เรื่อง: ปริญญา ก้อนรัมย์
ภาพ: นัฐพงษ์ แสงทองล้วน, กรดล แย้มสัตย์ธรรม
ผลงานของกลุ่มนักเขียน-ช่างภาพรุ่นใหม่จากค่ายสารคดีครั้งที่ ๙

ratchapol01นับตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ ที่การแพร่ภาพออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ (ซึ่งก่อนหน้านั้นเรียกว่า “วิทยุโทรภาพ”) ในประเทศไทยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เกือบ ๖ ทศวรรษที่ผ่านมาวงการสื่อโทรทัศน์บ้านเราก็ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงมาหลายต่อหลายครั้ง เริ่มต้นจากการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์และแพร่ภาพครั้งแรกด้วยระบบภาพขาวดำ มาถึงการเผยแพร่ภาพเป็นระบบสีครั้งแรกในปี ๒๕๑๐ ของสถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ และกว่าจะเปลี่ยนเป็นระบบสีครบทุกช่องก็ในปี ๒๕๑๙  จนเข้าสู่ยุคระบบทีวีเคเบิลและทีวีบอกรับสมาชิกได้รับกระแสความนิยมจนกล่องรับสัญญาณวางขายแทบล้นตลาดในวันนี้

ล่าสุดในปี ๒๕๕๗ นี้ วงการโทรทัศน์และคนไทยทั้งประเทศต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะพลิกโฉมหน้าวงการโทรทัศน์ไทยอีกครั้ง จากการส่งสัญญาณภาพด้วยคลื่นวิทยุโทรทัศน์ระบบอะนาล็อก (analog) ที่ใช้กันมานานหลายสิบปี ก้าวสู่ยุคการส่งสัญญาณภาพระบบดิจิทัล (digital) ที่เพิ่มความหลากหลายในช่องทางการรับชมมากขึ้นกว่า ๔๐ ช่องสถานีโทรทัศน์ที่เกิดขึ้นใหม่ รวมทั้งภาพและเสียงที่คมชัดยิ่งกว่าเดิม

ภายใต้ความเปลี่ยนแปลง หลายคนเริ่มจับตามองและร่วมวิจารณ์ถึงข้อดีข้อเสียกันไปต่าง ๆ นานา บ้างมองว่าเป็นการปฏิรูปสื่อ นำไปสู่อนาคตที่มีความหลากหลายทางวาทกรรมยิ่งขึ้น  บ้างมองว่าเป็นสนามรบใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม เปิดโอกาสความเป็นไปได้ทางธุรกิจให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเสี่ยงดวงกัน หรือบ้างมองว่าคือหลุมดำบรรจุความมืดบอดทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า “ฟองสบู่ดิจิทัล” เอาไว้

คำตอบของคำถามเหล่านี้มีหน้าตาอย่างไร เราจะพาคุณไปรับฟังคำแถลงไขของชายคนหนึ่ง ผู้เรียกได้ว่าเป็นกูรูด้านการเงินและการลงทุนอันดับต้น ๆ ของประเทศ อีกทั้งยังคลุกคลีอยู่ในวงการสื่อสารมวลชนมาอย่างโชกโชนและรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นงานสื่อสิ่งพิมพ์ที่เขาเคยสังกัดมาหลายแห่ง ทั้งหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ แนวหน้า และ Bangkok Post  ด้านสื่อวิทยุ เขาเคยเป็นทั้งโปรดิวเซอร์และพิธีกรรายการข่าวด้านเศรษฐกิจใน FM 102.5 และ FM 101  ส่วนงานด้านโทรทัศน์ต้องนับว่าเขาเป็นบุคลากรสำคัญในยุคก่อตั้งของสถานีโทรทัศน์หลายช่อง ทั้ง Nation Channel ของ สุทธิชัย หยุ่น หรือ Money Channel ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

มาถึงวันนี้ โก้-รัชชพล เหล่าวานิช ซึ่งแทนตัวเองกับเราว่าเป็น “สื่อมวลชนอิสระ” จะมาตอบทุกปัญหาของทีวีดิจิทัลที่เราสงสัยอย่างตรงไปตรงมา

ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย หลายคนยังไม่ค่อยเข้าใจเลยว่าทีวีดิจิทัลคืออะไร
ถ้าให้อธิบายง่าย ๆ ก็คือยังเป็นทีวีที่ดูด้วยระบบเสาอากาศ อย่างเสาหนวดกุ้งหรือเสาก้างปลาแบบสมัยก่อน แต่โดยหลักการส่งสัญญาณจะแตกต่างกัน  ทีวีอะนาล็อกจะส่งสัญญาณด้วยคลื่นวิทยุ ส่วนทีวีระบบดิจิทัลจะส่งสัญญาณที่เข้ารหัสเป็น ๐, ๑ แทน

ในสมัยก่อนความถี่ที่จัดสรร ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเป็นช่อง ๓ ๕ ๗ ๙  ทำไมมันไม่ ๓ แล้วไป ๔ แต่เป็น ๓ แล้วไป ๕ เพราะว่าการส่งสัญญาณในระบบอะนาล็อกมันกินแบนด์วิดท์ (bandwidth ความกว้างของช่องทางรับส่งข้อมูล) จำนวนมาก เลยส่งข้อมูลได้น้อยช่องและช้ากว่า เหมือนกับเราเอารถสองคันมาวิ่งในถนนเลนเดียว  แต่พอเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัลก็สามารถบีบอัดสัญญาณในการส่งได้เยอะขึ้น เขาจึงจับหกช่องเดิมที่มีมาแตกออก จากหนึ่งช่องแยกออกได้เป็นแปดช่อง ฉะนั้นแปดคูณหกก็ได้เป็น ๔๘ ช่อง

แล้วข้อดีข้อเสียของทีวีดิจิทัลกับทีวีอะนาล็อกเดิม จะเห็นความแตกต่างกันตรงไหน
ผมไม่เห็นความแตกต่างสักเท่าไหร่นะ แต่ทีวีดิจิทัลจะให้สัญญาณที่คมชัดขึ้น การบีบอัดเพื่อส่งสัญญาณก็จะเร็วขึ้น ส่งได้มากขึ้น  สมัยก่อนดูฟรีทีวีเราอาจจะบอกว่ามันไม่ค่อยชัด เพราะระบบเสาอากาศจะส่งสัญญาณไปตามแนวราบภาคพื้นดิน เวลาติดตึกสูงหรือมุมอับคุณก็ดูไม่ได้แล้ว  ยิ่งเป็นการส่งสัญญาณแบบระบบอะนาล็อกยิ่งเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น  แต่พอเป็นดิจิทัลแล้ว การส่งสัญญาณภาคพื้นดินก็จะทำได้สะดวกขึ้น

ชาวบ้านต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะได้ดูทีวีดิจิทัล
เมื่อการส่งสัญญาณเปลี่ยนเป็นการส่งแบบดิจิทัล เราก็ต้องมีตัวรับสัญญาณที่เป็นดิจิทัล  แต่ตอนนี้ทีวีในบ้านเรายังเป็นระบบอะนาล็อกอยู่ มันจึงเกิดสุญญากาศในการเปลี่ยนถ่ายขึ้น  ประเทศอื่นกว่าจะเปลี่ยนถ่ายจากระบบอะนาล็อกมาเป็นระบบดิจิทัลได้ เขาต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๆ ก็ร่วม ๒ ปี  พูดง่าย ๆ คุณต้องโละเครื่องโทรทัศน์เก่าทุกเครื่องทิ้ง แล้วเปลี่ยนให้เป็นเครื่องโทรทัศน์ระบบดิจิทัลให้หมด  แต่ตอนนี้เราเลือกใช้วิธีการคือเอากล่องรับสัญญาณที่เรียกว่า Set Top Box มาติด เหมือนเวลาที่คุณดูกล่องทรูวิชั่นส์ (True Visions) ดูกล่องจีเอ็มเอ็ม แซท (GMM Z) ซึ่งกล่องพวกนี้สามารถรับสัญญาณทีวีดิจิทัล แล้วมาแปลงสัญญาณเข้ากับเครื่องทีวีของเราได้

ราคากล่อง Set Top Box ที่ว่าตกอยู่ประมาณเท่าไหร่  ใครเป็นคนจ่ายค่ากล่อง
สำหรับทีวีรุ่นเก่าที่ต้องใช้กล่อง Set Top Box ราคาขายในตลาดก็จะอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐-๑,๒๐๐ บาท  ส่วนทีวีรุ่นใหม่ที่เป็น Smart TV สามารถรับสัญญาณระบบดิจิทัลได้ในตัว ก็ติดแค่เฉพาะเสาอากาศปรกติก็ดูได้แล้ว เพราะฉะนั้นจึงมีแนวคิดว่าควรจะแจกคูปองค่ากล่องให้แต่ละครัวเรือน ซึ่ง กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ก็เตรียมแจกคูปองในราวเดือนพฤษภาคม(ต่อมาได้เลื่อนเวลาการแจกไปเป็นเดือนตุลาคม) น่าจะประมาณ ๑,๒๐๐ บาทต่อใบ(ต่อมาเหลือ ๖๙๐ บาท) โดยอาจทยอยแจกเป็นส่วน ๆ ตามพื้นที่ในโครงข่ายที่เริ่มออกสัญญาณ  แถมตอนนี้ธุรกิจกล่องรับสัญญาณกำลังคึกคักมาก ทั้งรายเล็กรายใหญ่ แม้แต่ที่ตลาดคลองถมก็เริ่มมีขายกันเกร่อ ราคาถูกกว่าราว ๓๐-๕๐ เปอร์เซ็นต์  ขณะที่ผู้ประกอบการของแต่ละช่องก็ต้องทำการตลาดด้วยการแจกกล่อง แจกเสาอากาศ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายของตัวเอง

การที่ กสทช. ประกาศว่าคลื่นความถี่เป็นสมบัติสาธารณะ คุณคิดว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งนี้ควรจะมีขึ้นเพื่ออะไร
เอาเข้าจริงเรื่องของสื่อคือการนำเสนอคอนเทนต์ (content) ให้ผู้ชมได้รับชม ได้มีทางเลือกมากขึ้น  แต่ถามว่าการมีฟรีทีวีหลาย ๆ ช่องนี่ดีไหม  มองในมุมหนึ่ง มันก็ดีเพราะทำให้ประชาชนมีทางเลือก  แต่ที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะผมมองว่าไม่จำเป็นต้องเอามาจัดสรรเยอะแยะมากมายขนาดนี้ แล้วการแบ่งประเภทของช่องก็มีหลายอย่างที่แปลกว่าทำไมถึงจัดสรรออกมาในรูปแบบนี้ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วผมมองว่าจะกลายเป็นเรื่องของปลาใหญ่กินปลาเล็ก

ปลาใหญ่กินปลาเล็กหมายความว่าอย่างไร
คือกลายเป็นเรื่องว่าใครไม่ใช่เศรษฐีจริงทำไม่ได้  จะเห็นว่าราคาที่แต่ละช่องประมูลไปค่อนข้างแพง  ลองดูเท่าที่เขาแบ่งกันตอนนี้ เฉพาะภาคธุรกิจ ๒๔ ช่อง จะเป็นช่อง HD (High Definition) ความคมชัดสูง ๗ ช่อง  ช่อง SD (Standard Definition) ความคมชัดปรกติ ๗ ช่อง ช่องข่าว ๗ ช่อง และก็ช่องเด็กอีก ๓ ช่อง รวมกันเป็น ๒๔ ช่อง

ถ้าเราไล่ดูช่อง HD จะเห็นว่าคนที่ประมูลได้ช่องไปเรียกว่ามีแต่ตัวใหญ่ ๆ ทั้งนั้น ตั้งแต่ช่อง ๓, ช่อง ๗, ช่อง ๙, จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, ไทยรัฐ, อมรินทร์ และบางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาส-ติ้ง จำกัด  ทั้งเจ็ดช่องเป็นเจ้าใหญ่หมดเลย และก็สู้ราคาประมูลกันทะลุไป ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาทต่อช่อง สูงกว่าราคาตอนแรกที่เขาตั้งไว้ที่ประมาณ ๒,๕๐๐ ล้านบาท  มันก็จะเป็นการสู้กันของเม็ดเงิน ใครใหญ่ใครอยู่  แล้วโอกาสที่หลาย ๆ ช่องจะไปไม่รอดก็มีสูง เพราะการที่เม็ดเงินจากโฆษณาจะเข้าไปหาแต่ละช่องเท่า ๆ กันหมดนั้น เป็นไปไม่ได้เลย มันจะมีเพียงเจ้าใหญ่ ๆ ที่คุมตลาดและกวาดเม็ดเงินโฆษณาตรงนี้ไปหมด และจะทำให้เจ้าเล็ก ๆ อยู่ในอาการที่เปิดสถานีมาไม่เท่าไหร่ก็พูดได้ว่าน่าเป็นห่วง

เม็ดเงินโฆษณามีผลกระทบต่อการคงอยู่ของฟรีทีวีมากขนาดนั้นหรือ
ถามว่าทีวีอยู่ได้ด้วยอะไร มันก็อยู่ได้ด้วยเม็ดเงินโฆษณา เพราะฟรีทีวีไม่ได้มีการบอกรับสมาชิก  คำถามคือตลาดโฆษณาของเราโตพอจะรองรับฟรีทีวี ๒๔ ช่องหรือไม่ล่ะ  นี่ยังไม่นับแพลตฟอร์มสัญญาณดาวเทียม ทรูวิชั่นส์, จีเอ็มเอ็ม แซท, อาร์เอส ซันบ็อกซ์ (RS Sunbox) กล่องต่าง ๆ อีกมากมายที่จะมาแย่งเม็ดเงินพวกนี้

คุณคาดว่าการแข่งขันแย่งค่าโฆษณาของแต่ละช่องจะเป็นอย่างไร
เอาง่าย ๆ ยักษ์ใหญ่ที่เขาเล่นกันบนเวที HD แน่นอนว่าคนย่อมอยากดูช่องที่มันคมชัดกว่าอยู่แล้ว ฉะนั้นเม็ดเงินโฆษณาก็จะไหลเข้าไปในเวทีตรงนี้เยอะสุด แถมจะกระจุกตัวอยู่กับแค่ไม่กี่เจ้าเท่านั้น  ผมมองว่าในอนาคตจะมีความแตกต่างระหว่างแต่ละช่องอยู่ถึงห้าระดับด้วยซ้ำ ไล่ไปตั้งแต่พวกช่อง HD ที่จะมาเป็นอันดับแรก รองลงไปเป็นช่อง SD อันดับที่ ๓ ก็เป็นช่องข่าว อันดับที่ ๔ เป็นทีวีดาวเทียมหรือทีวีบอกรับสมาชิกทั่วไป  ส่วนอันดับสุดท้ายก็จะเป็นช่องเด็ก

ตอนนี้ภาพรวมของตลาดโฆษณาใน ๑ ปี เม็ดเงินโฆษณาทั้งระบบตกอยู่ประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ ล้านบาท  ตรงนี้ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๗๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทตกอยู่ที่ฟรีทีวี ส่วนทีวีดาวเทียมจะอยู่ประมาณ ๗,๐๐๐ กว่าล้านบาท เพราะฉะนั้นเม็ดเงิน ๗๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทที่ว่า ทั้ง ๒๔ ช่องที่เกิดขึ้นมาใหม่ก็ต้องมายื้อแย่งกัน  ถามว่าใครได้เปรียบ ในเมื่อสมัยก่อนเรามีฟรีทีวีอยู่แค่ ๓, ๕, ๗, ๙, ๑๑ และช่องที่ดูดเม็ดเงินมากที่สุดก็คือช่อง ๓ กับช่อง ๗  สภาพการณ์ในอนาคตเม็ดเงินก็ยังกระจุกตัวอยู่ที่ช่อง ๓ กับช่อง ๗ ที่อยู่ในเวที HD และไปกระจุกอยู่ที่ช่องอันดับบน ๆ แล้วค่อยหล่นมาเรื่อย ๆ

สมมุติง่าย ๆ ว่าผมเป็นบริษัทเอเจนซี่โฆษณา ผมจะออกสินค้าตัวหนึ่ง  ถามว่าผมจะเลือกจ่ายเงินค่าโฆษณาไปที่ตรงไหน แน่นอนผมก็ต้องจ่ายไปตรงที่ผมคิดว่ามี eyeball (ยอดผู้ชม) มากที่สุด นั่นก็คือช่อง HD เพราะผมคิดว่ามันคุ้มค่าที่ผมจะลงทุนโฆษณา  รองลงไปก็อาจจะเป็นช่อง SD จนไปถึงช่องข่าว หรือช่องรายการวาไรตี้ของพวกทีวีดาวเทียมที่มีอยู่แล้ว แล้วช่องเด็กก็จะเป็นอันดับท้าย ๆ ตามความรู้สึกของสื่อ

เป็นไปได้ไหมว่า เม็ดเงินโฆษณาในตลาดจะเพิ่มขึ้น เพราะว่าช่องทางของมีเดียเองก็เปิดกว้างมากกว่าเดิม
มันไม่ง่ายอย่างนั้น ทีวีดาวเทียมเกิดขึ้นมาร่วม ๑๐ ปี เม็ดเงินสปอตโฆษณาที่ลงในทีวีดาวเทียมตัวหนึ่งยังอาจเท่ากับสปอตวิทยุด้วยซ้ำ สปอตวิทยุตัวหนึ่งตก ๒,๕๐๐ บาทต่อ ๓๐ วินาที สปอตโฆษณาทีวีดาวเทียมก็ ๒,๕๐๐ บาทเท่ากัน  อีกทั้งเม็ดเงินโฆษณาที่บอกว่ามีอยู่ ๑๓๐,๐๐๐ ล้านบาท อยู่ในอัตราการเพิ่มไม่เกิน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ต่อปี  ถ้าปีนี้มี ๑๓๐,๐๐๐ ล้านบาท เพิ่มอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ก็แค่หมื่นกว่าล้านบาท  มันเป็นไปไม่ได้หรอกว่าเม็ดเงินโฆษณาจะโตขึ้นมา ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาททันทีทันใดเพียงพอต่อการแบ่งให้ฟรีทีวี ๒๔ ช่อง

คุณมั่นใจว่าจะมีบางรายที่ต้องล้มหายตายจากไปในการเข้ามาแย่งเค้กก้อนนี้
ใช่ แต่ว่าอาการรอดหรือไม่รอดก็ขึ้นอยู่กับสายป่านของแต่ละคน  ระยะแรกเขาก็ต้องพยายาม ภายใต้ระยะเวลาสัมปทาน ๑๕ ปีที่ได้มา เขาต้องไปให้ไกลที่สุด แต่แน่นอนว่าจะมีการเปลี่ยนหน้าไปเรื่อย ๆ  ผู้ที่ได้สัมปทานวันนี้เดี๋ยวก็จะค่อย ๆ มีคนอื่นเข้ามาสับเปลี่ยน อย่างที่บอกมันจะกลายเป็นยุคที่ใครใหญ่ใครอยู่

คิดว่าน่าจะเป็นใครบ้าง
ถ้าเราไล่ดูในตัวละครเจ็ดตัวบนช่อง HD  ถามว่าใครมีพลังมากที่สุด ก็ต้องยกให้ช่อง ๓ เพราะประมูลไปได้ถึงสามช่อง ทั้ง HD, SD และช่องเด็ก ทำให้มีโอกาสกินส่วนแบ่งโฆษณาไปได้มากที่สุด  รองลงมาก็จะเป็นช่อง ๗ แกรมมี่ แล้วก็ไทยรัฐ จนมาถึงช่อง ๙  ซึ่งเม็ดเงินโฆษณาก็อาจโดนสามสี่อันดับแรกฟาดไปหมดแล้ว  ที่จะสาหัสหน่อยก็คงเป็นอมรินทร์กับบางกอก มีเดียฯ เพราะเราต้องยอมรับว่าเม็ดเงินโฆษณาที่ลงในมีเดียต่าง ๆ ปัจจุบัน แวดวงเอเจนซี่ใช้อันดับเรตติ้งของแต่ละมีเดียนั้น ๆ ในการตัดสินใจซื้อ  พลังในมีเดียโทรทัศน์ ช่อง ๓ เป็นเจ้าพ่อ ช่อง ๗ ก็เป็นเจ้าพ่อ  ส่วนไทยรัฐมีพลังมาจากฐานของสิ่งพิมพ์ เพราะฉะนั้นการที่ไทยรัฐจะทุบโฆษณาเอามาลงช่องทีวีเขาก็ไม่ใช่เรื่องยาก  ส่วนแกรมมี่มีแต้มต่อจากคนอื่นในเรื่องคอนเทนต์ เพราะเขามีแพลตฟอร์มจากกล่องจีเอ็มเอ็ม แซท ของเขาอยู่ ซึ่งมีทั้งกีฬาและละครต่าง ๆ  เม็ดเงินส่วนใหญ่ก็จะตกอยู่แถวนี้แหละ

หน้าใหม่ที่ไม่มีฐานมาก่อนเรียกได้ว่าสาหัส
สาหัสแน่ ๆ  ตอนนี้ยังไม่เริ่มออกอากาศ พวกช่องข่าวก็มีปฏิบัติการไขว้หุ้นกันมั่วไปหมดแล้ว เช่น สปริงนิวส์ไปจับมือกับค่ายของตงฮั้ว [บริษัทตงฮั้ว คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน)]  ส่วนเดลินิวส์ไปจับมือกับเจ้าพ่อสารคดีอย่าง Nextstep หรือทีวีพูลก็จับมือกับบางกอกโพสต์ให้ป้อนข่าวให้ คือทุกคนต่างก็รู้ว่าถ้าต้องผลิตคอนเทนต์คนเดียวมันลำบาก

ต้นทุนเฉลี่ยที่ต้องใช้ของแต่ละสถานีตกประมาณเท่าไหร่
นอกจากค่าสัมปทานที่เป็นต้นทุนหลักแล้ว ก็จะมีค่าเช่าโครงข่าย สำหรับช่อง HD ตกอยู่ราวเดือนละ ๑๘-๒๐ ล้านบาท ส่วนช่อง SD, ช่องข่าว และช่องเด็ก อยู่ราวเดือนละ ๕ ล้านบาท  อุปกรณ์ด้านเทคนิค สตูดิโอ ก็ต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า ๕๐๐-๑,๐๐๐ ล้านบาท  ส่วนบุคลากรตอนนี้ก็แย่งซื้อตัวกันอุตลุด ทั้งด้านบริหาร ด้านเทคนิค พิธีกร นักข่าว ฯลฯ  คาดว่าต้นทุนบุคลากร เฉลี่ยน่าจะไม่ต่ำกว่าเดือนละ ๑๐-๒๐ ล้านบาท  นี่ยังไม่รวมค่าส่งเสริมการตลาดอีกเฉลี่ยเดือนละ ๓-๕ ล้านบาท  รวมต้นทุนสำหรับช่อง SD, ช่องข่าว และช่องเด็ก น่าจะไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ล้านบาทต่อเดือน แต่สำหรับช่อง HD อาจทะลุไปแตะหลัก ๓๐๐-๕๐๐ ล้านบาทต่อเดือน

ratchapol02คุณเคยพูดถึง hidden cost ที่ช่องต่าง ๆ ต้องมารับผิดชอบตอนเปลี่ยนเป็นดิจิทัล มันคืออะไร
คือในช่วงต้น ๆ ทีวีดิจิทัลยังดูด้วยการส่งสัญญาณภาคพื้นดินแบบปรกติไม่ได้ กสทช. จึงคิดว่าถ้าอย่างนั้นเขาจะออกระเบียบให้บรรดาแพลตฟอร์มทั้งหลายที่เป็นดาวเทียมอยู่แล้ว เช่น ทรูวิชั่นส์, จีเอ็มเอ็ม แซท, (อาร์เอส) ซันบ็อกซ์ เอาสัญญาณ ๔๘ ช่องของทีวีสาธารณะใส่เข้าไปด้วย เรียกว่ากฎกติกา must carry เพื่อให้ผู้ชมสามารถรับชมฟรีทีวีได้ในทุกช่องทาง มันก็เกิดเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มในการแบกภาระการออกอากาศทางช่องต่าง ๆ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ช่อง ๓ แทนที่เดิมจะจ่ายค่าสัมปทานทีวีดิจิทัลอย่างเดียวแล้วจบ ช่อง ๓ ก็ต้องเอาเงินไปเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม เพื่อให้ช่องของตนเองได้ไปออกในแพลตฟอร์มดาวเทียมด้วย

นอกจากค่าแพลตฟอร์มดาวเทียมแล้ว ค่าใช้จ่ายตามกฎ must carry ยังมีปัญหาอีกเรื่อง คือการซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์ที่แต่ละช่องซื้อจากผู้ผลิตทั้งในและนอกประเทศไม่ต่ำกว่า ๕๐-๑๐๐ ล้านบาทต่อเดือน  สมมุติผมไปซื้อคอนเทนต์เมืองนอกมาออกอากาศ เช่นรายการ “The Voice” ก็ได้  เดิมผมซื้อลิขสิทธิ์เพื่อฉายในระบบส่งสัญญาณภาคพื้นดินแบบฟรีทีวียุคเก่า ผมอาจจะต้องจ่ายด้วยตัวเลข xxx บาท แต่ตอนนี้พอคอนเทนต์ต้องลงผ่านแพลตฟอร์มดาวเทียมด้วย เจ้าของลิขสิทธิ์ก็บอกว่า ถ้าคุณจะเอาลิขสิทธิ์ดาวเทียมก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพราะดาวเทียมไม่ได้ส่งสัญญาณแค่ในประเทศไทย สัญญาณมันแลบออกไปนอกประเทศด้วย  บางคนไปเซ็นสัญญาคอนเทนต์มาแล้วแต่เป็นแค่ฉายบนฟรีทีวี เท่ากับว่าต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ดาวเทียมเพิ่มอีก

เพราะฉะนั้นช่องต่าง ๆ จะมีค่าใช้จ่ายมากมายมหาศาล  คำถามจึงย้อนกลับไปปัญหาเดิมว่า แล้วทีวีแต่ละช่องจะมีปัญญาหาเม็ดเงินมาครอบคลุมค่าใช้จ่ายพวกนี้หรือเปล่า เพราะเราเห็นภาพแล้วว่าโฆษณาจะไปที่ตัวใหญ่เกือบหมด แล้วตัวเล็ก ๆ จะอยู่ยังไง  ต้นทุนก็มหาศาลขนาดนี้ จะให้ไปซื้อโปรแกรมดี ๆ อีกก็ไม่ไหว  ถ้าซื้อโปรแกรมไม่ดีมาก็ไม่มีคนดู พอไม่มีคนดูก็ไม่มีโฆษณา มันก็วัวพันหลักอยู่อย่างนี้  หรือถ้าจะคิดว่า เอาวะ ทุ่มทุนสร้าง ซื้อโปรแกรมดี ๆ มาหวังจะให้มีคนดู แต่ปรากฏว่ามันเกินตัว ค่าใช้จ่ายกินกำไรไปหมด โฆษณาช่วงแรกไม่มีก็อาจจะเจ๊งได้

การวัดเรตติ้งของรายการทีวีที่แทบเรียกว่าเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของการซื้อโฆษณา เขาทำกันอย่างไร
เรื่องนี้ในวงการโทรทัศน์เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว  บริษัทชื่อว่า ACNielsen ซึ่งอยู่ในวงการโทรทัศน์ไทยมายาวนานเป็นคนจัดการ  วิธีการที่เขาใช้ตามที่เขาบอกคือเอากล่องบันทึกข้อมูล (TV Meter) ที่คอยจับสัญญาณว่าในแต่ละบ้านดูช่องอะไรในแต่ละช่วงเวลาไปติดไว้  ทีนี้คนก็ถามว่า เฮ้ย ไปติดบ้านใคร บ้านกูไม่เห็นติดเลย  เขาก็ตอบว่า สมมุตินะว่ามีสัก ๕,๐๐๐ เครื่อง เขากระจาย ๕,๐๐๐ เครื่องนี้ไปติดตามบ้านคน แบ่งกลุ่มกันไป ในตลาดกี่เครื่อง ในอพาร์ตเมนต์กี่เครื่อง ในโรงแรมกี่เครื่อง บ้านคนธรรมดากี่เครื่อง แต่ถ้าถามว่ายอดรวมที่ได้เป็นตัวแทนคนดูทั้งประเทศได้เหรอ ก็ไม่ค่อยมีคนเชื่อเท่าไหร่

อย่างก่อนหน้านี้มียุคหนึ่งที่เรตติ้งช่อง ๗ เอาชนะช่อง ๓ ได้ตลอดเวลา ช่อง ๓ ก็ไม่พอใจบอกว่า เฮ้ย โกงหรือเปล่าวะ ก็สู้กันอยู่พักหนึ่ง  สุดท้ายก็เข้าใจว่า ACNielsen เป็นผู้ทรงอิทธิพล ยังเป็นเจ้าเดียวที่เป็นคนทำเรตติ้งอยู่ในทุกวันนี้  ถามว่าน่าเชื่อถือไหม ก็ไม่น่าเชื่อถือหรอก แต่มันไม่มีตัวเลือก

จริง ๆ แล้ว กสทช. ควรเข้ามาจัดการตรงนี้ด้วยหรือเปล่า
ใช่ ผมเห็นด้วยว่า กสทช. ควรเข้ามาจัดการ แต่ก็มีบางคนบอกว่าการดูเรตติ้งอย่างเดียว เราก็อาจได้โปรแกรมห่วย ๆ อาจจะเป็นละครน้ำเน่า เกมโชว์เรตติ้งดี ๆ แต่ไม่ได้ให้ประโยชน์แก่คนดู  ถ้าคุณวัดที่เรตติ้งอย่างเดียว ไม่ได้หมายความว่ารายการที่มีคุณภาพมันจะรอด เพราะอย่างนั้นถึงต้องมีทีวีสาธารณะที่ไม่ได้เอาเรตติ้งมาเป็นตัววัด แต่เอาคอนเทนต์เป็นตัววัดว่าคุณจะอยู่ได้หรือเปล่า

เรามีความหวังแค่ไหนว่าจะได้ดูรายการดี ๆ จากฟรีทีวี
๔๘ ช่องที่กำลังจะมาถึงแน่นอน ถ้าเราเชื่อในโลกของการแข่งขัน มันก็จะแข่งขันกันดีไปเองโดยธรรมชาติ อันนี้ก็เป็นข้อดีของการมีตัวเลือกที่เยอะขึ้น

หมายความว่าที่ผ่านมาทีวีระบบอะนาล็อกมีเพียงแค่หกช่อง แข่งขันกันน้อย เนื้อหาเลยเป็นแบบที่เห็น ๆ กันอยู่
ก็ส่วนหนึ่ง อย่างที่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนว่าสมัยก่อนมีเพียงฟรีทีวีหกช่อง พอต่อมาเริ่มมีทีวีดาวเทียม มีทีวีบอกรับสมาชิก เราก็เริ่มเห็นโปรแกรมที่มีความแตกต่างมากขึ้น  ผู้ผลิตคอนเทนต์ก็มีโอกาสนำเสนอคอนเทนต์ที่น่าสนใจมากขึ้น  ส่วนว่าจะไปอยู่ตรงไหน ก็ขึ้นอยู่กับช่องทางที่สามารถจะไปได้  แต่แน่นอน ถ้ารายการดีพอก็อาจอัปเกรดตัวเองมาอยู่ในช่องที่มีเรตติ้งดีขึ้น  มันเป็นธรรมชาติของการแข่งขันที่ของดีก็จะค่อย ๆ ยกระดับขึ้นมา

ratchapol03พอเป็นทีวีภาคธุรกิจ เปิดโอกาสการขายโฆษณาเต็มที่อย่างนี้ เราจะเห็นแต่โฆษณาพวกอาหารเสริม ยาลดความอ้วนต่าง ๆ เหมือนในทีวีดาวเทียมไหม
เป็นไปไม่ได้หรอก เพราะว่าโฆษณาพวกนั้นไม่ทำเงิน  ค่านาทีโฆษณาของฟรีทีวีแพง ที่เขาพยายามตั้งกันตอนนี้คือนาทีละ ๕๐,๐๐๐ บาทเป็นอย่างต่ำ เพราะฉะนั้นพวกอาหารเสริมต่าง ๆ เข้ามาไม่ได้  ที่คุณเห็นในทีวีดาวเทียมก็เพราะว่าค่าโฆษณามันถูก

กสทช. ทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหนในการเปิดประมูลที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการแข่งขันที่ยุติธรรมไหม
ถ้าพูดถึงกติกาการประมูลก็ถือว่าโอเค เขาก็เปิดแฟร์ดี เพียงแต่ผมมีความรู้สึกว่ามันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดสรรกันมากมายขนาดนี้  ถ้ามีของก็เก็บของไว้ก่อนได้  ถามว่าบ้านเราต้องการดูข่าวถึงเจ็ดช่องเลยเหรอ คุณจะดูข่าวอะไรมากมายขนาดนั้น แถมจริง ๆ แล้วคอนเทนต์ที่มีในทั้ง ๒๔ ช่อง ทุกช่องก็จะต้องมีข่าวแทรกอยู่ด้วยแล้ว เพราะ กสทช. กำหนดเอาไว้ ฉะนั้นการดึงช่องข่าวออกมาเป็นกลุ่มหนึ่ง แล้วยังไปเขียนกติกาให้สามารถมีข่าวขั้นต่ำเพียง ๕๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นของรายการทั้งหมด ผมก็เลยงงว่าทำไมถึงเรียกว่าช่องข่าว เพราะหมายความว่าเขาอาจจะเอารายการวาไรตี้ รายการเด็ก มาใส่ก็ได้  ถ้าเป็นแบบนี้รูปแบบเนื้อหาหลัก ๆ ของทุกช่องก็จะมีคอนเทนต์ที่ไม่แตกต่างกันมากนัก คือมีรายการวาไรตี้ รายการข่าว รายการเด็ก หลัก ๆ ก็จะมีอยู่สามอย่าง ซึ่งก็อยู่แค่ว่าใครจะให้น้ำหนักตรงไหนมากกว่ากัน

แปลว่าเราอาจมีช่องฟรีทีวีที่มีรูปแบบเนื้อหาใกล้เคียงกันถึง ๒๔ ช่อง 
มันคงไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะแต่ละช่องก็ต้องหาความต่างว่าเขามีจุดเด่นยังไง แต่ในความรู้สึกผมก็ไม่เห็นว่ามันจะมีความแตกต่างอะไรกันมากมาย แต่ละช่องก็จะมีรูปแบบอยู่ประมาณนี้

ถ้าเป็นไปได้จริง ช่องข่าวที่ออกแต่ข่าวเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลยจะมีหน้าตาอย่างไร
คนทำต้องแข็งแรงจริง ๆ แต่ว่าวงการโทรทัศน์ไทยพัฒนาขีดความสามารถที่จะผลิตข่าว ๒๔ ชั่วโมงได้ดีพอหรือเปล่า คุณคิดว่าทั้งเจ็ดช่องจะมีความต่างกันอย่างไร  ที่ผ่านมาผมก็เห็นทำข่าวเหมือน ๆ กัน แค่เปลี่ยนคนอ่านข่าว  แต่ถามว่ามันมีพัฒนาการแบบเมืองนอกที่มีสกู๊ปเจาะลึกไหม ก็ยังไม่มี แต่ในอนาคตจะมีไหม ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น  แต่ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างของวงการโทรทัศน์บ้านเรา คือตอนนี้ไม่ได้แข่งกันที่คอนเทนต์ เราดันไปแข่งวิธีการนำเสนอ  คุณจะเห็นว่าทุกคนบอกว่าช่องข่าวคุณต้องมีวิดีโอวอลล์ คุณต้องมีหน้าจอทัชสกรีน ต้องมีแอนิเมชัน  แต่ถามว่ามันใช่หัวใจหรือเปล่า หัวใจจริง ๆ คือคอนเทนต์ต่างหาก

ในฐานะของคนทำสื่อ คุณมองว่าพฤติกรรมการเสพสื่อของคนไทยเปลี่ยนไปจากยุคก่อนไหม
แน่นอน สมัยก่อนไม่มีทางเลือก ต้องดูแต่ฟรีทีวีเท่านั้น ไม่งั้นก็ไม่รู้ว่าจะดูอะไร  แต่ทุกวันนี้มีทางเลือกเยอะแยะ ทุกแพลตฟอร์ม ทุกหน้าจอ สามารถดูได้หมดแล้ว  ในความรู้สึกผมวงการโทรทัศน์เปลี่ยนไปแล้ว มันไม่ได้อยู่บนความเป็นช่องอีกต่อไป ดูง่าย ๆ ทำไมรายการอย่าง VRZO หรือรายการของ จอห์น วิญญู ไม่ไปลงในฟรีทีวี เพราะเขาบอกว่า เฮ้ย ! ไม่ใช่เป้าหมายของเขา เป้าหมายของเขาคือวัยรุ่น และพฤติกรรมวัยรุ่นไม่ได้เสพทีวีอีกต่อไปแล้ว  การทำรายการบนแพลตฟอร์มนี้มีคนดูเป็นแสน ๆ แล้วมีการวัดเรตติ้งชัดเจน ได้ยอดวิวกันเห็น ๆ ขายโฆษณาได้ง่ายขึ้น แล้วโฆษณาก็มีทางเลือกอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นไม่เสมอไปแล้วที่โฆษณาจะต้องมาลงฟรีทีวี

คำถามโต ๆ ที่คนคิดกันอยู่ก็คือ เดี๋ยวนี้เราดูทีวีสักกี่ชั่วโมง
เพราะมีแพลตฟอร์มอื่นเกิดขึ้นมากมาย คนเขาหนีไปดูในมือถือ ดูแบบออนดีมานด์ (on demand) กันหมด  นั่นหมายความว่ามันอาจจะไม่เวิร์กก็ได้ที่จะมาเป็นฟรีทีวีในปัจจุบัน  บางคนถึงขนาดพูดว่าไพรม์ไทม์ (prime time ช่วงเวลาที่มีผู้ชมสูงสุด)ไม่มีอีกแล้วในวงการทีวี เพราะว่าไพรม์ไทม์อยู่กับคนดู ไม่ได้ขึ้นอยู่กับช่องทีวีเป็นตัวกำหนด  ทางเลือกมีเยอะแยะ  เด็กบอกว่าอยากดูละคร สามีตีตรา แต่แม่ไม่ให้ดูเพราะเดี๋ยวไปเรียนไม่ทัน เด็กก็ไปดูออนดีมานด์ย้อนหลังได้อยู่ดี

แล้วในอนาคตฟรีทีวีจะถึงกับหายไปเลยหรือเปล่า
ฟรีทีวีคือวัฒนธรรมของคนทั่วไป ถ้าเทียบก็เหมือนหนังสือพิมพ์รายวัน ยังไงก็ยังคงเป็นวัฒนธรรมของคนเราอยู่ เพียงแต่ว่าพฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไป มันจะค่อย ๆ ปรับไปเรื่อย ๆ  ในอนาคตฟรีทีวีจะไม่มีอิทธิพลมากมายอีกต่อไปแล้ว  ทุกวันนี้ถ้าสมมุติว่าผมจะผลิตรายการบนช่องทางมีเดียใหม่ ๆ เป้าหมายคนดูของผมอาจไม่ใช่กลุ่มคนดูในช่องฟรีทีวีแล้วก็ได้  ผมอาจมองว่าฟรีทีวีเป็นแค่เพียงช่องทางหนึ่ง แต่ผมก็มีช่องทางอื่น ๆ ที่ต้องไปอยู่ในเฟซบุ๊ก ยูทูบ อะไรแบบนั้น แต่แน่นอนว่าฟรีทีวียังคงเป็นช่องทางที่มีความจำเป็น

ช่องทางของคนทำสื่อก็ต้องเปลี่ยนไป
ใช่ เพราะว่าฟรีทีวีไม่ใช่พระเจ้าอีกต่อไป มันเป็นเพียงช่องทางหนึ่งของคุณ  ตอนนี้อย่างบางสถานีเขาประกาศตัวเองชัดเจนว่า ช่องฟรีทีวีพวกนี้ไม่ใช่ช่องหลักเพียงช่องเดียวของเขา แต่รายการเขาต้องดูได้ทุกแพลตฟอร์ม เพราะฉะนั้นวงการโทรทัศน์พัฒนาไปไกลกว่าการจะเป็นเพียงฟรีทีวีแล้ว และปัจจุบันที่เขาพูดกันว่า Content is a King. คือคนผลิตเนื้อหานี่แหละที่จะเป็นตัวกำหนดโลกโทรทัศน์ในยุคต่อไป

แต่การทำฟรีทีวีสมัยนี้คุณต้องแข่งกับหลายอย่างมาก เพราะคนสมัยนี้เป็นมนุษย์รีโมต คุณต้องแข่งกับทางเลือกอื่น ๆ เยอะแยะ  คุณต้องแข่งกับรีโมตที่คนพร้อมจะกดหนีคุณได้ตลอดเวลา และที่สำคัญมากกว่านั้น คือพฤติกรรมของคนดูสมัยนี้ ถ้าภายในระยะเวลา ๓-๕ นาที คุณไม่สามารถตรึงคนดูให้อยู่ที่หน้าจอคุณได้ ชีวิตคุณจบแล้ว เพราะเขาก็กดหนีคุณไปดูอย่างอื่นหมด

วัฒนธรรมการดูทีวีแบบเดิม ๆ ที่ใช้เวลานั่งแช่หน้าจอก็จะหมดไป 
ก็อย่างที่ผมบอกไป ถ้าเกิดว่าใครทำให้คนดูภักดีต่อช่องได้ นั่นคือความสำเร็จขั้นสุดยอดที่สุดในอนาคต  เราต้องยอมรับว่าตลอดมาช่อง ๓ ตอบโจทย์นี้ได้ดี เขาก้าวนำสังคมบางอย่างอยู่เสมอ เช่นเขารู้ว่าคนไทยยังชอบเสพละคร และในขณะเดียวกันคนไทยก็เริ่มหันมาสนใจข่าว แต่ไม่ชอบสนใจข่าวที่หนักเกินไป ทำยังไงให้เป็นข่าวที่เบาหน่อย เขาก็ทำให้มันเป็นการเล่าข่าว มานั่งคุยกันเป็นครอบครัวข่าว ซึ่งก็ไปกับคนดูได้มากขึ้น  ช่อง ๓ จับพฤติกรรมคนดูได้ดีพอสมควร  ถามว่าสรยุทธทำไมถึงเน้นหนักการเอนเตอร์เทน เพราะว่าสรยุทธบอกไม่เล่นดีกว่าการเมือง ดราม่าหน่อยสนุกดี แถมดึงเรตติ้งได้

หลายคนมองว่าทีวีดิจิทัลจะเป็นการปฏิรูปสื่อ ทำให้ความหลากหลายทางวาทกรรมในสังคมเปลี่ยนไป
ก็น่าจะเปลี่ยน เพราะว่ามีช่องเพิ่มขึ้นมามากมาย คนมีทางเลือกมากขึ้น แต่ว่ารูปแบบการเสพของแต่ละคนก็จะเป็นไปตามรสนิยม  มันจะเป็น niche market มากขึ้น  และผมเชื่อว่า ๒๔ ช่องต่างก็จะต้องหาจุดเด่นของตัวเองให้เจอ  ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าคุณเป็นทีวีพูล คุณได้ช่องข่าวมา คุณจะทำข่าวอะไร แน่นอนว่าต้องเป็นช่องข่าวบันเทิง  ช่องข่าวบางช่องก็อาจหนักไปทางกีฬา บางช่องก็อาจหนักไปทางสังคม แต่ละช่องต้องหา identity ของตัวเองให้เจอ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับคนทำสื่อ  ถ้าใครไม่ชัดเจนในตัวของตัวเองจะอยู่ยากในยุคนี้

แล้วเรื่องของเสรีภาพ ประชาธิปไตย หรือภาพการเดินเท้า ๓๘๐ กิโลเมตรเพื่อป่าแม่วงก์ในปีที่แล้ว จะมีสื่อทีวีที่เกิดขึ้นใหม่พูดถึง หรือไม่ถูกพูดถึงอย่างในสื่อกระแสหลักอีกหรือเปล่า
ผมเชื่อว่ายังไงก็ต้องมี ใน ๒๔ ช่องต้องมีสักช่องหนึ่งทำ แต่เรื่องพวกนี้เกิดจากกระแส ถ้ากระแสนั้นจุดติด มันก็เป็นข่าว  ในแง่ของความสำคัญของเรื่อง ถ้ามันน่าสนใจเขาก็ไปทำข่าวอยู่แล้ว  แต่ที่ผ่านมาสื่อในบ้านเราเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองมากกว่า คือเลือกที่จะไม่ทำ เพราะขี้เกียจเป็นศัตรูกับใคร ขี้เกียจทะเลาะกับใคร ก็เลี่ยงไปทำอย่างอื่น

การเซ็นเซอร์ตัวเองสะท้อนว่าเราไม่มีเสรีภาพทางสื่อ
สื่อเลือกเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะ หนึ่ง เขากลัวการเมือง  สอง เขากลัวเรื่องเม็ดเงิน เพราะว่าการเมืองมีอิทธิพลในการจัดสรรเม็ดเงินโฆษณาของภาครัฐไปยังสื่อต่าง ๆ  บรรดาสถานีโทรทัศน์ก็บอกว่า เราไม่ยุ่งดีกว่า ไปเล่นเรื่องอื่น เราไม่เดือดร้อน  สื่อบางสื่อก็อาจบอกว่าพนักงานเขามีเป็นพันเป็นหมื่นคน อาณาจักรของเขาใหญ่เกินกว่าจะไปเสี่ยงทะเลาะกับใคร

หมายความว่าตราบใดที่สื่อยังต้องพึ่งพาทุนหรือโฆษณา เราก็ต้องอยู่กันไปแบบนี้
ก็เว้นเสียแต่เราจะมีการปฏิรูปประเทศกันครั้งยิ่งใหญ่ ที่การเมืองจะมาเป็นตัวกำหนดบทบาทของสื่อมากมายไม่ได้  คือต้องไปด้วยกัน  การจะบอกให้สื่อปฏิรูปฝ่ายเดียวมันทำไม่ได้  แต่ในอนาคตเมื่อมีช่องฟรีทีวีถึง ๒๔ ช่อง โอกาสที่คนทำสื่อจะกลัวก็อาจน้อยลง เพราะจากเดิมมีหกคน มีคนกลัวสักคน อีกห้าคนก็ต้องกลัว ๆ ตามกันไป แต่อีกหน่อยจะมี ๒๔ โอกาสจะไปปิดกั้นก็คงยาก  สมมุติเลยนะว่าถ้ารัฐบาลเป็นรัฐบาลทรราช และบอกว่าจะปิดกั้นสื่อ  แต่จะปิดยังไง มีตั้ง ๒๔ ช่อง จะแยกทหารไปคุม ๒๔ ช่องก็ไม่ง่าย จะไปบีบทุกช่องให้ยอมศิโรราบได้หมดเลยไหม มันก็อาจไม่เสมอไป ต้องยอมรับว่าทีวีดิจิทัลมีข้อดีตรงนี้

ถึงยุคนี้จริยธรรมของคนทำสื่อเปลี่ยนไปมากไหม
สื่อก็คนธรรมดาคนหนึ่ง มันอยู่ที่เราขีดเส้นของตัวเองไว้ที่ไหน ผมพูดอยู่เสมอว่าอาชีพสื่อเป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรี เราต้องมีศักดิ์ศรี  ผมทำอาชีพนี้เพื่อหาเลี้ยงปากท้อง ผมมีครอบครัว มีลูกมีเต้า มีญาติมิตร ผมต้องมองหน้าผู้คนในครอบครัวผมได้ว่า ผมไม่ได้ทำอะไรที่ทรยศต่อศักดิ์ศรีของเรา

ผมมองว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้สื่อยุคหลัง ๆ ดูมีนอกมีใน เพราะว่าเขาอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ มันยังต้องพึ่งพากัน  ผมว่าหัวใจสำคัญ คือคุณต้องทำงานและพิสูจน์ตัวเองว่า คุณมีค่าพอที่จะได้เงินเดือนสูง มีค่าพอที่จะมีตำแหน่งหน้าที่การงาน และเราไม่ได้ได้มาด้วยการไปรีดไถใครมา

ratchapol04คุณคิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่า “ในโลกนี้ไม่มีสื่อใดที่เป็นกลาง มีเพียงแต่สื่อที่อยากจะอยู่ให้ได้”
ตั้งแต่ผมทำข่าวมา ผมบอกได้เลยว่าไม่มีสื่อไหนเป็นกลาง มนุษย์ทุกคนมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่ในตัว  คุณต้องเข้าใจคำว่าสื่อก่อนว่า ทำไมเขาถึงเรียกว่าผู้สื่อข่าว ทำไมเขาไม่เรียกว่า ผู้รายงานข่าว  ผู้สื่อข่าวคืออะไร คือผู้ที่รับสารมา และเอามากลั่นกรองจนตกผลึกแล้วค่อยนำเสนอให้ผู้ชมฟัง เพราะฉะนั้นสื่อมีหน้าที่บอกเล่าความจริงและชี้ให้เห็นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น  อย่างเรื่องจำนำข้าว ถ้าคุณบอกว่าตัวคุณเป็นผู้รายงานข่าว คุณจะไม่มีวันรู้เลยว่ามันโกง เพราะคุณแค่รายงานข่าว แต่ว่าเมื่อไหร่ที่คุณเป็นผู้สื่อข่าว คุณต้องเริ่มค้นหาความจริงแล้วว่า เอ๊ะ ทำไมใช้เงินไปหมดขนาดนี้ แต่ไม่มีเงินจ่ายชาวนา  ถ้าคุณเป็นสื่อคุณก็ต้องไปสืบให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วถ้าคุณรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น คุณจะยืนอยู่ตรงกลางตรงไหนล่ะ ถ้าเป็นเรื่องทุจริต

ผมพูดอยู่เสมอว่า ผมไม่เคยเป็นกลาง ผมมีจุดยืนชัดเจนในทุกเรื่องที่ผมวิพากษ์วิจารณ์ว่า เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย  ส่วนว่าความเห็นผมจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็แล้วแต่ผู้ฟังตัดสิน  การเป็นสื่อที่ดีพิสูจน์ได้ง่าย ๆ ว่าคุณอยู่ในวงการมากี่สิบปีแล้วมีคนมาชี้หน้าว่าคุณให้มัวหมองหรือเปล่า ตราบใดที่คุณยังยืนอยู่อย่างทระนงไม่อายใคร มันก็พิสูจน์แล้วว่าคุณเป็นสื่อที่ดี

เมื่อทีวีดิจิทัลเกิดขึ้น บริบทของสื่ออื่น ๆ รอบข้าง ทั้งทีวีดาวเทียม วิทยุ ฯลฯ จะเปลี่ยนไหม
ผมว่าสื่อทุกสื่อมีเสน่ห์ของตัวเอง อยู่ที่เราจะเลือกใช้อย่างไร อย่างวิทยุก็เป็นเสน่ห์ทางเสียง คนอาจไม่ชอบหน้าเราเลยแต่ฟังเสียงเรา คนบางคนอาจจัดรายการวิทยุได้ดีแต่จัดโทรทัศน์ไม่ดีก็เป็นได้  แล้วยิ่งมีทางเลือกเยอะ ๆ ก็อยู่ที่เราซึ่งเป็นคนส่งสารว่าจะเลือกอะไรที่เหมาะสม  ถ้าผมอยากพูดกับกลุ่มคนขับรถ ผมคงไม่ไปจัดทีวี เพราะคนขับรถจะดูได้ยังไง เขาก็ต้องเลือกฟังเสียง  แต่ถ้าผมต้องการจะพูดกับแม่บ้าน ทีวีอาจเป็นสื่อที่เหมาะก็ได้  ถ้าผมอยากจะพูดกับวัยรุ่น ผมก็อาจไปพวกอุปกรณ์สมาร์ตโฟน  เราต้องเข้าใจธรรมชาติของสื่อประเภทต่าง ๆ ให้ได้

ทีวีดาวเทียมหรือทีวีบอกรับสมาชิกน่าจะได้รับผลกระทบบ้าง
ผมเชื่อว่าทีวีดาวเทียมในอนาคตจะเป็นรายการที่ดาร์ก ๆ หน่อย คือมีคอนเทนต์ที่ดูเป็นผู้ใหญ่  สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นในฟรีทีวี เช่นช่องที่มีแต่รายการผี หรือช่องหนังเอกซ์ ช่องที่จะบ้าแต่เรื่องหมอดู ตรงนี้ฟรีทีวีจะไม่มีหรอก ก็จะเป็นช่องว่างให้ทีวีดาวเทียมไปหาพวกนี้มาเสียบ  ทำทีวีดาวเทียมว่าด้วยเรื่องผีทั้งวันดีกว่า หรือหมอดูทั้งวันเลย  แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาว่าคุณตีโจทย์แตกหรือเปล่าว่าสื่อที่คุณถืออยู่ในมือเหมาะกับอะไร

เราควรจะเสพสื่อในยุคต่อไปที่จะถึงนี้อย่างไร
ผมไม่ค่อยห่วงกับการเสพสื่อนะ เพราะผมมีความเชื่อว่ามนุษย์เลือกเป็นว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะกับตัวเอง  สมมุติว่ามีช่องหนังเอกซ์ คุณจะนั่งดูทุกวันเหรอ คุณดูสักวันสองวันก็อ้วกแล้ว  เหมือนดูกีฬา เราจะดูบอลสามคู่เตะกันตั้งแต่เที่ยงคืนยันตี ๔ คุณดูไหวเหรอ  มนุษย์เลือกเองเป็น  แถมเดี๋ยวนี้คนเราก็ค่อนข้างเท่าทันสื่อพอสมควร มาหลอกกันหมู ๆ ไม่ได้อีกแล้ว  ยิ่งยุคสมัยนี้คุณจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ผู้คนต่างก็เลือกเสพตามความสนใจ ซึ่งในอนาคตก็จะเป็นอย่างนี้แหละ  ถามว่าเมืองนอกเป็นอย่างนี้ไหม มันก็เป็นนะ คนชอบดู CNN ก็แบบหนึ่ง คนชอบดู Forbs ก็อีกแบบหนึ่ง แม้แต่อเมริกาเองก็มีค่าย คนดูช่องไหนก็จะโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง

แล้วความเปิดกว้างที่ว่าจะมากเกินไปสำหรับเด็กหรือเปล่า
คุณอย่าไปดูถูกเด็ก  สมัยนี้บางทีเด็กเก่งกว่าคุณ เขาพัฒนาเร็วมากและรู้อะไรมากกว่าที่เรารู้ด้วยซ้ำในบางเรื่อง  มันหมดสมัยแล้วกับการมาร้องห้ามอย่า ๆ  ที่ห่วงเรื่องเรตติ้งละครตบตีกันว่ามาฉายได้ยังไง ลำยงลำยอง  เด็กเดี๋ยวนี้เขารู้ เราเพียงแต่ไปตัดสินเขาก่อน  แต่ถ้าเกิดว่าเราห่วง ก็อยู่ดูกับเขาสิ คุณดูไปก็สอนเขาไป เพราะมันตลกมากนะถ้าคุณบอกว่ารายการผู้ใหญ่พวกนี้ต้องไปอยู่ดึก ๆ เพราะว่าเดี๋ยวนี้เด็กจะดูผ่านแพลตฟอร์มไหนก็ได้ ต่อให้ไปอยู่ดึกแค่ไหน ถ้าเกิดอยากดู ก็ดู ไปห้ามไม่ได้หรอก  ผู้ปกครองเองก็ต้องรู้ทันลูกมากขึ้น ต้องสังเกตหน่อย  หลอกถามบ้างอะไรบ้างว่าดูแล้วคิดยังไง  บางครั้งก็เป็นไปได้ว่าเด็กอยากมีต้นแบบและไปทำตัวเลียนแบบละคร  แต่ถ้าเราสังเกตพฤติกรรมเขาว่าไม่ใช่แล้ว เราก็ต้องเตือน เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองอยู่แล้ว คุณจะไปโทษสื่ออย่างเดียวได้ไง

คุณคิดว่าประเทศไทยพร้อมหรือยังกับการก้าวสู่ยุคทีวีดิจิทัล
ถ้าว่ากันจริง ๆ ก็ไม่ถึงขนาดเร็วไปหรือสายไป  มองในมุมหนึ่งก็โอเค จะได้เห็นว่ามันจะพัฒนาไปได้ถึงขนาดไหน  เพียงแต่ว่าผมมองเรื่องความพร้อมในแง่การตลาดของประเทศไทยที่ไม่ได้ใหญ่โตมากมายเหมือนอเมริกาที่ต้องมีทีวีเป็นร้อยช่องให้เลือกดู  เมืองไทยก็เท่านี้เอง  ผมคิดว่ามันเยอะไป เม็ดเงินโฆษณาก็ไม่ได้เยอะจนตอบโจทย์ทางธุรกิจได้อีกด้วย แถมความพร้อมของบุคลากรก็ยังไม่ถึง  ว่ากันตรง ๆ ต้องบอกว่าบุคลากรยังไม่พร้อมเลยดีกว่า แถมคอนเทนต์ส่วนใหญ่เราก็ยังก๊อบปี้คนอื่นมาเยอะ เราไม่ได้มีความเป็นมืออาชีพในแง่การผลิตด้วยมันสมองตัวเองสักเท่าไหร่  อย่างรายการทีวีคุณก็จะเห็นพฤติกรรมการเลียนแบบอยู่เรื่อย ๆ  ยุคหนึ่งจะมีการร้องเพลงแบบ ตีสิบ ก็ร้องตามกันทุกช่อง  พอรายการเรียลิตีมาก็เรียลิตีกันทุกช่อง  ส่วนใหญ่ประเทศเรายังไม่ได้พัฒนาตนเองด้านครีเอทิฟไปถึงขั้นนั้น  เทคโนโลยี อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือก็ยังไล่ตามเขาอยู่

คำถามสุดท้าย คุณคิดว่าทีวีดิจิทัลจะนำพาเราไปสู่อะไร
พูดยากนะ เราก็จะได้เห็นรายการใหม่ ๆ แต่ด้วยศักยภาพที่วงการโทรทัศน์ไทยมีอยู่ ผมเชื่อว่าเรายังต้องพึ่งพาคอนเทนต์จากเมืองนอกอยู่เยอะ  แต่ถ้ามองว่าจะเป็นการปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมทีวี ในอนาคตจะมีผู้ผลิตรายการทีวีดี ๆ มีสถานีโทรทัศน์ดี ๆ ก็น่าจะเกิดขึ้นได้ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ เพราะไม่ได้ถูกผูกขาดเหมือนในอดีตที่มีช่องใหญ่ไม่กี่ช่อง  คอนเทนต์ที่เราเคยก๊อบปี้เขา อีกหน่อยการแข่งขันก็จะเป็นตัวเร่งให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ มากขึ้น  แต่เรื่องนี้คงต้องล้มลุกคลุกคลานกันไปอีกพักใหญ่แหละ เพราะว่าการแข่งขันสูงมาก อยู่ ๆ ในมหาสมุทรหนึ่งเป็นบลูโอเชียนที่มีปลาว่ายน้ำกันจ๋อมแจ๋ม ๆ แค่หกตัว ตอนนี้กระโดดลงมาทีเดียว ๒๔ ตัว เพราะฉะนั้น ๒๔ ตัวนี้ก็ต้องแย่งอาหารกันมหาศาล ก็ต้องเหนื่อยหน่อย