เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ตามหาสีไทยจากครูช่างโบราณถึงงานดีไซน์ไทยๆ
พระกรรมฐานในสายวัดป่ามีวัตรปฏิบัติที่จะไม่นุ่งห่มผ้าที่ผลิตจากโรงงาน ทุกวัดจึงยังคงต้องมีโรงย้อมสำหรับติดเตาต้มย้อมผ้าจีวรให้เป็นสีกรักหรือสีน้ำตาลอมเหลืองด้วยแก่นขนุน ในภาพคือการตากผ้าจีวรหลังจากย้อมที่วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี

“ทุกวันนี้พระไทยใช้จีวรกันกี่สีครับ ?”

ผมเรียนถามท่านเจ้าคุณพระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิล ธมฺมสากิโย) อดีตผู้ช่วยเลขานุการในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฒฺฑโณ พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๕๕๖) ที่ห้องทำงานในกุฏิของท่านที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

“มันเยอะไปหมด” ท่านตอบ ก่อนจะแจกแจงให้ฟังว่าพระสงฆ์ทางเหนือจำนวนไม่น้อยนิยมครองจีวรสีแดงเข้ม อย่างที่เรียกว่า “สีน้ำหมาก” ตามธรรมเนียมพระสงฆ์พม่า  ส่วนวัดในเมืองกรุงเองก็ยังใช้จีวรหลากสีต่าง ๆ กันไป เช่นวัดสระเกศฯ จะใช้จีวรสีเหลืองหม่น เช่นเดียวกันกับวัดเบญจมบพิตร “เขาเรียกเหลืองทอง” ท่านว่า

ส่วนคณะสงฆ์วัดพระธรรมกายนิยมใช้จีวรสีเหลืองสว่าง ซึ่งถือเป็นอีกสีหนึ่งต่างหาก  ยังไม่นับวัดทางฝ่ายธรรมยุติกนิกายอย่างวัดบวรนิเวศฯ เช่นท่านเจ้าคุณเอง ซึ่งครองจีวรสีออกโทนน้ำตาล อย่างที่เรียกกันว่า “สีกรัก” หรือ “สีแก่นขนุน”

ท่านอธิบายว่าสีกรักหรือสีแก่นขนุนที่ว่านี้ ไม่ได้เป็นแค่ชื่อเรียก แต่ได้จากการต้มย้อมด้วยแก่นของต้นขนุนจริง ๆ แต่ทั้งนี้คง “ขึ้นอยู่กับเวลาย้อม เราเอาต้นขนุนที่ไหนมา ต้มนานเท่าไหร่ ต้นไม้แต่ละต้นสีก็คงไม่เท่ากัน แล้วแก่นขนุนนี่ต้องเคี่ยวก่อนตั้ง ๒-๓ วัน ถ้าย้อมครั้งเดียวสีจะอ่อนมาก ก็ต้องย้อมหลายครั้ง...แล้วยังมีพวกพระทางวัดป่า จีวรยิ่งเข้มขึ้นอีก เขาย้อมกันเองก็คงอยากให้เข้ม เพราะในแง่การดูแลจะได้ไม่สกปรกง่าย”