เรื่อง : อภิศักดิ์ บุญมาลี
ภาพ : GDH559

แฟลตเกิร์ล เราต่างชั้น (ต่าง)ชีวิต (ต่าง)กัน
flatgirl01 1

ปลุกกระแสความตื่นเต้นอีกครั้งแก่คนรักภาพยนตร์ เมื่อ “รักหนัง” จำลองพื้นที่ชั้น 5 พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ลานหน้าโรงหนังย่านกลางกรุงเนรมิตเป็นชุมชนแฟลตตำรวจ เลียนแบบฉากสำคัญในหนังมาไม่ว่าจะเป็นห้องของ “พี่แอน” และ “เจน” ที่แต่งสีจัดส่วนคนละสไตล์แบ่งกลางระหว่างห้องสะท้อนความเป็นอยู่ที่แตกต่างกำแพงสนามแบดมินตันกลางแฟลตที่ผ่านการละเลงศิลปะแบบวัยรุ่น (เขียนกำแพง) จารึกชื่อผู้เล่นไว้เป็นความทรงจำว่าครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นที่นี่ แล้วมอบกระดาษสีฟ้าชมพู มองครั้งแรกเป็นเรือพอคลี่ออกคล้ายหมวกแอร์โฮสเตสบอกให้รู้ว่าคือบัตรชมภาพยนตร์รอบพิเศษก่อนฉายจริงพร้อมกันทั่วประเทศ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568

บรรยากาศก่อนเข้าโรงภาพยนตร์สดใสด้วยการต้อนรับจากผู้กำกับ และนักแสดงนำที่ขนทัพกันมาบอกเล่าบทบาทการแสดง ความรู้สึก และประโยคเด็ดประจำตัวของแต่ละคน

“ดาราอะไรเป็นกับเค้าไม่ได้หรอกดูตูดกับหน้าซิ บวมเชียว” แม่เจน (น้ำฝน ภักดี)

“แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา” ภาพยนตร์จากค่ายจีดีเอชห้าห้าเก้า ได้แรงบันดาลใจจากชีวิตของผู้กำกับแคลร์ จิรัศยา วงษ์สุทิน ที่ปรกติจะคว่ำหวอดในวงการหนังสั้น อาทิ กลับบ้าน, เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน, และวันนั้นของเดือน คว้ารางวัลเดิมสาขาเดียวถึงสามสมัยซ้อน เป็นหนึ่งในทีมเขียนบท Homestay พ่วงด้วยผู้กำกับซีรีส์อบอุ่นหัวใจยอดฮิตอย่าง ONE YEAR 365วัน บ้านฉัน บ้านเธอ

ครั้งนี้เป็นผลงานเรื่องยาวเรื่องแรกของเธอ โดยถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตของตนผ่านภาพสถานที่ ชุมชนแสนอบอุ่นปนชุลมุน ผ่านการนำเสนอสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิงที่อยู่ในบ้านพักข้าราชการตำรวจตั้งแต่เล็กจนโต

“แม้จะย้ายออกจากแฟลตมาแล้ว มีโอกาสก็กลับไปทักทายคนในแฟลต ถือโอกาสพูดคุยกับ
คุณลุงคุณป้าที่มาอยู่ต่อ และขออนุญาตให้ใช้ห้องที่เคยแอบอิงพิงกายในการถ่ายทำ”

หลังจบกิจกรรมบนเวทีทีมผู้สร้างร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกรวมนักแสดง ผู้กำกับ และสองโปรดิวเซอร์มือทอง “เก้ง จิระ มะลิกุล และวัน วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์” จากผลงานล่าสุดอย่าง วิมานหนาม
และหลานม่าที่กวาดรายได้ทั้งในและต่างประเทศไปไม่น้อย แถมหลานม่ายังเข้ารอบ 15 หนังที่มีโอกาสชิงออสการ์เป็นประวัติศาสตร์แรกของวงการหนังไทย

หนึ่งคนอยากอยู่ตลอดไป แต่อีกคนอยากออกไปให้ไกลห่าง

ภาพยนตร์แนว Drama coming of Age เล่าความสัมพันธ์ของสองสาวในแฟลตตำรวจสนิทสนมเหมือนคลานตามกันมา เปิดฉากด้วยรอยยิ้มแบ่งปันโมเมนต์น่ารักที่ทั้งสอง “จิ้มแก้ม” “เล่นปัดขนตา”

พี่แอน (เอินเอิน-ฟาติมา เดชะวลีกุล) เด็กสาวที่ฝันใฝ่อยากเป็นแอร์โฮสเตสแต่ต้องทำหน้าที่แทนแม่ที่ติดหนี้ติดพนัน (จอยซ์-กรภัสสรณ์ รัตนเมธานนท์) จึงยังต้องรับจ้างรีดผ้าส่งลูกค้า และดูแลน้องทั้ง 3 คน ส่วนพ่อผู้เป็นเสาหลักสิ้นลมหายใจในขณะรับใช้แผ่นดิน ช่วงเวลาของการมีที่หลับนอนในแฟลตนี้นับวันยิ่งน้อยลงทุกที เธอสนิทกับเจน (แฟร์รี่ กิรณา พิพิธยากร) สาวน้อยร่วมแฟลตที่ไม่รู้จุดหมายในชีวิต

“ชีวิตนี้เจนไม่เคยรู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าชอบอะไร ต้องการอะไร”

ลูกสาวคนเดียวของบ้านฐานะร่ำรวย ลูกเจ้าแม่เงินกู้ประจำแฟลต เรียกได้ว่าอาชีพเสริมเธอคือพนักงานเก็บเงินดอกก็ได้ เสริมทัพด้วยไนซ์ (อาโป วชิรากร รักษาสุวรรณ) เด็กหนุ่มตัวแทนความหลากหลาย คอยสร้างสีสัน หยอดมุกตลกเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้หลายจังหวะ ทั้งสามสนิทกันตั้งแต่ยังเล็ก และจะกระชับมิตรภาพทุกวันหลังเลิกเรียนที่สนามแบดมินตัน แต่สัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างพี่แอนและเจนเริ่มแปรเปลี่ยนเมื่อมี “อาตอง” (บอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์) ตำรวจหนุ่มน้ำดีย้ายจากเพชรบูรณ์มาปฏิบัติงานในกรุงเทพฯ กลายเป็นหัวหน้าแก๊งเด็ก ๆ โดยปริยายที่ไม่เพียงหล่อยังใจดีอีกด้วย และการมาครั้งนี้ก็เป็นฉนวนสำคัญให้เกิดความขัดแย้งเรื่องระหว่าง “เรา” ของเด็กสาว

flatgirl04

แม้ตอนแรกหนังจะออกแนวเรื่องราวร่าเริงของเด็กผู้หญิงกับเพื่อนในแฟลตตำรวจ เสิร์ฟรอยยิ้ม และการออกผจญภัยในโลกของวัยรุ่นเจนใหม่ สนุกสนานเฮฮา ลองผิดลองถูก แต่ทว่ามองลึกลงไปในดีเทลเห็นความอัดอั้นภายในของเด็กสาววัยมัธยมปลายที่ต้องต่อสู้กับหนทางชีวิตอันยากแค้น การแบกภาระครอบครัวด้วยว่าเป็นพี่สาวคนโต คิดหนักและกังวลใจ ยากที่จะเลือกทางเดินระหว่างสิ่งที่ต้องทำกับสิ่งที่อยากทำ ผู้กำกับเลือกบรรยากาศฉากหลังกรุงเทพมหานครหลายจุดให้ความรู้สึกลึกกลืนกับความอัดอั้นตันใจของคนมากหน้าหลายตา แข่งขันกับเวลา จราจรเร่งรีบ ชีวิตที่ต้องดิ้นรน ไม่ต่างจากพี่แอนที่โดนผูกปัญหาค้างคาภาระไว้เต็มเหนี่ยวเสียคนเดียว ความอ่อนแอและท้อแท้กับการมีชีวิตอยู่ น้อยอกน้อยใจ เสียสุขภาพจิต เสียน้ำตาจนต้องร้องโฮออกมา

“แม่ให้แอนเกิดมาทำไม”

น้ำตาไหลปะสองแก้ม ตกในห้วงภวังค์เศร้า อยากจะดึงตัวพี่แอนเข้ามากอดนอกจอ แต่ดีที่มีเพื่อนอย่างเจน อยู่ข้าง ๆ เสมอไม่ว่าพบเจอกับเรื่องร้ายดี มอบรักและห่วงใยผ่านระยะขนตา (Space between us) เพลงประกอบหนังพาล่องลอยไปสัมผัสกับความอบอุ่นระหว่างหญิงสาวสองคน

“โลกที่เรานั้นจะมีความหมาย ขอแค่ฉันได้มีเธอเคียงชิดใกล้ ไม่ต้องมีระยะห่างกั้นไว้ จับมือกันแล้วบินไป จับมือกันแล้วบินไป”

flatgirl05

ท้ายที่สุด หนังเรื่องนี้เป็นกระจกส่องช่องโหว่ในสังคมที่คนคาดไม่ถึง ตีแผ่ชีวิตที่ใครหลายคนมองว่าข้าราชการจะมีชีวิตที่สุขสบาย แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้นทุกบ้านเสมอไป อีกสิ่งเห็นการบังคับลูก อ้างเพียงเป็นผู้มีพระคุณให้กำเนิด แต่อย่างน้อยหากเด็กได้มีโอกาสตัดสินใจด้วยตัวเอง มีชีวิตเป็นของตัวเอง ทำในสิ่งที่ต้องการ คงมีสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนหวัง ถือเป็นข้อคิดดี ๆ จากหนังไทยให้ลองหยุดทำอะไรที่เกินกำลัง เหนื่อยเกินไปหรือฝืนหัวใจตนเอง วางมันลงคงดีไม่น้อย ให้เวลาเป็นเครื่องกำหนด ถ้าเราเป็นตัวเองแล้วยังไม่รู้สึกดี ลองเป็นคนอื่นดูก็ได้ไม่เสียหาย เสียงปลอบเบา ๆ กระซิบข้างหู พร้อมอ้อมกอดอุ่นจากอาตอง

“ไม่ต้องเป็นพี่แอนตลอดเวลาก็ได้มันเหนื่อย”

ความพีคมาถึงขีดสุดกับตอนท้ายของเรื่องบทสรุปของผู้หญิงบนแฟลตตำรวจชาย

“ถ้าเรือมันแล่นไปเรื่อย ๆ ไม่เลี้ยวกลับคงดีเนาะ”

“เราก็แค่หลับตาตอนเรือมันเลี้ยวกลับ จะได้ไม่รู้”

ประโยคทิ้งท้ายกระชากอารมณ์คนดูขั้นสุด บทสนทนาซึ้ง ๆ บรรยากาศสงบเงียบด้านหัวเรือระหว่างพี่แอนและเจน คนดูคลอน้ำตารอ พร้อมจะหยิบทิชชูมาซับทุกช่วงนาทีต่อจากนี้ ฉากที่ทั้งคู่วิ่งจับมือกันขึ้นเรือสำราญเติมความฝันเล็ก ๆ ที่เคยมองดูห่าง ๆ อย่างไร้เดียงสาริมน้ำเจ้าพระยาทุกครั้ง วันนี้ตัดสินใจขึ้นไปชมความงดงามบนนั้น ชีวิตเราก็ไม่แน่ไม่นอน หลังจากนี้จะเกิดอะไรก็ให้มันเกิด สัมผัสรสชาติชีวิตของพวกเขาด้วยตนเองได้แล้วที่โรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ

flatgirl06