สัมภาษณ์  : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ถ่ายภาพ  : ประเวช ตันตราภิรมย์

sarinee01

“มายาคติด้านพลังงานเรื่องไหนร้ายแรงที่สุด” เป็นคำถามที่ผมไม่ต้องรอคำตอบจากหญิงสาวตรงหน้า เพราะเธอสวนกลับแทบทันทีว่า “เยอะมาก !” ตามด้วยคำอธิบายที่พรั่งพรูมาราวกับสายน้ำ

สฤณี อาชวานันทกุล คือสาวไฮเปอร์ระดับตัวแม่ เธอมีหลายสิบภาคในตัวเอง ทั้งนักเขียน นักแปล ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า สำนักพิมพ์ openworld เจ้าของสำนักพิมพ์ชายขอบ จัดพิมพ์หนังสือแนวบทกวี (งานเขียนที่เธอชื่นชอบ) นักเล่นบอร์ดเกมมือวางอันดับ ๑ (แทบไม่มีสัปดาห์ไหนที่เธอไม่เล่น) ไปจนถึงภาคนักเคลื่อนไหว ถ้ายังจำกันได้ ก่อนหน้านี้เธอเป็นแถวหน้าในการคัดค้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่

ยากจะจินตนาการว่าใน ๑ วันเธอแบ่งภาคทำกิจกรรมอะไรบ้าง แต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ผมขอแทรกเวลาในเย็นวันหนึ่ง เพื่อนัดคุยกับเธอในภาคนักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์ และหัวเรือใหญ่คนหนึ่งของบริษัทป่าสาละ จำกัด ที่นิยามตนเองว่าเป็นบริษัท “ปลูกธุรกิจที่ยั่งยืน” แห่งแรกในประเทศไทย เน้นการจัดทำงานวิจัย การอบรม และจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้าน “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ sustainable development ซึ่งกำลังเป็นคำฮอตฮิต หลังจากที่สหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ๑๗ ข้อ (sustainable development goals หรือ SDGs 17) เมื่อปี ๒๕๕๘ ทำให้รัฐบาลไทยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๒ รวมทั้งนายกรัฐมนตรียังเสนอปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ในเวทีการประชุมระดับโลก

ล่าสุดในช่วงประเด็นร้อนของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ สฤณีโพสต์ลิงก์ให้ดาวน์โหลดฟรีพีดีเอฟของหนังสือชื่อ มายาคติพลังงาน ที่จัดทำโดยบริษัทป่าสาละ จำกัด (เขียนโดย สฤณี อาชวานันทกุล ณัฐเมธี สัยเวช และ สุณีย์ ม่วงเจริญ) ในเล่มรวมคำถามคำตอบที่พยายามให้ตรรกะ วิธีคิด พร้อมข้อมูล ที่จะทลายมายาคติหลายเรื่องเกี่ยวกับการจัดการพลังงานในประเทศไทย เช่น ตกลงเมืองไทยรวยน้ำมันไหม ค่าไฟต้องแพงไหม นิวเคลียร์ถูกจริงไหม พลังงานแสงอาทิตย์แพงจริงไหม (สนใจดาวน์โหลดได้ ที่นี่

“ถ้าจะพูดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เราต้องพูดถึงการจัดการพลังงานด้วย เพราะพลังงานเป็นตัวขับเคลื่อนทุกสิ่งอย่าง และไม่มีทางที่เราจะพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้วยการใช้พลังงานสกปรก” เธอย้ำ

การคุยกับหญิงสาวมากพลังครั้งนี้จึงพัลวันกันหลายหัวข้อโดยมี “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เป็นแกนหลักใจกลางความยุ่งเหยิง

ทำไมตอนนี้ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับคำว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน
จริง ๆ เป็นคำที่มีมานาน ๓๐-๔๐ ปีแล้ว ตั้งแต่กระบวนการสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่ ซึ่งเริ่มจากหนังสือ Silent Spring ในทศวรรษ ๑๙๖๐ ที่พูดถึงปัญหาเรื่องยาฆ่าแมลง ถือเป็นครั้งแรกของการเชื่อมโยงให้เห็นปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจหรือธุรกิจที่มาพันกับปัญหาสิ่งแวดล้อม  หลังจากนั้นก็มีรายงานจากที่ประชุมระดับโลกเรื่องการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมชื่อ Our Common Future  ชื่อเล่นว่า Brundtland Report ซึ่งตั้งตามชื่อคนเขียนรายงาน  เขาให้นิยามคำว่ายั่งยืนไว้ค่อนข้างเข้าใจง่าย คือ “การพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของเรา หรือคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ไปลิดรอนความสามารถของคนรุ่นหลังในการตอบสนองความต้องการของเขา” ความจริงมีนิยามหลายอัน แต่อันนี้ใช้อ้างอิงกันมากที่สุด

หลักคิดของเรื่องนี้แปลว่าเราต้องมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาที่ยาวไกล อย่าดูแค่คนรุ่นเดียว  ถามว่าต้องดูแลกี่รุ่น ก็แล้วแต่บริบท  อย่างวัฒนธรรมคนอินเดียนแดงบอกว่าดูแลเจ็ดช่วงคน ฉะนั้นวันนี้เวลาคนอินเดียนแดงตัดสินใจต้องถามว่าอีกเจ็ดช่วงคนจะเป็นอย่างไร มันไกลมากอย่างน้อยอีก ๒๐๐ ปี

อันนี้เป็นหลักคิดซึ่งมีความพยายามในระดับโลก แต่ที่ผ่านมาลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาก เพราะกระแสหลักที่เน้นจีดีพี กระแสโลกาภิวัตน์มาแรงมาก เล่าแบบเร็ว ๆ คือ Brundtland Report ออกมา ค.ศ. ๑๙๘๗ แต่ ค.ศ. ๑๙๘๐ ถึง ค.ศ. ๒๐๐๐ โลกอยู่ใต้โลกาภิวัตน์ของการค้าโลก World Trade Organization ขณะเดียวกันภาคการเงินก็เชื่อมโยงกันทั่วโลก เกิดโลกาภิวัตน์ทางการเงิน ตลาดทุน ตลาดเงิน การลงทุนระหว่างประเทศไหลเวียน เศรษฐกิจกำลังโต ไม่มีใครสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นเรื่องล้าหลัง ไม่สำคัญ

แต่พอถึงศตวรรษที่ ๒๑ มีสองเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดแรงสวิงกลับมาหาการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ หนึ่ง หลักฐานชัดเจนเรื่องภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  นักวิทยาศาสตร์ประสานเสียงกันมานานแล้วและเป็นที่ยอมรับ หนังที่ค่อนข้างมีอิทธิพลอย่างเรื่อง An Inconvenient Truth ทำให้คนตื่นตัวเยอะมาก ทุกคนเห็นว่าเป็นวาระเร่งด่วนแล้ว เพราะมันจะนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจด้วย เช่นน้ำท่วมสูงขึ้นหรืออุณหภูมิที่สูงขึ้นจะกระทบกับภาคเกษตร  มันมีต้นทุนความเสียหายต่าง ๆ เกิดขึ้นจริงที่ทำให้เศรษฐกิจโตช้าลง  แม้แต่องค์กรผู้นำด้านเศรษฐกิจอย่างธนาคารโลกก็ไปในทิศทางนี้ ผลิตรายงานออกมาเยอะแยะ ในเวที World Economic Forum พูดไปทางเดียวกันหมด เพราะผลกระทบไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจด้วย  อีกเหตุการณ์คือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ค.ศ. ๒๐๐๗-๒๐๐๘ เป็นจุดที่หายนะค่อนข้างแรงหลายประเทศ

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ส่งผลอย่างไรบ้าง
ที่ผ่านมากระแสโลกาภิวัตน์ทางการเงินยืนอยู่ด้วยกระบวนทัศน์ชุดเดียวกัน คือให้ตลาดเสรีจัดการตัวเอง โดยเฉพาะเป็นที่รู้กันว่าภาคการเงินเป็นธุรกิจที่ต้านทานการกำกับดูแลค่อนข้างมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา  บางคนอาจมองว่ากำกับดูแลเยอะแล้ว แต่ไม่จริงเพราะธนาคารทำธุรกิจมากมายที่ไม่เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อ เช่นไปเล่นในตลาดหุ้น  พอเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ประชาชนคนธรรมดา ผู้บริโภค ลูกหนี้ต่าง ๆ มีปัญหาเดือดร้อน ตกงาน ถูกธนาคารยึดบ้าน ก็เกิดการเรียกร้องให้รัฐเข้ามากำกับดูแลมากขึ้น เกิดกระแสสวิงกลับ คนยอมรับมากขึ้นว่าการกำกับดูแลของรัฐเป็นเรื่องสำคัญ  วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เลยเป็นบทพิสูจน์ว่าโลกไม่สามารถปล่อยให้ภาคการเงินจัดการกันเองได้ และยังสะท้อนถึงข้อจำกัดของกระบวนทัศน์การให้ตลาดเสรีจัดการตัวเอง เพราะถ้าเราปล่อยให้ตลาดจัดการตัวเอง เขาก็จะสนใจแต่กำไร ไม่มองภาพใหญ่เรื่องความเสี่ยง ไม่มีแรงจูงใจให้ต้องคิดเชิงระบบ  ฉะนั้นพอเกิดวิกฤตจึงส่งเสริมให้การพัฒนาที่ยั่งยืนมีพลังมากขึ้น ช่วยให้มีอิทธิพลมากขึ้นในการอธิบายว่าทำไมเราต้องไม่ทำแบบเดิม

ปัญหาของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนในอดีต คือการคิดแต่เรื่องตัวเลข แน่นอนว่าก่อนจะเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ตัวเลขมันดูดี แต่ความจริงสะสมความเสี่ยงไว้มาก ซึ่งเรามองไม่เห็น ในทางเศรษฐกิจอาจเป็นฟองสบู่ ซึ่งสุดท้ายก็จะแตก  เมืองไทยเคยมีประสบการณ์แบบนี้มาแล้ว

หมายความว่าทุนนิยมเสรีเป็นปัญหากับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ส่วนตัวชอบคำว่าทุนนิยมเสรีสุดขั้ว ไร้การกำกับ เพราะตัวทุนนิยมอาจไม่ได้เป็นปัญหาขนาดนั้น  ถ้ารัฐทำหน้าที่และประชาชนดูแล  ถ้าเขายอมอยู่ใต้กฎกติกาที่ดีพอ แต่ปัญหาคือมักจะไม่ชอบอยู่ใต้กฎกติกา  ยิ่งถ้าเชื่อว่ากำกับไปก็ไม่มีประโยชน์ หรือรัฐห่วยเกินกว่าจะกำกับ ปล่อยให้เขาจัดการกันเอง ก็ยิ่งไม่มีทางที่จะจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาสังคมได้ เพราะในความเป็นจริงมันเป็นผลกระทบภายนอก ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า externality คือผลกระทบไม่ได้เกิดกับตัวบริษัทเอง  ถ้าไม่มีกฎหมายกำกับหรือมีภาษีมลพิษ โรงงานจะปล่อยอะไรก็ปล่อย เขาไม่สนใจ เพราะคิดแต่ทำต้นทุนให้ถูกที่สุด ใช้เทคโนโลยีที่ไม่พัฒนา ปล่อยสารพิษเยอะ โดยเฉพาะเขาไม่ต้องรับผิดชอบคนป่วย ชุมชนต้องช่วยเหลือตัวเองหรือไปเรียกร้องเอาจากรัฐ สรุปสองเหตุการณ์ คือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์กับปัญหาโลกร้อน ทำให้เกิดกระแสสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นมา

สองปีที่แล้วประเทศไทยไปลงนามรับหลักการ มีประเทศที่รับหลักการแล้ว ๑๙๓ ประเทศ  เป้าหมายค่อนข้างชัดเจน เป็นการถอดหลักการใหญ่ของการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลังออกมาเป็นประโยคสั้น ๆ ๑๗ ข้อ ครอบคลุมมาก ไม่ได้มีแต่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว มีทั้งเรื่องสุขภาพคน ความเท่าเทียม สิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี การลดความเหลื่อมล้ำ เมืองที่ดีน่าอยู่ การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน สันติภาพ โครงสร้างเชิงสถาบัน ความยุติธรรม  พอกำหนดออกมาเป็นชุดแล้วก็มีการถกเถียงว่าจะทำได้อย่างไร  ทุกเรื่องมีตัวชี้วัด ๑๐๐-๒๐๐ ตัว คือปัญหาที่เกิดจากทุนนิยมเสรีสุดขั้วมันเยอะมาก ส่วนตัวคิดว่าดีแล้วที่เขาเขียนไว้หลาย ๆ เรื่อง เป็นการเชื้อเชิญให้คิดว่าแต่ละตัวแต่ละประเทศทำอะไรบ้าง อยู่ในสถานะไหน

ประเด็นเรื่องพลังงานในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เขาพูดถึงอะไรบ้าง
เป็นเป้าหมายข้อที่ ๗ เขาใช้คำว่า affordable and clean energy แต่ไม่ได้บอกว่าต้องเป็นพลังงานหมุนเวียน หรือ renewable energy  หมายความว่าพลังงานนิวเคลียร์ก็อาจโอเค พลังงานจากน้ำก็โอเค เพราะเขาใช้แค่ว่าพลังงานสะอาดและคนมีกำลังซื้อได้ สะอาดแต่แพงมาก ไม่มีคนใช้ได้ก็ไม่มีประโยชน์  เป้าหมายของเอสดีจี ๑๗ ข้อนี้ใช้ในช่วง ๑๕ ปี คือ ค.ศ. ๒๐๑๖-๒๐๓๐ ภายใน ค.ศ. ๒๐๓๐ เขาบอกว่า “ต้องมีพลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าปัจจุบันมาก” ถ้อยคำนี้ก็คงถกเถียงกันมาแล้ว ความจริงฝั่งเขียวเข้มคงอยากให้ใส่ไปเลยว่าอย่างน้อย ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่อีกฝั่งคงไม่ยอม  สะท้อนว่ากว่าจะได้เป้าหมาย ๑๗ ข้อมา คงต้องผ่านกระบวนการปรึกษาหารือ ถกเถียงกันระหว่างเอ็นจีโอกับรัฐและเอกชนมาระดับหนึ่งแล้ว

ภายใน ค.ศ. ๒๐๓๐ เขายังบอกว่า “ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นได้มากกว่าสองเท่า” อันนี้คงไม่มีใครเถียง ประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นเรื่องสำคัญ นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าคุ้มค่ามาก ถ้าทำได้มากก็อาจแปลว่าไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้ามาก  อีกข้อหนึ่งเขาว่าต้องเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ ต้องมีงานวิจัย ค้นคว้าเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ซึ่งรวมถึงพลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพพลังงาน และเทคโนโลยีพลังงานฟอสซิลที่ก้าวหน้าและสะอาดกว่าเดิม รวมถึงส่งเสริมการลงทุนในสาธารณูปโภคด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด

แสดงว่ายังไม่ถึงกับหยุดพลังงานฟอสซิลเลย
คือถ้าดูภาพใหญ่ก็สะท้อนความจริงว่าเรายังไม่มีทางหยุดพลังงานฟอสซิลไปทันที เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว มันมีการวางแผนระยะเวลาคืนทุนมาแล้ว ถ้าอยู่มาวันหนึ่งรัฐบาลสั่งว่าพรุ่งนี้ห้ามเดินเครื่อง อาจจะเข้มและรุนแรงเกินไป นักธุรกิจอาจบอกว่าลิดรอนสิทธิของเขา  เพราะฉะนั้นหลายประเทศจะใช้วิธีประกาศเป็นนโยบายที่ส่งสัญญาณชัดเจนอย่างเป็นขั้นตอน เช่น ใน ๑๐-๒๐ ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนส่วนผสมพลังงานของประเทศให้มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเท่าไร มีนโยบายเรื่องถ่านหินหรือเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างไร เช่นชะลอปรับแผนการก่อสร้างใหม่ ๆ ให้สัดส่วนลดลงมาเรื่อย ๆ  บางประเทศที่ก้าวหน้ากว่านั้นจะมีแผนค่อย ๆ ปลดระวาง คือค่อย ๆ เลิกใช้ ซึ่งคงเป็นประเทศที่มีทางเลือกค่อนข้างพร้อมแล้ว คือกว่าจะปลดได้แสดงว่าต้องมีทางเลือกที่ทำให้ประเทศไม่มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน  แล้วแต่ละประเทศจะเลือกผสมพลังงานอะไรก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละประเทศ

ประเด็นสำคัญที่เรายังไม่ค่อยพูดกัน คือองค์การพลังงานโลก (IEA) พูดชัดเจนว่าถ้าจะใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงต่อไปในอนาคตต้องเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ CCS (carbon capture and storage) เพื่อให้กักเก็บคาร์บอนไว้ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถทำตามเป้าหมายรักษาอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน ๒ องศา  เป็นความท้าทายที่มีความขัดแย้งในตัวเองมาก เพราะเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนคือดูดมาเก็บ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องหาที่เก็บคาร์บอน  ปัญหาที่ตามมาคือ หนึ่ง เก็บแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าไม่รั่วไหลออกไป ปัญหาจะคล้ายกากนิวเคลียร์ มีความเสี่ยง  สอง แพงมาก เพราะยังไม่ได้ใช้จริงในเชิงพาณิชย์และต้องใช้พลังงานมาก

คือเป็นเรื่องตลกว่าเราทำโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตพลังงาน แต่พลังงานที่ต้องใช้เพื่อเก็บคาร์บอนต้องเพิ่มอีก ๑๐-๔๐ เปอร์เซ็นต์ สรุปได้ว่าถ้าจะทำจริงก็ค่อนข้างเป็นทางเลือกที่แพงมาก  แต่ CCS คือสิ่งที่ IEA และพวกองค์กรอุตสาหกรรมถ่านหินยอมรับกันหมดแล้วว่าต้องมี ถ้าในอนาคตหลัง ค.ศ. ๒๐๓๐ โลกจะยังต้องใช้พลังงานถ่านหินอยู่  อุตสาหกรรมถ่านหินจึงเรียกร้องให้รัฐบาลอุดหนุนการทำวิจัย CCS เพื่อจะได้เป็นเชิงพาณิชย์เร็ว ๆ  ส่วนอีกฝั่งที่รู้สึกว่าทางเลือกนี้ไม่น่าพอใจเพราะเสี่ยงและแพง ก็บอกว่าแทนที่รัฐจะใช้เงินลงทุนตรงนี้ก็หันไปใช้กับพลังงานหมุนเวียนสิ เกิดการถกเถียงทางความคิด ซึ่งในเอสดีจียอมรับทั้งสองทางเลือก

ประเด็นสำคัญคือเราต้องรับรู้ว่ากระแสโลกวันนี้ ถ่านหินไม่ใช่ทางเลือกแรกแน่นอนเพราะต้นทุนทั้งหมด รวมถึงถ้าอยากให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดคาร์บอน แน่นอนว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องใช้เทคโนโลยีแพงมาก  ณ วันนี้คำพูดว่าถ่านหินราคาถูกนี่เลิกใช้ได้แล้ว เป็นคำพูดที่บอกว่าคุณมาจาก ๔๐ ปีก่อนที่แค่กรองซัลเฟอร์ได้ มาจากสมัยที่ยังไม่รู้ว่าคาร์บอนที่สะสมในชั้นบรรยากาศเป็นมลพิษของโลก  คำว่าถ่านหินราคาถูกแสดงว่าไม่ได้คิดถึงต้นทุนทางสังคมจากสิ่งแวดล้อมใด ๆ คำว่าสะอาดก็ไม่ควรใช้ อุตสาหกรรมถ่านหินพยายามใช้คำนี้มานานมาก ทำให้คนเข้าใจผิด จริง ๆ เขาพยายามใช้มาตั้งแต่สมัยที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นละอองมลพิษทั่วไป แต่พอมีประเด็นคาร์บอนเข้ามา พรมแดนต้นทุนของการใช้คำนี้เลยสูงขึ้น

คำว่าสะอาด เขาอาจหมายถึงแค่จัดการกับปัญหาซัลเฟอร์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ไม่รวมเรื่องคาร์บอน
ใช่ แต่วันนี้ถ้าไม่สามารถจัดการกับฝุ่นละอองได้ก็ไม่ต้องทำแล้ว มันชั้นประถมฯ มาก เคยมีเพื่อนที่ทำธุรกิจโรงไฟฟ้าเล่าให้ฟังว่าจริง ๆ ต้นทุนถ่านหินครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องการจัดการความสะอาด ไม่ใช่ต้นทุนการผลิต ทำอย่างไรให้สะอาดขึ้นหรือสกปรกน้อยลง อังกฤษมีองค์กรกำกับดูแลเรื่องโฆษณา Advertising Council เขาเคยสั่งไว้ไม่ให้ใช้คำนี้เมื่อ ค.ศ. ๒๐๑๔ จากกรณีโฆษณาของ Peabody Energy บริษัทถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใช้คำว่าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด องค์กรสิ่งแวดล้อม WWF ร้องเรียนว่าทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด Advertising Council จึงมีคำสั่งให้หยุดโฆษณาเพราะจะเข้าใจผิดว่าถ่านหินไม่มีสารพิษใด ๆ เลย ซึ่งไม่จริง  นักวิทยาศาสตร์บอกว่าถ้าจะใช้คำนี้ก็ต้องไม่ปล่อยอะไรเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะเทคโนโลยีล้ำหน้าสุดก็ลดคาร์บอนได้ ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่เต็มร้อย

ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐไทยไม่เคยจริงจังกับเรื่องคาร์บอน เรายังไม่สำนึกว่าคาร์บอนเป็นมลพิษ เวลาอธิบายถึงผลกระทบจะพูดแค่เรื่องของท้องถิ่น ฝุ่นละออง อธิบายว่าใช้ระบบปิดจัดการได้ เหมือนกับอยู่ในอดีต ๒๐ ปีที่แล้ว ยังมาไม่ถึงปัจจุบัน

ถ้าดูนโยบายทางฝั่งเจ้าหนี้ World Bank เมื่อก่อนโดนด่าเยอะว่าปล่อยเงินกู้ให้โรงไฟฟ้าถ่านหินมากมาย ส่วนใหญ่เป็นประเทศยากจน จนเมื่อ ๓ ปีที่แล้วเขามีนโยบายว่าจะไม่ปล่อยกู้ให้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่สร้างใหม่ ยกเว้นประเทศที่ไม่มีทางเลือก ไม่มีแหล่งพลังงานอื่นเลยจริง ๆ จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก็โอเค World Bank ยังมองว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่ของเราเป็นทางเลือกที่ ๑

sarinee02

เหตุผลคือถ่านหินมั่นคงกว่า พลังงานหมุนเวียนไม่มั่นคง พลังงานไม่พอใช้
เอาความจริงมาพูดกันก่อน ที่ผ่านมารัฐชอบพูดด้านเดียว เวลาทำอะไรเหมือนมีธง หาหลักฐานข้อมูลทั้งหมดบนโลกมาสนับสนุนว่าใช่  ต่อให้กี่ประเทศเขาทยอยเลิกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราก็ไม่เอามาพูด เราจะเลือกสองสามประเทศที่ยังสร้างเยอะ ๆ อยู่มาอ้างเป็นเหตุผลสนับสนุน เลยดูไม่โปร่งใส

ต้องมาอธิบายก่อนเรื่องกำลังการผลิต โรงไฟฟ้าภาคใต้มีกำลังผลิตเท่าไร คำว่าไฟฟ้าไม่พอใช้ จริงหรือไม่อย่างไร เอาตัวเลขมากางดู  สองคือทางเลือกที่ไม่ใช่ถ่านหินในภาคใต้มีอะไรบ้าง มีเท่าไร ต้องฟังเสียงผู้ประกอบการตัวจริงของโรงไฟฟ้า เช่น คนที่บอกว่ามีไฟฟ้าจะขาย แต่ กฟผ. ไม่รับซื้อเพราะอะไร  เรื่องประสิทธิภาพระบบส่งหรือการจัดการไฟฟ้าที่หายไปมีมากน้อยแค่ไหน  ต้องผ่านด่านคำถามแบบนี้มาเรื่อย ๆ  ทั้งต้นทุนทางสังคม ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมของถ่านหินคืออะไร ต้องพูดให้ครบ ทำทั้งหมดแล้วเทียบกับทางเลือกอื่น ๆ  ถ้ายังเห็นว่าถ่านหินเป็นทางเลือกสุดท้าย ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วถึงสร้าง แต่ตั้งแต่ต้นทางแล้วเราไม่ได้ทำ

อีกประเด็นที่เมืองไทยไม่ค่อยคุยกัน คือที่มาของถ่านหิน เราพูดเสมือนว่าวัตถุดิบของถ่านหินคือทองคำ เป็นของที่สวยงามลงมาในโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วจะไม่มีปัญหา  แต่มันคือถ่านหินที่มาจากเหมืองซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีปัญหามากมายในการจัดการ เรามีมาตรฐานไหมว่าจะใช้ถ่านหินคุณภาพดีที่สุดในแง่การจัดการเรื่องการขุดเจาะ การดูแลชุมชน  กฟผ. ประกาศว่าจะเอาถ่านหินมาจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เหมืองถ่านหินนี้เป็นเหมืองแบบไหน  คนไทยอาจคิดแบบเห็นแก่ตัวก็ได้ว่าเราไม่ต้องสนใจเพราะไม่ได้อยู่ในประเทศเรา แต่อีกหน่อยก็ต้องสนใจเมื่อต้นตอมีปัญหา

อะไรคือต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่ต้องเอามาคิด
มีต้นทุนหลายตัวที่เรามองไม่เห็นเพราะไม่ได้เกิดกับคนทำโครงการ มันไปเกิดที่อื่น เช่น ต้นทุนสุขภาพ คนป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ ต้องเสียค่าเดินทางไปโรงพยาบาล เสียค่ารักษา คนป่วยไม่ได้มาเรียกร้องกับโรงงาน เพราะต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมหรือสังคมหลายตัวใช้เวลากว่าจะเห็นผลกระทบ อาจเป็น ๑๐ ปีถึงจะรู้ว่าป่วยจากอะไร สารพิษมาจากไหน เรามองไม่เห็น

สอง หลักการคนก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เรื่องนี้เมืองไทยอ่อนมาก คิดแค่ค่าธรรมเนียม เช่น ค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ค่ากำจัดขยะ ค่าใบอนุญาต ซึ่งไม่ใช่ต้นทุนจริงของมลพิษ  ตัวอย่างภาษีคาร์บอน ภาษีมลพิษที่สากลประเทศเริ่มเก็บ เป้าหมายหลักไม่ใช่การหารายได้อย่างที่รัฐไทยคิด แต่เป็นการบังคับให้คนดำเนินโครงการ
ที่สร้างปัญหาเห็นต้นทุนซึ่งเกิดขึ้นจริง แล้วเกิดแรงจูงใจที่จะใช้เทคโนโลยีสะอาด  ความจริงกระทรวงการคลังของไทยยกร่างกฎหมายเครื่องมือเศรษฐศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อมมานานมากแล้ว แต่จนวันนี้ไปไม่ถึงไหนเลย เรื่องนี้เป็นหลักการทางสากล ถ้ากฎหมายออกมาได้จะทำให้การเก็บภาษีตามหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม  วันนี้โรงไฟฟ้ายังเดินเครื่องต่อ แต่เกิดปัญหาอะไรท้องถิ่นก็รับไปเพราะไม่มีช่องทางหรือกฎหมายเอาผิดโดยตรง

สรุปเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม คือหนึ่ง ใช้เวลากว่าจะเห็น  สอง คนที่ทำโครงการถูกตัดตอนจากความรับผิดชอบ  สาม คือมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเสมอ  ต่อให้ออกแบบ คิดดีที่สุด หรือใช้เทคโนโลยีทันสมัยแค่ไหน ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบอยู่ดี  เราอาจมองปัญหาผ่านรายงาน EIA ซึ่งถ้าทำถูกต้องตามหลักวิชาการก็น่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ว่าจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ทางเลือกการดำเนินโครงการจะเป็นอย่างไร บรรเทา เยียวยา ป้องกันอย่างไร  นี่คือความจำเป็นของการมีกลไกเยียวยาชดเชยต่าง ๆ  แต่ปัญหาของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมคือ มันฟื้นคืนไม่ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์  ปอดชาวบ้านเสียไปแล้วจะทำอย่างไรให้คืนได้เหมือนเดิม ลำธารที่ปนเปื้อนแล้วอย่างห้วยคลิตี้ ทำได้อย่างมากเเค่บรรเทาความเสียหายให้น้อยลง

หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็น precautionary principle คือหลักความรอบคอบหรือหลักป้องกันไว้ก่อน โดยเฉพาะในยุโรปบัญญัติไว้ในกฎหมาย คือถ้าโครงการไหนมีความเสี่ยงว่าจะเป็นอันตราย ผู้ดำเนินโครงการต้องมาพิสูจน์ว่าจะไม่ก่อความเสียหายร้ายแรงก่อน  และภาระการพิสูจน์อยู่กับคนที่ต้องการดำเนินโครงการ ไม่ใช่ตกอยู่กับคนอื่น  ในบ้านเราจะตรงกันข้าม ยกตัวอย่างคดีโรงงานอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด ในคำตัดสินศาลปรากฏว่าเอ็นจีโออย่างกรีนพีซต้องไปติดเครื่องวัดระดับมลพิษเอง เพราะมลพิษบางตัวอย่างสารอินทรีย์ระเหยง่าย (volatile organic compounds - VOCs) ตอนนั้นยังไม่มีค่ามาตรฐานสะสมที่ดูทั้งบริเวณ ไม่ใช่เฉพาะโรง

หลักความรอบคอบจะมองกลับกัน ต่อให้ยังไม่มีหลักฐาน เพราะในโลกนี้น้อยมากที่จะมีข้อมูลเชื่อมั่นทางวิทยาศาสตร์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เขาดูแค่แนวโน้มความเสี่ยงของการเกิดความรุนแรงก็พอแล้วสำหรับการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำโครงการ

นอกจากความรอบคอบแล้วยังมีหลักอะไรอีกบ้าง
หนึ่ง precautionary principle สอง สำคัญมากคือกลไกการมีส่วนร่วม เพราะลักษณะผลกระทบเราไม่รู้ล่วงหน้า ใช้เวลานาน สมมุติโรงงานปล่อยสารพิษ จะรู้ไหมว่าสารพิษนี้ทำให้กล้วยของเกษตรกรไม่โต ฉะนั้นการขึ้นโครงการต่าง ๆ ต้องฟังความกังวล เข้าใจคนรอบ ๆ พื้นที่ว่าต้องการอะไร  กลไกการมีส่วนร่วมจึงสำคัญ รวมไปถึงต้องมีกลไกการร้องเรียนและเยียวยา แม้แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ญี่ปุ่นที่กระทรวงพลังงานพานักข่าวไปดูโรงงานที่ไฮเทคมาก สวยมาก ใช้งานมา ๒๐ กว่าปีแล้ว เขาบอกว่าชดเชยรายได้ให้ชาวประมงทุกปี  ของเราปัญหาคนป่วยกว่าจะได้ชดเชย ตายไปแล้วยังได้ไม่ครบ จะเห็นว่าวิธีคิดที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่างกันมาก

สิ่งที่พูดมาทั้งหมดเราไม่เห็นในคำสั่งที่ออกมาของรัฐบาล คสช. และชัดเจนมากว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับอะไร เช่น คำสั่ง ๔/๒๕๕๙ ยกเว้นกฎกระทรวงการใช้ผังเมืองรวมกับกิจการบางประเภท หลัก ๆ คือการจัดการขยะกับโรงไฟฟ้า ให้เหตุผลว่ากฎกระทรวงผังเมืองรวมเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา หรือคำสั่ง ๓/๒๕๕๙ ยกเว้นการใช้ผังเมืองกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ผังเมืองถือเป็นเครื่องมือสำคัญกว่า EIA เพราะกำหนดพื้นที่ว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งถ้าบอกว่าผังเมืองเป็นอุปสรรค แสดงว่าไม่เข้าใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว  ผังเมืองเป็นกลไกที่ให้คนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดว่าเขาอยากให้ในพื้นที่มีอะไรบ้าง  การประกาศยกเว้นก็เท่ากับไม่สนใจว่าประชาชนจะคิดอย่างไร คือไม่แยแสการมีส่วนร่วมของประชาชน แสดงว่าคิดมาแล้วว่าโรงไฟฟ้าและโรงกำจัดขยะดีเลิศ เดี๋ยวคิดให้เองว่าจะเอาไปลงที่ไหนบ้าง  ขณะที่เจตนาของการทำผังเมืองคือการเป็นกลไกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนา ซึ่งเป็นหลักคิดหรือหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยตรง

สาม พอคิดต่อว่าปลายทางของการพัฒนาที่ยั่งยืนคือต้องการให้คนรุ่นหลังมีคุณภาพชีวิตที่ค่อนข้างดี ไม่เบียดเบียนคนรุ่นหลังให้ด้อยกว่าคนรุ่นเรา แปลว่าเราต้องให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำ ยกตัวอย่างว่าจะรักษาป่าแล้วไล่คนออกจากป่าหมดก็ไม่ใช่ เพราะสิ่งแวดล้อมดีขึ้นแต่คนเดือดร้อนไม่มีประโยชน์  ยกตัวอย่างรัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า จะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ แต่วิธีการคือไล่คนออกจากป่าสงวนให้หมด  มองในแง่สิ่งแวดล้อมผิวเผินก็ดีจะได้ป่าคืน แต่ถ้าดูความซับซ้อนของปัญหา มันมีคนสองกลุ่ม คือนายทุนรีสอร์ตที่บุกรุกพื้นที่ชัดเจน กับชาวบ้านที่ถูกกระบวนการไล่จับเอาขึ้นศาล แต่อยู่ดี ๆ ชาวบ้านที่อยู่มาก่อนจะแบ่งเขตอุทยานแห่งชาติ กลายเป็นคนผิดกฎหมาย  ความจริงมีโครงการที่พิสูจน์วิธีแก้ปัญหาคนอยู่กับป่าแล้ว เช่น โครงการป่าชุมชนหรือโครงการจอมป่าของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ตลกมากที่ในภาคประชาชนมีแนวคิดรูปธรรมชัดเจนของการพัฒนาที่ยั่งยืน แนวคิดป่าชุมชนคือคนอยู่กับป่าได้ พัฒนาเศรษฐกิจ ดูแลความเป็นอยู่ของคน สิ่งแวดล้อมไม่เสียหาย  แต่วิธีดำเนินนโยบายของรัฐบาลกลับย้อนศร ไม่สนใจว่าคนอื่นมีแนวคิดอะไร คิดแต่ว่าฉันจะเอาป่าคืนมา เหมือนว่าเราไม่เคยมีป่าชุมชน

ฉะนั้นการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมีหลักความรอบคอบ การมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นทางถึงกระบวนการเยียวยา และการคิดเป็นระบบ  สุดท้ายคือความสมดุล อยู่ด้วยกันได้ ไม่ใช่เอาด้านใดด้านหนึ่ง เอาป่าเขียวชอุ่มคืนมา แต่ทำให้คนจนเพิ่มขึ้นเยอะแยะก็ไม่ยั่งยืน  ต้องมีวิธีฉลาดกว่านั้นซึ่งชุมชนเขาทำเป็นรูปธรรมมีตัวอย่างชัดเจนแล้ว แต่รัฐบาลมองไม่เห็น

การรักษาสมดุล สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม น่าจะทำยาก
จริง ๆ ไม่ยาก แค่รัฐบาลต้องฉลาดขึ้นเท่านั้น  มองให้กว้าง ๆ มันเป็นวิธีคิด  ถ้ามองแบบสั่งการ ใช้วิธีคิดแบบอำนาจนิยมรวมศูนย์ มันจะขัดแย้งกับการพัฒนาที่ยั่งยืน  สามเรื่องนี้เป็นหลักคิดที่ตรงข้ามกับที่รัฐบาลทำอยู่อย่างสิ้นเชิง หลักความรอบคอบก็ไม่ได้มอง การมีส่วนร่วมก็ไม่มี สั่งอย่างเดียว  หลักความสมดุล เขาก็พัฒนาแต่เศรษฐกิจ

จะอ้างได้ไหมว่าตอนนี้เศรษฐกิจเป็นปัญหามาก ต้องยอมทำทุกอย่าง
คงไม่มีใครเถียงว่าเรามีปัญหาเศรษฐกิจ แต่คำถามคือวิธีการแก้คืออะไร  วันนี้คำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นกระแสโลก ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หนึ่ง คือมาจากการตกผลึกว่าการคิดแต่จีดีพีเป็นทางตัน ละเลยปัญหาสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ  ปัญหาที่ชัดเจนคือคนที่ได้รับผลกระทบจะไม่นั่งนอนอยู่เฉย ๆ เขาต่อสู้อยู่แล้วยิ่งในยุคอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงข่าวสาร ไม่ใช่สมัยรอผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียง เขารู้ว่าเสียงเขามีพลังมีช่องทางแสดงออก  เพราะฉะนั้นคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรู บางคนอาจมองว่าเป็นข้ออ้างที่สหภาพยุโรปหรืออเมริกาจะใช้กีดกันทางการค้าไทย จะมองมุมนั้นก็ได้ อาจมีส่วนถูก แต่ประเด็นคือมองแบบนั้นอย่างเดียวไม่มีประโยชน์  ถึงที่สุดแล้วถ้าไม่สนใจเรื่องการใช้แรงงานทาส ไม่สนใจเรื่องจับปลาเกินขนาด จับปลาผิดกฎหมายในน่านน้ำต่างประเทศ  สุดท้ายก็จะเป็นปัญหา ต่อให้รัฐบาลประเทศเหล่านั้นไม่ทำอะไร ผู้บริโภคหรือประชาชนในประเทศนั้นจะไม่ยอม เขาจะเลิกซื้อแน่นอน  โรงไฟฟ้าขยะจะนำไปสู่ความขัดแย้ง เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วม  คำสั่งตามอำนาจมาตรา ๔๔ ในกฎหมายถือเป็นที่สุด คือไม่มีใครทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นเรื่องหลักความรอบคอบนี่เลิกพูดได้เลย

หนีไม่พ้นว่าเราจริงใจต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขนาดไหน มองเห็นไหมว่าโลกวิ่งไปทางไหน เหมือนไม่รู้ตัวว่าพยายามพายเรือทวนกระแส พอทวนกระแสก็ตกเหว แล้วที่พายอยู่นี่ไม่ใช่ผืนน้ำราบเรียบ

แต่ประเทศไทยก็ลงนามรับหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว
เคยเขียนเล่นในเฟซบุ๊กว่า ถ้ารัฐบาลเข้าใจการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราต้องเห็นพาดหัวข่าวประกาศว่าจะค่อย ๆ ลดสัดส่วนพลังงานฟอสซิล เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด กระจายแหล่งผลิตไฟฟ้า ใครก็ติด solar rooftop ได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อไฟจากทางการ เพิ่มเงินทุนพลังงานหมุนเวียน ออกกฎหมายเครื่องมือเศรษฐศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม ประกาศนำร่องภาษีคาร์บอน  ประกาศเป้าหมายกำจัดขยะพลาสติกลดลงครึ่งหนึ่งภายใน ๑๐ ปีเพื่อให้พ้นข้อครหาว่าเราเป็นประเทศที่มีขยะในทะเลเยอะที่สุดในโลก ประกาศพื้นที่ป่าชุมชนเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าชุมชนอยู่กับป่าได้เพิ่มอีก ๒๐๐ แห่งทั่วประเทศในฐานะกลไกสำคัญที่นำไปสู่เป้าหมายเพิ่มป่าไม้ ๔๐ เปอร์เซ็นต์  คือต้องมีพาดหัวข่าวประมาณนี้

ในความเป็นจริง คนที่ซวยก่อนจากปัญหาโลกร้อนหรือมลพิษ ไม่ใช่คนรวย แต่คือคนจนที่สุด เขาไม่มีทางไป เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ติดกับธรรมชาติ  น่าเสียดายที่เวลาเราเถียงกันยังไม่อยู่บนหลักคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนจริง ๆ  ฝั่งทุนสุดขั้วซึ่งบางคนมีความคิดเป็นประชาธิปไตย แต่กลับไม่สนใจสิ่งแวดล้อม บางคนสนใจความเหลื่อมล้ำหรือคนจน แต่กลับมองว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องคนรวย อีกฝั่งคนโรแมนติก ไม่เอาทุนนิยมเลยแม้แต่แนวคิดคนอยู่กับป่า เพราะรู้สึกว่าทำลายความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ

การพัฒนาที่ยั่งยืนสนุกดีเพราะเป็นการบังคับให้ทุกคนมานั่งคุยกัน อย่างไรถึงจะสมดุลก็ต้องคุยกัน  สมดุลสามด้าน สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม จริง ๆ คืออะไร คำตอบคงไม่สำเร็จรูปขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ดูผลลัพธ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ยั่งยืนมากขึ้น

แสดงว่าการรวมศูนย์เป็นปัญหา ทิศทางคือต้องกระจายอะไร ๆ ออกไป
ถ้าเราเชื่อมั่นในหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน การจะทำให้เกิดความมีส่วนร่วมจริง ๆ รวมศูนย์ไม่ได้ เพราะแต่ละพื้นที่มีความคิดเฉพาะของตัวเอง ต้องให้อิสระเขาตัดสินใจ  กฎหมายผังเมืองหรือ EIA เป็นตัวอย่างเครื่องมือที่เปิดพื้นที่ให้คนเข้ามามีส่วนร่วม นำเสนอว่าเขากังวลเรื่องอะไรบ้าง เพราะโครงการพัฒนาไม่ใช่การปั๊มกระป๋อง ต้องปรับตามบริบท  การพัฒนาให้ประสบความสำเร็จไปสู่สังคมที่ยั่งยืนต้องกระจายอำนาจ  แต่ถ้าจะรวมศูนย์ให้มีประสิทธิภาพก็ต้องเข้าใจความต้องการของคนในสังคมจริง ๆ ถึงจะเชื่อมั่นและบอกได้ว่ารวมศูนย์แล้วดี ซึ่งในความเป็นจริงเกิดขึ้นยาก

วันนี้หลายประเทศไปไกลมากเรื่องการมีส่วนร่วม อินโดนีเซียจัดงบประมาณแบบมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่น คือให้สิทธิ์กับชาวบ้านโดยตรง ไม่ใช่การจัดสรรโดย อบต. ให้ชาวบ้านคิดเองว่าอยากได้โครงการอะไรแล้วโหวตการใช้เงินของท้องถิ่น  เรื่องนี้น่าสนใจในแง่ว่าเทคโนโลยีทำได้แล้ว เพราะคนไทยใช้มือถือเป็นว่าเล่น เอามาช่วยให้คนมีส่วนร่วมทางตรงได้ แต่วิธีคิดเรายังไปไม่ถึง แทนที่จะต้องเลือกตัวแทนของพลเมืองไปประชุมตัดสินใจก็ให้อำนาจประชาชนทางตรงไปเลย  น่าลองทำโครงการนำร่อง ทดลองให้คนในท้องถิ่นตัดสินใจเองว่าจะใช้เงินงบประมาณทำอะไร ถ้าเขาเป็นคนเลือกการใช้เงินงบประมาณก็จะมีแรงจูงใจไปตามดูว่า อบต. กำลังใช้เงินทำอะไร  ไม่ใช่ว่าพอ อบต. มีปัญหาโกงกันหลายที่ก็บอกว่าอย่ามีเลย  ถ้าวิธีแก้คือย้อนอำนาจกลับไปศูนย์กลางแล้วจะช่วยแก้ปัญหาอย่างไร  ยิ่งไม่รู้ใหญ่ว่าชาวบ้านต้องการอะไรเพราะยิ่งห่างไกลจากท้องถิ่น

แล้วปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่รัฐบาลเสนอให้เป็นแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืนล่ะ
ความเป็นหลักปรัชญามีข้อจำกัดคือสุ่มเสี่ยงว่าแต่ละคนจะตีความหมายไปในทางที่ตัวเองต้องการ  แต่ถ้าทฤษฎีใหม่ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานมา ชัดเจนว่ากลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรที่ประสบปัญหา ทำตามทฤษฎีใหม่แล้วเกษตรกรอาจฟื้นได้  ที่น่าสนใจคือมีหลายขั้น โดยขั้นที่ ๓ จะเชื่อมโยงกับภาครัฐหรือเอกชนให้มาช่วยยกระดับการผลิต เห็นได้ว่าพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาจากพระราชหฤทัยที่จะยกระดับชีวิตของเกษตรกรจริง ๆ

ส่วนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ดูจะคล้ายเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง แต่ด้วยข้อจำกัดที่เป็นพระราชดำริ ทำให้ยากจะมีคนนำมาถกเถียงหรือวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเกรงเรื่องมาตรา ๑๑๒  คิดว่าในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ค่อนข้างเปิดกว้าง ดีไม่ดีอย่างไรต้องผ่านการลองผิดลองถูก ต้องผ่านการทำซ้ำ เหมือนทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้นำไปต่อยอดได้  ถ้าจะให้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเติบโตจริงจะต้องให้มีเวทีวิจารณ์ถกเถียงได้ ประเมินบทเรียนกัน แต่คงเกิดได้ยาก  ในแง่การนำไปปฏิบัติเป็นรูปธรรมคิดว่ายังสับสน ต่างจากเกษตรทฤษฎีใหม่

sarinee03

ในวงการเศรษฐศาสตร์มีแนวคิดอะไรใหม่ ๆ ที่มาใช้กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนบ้าง
ในวงการมีเรื่องน่าตื่นเต้น คือเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมมีความก้าวหน้ามาก จากสมัยก่อนเรามีเครื่องมือประเมินคุณค่าสิ่งแวดล้อมค่อนข้างจำกัด  เรารู้ว่าป่าไม้สำคัญมากช่วยดูดซับคาร์บอน แต่คิดเป็นตัวเลขได้ไหมว่ามูลค่าเท่าไร สมัยก่อนอาจคิดจากว่าถ้าตัดไม้ไปขายแล้วได้เงินเท่าไร ซึ่งเป็นวิธีที่จำกัดมาก เพราะไม้พวกนี้อาจไม่ได้มีความต้องการในตลาด แต่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ  มาถึงวันนี้วิธีคิดการประเมินมูลค่าเที่ยงตรงมากขึ้นแล้ว เรียกว่านิเวศบริการ คือคิดเสมือนหนึ่งว่าธรรมชาติเป็นผู้ให้บริการ เช่นช่วยฟอกอากาศ ถ้าคิดว่าเราต้องจ่ายเงินซื้อบริการนี้จากธรรมชาติต้องเสียเงินเท่าไร  มันมีวิธีคิดเป็นมาตรฐานซึ่งหลายประเทศนำไปใช้ตัดสินใจเชิงนโยบาย  ยกตัวอย่างว่าถ้าต้องเลือกระหว่างการรักษาป่าชายเลนกับการทำฟาร์มกุ้ง ถ้าคิดแง่เรื่องเงินก็ต้องทำฟาร์มกุ้งเพราะขายได้  แต่ถ้านำหลักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมมาจับก็จะมีวิธีประเมินมูลค่าป่าชายเลน เช่นเดี๋ยวนี้เรารู้ว่าถ้าไม่มีป่าจะเกิดน้ำท่วม หรือเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ต้องสร้างตลิ่งหรือเขื่อน เราก็อาจนำค่าก่อสร้างเขื่อนมาใช้เป็นมูลค่าของป่าได้ เพราะถ้าเรารักษาป่าก็เท่ากับเราไม่ต้องสร้าง

มีบางบริษัทเริ่มทำบัญชีสิ่งแวดล้อมแล้ว อย่าง Puma ที่ขายเครื่องกีฬา เขาทำมาหลายปีแล้ว นอกจากมีบัญชีกำไรขาดทุนทางการเงิน เขามีกำไรขาดทุนทางสิ่งแวดล้อมด้วย แปลงเป็นตัวเลขมูลค่าว่าสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่าไร ช่วยประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเท่าไร ทำให้เขาเห็นว่าจุดไหนที่ควรจะแก้ไขปรับปรุง

เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมพัฒนามาถึงจุดที่ทำให้การคำนวณต้นทุนภายนอกเป็นรูปธรรมมากขึ้น นำมาใช้ตัดสินใจเชิงนโยบายได้จริง ทำให้หลายประเทศเปลี่ยนแปลงกระบวนการตัดสินใจให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน  หลายเมืองแทนที่จะตัดสินใจสร้างโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนเป็นโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแทน เพราะคำนวณแล้วว่าการใช้เงินอนุรักษ์เกิดมูลค่ามากกว่า

ถ้าเราเข้าใจและใช้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนจริง ๆ จะส่งผลต่อการตัดสินใจ อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต้องเห็นต้นทุนว่าไม่ใช่ ๒ บาท ต้องรวมมาให้ชัดว่าต้นทุนสังคม ต้นทุนสิ่งแวดล้อมเป็นเท่าไร ย้อนกลับไปดูวัตถุดิบว่ามีต้นทุนด้วยไหม เหมืองถ่านหินที่มีระบบการจัดการดีที่สุดกับเหมืองที่ไม่สนใจต้นทุนภายนอกก็แตกต่างกัน  ดูให้รอบด้าน ดูให้มากกว่าต้นทุนก่อสร้างแล้วถึงตัดสินใจ

เรากำลังจะไปเศรษฐกิจดิจิทัล ๔.๐ ยั่งยืนไหม
ยังไม่รู้ว่าคืออะไรเลย ดูต่างประเทศมีรัฐบาลไหนที่ประกาศใช้ ๔.๐ ยังไม่เห็น ตลกดี เราคิดของเราเองไปเรื่อย คือเรื่องชื่อก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามาดูข้อเท็จจริงเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล ถ้าวิธีคิดเรายังเป็นแบบเดิมคงไม่มีประโยชน์ คือคิดแบบรวมศูนย์จะขัดแย้งกับเทคโนโลยีดิจิทัล ขัดแย้งเหมือนกับที่เอาวิธีคิดรวมศูนย์ไปใช้กับการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจใหม่ หรือการมีสตาร์ตอัปเยอะแยะ แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด โลกสมัยใหม่ที่เชื่อมั่นศักยภาพของทุกคนในการเป็นผู้ผลิต อย่างที่ อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ เรียกว่า prosumer  คือด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ เราจะไม่แค่บริโภคแล้ว เราจะเป็นผู้ผลิตเองด้วย เช่นมี 3D printing พิมพ์เสื้อผ้ามาใส่  มีการกระจายของเทคโนโลยีการผลิต ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ มากขึ้น

คนที่มองโลกในแง่ดีจะมองว่าเป็น democratization คือทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เทคโนโลยีทำให้คนมีสิทธิ์มีเสียง พูดดังขึ้น เข้าถึงทรัพยากรง่ายขึ้น จากเมื่อก่อนรวมศูนย์ไว้โดยทุนโดยรัฐ  แล้วยังเป็นสังคมแห่งข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงเป็นสังคมของผู้ประกอบการรายย่อย สังคมของคนเล็ก ๆ  ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงเพิ่มขึ้นในทุกมิติ ซึ่งลักษณะแบบนี้จะเป็นจริงได้แค่ไหนในระบบรวมศูนย์

ลองคิดว่าเราจะเป็น ๔.๐ แต่ยังมีพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ที่ล้าหลังมาก ยังไม่เข้าใจความแตกต่างของความมั่นคงไซเบอร์กับความมั่นคงของชาติซึ่งกินความหมายกว้างครอบจักรวาล  เราจะไป ๔.๐ แต่แค่แชร์ข่าวยังถูกจับตัวโดยไม่ให้ประกัน มันก็ดูย้อนแย้ง

เศรษฐกิจที่ยั่งยืนต้องกระจายอำนาจ
เศรษฐกิจที่ยั่งยืนต้องเป็นเศรษฐกิจฐานกว้าง ตอนนี้ใช้คำว่า inclusive economy กันมากขึ้น เพราะถ้าไม่คิดลดความเหลื่อมล้ำ สุดท้ายจะเป็นเศรษฐกิจหัวโต ไม่เข้มแข็ง  ถ้าไม่มีฐานการบริโภคในประเทศ ต้องพึ่งพาต่างชาติ แบบนี้ไม่พอเพียงแน่นอน  ถ้าประเทศคู่ค้าตกต่ำเราก็แย่ไปด้วย  ถ้าจะยืนบนขาตัวเองขั้นต่ำสุดจึงต้องสร้างเศรษฐกิจฐานกว้าง ให้คนส่วนใหญ่ขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง ต้องกำจัดอำนาจการผูกขาดจริงจัง  แต่กฎหมายป้องกันอำนาจการผูกขาดของเราใช้ไม่ได้ จะทำคราฟต์เบียร์ยังถูกจับ  รัฐต้องเสริมสร้างคนที่มีสปิริตการประกอบการให้ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่ใช่ถูกครอบงำด้วยอำนาจบางอย่าง หรือต้องใช้คอนเนกชัน

คำว่ารวมศูนย์ ปรกติจะพบว่าไม่ใช่รวมศูนย์แค่กลุ่มการเมือง แต่รวมถึงกลุ่มธุรกิจด้วย ไม่มีผู้นำคนไหนอยู่ได้ด้วยการไม่มีทุนสนับสนุน  ต้องมีฐานทุน ถามว่ากลุ่มทุนหรือธุรกิจใหญ่ ๆ มีแรงจูงใจอะไรจะมาทำให้เกิดสนามแข่งขันที่เท่าเทียม ไม่มีหรอก เขามีแต่แรงจูงใจที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

ความจริงหลายประเทศก็อยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มธุรกิจใหญ่ ๆ แล้วจะเป็นปัญหาอย่างไร
ถึงจะเป็นอำนาจใหญ่ แต่ประชาชนยังมีพลังคัดง้าง  อย่างสหรัฐอเมริกามีปัญหามากกับธุรกิจใหญ่ ๆ  บางคนว่ามีอำนาจเหนือรัฐบาลอีก แต่เขาถูกจับตามองจากประชาชน ประชาชนขึ้นมาถกเถียงกับรัฐบาลได้  แต่ของเราเถียงไม่ได้ ได้แต่เถียงกันอยู่ในโซเชียลมีเดียเพราะไม่ถูกเซนเซอร์การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยยังไม่ค่อยเห็นอะไรชัดเจน นโยบายที่เข้าข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมคิด ยังไม่เห็น เห็นแต่เขาพยายามดึงคนมาลงทุนให้มากที่สุด

แน่นอนว่าต้นทุนการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องสูงกว่าการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ดูตัวเงินเลยนะ เปรียบเทียบระหว่างโรงงานที่ดูแลผลกระทบกับโรงงานที่ไม่มองผลกระทบ ถ้าดูระยะสั้น ไม่ต้องคิดระยะยาวว่าจะเจออะไร ต้นทุนถูกกว่าแน่  ก็คล้ายกัน นโยบายที่จะดึงดูดนักลงทุนได้ดีคือนโยบายที่ไม่สนใจสังคมและสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างรัฐบาลมีนโยบายเปิดกว้างให้เอาขยะอุตสาหกรรมเข้ามากำจัดในประเทศไทยเพิ่มอีก  คือประเทศอื่นไม่สนใจหรอกว่าจะเกิดผลกระทบอะไรกับเรา เพราะนี่ไม่ใช่บ้านเขา  การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นเรื่องของบริบทพื้นที่ เราต้องยอมรับความจริงว่าในระบบทุนนิยม ธุรกิจใหญ่มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง จะให้อยู่ดี ๆ มาสมาทานหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนก็คงไม่ใช่  ส่วนใหญ่ธุรกิจต้องเจอกับแรงต้านหรือผลกระทบบางอย่างถึงตัวเสียก่อนจึงจะรู้สึกว่าต้องมาจัดการเรื่องนี้

ความขัดแย้งอีกหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นเป็นอีกบทพิสูจน์ของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน อยู่ที่ว่าเราจะสรุปบทเรียนได้ไหมว่านี่เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

โครงการประชารัฐ รัฐจับมือกับธุรกิจใหญ่ ๆ ถือเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนไหม
หลักคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นการสร้างสมดุลที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าไม่มีใครเชี่ยวชาญทั้งสามด้าน  รัฐก็ไม่รูุ้ ถ้าจะให้เกิดจริงต้องมีส่วนร่วมจากประชาชน เอกชน ทุกฝ่ายเอาความเชี่ยวชาญของตัวเองมาแบ่งกัน  โครงการประชารัฐของรัฐบาลก็ดูคล้ายว่าจะเป็นกลไกนี้  แลดูยิ่งใหญ่คล้ายมีบริษัทย่อยตั้งขึ้นทุกจังหวัด คณะใหญ่แบ่งออกเป็นหลายคณะ แต่ถ้าดูส่วนผสมหลักจะเป็นราชการกับเอกชนซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่  ตอนแรกอ้างว่ามีภาคประชาสังคมด้วย แต่น้อยมากไม่ถึง ๒ เปอร์เซ็นต์ และไม่ใช่เอ็นจีโอประเภทที่ต่อต้านรัฐ แต่เป็นเอ็นจีโอเรียบร้อย คิดเห็นไปในทางเดียวกัน  หลัก ๆ จึงเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน คล้าย public-private partnership มากกว่า

ฟังดูเผิน ๆ คล้ายการพัฒนาที่ยั่งยืน เอาความเชี่ยวชาญของเอกชนมาช่วยแก้ปัญหา ขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น เอกชนมีทรัพยากร มีองค์ความรู้ มาช่วยรัฐ  ตอนนี้อาจยังเร็วไปที่จะประเมินอย่างเป็นรูปธรรมว่าผลลัพธ์ของโครงการประชารัฐคืออะไรเพราะเพิ่งตั้งมาไม่นาน  เท่าที่จับใจความได้มีสองสายใหญ่ ๆ สายหนึ่งคือการศึกษา โชคดีเป็นเรื่องบังเอิญที่บริษัทธุรกิจใหญ่ซึ่งไปเข้าร่วมมีความต้องการทางธุรกิจซึ่งสอดคล้องกับปัญหาสังคมที่รัฐต้องจัดการ คือปัญหาการขาดแคลนคนเรียนจบอาชีวะศึกษา บริษัทต้องการช่าง วิศวกร จึงเกิดแรงจูงใจทางธุรกิจจะมาช่วยคิดเรื่องปฏิรูประบบการศึกษา  ถ้าทำได้ เขาก็ได้ประโยชน์ ถือเป็นเรื่องโชคดีไป  ดังนั้นสายการศึกษาอาจมองแง่ดีว่าสุดท้ายน่าจะมีผลลัพธ์ที่รัฐบาลพูดได้ว่าเป็นความสำเร็จ

อีกสายขอเรียกว่า CSR  สายนี้น่าเป็นห่วง เข้าใจว่ารวมหลายคณะเข้าด้วยกัน ธุรกิจใหญ่ที่เข้าไปร่วมอาจยังไม่มีประเด็นความต้องการหรือแรงจูงใจที่สอดคล้องกับปัญหาสังคม เช่นสายเกษตรถามว่าปัญหาคืออะไร สมมุติบางบริษัทบอกว่าเกษตรกรมีปัญหาธุรกิจตกต่ำขายไม่ได้ราคา ต้องเปลี่ยนเป็นข้าวโพด อีกบริษัทบอกเปลี่ยนข้าวโพดทำไม เป็นอ้อยขายได้ราคาดีกว่า ถ้ามีความคิดเห็นขัดแย้งกันแบบนี้แล้วรัฐบาลจะเลือกอะไร ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป ยังไม่นับเกษตรกรเองว่าอยากปลูกข้าวโพดไหม สุดท้ายคงลงเอยเป็นโครงการแบบ CSR  เช่นบริษัทที่ทำโครงการ CSR อยู่แล้วก็เอาป้ายไปติด

ตลกกว่านั้นคือตัวอย่างข่าวเมื่อปีที่แล้วมีมหกรรมขายปุ๋ยราคาถูก ในงานมีปุ๋ยของธุรกิจเจ้าหนึ่งมากเป็นพิเศษกว่าปุ๋ยเจ้าอื่น กระทรวงเกษตรฯ ออกมาอธิบายด้วยความภูมิใจว่าเป็นตัวอย่างของโครงการประชารัฐซึ่งรัฐสนับสนุนค่าการตลาดให้บริษัท กลายเป็นว่าประชารัฐไปสนับสนุนการตลาดของบริษัทที่ขายปุ๋ยอยู่แล้ว
สายนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นสายสับสน เพราะมันเป็นโครงการที่อยู่ดี ๆ ก็เกิดความเชื่อมั่นว่าเอารัฐกับเอกชนมาร่วมกัน เอาภาคประชาสังคมมาเป็นพิธี แล้วจะสามารถดลบันดาลให้แก้ปัญหาสังคมมากมาย

ถ้าจะให้แก้ปัญหาได้ แสดงว่าต้องมีภาคประชาสังคม ภาคประชาชนจริง ๆ เข้าไปร่วม
แน่นอน ปัญหาสังคมทุกอย่าง คนที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ คือประชาชน แต่บางปัญหาอย่างเกษตรกรเป็นเรื่องระดับประเทศ มันซับซ้อนเกินกว่าจะคิดหายาสารพัดโรคที่แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง อาจต้องปรับตามบริบทของพื้นที่ ต้องใช้เวลา ต้องค่อย ๆ ทดลอง เคยคุยกับ CSR ของบริษัทที่มีเจตนาดี ตั้งใจช่วยเหลือชุมชน เขาคิดว่าเจอโมเดลที่เวิร์ก ช่วยชุมชนในที่หนึ่งได้ หลังจากนั้นเขาจะเอาโมเดลนี้ไปทำซ้ำกับที่อื่น ปรากฏว่าไม่ง่าย ไม่สำเร็จ ต้องไปดูบริบทของแต่ละพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร

สุดท้ายสิ่งที่อาจสำคัญกว่า คือคำว่า empowerment เพิ่มพลังให้คนในพื้นที่  การพัฒนาอย่างยั่งยืนอาจไม่มีสูตรสำเร็จรูป แต่วิธีการคือการเพิ่มพลังให้คนในพื้นที่ก่อน ติดอาวุธทางปัญญาให้รู้เท่าทัน มีศักยภาพความถนัด มีการรวมกลุ่มที่จะเห็นช่องทางหรือการต่อรอง  เมืองไทยเราโชคดีที่มีชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งบางชุมชนน่าทึ่งมาก เคยกำลังจะพานักศึกษาไปดูงานที่มาบตาพุด แกนนำชาวบ้านที่นั่นบอกว่าขอเลื่อนวันนัดเพราะติดไปดูงานเรื่องมินะมะตะที่ญี่ปุ่น  เขามีเครือข่ายกับชาวบ้านญี่ปุ่นที่เจอปัญหาการพัฒนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับประสานงานกับต่างประเทศแล้ว  เขาตื่นตัวเนื่องจากเจอแรงปะทะอยู่เรื่อย ๆ เคยคุยกับชาวบ้านบางคนแล้วประทับใจมากว่าเขารู้เรื่องกฎหมายดีมาก เพราะเขาถูกฟ้อง ๑๐ กว่าคดี ต้องขึ้นศาลตลอดเวลา

เพราะฉะนั้นคนที่เจอผลกระทบจริง ๆ คือความหวังของประเทศไทย เพราะเขารู้ชัดว่าอันไหนไม่ยั่งยืน แล้วเขามีแรงจูงใจที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวของเขาเอง  การพัฒนาที่ยั่งยืนที่ดีที่สุดคือการตั้งต้นจากจุดที่ไม่ยั่งยืน แล้วแก้ปัญหาให้ชัด เพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน

มันคล้ายเรื่องความยุติธรรม เป็นนามธรรม จะบอกว่าทำอย่างไรถึงยุติธรรม บางทีมองไม่เห็น เป็นแนวคิดที่ถกเถียงกันได้ อาจารย์อมรรตยะ เสน จึงบอกว่าให้เลิกคิดเรื่องความยุติธรรม ไปเริ่มต้นที่ความอยุติธรรม เพราะจะมีความเห็นตรงกันไม่ยาก เป้าหมายการทำงานที่เป็นรูปธรรมคือให้ลดปัญหาความอยุติธรรม ถ้าลดได้ก็อาจแปลว่าความยุติธรรมกำลังเพิ่มขึ้น แม้ไม่รู้ว่าปลายทางหน้าตาเป็นอย่างไร

ความยั่งยืนอาจคล้ายกัน ไม่ต้องเถียงกันว่าความยั่งยืนหน้าตาเป็นอย่างไร แต่มองให้เห็นว่าความไม่ยั่งยืนเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง ให้พยายามไปแก้ไขบรรเทาตรงนั้นให้ดีขึ้น นี่น่าจะเป็นความก้าวหน้า

ในระดับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา คงไม่ต้องมีใครไปอธิบายแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เขาฟัง เพราะเขารับรู้อยู่แล้วว่าที่ผ่านมามันไม่ยั่งยืน

  • ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 385 มีนาคม 2560