
๒.น้ำหนักของหมามากกว่า ๒๐ กิโลกรัมแมวมากกว่า ๕ กิโลกรัม
๓.มีประวัติการฉีดวัคซีนครบ (หากเพิ่งฉีดวัคซีนประจำปี ต้องเว้นระยะเวลา ๓ สัปดาห์ก่อนนำมาบริจาค)
๔.ไม่มีเห็บหมัด ไม่เป็นโรคผิวหนัง และไม่เป็นโรคติดต่อทางเลือด เช่น โรคพยาธิเม็ดเลือด โรคแท้งติดต่อในสุนัข พยาธิหนอนหัวใจ หรือโรคติดเชื้อไวรัสในแมว เป็นต้น
๕.ไม่ได้รับการผ่าตัดใหญ่ในระยะ ๑-๒ เดือน
๖.ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง (หากมีต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนบริจาค)
๗.สุขภาพฟันดี ไม่มีคราบหินปูนอ้างอิงข้อมูล : แผ่นป้ายให้ความรู้ ธนาคารเลือด โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

ขอขอบคุณ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ สาขาทองหล่อ
นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ, นายสัตวแพทย์ธีรภัทร์ รุ่งนิรันดร, นายสัตวแพทย์บุญชู ทองเจริญพูลพร, สัตวแพทย์หญิงมาตยา ทวีชาติ และสัตวแพทย์หญิงอาจารีย์ หมู่ผึ้ง อนุเคราะห์ข้อมูล
สัตวแพทย์หญิงนุสรา พันธุ์ประภา อนุเคราะห์ข้อมูลและร่วมบรรณาธิกรต้นฉบับ