ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง : สัมภาษณ์
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

salya01

ต้นปี ๒๕๖๑ บุพเพสันนิวาส ละครโทรทัศน์จากสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ ได้รับความนิยมในระดับปรากฏการณ์ มีเรตติงทั่วประเทศตอนจบสูงสุดถึง ๑๘.๖ [สำรวจโดยบริษัทเอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด]  ละครเรื่องนี้ดัดแปลงจากนิยายปี ๒๕๕๒ ชื่อเดียวกันของ “รอมแพง”  เรื่องราวว่าด้วยเกศสุรางค์ สาวนักโบราณคดียุคปัจจุบัน ที่ย้อนเวลาไปพบรักกับหมื่นสุนทรเทวาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความนิยมของละครเรื่องนี้ยังนำไปสู่กระแสแต่งกายชุดไทย ท่องเที่ยวเมืองเก่า และปลุกความสนใจประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาให้แก่ผู้ชมทั่วไปอย่างมากอีกด้วย

ศัลยา สุขะนิวัตติ์ ผู้เขียนบทละครเรื่องนี้ในนามปากกา “ศัลยา” อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำงานดัดแปลงเขียนบทละครโทรทัศน์มาแล้วกว่า ๓๐ ปี มีผลงานนับร้อย หลายเรื่องประสบความสำเร็จเป็นที่จดจำของคนดูแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานกับสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๗ อาทิ บ้านทรายทอง (๒๕๓๐)  คู่กรรม (๒๕๓๓)  นางทาส (๒๕๓๖) สายโลหิต (๒๕๓๘)  รากนครา (๒๕๔๓)  ดอกส้มสีทอง (๒๕๕๔ ช่อง ๓) จนถึง บุพเพสันนิวาส

ผลงานของ “ศัลยา” ได้รับการยอมรับจากหลายสถาบัน อาทิ รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ผู้เขียนบทละครดีเด่น จากเรื่อง คู่กรรม ปี ๒๕๓๓ รางวัลคมชัดลึกอวอร์ด บทโทรทัศน์ยอดเยี่ยม จากเรื่อง หลงเงาจันทร์ ปี ๒๕๔๙ และรางวัลนาฏราช บทโทรทัศน์ยอดเยี่ยม จากเรื่อง ดอกส้มสีทอง ปี ๒๕๕๔ เป็นต้น

ในวัย ๗๓ ปี “ศัลยา” ยังคงมีงานเขียนบทอย่างต่อเนื่อง ทั้งการดัดแปลงนิยายเรื่องใหม่ ๆ และเขียนซ้ำเรื่องที่เคยเขียนบทมาก่อนแล้ว เรื่องราวชีวิตและมุมมองของนักเขียนบทมากประสบการณ์ผู้อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในแม่แบบของละครไทย ย่อมสะท้อนให้เราได้เห็นความเป็นไปและประเด็นต่าง ๆ ที่ปรากฏในละครที่คนดูคุ้นชินได้อย่างดี

ในวันที่ทิศทางของสื่อละครโทรทัศน์เองกำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง…

เริ่มต้นทำงานเขียนบทได้อย่างไรครับ ทราบมาว่าได้รับการทาบทามจากคุณไพรัช สังวริบุตร (ผู้ผลิตละครโทรทัศน์ และประธานบริษัทดาราวิดีโอ)
คือคุณไพรัชเป็นน้าเขย เป็นญาติสนิทนะคะ เห็นคุณไพรัชทำละครมานาน ตั้งแต่ ปลาบู่ทอง ละครจักร ๆ วงศ์ ๆ เรื่องแรก เห็นการพูดคุย วางแผนการถ่ายทำ ก็เห็นมาตลอด แต่ไม่เคยคิดว่าจะได้มาเป็นคนเขียนบทเลย จนเวลาผ่านไปนานมาก เขาก็ทำละครไปเยอะแยะ จนประมาณปี ๒๕๒๘ ตอนนั้นคุณแม่ (บรรเจิดศรี ยมาภัย - นักแสดง) เริ่มไปเล่นละครแล้ว เราก็ได้มาคุย เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ละคร ว่าเขาต่าง ๆ นานา ตามประสาที่เราดูพวกละครและภาพยนตร์ฝรั่งมา ในที่สุดเขาเลยให้ลองเขียนบทละครโทรทัศน์ให้ จำได้ว่าตอนนั้นเก็บบทละครเก่า ๆ เรื่อง พลับพลึงสีชมพู (๒๕๒๘) และ บ้านสอยดาว (๒๕๒๗) ไว้ ก็ทำไปตามแบบนั้น  เรื่องที่เขียนเรื่องแรก ๆ เป็นเรื่องสั้น ๆ ก็เขียนไม่ยากเท่าไร แล้วก็ได้เขียนมาจนถึงทุกวันนี้

ก่อนจะมาทำงานด้านนี้ เรียนอะไรมาครับ
จบคณะรัฐศาสตร์ แต่สาขาที่เรียนคือสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เรียนหลายอย่างซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเขียนบทเลย  ต่อมาก็เรียนสาขาประชากรศาสตร์ แล้วก็ไปเรียนต่อสาขาการพัฒนาชนบท เพราะเป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่สอนในภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ละครโทรทัศน์ในอดีตกับสมัยนี้ต่างกันแค่ไหน
สมัยก่อนคนยังมีความอดทนที่จะดูละครที่เล่าอย่างละเอียด อาจจะเริ่มเล่าตัวเอกที่เป็นเด็กแล้วค่อย ๆ โต เรื่อยไปจนมีชีวิต ความรัก ความทุกข์ยากต่าง ๆ ก็เขียนอย่างเข้าถึงตัวละคร เข้าถึงเรื่องราวมากกว่า เราก็ค่อย ๆ บ่มตัวเราให้รับรู้ตัวละคร มีเวลาที่จะวางคาแรกเตอร์ นิสัยใจคอ วางวิถีชีวิตตอนเด็ก ๆ คนสมัยก่อนใจเย็น ค่อย ๆ ซึมซับเรื่องราวของคนในละครอย่างช้า ๆ ได้ เดี๋ยวนี้มันอย่างนั้นไม่ได้แล้ว บางครั้งเรื่องราวที่รีเมก (remake ละครในอดีตที่นำกลับมาเขียนบทอีกครั้งเพื่อสร้างใหม่) หนึ่งตอนกว่าจะถึงจุดจุดนี้ เดี๋ยวนี้ฉากหนึ่งต้องถึงเลย เราจะมาย้วยไปย้วยมาไม่ได้แล้ว ต้องใช้บทสนทนา หรือภาพแฟลชแบ็ก (flashback เทคนิคการตัดภาพเล่าเรื่องในอดีตเพียงสั้นๆ) ซึ่งก็เร็วดี ไม่ต้องยืดยาด แค่บอกสั้น ๆ

เป็นเพราะสมัยก่อนไม่มีอะไรดูเหมือนกับสมัยนี้ที่มีทีวีหลายช่อง มีสื่อหลากประเภทหรือเปล่าเขาจึงสามารถดูละครที่เล่าเรื่องด้วยวิธีดังกล่าวได้
นั่นคือเหตุผลที่สำคัญที่สุด บวกกับสภาพสังคมที่ไม่เร่งรีบ ไม่ลุกลี้ลุกลน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะมีเวลาดื่มด่ำกับความละเมียดละไมตรงนี้ได้ เช่นในละคร คนที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีย่ายายเลี้ยงอย่างนี้ คนดูก็ซึมซับได้อย่างเต็มที่ แต่เดี๋ยวนี้มันจะฉาบฉวยผิวเผิน  บางทีละครก็ไม่มีคำตอบว่าทำไมตัวละครถึงมีนิสัยใจคอแบบนี้ โดยเฉพาะคนที่นิสัยดี อ่อนโยนมาก ๆ สังคมก็จะตีความว่าไม่สู้คน ยอมคนไปหมด แต่นั่นอาจเป็นความอ่อนโยนละมุนละไมในชีวิตเขา

เมื่อเริ่มทำงานเขียนบท คนที่มีอิทธิพลต่อการทำงานคือใครครับ
ก่อนหน้านั้นจะดูละครค่อนข้างน้อย แต่คนที่เป็นแบบอย่างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการทำงานด้านละครคือคุณไพรัช สังวริบุตร และคุณผุสดี ยมาภัย ผู้เป็นภรรยา คือเวลาเขียนบทละคร ออกอากาศหนึ่งเบรกเท่านั้น โทรศัพท์มาเลย นี่เป็นสิ่งที่หวาดหวั่นที่สุด พอละครจบหนึ่งเบรกเราต้องคอยจ้องโทรศัพท์แล้ว แล้วเขาก็จะบอกว่าทำไมฉากนี้เขียนอย่างนี้ ทำไมถึงไม่ทำอย่างนั้น แบบนี้มันไม่ใช่ ไม่ดี จนถึงกับบอกว่ามันไม่น่ามี จะโทร.มาทุกเบรก นั่นคือการเรียนรู้อย่างดีที่สุด ทำให้เราเห็นว่าเรามีข้อผิดพลาด ควรแก้ไขอะไรบ้างสมัยก่อนละครจะไม่มีเวลาตรวจอะไรมาก มันเร่งมาก เพราะบริษัทนั้นทำละครให้ช่อง ๗ ทั้งปี สองเรื่องต่ออาทิตย์ เลยต้องทำกันตลอดเวลา แล้วตอนนั้นทั้งสองท่านก็ไม่รู้ว่ามันจะออกมาดีประการใด ก็จะรู้ระหว่างออกอากาศ มันก็เป็นบทเรียนแบบเรียนระหว่างทำ ทำระหว่างเรียนไปเรื่อย ๆ แต่ละเรื่องที่ผ่านไปก็เหมือนจบปริญญา ได้วิชานั้นอย่างเต็มที่

ครั้งหนึ่งคุณไพรัชตรวจบทที่เราเขียน จากบท ๒๐-๓๐ หน้า เขาขีดทิ้งหมดเหลือ ๕ หน้า ไม่มีปรานีเลย ถ้าฉีกทิ้งได้คงฉีก จนเรานึกในใจว่าคงไม่ต้องมาทำงานนี้แล้ว แต่พอเอามาดู มาฟัง ตรึกตรองดู นั่นคือการเขียนที่ไม่มีวัตถุประสงค์ ไม่จำเป็น ต้องไปถึงประเด็น ให้เขียนสิ่งที่คนอยากดู และเป็นฉากที่จำเป็น ไม่ใช่เขียนอู้เวลาไปเรื่อย ๆ เพื่อให้จบเร็ว ๆ

salya02

ภาพ : ศัลยา

สิ่งที่เรียนมาได้นำมาปรับใช้ในการเขียนบทมากน้อยแค่ไหนครับ
มากที่สุด (ย้ำ) ต้องบอกก่อนว่าคนเขียนบทคือคนที่เล่าชีวิตของมนุษย์ที่มีแง่มุมหลายด้านเหลือเกินให้กับคนดูทั่วไป การเล่านี้จะเล่าให้ลึกซึ้งขนาดไหนก็ต้องบ่งบอกที่มาที่ไปของพฤติกรรมมนุษย์  วิชาที่สอนคือวิชาสังคมวิทยา และวิชาวิจัยด้านสังคมศาสตร์  สองวิชานี้ช่วยอย่างมาก เพราะเป็นวิชาที่ขุดลงไปให้ลึกที่สุดของชีวิตมนุษย์ เพื่อหาว่าเหตุผลของการกระทำต่าง ๆ ของเขาคืออะไร เหตุผลต่าง ๆ มันมีตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก ๆ เป็นต้นมา เพราะในทางสังคมวิทยาเราไม่เชื่อว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณ เขาจะมีอะไรที่ติดมาจากกรรมพันธุ์บ้างนิดหน่อยในด้านพรสวรรค์ส่วนตัว เช่น ด้านดนตรี ศิลปะ แต่อะไรก็ตามที่เป็นอุปนิสัยใจคอ พฤติกรรมต่าง ๆ นั้นไม่มี เด็กที่ถูกสัตว์นำไปเลี้ยงจะไม่มีพฤติกรรมเหมือนมนุษย์ เขาจะไม่รู้จักวิธีกิน วิธีพูด เขาจะมีพฤติกรรมเหมือนกับสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงเขา

สังคมวิทยาจะเป็นตัวบอกว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เกิดขึ้น ในด้านครอบครัว การศึกษา เศรษฐกิจ คนจะมีหัวทางธุรกิจหรือไม่มี หรืออะไรต่าง ๆ เหล่านี้มาจากสิ่งแวดล้อม สังคมที่ให้การเลี้ยงดู อบรมบ่มนิสัย หล่อหลอมเขามา ในทางสังคมวิทยามีทฤษฎีที่ว่าด้วยพฤติกรรมเยอะแยะ ในการเขียนบทละคร เราเขียนชีวิตมนุษย์ เราก็จะรู้ว่ามีวิธีที่ค้นหาสิ่งที่มีผลต่อพฤติกรรมมนุษย์อย่างไร

มักมีคนสงสัยว่าในเมื่อละครโทรทัศน์สร้างจากนิยายที่มีเรื่องราวอยู่แล้ว จำเป็นต้องมีคนเขียนบทละครโทรทัศน์หรือไม่
มันไม่ได้เหมือนกันอย่างสิ้นเชิงนะคะ แม้จะมีเนื้อหาอย่างเดียวกันอยู่ แต่เล่าไม่เหมือนกัน  ในหนังสือเขาเล่าด้วยตัวอักษร จะเล่าไปเรื่อย ในอดีต ทั้งความรู้สึก ความคิดเห็น แล้วก็สามารถเขียนสลับสับเปลี่ยนได้หมด คนอ่านก็อ่านไปตามนั้น แต่เราเขียนบทละครเป็นการเล่าด้วยเนื้อหา ภาพ และเสียง เราจะเล่าแบบสับสนอลหม่านแบบนั้นไม่ได้ เราต้องเล่าโดยไล่เรียงไปตามลำดับ และการเล่าต้องเกิดความน่าสนใจด้วย  คนอ่านหนังสือมาหยิบหนังสืออ่านต้องเป็นคนสนใจอ่านอยู่แล้ว เขารักที่จะเสพความงามความดี ความสนุกจากตัวอักษร แต่คนดูละครจะเยอะกว่าหลายเท่า อาจมีเป็น ๕ ล้าน ๑๐ ล้าน เราจะต้องเล่าอย่างไรให้คนเหล่านี้ดู  หนึ่ง ความสนใจดูต้องเกิดจากการเล่าให้รู้เรื่อง เล่าไปตามลำดับ การเขียนฉากหนึ่งต่ออีกฉากหนึ่งเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจ ตัวละครมีหลายคนก็ต้องเล่าให้เข้าใจตัวละครหมดทุกคน  สอง ต้องสนุก ถ้าเขานั่ง ๆ อยู่เขาจะไปไหนก็ได้ เขาจะปิดทีวี จะลุกไปกินข้าว จะคุยกันก็ได้ ถ้ามันไม่ทำให้เขาสนใจ เราก็ต้องเล่าให้เขาอยู่ตรงหน้าจอทีวีได้ตลอดเวลา

นอกเหนือจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายอย่าง การแสดงของตัวละคร อินเนอร์ของตัวละคร ภาพที่ปรากฏ ความสมจริง เป็นองค์รวม ละครที่จะมีคนดูเยอะ ๆ ก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้สมบูรณ์

เคยมีบ้างไหมครับที่ต้องมาเขียนบทละครโทรทัศน์เรื่องเดิมที่เคยเขียนและถูกนำมารีเมก
มีค่ะ มงกุฎดอกส้ม อีสา จำเลยรัก และล่าสุดก็ สายโลหิต บทประพันธ์หลายเรื่องเราไม่ได้เปลี่ยนอะไร เพียงแต่เขียนให้มันกระชับขึ้น ไม่ให้เยิ่นเย้อ หรือว่าเติมอะไรบางอย่างที่คราวที่แล้วเราไม่ได้ใส่ลงไป อย่าง สายโลหิต หลายอย่างจะเหมือนในหนังสือ แต่มันมีบางเรื่องที่มีข้อมูลประวัติศาสตร์เกิดขึ้นใหม่ ก็จะหยิบใส่เอาข้อมูลอันนั้นมาเขียนขึ้นใหม่ เข้าไปแทนกลุ่มของข้อมูลเก่า

ซึ่งก็มีคนวิจารณ์ว่าทำไมละครโทรทัศน์ถึงชอบสร้างจากนิยายเรื่องเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ก็ไม่อยากพูดว่าหากินกับของเก่านะคะ แต่เหตุผลอย่างหนึ่งคือการทำละครจากนวนิยาย ต้องมีความเชื่อมั่นในระดับหนึ่งว่ามันดี ทำแล้วมีคนดู แล้วอีกเหตุผลหนึ่ง-หรือจะเป็นข้ออ้างก็ได้-คือทำให้คนรุ่นที่ไม่เคยดูได้มาดู เพราะนวนิยายที่ดีก็ควรให้คนทุกกลุ่มได้ดูมากที่สุด

แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ละครโทรทัศน์ของเราส่วนใหญ่ทำมาจากนิยาย น้อยมากที่จะคิดพลอตขึ้นเอง เคยมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ละครสร้างจากพลอตเป็นที่นิยมกันมาก แต่ในที่สุดมันก็ได้เห็นแล้วว่าพลอตยังไงก็สู้นวนิยายที่เขียนโดยนักเขียนมืออาชีพไม่ได้ บางพลอตก็หลวม ๆ ไม่มีรายละเอียด บางพลอตก็เอาของเดิมหลาย ๆ เรื่องมายำรวมกัน บ้างก็เอาไปผูกพันกับเรื่องสูตรสำเร็จ จนการทำละครจากพลอตก็ค่อย ๆ หายไปจากวงการ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หันกลับมาดูว่านิยายเรื่องใดน่าสนใจที่ประกาศออกมาคนก็ฮือฮาตื่นเต้น ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เรื่องของนักประพันธ์เดิมถูกซื้อแล้วซื้ออีก

ข้อสังเกตคือนิยายที่สร้างจากละครโทรทัศน์ของไทยส่วนใหญ่ดัดแปลงจากนิยายสำหรับกลุ่มผู้หญิง เช่นของ “ทมยันตี” “ว. วินิจฉัยกุล” “โสภาค สุวรรณ” เพราะอะไร
เป็นเพราะกลุ่มเป้าหมายของละครโทรทัศน์ไทยคือผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ เริ่มต้นมาจากที่เขาเรียกว่า soap opera*(คำเรียกรูปแบบของนิยาย ละครวิทยุ หรือละครโทรทัศน์ ที่มีเนื้อเรื่องต่อเนื่อง เน้นความสัมพันธ์และแสดงออกทางอารมณ์อย่างฟูมฟาย  คำศัพท์มีที่มาจากผู้สนับสนุนรายการละครวิทยุที่มักเป็นสินค้าในครัวเรือนประเภทสบู่) ของบ้านเราก็คือแม่บ้านเลี้ยงลูก ทำงานบ้าน หรือรวมถึงคนทำงานนอกบ้าน กลับมาเหนื่อย ๆ พอใจที่ได้เสพความบันเทิงในรูปของละคร  อีกประการหนึ่งก็ต้องบอกด้วยว่านวนิยายของไทยมีนักประพันธ์ผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ แล้วถ้าจะนับกันออกมาจริง ๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันครอบครัวมากกว่าอย่างอื่น สถาบันครอบครัวก็ไม่พ้นที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องสามีภรรยา ถ้าจะให้เข้มข้นดุเดือดไปอีกก็จะมีบุคคลที่ ๓ เข้ามา เกิดเรื่องความไม่เป็นสุขในครอบครัว การต่อสู้แย่งชิงกัน ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นหญิงสองคนชายหนึ่งคน การสลับลูกไปมาพอทำไปคนก็ดู นวนิยายก็ไม่ได้หลุดไปจากวงจรชีวิตแบบนี้ เราก็จะไม่สามารถหานวนิยายที่เล่นเรื่องอาชีพ ธุรกิจ การเมืองอย่างเข้มข้น มันไม่ค่อยมี  แล้วอย่างที่บอกว่ากลุ่มเป้าหมายคือผู้หญิง ละครเหล่านี้พันพัวกับชีวิตในครัวเรือน การเลี้ยงลูก สามีภรรยา ก็เลยถูกนำมาทำเป็นละครเป็นส่วนใหญ่

ละครที่สร้างจากนิยายเก่าจะยังทำงานกับคนดู หรือครอบครัวยุคปัจจุบันได้อีกหรือไม่ ในเมื่อครอบครัวยุคนี้เปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว
บางเรื่องไม่ได้ถึงกับต้องปรับกันมากมาย แต่นวนิยายสมัยก่อนจะมีจุดอ่อนตรงโครงเรื่องน้อย พรรณนาโวหารเสียเยอะ เหตุการณ์ต่าง ๆ ก็น้อย อาจจะสะท้อนถึงชีวิตที่ไม่สับสนวุ่นวายของคนสมัยก่อน ใครที่รับมาก็ต้องปรับเยอะ บางคนก็ปรับจนเหลือแต่ชื่อตัวละครเท่านั้น เรื่องราวที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนหมดก็มี ซึ่งก็ไม่เข้าใจเหมือนกันทำไมผู้จัดละครต้องไปหยิบมาทำ ก็คงจะเป็นเพราะชื่อเสียงของเรื่องและนักประพันธ์น่ะค่ะ

มุมมองผู้จัดเองที่อาจเคยทำละครแนวอื่นมาบ้าง เช่นการเมือง  แต่เพราะไม่ประสบความสำเร็จเลยไม่ค่อยมีการนำมาดัดแปลงต่อหรือเปล่า
จริง ๆ งานกลุ่มนี้ของนักประพันธ์ใหญ่ ๆ แทบทุกคนก็ถูกหยิบมาทำหมดแล้วนะคะ ถ้านักประพันธ์เหล่านี้เขียนนวนิยายที่เป็นสาระอย่างอื่นก็ต้องนับว่าเอามาเกือบหมด เพราะแต่ละท่านก็ไม่ได้เขียนเยอะ ก็มีผู้จัดหลายคนที่พยายามฉีกออกไป ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ประสบความสำเร็จ  เพียงแต่มันไม่ตึงตัง ไม่มีคนพูดถึงเยอะ คนที่เสพละครเหล่านั้นก็มี ต่อจากนี้ไปไม่รู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแนวละครโทรทัศน์ไทยบ้างหรือเปล่า ก็หวังว่าจะเปลี่ยน

โดยปรกติกว่าจะดัดแปลงนิยายมาเป็นละครโทรทัศน์อ่านกี่รอบครับ
แล้วแต่เรื่องค่ะ ถ้าเรื่องง่าย ๆ เบา ๆ ก็เห็นทะลุปรุโปร่งว่าจะเพิ่มตรงไหน เน้นตรงไหน  ถ้านิยายที่ละเอียด มีเรื่องราว ข้อมูลมากมาย เราจะอ่านหลายเที่ยว  ยกตัวอย่าง บุพเพสันนิวาส นี่อ่านหลายเที่ยวมาก แล้วก็ไปหาข้อมูลเยอะทีเดียว อย่างที่เคยบอกว่า บุพเพสันนิวาส เขียนบทอยู่ ๒ ปี หลายเหตุการณ์จะต้องไปค้นคว้าเพื่อทำเป็นฉากขึ้นมา เพราะบางทีในนิยายมันไม่ได้เป็นฉาก แต่เป็นการเล่าเหตุการณ์เฉย ๆ  บางเหตุการณ์เราก็จะข้ามไปไม่ต้องละเอียด แต่บางเหตุการณ์เราต้องการหยิบยกเป็นภาพเป็นเสียงให้เห็นเราก็จะต้องค้น เช่น ตัวละครนี้มีนิสัยอย่างไร เขาสนใจหรือคิดอะไร เราจะคิดเรื่องมาใส่ปากเขาเองไม่ได้ เช่นพระเพทราชาเป็นคนแบบนี้ คือไม่ชอบฝรั่ง ขัดแย้งกับพระนารายณ์ที่ชอบฝรั่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้นวนิยายไม่มี ก็ต้องไปหา ต้องอ่านหนังสือไปเรื่อย ๆ เยอะ ๆ จนโชคดีเจอเข้าสักนิดหนึ่งก็รีบหยิบออกมา คือเราจะไม่เจอในประวัติศาสตร์หรอกที่เป็นฉากเขาเถียงกัน แต่เราก็จะเจอนิสัย หรือข้อสนใจของพระเพทราชา ที่อยู่ตรงนั้นอยู่ตรงโน้น เราก็จะหยิบมารวมอยู่ในนี้ค่ะ (หยิบกองเอกสารและการ์ดที่จดบันทึกให้ดู) เป็นเหตุการณ์ตรงนี้โดยเฉพาะ พอถึงเวลาเราก็หยิบมาแต่งเป็นบทสนทนาในฉาก

เพราะฉะนั้นการค้นคว้าข้อมูลของเราจะไม่ได้ค้นคว้าเป็นเหตุการณ์ใหญ่ ๆ เพราะเราค้นเฉพาะที่เราจะใช้ เราไม่ใช่นักประวัติศาสตร์

จุดเด่นในบทละครของคุณศัลยาที่คนมักนึกถึงคือประโยคจำที่ตัวละครโต้เถียง เชือดเฉือนกัน  ในมุมมองของคุณศัลยาเองบทละครที่ดีเป็นอย่างไร
ก็มีละครที่เขียนไปหลาย ๆ เรื่องที่คนจำจากหนังสือก็มี จากที่เราเขียนก็มี แต่ทุกเรื่องไม่เคยคิดจะไปหาประโยคอะไรที่คนจดจำเลย ยกตัวอย่างเช่น มงกุฎดอกส้ม (๒๕๓๙) ที่ หมวย สุภาภรณ์ (สุภาภรณ์ คำนวณศิลป์) เขาพูด “ม่ายล่ายหลั่งใจเลย” (ไม่ได้ดั่งใจเลย) ก็เขียนไปเฉย ๆ  แต่พอเขาไปพูดด้วยสำเนียงของเขา แล้วก็กลายเป็นประโยคที่คนชอบ แต่เขียนมาเป็นสิบ ๆ เรื่องไม่เคยมีความคิดจะหาประโยคให้คนจดจำเลยนะคะ เพราะรู้สึกว่ามันไม่ใช่วิธีของเรา

ความเป็นจริงก็ไม่ควรพูดถึงตัวเอง แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนความเป็นศัลยาได้ก็คือทุกอย่างต้องมีเหตุผล คนดูจะต้องไม่สะดุด ไม่รู้สึก เอ๊ะ ! ทำไมเป็นอย่างนั้น ต้องดูโดยราบรื่น นี่เป็นสิ่งสำคัญเป็นอันดับแรก เขียนเสร็จต้องทดสอบอ่านแล้วเราเข้าใจ ไม่สะดุดเอง  ข้อที่ ๒ น่าจะเป็นบทสนทนาคือตัวละครพูดกันแล้วมันสนุกในบทโต้ตอบกัน ไม่ว่าจะเป็นการเถียงกัน หรือหยอกล้อ เย้าแหย่กัน

salya03

ในมุมมองของคุณศัลยา งานเขียนของ“รอมแพง” ซึ่งเป็นผู้เขียนนิยายรุ่นใหม่ แตกต่างจากงานของนักเขียนนิยายเรื่องดังในอดีตอย่างไร
อันแรกแตกต่างด้วยพลอต คือเป็นการย้อนไปในอดีต แต่เป็นการย้อนไปในลักษณะที่แปลกจากเรื่องอื่น ๆ ถ้าอิงได้ก็จะคล้าย ๆ เรื่อง ทวิภพ ซึ่งเข้าไปเหมือนกัน แต่เป็นการเข้าไปของตัวละครที่มีวุฒิภาวะสูง เข้าไปศึกษา และมีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ซึ่งอันนี้เป็นพลอตยืนพื้นของละครที่เอาตัวละครปัจจุบันย้อนยุคสู่อดีตทั่วไปเลย เขาต้องไปทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่พยายามเปลี่ยนประวัติศาสตร์ พยายามไปค้นหาความจริงทางประวัติศาสตร์ ทั่วโลกก็จะเป็นแบบนั้น

แต่ของ บุพเพสันนิวาส มันไม่ใช่ มันเหมือนเขาเอาตัวละครตัวนี้เข้าไป แล้วพวกเราก็วิ่งตามไปกับเขา แล้วไปเห็นอะไรที่สนุกสนานตามที่ตัวละครตัวนี้อยากเห็น อันสืบเนื่องจากภูมิหลังของเขา เพราะเขาเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะ อยุธยาเป็นที่ที่อยากให้เห็นมากที่สุด ทั้งข้าวของเครื่องใช้ ตัวบุคคล กษัตริย์ การทรยศหักหลัง การชิงแผ่นดิน ซึ่งเขามองแบบไม่ได้อยากไปเปลี่ยนอะไร ในเรื่องมีสิ่งที่อยากจะเปลี่ยนนิดเดียว คือพยายามช่วยชีวิตศรีปราชญ์ นอกนั้นเกศสุรางค์ไม่พยายามจะเปลี่ยนอะไรเลย เกศสุรางค์พาเราไปท่องเที่ยวในดินแดนที่ย้อนไป ๓๐๐ กว่าปี เพื่อไปเห็นบรรยากาศและไปเกิดความรักกับพระเอก แล้วก็นำเครื่องใช้ไม้สอย อาหารการกิน ความรู้ประมาณหนึ่งเข้าไปที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไร ทั้งหมดเป็นเรื่องสนุกสนาน มีความรักที่ซาบซึ้ง ชวนหัวเราะ ซึ่งพอละครออกมาก็ถูกจริตคนดูที่ไม่ต้องคิดตามกันใหญ่โต นั่งคิดกันวุ่นวาย ทำให้หนังสือเล่มนี้มันมีเสน่ห์ มีความรู้ไปด้วย โดยเฉพาะครึ่งหลังของหนังสือก็เป็นความรู้ที่ละเอียดลออ ข้อมูลที่เขาค้นมามันก็ครอบคลุมเหตุการณ์ในตอนนั้นได้ครบถ้วนดี

คือน่ายินดีมากที่คนดูละครแล้วก็จะไปหานิยายมาอ่าน คือดูละครก็จะได้รายละเอียดในบางเรื่อง แต่ก็จะผิวเผินในหลาย ๆ เรื่องเพราะไม่ได้ถูกหยิบมาทั้งหมด แต่อ่านหนังสือจะได้ทั้งก้อน บวกกับภาพที่เขาเห็นในละคร รวมกันมันจะเป็นเรื่องราวในปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์อย่างสมบูรณ์ คนไทยจะได้รู้ประวัติศาสตร์ของตนเองในยุคสมัยนี้ และก็เชื่อว่าในยุคสมัยอื่นก็จะไม่รู้เท่านี้ คนไม่ได้อ่านแค่ดูละคร ก็จะรู้ด้วย เพราะช่วงจังหวะเปลี่ยนแผ่นดินเป็นช่วงข้อมูลที่น่าสนใจทีเดียว

ที่ผ่านมาเรามีละครย้อนยุคจำนวนมาก แต่ทำไมไม่ทำให้คนเกิดกระแสตื่นตัว สนใจประวัติศาสตร์ยุคนั้นได้เท่าละครเรื่องบุพเพสันนิวาส
คงเพราะเห็นภาพ-เสียงที่ออกมาชัด ๆ เห็นทุกสิ่งกระจะตา แล้วก็มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าเป็นนิยายที่อ่านสนุกมาก ถ้าเทียบแล้วคนดู สายโลหิต ก็ไม่ได้อยากอ่านนิยายเรื่อง สายโลหิต ต้องยอมรับว่าสไตล์การเขียนมันคนละแบบ นี่เขาเขียนแล้วสนุก หัวเราะได้ทั้งเรื่อง ถือเป็นการแหวกขนบของการเขียนนวนิยายย้อนยุค

อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์วิจารณ์เรื่องความไม่ถูกต้องทางประวัติศาสตร์ทั้งจากเรื่องนี้และผลงานในอดีตด้วย เพราะก็ต้องยอมรับว่าบันทึกทางประวัติศาสตร์เองก็มีหลายมุมมองต่อเหตุการณ์เดียวกัน
ก็ต้องยอมรับว่าเราเขียนเท่าที่อ่านซึ่งก็หามาพอสมควรแล้ว ถ้าอะไรผิดไปก็แปลว่ายังไม่พบ มันอาจจะมีข้อมูลใหม่ ๆ ขึ้นมาซึ่งยังไม่ไปเห็นก็อาจเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องบอกว่าเราไม่ได้ทำแบบชุ่ย ๆ ก็พยายามอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่บอกกับคนดูเหมือนกันว่าอย่าเชื่อทุกสิ่งอย่างนะ ละครทำเพื่อความสนุก ความบันเทิง บางครั้งก็ต้องเพิ่มเติมใส่สีใส่สันไปบ้าง ก็พอใจเลยที่จะมีนักประวัติศาสตร์หรือใครออกมาแย้ง ไม่ได้คิดว่าเขามาโจมตีละคร เขาก็เอาข้อมูลอื่นที่แน่ชัดกว่ามาต่อยอดออกไปให้ค้นคว้าหรือพูดถึง เป็นความยินดีอย่างมากที่ถ้าใครมาอ่านหรือเห็นก็จะได้เข้าใจว่าข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไร

จากกระแสของละครเรื่องนี้ก็มีความพยายามใช้ละครโทรทัศน์ในการส่งเสริมวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ คล้าย ๆ การส่งเสริมด้านวัฒนธรรมหนัง ละคร เพลง ของประเทศเกาหลีใต้ มองตรงนี้อย่างไร
สิ่งหนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้นถ้าเขาจะส่งเสริมนะคะ ถ้าหันมาให้ความสำคัญกับ soft power ที่หมายถึงหนัง ละคร เพลง แฟชั่นต่าง ๆ ให้มันแพร่กระจายสู่ระดับสากลมากขึ้น ก็ควรจะหันมาพูดกันจริงจังว่าควรจะทำอย่างไรได้บ้าง เช่นถ้าจะทำอะไรเกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทย ดนตรีไทย รำไทย หรือกระบวนการทั้งหมดของนาฏศิลป์ไทย คุณให้การสนับสนุนคณะละคร เรียกคนคิดพลอตละครเก่ง ๆ และทางราชการก็ให้การสนับสนุนองค์ความรู้เรื่องนี้ จัดหาคน จัดหาสถานที่ เครื่องประกอบ อะไรก็ตามที่จะทำให้มันดีขึ้น ให้คนที่มีความรู้มากำกับ มาเป็นที่ปรึกษา มาระดมสมองจุดที่น่าจะนำเสนอ เราก็จะได้ soft power ที่มีองค์ความรู้ตรงนี้ ซึ่งมันก็ต้องสนุกด้วย เหมือนกับ โหมโรง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เลยและต้องลงทุนค่อนข้างเยอะทีเดียว

มีความแตกต่างทางฐานะทำให้เขาไปไม่ถึงการศึกษาที่จะนำพาไปสู่ชีวิตที่เจริญก้าวหน้า หรือนำพาเขาไปสู่การดูละครที่มีความสลับซับซ้อน มีความรู้สอดแทรก ถ้ามีมากหน่อยเขาก็ไม่ดู เพราะเราทำให้เขาไม่ได้รู้สึกอยากดูสิ่งเหล่านี้

หลายคนมองว่าละครไทยก็มีเอกลักษณ์ของตนเอง แต่มีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่เรียกร้องให้มีมาตรฐานเทียบเท่าซีรีส์ หรือละครโทรทัศน์ต่างประเทศ
ละครไทยมันพัฒนามาจากละครนอก ละครใน ลิเก ละครเวที มันก็เล่นกันมาเรื่อย ๆ ถ้าจะพูดว่าเปลี่ยนมันก็เปลี่ยน แต่เปลี่ยนอย่างช้า ๆ  ก็ไม่อยากพูดเลยว่าคนดูเขาดูได้แค่นี้ คนทำก็เลยทำให้แค่นี้ แต่มันก็มีส่วนที่เป็นจริง จากการเปลี่ยนแปลงตัวเรื่องอะไรต่าง ๆ แล้วไม่ตอบโจทย์คนดูแต่ถ้ามองโครงสร้างใหญ่ของสังคม ที่บอกว่าคนดูอยากดูแค่นี้เพราะเราทำให้เขาอยากดูแค่นี้ คือคนทั้งหลายทั้งปวงที่จะรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ในสังคมได้ ควรมีพื้นฐานการศึกษาที่ดีพอ เราก็เห็นแล้วว่าการศึกษาล้มเหลวมาตลอด มันยิ่งกว่าล้มเหลว เราเริ่มต้นการศึกษาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ มาถึงเดี๋ยวนี้ยังพูดได้หรือว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละเท่านี้บรรทัด ไม่น่าจะพูดได้แล้ว แย่มากที่กระทรวงศึกษาธิการที่มีหน้าที่รับผิดชอบการรู้หนังสือของประชาชน คุณทำงานอย่างไรมาเป็นสิบ ๆ ปีให้ประชาชนเป็นแบบนี้ ถ้าข้อมูลออกมาแบบนี้คุณต้องมุดดินแล้ว นั่นคือโครงสร้างบริการของรัฐที่จะให้กับประชาชน คุณไม่ได้จัดการให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงกัน ประชาชนจึงเสพสาระจากละครแบบนี้ทั้งปีทั้งชาติ

มีความแตกต่างเหลือเกินในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ มีคนรวยคนจน คนรวยยังไงก็ได้เรียนหนังสือ มีความรู้มากขึ้น ๆ  แต่คนจนก็เรียนแค่นั้น เพราะจะเรียนมากกว่านี้ยังไงก็ต้องออกไปทำมาหากิน ช่วยพ่อแม่ หรือออกไปทำงานเพราะต้องการเงินมาดำรงชีวิต มีความแตกต่างทางฐานะทำให้เขาไปไม่ถึงการศึกษาที่จะนำพาไปสู่ชีวิตที่เจริญก้าวหน้า หรือนำพาเขาไปสู่การดูละครที่มีความสลับซับซ้อน มีความรู้สอดแทรก ถ้ามีมากหน่อยเขาก็ไม่ดู เพราะเราทำให้เขาไม่ได้รู้สึกอยากดูสิ่งเหล่านี้

เหมือนกับว่าถ้าคนที่ทำงานหนัก ๆ เหนื่อย ๆ มาทั้งวันก็คงไม่อยากดูอะไรที่มันยาก
เขาก็อยากดูอะไรที่มันง่าย ๆ เพราะเราไม่ได้สร้างคนให้ดีพอที่จะรับรู้สื่อที่ก้าวหน้าและซับซ้อน แล้วมันเป็นความผิดของคนเหล่านี้หรือ ไม่ใช่เลย เขามีสิทธิในทรัพยากรของประเทศเท่า ๆ กัน แต่คุณให้เขาได้ไม่เท่ากัน ถึงจะมีภาคบังคับให้เรียนในระดับสูงกว่าแต่ก่อน แต่ถ้าไม่สามารถจะหาครูที่ดี หาโรงเรียนที่เรียนแล้วมีความสุข แม้กระทั่งหาบทเรียนที่น่าเรียนให้เขาได้ เขาก็ไม่ได้อะไรเลยนะ เรียนไป ๖ ปีเหมือนไม่ได้เรียนอะไรเลย เพราะไม่ได้เรียนสิ่งที่เขาสนใจก็ไม่เข้าหัวเขาเลย

มันถึงมีคำพูดหนึ่งว่า คนจนเพราะถูกทำให้จน คนโง่เพราะถูกทำให้โง่ คนไร้การศึกษาเพราะถูกทำให้ไร้การศึกษา

มุมมองตรงนี้เลยทำให้คุณศัลยามักสอดแทรกในละครโทรทัศน์ ที่จะนำปัญหาความแตกต่างทางชนชั้นมาใส่อย่างเข้มข้น
ก็ด้วยค่ะ เพราะมีพื้นข้อมูลอยู่ตรงนี้ เขียนไปเรื่อย ๆ ก็ไปถึงประเด็นนี้ทุกที คืออยากเขียนละครอะไรที่แจกแจงตรงนี้ให้ชัดเจน แล้วก็ยังอยากเขียนเรื่องการเมือง การคอร์รัปชัน ทำไมประเทศเราถึงสร้างคนให้ขี้โกงทุกหย่อมหญ้า

ถ้าไม่นับ บุพเพสันนิวาส ที่มีเรตติงสูง ปีที่ผ่านมามีข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่าละครโทรทัศน์มีผู้ชมลดลงมากเพราะคนยุคใหม่เริ่มดูทีวีน้อยลง แต่ดูสื่ออื่น ๆ แทน คุณศัลยามองปัญหาตรงนี้อย่างไร
นี่เป็นสิ่งที่วงการโทรทัศน์วิตกอยู่ตอนนี้ เพราะเรตติงซึ่งเป็นตัววัดที่่น่าเชื่อถือมันลดน้อยลงในภาพรวม เวลานี้เรตติงไม่ต่ำกว่า ๕ ก็ดีใจกันแทบตายแล้ว เห็นได้ว่าทิศทางคนดูไม่เปลี่ยนไป ก็ต้องไปดูว่าคนไปดูจากแพลตฟอร์มอื่นหรือเปล่า ซึ่งน่าวิตกเพราะเป็นตัวที่นำมาซึ่งรายได้โฆษณา พอเกิดปรากฏการณ์ บุพเพสันนิวาส ขึ้นมาก็อาจจะได้ข้อสรุปว่ามันต้องเป็นเรื่องที่โดนจริง ๆ ทำให้เขาอยากดูจริง ๆ เป็นกฎธรรมดามาก เมื่อก่อนไม่มีทางเลือก ไม่รู้จะไปดูที่ไหน ทุกวันนี้มีทางเลือกเยอะแยะ ส่วนไหนของโลกก็ได้ดู แต่ต้องมีอะไรที่อยากดู เราก็ต้องไปวิเคราะห์กัน แล้วถ้าช่องตีโจทย์ออกมาหมด ทำได้เหมือน บุพเพสันนิวาส แต่คงไม่ใช่เรื่องที่ ๓…๔…๕…๖… อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ธุรกิจนี้ก็ต้องมีการวิเคราะห์ให้ชัดเจน อย่างเรื่องเวลาออกอากาศ ออกไปทำไมตั้ง ๒ ชั่วโมง

แล้วไม่ดีหรือครับ
ถ้าสมมุติว่าเราไม่ได้มองอย่างคนเขียนบทนะ อันนี้มองในภาพรวมของสังคม ทำไมเราต้องมีละครเป็นร้อยเรื่องในแต่ละปี มันต้องเปลี่ยนคอนเทนต์ที่จะนำเสนอให้กับประชาชนแล้วนะคะ เราอาจจะใช้ บุพเพสันนิวาส แล้วทำคอนเทนต์อื่นขึ้นมา เราไม่ควรให้อะไรกับคนดูแล้วทำให้เขาตกอยู่ใต้อิทธิพลอะไรบางอย่างที่ครอบงำเขา เรามักจะใช้บทเรียนซ้ำ ๆ มาให้คนดู อย่างการตื่นตัวของรัฐบาล ของกระทรวงต่าง ๆ ก็คิดว่าจะลุกขึ้นกันทำไมนักหนา จะสร้าง บุพเพฯ ๒  บุพเพฯ ๓ ให้คนดูไปเรื่อย ๆ อย่างนี้หรือ…

ก็ไม่รู้ ทุกคนก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป