พระไพศาล วิสาโล
ภาพประกอบ : อ้อย กาญจนะวณิชย์

rub a roonในหนังสือเรื่อง The Mind’s Eye โอลิเวอร์ แซกส์ (Oliver Sacks) แพทย์ด้านประสาทวิทยาและนักเขียนชื่อดัง เล่าถึงประสบการณ์และเรื่องราวของคนที่มีปัญหาด้านการรับรู้นานาชนิดได้อย่างน่าสนใจ สิ่งหนึ่งที่คนเหล่านี้มีคล้ายกันก็คือความสามารถในการปรับตัวให้อยู่ในโลกใบนี้ได้อย่างปรกติสุขแทบไม่ต่างจากคนทั่วไปทั้งๆ ที่อวัยวะที่ใช้ในการรับรู้บกพร่อง หรือ “พิการ”

นักเปียโนวัย ๖๗ ผู้หนึ่ง จู่ๆ พบว่าเธอไม่สามารถอ่านหนังสือเป็นตัวได้ทั้งๆ ที่ตายังดี เห็นหนังสือทุกตัวแต่รวมเป็นคำไม่ได้ ภายหลังอาการลุกลามกระทั่งมองอะไรก็เห็นแต่รูปร่าง เส้นสาย หรือลักษณะของมัน แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นอะไร (พูดอย่างพุทธก็คือ “สัญญา” บกพร่อง) ที่ร้ายก็คือเธออ่านโน้ตดนตรีไม่ออก เธอรู้สึกกังวลมากเวลาเล่นดนตรีในที่สาธารณะ แต่ในเวลาต่อมาเธอได้พบว่าความจำเกี่ยวกับดนตรีของเธอดีกว่าเดิม ทั้งชัดและทนนาน แค่ได้ยินเสียงเพลงยากๆ ครั้งแรกก็จำได้แม่น สามารถจะเรียบเรียงและเล่นใหม่ในหัวได้เลยอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน

หญิงวัย ๖๐ คนหนึ่งเส้นเลือดในสมองแตก เมื่อฟื้นจากโคม่า นอกจากเป็นอัมพาตแล้วยังมีปัญหาในการได้ยิน แม้หูยังดีแต่ฟังคำพูดของคนไม่รู้เรื่อง ความสามารถทางด้านภาษาสูญไปหมด รวมทั้งการพูดด้วย เธอเป็นทุกข์มากเพราะการสื่อสารของเธอกับโลกภายนอกถูกตัดขาดแทบจะสิ้นเชิง แต่ผ่านไปไม่กี่ปีทักษะอย่างใหม่ก็ได้เกิดขึ้นแก่เธอ คือสามารถเข้าใจเจตนาและความต้องการของผู้คนได้โดยฟังจากน้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง และอิริยาบถของเขาขณะที่กำลังพูดกับเธอ ใช่แต่เท่านั้นเธอสามารถคิดค้นภาษาท่าทางที่ใช้สื่อสารกับผู้คนได้เป็นอย่างดี

แซกส์ยังพูดถึงคนตาบอดอีกหลายคนที่ประสาทด้านอื่นพัฒนาจนสามารถชดเชยประสาทตาที่เสียไป เช่นมีหูที่ไวมากจนได้ยิน “เสียง” จากวัตถุรอบตัวที่เงียบสนิท หากเดินผ่านสิ่งต่างๆ ที่อยู่ใกล้ตัวก็รู้ว่ามันมีรูปร่างอย่างไร ทั้งนี้ด้วยการสังเกตจากเสียงเดินของเขาที่สะท้อนกลับหรือถูกดูดโดยวัตถุเหล่านั้น บางคนกระเดาะลิ้นเป็นระยะๆ เพื่ออาศัยเสียงสะท้อนเป็นเครื่องบ่งบอกว่ามีวัตถุอยู่ข้างหน้า ใช่แต่เท่านั้นสัมผัสอย่างอื่นของเขาก็ละเอียดขึ้น เช่น สามารถบอกได้ว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้าโดยสังเกตจากอากาศที่กระทบใบหน้าของเขา บางคนจึงสามารถเดินบนท้องถนนอย่างมั่นใจและรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้ไม้เท้า จนหลายคนคิดว่าเขาเป็นคนตาดีด้วยซ้ำ มีไม่น้อยถึงกับเล่นกีฬาหรือหมากรุกได้เพราะอาศัยสัมผัสดังกล่าว

ความสามารถข้างต้นส่วนใหญ่เกิดกับคนที่มีปัญหาในการมองตั้งแต่กำเนิด ส่วนคนที่ตาบอดในวัยเด็กหรือผู้ใหญ่นั้นมีวิธีการอื่นที่แตกต่างออกไป เช่นแค่ใช้นิ้วสัมผัสอักษรเบรลล์ก็เห็นภาพตัวอักษรปรากฏขึ้นมาในใจ บางคนได้ยินเสียงพูดก็เห็นเป็นภาพขึ้นมา ไม่ว่าภาพสถานที่หรือเหตุการณ์ หญิงคนหนึ่งเล่าว่าเวลาฟังเสียงหนังสือพูดได้เธอจะเห็นตัวหนังสือปรากฏขึ้นมาเป็นแถว ราวกับว่ากำลังอ่านหนังสือเล่มนั้นอยู่ และหากฟังเสียงนานๆ เธอจะรู้สึกปวดตามากราวกับว่าใช้สายตามากเกินไป ส่วนบางคนนั้นแค่ได้ยินเสียงหรือได้กลิ่นของใครก็สามารถจับอารมณ์ของเขาได้ว่ากำลังเครียดหรือกังวล โดยที่เจ้าตัวอาจไม่รู้ด้วยซ้ำ

ในทำนองเดียวกันคนหูหนวกจำนวนไม่น้อยมีความสามารถสูงในการอ่านปากของคน หากมิได้มีปัญหาแต่กำเนิดก็พูดคุยกับคนอื่นได้รู้เรื่องราวกับคนปรกติ บางคนเล่าว่าเพียงแค่เห็นปากของคนพูดก็ได้ยินเสียงของเขาขึ้นมาในใจอย่างแจ่มชัด จะมีปัญหาก็ต่อเมื่อคู่สนทนาพูดโดยหันหลังให้หรือปิดปาก ถึงตอนนั้นคู่สนทนาจึงรู้ว่าอีกฝ่ายมีปัญหาในการฟัง

แซกส์อธิบายว่าความสามารถพิเศษที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสมองมีความยืดหยุ่นสูง (plasticity) กล่าวคือเมื่อสมองส่วนใดเสียไป สมองส่วนอื่นก็จะเอาหน้าที่บางอย่างของสมองส่วนนั้นไปทำแทน หรือพัฒนาสมรรถนะให้สูงขึ้นเพื่อชดเชยการรับรู้ส่วนที่ขาดหายไป เช่นถ้าสมองส่วนรับรู้ภาพถูกทำลาย สมองส่วนที่ได้ยินเสียงหรือได้กลิ่นก็จะมาทำงานทดแทน อะไรที่เคยทำได้ แต่กลับทำไม่ได้ สมองจะหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้สามารถทำได้เหมือนเดิมมากที่สุด ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าสมองของมนุษย์มีความสามารถในการปรับตัวสูงมากเพื่อรับมือกับความพลิกผันที่เกิดขึ้น ทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนปรกติ

อันที่จริงมิใช่แต่สมองเท่านั้น จิตใจของเราก็ปรับตัวเก่งเช่นกัน เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงในทางลบเกิดขึ้น ความรู้สึกแรกคือเป็นทุกข์ รู้สึกย่ำแย่ แต่ในเวลาไม่นานจิตก็จะฟื้นขึ้นมา กลับมาเป็นปรกติ สามารถรับมือกับสถานการณ์ใหม่ได้ในที่สุด หลายคนที่พิการ สูญเสียตา หรือแขนขา จะเป็นทุกข์อย่างยิ่งในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขากลับสามารถอยู่กับความบกพร่องทางกายได้อย่างสุขสบาย

เช่นเดียวกับผู้ที่สูญเสียคนรักหรืออิสรภาพ ใหม่ๆ ก็ทำใจไม่ได้ แต่ถ้าให้เวลาแก่ตัวเองในที่สุดก็ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ หลังจากถูกจองจำหลายปีนักโทษหลายคนรู้สึกว่าคุกกลายเป็นบ้านของเขาไปแล้ว เมื่อถึงเวลาที่ต้องออกกลับรู้สึกอาลัยที่ต้องจากคุกไป

เคยมีการทดลองกรอกเสียงเครื่องดูดฝุ่นให้แก่คนสองกลุ่มผ่านหูฟัง ต่างกันตรงที่กลุ่มแรกได้ยิน ๔๕ วินาที กลุ่มที่ ๒ ได้ยินแค่ ๕ วินาที จากนั้นก็ถามทุกคนว่ารู้สึกรำคาญมากน้อยเพียงใดในช่วง ๕ วินาทีสุดท้าย ปรากฏว่ากลุ่มที่รู้สึกรำคาญมากที่สุดหาใช่กลุ่มแรกดังที่หลายคนเข้าใจไม่ กลับเป็นกลุ่มที่ ๒

ทำไมกลุ่มแรกจึงรู้สึกรำคาญน้อยกว่ากลุ่มที่ ๒ ทั้งๆ ที่ได้ยินเสียงระคายโสตประสาทนานกว่า คำตอบก็คือ หลังจากฟังมาได้ ๔๐ วินาที กลุ่มแรกก็เริ่มคุ้นเคยกับเสียงดัง ดังนั้นเมื่อถึง ๕ วินาทีสุดท้ายจึงรู้สึกรำคาญน้อยลง*

การทดลองดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความสามารถของจิตในการปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงแม้จะเป็นลบก็ตาม พึงสังเกตว่าจิตปรับตัวได้เองโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ทำอะไรเลย ถ้าเจ้าตัวทำบางสิ่งเพิ่มเติม เช่น เอาจิตมาจดจ่อที่ลมหายใจ หรือมีสติรับรู้ความรำคาญที่เกิดขึ้น หรือนึกในทางบวก (เช่นจินตนาการถึงทิวทัศน์ที่งดงาม) จิตจะปรับตัวหรือกลับมาเป็นปรกติได้เร็วขึ้น

ธรรมชาติของกายและใจนั้นมีความยืดหยุ่นและปรับตัวสูงมาก และหากเราไม่ปล่อยให้ธรรมชาติทำงานตามลำพังเท่านั้น แต่พยายามหนุนเสริมธรรมชาติอีกแรงหนึ่งด้วย การปรับตัวหรือฟื้นตัวก็จะเกิดเร็วขึ้น หลายคนที่แซกส์พูดถึงในหนังสือของเขาไม่ได้อยู่เฉยๆ ปล่อยให้สมองปรับตัวเอง แต่เพียรพยายามที่จะฝึกฝนตนและหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อมีชีวิตอย่างปรกติสุขท่ามกลางข้อจำกัดหรือปัญหาที่เกิดขึ้น หญิงชราผู้สูญเสียความสามารถทางภาษาเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก หลังจากที่ทุกข์อยู่นาน แต่เมื่อได้พัฒนาทักษะใหม่ๆ ในการสื่อสาร ถึงกับบอกว่าเธอโชคดีที่แผลในสมองของเธอไม่ถึงกับทำลายความทรงจำและความสามารถในการคิดของเธอ

ในทำนองเดียวกันแม้ร่างกายหรือสมองของเราเป็นปรกติ แต่หากจิตใจตกต่ำย่ำแย่เพราะความสูญเสียพลัดพรากหรือความผิดหวัง การเพียรฝึกจิตให้เข้มแข็งมั่นคง มีสติเท่าทันอารมณ์ และมีปัญญาตระหนักชัดว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาของชีวิต จิตก็จะฟื้นตัวขึ้นมาเป็นปรกติ และรู้สึกเป็นสุขได้ในสถานการณ์ใหม่

แต่ถึงแม้จะไม่ได้เพียรพยายามฝึกตนเลย เพียงแค่ให้เวลาแก่จิตใจของตนในการปรับตัวก็ช่วยได้ไม่น้อยแล้ว ข้อสำคัญอย่าด่วนตัดโอกาสดังกล่าวด้วยการคิดสั้นหรือทำร้ายตนเองเพราะคิดว่าชีวิตจบสิ้นแล้ว หรือเพราะคิดว่าความทุกข์ใจที่เกิดขึ้นนั้นจะคงทนถาวร อย่าลืมว่าแม้สถานการณ์ภายนอกจะเลวร้ายไม่เปลี่ยนแปลง แต่สภาวะในใจของเรานั้นเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และสามารถเปลี่ยนไปในทางที่ดีได้ด้วย

ว่าแต่ว่าเราแน่ใจแล้วหรือว่าสถานการณ์ภายนอกจะเลวร้ายไปตลอด

*อันที่จริงการทดลองดังกล่าวมีกลุ่มที่ ๓ ด้วย โดยฟังเสียงดังกล่าว ๔๐ วินาที จากนั้นเสียงเงียบหายไป ๒-๓ วินาที แล้วดังใหม่อีก ๕ วินาที ปรากฏว่ากลุ่มนี้รู้สึกรำคาญมากเช่นกัน ทั้งนี้เพราะแม้จะคุ้นเคยกับเสียงช่วง ๔๐ วินาทีแรก แต่พอเสียงเงียบหายไป ความคุ้นเคยก็หายตามไปด้วย ดังนั้นพอได้ยินเสียงนั้นอีกครั้งจึงรู้สึกรำคาญมาก การทดลองดังกล่าวยังชี้ว่าการที่สิ่งรบกวนหายไปชั่วขณะไม่ได้ช่วยให้รู้สึกดีขึ้น กลับทำให้แย่เหมือนเดิมหรือแย่ลงอย่างน้อยก็ในช่วงแรก