งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 9
วรรณ์ฐิตา พวงจันทร์แดง : เขียน
วรรษมน ไตรยศักดา : ภาพ

bangrak01

เส้นทางสายศรัทธาที่บางรัก
bangrak03
bangrak04
bangrak05
bangrak06
bangrak07
bangrak08
 

ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี บริเวณหน้าสำนักงานเขตบางรักจะคลาคล่ำไปด้วยคู่รักที่ยืนเข้าแถว รอคอยวินาทีสำคัญของการจรดปลายปากกาลงบนทะเบียนสมรสและการเริ่มต้นชีวิตในฐานะสามี-ภรรยาภายใต้ระเบียบทางกฎหมาย แต่เมื่อวันเวลาแห่งความชื่นมื่นผ่านพ้น ชื่อของเขตบางรักก็ดูจะลางเลือนไปจากความสนใจของสังคม

แท้ที่จริงแล้ว เขตบางรักเป็นพื้นที่ที่ควรค่าแก่การศึกษาและแวะเวียนไปเยี่ยมชม เพราะมีประวัติความเป็นมายาวนาน สามารถสืบค้นกลับไปได้ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานที่ดินบริเวณวัดกาลหว่าร์หรือวัดแม่พระลูกประคำให้เป็นที่อยู่ของผู้นับถือศาสนาคริสต์ แต่ในเวลาต่อมา ชาวจีนรวมทั้งชาวตะวันออกกลางหรือ “แขก” ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ร่วมทำการค้าในละแวกเดียวกัน ชุมชนดังกล่าวจึงเริ่มขยับขยาย เป็นที่รู้จักในด้านย่านการค้าและศูนย์รวมความเจริญของกรุงเทพ และพัฒนาเป็นชุมชนนานาชาติในชื่อ “บางรัก” ในท้ายที่สุด

ด้วยเหตุนี้ เขตบางรักจึงเปรียบเสมือนโลกขนาดย่อมที่รวบรวมผู้คนจากหลายเชื้อชาติหลากศาสนาเข้าไว้ด้วยกัน ถนนแต่ละเส้นที่ตัดผ่านเขตบางรัก ไม่ว่าจะเป็นถนนเจริญกรุง ถนนสี่พระยา ถนนสาทร ถนนสีลม ฯลฯ ก็ดูเหมือนจะนำไปสู่เส้นทางแห่งศรัทธาที่แตกต่าง แต่รวมอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์

เส้นทางสายที่หนึ่ง “ซอยเจริญกรุง 42/1”

ท่ามกลางตึกแถวและอาคารคอนกรีตที่เปิดทำการในฐานะร้านค้ารวมทั้งที่พักระดับสามดาวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ มีกำแพงสีขาวสะอาดโอบล้อมพื้นที่ขนาดห้าไร่เศษเอาไว้ บริเวณซุ้มประตูทางเข้าประดับด้วยปูนปั้นและแก้วกระจกสีสดใส ตัวหนังสือสีทองระบุข้อความ “วัดสวนพลู” บ่งบอกให้รู้ว่าที่นี่เป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธ

เมื่อเดินเข้าไปในวัด สิ่งแรกที่สะดุดสายตาคือหมู่กุฎิไม้สองชั้น ทาสีเหลืองครีมตัดขอบด้วยสีน้ำตาลเข้ม บริเวณชายคาและกรอบหน้าต่างประดับด้วยไม้ฉลุลายแบบขนมปังขิง ซึ่งเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดูแล้วสวยงามและให้ความรู้สึกเหมือนมีบ้านตุ๊กตาหลังใหญ่มาตั้งเรียงกันอยู่ในวัด

“กุฏินี่เป็นของเก่านะ โบราณมาก ปีที่สร้างนี่ไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ คือเป็นของเก่า ไม้สักทองทั้งหลัง ปลวกไม่กิน เคยได้รับรางวัลด้านความสะอาด กับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมจากสมาคมสถาปนิก เมื่อปีพ.ศ. 2450” พระมหาประสระ สมาจาโร รองเจ้าอาวาสวัดสวนพลูให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหมู่กุฏิดังกล่าว

พระมหาประสระเล่าความเป็นมาของวัดให้ฟังอีกว่า แต่เดิม บริเวณโดยรอบวัดเป็นสวนพลูของชาวจีน ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พ่อค้าและประชาชนที่อพยพมาจากทางภาคเหนือได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สินเพื่อสร้างศาสนสถานตามความเชื่อของตน เมื่อสร้างวัดเสร็จ ชาวบ้านจึงเรียกขานกันต่อมาว่าวัดสวนพลู

“เมื่อก่อนมันไม่มีตึกสูงๆ อย่างนี้ แล้วเราตั้งอยู่ใกล้โรงเรียนอัสสัมชัญใช่มั้ย เงยหน้ามองนี่เห็นโบสถ์เขาเลย แล้วทีนี้ที่วัดก็มีเผาศพ เผาแบบโบราณน่ะ ก่อเชิงตะกอนคล้ายๆ เล้าหมู แล้วเผา ลมมันพัด ก็เอากลิ่นไปถึงที่โรงเรียนเขา ก็ไปฟ้องกระทรวงธรรมการ เดี๋ยวนี้ไม่ได้เรียกแบบนี้แล้วใช่มั้ย เป็นกระทรวงศึกษาธิการแทน”

ถัดจากหมู่กุฏิไม้ก็จะพบกับโบสถ์หรือพระอุโบสถของวัดที่ทาสีขาว บริเวณกำแพงตกแต่งด้วยกระเบื้องระบายสีตามแบบศิลปะจีน ตัวโบสถ์ประดับด้วยปูนปั้นลวดลายกนกและเทพนม เสริมด้วยกระจกสี ใกล้ๆ กับโบสถ์มีเจดีย์สูงสีขาว หอไตรกลางน้ำ และวิหารปูนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระปางเลไลยก์ พระพุทธรูปเก่าแก่อันเป็นที่มาของตำนานศักดิ์สิทธิ์ในย่านบางรัก

“ที่วัดนี้ก็มีวัตถุโบราณเยอะ ในหอไตรนั่นก็รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม มีโยมที่บ้านอยู่สี่พระยาเอามาถวาย เป็นของเก่าจากฝั่งธนฯ ใกล้ๆ ก็มีพระปางถวายเนตร ของเก่าเหมือนกัน ในวิหารนั่นมีพระนอนกับพระปางไลไลยก์ เดิมวิหารเป็นไม้สองชั้น สมัยสงครามโลกครั้งที่สองถูกระเบิด ไฟไหม้ แต่องค์พระไม่เป็นอะไร เวลาระเบิดจะลงชาวบ้านเขามาหลบที่วิหารพระ เชื่อกันว่าจะทำให้แคล้วคลาด”

แม้ในอดีต วัดสวนพลูจะเปรียบเหมือนเกราะศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่พึ่งทางจิตใจและช่วยปกป้องคุ้มครองอันตรายให้แก่พุทธศาสนิกชน แต่ปัจจุบัน พระมหาประสระยอมรับว่าทางวัดต้องระมัดระวังความปลอดภัยมากกว่าเดิม เพราะมีมิจฉาชีพแฝงตัวมาในรูปของผู้มีจิตศรัทธา คอยหาโอกาสขโมยทรัพย์สินของวัดอยู่เสมอ

“เข้ามาทางประตู เราก็ปิด หาคนมาเฝ้า ก็ยังปีนรั้วกันเข้ามา กลางวันแสกๆ ก็มี บางทีโยมฝรั่งเขาโยนเหรียญลงไปในสระตามความเชื่อของเขา พวกนี้ก็ลงไปงม เงินในตู้บริจาคก็งัด ระฆังทองเหลืองกับกระถางธูปเจ้าแม่กวนอิมยังยกไปเลย”

พระมหาประสระจบประโยคด้วยการทอดสายตามองไปที่หอไตรกลางน้ำ…ราวกับจะนึกย้อนไปถึงวันเวลาที่วัดสวนพลูยังสงบสุข ไม่มีมิจฉาชีพมาสร้างความเดือดร้อนให้กับวัดดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

เส้นทางสายที่สอง “ถนนสีลม”

ยอดปรางค์ทรงรี ตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปเทพและเทพธิดาที่บ้างมีพักตร์ขึงขังน่ากลัว บ้างสวยสดงดงามส่งรอยยิ้มเมตตามาให้ เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่บ่งบอกให้รู้ว่าสองเท้ากำลังก้าวเดินเข้าหา “วัดแขก” หรือวัดพระศรีมหาอุมาเทวี ศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูวัดเข้าไป เสียงสวดมนต์ในภาษาที่ไม่คุ้นเคยคลอไปกับเสียงเพลงแบบที่เคยได้ยินในหนังแดนภารตะยิ่งดังชัด ใกล้กับซุ้มประตูด้านในมีชายหนุ่มผิวเข้ม ไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าสีขาว มุ่นมวยผมอย่างพราหมณ์ยืนต้อนรับผู้มายืน ในมือถือถ้วยเจิมบรรจุผงแป้งสีขาว รอคอยการจุดเจิมหน้าผากให้ผู้ศรัทธาเดินตรงเข้าไปทำความเคารพ

“เดินตรงไปที่หน้าเทวาลัย บูชาถาดเครื่องไหว้แล้วมาจุดธูปเทียนตรงนี้ จากนั้นเข้าไปถวายเครื่องไหว้ด้านใน ไหว้เสร็จแล้วนำถาดกลับมาคืนที่จุดเดินนะครับ”

เจ้าหน้าที่ชายวัยกลางคนยืนถือโทรโข่งกล่าวคำพูดซ้ำไปซ้ำมา หน้าที่ของเขาคืออธิบายวิธีบูชาเทพเจ้าให้แก่ผู้มาใหม่ที่ยังไม่รู้วิธีปฏิบัติ รวมทั้งการดูแลความเรียบร้อยต่างๆ ภายในวัด เมื่อรับถาดไหว้ตามที่เขาแนะนำและเดินเข้าไปในเทวาลัย ก็พบกับเทวรูปสีทองเปล่งปลั่งของเทพและเทพธิดาในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกว่าสิบองค์ ไม่ว่าจะเป็นพระพิฆเณศร พระขันธกุมาร พระอุมา หรือแม้แต่หนุมาน ตัวละครเอกในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ที่แปลกไปกว่านั้นคือมีพระพุทธรูปทองเหลืองประดิษฐานอยู่ใกล้กับเทวรูปเหล่านั้นด้วย

น่าเสียดายที่แม้จะพยายามสอบถามความเป็นมาของวัดจากเจ้าหน้าที่ทุกคนอย่างไร ทุกคนก็เพียงแต่ยิ้มและปฏิเสธการให้ข้อมูลอย่างนุ่มนวล พี่แจ็ค เจ้าหน้าที่หญิงผู้ประจำอยู่ที่ตู้วัตถุบูชาเป็นผู้เฉลยคำตอบของการปฏิเสธเหล่านั้น

“ใจจริงเราก็อยากให้ข้อมูล แต่เคยมีนักเรียนนักศึกษามาถาม กลับไปก็เขียนไม่ตรงกับที่เราบอกไป ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หลังๆ มานี่เลยคิดว่าไม่เอาแล้วดีกว่า ถ้าอยากได้ข้อมูลจริงๆ ต้องทำเรื่องและรอการพิจารณาจากคณะกรรมการที่ท่านเป็นลูกหลานสายตรง แต่เดี๋ยวนี้ท่านก็ไม่ค่อยว่าง ภารกิจท่านเยอะ”

พี่แจ็คจบการสนทนาด้วยการหันไปให้ข้อมูลกับผู้ที่สนใจบูชาภาพวาดมหาเทพ ถึงแม้จะไม่ได้รับทราบความเป็นมาของวัดแขกอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่บรรยากาศที่เห็นภายในก็พอจะบอกเล่าเรื่องราวบางอย่างได้บ้าง

ที่มุมหนึ่งของวัด หญิงสาวผิวขาว จมูกโด่ง หน้าตาคมเข้มตามแบบผู้ที่มีเชื้อสายตะวันออกกลาง เดินถือถุงบรรจุเครื่องเซ่นไหว้ที่ซื้อมาเอง กำลังมองหาโต๊ะว่างสำหรับจัดเตรียมข้าวของใส่ภาชนะถวาย อีกมุมเป็นหญิงวัยกลางคน ดวงตาเรียวเล็กและผิวขาวจัดอย่างคนจีน ในมือถือพวงมาลัยดอกดาวเรืองสีเหลืองและธูปหอมมีควันอบอวล นั่งพนมมือกล่าวคำขอพรจากเทพเจ้า ส่วนที่เพิ่งเดินออกมาจากเทวาลัยคือคู่หนุ่มสาวออฟฟิศที่มีใบหน้าเป็นสุข รอยยิ้มฉายชัด จุดเจิมสีแดงเข้มบริเวณหน้าผากทำให้รู้ว่าเขาทั้งสองเพิ่งได้รับการอวยพรจากเทพเจ้าผ่านทางการเจิมหน้าผากของพราหมณ์

และที่มุมหนึ่งของซุ้มประตูทางเข้าสู่เทวาลัย พราหมณ์ชาวอินเดียนั่งประจำอยู่ที่เก้าอี้ ในมือถือถาดบรรจุแผ่นยันต์สีเหลือง ท่านพราหมณ์นั่งหลังค้อม ศีรษะโน้มลงสู่พื้น ดวงตาทั้งสองปิดสนิท ปากอ้าค้างน้อยๆ…ท่านคงกำลังเข้าฌานขั้นสูงเพื่อไปสนทนาธรรมกับเทพที่ท่านเคารพอยู่ละมัง

เส้นทางสายที่สาม “ซอยสีลม 20”

ยอดโดมสีทองสุกปลั่งสะท้อนแสงแดดบนหอคอยความสูงลดหลั่นกันสามชั้นคือจุดสังเกตที่เด่นชัดของมัสยิดมีราซุดดิน ศาสนสถานของชาวมุสลิมที่ต้ะงอยู่ระหว่างซอยสีลม 20 และ 22

รั้วแสตนเลสทาสีเขียวสลับทอง ลวดลายเครือเถาดอกไม้โอบล้อมพื้นที่ของมัสยิดซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตสีเทาเข้ม บานหน้าต่างทรงโค้งแต่งกรอบด้วยปูนปั้นรูปดอกไม้สีขาว ที่หน้าต่างบานใหญ่ที่สุดประดับตัวอักษรยาวีสีทอง เช่นเดียวกับป้ายตราสัญลักษณ์สีเขียวบริเวณขอบซุ้มประตูทางเข้าที่ปรากฏการสลักข้อความด้วยตัวหนังสือยาวีสีทองเช่นกัน

บรรยากาศของมัสยิดในวันที่ไปเยือนค่อนข้างเงียบ แต่กลุ่มเงาที่มองเห็นได้จากหน้าต่างสีเข้มและรองเท้าหลายคู่ที่วางเป็นระเบียบอยู่บริเวณทางเข้าบ่งบอกให้รู้ว่าภายในมัสยิดคงจะไม่เงียบเหงาเช่นบรรยากาศภายนอก

จากปากคำของพ่อค้าแม่ค้าทั้งที่เป็นเจ้าของร้านในห้องแถวและร้านบนรถเข็นเคลื่อนที่บริเวณหน้ามัสยิดทำให้รู้ว่าเราเลือกเวลามาเยือนมัสยิดนี้ผิดไป เพราะเวลาราวบ่ายสามโมงครึ่งนี้เป็นเวลาที่ชาวมุสลิมกำลังเริ่มทำละหมาดอีกครั้งในรอบวัน ที่พิเศษไปกว่านั้นคือบ่ายวันศุกร์แบบนี้ จะเป็นวันที่มีชาวมุสลิมมาประกอบพิธีละหมาดเป็นจำนวนมาก ด้วยความเชื่อตามหลักศาสนาอิสลามที่ว่าวันศุกร์เป็นวันศักดิ์สิทธิ์

แม้จะเสียดายที่ไม่สามารถเข้าไปสอบถามข้อมูลจากอิหม่ามผู้ดูแลมัสยิดหรือชาวมุสลิมผู้ประกอบพิธีได้อย่างที่ตั้งใจ แต่การเก็บภาพความสวยงามของตัวอาคารภายนอกไว้เป็นที่ระลึกก็ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วสำหรับการมาเยี่ยมเยือนมัสยิดมีราซุดดินแห่งนี้

เส้นทางที่สี่ “ถนนคอนแวนต์”

ที่มุมถนนคอนแวนต์ด้านติดกับถนนสาทรเป็นที่ตั้งของอาคารสีขาว ดูคล้ายกับป้อมหรือปราสาทของชาวตะวันตก แท้ที่จริงแล้ว อาจเรียกสถานที่แห่งนี้ว่าเป็นปราสาทแห่งความศัทธาของเหล่าคริสตศาสนิกชนได้ เพราะที่นี่คือคริสตจักรไคร้สตเชิช กรุงเทพ สถานที่ประกอบพิธีกรรมของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายแองกลิกัน

ความรู้สึกแรกที่เดินผ่านประตูของคริสตจักรเข้าไปคือความเงียบสงบ ตามมาด้วยความสดชื่นจากสีเขียวสดของต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ปลูกไว้รายรอบ บริเวณทางเข้าใกล้กับอาคารที่ทำการของคริสตจักรมีแผ่นไม้สีน้ำตาลเข้มสลักข้อความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วยตัวหนังสือสีทอง บอกเล่าความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้อย่างสั้นๆ ให้ผู้คนที่สนใจได้รับรู้

เดิมที คริสตจักรไคร้สตเชิชเป็นเพียงโบสถ์ไม้ขนาดเล็กริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ชาวตะวันตกซึ่งเข้ามารับราชการและทำธุรกิจค้าขายในประเทศไทยใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ บริเวณที่ตั้งเดิมตั้งอยู่ระหว่างสุสานโปรเตสแตนท์กับวัดยานนาวา แต่เนื่องจากอยู่ใกล้อู่ต่อเรือทำให้มีเสียงรบกวนในขณะที่ประกอบพิธี ประกอบกับในเวลาต่อมามีชาวคริสต์อพยพและเข้ามาประกอบศาสนกิจที่โบสถ์เป็นจำนวนมากขึ้น คณะกรรมการของโบสถ์จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงพิจารณาพระราชทานที่ดินใหม่ในการสร้างโบสถ์ การก่อสร้างนั้นเริ่มต้นและแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2448 ทำให้ปัจจุบัน คริสตจักรไคร้สตเชิชเป็นคริสตศาสนสถานที่มีอายุเก่าแก่กว่า 108 ปี

“แต่ก่อนที่นี่มีแต่ภาคภาษาอังกฤษค่ะ ภาคภาษาไทยเพิ่งจะเริ่มเมื่อ 20 หรือ 25 ปีที่ผ่านมานี้เอง อาจารย์จากสิงคโปร์เป็นคนเข้ามาดำเนินการ ทุกวันนี้คนไทยที่มาที่นี่เลยมีไม่มาก ประมาณ 100 กว่าคน ส่วนใหญ่จะเป็นคนวัยทำงานแล้วก็คนที่อายุยังไม่ค่อยเยอะ ที่แก่แล้วไม่ค่อยมี” คุณลาพร ลามู หรือพี่ละ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ของคริสตจักรไคร้สตเชิชให้ข้อมูลด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

พี่ละเล่าต่อไปว่ากิจกรรมที่ทางคริสตจักรจัดขึ้นส่วนใหญ่จะดำเนินการไปในเชิงพันธกิจของศาสนาที่ทำเพื่อประโยชน์ของสังคม เช่น การเดินทางไปสอนภาษาอังกฤษและร่วมเล่นดนตรีกับเด็กๆ ในย่านชุมชนแออัดหรือชุมชนในพื้นที่ห่างไกล หรือโครงการบ้านชาเล็มบริเวณซอยสวนพลู 1 ซึ่งดำเนินการภายใต้การดูแลของมูลนิธิเรนโบว์แลนด์บริการชุมชน (RCS) ให้บริการที่พักและอาหารสำหรับญาติผู้ป่วยซึ่งมารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่นอกเหนือไปจากพันธกิจเพื่อสังคม ทางคริสตจักรไคร้สตเชิชยังจัดกิจกรรมที่เปิดกว้างให้ผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ได้มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอมุมมองที่มีต่อคริสตศาสนา เพื่อร่วมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างเพื่อนร่วมสังคม

“เรามีโครงการที่เรียกว่าหลักสูตรอัลฟ่า เชิญคนที่สนใจมานั่งคุยกัน กินข้าวด้วยกัน คือมานั่งคุยแล้วคุณยังไม่ศรัทธา ไม่จำเป็นว่าต้องนับถือศาสนาคริสต์ก็ได้ ที่จัดตรงนี้ขึ้นก็เพื่ออยากรู้มุมมองของคนที่ไม่ใช่คริสต์ อยากรู้ว่าเขาคิดยังไงกับเรา เพราะบางคนกลัวเราก็มีนะคะ เขาไม่เข้าใจเรา เชิญเขามาคุยกันตรงนี้ สร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน แสดงให้เห็นว่าถึงจะต่างกัน แต่เราก็อยู่ด้วยกันได้”

เมื่ออธิบายถึงความเป็นมาและกิจกรรมที่ทางคริสตจักรจัดขึ้นแล้ว พี่ละได้อาสาเป็นวิทยากรนำชมภายในโบสถ์ ซึ่งปัจจุบันจะเปิดทำการเฉพาะวันที่มีการประกอบพิธีเท่านั้น เมื่อเข้าไปในโบสถ์ สิ่งแรกที่สัมผัสได้ถือความเคร่งขรึมและศักดิ์สิทธิ์ กระจกสีบานใหญ่ที่สุดประกอบเป็นรูปพระเยซูถูกตรึงกางเขน บานอื่นๆ ประกอบเป็นรูปนักบุญศักดิ์สิทธิ์องค์อื่นๆ ด้านซ้ายของโบสถ์เป็นคอกไม้ขนาดใหญ่ ภายในเป็นที่ตั้งของออร์แกนโบราณที่สูงจรดเพดาน ความเก่าแก่ของออร์แกนนั้นดูได้จากคราบสนิมที่เริ่มจับเกาะบางส่วน และที่กึ่งกลางเวทีด้านหน้าไม้กางเขน คือแท่นประกอบพิธีปูผ้าสีเขียวปักดิ้นทองเป็นรูปต้นข้าว ซึ่งพี่ละบอกว่าสีและรูปที่ปักอยู่บนผืนผ้าจะได้รับการเปลี่ยนในทุกๆ เดือนตามวาระโอกาสสำคัญต่างๆ

“โบสถ์นี่ใครมาก็บอกว่าสวย คนอยากมาดูมาก แต่ก่อนเราก็เปิดให้เข้า ใครอยากมาทำพิธีแต่งงานเราก็ให้ แต่เรื่องแต่งงานนี่เราอนุญาตเฉพาะคริสต์นะคะ เพราะเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ เหมือนเป็นสัญญาเฉพาะระหว่างผู้ศรัทธากับพระเจ้า ถ้าคุณไม่เชื่อในพระเจ้า มาแต่งงาน ทำสัญญาไปก็ไร้ความหมาย ตอนนี้โบสถ์ค่อนข้างเก่า ทางคณะกรรมการกลัวว่าจะทรุดโทรมเลยไม่ค่อยเปิดให้เข้ามาแล้ว ต้องขออนุญาตก่อนหรือต้องรอโอกาสพิเศษ อย่างวันนมัสการวันอาทิตย์ ถึงไม่ใช่คริสต์ก็เข้ามาได้”

พี่ละเปิดโอกาสให้ชมและเก็บภาพความประทับใจภายในโบสถ์สักครู่ก็ขออนุญาตปิดโบสถ์เพราะต้องไปเตรียมจัดสถานที่สำหรับหลักสูตรอัลฟ่า ก่อนจากกัน พี่ละยังยืนส่งยิ้มอย่างใจดีและกล่าวลาด้วยข้อความที่แสดงถึงศรัทธาในพระเจ้าอย่างลึกซึ้ง

“สวัสดีค่ะ ขอพระเจ้าอวยพรนะคะ”

เส้นทางสายที่ห้า “ซอยศาลาแดง 2”

สายฝนที่ตกลงมาอย่างกะทันหัน แม้จะไม่รุนแรงแต่ก็ทำให้เสื้อผ้าและร่างกายเปียกปอนได้ เมื่อสองตามองเห็นที่หลบฝน สองเท้าก็พาเข้าสู่ชายคาของ “ศาลเจ้าปึงเถ่ากง ศาลาแดง” ศาลเจ้าขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารสีลมคอมเพลกซ์

ถึงจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ศาลเจ้าปึงเถ่ากงนี้ก็มีสิ่งที่จำเป็นต่อการประกอบพิธีแบบจีนครบถ้วนเช่นเดียวกับศาลเจ้าขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเตาสำหรับเผากระดาษ พวงพลุ เซียมซีเสี่ยงทาย ธูปและเทียนหอม รวมทั้งภาพวาดและรูปเคารพของเจ้าพ่อกวนอูและเจ้าแม่กวนอิม แม้ภายในศาลจะมีพื้นที่ค่อนข้างแคบ แต่ก้านธูปมอดไหม้ที่ปักอยู่เต็มกระถางรวมถึงถาดบรรจุเครื่องเซ่นไหว้ที่วางอยู่บนแท่นบูชาก็แสดงให้เห็นถึงจำนวนผู้ที่มาเคารพกราบไหว้เทพเจ้าที่นี่ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ แม้สายฝนยังคงโปรยปราย แต่เมื่อมองออกไปจะเห็นผู้คนที่เดินผ่าน หยุดยืนหน้าศาลเจ้าแล้วยกมือไหว้ทำความเคารพ บางรายถึงกับลดร่มกันฝนในมือลงแล้วยกมือสวดภาวนาอยู่เป็นนานสองนาน กว่าจะตั้งร่มขึ้นใหม่แล้วค่อยๆ เดินจากไป

หนังสือเล่มหนึ่งเคยให้ข้อมูลผ่านตาว่า เมื่อก่อน บริเวณศาลาแดงเคยมีศาลเจ้าขนาดใหญ่สร้างไว้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมและเป็นที่บูชาบรรพบุรุษ สักการะเทพเจ้าตามความเชื่อของชาวจีน แต่เมื่อความเจริญเริ่มขยายตัว พื้นที่ต่างๆ ถูกจับจองและก่อสร้างเป็นห้างสรรพสินค้าบ้าง ตึกแถวสำหรับค้าขายบ้าง หรือแม้แต่เป็นโรงงานผลิตเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลม ศาลเจ้าขนาดใหญ่ถูกรื้อถอน แต่ความศรัทธายังคงอยู่ ชาวจีนในละแวกศาลาแดงจึงสร้างศาลเจ้าเล็กๆ ไว้ตามตรอกซอกซอยตึกแถว สำหรับเป็นที่เคารพและประกอบพิธีตามความเชื่อของตนต่อไป

การตระเวนไปตามเส้นทางห้าสายในเขตบางรัก นำพาไปสู่ความศรัทธาถึงห้ารูปแบบ ทั้งความศรัทธาของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ และการนับถือเทพเจ้ารวมถึงบรรพบุรุษตามขนบธรรมเนียมจีน

แม้จะแตกต่างแต่เส้นทางทุกเส้นก็มีจุดร่วมที่สะท้อนให้เห็นภาพของเขตบางรักในฐานะพื้นที่ที่มีความเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

แม้จะแตกต่างแต่ทุกศรัทธาก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน.