สฤณี อาชวานันทกุล
http://www.fringer.org
เรื่องราวและบทเรียนจากเกมกระดาน

 

android01android02

และแล้วก็ผ่านไปอีกวัน วันฉ่ำฝนอันหนาวเหน็บของเมืองนิวแอนเจลิส (New Angeles)  ผมล้วงขวดวิสกี้จากเสื้อโค้ตมาดื่มเติมความอุ่น เอนตัวพิงเบาะคนขับ สายตากลับไปจับอยู่ที่ประตูบ้านวินนี  ไม่ต้องควานหากระจกก็รู้ว่าตาแดงก่ำจากการกรำงาน อดนอนมาหลายวัน  แต่ผมจะข่มตาหลับได้อย่างไรในเมื่อวินนีอาจมีเบาะแสเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมแรนดอล์ฟ  คืนนี้ผมต้องเค้นเอาความจริงจากหมอนี่ให้ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ภาพจำเก่าๆ เริ่มผุดขึ้นมาในหัว  ให้ตายสิ เวลาอยู่คนเดียวในที่อุดอู้นานๆ ทีไร วิญญาณทั้งที่ตายแล้วและยังอยู่มักมาหลอกหลอน กดให้ผมจมดิ่งกับความรู้สึกผิดเรื่องวันวาน มันก่อกวนตะกอนโสมมใต้จิตสำนึกให้ขย้อนออกมาบีบเค้นความรู้สึก ราวกับว่าปัญหาปัจจุบันยังหนักหนาไม่พอ

นั่นไงใบหน้าเศร้าๆ ของซารา หลังทนดูผมหยิบเอาความเครียดจากการทำงานที่บ้านไประบายและเกรี้ยวกราดใส่เธออย่างไร้เหตุผลมา ๒๐ ปี สุดท้ายเธอก็เลิกทน  ตอนนี้เราแยกกันอยู่แต่ยังไม่หย่า  บางวูบผมคิดว่าถ้าเรามีลูกด้วยกันสักคน ผมอาจเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาบ้าง

“หน้าอย่างแกน่ะเรอะจะสะเออะมีลูก !” ใบหน้าเหี้ยมของจิมลอยขึ้นมาแทนมโนภาพซารา “จำคดีแรกที่แกรับผิดชอบได้ไหม เด็กผู้หญิงวัย ๕ ขวบถูกยิงตาย ผ่านไปกี่ปีแล้วแกยังหาฆาตกรไม่เจอ  ว่าไงหลุยส์  แล้วความตายของข้าอีกล่ะ แม้ไม่ได้เป็นคนเหนี่ยวไก แต่แกนั่นแหละเป็นตัวการ !  ถ้าแกพยายามเป็นตำรวจให้ดีกว่านี้สักนิด ไม่รับงานใต้ดินโสโครกจากมาเฟีย ป่านนี้ข้าอาจจะยังมีชีวิตอยู่ มานั่งด่าแกแกล้มเหล้าวันนี้เลย  ว่าไงหา !”

เสียงปัง ! กลบเสียงจิมในหัวของผม เมื่อชะโงกหน้าออกไปนอกรถทันเห็นฟลอยด์ผลุบเข้าไปในห้องพักวินนี  อึดใจต่อมาหูผมก็ชาด้วยเสียงยานทะยานขึ้นสู่ฟ้า  นั่นมันวินนีนี่นา !  สงสัยเจ้าหุ่นอยากเป็นมนุษย์นี่กำลังสืบคดีเดียวกัน ไม่ได้การแล้ว

ผมบิดกุญแจ เสียงเครื่องยานคำราม น่าจะไล่วินนีกับฟลอยด์ทันหรอกน่า

ทันใดนั้นเสียงที่ผมไม่ได้ยินมานานก็กังวานออกมาจากลำโพงรถ-ซาราโทร.มา เธออยากให้ผมขึ้นไปหาบนดวงจันทร์ ในร้านอาหารที่เราเคยออกเดตด้วยกัน

 

…………………………………………………………..

 

ถ้าเราแบ่งเกมกระดานทั้งหมดเป็นสองชนิด คือเกมที่เล่าเรื่องและเกมที่เน้นกฎกติกามากกว่าเรื่องราว Android ก็จัดเป็นเกมชนิดแรกอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ที่น่าทึ่งคือความสามารถของนักออกแบบเกม เควิน วิลสัน (Kevin Wilson) ในการเล่าเรื่องสองระดับไปพร้อมๆ กัน คือเรื่องราวคดีฆาตกรรมที่ผู้เล่นทุกคนต้องสืบสวน กับเรื่องราว “ส่วนตัว” ของใครของมัน  นอกจากนี้ยังผูกกฎกติกาให้ผู้เล่นแต่ละคนต้องใส่ใจเรื่องราวทั้งสองระดับ เพราะเป็นเงื่อนไขการทำคะแนน  ถ้าเราสืบคดีฆาตกรรมสำเร็จ รู้ว่าใครเป็นฆาตกร แต่ระหว่างทางละเลยเรื่องส่วนตัว ตัวละครอาจอยู่ในสภาพย่ำแย่ตอนจบเกม ได้คะแนนเรื่องส่วนตัวติดลบจนทำให้เราแพ้ผู้เล่นคนอื่นที่ดูแล “สมดุล” ระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวได้ดีกว่า

โครงเรื่องของ Android อยู่ในโลกที่แฟนๆ นิยายวิทยาศาสตร์ชื่นชอบ นั่นคือไกลโพ้นในอนาคต มนุษย์ขึ้นไปตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ เดินทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ได้ด้วย “ลิฟต์อวกาศ”  รถยนต์กลายเป็นยานยนต์บินได้  แอนดรอยด์ (ครึ่งคนครึ่งหุ่นยนต์) และโคลน (โคลนนิงของมนุษย์) เป็นเรื่องปรกติธรรมดา  โคลนหลายตัวได้รับการออกแบบให้มีพลังจิตเพื่อรับใช้มนุษย์ แต่ก็มีชีวิตจิตใจของตัวเอง

เกมนี้เล่นได้สามถึงห้าคน ตัวละครแต่ละตัวมาพร้อมโครงเรื่องส่วนตัว ด้านสว่าง ด้านมืด และ “ภาระ” (baggage) อันหนักอึ้งของชีวิตที่ต้องหาทางคลี่คลายที่ดี  เรย์มอนด์ (Raymond Flint) เป็นนักสืบมือหนึ่งแต่ขี้เหล้าเมายา  คาพรีซ (Caprice Nisei) เป็นโคลน สมบัติของบริษัทจินเตกิ (Jinteki) มีพลังจิตสูงมากแต่สุ่มเสี่ยงจะคลุ้มคลั่งเป็นบ้า  ฟลอยด์ (Floyd 2X3A7C) แอนดรอยด์ของบริษัทฮาส-ไบโอรอยด์ (Haas-Bioroid) ความสามารถในการสืบสวนเหนือมนุษย์ แต่ต้องคอยเข้าอู่เช็กสภาพ และความอยากเป็นมนุษย์อาจทำร้ายจนทำลายจิตใจได้ถ้าไม่สมปรารถนา  หลุยส์ (Louis Blaine) ตำรวจเจนสนามที่รับสินบนจากมาเฟียและโทษตัวเองว่าทำให้เพื่อนตำรวจต้องตาย  ปิดท้ายด้วยเรเชล (Rachel Beckmann) นักล่าหัวตัวฉกาจที่มีหนี้สินรุงรัง  ก่อนเล่นเราต้องทำความคุ้นเคยกับตัวละครของเรา เพราะนอกจากเรื่องราวและแรงจูงใจในการสืบคดีฆาตกรรมจะไม่เหมือนกัน ยังมีความสามารถพิเศษต่างกันด้วย

เกมนี้เล่น ๑๒ ตาจบ แทนเวลา ๒ สัปดาห์ (ทำงานสัปดาห์ละ ๖ วัน)  คะแนนในเกมสะสมได้สามทาง คือ ๑) การเก็งฆาตกรถูก  ๒) การดูแลเรื่องส่วนตัวให้ลงเอยด้วยดี  และ ๓) การค้นพบมหกรรมสมคบคิดระหว่างอธิบดีกรมตำรวจ นายกเทศมนตรี องค์กรทางศาสนา และองค์กรอื่นๆ

แต่ละตาเรามี “แต้มแอกชัน” จำนวนจำกัดที่จะใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีหลากหลาย เช่น การเดินตัวนักสืบ ติดตามเบาะแสที่ปรากฏในสถานที่ต่างๆ พยายามคลี่คลายพลอตเรื่องส่วนตัวด้วยการเล่นไพ่ในมือ ค้นหาการสมคบคิดด้วยการวางตัวต่อลงบนแผ่นสมคบคิดทางมุมขวาบนของกระดานใหญ่ ทำกิจกรรมเฉพาะของสถานที่ที่เราอยู่ ฯลฯ  การ “สืบ” คดีฆาตกรรมในเกม (ซึ่งมีให้เลือกหลายคดีก่อนเล่น) ทำโดยหยิบแผ่นเบาะแสซึ่งให้สิทธิ์จั่วแผ่น “หลักฐาน” ที่มีทั้งตัวเลขบวกและลบ แล้วตัดสินใจว่าจะวางแผ่นนั้นไว้บนแผ่น “ผู้ต้องสงสัย” คนไหน  ตอนจบเกมจะเปิดดูแผ่นหลักฐานทุกแผ่นของผู้ต้องสงสัยทุกคน นำตัวเลขมาบวกกัน ใครได้ตัวเลขสูงสุดแสดงว่าเป็นฆาตกร  ผู้เล่นที่เก็งถูกจะได้คะแนน ถ้าเก็งฆาตกรถูกได้ ๑๕ คะแนน เก็งผู้บริสุทธิ์ถูกได้ ๕ คะแนน

กติกานี้ทำให้หลายคนรู้สึกขัดแย้งและมีความไม่สมเหตุสมผล เพราะเหมือนใช้หลักฐาน “ปรักปรำ” ผู้ต้องสงสัย มากกว่าจะ “ค้นหา” คนผิดจริงๆ  แต่วิธีตีความที่เข้ากับกติกามากกว่า คือมองว่าเรามี “ลางสังหรณ์” อยู่แล้วว่าใครเป็นคนผิด จึงพยายามหาหลักฐานตามลางสังหรณ์ให้ได้มากที่สุด

ความสนุกที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของ Android อยู่ที่การเจียดเวลามาคลี่คลายปมปัญหาต่างๆ ในชีวิตส่วนตัวของตัวละครหลักแต่ละตัว  เราแต่ละคนมีไพ่ “ด้านสว่าง”  ขณะผู้เล่นคนอื่นถือไพ่ “ด้านมืด” ของตัวละครของเรา  ฉะนั้นผู้เล่นคนอื่นจะอยากเล่นไพ่ด้านมืดลงมามากๆ อย่างถูกจังหวะ (เล่นในตาคนอื่น จึงไม่นับเป็นแอกชัน) เพื่อสร้างสถานการณ์ให้ชีวิตเราบัดซบกว่าเดิมและดิ้นรนหาทางสว่างได้ลำบาก  ในเมื่อเรื่องราวส่วนตัวในเกมนี้ทำคะแนนได้สูงเกือบเท่าคดีฆาตกรรม ถ้าลงเอยด้านมืดจะเสียคะแนน แถมยังมีโบนัสต่างๆ นั่นหมายความว่าผู้เล่นจะตะลุยสืบสวนพลอตหลักและการสมคบคิดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูแลเรื่องส่วนตัวของตัวเองและคอยแกล้งคนอื่นด้วย ซึ่งเหล่านี้สนุกสนานและน่าติดตามกว่าคดีฆาตกรรมหลายเท่า

Android เล่นยากและเล่นนาน ต้องเผื่อเวลา ๓ ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ด้วยเกมซับซ้อน มีกฎกติกาและอุปกรณ์การเล่นมากมาย (เฉพาะไพ่อย่างเดียวก็มีมากกว่า ๓๐๐ ใบ)  แต่ถ้าใครลงทุนทำความเข้าใจจะพบบอร์ดเกมที่สื่อสารด้านมืดและสว่างของมนุษย์ กระตุ้นให้วางสมดุลระหว่างชีวิตกับงาน และฉุกให้คิดว่า “ความเป็นมนุษย์” นั้นควรหมายความว่าอะไร

ที่มาภาพ
http://www.tabletophell.com/wp-content/uploads/2011/10/capricesheet.jpg
http://cf.geekdo-images.com/images/pic1275306.jpg