ไกรวุฒิ จุลพงศธร

Citizenfour เบื้องหลังการเป่านกหวีดของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน 

ภาพโปสเตอร์หนัง

นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖ จนถึงปัจจุบัน ชื่อของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) เป็นพาดหัวข่าวหน้า ๑ ครองพื้นที่ข่าวระดับโลกมาตลอดกว่า ๑ ปีในฐานะผู้เปิดโปงการสอดแนมประชาชน (ทั้งในสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ) ของสำนักความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NSA (National Security Agency)

การเปิดโปงข้อมูลของสโนว์เดนว่าหน่วยงานนี้ได้สอดแนมและบันทึกข้อมูลส่วนตัว- -โดยเฉพาะข้อมูลทางโทรศัพท์และการใช้อินเทอร์เน็ต- -โดยไม่ผ่านหมายศาลนั้นนำมาซึ่งการถกเถียงเรื่องความเป็นส่วนตัวและสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางทุกมุมโลก  บทความนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอเนื้อหาการถกเถียงเหล่านั้น สำหรับผู้สนใจข้อมูลเบื้องต้นหาอ่านได้จากบันทึกการเสวนาสาธารณะในประเทศไทยของเจ้าหน้าที่องค์กร Privacy International*

หลังจากเวลาผ่านไป ๑ ปีกว่าๆ ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Citizenfour ก็ทำให้ประเด็นดังกล่าวที่เริ่มซาลงกลับมาอยู่ในพื้นที่ข่าวอีก โดยเปิดตัวในอังกฤษและอเมริกาเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาพร้อมกวาดคำชมเกรดเอ  ความพิเศษของหนังเรื่องนี้คือ มันไม่ใช่หนังสารคดีแบบที่คนทำหนังเป็นคนนอก ตรงกันข้าม ลอรา พอย-ทราส (Laura Poitras) ผู้กำกับหนังเป็นหนึ่งใน “ผู้สมรู้ร่วมคิด” ของสโนว์เดนในขั้นตอนการเปิดเผยข้อมูลลับนั้น  สโนว์เดนผู้ทำงานในองค์กร NSA ที่ฮาวาย ได้เก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเท่าที่ทำได้แล้วลาพักร้อนเดินทางไปฮ่องกงเพื่อติดต่อ เกลนน์ กรีนวาลด์ (Glenn Greenwald) และ อีเวน แมกแอสคิลล์ (Ewen MacAskill) สองนักข่าวหนังสือพิมพ์ The Guardian และนัดพอยทราสให้ไปพบที่โรงแรมบนเกาะฮ่องกง  เมื่อนั้นเขาและเธอกับนักข่าวสมทบก็ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน ๑ สัปดาห์เพื่อรับฟังข้อมูลต่างๆ จากสโนว์เดน จากนั้นจึงเริ่ม “ปาระเบิดข้อมูล” ผ่านข่าวทางเว็บไซต์สำนักข่าวต่างๆ ตลอดจนการเปิดตัวสโนว์เดนในฐานะผู้เป่านกหวีด (whistleblower) เปิดเผยความผิดพลาดของสหรัฐอเมริกา  เหตุการณ์ทั้งหมดนี้สโนว์เดนขอให้พอยทราสบันทึกเป็นสารคดีไว้ Citizenfour ก็คือส่วนหนึ่งของแผนทั้งหมดที่ได้ตระเตรียมไว้ตั้งแต่ต้น และมันก็ทำหน้าที่เสมือนการสรุปบทที่ ๑ ของเหตุการณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

จุดเด่นของ Citizenfour คือการเล่าจากมุมมองของ “วงใน” พอยทราสไม่เสียเวลาเที่ยวสัมภาษณ์คนนั้นคนนี้นัก แต่เธอเล่าหนังผ่านมุมมองที่ตนประสบ  เราจะได้เห็นสิ่งที่เธอเห็น และไม่ได้เห็นสิ่งที่เธอไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ตัวอย่างเช่นช่วงครึ่งหลังของหนังที่พอยทราสถูกตัดขาดการติดต่อกับสโนว์เดน เราก็แทบจะไม่ได้เห็นสโนว์เดนอีกเลย  ผู้กำกับหนังปลุกคนดูให้ตื่นตั้งแต่เปิดเรื่องด้วยตัวหนังสือที่กระตุ้นความสนใจและเกริ่นแนะนำตัวเองว่าเธอก็เป็นหนึ่งในคนที่ถูกรัฐจับตามองเนื่องจากทำสารคดีล่อแหลม (เธอโด่งดังจากการทำหนังสารคดีชิงออสการ์เรื่อง My Country, My Country อันว่าด้วยการเข้ายึดอิรักของกองทัพสหรัฐฯ)  จากตัวหนังสือนำไปสู่ภาพกราฟิกง่ายๆ แต่ขนลุก เริ่มจากการโต้ตอบอีเมลระหว่างพอยทราสกับสโนว์เดนผู้ใช้นามแฝงว่า “ประชาชนหมายเลข ๔” (citizenfour) ภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์มีลักษณะแปลกกว่าปรกติเพราะเป็นการสนทนาผ่านอีเมลป้องกันการสอดแนม  ภาพกราฟิกก็ทำให้เราเห็นว่าอีเมลที่เราๆ ท่านๆ ส่งกันทุกวันนั้นอาจถูกสอดแนมได้อย่างไร !

citizenfour02

สโนว์เดน และ เกลนน์ กรีนวาลด์

เหตุการณ์หลักของ Citizenfour เกิดขึ้นที่โรงแรมมิราบนเกาะฮ่องกงในเวลา ๘ วันอันเต็มไปด้วยสิ่งที่ขัดแย้งกัน (paradox) อย่างสวยงาม  ความขัดแย้งแรกคือสถานะของ “ภารกิจลับ” กล่าวคือ การที่นักข่าวหนังสือพิมพ์ พอยทราส และสโนว์เดนนัดเจอกันนั้นเป็นไปบนพื้นฐานของภารกิจลับที่รัดกุมที่สุดและต้องให้คนรู้ “ช้าที่สุด” ว่าสโนว์เดนอยู่ที่ไหน เพราะถ้ารู้เมื่อไรจะมีอันตรายถึงชีวิตทันที แต่สิ่งที่มันแย้งกันเองคือ ภารกิจลับกลับถูกบันทึกอย่าง “โจ่งแจ้ง” ผ่านกล้องถ่ายหนัง คนดูได้รับสิทธิพิเศษเห็นเหตุการณ์ต่อหน้าต่อตาในช่วงเวลาที่ทั้งโลก (ในตอนนั้น) ไม่รู้ชื่อหรือที่อยู่คนปล่อยข่าว  สิ่งที่ขัดแย้งอย่างต่อมาคือ ขณะเรื่องราวทั้งหมดในหนังเกิดขึ้นแล้ว แต่ตัวหนังเองสามารถทำให้เรื่องที่เป็นอดีตมีชีวิตขึ้นมาด้วย “ความสด” ราวกับเพิ่งเกิดต่อหน้า

ความขัดแย้งเรื่องต่อไปคือ การที่สโนว์เดนย้ำเสมอว่าไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของตน แต่อยากให้เป็นเรื่องของ “ทุกคน” ทว่าท้ายที่สุดหนังและกลวิธีของสโนว์เดนเองทำให้ประเด็นการสอดแนมนี้เป็นเรื่องของเขาเป็นหลัก  หนังเรื่องนี้จึงเหมือนการวาดภาพมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ สโนว์เดนกลายเป็นทั้งฮีโร่และอาชญากรระหว่างประเทศ  ท่ามกลางเรื่องราวที่มีประเด็นแสนเครียด ผู้กำกับยังจงใจถ่ายทอดเสน่ห์และความน่ารักของสโนว์เดน เช่น ท่าทางการหวีผม หรือการเล่นสมมุติ “ผ้าวิเศษ” คล้ายผ้าของ แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ (ลำพังหน้าตาเจ้าตัวก็คล้ายอยู่แล้ว)  ถึงจะเป็นหนังสารคดีแต่ก็ผสมผสานการจัดชุดเรื่องแต่งจนคล้ายหนังซูเปอร์ฮีโร่ จนผู้เขียนคิดว่าไม่จำเป็นต้องทำหนังเวอร์ชันฮอลลีวูดให้แก่เหตุการณ์นี้อีกต่อไป เพราะมันบันเทิงแบบหนังเล่าเรื่องในตัวเองอยู่แล้ว

สิ่งหนึ่งที่เสริมสถานะ “พระเอก” ของสโนว์เดนอย่างมากคือการนำเสนอเรื่องราวความรัก ความหนักใจที่สุดของเขาอยู่ที่คนรัก เธอเป็นนักเต้นอาศัยอยู่บ้านเดียวกับเขาที่ฮาวาย  สโนว์เดนไม่เคยบอกแฟนเลยว่าเขากำลังจะแฉความลับซึ่งอาจนำไปสู่เงื่อนไขว่าตนจะไม่ได้กลับเข้าอเมริกาอีก ทั้งแฟนสาวยังต้องถูกตำรวจไต่สวนด้วย  เรื่องความรักของสโนว์เดนในแง่หนึ่งทำให้เขาดูเป็นปุถุชนคนธรรมดา แต่มันก็ย้อนแย้งกันเองเพราะความรักก็ทำให้เขาเหมือนซูเปอร์ฮีโร่ที่ต้องเสียสละ

citizenfour03

สโนว์เดนและแฟนสาว

สโนว์เดนและแฟนสาวเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นและซับซ้อนถูกสร้างมิติเพิ่มด้วยการนำเสนอบน “พื้นที่ระดับโลก” และ “เวลา ๒๔ ชั่วโมง” โดยพูดถึงประเด็นที่สร้างผลกระทบไปทุกทวีปของโลกและเล่าผ่านพรมแดนตั้งแต่อเมริกา เยอรมนี บราซิล ฮ่องกง และรัสเซีย  ในมิติเวลาหนังก็เล่าถึงโลกที่ตื่นตลอด ๒๔ ชั่วโมง พื้นที่และเวลาลักษณะนี้ขับเน้นให้จัดจ้านด้วยรูปแบบทางภาพยนตร์ที่หยิบยืมงานภาพและการตัดต่อมาจากหนังแนวระทึกขวัญจารกรรมข้ามโลก อย่างเช่นหนังแบบ The Bourne Identity หรือ Ocean’s Eleven  ไม่น่าแปลกใจที่หนึ่งในผู้มีเครดิตเป็นผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้คือ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก (Steven Soderbergh) ผู้กำกับภาพยนตร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องหนังตระกูลดังกล่าว รวมทั้ง มาทีลด์ บอนน์ฟอย (Mathilde Bonnefoy) ผู้ตัดต่อภาพและเสียง ที่เป็นผู้สร้างจังหวะของหนังทริลเลอร์สมัยใหม่อย่าง Run Lola Run (ซึ่งเป็นต้นแบบการตัดต่อแบบอะดรีนาลีนหลั่งที่เห็นในหนังชุด Jason Borne) หนังยังเสริมความเป็นเรื่องราวของโลกด้วยภาพคลังข้อมูลของ NSA ในอาคารสถาปัตยกรรมล้ำสมัยบนพื้นที่เวิ้งว้างในหลายทวีป ภาพ เสียง และการตัดต่อเหล่านี้ได้สร้างโลกที่ทำให้หนังสารคดีและหนังจารกรรมฮอลลีวูดมาผสมผสานกัน

ในใจกลางของสารคดีที่ดูหนักแน่นเรื่องประเด็นและแม่นยำทางเทคนิค สิ่งที่ทำให้มันเหนือยิ่งขึ้นคือลักษณะเด่นของหนังสารคดีที่มีการบันทึกความบังเอิญบางอย่างซึ่งไม่มีใครคาดคิด  มีฉากหนึ่งขณะทุกคนคุยความลับกันอย่างเคร่งเครียด อยู่ดีๆ สัญญาณไฟไหม้ก็ดังทั่วโรงแรม พวกเขามองหน้ากัน หัวเราะหึหึ และเริ่มเสียวสันหลังวาบ มันเป็นสัญญาณไฟไหม้จริงๆ หรือเป็นการสอดแนมของรัฐ จุดนี้เองที่เปิดเผยอารมณ์ตลกและความตื่นเต้นซึ่งมาจากความจริงที่ว่า เราทั้งหลายอยู่ในโลกแห่งการถูกสอดส่อง (panopticon) จากรัฐได้ตลอดเวลา แต่ขณะเดียวกันกล้องของหนังก็ทำหน้าที่ตรงกันข้าม เพราะนอกจากมันจะเปิดเผยให้เห็นพื้นที่ที่สายตาของรัฐสอดส่องไปไม่ถึง ตัวกล้องเองก็ยังทำหน้าที่สอดส่องย้อนกลับ (reversed panopticon) ไปยังรัฐด้วย

เชิงอรรถ
*อ่านเพิ่มได้ที่ “NSA สอดแนมมวลชน-ดักฟังข้อมูล เกี่ยวอะไรกับเราด้วย ?” (What and Why do we need to know about NSA spying ?)
ที่ https://thainetizen.org/2014/03/nsa-talk/ อันเป็นการเสวนาที่ห้องสมุดศิลปะ The Reading Room ผู้นำเสวนาคือ แมตทิว ไรซ์ (Matthew Rice) เจ้าหน้าที่องค์กรไพรเวซีอินเทอร์เนชันแนล และสรุปเป็นภาษาไทยโดย สฤณี อาชวานันทกุล

ตัวอย่างภาพยนตร์