ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงานและถ่ายภาพ

craneรายงานการพบนกกระเรียนพันธุ์ไทยในธรรมชาติครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๑ คราวนั้น “นกกระเรียนตัวสุดท้าย” พบที่จังหวัดสุรินทร์บริเวณชายแดนประเทศกัมพูชา เมื่อนำไปเลี้ยงที่สวนรุกขชาติช่อแฮ จังหวัดแพร่ ก็มีชีวิตอยู่ต่ออีก ๑๖ ปี และตายเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๗

รายงานอื่น ๆ ที่กล่าวถึงการพบนกกระเรียนกลุ่มท้าย ๆ เช่น ปี ๒๕๐๗ พบสี่ตัวที่วัดไผ่ล้อม จังหวัดปทุมธานี หรือเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๒๘ พบกระเรียนสี่ตัวออกหากินในทุ่งนาอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

หลังจากนั้นภาพนกกระเรียนอันสง่างามราวจุติจากสรวงสวรรค์ก็ลับหายไปจากท้องทุ่งไทย ทุกวันนี้ประชากรกระเรียนพันธุ์ไทยคงเหลืออยู่แต่ในสถานเพาะเลี้ยงของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมทั้งจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อ ๑ ใน ๑๕ ชนิดสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕

 

ปี ๒๕๕๗ ณ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อขับรถตามถนนรอบอ่างเก็บน้ำบางพระถึงช่วงกิโลเมตรที่ ๑๖ จะพบที่ตั้งสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ ด้านในมีนกกระเรียนจำนวนหนึ่งอยู่ในกรงเลี้ยง ทั้งหมดคือพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ของนกกระเรียนพันธุ์ไทย

ทรงกลด ภู่ทอง หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ ซึ่งประจำการที่นี่มา ๒๘ ปี เล่าว่า หลังมีรายงานพบนกกระเรียนตัวสุดท้ายเมื่อปี ๒๕๒๗ อีก ๒ ปีต่อมาคือปี ๒๕๒๙ ที่นี่ก็ตั้งโครงการอนุรักษ์และขยายพันธุ์นกกระเรียน ปีงบประมาณ ๒๕๓๕ ตั้งเป็นสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำ เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์นกกระเรียนในกรงเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์และส่งคืนสู่ธรรมชาติ

“เริ่มแรกเราได้รับนกกระเรียนจากมูลนิธินกกระเรียนสากล สหรัฐอเมริกา ต่อมาทราบว่าทั้งสามคู่ไม่ใช่สายพันธุ์ไทย หลังจากนั้นจึงได้รับนกกระเรียนพันธุ์ไทยส่วนหนึ่งจากสวนสัตว์เอกชน อีกส่วนชาวบ้านส่งมอบคืนตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองฯ”

หัวหน้าทรงกลดกล่าวต่อถึงลักษณะเด่นของนกกระเรียนพันธุ์ไทยซึ่งไม่ใช่นกอพยพ มีสีเทาทั้งตัว มีสีแดงที่หัวและบริเวณคอด้านบน

“นกกระเรียนคล้ายนกเงือกเรื่องจับคู่ครั้งเดียวตลอดชีวิต แต่การจำแนกกระเรียนเพศผู้กับเพศเมียทำได้ยาก สีลำตัวนกเงือกเพศผู้กับเพศเมียนั้นต่างกัน ขณะนกน้ำเราแทบบอกไม่ได้เลยว่าคือตัวไหนมองดูภายนอกเหมือนกันหมด ฉะนั้นการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์จึงต้องอาศัยองค์ความรู้ ช่วงแรกลองผิดลองถูก จะแยกเพศได้ต้องศึกษาพฤติกรรม นกกระเรียนแต่ละตัวจะเก็บซ่อนพฤติกรรมก้าวร้าว เราต้องค่อย ๆ ประเมิน ทั้งเสียงร้อง การเกี้ยวพาราสี หรือแม้แต่การเต้นรำ เมื่อนำมาจับคู่กันบางคู่กว่าจะผสมพันธุ์ใช้เวลามากกว่า ๑ ปี”

โดยธรรมชาตินกกระเรียนชอบอาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่ม ป่าพรุ หรือแหล่งน้ำที่มีพรรณไม้ หาอาหารตามแหล่งน้ำจืด พื้นที่เกษตรกรรม ทุ่งหญ้า และป่าโปร่ง เจ้าหน้าที่จึงต้องจัดกรงเลี้ยงให้มีลักษณะคล้ายธรรมชาติ ขนาดกรงกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๖ เมตร สูง ๓ เมตร ภายในแบ่งเป็นส่วนที่อยู่ในร่ม กันแดด กันฝน และหลบภัย กับส่วนที่อยู่กลางแจ้งสำหรับทำกิจกรรมของนก มีอ่างน้ำกินเนื้อที่ประมาณหนึ่งในสาม พื้นกรงมีทั้งส่วนที่เป็นหญ้าและทราย

เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเป็นใจเอื้อให้นกกระเรียนจับคู่ผสมพันธุ์ หลังแม่นกออกไข่ สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระมีการอนุบาลลูกนกสองวิธี คือ

หนึ่ง ไม่แยกลูกนกออกจากรัง ให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์เลี้ยงลูกด้วยตัวเอง เจ้าหน้าที่เพียงสังเกตพฤติกรรมอยู่หลังซุ้มบังไพร รวบรวมข้อมูลเพื่อศึกษาวิธีเลี้ยงลูกนก ซึ่งพบว่าถ้าบริเวณที่อยู่นั้นเกิดขาดแคลนอาหาร ลูกนกจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวและต่อสู้กัน ลูกนกที่อ่อนแออาจถูกจิกจนตาย

สอง นำไข่มาฟักในตู้ฟักด้วยอุณหภูมิประมาณ ๓๗ องศาเซลเซียส เมื่อลูกนกฟักออกจากไข่ เจ้าหน้าที่จะใช้หุ่นมือรูปหัวนกกระเรียนป้อนอาหารโดยไม่ให้ลูกนกเห็นตัวผู้ป้อน เพื่อไม่ให้นกเกิดฝังใจคิดว่ามนุษย์เป็นพ่อแม่ อาหารสำหรับลูกนก คือ ปลาตัวเล็ก หนอน น้ำผสมวิตามิน หลังกินอาหารนำลูกนกออกฝึกเดิน ๑-๒ ชั่วโมง ครบกำหนดก็กลับเข้ากรงอนุบาล ลูกนกจะเริ่มมีขนขึ้นตามหัวไหล่ จากนั้นจึงมีขนปีก เมื่ออายุ ๖ เดือนก็แข็งแรงพอจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

หัวหน้าทรงกลดเล่าว่า “เมื่อพร้อมปล่อยนกกระเรียน เราจะย้ายนกมาไว้ในกรงชั่วคราวที่สร้างขึ้นภายในพื้นที่ที่จะปล่อย ขนาดกรงใหญ่ ๘๐x๕๐ เมตร เพื่อให้นกปรับตัว ผู้เลี้ยงต้องสวมชุดคลุมหุ่นนกและสอนวิธีหากิน พาลูกนกไปยังแหล่งอาหาร แล้วพากลับมานอนเวลากลางคืน ในกรงมีบ่อน้ำให้นกเรียนรู้วิธีนอนในน้ำเพื่อลดความเสี่ยง เรียนรู้การป้องกันตัวจากสัตว์ผู้ล่า เจ้าหน้าที่ต้องฝึกให้นกคุ้นเคยและปรับตัวกับสภาพแวดล้อมเร็วที่สุด”

เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมจึงปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยสายเลือดใหม่คืนสู่ธรรมชาติ

 

นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ที่นกกระเรียนพันธุ์ไทยในกรงเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์ แต่ไข่นกกลับไม่มีเชื้อ ปีต่อมาก็เช่นกัน กระทั่งปี ๒๕๔๒ จึงได้ลูกนกกระเรียนตัวแรกและตามมาอีกหลายตัว ช่วงปีที่ไม่ได้ลูกนกนั้นแม่พันธุ์ออกไข่เกือบทุกปี แต่ไข่ไม่มีเชื้อ หรือมีสัตว์เลื้อยคลานแอบมากินไข่นก

ลูกนกที่ฟักจากไข่ส่วนหนึ่งเจ้าหน้าที่เลี้ยงไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ อีกส่วนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๕ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน จังหวัดฉะเชิงเทรา เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระดำเนินการติดตามและเฝ้าระวังภัยให้นกกระเรียนจำนวนหนึ่ง พบว่าหลังปล่อยนก ๒-๓ เดือน นกคืนรังมีอัตราการรอดชีวิตในธรรมชาติครบทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จากการเฝ้าสังเกตโดยตรงและค้นหาซาก สอบถามเจ้าหน้าที่และประชาชนที่พบเห็น ไม่พบซากนกกระเรียนในระยะ ๑-๕ กิโลเมตร ถือว่านกสามารถปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่ได้ตามธรรมชาติ

หัวหน้าทรงกลดในฐานะผู้นำเจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ ให้เหตุผลถึงความสำคัญของการปล่อยให้นกกระเรียนสูญพันธุ์ไม่ได้ว่า

“สัตว์ทุกตัวมีความสัมพันธ์กับระบบนิเวศ นกกระเรียนเป็นตัวควบคุมปริมาณสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เช่น สัตว์ตัวเล็ก ๆ หรือพืชน้ำ สิ่งเหล่านี้ถ้ามีมากเกินไปจะทำให้ระบบนิเวศเสีย นกกระเรียนเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ความสะอาดของแหล่งน้ำซึ่งถ้าเสื่อมโทรม ไม่มีพืชน้ำ นกก็อยู่ไม่ได้ ต้องอพยพ นกกระเรียนจึงเป็นปัจจัยช่วยให้ระบบนิเวศดำเนินไปตามวิถีธรรมชาติ เราขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ ในอนาคตถ้ามีนกกระเรียนเยอะ มีปลาน้อย กระเรียนก็อาจสูญพันธุ์ไปในวงรอบของมัน เหมือนสัตว์ผู้ล่ากับสัตว์ที่เป็นเหยื่อ ฉันใดก็ฉันนั้นเอง”

การเพาะพันธุ์และเลี้ยงดูนกกระเรียนที่ครั้งหนึ่งหายไปจากธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องที่จะประสบความสำเร็จโดยง่าย ต้องอาศัยความตั้งใจ สั่งสมประสบการณ์ การติดตามความสำเร็จของการปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ธรรมชาติไม่ใช่วิธีการที่ง่ายนัก เพราะนกชนิดนี้มีพื้นที่หากินค่อนข้างกว้างและไม่จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศไทย

สิ่งที่เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระเพียรทำมานาน ก็เพื่อให้นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ครั้งหนึ่งเคยพบในธรรมชาติจำนวนมากกลับคืนมาอีกครั้ง

ขอขอบคุณ
ทรงกลด ภู่ทอง หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยง
นกน้ำบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด อนุเคราะห์การลงพื้นที่