ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


wat na phra meru2 1

จักรวาล คือการผันไปราวกับจักร การเคลื่อนหมุนไปดุจล้อของรถ มีลักษณะเป็นกงล้อวงกลม หมุนไปเป็นวัฏฏะ

ในแนวคิดของพุทธศาสนาเถรวาท จักรวาลเป็นทั้งความรู้ภูมิศาสตร์ว่าด้วยตำแหน่งแห่งที่ของมนุษย์ในสิ่งแวดล้อมและเป็น “ฉากหลัง” สำหรับสรรพชีวิตที่เวียนว่ายตายเกิดตามกระแสแห่งกรรม เพราะการไปเกิดในภพภูมิต่างๆ ล้วนเป็นไปตามบาปบุญที่ได้สั่งสมมา

จักรวาลแบบพุทธศาสนาเถรวาทซึ่งได้รับคติมาจากอินเดีย อธิบายว่าในท่ามกลางจักรวาลมากมายอันนับไม่ถ้วน ล้วนมีรูปร่างลักษณะอย่างเดียวกันกับจักรวาลของเรานี้ คือตรงแกนกลางหรือศูนย์กลางของจักรวาล เป็นภูเขาสูง ชื่อ “เขาพระสุเมรุ”

เขาพระสุเมรุนี้มีภูเขาวงแหวนล้อมรอบอีก ๗ ชั้น เรียกรวมกันว่า สัตตบริภัณฑ์ (สัตตะ แปลว่าเจ็ด)

ในระหว่างภูเขาแต่ละชั้น มีทะเลวงแหวนคั่น เรียกว่า “สีทันดรสมุทร”

พ้นจากแนวเขาสัตตบริภัณฑ์ชั้นนอกสุดออกไปเป็นมหาสมุทรใหญ่ที่ไปสิ้นสุด ณ ขอบจักรวาล

บางคัมภีร์เรียกมหาสมุทรใหญ่นี้ว่า “โลณสมุทร”

ในโลณสมุทร โดยรอบทั้งสี่ทิศถัดจากเขาพระสุเมรุและสัตตบริภัณฑ์ มีทวีปใหญ่สี่ทวีป กับเกาะน้อยๆ อีก ๒,๐๐๐ เกาะ

ทวีปใหญ่ทางทิศเหนือ ชื่ออุตรกุรุทวีป
ทวีปทิศตะวันออก ชื่อบุพพวิเทหทวีป
ทวีปทิศใต้ มีชื่อว่าชมพูทวีป
ทวีปทิศตะวันตก ชื่ออมรโคยานทวีป

ในจำนวนนี้ ทวีปที่เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์แบบพวกเราคือ “ชมพูทวีป” ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุเท่านั้น

ส่วนพระอาทิตย์พระจันทร์ โคจรเป็นวงอยู่รอบศูนย์กลางของจักรวาล คือเขาพระสุเมรุ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ๒๔๕๖-๒๕๕๖) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เคยทรงอธิบายวิเคราะห์เรื่องคติจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า” ว่า

“…ทวีปทั้ง ๔ นั้น ชมพูทวีปก็คือโลกในความเป็นจริงของผู้เป็นต้นคติความคิดเรื่องนี้ โดยเฉพาะก็คืออินเดียเอง ส่วนอีก ๓ ทวีปแม้จะกล่าวว่ามีอยู่ในจักรวาลนี้ แต่ก็น่าจะเป็นโลกในความคิดนึกในใจ หรือกำหนดเอาด้วยภาพทางใจ…เวลาดวงอาทิตย์ขึ้นในชมพูทวีปนี้ เป็นเวลาเที่ยงวันในบุพพวิเทหะ เป็นเวลาอาทิตย์ตกในอุตตรกุรุ เป็นเวลาเที่ยงคืนในอมรโคยาน…ตามที่เทียบกันนี้ ชมพูทวีปอยู่ที่ อินเดีย บุพพวิเทหะอยู่ที่แถบ นิวซีแลนด์ อุตตรกุรุอยู่ที่แถบ นิวออร์ลีนส์, ชิคาโก (นับกว้างๆ ว่าอเมริกา) อมรโคยานอยู่ที่แถบ อังกฤษ (นับกว้างๆ ว่ายุโรป) แต่ตามคติความคิดเรื่อง ๔ ทวีป น่าจะมิได้มุ่งหมายถึงประเทศปัจจุบันเหล่านี้ เพราะมีแนวคิดเรื่องโลกกลมคนละอย่าง…”

นั่นคือหากพิจารณาด้วยสายตาของความรู้ภูมิศาสตร์ปัจจุบัน ชมพูทวีปก็คืออนุทวีปอินเดีย อันตั้งเป็นติ่งห้อยอยู่ทางตอนใต้ของเขาพระสุเมรุ แวดล้อมด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ ซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับเทือกเขาหิมาลัย อันมียอดเขาที่สูงที่สุดในโลก คือยอดเขาเอเวอเรสต์ นั่นเอง

wat na phra meru