งานภาพดีเด่นจาก ค่ายสารคดี ครั้งที่ 9
เรื่อง : ธีรพงษ์ โชคสถิตย์

ภาพ : กิตติธัช โพธิวิจิตร

5:30 น นี่รถไฟฟ้าสายมรณะชัด ๆ กะจะแช่แข็งคนส่งออกใช่ไหม? จะหนาวไปไหน ถ้าจะเปิดแอร์แรงขนาดนี้ลดค่าโดยสารยังจะดีกว่า นี่ถ้าไม่ใช่เพราะรุ่นพี่ที่คณะบอกว่าให้มาแต่เช้า ให้ตายก็ไม่เห็นผมนั่งทนหนาวอยู่ตรงนี้หรอก เสียเวลานอนหมด วันนี้จุดหมายปลายทางของผมอยู่ที่ชุมชนสวนสมเด็จย่า ตามที่รุ่นพี่เล่าให้ฟัง เขาบอกว่า ชุมชนนี้เป็นชุมชนที่มีทั้งวัด ศาลเจ้า และมัสยิด คนไทย จีน แขกใช้ชีวิตอยู่ปะปนกันเต็มไปหมด แค่ผมนึกภาพตามก็น่าปวดหัวแล้ว แถมพี่เขายังบอกอีกว่า สมัยก่อนตอนที่ใช้เรือในการขนส่งเป็นหลักนั้น ตลาดเจริญมาก ๆ โกดังเก็บสินค้า โรงงาน จะค้าจะขายของอะไรก็ต้องมาที่นี่ แต่เดี๋ยวนี้พอวันเวลาเปลี่ยนไป ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปหมด เหลือไว้แต่เพียงเรื่องเล่าให้คนรุ่นหลังฟังเท่านั้น

5:50 น “พี่ครับไปสวนสมเด็จย่า 40 ใช่ไหมครับ” คิดเสียว่านั่งแท็กซี่ล่ะกัน นายท่ารถบอกว่า “รถสายนี้ขาด อย่ารอเลย กว่าจะมาก็อีกนาน” รถเมล์สาย 3 ไว้คราวหน้าผมจะมาใช้บริการใหม่นะครับ แต่วันนี้ผมสายแล้ว โทษที

5:55 น “พี่ครับ ๆ ผมไม่ได้รีบขนาดนั้น ผมยังไม่ได้แต่งงาน เรียนก็ยังไม่จบนะพี่ ใจเย็น ๆ พี่”

6:15 น ขอบคุณสวรรค์ที่ผมขาไม่ขาด แขนไม่หลุด คอไม่หัก เมื่อแรกพบผมอยากจะบอกว่า สวนสมเด็จย่าสวยมาก ต้นไม้เยอะมาก ถ้าพูดกันตามตรงนาน ๆ จะเห็นพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯสักที นี่โอเอซิสกลางทะเลทรายหรือเปล่า? แถมในสวนคนเยอะมาก คุณปู่เข็นรถเข็นพาหลานมาอวด “ไม่ใช่! พามาเที่ยว” มีการออกกำลังกายหลากหลายไล่เรียงกันไปตามความฟิต ไม่ว่าจะเป็นตีแบด วิ่งเดินรอบสวน โยคะ รำไทเก๊ก ทายสิหนุ่มสาวเหลือน้อยสุดทำอะไรกัน? คำตอบคือ รำชี่กงหน้าสวน กลุ่มนี้เด็ดสุดเท่าที่เดินสำรวจมา รำเหนื่อยก็เดินมานั่งเม้า พอหายเหนื่อยก็เดินไปรำต่อ เปรี้ยวเปล่าล่ะ! ผมยืนมองไม่ทันไรโดนเรียกไปรำด้วยแล้ว “ผมรำไม่เป็นครับ เป็นแต่รำไทยมาตรฐานครับ”

6:30 น รำชี่กงอยู่ อย่ามายุ่ง ผมปฏิเสธคุณป้าที่แสนใจดีและน่ารักไม่ได้จริง ๆ ทำไมอยู่ดี ๆ น้ำตาก็ไหลออกมาก็ไม่รู้ หือ ๆ T_T

oneday01

07:01 ผนังมีคำกล่าวสวัสดีในภาษาต่างๆ บนถนนช่างนาคกับบรรยากาศยามเช้า โดยมีอาซิ้มเดินผ่านมาหลังจากผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่สวนสมเด็จย่าฯ

7:30 น รำชี่กงจบแล้ว นี่คุณป้าคุณลุงเขารำกันได้ไงทุกวัน เหนื่อยมาก! สงสัยต้องชวนแม่มาลองบ้างแล้ว ผมยินดีที่จะแนะนำคุณป้าคนหนึ่งให้รู้จักครับ คุณป้าชื่อ วัชรปราณี ขวัญจิรา อายุ 65 ปี คุณป้าเป็นคนนำรำชี่กงคนปัจจุบัน เริ่มแรกเดิมทีคุณป้าไม่ใช่คนแถวนี้ ตอนนั้นสามีคุณป้าเสีย น้องสาวคุณป้าไม่อยากให้อยู่บ้านเฉย ๆ เลยพาคุณป้ามาออกกำลังกายที่นี่ คุณป้ารำไปรำมาได้สักพักคุณป้าก็ไปเรียนเพิ่มเติมข้างนอกอีก “ที่คุณป้าได้เป็นคนนำก็เพราะว่า คุณครูคนเก่าเสีย เพื่อนในกลุ่มเห็นว่าคุณป้ารู้มากที่สุด ท่าเป๊ะนะ เลยให้ออกมานำแทน” คุณป้ายังบอกอีกว่า มาที่นี่ก็สนุกดีไม่เหงา ได้คุยกับเพื่อน ๆ มีงอนกันบ้าง แต่แป๊บเดียวก็หายโกรธ “เมื่อก่อนแถวนี้ยังคึกคักนะ คนก็เยอะกว่าปัจจุบันนี้มาก แถวท่าน้ำยังมีบ้านคนอาศัยอยู่เลย แต่เดียวนี้หายกันไปหมดแล้ว”

oneday02

07:33 แสงยามเช้าสะท้อนกราฟฟิกการ์ตูนมนุษย์หินฟริ้นสโตนบนประตูบานเฟี้ยม ชาวไทยเชื้อสายจีนผู้นี้ ปฏิบัติตามหลักประเพณีไทยจีน ไทยพุทธ นั่นก็คือทำบุญตักบาตรและช่วยงานบุญศาลเจ้า

7:40 น เรื่องที่คุณป้าวัชรปราณีเล่ามา ทำให้ผมอยากรู้ต่อว่า ถ้าเป็นเมื่อ 60 ปีที่แล้ว สมัยคุณป้าคุณลุงยังเด็ก ๆ ยังวิ่งเล่นกันอยู่ ชุมชนนี้จะเป็นแบบไหนนะ?

7:45 น คำตอบของคำถามกระจ่างชัดมากขึ้นเมื่อผมได้คุยกับคุณป้า วิไลวรรณ (ไม่เปิดเผยนามสกุล) อายุ 60 ปี คุณป้าเป็นคนที่นี่ เกิดที่นี่ สมัยเด็ก ๆ ก็วิ่งเล่นอยู่แถวนี้ คุณป้าเล่าให้ฟังว่า ว่าอะไรนะ? อ๋อ! จำได้ละ “ป้าเกิดที่นี่ อยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็ก บ้านเก่าป้าอยู่หลังสวนนี้เอง” บ้านคุณป้าทำเป็ดทำไก่ขายหลังใหญ่มาก คุณป้าต้องตื่นตั้งแต่ตีสามมาช่วยทำเป็ดทำไก่ไปขายที่ตลาด เป็ดบ้านคุณป้ามีชื่อมาก แต่ตอนนี้คุณป้าอายุเยอะแล้ว คุณป้าบอกกับผมตรง ๆ เลยว่า “ป้าทำไม่ไหวแล้วนะลูก” คุณป้าเล่าให้ฟังพร้อมกับเดินนำเที่ยวว่า เมื่อก่อนตรงแถวศาลเจ้าพ่อเสือที่เรายืนกันอยู่นั่นเป็นตลาดทั้งหมดเลยเรียกว่า ตลาดสวนสมเด็จ คึกคักมาก คนจากที่ไหน ๆ ก็ต้องมาซื้อของที่นี่ บ้านแถวตลาดจะมีเยอะแยะมาก เป็นบ้านไม้สองชั้นบ้าง ชั้นเดียวบ้าง เต็มไปหมด ส่วนตรงสวนสมเด็จย่าส่วนใหญ่จะเป็นบ้านของคนแขก ส่วนบ้านคนจีนจะอยู่แถวบ้านคุณป้าตรงหน้ามัสยิดแทน “ตอนที่เขาขอที่คืนนั่นแหละ คนเก่าคนแก่ถึงหายออกกันไปเยอะมาก พูดแล้วป้าก็คิดถึงแต่ทำไงได้ล่ะหนู ที่ของเขา เขาขอที่คืน เราก็ต้องให้เขาไป” แต่คุณป้ายืนยันกับผมว่า ทุกวันนี้ช่วงที่ชุมชนมีงาน คนเก่าคนแก่ยังคงกลับมา เจอกันทีก็คุยกันเจ๊าะแจ๊ะ ๆ พูดแล้วคุณป้าก็บ่น คิดถึง

7:55 น สักพักก็มีเสียงแว่วดังมาจากข้างหลังว่า “อั๊วเองก็เกิดแถวนี้นะ โตแถวนี้ ปีนี้หกสิบกว่าแล้ว เดี๋ยวก็ตายอยู่แถวนี้อีกแหละ” ฟังแล้วก็ขำ

8:10 น ผมมาถึงวัดอนงค์ได้สักพักหนึ่งแล้ว แดดวันนี้ร้อนมาก ในพระวิหารประดิษฐานพระประธาน ซึ่งชาวบ้านละแวกนี้เรียนว่า พระจุล-นาค ผมได้ก้มลงกราบพระและหาที่นั่งพับเพียบให้เรียบร้อย ภายในพระวิหารลมพัดเอื่อย ๆ ทำให้ไม่รู้สึกร้อนมากนัก ผมนั่งดูภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารสักพัก ก็สังเกตเห็นรูปถ่ายของสมเด็จย่ากับพระเถระรูปหนึ่ง ทำให้นึกได้ว่าที่นี่คือบ้านเก่าของสมเด็จย่า ท่านเกิดที่นี่ โตที่นี่ ผมรู้สึกดีใจที่ครั้งหนึ่งได้มาเยี่ยมชุมชนนี้ ผมรู้สึกเหมือนใกล้ชิดท่านเข้าไปอีกก้าวหนึ่ง

oneday03

08:14 ภายในสวนสมเด็จย่า กิจกรรมรำชีกงดำเนินเพิ่มสีสันต์และบำรุงสุขภาพให้กับชีวิตของผู้สูงอายุ

8:20 น ระหว่างที่เดินชมวัดอนงค์ ผมพบว่าวัดมีลักษณะ “อกแตก” สมัยก่อนวัดมีขนาดใหญ่ไม่ได้แบ่งวัดเป็นซีกบนหรือซีกล่างเหมือนในปัจจุบัน แต่แล้วก็มีถนนมาตัดผ่ากลาง ทำให้วัดถูกแบ่งออกเป็นสองซีก ซีกล่างจะเป็นสถานที่ทำพิธีต่าง ๆ ส่วนซีกบนจากการพูดคุยกับคุณป้า วรรณดา สาระปรุง อายุ 56 ปี คุณป้าบอกว่า “ฝั่งนู้นเกือบทั้งหมดเป็นกุฏิสงฆ์ ไม่ค่อยจะมีการทำพิธีสงฆ์ที่ฝั่งนู้นมากนัก”

8:35 น หลังทำบุญเสร็จ ผมได้มีโอกาสนั่งคุยกับคุณป้าวรรณอีกครั้ง คุณป้าเล่าให้ฟังว่า วัดอนงค์แห่งนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 สร้างโดย ท่านผู้หญิงน้อย บุนนาค ภริยาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ที่ดินวัดนี้เป็นของท่านผู้หญิงน้อยที่มอบให้กับวัด “แต่ก่อนเมื่อสร้างวัดเสร็จใหม่ ๆ ไม่ได้ชื่อวัดอนงคารามนะ ชื่อ วัดอนงทายิการาม แต่ชาวบ้านจะเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า วัดน้อยขำแถม” ซึ่งที่มาของชื่อ วัดน้อยขำแถม มาจากชื่อของท่านผู้หญิงน้อย(ผู้สร้างวัด) กับชื่อของ นายขำ ชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งมอบที่ดินของตนส่วนที่ติดกับวัดให้เพิ่มมาอีก แล้วภายหลังถึงได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดอนงคาราม ซึ่งเป็นชื่อวัดที่ชาวบ้านใช้เรียกกันในปัจจุบันนี้

8:40 น แสดงว่าวัดนี้มีความผูกพันกับชุมชนนี้มานานมากเลยสิครับคุณป้าวรรณ? “ใช่จ้ะ! สมเด็จย่าท่านเรียนที่นี่ โรงเรียนวัดอนงนี่แหละ ท่านเป็นลูกศิษย์ของสมเด็จนวม” ในพระวิหารด้านหน้าจะมีรูปที่สมเด็จยายกำลังคุยกับสมเด็จนวมตั้งอยู่ แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ในปัจจุบันโรงเรียนวัดอนงค์ถูกรื้อไปแล้ว จะเหลือแต่โรงเรียน สตรีวุฑฒิ โรงเรียนเอกชนที่มีผู้บริจาคให้วัดดูแลต่อ ซึ่งทุกวันพระทางโรงเรียนก็จะนำนักเรียนมาฟังเทศน์สวดมนต์ที่นี่อีกด้วย และโรงเรียนสอนศาสนาวันอาทิตย์ตึกสี่ชั้น (ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างของพระวิหาร) “ที่นี่เป็นโรงเรียนสอนศาสนาพุทธอันดับหนึ่งของประเทศเลยนะ สอนฟรี ทุกอย่างฟรีหมด” ช่วงเช้าสอนเกี่ยวกับศาสนา ส่วนตอนบ่ายจะมีการจัดการเรียนการสอนตามความสนใจของผู้เรียน เช่น แดนเซอร์ ดนตรีไทย ภาษาอังกฤษ โดยมีจิตอาสามาช่วยสอน “วัดนี้เขาไม่ได้เน้นอะไรเลย ไม่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ใด ๆ ทั้งสิ้น เน้นแค่ว่าให้ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้วเอาไปใช้กับชีวิตประจำวันให้ได้”

9:30 น ผมไม่เคยเข้าไปในมัสยิดมาก่อน ครั้งนี้นับได้ว่าเป็น “ครั้งแรก” และคุณก็รู้ ครั้งแรกมักมีอะไร “พิเศษ” เกิดขึ้นเสมอ ที่นี่ไม่ใช่วัดที่ผมเข้าออกตั้งแต่เด็กยันโต ไม่ใช่ศาลเจ้าที่อาม่าพาไปไหว้บ่อย ๆ แต่มัสยิดนี่สิ ผมไม่เคยเข้าไปเลยจริง ๆ ในหัวผมตอนนี้กำลังนึกถึงข้อห้ามต่าง ๆ ที่พอจะรู้มา ใจหนึ่งก็กลัวไม่กล้าเข้า อีกใจหนึ่งก็คิดว่า “ไหน ๆ ก็มาแล้ว ขอเข้าไปดูข้างในสักหน่อยเถอะ” แต่สุดท้ายผมก็ได้แต่ไปยืนเกาะกำแพงอยู่นานสองนาน เผื่อเจอใครที่อยู่ข้างในจะได้ขอเข้าไปข้างใน สักพักก็มีเสียงมอเตอร์ไซค์ดังมาจากด้านหลัง “นั่นใคร มาทำอะไรที่นี่” “โอ๊ยพี่ ใจเย็น ๆ ผมไม่ใช่โจรครับ ผมไม่ได้มาขโมยอะไร ผมเป็นแค่นักท่องเที่ยว อย่าทำอะไรผมเลยนะครับ” นี้คือสิ่งที่ผมคิดแต่สิ่งที่ผมพูดคือ “ผมเป็นนักท่องเที่ยวจะขอเข้าไปเยี่ยมชมมัสยิดสักหน่อยได้ไหมครับ?” เขาก็อนุญาตอย่างรวดเร็ว แถมไปเรียกอิหม่าม เรือเอกนาวิน สาสนกูล มาให้ด้วย ใจดีมาก ๆ วันนี้โชคดี ฝุด ฝุด

9:45 น ศัพท์ซ่ามาแรงประจำวันนี้ของผม คือ “อิหม่าม หัวหน้าชุมชนของคนมุสลิมในชุมชนนั้น ๆ และยังเป็นผู้นำในการทำพิธีต่าง ๆ ของศาสนาอิสลามอีกด้วย” ผมเปิดประเด็นถามอิหม่ามนู่นนั่นนี่เยอะไปหมดเกี่ยวกับความสงสัยในศาสนาอิสลามที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน จนในที่สุด อิหม่ามถึงขั้นชวนผมมานั่งคุย เพราะผมไปขอให้อิหม่ามเล่าประวัติของมัสยิดที่นี่ให้ฟัง

9:50 น อิหม่ามเริ่มเล่าด้วยการเท้าความไปยังอดีตว่า “ถ้าจะให้เล่าเรื่องชุมชนมุสลิมที่นี่ ต้องย้อนไปถึงต้นรัตนโกสินทร์” คนมุสลิมที่มาอยู่ที่นี่ส่วนใหญ่มาจากสองกลุ่ม กลุ่มแรกมาจากการกวาดต้อนแม่ทัพ ทหาร แกนนำคนสำคัญ จากเหตุการณ์การแข็งข้อของหัวเมืองทางภาคใต้ สมัยที่ยังมีรัฐปัตตานีอยู่ และส่วนกลุ่มที่สองป็นพ่อค้าที่มาจากอินเดียมาค้าขายสินค้าหรือรับราชการ มัสยิดหลังนี้มีที่มาจากสมัยก่อนคนฝั่งนี้เวลาจะไปทำพิธีทางศาสนาก็ต้องข้ามแม่น้ำไปทำพิธีฝั่งตรงข้าม (อิหม่ามหมายถึง มัสยิดต้นสน) สมเด็จเจ้าพระยาพิชัยญาติเห็น ท่านจึงดำริให้มีการสร้างมัสยิดที่ฝั่งนี้ขึ้น โดยมีการรวมเงินมาจากทั้งพ่อค้าชาวอินเดียและคนมุสลิมที่อพยมมาจากภาคใต้ ในที่สุดก็สร้างเป็นมัสยิดสำเร็จเรียกมัสยิดหลังนี้ว่า “มัสยิดตึกแดง”

9:53 น “แล้วทำไมถึงเรียกว่ามัสยิดตึกแดงล่ะครับ ทั้งที่ตัวมัสยิดขาวจั๊วะขนาดนี้? ผมถามเพราะสงสัยตามที่เห็นจริง ๆ ” ชื่อของมัสยิดตึกแดงนั่นมาจาก สมัยก่อนบริเวณที่สร้างมัสยิดส่วนใหญ่เป็นโกดังเก็บสินค้าของท่านสมเด็จเจ้าพระยาพิชัยญาติ โกดังของท่านสร้างจากอิฐสีแดงแล้วไม่ได้โบกปูนทับ พอมาสร้างมัสยิดเสร็จคนในชุมชนจึงนิยมเรียกมัสยิดนี้ว่า มัสยิดตึกแดง “เข้าใจหรือยัง?”

9:55 น อิหม่ามเล่าต่อไปว่า “สมัยก่อนจะเรียกมัสยิดตึกแดงว่า เป็นศูนย์กลางของคนมุสลิมในกรุงเทพฯเลยก็ได้นะ” คุณปู่ของอิหม่ามท่านก็เป็นอิหม่ามเช่นเดียวกัน ท่านเชี่ยวชาญด้านภาษามาก มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะแยะมากมาย “เชื่อไหมว่า คนมุสลิมจากที่ไหน ๆ ก็ต้องมาเรียนศาสนาที่นี่ จากปักษ์ใต้ก็ยังมีมาเรียนเลย” สมัยก่อนคนจะมาละหมาดที่นี่เยอะมาก เรียกได้ว่า “มัสยิดแน่นทุกวัน” แต่พอคนแถวนี้โดนเวนที่คืน คนก็หายไป คนที่มามัสยิดก็หายไปเช่นกัน จนในปัจจุบันเหลือครอบครัวมุสลิมอยู่แค่ 10 ครอบครัว แต่ในมุมมองของอิหม่ามเรื่องที่แย่กว่านั้นคือ คนสมัยนี้ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับศาสนา จะมามัสยิดแค่ในวันละหมาดใหญ่วันศุกร์เท่านั้น แต่ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลง ที่นี่ยังคงสอนศาสนาในตอนเย็นของทุกวันเหมือนเดิม คนเก่าที่ย้ายออกไปก็ยังคงกลับมาอยู่ทุกวันศุกร์เช่นกัน

10:00 น พอฟังแล้วผมรู้สึกเศร้าใจยังไงก็ไม่รู้ แต่คงไม่ใช่แต่ศาสนาอิสลามหรอกครับ ทุกศาสนาสมัยนี้ก็เป็นแบบนี้กันหมด คนหันไปสนใจที่ตัววัตถุมากกว่าจิตใจ ศาสนาไม่สำคัญเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว “จะสำคัญก็แต่ iPad ต้องมีให้ลูกเล่น เดียวลูกจะอายเขา”

10:10 น วันนี้มีงานวันเกิดเจ้าพ่อเสือ จึงจำเป็นต้องหาฤกษ์งามยามดีในการจดบันทึก (เกี่ยวไหม?) แต่ที่สำคัญศาลเจ้าพ่อเสือไปทางไหน?

oneday04

10:24 เครื่องเซ่นไหว้โต๊ะใหญ่และนางรำแก้บน เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในงานบวงสรวงเนื่องในวันเกิดของเจ้าพ่อเสือ

10:30 น ในที่สุดผมก็เดินถึงศาลเจ้าพ่อเสือ ผมรู้สึกเหมือนเป็นนักท่องเที่ยวไฮโซที่เดินไปสามก้าวก็หยุดถามทาง แถมยังไม่ทันครบสิบก้าวก็หยุดถามอีกครั้งหนึ่ง แนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวท่านอื่นนะครับ ชุมชนนี้ซอยเยอะมาก ๆ “อย่าคิดว่าดูแผนที่แล้วไม่ถามทางเลยจะไปถูก” แต่ล่ะซอยก็ไม่ได้ขนานกันไปนะครับ “คุณคิดผิด!” ยังมีซอยซ้อนซอยในซอยนั้นอีก “จะให้ไม่หลงทางเลยก็เก่งไปละ”

10:45 น เมื่อก่อนศาลเจ้าพ่อเสือเป็นศาลเจ้าไม้ชั้นเดียวตั้งอยู่กลางตลาดสวนสมเด็จ ซึ่งเป็นตลาดที่เจริญมาก คนจากฝั่งพระนครต้องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาซื้อของที่ตลาดนี้ ปีพ.ศ.2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ศาลเจ้าพ่อเสือได้รับความเสียหายจึงมีการบูรณะศาลใหม่เป็นศาลไม้สองชั้น แต่แล้วยังไม่ทันไรก็เกิดไฟไหม้ตลาดครั้งใหญ่อีกครั้ง เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ตลาดสวนสมเด็จเสียหายหนักจนต้องปิดตลาดไป แต่ศาลไม่ได้รับความเสียหายมาก ชาวบ้านในชุมชนจึงช่วยกันบูรณะศาลอีกครั้ง เป็นอาคารทำด้วยปูน แต่ด้วยพลังศรัธาและเลื่อมใสในศาลเจ้าพ่อเสือจึงมีการบูรณะอีกครั้ง เป็นหลังคาแปดเหลี่ยมและขยายพื้นที่ศาลออกไป อย่างเช่นที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ “ถามว่าผมรู้มาจากไหนน่ะเหรอ? มีป้ายบอกอยู่หน้าศาลเจ้า อ่านสิครับ อ่าน อ่านกันให้สนั่นเมือง ไปเลย”

11:00 น ตอนที่ผมมาถึงพิธีเวียนเทียนใกล้จะเริ่ม ผมเลยถูกหางเลขให้ไปช่วยกันนั่งล้อมรอบศาลเจ้าคนจะได้เต็ม ๆ เวียนเทียนไปผมก็คุยกับคุณป้าข้าง ๆ ไปคุณป้าชื่อ อัมพร วรรณศุภผล อายุ 55 ปี คุณป้าถามผมว่า “หนูมาทำอะไร มาจากไหนจ๊ะ?” พอคุยกันถูกหูเท่านั้นแหละ คุณป้าเลยเล่าว่า ”ที่นี่เป็นศาลที่เก่าแก่มาก ป้าเกิดมาก็เห็นแล้ว ตอนนั้นเป็นศาลเล็ก ๆ เอง” ต่อมาคนในชุมชนก็ร่วมมือร่วมใจกันบูรณะให้ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา ครั้งล่าสุดมีคนบริจาคที่ดินข้างหน้าศาลเจ้าพ่อเสือให้ ถ้าเปรียบเทียบขนาดของศาลเจ้าพ่อ-เสือที่ผมยืนอยู่ตอนนี้กับรูปถ่ายศาลเจ้าพ่อเสือเมื่อสมัยก่อน ผมบอกได้เลยว่าศาลเจ้าพ่อเสือได้รับการบูรณะให้ใหญ่โตขึ้นมาก แสดงให้เห็นว่า ศาลเจ้าพ่อเสือเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนที่นี่ ปี ๆ หนึ่งจะมีงาน 2 ครั้ง คือวันเกิดท่านจะมีลิเกมาเล่น กับงานประจำปีของศาลเจ้าพ่อเสือจะมีงิ้วมาเล่นถวายท่านอีกด้วย ผู้คนจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาไหว้ตลอด มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่โอกาสและวันเวลา แต่ถ้าวันพระจีนหรือตรุษจีนคนจะเยอะมาก “ป้าไหว้มาตั้งแต่เด็ก ป้าเกิดที่นี่ แต่งงานมีครอบครัวก็อยู่ที่นี่ ไม่ได้ย้ายไปไหน”

11:15 น คุณป้ายังเล่าอีกว่า “คณะกรรมการแต่ละปีก็จะจัดงานแบบนี้ทุกปี ไม่เคยที่จะไม่กล้าจัด ก็เป็นที่พูด ๆ กันของชาวบ้านว่า เคยมีอะไรให้ท่านก็ต้องมีตามที่เคยมี ละครก็ต้อง 2 วัน งิ้วก็ต้อง 4 วัน ถ้าไม่มีคนในชุมชนก็จะรู้สึกไม่สบายใจ กลัวว่าแถวบ้านตัวเองจะมีเหตุร้าย” คุณป้าอ้างถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ตลาดสวนสมเด็จครั้งใหญ่ว่า ตอนนั้นเป็นงานประจำปี แต่มีการเล่นงิ้วแค่ 3 วัน เนื่องจากปัญหาเรื่องวันแสดงงิ้วที่ไม่ลงตัว เลยเป็นเหตุให้เกิดเรื่องร้ายขึ้น “แต่จะจริงหรือเปล่า ป้าก็ไม่รู้นะ ป้าก็เห็นคนเก่าคนแก่เขาพูด ๆ กัน”

oneday06

11:33 อัลลอหุ อักบัร การละหมาดถือเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่ชาวมุสลิมทุกๆคนจะไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น ถึงแม้เป็นกษัตริย์หรือข้ารับใช้จะมีแต่ความเสมอภาคเท่าเทียมกันหมดบนผืนธรณี

11:40 น “จุดสุดยอดของการครัว ไม่ได้อยู่ที่การกินหรือการทำกับข้าว แต่อยู่ที่การให้ การได้กินร่วมกัน อาหารจานล้ำไม่ควรเสพอยู่คนเดียว”

เหลียงเว่ย, เถ่าชิ่วคนสุดท้าย, ปักกิ่ง 1925

เรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ทำให้ผมนึกถึงคำพูดบทนี้ขึ้นมา เป็นเรื่องถูกต้องที่เราจะพูดว่าอาหารที่อร่อยนั้นอยู่ที่ฝีมือคนทำ แต่เรื่องที่ถูกต้องมากกว่าคือ ความอร่อยไม่รู้ลืมนั้นไม่ได้อยู่ที่ฝีมือคนทำแต่อยู่ที่ฝีปากคนทำต่างหาก ร้านอาหารไทยร้านนี้เป็นอีกร้านหนึ่งที่อร่อยไม่รู้ลืม ผมคงต้องจดทางไปไว้ในนี้ก่อนที่จะลืม เพราะตั้งใจว่าจะกลับไปอีกหลายครั้งในเร็ววันนี้ เริ่มต้นที่สวนสมเด็จย่า ให้เดินออกมาที่ถนนข้างสวน จากนั้นเดินตรงไปจะเป็นทางสามแยก ด้านหน้าคือตึกแถวให้เลี้ยวขวา จะเห็นมัสยิดจะอยู่ตรงหน้าด้านขวามือจะเป็นที่จอดรถให้เดินไปตามถนน จากนั้นเลี้ยวซ้ายจะเห็นซอยเล็ก ๆ อยู่ด้านซ้ายมือ มองเข้าไปจะเห็นคุณป้า ศรีรัตน์ เต็มสิรินัย ยืนผัดข้าวอยู่พร้อมเสียงดังแผดแก้วหูว่า “ไอ้หนูมากินข้าวเหรอ มาเลย ๆ กินอะไรดี”

12:00 น ข้าวผัดปลาเค็มกลิ่นหอม ๆ ลอยอยู่ตรงหน้าใครล่ะจะอดใจไหว แต่เรื่องแค่นี้ยังไม่น่าตื่นเต้นเท่า ร้านคุณป้าศรีรัตน์ยังใช้เตาถ่านอยู่ คุณป้าบอกว่า “ป้าใช้เตาแก๊สไม่เป็นจริง ๆ” อาหารในร้านมีหลากหลายมาก ผักนานาชนิดจะถูกหั่นแยกไว้บนถาดเป็นอย่างดี “เวลาจะสั่งอะไรแปลก ๆ หนูต้องถามป้าก่อนนะว่าหมดรึยัง?” เป็นคำพูดที่ป้าบอกผมก่อนสั่งอาหาร คงเป็นเครื่องการันตีได้ถึงฝีมือการทำอาหารของป้าศรีรัตน์ คุยกันไปคุยกันมาถึงได้รู้ว่าคุณป้าเป็นคนสุพรรณ “คนสุพรรณนี้ทำอาหารอร่อยจริง ไม่เคยผิดหวังเลย”

12:10 น คุณป้ามีลูกมือสองคนเป็นลูกสาวของคุณป้าเอง “ลูกป้าสองคนเขาเรียนสูงนะ แต่มาช่วยแม่ขายข้าว” ป้ามีคำสอนที่สอนให้ลูกตั้งใจรำเรียนไม่เกียจคร้านว่า “ทุกคนต้องเรียน ถ้าไม่เรียนแล้วโง่ฉิบหายเลย” ผมหัวเราะท้องแข็งเลยจริง ๆ ลูกสาวคนโตของคุณป้าที่นั่งล้างผักกะเฉดอยู่ข้าง ๆ อดที่จะอมยิ้มตามคำสอนของคุณป้าไม่ได้ ลูกสาวของคุณป้าคนนี้ชื่อ ชมนาถ เต็มสิรินัย อายุ 35 ปี

12:30 น ผมคุยกับคุณป้าเยอะแล้วเลยเปลี่ยนมาคุยกับพี่ชมนาถบ้าง “พี่ครับพี่เห็นแม่พี่ขายของแบบนี้มาตั้งแต่เด็กพี่รู้สึกอย่างไรบ้างครับ” เสียงหัวเราะของคุณป้าดังมาแต่ไกล “หนูอย่าถามแบบนี้เดี๋ยวป้าน้ำตาไหล” พี่ชมนาถหยุดคิดสักพักแล้วตอบผมกลับมาว่า “รู้สึกยังไงเหรอ? จริง ๆ ก็อยากให้แม่หยุดแล้วนะ เพราะอายุเขาก็เยอะขึ้น แต่งานแบบนี้ต้องช่วยกันไม่สามารถทำคนเดียวได้” สมัยตอนที่พี่ชมนาถยังเด็ก ๆ คุณป้าศรีรัตน์จะขายข้าว 2 ที่ คือที่นี่กับที่ตลาดสวนสมเด็จ คนที่มาจากข้างนอกอย่างผมจะได้กินที่ตลาด เพราะลำพังจะให้เดินเข้ามาที่นี่ ถ้าไม่ใช่คนพื้นที่จริง ๆ คงมาไม่ถูก เพราะบ้านป้าศรีรัตน์อยู่ลึกจากปากซอยมาก

12:40 น “แต่เท่าที่ผมทราบมา ปัจจุบันนี้ไม่มีตลาดสวนสมเด็จแล้ว ชุมชนเปลี่ยนแปลงไปมากไหมครับ?” พี่ชมนาถเล่าว่า หลังจากที่ตลาดสวนสมเด็จปิดไป ชุมชนที่นี่ก็เงียบเหงาไปตามตลาดที่ปิดตัวลงไปด้วย แต่ในปัจจุบันคณะกรรมการชุมชนพยายามช่วยกันทำให้ “ตลาดดูไม่เงียบ” เช่น มีการติดกล้องวงจรปิด จัดตลาดนัดคนเดิน ส่วนคนรุ่นใหม่ก็พากันย้ายออกไปข้างนอก ไปอยู่ใกล้ที่ทำงาน ที่นี่จะเหลือแต่คนเก่า ๆ แก่ ๆ ไม่ได้ทำอะไรอยู่แต่บ้าน “พี่ชมนาถพูดแล้วก็หันไปมองแม่ตัวเอง”

12:50 น “อ้าวแล้วทำไมพี่กลับมาล่ะครับ?”

ปล. พี่เขาตอบคำถามผมได้ประทับใจมาก แต่ทำไมผมไม่อยากเขียนต่อก็ไม่รู้ บ้างครั้งคำตอบคงไม่ใช่สาระสำคัญกระมังครับ

oneday05

13:07 วันนี้เป็นวันครบรอบการเสียชีวิตอากงของหมวยเล็ก พื้นที่บ้านเพียง 23 ตารางเมตรตั้งโต๊ะไหว้อย่างหรูหรา มีทั้งหูฉลามไล่ไปจนถึงเป็ดย่าง กิจกรรมนี้รวมญาติพี่น้องที่แยกย้ายกันให้กลับมาอยู่ในถิ่นมาตุภูมิอย่างพร้อมหน้า

13:15 น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอนที่ผมได้พูดคุยกับ พี่เนย วงศ์วิทย์ วานิชอังกูร อายุ 23 ปี ชื่อนี้ผ่านหูผมมาตั้งแต่เช้าเพราะผมไปถามอิหม่ามว่า “มีวัยรุ่นที่สนใจในศาสนาอิสลามบ้างไหมครับ?” ผมไม่คาดคิดว่าจะได้พบเจอพี่เขาเร็วขนาดนี้ ตอนนั้นในมัสยิดกำลังมีการเทศนาก่อนที่จะมีการละหมาด ผมสังเกตเห็นวัยรุ่นคนหนึ่งมาสาย แถมเขาดูรีบร้อนมากด้วย ผมก็ไม่รู้หรอกว่าเขาคือใคร แค่คิดในใจว่าถ้าพี่เนยไม่มาจะถามคนนี้แทน แล้วโลกนี้ก็เล่นตลกกับผมจริง ๆ เมื่ออิหม่ามแนะนำพี่เนยให้ผมรู้จัก “สงสัยเป็นการดลใจของพระเจ้าให้เราได้คุยกัน”

14:00 น “คุยกันมาร่วมชั่วโมงถามว่าหิวน้ำไหม? ไม่ ปวดห้องน้ำไหม? ก็ไม่ สนุกไหม? มาก” เรื่องราวต่าง ๆ ของศาสนาอิสลามถูกยิงเข้ามาในหัวผมเต็มไปหมด ผ่านหูซ้ายทะลุหูขวา วนรอบหัวหนึ่งรอบ แล้วก็เข้าหูซ้ายเหมือนเดิม เอาเป็นว่าผมขอเล่าเองละกัน ไม่งั้นคงไม่จบ

oneday07

14:11 วงศ์วิทย์ มุสลิมวัยรุ่นที่มีจุดพลิกผันจากหนุ่มนักดนตรีเดี่ยวเปียโนในอดีต กำลังกลับกลายมาเป็นความฝันที่จะเป็นโต๊ะอิหม่ามในอนาคต

14:25 น จุดเริ่มต้นของพี่เขาไม่ได้สวยมากนัก เรียกได้ว่าเดินผิดทางเลยจะดีกว่า พี่เขาเรียนที่โรงเรียนคริสต์ นับได้ว่าเป็นคนมุสลิมคนเดียวในห้อง ซึ่งตอนนั้นพี่เขาไม่รู้หรอกว่าคนมุสลิมที่ดีต้องทำอย่างไร เพราะเพื่อนมุสลิมที่อยู่โรงเรียนเดียวกันก็ยังทำผิดกฎของศาสนาจนกลายเป็นเรื่องปกติ “แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้”

14:30 น ใช่! สำหรับผมความไม่รู้ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายอะไร แต่การยอมรับความผิดและแก้ไขสิ่งที่ผิดหลังจากที่รู้แล้วต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญมากกว่า จุดหักเหของพี่เนยไม่ได้เริ่มจาก อิหม่ามหรือหนังสือสอนศาสนาใด ๆ แต่เริ่มจากสิ่งใกล้ตัวคือ อินเทอร์เน็ต จากความสงสัยในความขัดแย้งของสิ่งที่พี่เขากระทำกับความเชื่อในศาสนา จุดนี้เองทำให้ความฝันของพี่เนยเปลี่ยนไป ตอนนี้เขามีความฝันอยากจะเป็นอิหม่าม บุคคลที่เขาเคารพรัก เพื่อจะได้เผยแพร่ศาสนาและสืบต่อศาสนาที่เขารักให้อยู่กับชุมชนต่อไป

14:45 น ผมคิดเอาเองว่า พี่เนยมีอดีตจากความไม่รู้ เขาจึงไม่อยากให้คนรุ่นต่อไป ๆ เดินผิดทางเหมือนที่ตนเคยเดิน เพราะบางคนเมื่อเดินผิดทางแล้วก็ไม่อาจจะย้อนกลับมาได้อีก “โอกาสไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคน” ถ้าถามพี่เนยเกี่ยวกับมุมมองต่อชุมชนในอนาคตว่าจะเป็นเช่นไร? เราทุกคนอาจจะคาดหวังคำตอบที่ว่า คงจะเจริญขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงนู่นนี่นั่นต่าง ๆ นานา แต่สำหรับผู้ชายคนนี้ เขาตอบผมแต่เพียงว่า “เราไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นยังไง จะดีขึ้นหรือแย่ลง เป็นการกำหนดของพระผู้เป็นเจ้า พี่ไม่มีอำนาจ แม้แต่อิหม่ามก็ไม่มีอำนาจใด ๆ ทั้งสิ้น เราทำได้แค่พยายามวิงวอนและอดทนทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง” มุสลิมท่านหนึ่งว่าไว้

15:00 น ก่อนที่ผมจะลากลับ พี่เนยได้พูดประโยคหนึ่งที่กินใจผมเกี่ยวกับการเป็นคนมุสลิมที่ดีว่า “ถ้าเราสละเวลามาละหมาดสัก5 นาที10 นาทีไม่ได้ แล้วเราจะไปทำอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ให้สำเร็จได้” มุสลิมท่านเดิมว่าไว้อีกที

oneday08

16:25 หลังเวลาคล้อยบ่ายช่วงปิดภาคเรียนของเด็กๆ กิจกรรมเล่นซ่อนแอบในอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่าฯ เพิ่มบรรยากาศเงียบสงัดของสวนให้ครึกครื้นได้ในพริบตา

16:30 น วันนี้ผมรู้สึกเหมือนผมกำลังมองภาพขาวดำที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน มองจากข้างนอกจะเห็นเป็นภาพขาวดำสวยงามแปลกตา แต่ถ้าผมมองลึก ๆ ลงไป ผมกลับเห็นสีอื่น ๆ ที่อยู่ปะปนกันอย่างลงตัวมากกว่าสีขาวกับสีดำ เหมือนกับว่าผมได้ไปท่องเที่ยวตามช่วงเวลาต่าง ๆ ของชีวิต ไปฟังเรื่องราวเก่า ๆ ไปเห็นสภาพปัจจุบัน ไปฝันถึงอนาคต

oneday09

17:59 คาบสอนนอกโรงเรียนของครูอดุล สำหรับวิชาอัลกุรอาน ในห้องเรียนเล็กๆใต้มัสยิดตึกแดงกำลังจะเริ่มขึ้น

oneday10

18:07 บรรยากาศยามเย็นของ ๑ ชุมชนเก่าแก่ที่มีความสัมพันธ์ ๒ ศาสนาและ ๓ เชื้อชาติ ยังคงดำเนินต่อไปตามกาลเวลาอย่างช้าๆด้วยวิถีชีวิต โดยมีสายนทีของเจ้าพระยากั้นความเจริญที่เร่งรุดฝั่งตรงกันข้ามให้เจริญเติบโตด้วยพื้นฐานของวัตถุ

18:00 น “ถึงบ้านแล้ว!” ถ้าเปรียบเทียบว่า ขาไปคือขั้วโลกเหนือ ขากลับคือนรกชัด ๆ “นรกจริง ๆ ร้อนก็ร้อนเบียดกันอยู่นั่นแหละ” แต่การท่องเที่ยวในวันนี้ทำให้ผมนึกถึงเกมส์เกมส์หนึ่งที่ผมชอบเล่นกับแม่ทุกครั้งที่เราไปกินข้าวนอกบ้าน เมื่อกินเสร็จ เดินออกจากร้านปุ๊บ! เราจะถามกันว่า “ร้านนี้ผ่านไหม?” เหมือนเป็นการระบายความอัดอั้นตันใจ ระหว่างที่นั่งกินผมก็พูดในร้านไม่ได้ใช่ไหมครับว่า “อาหารร้านนี้ไม่อร่อยเลย” หรือ “ทำไมร้านนี้แต่งร้านตลกแบบนี้” เหมือนเป็นการลองใจกันว่า คราวหน้าเราจะมากินกันอีกไหม? แล้วถ้าย้อนกลับเอาคำถามนี้มาถามผมบ้างละว่า “ชุมชนสวนสมเด็จย่า ผ่าน ไหม?” ผมจะตอบโดยไม่ลังเลเลยว่า ผ่าน !!!

ถ้าถามผมว่าทำไมให้ผ่านล่ะ? แสดงว่าคุณไม่ได้ตั้งใจอ่านตั้งแต่ต้นหรือไม่คุณก็อ่านข้าม กรุณากลับไปอ่านตั้งแต่ต้นนะครับ

 

24:00 น “แม่ ผม ขอ ตังค์ ไป ซื้อ iPad หน่อย ครับ ” Z z z