งานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 9
เรื่อง : ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ภาพ : ประกิต หลักบุญ

ราชบุรี...ศิลปะสั้นบนหนังคนละม้วน

จังหวัดราชบุรี เมืองที่ร่ำรวยด้วยศิลปะวัฒธรรม วีถีชีวิตอันสงบและเรียบง่ายของผู้คน ทั้งชุมชนไทย มอญ กะเหรี่ยง จีน หลากหลายเชื้อชาติผสมผสานกันและถูกสะท้อนผ่านวัฒนธรรมและศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ทั้งทางสถาปัตยกรรม งานแสดงและงานปั้นอย่างโอ่งมังกรเลื่องชื่อ

rajburi02

คุณวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์หรือติ้ว ผู้ก่อตั้งหอศิลป์ดีคุ้น เป็นทายาทรุ่นที่สามของเถ้า ฮง ไถ่ โรงงานเซรามิคชื่อดังในจังหวัดราชบุรี ผู้ริเริ่มขับเคลื่อนแนวคิดศิลปะร่วมสมัยในจังหวัดราชบุรี จากการที่อยากทำให้กับบ้านเกิดของตัวเองมีสีสัน โดยผ่านงานศิลปะซึ่งเป็นสิ่งที่ตนเองสนถนัดและคิดว่าศิลปะก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญของชุมชน

ภาพยนตร์สั้น ราชบุรี…ศิลปะสั้นบนหนังคนละม้วน กล้องพร้อม 5 4 3 2 แอ็กชัน

กล้องสีดำตั้งโดดเดี่ยวจากตรงกลางสะพานจุฬาลงกรณ์ ภาพที่เห็นผ่านหน้าเฟรมสี่เหลี่ยมขนาดไม่กี่นิ้วในต้นเดือนพฤษภาคม ปี 2556 คือความไม่สิ้นสุดของแม่น้ำแม่กลองสายยาว ตึกรามบ้านช่อง ผู้คนที่ไม่ต่างอะไรกับจุดเล็กๆ สีดำและผนังเขื่อนลาดเอียงที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผนังเขื่อนอีกต่อไป แต่แปรสภาพเป็นภาพวาดหลากสีและกราฟฟิติที่อาจจะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้ หอนาฬิกาตรงขอบภาพด้านซ้ายบอกเวลาสายแล้ว แต่บรรยากาศสงัดนิ่งราวกับเมืองยังไม่ตื่นดี

มองจากตรงนี้ เมืองราชบุรีเป็นเมืองที่รวยความสงบและมีความเรียบง่ายลอยปะปนกับออกซิเจนในอากาศ ภาพวาดบนผนังเขื่อนพูดไม่ได้แต่สื่อสารได้ชัดเจนว่าเมืองเริ่มจะมีคำว่าศิลปะเดินนำหน้าเอกลักษณ์ด้านอื่น ภาพข้างหน้าดูสวยงาม แต่ทั้งหมดนี้เราล้วนเป็นคนนอกที่มองศิลปะด้วยตาเปล่าทั้งสิ้น

หากลองกรอม้วนฟิล์มไปจนสุดระยะแล้วเริ่มเปิดฉายใหม่ ราชบุรีในช่วงเวลาที่ยังเป็นภาพขาวดำก็ยังมีความสงบแทรกตัวอยู่ในเนื้อหาเมืองมาตั้งแต่ยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การเป็นหัวเมืองชั้นในที่มีที่ราบหุบเขาและแม่น้ำสายเล็กสายน้อยทำให้มีชนกลุ่มน้อยอพยพเข้ามาอยู่และผสมกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตของราชบุรี ชาวกะเหรี่ยง มอญ ลาวเวียง ลาวโซ่งหรือแม้กระทั่งชาวจีนแวะเวียนเปลี่ยนผ่านเข้ามาจนความหลากหลายทางชาติพันธุ์ผสานเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง

แต่ความสงบนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องเงียบแบบไร้เสียงพูดจา เพราะการขยายตัวทางการค้าที่เฟื่องฟูหลังจากมีการขุดคลองดำเนินสะดวกทำให้ประตูเมืองเริ่มเปิดรับคนนอกเข้ามาทำมาค้าขายมากขึ้น ประวัติศาสตร์ที่มีความละเอียดของภาพไม่เกินทีวีจอ 14 นิ้วฉายภาพวิถีชีวิตที่ดำเนินไปตามลักษณะภูมิประเทศของเมืองอย่างไม่กระโตกกระตาก ใครถนัดเป็นชาวไร่ ชาวสวนก็ดำเนินตามวิถีเกษตรกรรม ผู้คนที่เริ่มปรับตัวกับการเป็นสังคมเมืองได้แล้วก็ไปเป็นข้าราชการ หรือชาวจีนที่มีเลือดพ่อค้าอยู่ในตัวก็ลงมือประกอบการค้าจนทำให้ราชบุรีกลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าส่งออกพวกอุตสาหกรรมเผาปูน หรือการปลูกอ้อยแดง ประวัติศาสตร์ของกิจการค้าขายไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ตลาดน้ำ ตลาดบกยังคงเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ชักชวนคนต่างแดนให้มาสัมผัส แต่ชาวราชบุรีส่วนใหญ่ในปี 2556 เห็นพ้องต้องกันว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ก็คงจะเป็นแนวคิดและจิตศิลป์ของคนในท้องถิ่นที่ตีความคำว่า “ศิลปะ” ในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป

rajburi03

หอศิลป์ดีคุ้น หอศิลปะร่วมสมัยที่ดัดแปลงมาจากบ้านไม้หลังเก่า ที่พ่อของคุณวศินบุรี ได้เข้าไปประมูลซื้อบ้านหลังนี้ไว้เมื่อ 3 ปีก่อน จนปัจุบันได้กลายเป็นที่จัดแสดงงานศิลปะ โรงเรียนสอนศิลปะให้กับผู้ที่สนใจในชุมชน และเป็นสถานที่สำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ

rajburi04

นิทรรศการเด็กฝึกหัตถ์จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 จากผลงานของเด็กๆนักศึกษาฝึกงานโดยจัดแสดงในโรงงานเถ้าฮงไถ่ ผลงานทุกชิ้นที่สร้างขึ้นเปิดขายให้กับผู้ที่สนใจ รายได้ทั้งหมดจะเป็นทุนในการสร้างสรรค์ผลงานครั้งต่อไป

Scene 1 “ภาพมันทำให้เมืองราชบุรีของเรามีสีสัน” กล้องพร้อม 5 4 3 2 แอ็กชัน

ถ้าเมืองราชบุรีพูดได้ เขาหรือเธอก็คงจะเลือกที่จะเก็บงำถ้อยคำไว้ในใจ แต่น่าแปลกที่ความคลาสสิคในตัวเมืองทำให้บุคลิกนิ่งๆ ดูมีมาดขึ้นมาโดยที่ไม่ต้องทำอะไรมาก เมืองเก็บคำพูดเหมาะสมกับนิยาม “ยังไม่ได้เล่า ก็มีเรื่อง” เพราะความขรึมไม่พูดไม่จานั้นตัดกับสิ่งที่ตัวเมืองมีผลงานศิลปะทาบทับอยู่ทั่วตัวเมืองไม่ว่าจะเป็นหลังคาเรือข้ามฝาก แนวเขื่อน ตอม่อสะพาน ร้านโชห่วย หรือแม้กระทั่งบนรถทัวร์

คนท้องถิ่นและเยาวชนบางกลุ่มที่มีส่วนร่วมในการผลิตงานสร้างสรรค์ต่างตื่นเต้นกับคำเก่าในประสบการณ์ใหม่ ในวันที่ท้องฟ้าเมืองราชบุรีเป็นวอลเปเปอร์ผืนใหญ่ที่สอดรับกันได้ดีกับงานศิลปะตามซอกซอย

อีกเมืองหนึ่งในเกาะไกลโพ้นที่ดูเหมือนจะเป็นเมืองพูดน้อย แต่ต่อยหนักในการมีศิลปะแทรกอยู่ตามพื้นที่เหมือนกัน คือ เมืองนะโอชิมะที่ตั้งอยู่แถบทะเลเซโตะ-ไนไก ประเทศญี่ปุ่น เมืองบนเกาะเล็กๆ ที่แต่ก่อนร้างและเกือบจะเป็นเมืองที่ถูกทอดทิ้งเพราะอยู่ห่างไกลความเจริญ คนหนุ่มสาวเลยหลบหนีเข้าเมืองใหญ่ไปจนหมด

ตอนนี้นะโอะชิมะเริ่มมีปากมีเสียงเพราะมีประติมากรรมฟักทองสีเหลืองลวดลายจัดจ้านตั้งอวดความใหญ่อยู่กลางท่าเรือ ดึงดูดนักท่องเที่ยวเกือบ 4 แสนคนในปี 2555 ซึ่งฟักทองลูกนี้ก็คือผลงานประติมากรรมของยาโยย คุซะมะ ศิลปินหญิงแนวป๊อป-อาร์ตชื่อดังของญี่ปุ่น ซึ่งแนวป๊อป-อาร์ตที่ว่านี้เป็นลักษณะศิลปะที่สะท้อนสภาพความเป็นจริงในสังคมปัจจุบันตามความเข้าใจของคนทั่วไป และมันหลอมรวมได้ดีกับการสร้างเมืองนะโอชิมะให้อยู่บนหลักฐานของการท่องเที่ยวสีขาว คือการฟื้นฟูเมืองที่หลบตัวอยู่ในมุมมืดของแดนปลาดิบให้มีสายใยสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและผู้เยี่ยมชมโดยใช้ศิลปะและธรรมชาติเป็นสื่อกลาง

นะโอะชิมะกับราชบุรีเป็นฝาแฝดกันทางความคิด เพราะดูเหมือนปรากฏการณ์ทางศิลปะที่เกิดขึ้นจะใช้แม่พิมพ์ศิลป์แบบเดียวกัน

หากลองยืนอยู่บนทางเท้าริมเขื่อนแม่น้ำแม่กลอง เมืองราชบุรี แล้วแพนกล้องตั้งแต่ภาพกราฟฟิติภาพแรก ศิลปะจะพูดแทนเมืองได้เป็นอย่างดี

เดินบ้างหยุดบ้างแล้วมองผ่านเลนส์ไปเรื่อยๆ จนถึงภาพสุดท้ายจะรับรู้ถึงความหมายโดยตรงและโดยอ้อมที่เร้นแฝงอยู่ในศิลปะขนาดใหญ่กว่าตัวมนุษย์ 3 เท่า เช่น ภาพของกลุ่มกราฟฟิติเมืองราชบุรี Jartown กลุ่มศิลปินที่คุ้นเคยกับการหันหน้าเข้ากำแพงแล้วพ่นสีถ่ายทอดแนวคิดในการมองสังคม และสร้างสรรค์งานศิลปะในเมืองราชบุรีมาตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว ผ่านการแอบพ่นกำแพงในเวลากลางคืน และจัดนิทรรศการศิลปะของตัวเองจนเป็น Jartown ที่ปั้นแล้วอยู่ตัว

อักษรตัวหนาที่เขียนว่า Jartown บนผนังเขื่อนเป็นสีขาวดำที่มีสีสันของความตรงไปตรงมา เป็นตัวเอง และตีความไปได้ไกลถึงความเป็นกลุ่มเป็นก้อนของกลุ่มศิลปะเฉพาะทางในเมืองราชบุรี

ศิลปะแคนวาสบนผนังเขื่อนที่ยาวเป็นกิโลเมตรนั้นเป็นผลงานของศิลปินทั้งภายในและภายนอกร่วม 30 คน ทั้งศิลปินจากหอศิลป์ d kunst, ศิลปินอิสระ และศิลปินรับเชิญอย่าง ธนชัย อุชชินหรือป๊อด โมเดริ์นด็อก, เมธี น้อยจินดา, นพรัตน์ ชัยวงศ์ หรือศิลปิน OCAC (Open-Contemporary Art Center) กลุ่มศิลปินที่อุทิศให้ศิลปะแบบเชื่อมโยง เช่น การเผยแพร่ศิลปะร่วมสมัย จากประเทศไต้หวัน

ภาพศิลปะเหล่านี้ติดตาเพราะเกิดงานติดศิลป์บนราชบุรีที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ในวันที่ 23 มีนาคม ปี 2556 โดยมีวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง มองในมุมศิลปะ เขาเป็นศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาออกแบบในปี 2553 และเรียนจบด้านศิลปะมาจากประเทศเยอรมัน แต่หากมองว่าทำไมเขาถึงเป็นมนุษย์ศิลปะ สาเหตุหนึ่งอาจจะมาจากการเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงโอ่งมังกรเถ้า ฮง ไถ่อันเลื่องชื่อของเมืองราชบุรี คลุกคลีกับการปั้นดิน การขึ้นรูปดินเผา และการขึ้นรูปความคิดมาตั้งแต่เล็กจนโต

ตั้งกล้องเลียบแม่น้ำแม่กลอง บนถนนสฤษดิ์เดช หน้าหอศิลป์ d kunst แล้วย้อนเวลาไปในเดือนมีนาคม 2556 นิทรรศการติดศิลป์บนราชบุรีครั้งที่ 2 คือการแสดงผลงานศิลปะแบบ street art ที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “คนคือเมือง เมืองคือคน” หรือ We are the city ความเป็นชุมชนเล็กๆ ของเมืองราชบุรีถูกผูกโยงเข้ากับศิลปะ และร้อยเรียงเข้าด้วยกันผ่านภาพวาดของศิลปิน ดนตรี กราฟฟิติ หรือการจัดฉายหนังสั้น

แม้คนนอกจะมองว่ามันเป็นนิทรรศการศิลปะที่ดูร่วมสมัยและสามารถเป็นตัวชูโรงให้กับเมืองได้อย่างสวยงาม แต่หัวใจสำคัญของปรากฏการณ์นี้คือการใช้ศิลปะเป็นกระจกสะท้อนราชบุรีและคนพื้นที่เองสร้างปฏิสัมพันธ์ เป็นแม่เหล็กอาร์ตที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สนใจการผสานศิลปะเข้ากับตัวเมืองมาพูดคุยกับชาวบ้านที่ไม่เข้าใจศิลปะแต่เข้าใจในบ้านเมืองของตนเอง รวมถึงปูฐานคลื่นศิลปะรูปแบบอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกหลายระลอก ซึ่งการปูฐานนี้เป็นสิ่งที่วศินบุรีมองว่าเป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัยการทำอย่างต่อเนื่อง และงานติดศิลป์บนจะต้องเกิดขึ้นในทุกๆ ปี

ความต่อเนื่องของนิทรรศการศิลปะเป็นสิ่งที่กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการพัฒนาการออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) มองว่าสิ่งที่จะทำให้การสร้างเมืองศิลปะยั่งยืนได้นั้นต้องอาศัยผู้นำที่เข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นนายกเทศมนตรี ผู้นำชุมชนหรือผู้นำทางความคิด เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นคนที่ชุมชนรับฟัง และเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้ความเป็นศิลปะของเมืองราชบุรีขับเคลื่อนไปได้อย่างมั่นคง

“ภาพมันทำให้เมืองราชบุรีของเรามีสีสัน ช่วงงานนิทรรศการมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะเลย เมืองก็ครึกครื้น สนุกสนาน ตื่นเต้นกันใหญ่ ไม่อย่างนั้นมันเงียบสงบ เหงาเกินไป มีงานแบบนี้มันก็ดีนะ ช่วยเพิ่มสีสันให้คนแก่” ความเห็นเคล้าเสียงหัวเราะจากป้าหม่อง อุบล บัวพุ่มไทย เจ้าของร้านเสริมสวยใกล้ๆ กับหอศิลป์ d kunst ช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับนิทรรศการที่เกิดขึ้น

“เราได้ทำงานศิลปะ ก็ทำให้คนแก่มีชีวิตชีวา แม้ว่ารูปนั้นจะไม่สวยก็ช่างมัน”

ความตื่นเต้นฉายลอดกรอบแว่นทรงสี่เหลี่ยมเพราะจับกรรไกรตัดผมมากกว่าจับพู่กันมาเกือบครึ่งชีวิต รอยยิ้มบนใบหน้ากับทรงผมบ๊อบในแบบฉบับเจ้าของร้านเสริมสวยให้ความรู้สึกอิ่มเอมคล้ายกับรูปภาพเหมือนที่แขวนติดผนังร้าน

การสนทนาทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน รอยยิ้มและความภูมิใจในความเป็นเมืองราชบุรี ผ่านพบและผันผ่าน ถ้าตัดสลับภาพตัวแทนของคนรู้และรู้ไม่ทันศิลปะจะเห็นว่าองค์ประกอบภาพชัดเจนทุกโทนสีและโทนเสียง เสียงถกเถียง เสียงหัวเราะและความสนุกสนานในช่วงงานนิทรรศการ

แต่มันอาจจะค่อยๆ จางลงเรื่อยๆ แล้วโฟกัสภาพจึงเบลอไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อนิทรรศการจบลง ท้ายที่สุดแล้วงานติดศิลป์ก็ยังติดใจ และสร้างเครื่องหมายคำถามให้กับคนในเมืองว่าปรากฏการณ์ทางศิลปะนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และเมืองราชบุรีจะถูกลงสีไปเป็นรูปภาพแบบไหนในอนาคต

“ ผมว่ามันทำให้เราสังเกตมากขึ้น ปกติผมมานั่งพักแถวนี้ก็ชอบมานั่งดูรูป มันสวยนะ ถ้าผมมีเวลาว่างผมก็ชอบวาด แต่ผมต้องทำงานตลอด นี่ได้พักเดี๋ยวเดียวก็ต้องไปขับรถอีกแล้ว แต่คุณลองดูดีๆ สิ ภาพพวกนี้มันมีความหมายนะ”

คนขับรถของคิวรถเมล์สวนผึ้งนั่งอยู่บนรั้วเหล็กริมเขื่อนแม่น้ำแม่กลอง เหนือภาพวาดงานติดศิลป์บนครั้งที่ 2 สายตาที่ทอดยาวส่งสัญญาณอิดโรยจากการจับพวงมาลัยติดต่อกันหลายชั่วโมง เขาเป็นคนผิวคล้ำ ดวงตาเศร้าเพราะเคยผ่านประสบการณ์ชีวิตในกรงขัง แต่พอเอ่ยถึงเรื่องราวศิลปะในเมือง ชายหนุ่มกลับมีความเพลิดเพลินใจอย่างน่าประหลาด

กล้องตัวเดิมที่ใช้ถ่ายเมืองมีตาแต่ไม่มีปาก เมืองที่ถูกถ่ายก็พูดไม่ได้ แต่ภาพมุมกว้างที่ถ่ายมาฟ้องว่าเมืองที่ดูเหมือนจะปกตินั้น ‘ไม่ปกติ’ ไม่ว่าชาวเมืองโอ่งมังกรที่ใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในบ้าน ร้านค้า หรือริมถนนหนทางจะรู้ตัวหรือไม่

นิทรรศการความไม่ปกติในรูปแบบของปกติศิลป์ (Art Normal) เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2554- 19 กุมภาพันธ์ 2555 เพื่อตอกย้ำแนวคิดเมืองคือคน คนคือเมือง หรือทุกบ้านเป็นแกลเลอรี่ ทุกที่กลายเป็นหอศิลป์ ว่าด้วยเรื่องของสัมพันธภาพระหว่างความงดงามของ “ศิลปะ – ชุมชน – ผู้ชม – สถานที่ที่มีตัวตนอยู่จริง” ที่วศินบุรีเป็นคนเดินเข้าตามตรอกออกตามประตูของบ้านทุกหลัง แล้วขออนุญาตว่าจะขอพื้นที่ในบ้านจัดแสดงงาน นับได้ทั้งหมด 75 พื้นที่รอบตัวเมืองราชบุรี บวกกับศิลปินอีก 86 ชีวิต

งานนี้ไม่ใช่งาน conceptual art ที่หมายถึงศิลปะที่ให้ความสำคัญกับความคิดมากกว่าความงามหรือวัสดุที่ใช้ ปกติศิลป์ไม่ได้นำตัวชุมชนมาสร้างเป็นผลงานศิลปะ แต่ภาพถ่าย หนังสั้น ประติมากรรม ภาพวาด หรือกราฟฟิติเป็นงานที่เกิดขึ้นจากชาวบ้านที่ได้ยินคำว่าศิลปะผ่านหูแต่ไม่เคยลงแรงผ่านมือ

คนทำงานศิลปะรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ที่ยังไม่มีพื้นที่จัดวางงานของตนเองก็มีโอกาสได้ทำตัวปกติ และแสดงงานแบบปกติไปกับเขาด้วย การผสมผสานศิลปะให้เข้ากับวิถีชีวิตทุกวันทำให้ร้านขายข้าวหมูแดงนายกี่บนถนนไกรเพชรมีรูปรถขายหมูแดงฝีมือเจ้าของร้านแขวนอยู่บนผนัง บทสนทนาในร้านเสริมสวยป้าหม่องบนถนนสฤษดิ์เดชก็เปลี่ยนไปเมื่อมีรูปวาดฝีมือเจ้าของกรรไกรแขวนสะท้อนกระจก

“จะทำอย่างไรในเมื่อบ้านเราไม่มีวัฒนธรรมการเข้าพิพิธภัณฑ์ และการสร้างหอศิลป์ก็ดูจะเป็นสิ่งที่ต้องลงทุนสูง ดังนั้นแทนที่เราจะมัวแต่เป็นฝ่ายนั่งรอการสนับสนุนจากภาครัฐ เราก็เลือกที่จะทำโครงการเล็กๆ ที่พอจะทำเองได้ด้วยการเดินเข้าไปหาชุมชน และหยิบยกสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ซับซ้อนวุ่นวาย อย่างเรื่องของการจัดวางข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน และเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่น่าสนใจ มีความงามในเรื่องของงานดีไซน์ และเข้าข่ายว่าเป็น “ศิลปะ” มาจัดแสดงในสถานที่ของชาวบ้านจริง ซึ่งพวกเขาอาจจะไม่เคยรู้ตัวเลยว่าตัวเองใกล้ชิดและอยู่กับศิลปะในชีวิตประจำวันพวกนี้มาตลอดชีวิต นิทรรศการครั้งนี้จะทำให้พวกเขารู้ตัวว่าชีวิตประจำวันของเขา สิ่งที่เขาอยู่ และสิ่งที่เขาเป็น นี่แหละ คือเรื่องของศิลปะทั้งสิ้น” เจ้าของความคิดที่ไม่ค่อยจะปกติและใครๆ ก็มักจะเรียกเขาว่า “อาจารย์ติ้ว” ว่าไว้อย่างนั้นในสูจิบัตรงานปกติศิลป์

กล้องเคลื่อนออกจากหอศิลป์ d kunst แล้วเก็บภาพตามจุดต่างๆ ตามแผนที่ปกติศิลป์ ที่มีการจัดแบ่งโซน a b c d เอาไว้ให้นักท่องเที่ยวรู้ว่าบ้านไหน ร้านค้าไหนบ้างที่จัดงานแสดง แล้วเดินตาม”ลายแทงแบบอาร์ตๆ”ไปแวะพูดคุยกับเจ้าของผลงานรอบเมือง

“ศิลปะนี่ไม่ได้ทำกันง่ายๆ นะ ลุงไม่รู้ศิลปะ วาดก็ไม่เป็น แต่พอหลังๆ มีงานนิทรรศการก็เลยลองวาดดู ตอนแรกไม่เอาเลย คิดว่าเราทำไม่ได้หรอก แต่มาวันหนึ่งเห็นรถเข็นที่มีหมูแดงแขวนอยู่ เลยลองวาดๆ ดู มันก็วาดได้ พอวาดได้ เราก็ภูมิใจ ”

ลุงศักดิ์ชัย วงศ์มณีประทีป เจ้าของร้านข้าวหมูแดง 100 ปีเป็นตัวแทนของบ้านในโซน d ถนนไกรเพชรที่บอกเล่าควันหลงหลังจากนิทรรศการอย่างครื้นเครง เขาสับหมูพลางเอ่ยถึงความประทัปใจในผลงานอะคริลิคข้างฝาผนังเคล้าไปกับเสียงโทรทัศน์

“ทุกวันนี้ลุงตัดผมก็เหมือนทำงานศิลปะนั่นแหละ ต้องละเอียดนะ พอมีงานจัดแสดงก็มีคนเข้ามาเยี่ยมเยียนมากขึ้น ศิลปะมันดึงดูดเราเข้าหากัน เมื่อก่อนเขาไม่เคยทัก เดี๋ยวนี้ก็มาทักลุงว่า โอย ดังใหญ่แล้ว”

ลุงสงคราม บุตรวงษ์ ตัวแทนจากโซน a ถนนเขางู เจ้าของร้านสำราญเกษาเป็นหนึ่งในบ้านที่จัดแสดงงานปกติศิลป์ เขาหยิบกล้องฟิล์มตัวเก่งออกมาอวดกล้อง และเปิดอัลบั้มรูปที่เคยถ่ายและเรียนรู้เทคนิคในสมัยยังหนุ่มแน่นให้ดูด้วยประกายตาตื่นเต้น

ไม่ว่าจะเปลี่ยนมุมกล้องสักกี่มุม ถ้ากรอบภาพยังเจาะแคบอยู่ในช่องสี่เหลี่ยมของคำว่านิทรรศการศิลปะ ตามถ่ายปกติศิลป์สักกี่บ้าน สัมภาษณ์ศิลปินสักกี่คน ผู้ชมก็จะพบแต่ความสวยงามและความละมุนละไมของคำว่าราชบุรี…เมืองศิลปะ เพราะบุคคลเหล่านี้ล้วนเกี่ยวโยงโดยตรงและชื่นชมความเป็นศิลปะในแบบของตนเอง

แต่คนที่อยู่นอกเฟรมภาพ และอาจจะไม่ได้ข้องเกี่ยวอะไรกับปรากฏการณ์ศิลปะเลยต่างหากที่น่าตั้งคำถามว่าการพยายามสร้างเมืองสักเมืองหนึ่งให้เป็นเมืองศิลปะนั้นมีแต่ข้อดีของการปรับเปลี่ยนวิถีเมือง หรืออีกนัยหนึ่งสะท้อนให้เห็นช่องว่างในจิตใจของคนพื้นที่ที่อาจจะไม่ได้รับรู้ความหมายหรือคุณค่าของคำว่าศิลปะเลย

rajburi05

นิทรรศการ R.C.A (คนงานก่อสร้างเมืองราชบุรีกลางแจ้ง) ชุดภาพถ่ายบุคคลโดยช่างภาพ ราล์ฟ ทูเท็น ที่ถูกจัดวางทั่วเมืองราชบุรี ทั้งสี่แยก ตอหม้อสะพาน หรือที่สูงอย่างถังเก็บน้ำ โดยแนวคิดของนิทรรศการ R.C.A เพื่อสะท้อนปัญหาและชีวิตคนงานก่อสร้างในราชบุรี

Scene 2 “ นี่มันไม่ใช่ศิลปะ ภาพแบบนี้ผมก็ถ่ายได้” กล้องพร้อม 5 4 3 2 แอ็กชัน

ในปี 2013 เดินกล้องตัวเดิมผ่านหอศิลป์ d kunst เคลื่อนผ่านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรีสีเหลืองตุ่นแล้วค่อยๆ ตั้งกล้องนิ่ง ออกจากถนนสฤษดิ์เดชสู่ถนนเขางูสายไม่ซับซ้อน แสงแดดตอนเที่ยงวันสะท้อนกระจกเลนส์เป็นดวงไฟมัวๆ สีเหลืองอ่อนหลายๆ ดวง ฉาบไล้ถนนและย้อมอารมณ์สีเทาของเมืองให้มีสีสันท่ามกลางไอแดดระยิบ

จอภาพกลับมาชัดเจนอีกครั้งเมื่อเบนโฟกัสมาที่ชายวัยกลางคน ใบหน้าเรียบตึง เขายืนท้าวเบาะมอเตอร์ไซค์อยู่ในร้านอัศวินยนต์ หากนับพิกัดตามแผนที่ปกติศิลป์แล้ว ร้านซ่อมเครื่องยนต์นี้อยู่ใกล้กับสำราญเกษาไม่กี่เมตร แต่ความคิดเห็นในเรื่องศิลปะที่เกิดขึ้นนั้นต่างกับลุงสงครามราวกับเป็นแม่เหล็กคนละขั้ว ยามที่ให้ทัศนะกับความเป็นศิลปะของเมืองราชบุรีในตอนนี้ สีหน้าและแววตาของเขามีแววขบขันแต่ในความรู้สึกจริงๆ ไม่ได้ตลกด้วยเลย

“ คุณว่ามันสวยไหมล่ะ” คำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ น้ำเสียงของเขาติดจะเรียบเฉยเอ่ยพร้อมกับอาการส่ายหน้าไหวๆ

“ มาแขวนรูปทั่วเมือง เกะกะ รกหูรกตา แทนที่จะทำให้เมืองมันสะอาด แล้วประชาธิปไตยคืออะไร คุณทำไม่ปรึกษาใครเลย แล้วมาทำแบบนี้มันเรียกว่าบังคับดูหรือเปล่า ทำไมไม่ทำให้มันเป็นสัดเป็นส่วน ไปทำในหอศิลป์ ในโรงยิม หรือสวนสาธารณะสิ มาทำแบบนี้คนก็ไม่เข้าใจ ผมไม่เข้าใจ อยากจะทำนิทรรศการศิลปะอะไรก็ประชาสัมพันธ์ให้มันเป็นเรื่องเป็นราว อยู่ดีๆ มาแขวนรูปแบบนี้คนก็งง ถามคนแถวนี้สิ เขาก็คุยกันว่าไม่เห็นรู้เรื่องเลย มาแขวนรูปอะไรก็ไม่รู้”

เขาหมายถึงกราฟฟิติงานติดศิลป์บนและนิทรรศการอาร์ซีเอ (R.C.A. : Ratchaburi Construction Workers Open Air) การถ่ายภาพเหมือนคนงานก่อสร้างเมืองราชบุรีกลางแจ้งซึ่งเป็นผลงานในชุดเอ ดับบลิว ซี (A.W.C. : Asian Workers Covered) เมื่อปี 2550-2553

ถ้าเดินฟิล์มถอยหลังกลับไปกลางเมืองราชบุรีระหว่างวันที่ 1พฤษภาคม – 30 กรกฎาคม 2556 บริเวณริมแม่น้ำแม่กลอง ใต้สะพานธนรัชต์ คุกเก่า ริมทางรถไฟ ประปาราชบุรี หรือข้างกำแพงของถนนหลายสายในเมืองจะพบแผ่นไวนิลสีขนาดใหญ่ปรากฏเป็นรูปพอร์ตเทรต หรือรูปถ่ายบุคคลของผู้ใช้แรงงานใส่หน้ากากปิดหน้า สวมหมวกและใส่เสื้อยืดเก่าๆ ถึงเสื้อและอุปกรณ์ปกปิดใบหน้าจะมีสีสันจัดจ้าน แต่ความหม่นที่แทรกซึมในแววตาสงบเฉย ก็ติดตาคนมองเหมือนภาพจำที่เคยเห็นตามไซต์งานก่อสร้าง

นิทรรศการนี้เกิดมาจากแนวคิดของราล์ฟ ทูเท็น ช่างภาพระดับโลกชาวเยอรมันที่อยู่ในประเทศไทยมามากกว่า 4 ปี และวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ผู้ก่อตั้งหอศิลป์ดีคุ้นที่คุ้นเคย แนวคิดของงานคือต้องการสร้างการรับรู้สิ่งใหม่ และชี้ให้เห็นปัญหาสำหรับคนที่ไม่เคยตระหนักถึงมันเลย รวมถึงสื่อสารให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างและวัฒนธรรมในสถานที่ทำงานของชาวเอเชียว่าชนชั้นสูงนั้นออกแบบเสื้อผ้ามาเพื่อแสดงความเป็นตัวเอง แต่ก็ปกปิดความเป็นตัวเองในเวลาเดียวกัน

การคาดผ้าปิดหน้ามองเห็นแต่เพียงตาของคนงานก่อสร้างเป็นแฟชันอย่างหนึ่งที่นักออกแบบในกรุงปารีสไม่มีวันคิดได้ แต่ความจริงอันบีบรัดก็คือที่คนงานก่อสร้างต้องแต่งตัวแบบนี้ก็เพราะต้องปกป้องตัวเองจากอันตรายและไม่มีทางเลือกในการใช้ชีวิตมากนัก เสื้อผ้าที่ใช้ปกปิดร่างกายจึงเป็นตัวตนที่แท้จริงที่ใช้กันฝุ่น และแก๊สพิษอันตรายต่างๆ จากการทำงานหนัก

ภาพพอร์ตเทรตของคนงานในอิริยาบถต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมองกล้องตรงๆ หันด้านข้างเข้าหากล้อง หรือคลุมผ้าปิดหน้าเหมือนไอ้โม่งด้วยเสื้อผ้าที่มีสีสันค่อนข้างฉูดฉาด ประกอบกับหมวกสานที่เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นแรงงานนั้นแสดงออกถึงความรู้สึกที่บกพร่องและอารมณ์ครึ้มฟ้าของผู้ถูกใช้แรงงานที่ผู้จัดตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานเนื่องในโอกาสของวันแรงงานที่ 1 พฤษภาคม 2556

“จุดประสงค์ที่เป็นแกนหลักของงานนี้คือการนำเสนอให้ผู้ชมตั้งอยู่บนจิตใต้สำนึกเชิงสร้างสรรค์ที่จะนำพาและเน้นความเป็นเอกลักษณ์และความสง่างามของคนงานก่อสร้างในมุมมองที่แตกต่าง ผู้ใช้แรงงานอาจถูกยกระดับการทำงานและกลายเป็นปัจเจกชนในอนาคต พวกเขาทั้งหมดทำการปิดบัง และเป็นตัวของตัวเองในเวลาเดียวกัน” สูจิบัตรงานอาร์ซีเออธิบายจุดประสงค์ไว้อย่างนั้น แต่ข้อความที่ไม่ได้ถูกส่งผ่านไปยังผู้ชมผลงานก็ย่อมสร้างเมล็ดพันธุ์ของความขัดแย้งในใจเป็นธรรมดา

“ เห็นไหมว่ารูปที่เขาเอามาแขวนมีคนปิดหน้าปิดตาอะไรก็ไม่รู้ มันเป็นนัยยะอะไร เขานัดชุมนุมอะไรกันผ่านภาพนี้หรือเปล่า สื่อสารกับลัทธิอะไรหรือเปล่าเราก็ไม่รู้” ชายในร้านอัศวินยนต์ที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อเอ่ยอย่างเผ็ดร้อน

กิตติรัตน์ ปิติพานิช วิทยากรที่ศึกษาเรื่องเมืองสร้างสรรค์ ให้แนวคิดไว้ว่าเมืองศิลปะที่ถือได้ว่าเป็นเมืองสร้างสรรค์ในรูปแบบหนึ่งต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเป็นเมืองที่เปิดกว้างและยอมรับสิ่งใหม่ๆ เมืองไหนที่มีความสามารถในการตอบรับสิ่งใหม่ๆ ได้ เมืองนั้นก็มีโอกาสเติบโตเป็นเมืองสร้างสรรค์ได้ง่ายกว่าเมืองอื่น และต้องมีการจัดเก็บรูปแบบความรู้ มีการเรียนการสอน และจัดประชุมสัมมนาศิลปะภายในเมือง

ระดับสูงสุดของการจูงมือเมืองๆ หนึ่งให้กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ก็คือการถ่ายทอดรูปแบบของความรู้นั้นให้ผู้อื่นแล้วค่อยส่งต่อไปในระดับประเทศหรือระดับโลก

นอกเหนือจากนั้นต้องมี infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานหลักของเมืองที่รองรับทั้งคนในคนนอก เช่น มีห้องสมุดที่ดี มีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และการเป็นเมืองสร้างสรรค์นั้นต้องสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ ทำอย่างไรให้คนสนใจประเด็นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะคนที่เปิดกว้างอาจจะไม่ได้เข้าใจ และอาจจะมองว่าปรากฏการณ์ศิลปะบางแขนงเป็นสิ่งแปลกปลอม อาจจะนำพาสิ่งที่ดีหรือไม่ดีมาให้เขาก็ได้ จึงต้องกลัวไว้ก่อน

People participation หรือการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนจึงเป็นหัวใจสำคัญของการทำให้เมืองราชบุรีเป็นเมืองศิลปะ เพราะการจะเป็นเมืองสร้างสรรค์ ต้องเปิดโอกาสให้คนที่ไม่เข้าใจ หรือคนท้องถิ่นได้เข้ามาปฏิสัมพันธ์ และมีโอกาสในการร่วมกันสร้างศิลปะ ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ พอเขารู้สึกว่ามีความเป็นเจ้าของ เขาก็จะโอบกอด และเขาจะส่งเสริมให้ตัวเมืองเป็นศิลปะไปเอง

“ ผมอายนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในเมืองราชบุรี เห็นเมืองสกปรกเลอะเทอะ นี่มันไม่ใช่ศิลปะ ภาพแบบนี้ผมก็ถ่ายได้”

ชายวัยกลางคนในร้านอัศวินยนต์ยังคงแสดงทัศนะต่อ แววตาของเขาคุโชนด้วยความไม่พึงใจ และกล่าวเสริมว่าคนที่เห็นว่าศิลปะลักษณะนี้สวยงามเป็นคนเฉพาะกลุ่ม คนราชบุรีจริงๆ ไม่ได้รับรู้หรือเข้าใจอะไรเลย

ศิลปะเป็นเรื่องของการตีความ แต่ละคนมีพื้นฐานความเข้าใจในองค์ประกอบศิลป์ที่แตกต่างกัน อีกทั้งคำว่าศิลปะก็ยังไม่มีความหมายที่แน่นอนตายตัว และมีชุดความคิดที่ถูกกำกับโดยวัฒนธรรมนั้นๆ

โดนัลด์ ดี นอร์แมน เจ้าของหนังสือ The Design of Everyday Things กล่าวไว้ว่า “แต่ละวัฒนธรรมจะมีชุดความคิดที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ได้เลยในสภาพสังคมนั้นๆ”

ถ้าเมืองราชบุรีกำลังจะเป็นเมืองศิลปะ แต่หัวใจของความเป็นเมืองซึ่งก็คือ “คน” ไม่รับรู้ถึงคุณค่านั้น คำว่าเมืองศิลปะคงจะใช้ได้แต่เมืองกายภาพ แต่เต็มไปด้วยอุตสาหกรรมไอเดียที่ไร้หัวใจ

นิทรรศการ R.C.A (คนงานก่อสร้างเมืองราชบุรีกลางแจ้ง) ชุดภาพถ่ายบุคคลโดยช่างภาพ ราล์ฟ ทูเท็น ที่ถูกจัดวางทั่วเมืองราชบุรี ทั้งสี่แยก ตอหม้อสะพาน หรือที่สูงอย่างถังเก็บน้ำ โดยแนวคิดของนิทรรศการ R.C.A เพื่อสะท้อนปัญหาและชีวิตคนงานก่อสร้างในราชบุรี

นิทรรศการ R.C.A (คนงานก่อสร้างเมืองราชบุรีกลางแจ้ง) ชุดภาพถ่ายบุคคลโดยช่างภาพ ราล์ฟ ทูเท็น ที่ถูกจัดวางทั่วเมืองราชบุรี ทั้งสี่แยก ตอหม้อสะพาน หรือที่สูงอย่างถังเก็บน้ำ โดยแนวคิดของนิทรรศการ R.C.A เพื่อสะท้อนปัญหาและชีวิตคนงานก่อสร้างในราชบุรี

Scene 3 “ความเงียบสงบของเมืองราชบุรีมันไม่ถูกทำลายด้วยศิลปะหรอก” กล้องพร้อม 5 4 3 2 แอ็กชัน

ฉายกล้องขึ้นฟ้าแล้วพบว่าไม่เห็นเมฆ ไม่ใช่ว่าฟ้าเมืองราชบุรีไม่มีเมฆ แต่เพราะเราถือเลนส์ย้อนแสงจึงได้แต่แสงกลับมา กรอบท้องฟ้าที่กักเข้ามาอยู่ในจอภาพสี่เหลี่ยมก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่เรียกว่าฟ้า มันเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของคำว่า “ท้องฟ้า” เท่านั้น

ตัดภาพไปที่ชายหนุ่มในเสื้อยืดสีขาวที่กำลังปั่นจักรยานผ่านเซรามิกหลากดีไซน์ที่ตั้งอยู่สองข้างทางเข้ามาด้วยหลังตั้งตรง เขาจอดจักรยาน และเดินเข้าไปในอาณาจักรศิลปะเซรามิกด้วยบุคลิกนิ่งๆ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์หรือติ้ว เถ้า ฮง ไถ่ หรืออาจารย์ติ้ว หรือคิวเรติ้ว ที่ล้อเลียนตัวเองว่าไม่ใช่ curator (คนดูแลนิทรรศการ) เป็นมนุษย์ธรรมดาที่ใส่เสื้อยืดสีขาวกับกางเกงยีนส์สีน้ำเงิน เขาเป็นผู้ก่อตั้งหอศิลป์ d kunst เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของเถ้า ฮง ไถ่ เป็นคนเรียนศิลปะ และเป็นคนมีฐานะทางความคิดคนหนึ่ง ความใหญ่ของนิทรรศการและการจัดแสดงงานต่างๆ ในราชบุรีส่วนใหญ่จริงๆ แล้วเกิดมาจากคนๆ เดียว

“คิดตลอดเวลาว่าการที่คนข้างนอกรู้จักเรามากขึ้นมันทำให้คนในเมืองรู้จักเราไปเองโดยอัตโนมัติ คล้ายๆ กลยุทธ์เมืองล้อมป่า ทั้งๆ ที่ความจริงต้องป่าล้อมเมืองใช่ไหม แต่ท้ายที่สุดแล้วกลายเป็นว่าคนพูดถึงราชบุรีเยอะมากด้านศิลปะ แต่ถามว่าคนที่พูดนี่คือใคร ก็คือคนที่สนใจทางด้านศิลปะมากกว่า แต่คนในตัวเมืองเองจริงๆ จะมีสักกี่คนที่รับรู้ถึงความตั้งใจ และเห็นสิ่งที่เราทำแล้วเข้าใจ มีน้อยมาก น้อยกว่าที่เคยคิดไว้ สมมติว่าคนที่สนใจทางด้านศิลปะก็จะอ่านแต่งานด้านศิลปะ คนที่ไม่สนใจก็จะข้ามไปโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นการที่เรามองว่าคนพูดเยอะมากว่าเมืองราชบุรีเป็นเมืองศิลปะ ใครเป็นคนพูด ก็คนที่สนใจทางด้านศิลปะแค่นั้น แต่ว่าสิ่งที่เราต้องการคือคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศิลปะให้เขาเข้าใจสิ่งที่เราทำ”

ย้อนภาพเคลื่อนไหวแบบเร็วๆ ถนนย้อนไปจนสุดปลายที่หอศิลป์ d kunst คนทุกคนเดินถอยหลังกลับ ราชบุรีท่ามกลางงานติดศิลป์บนครั้งที่ 2 หรือปกติศิลป์อบอวลไปด้วยผู้คนที่ให้ความสนใจทางด้านศิลปะ มีศิลปิน นักศึกษา เยาวชนและนักท่องเที่ยวที่เข้าใจวัตถุประสงค์และแนวคิดที่เกิดจากทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงโอ่งมังกรเถ้า ฮง ไถ่แห่งเมืองราชบุรี บรรยากาศที่คึกคักจึงกลบทับความไม่เข้าใจของคนราชบุรีโดยเนื้อแท้

“ ไม่มีทางที่เขาจะรับรู้ได้ 100 เปอเซ็นต์ 20-30 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าสุดยอดแล้ว จริงๆ 5-10 เปอร์เซ็นต์ก็ยังถือว่าดีแล้วเลย งานล่าสุดที่ช่างภาพเยอรมันมาจัดแสดง เป็นครั้งแรกที่เกิดกระแสอย่างรุนแรงใน social network ของชุมชนราชบุรีที่มีการถกเถียงกันว่าคืออะไร ตกใจ สงสัย งง คนที่ไม่ชอบก็ว่ามาติดป้ายอะไร ติดได้ยังไง รก สกปรก รุงรัง บางคนก็บอกว่าผมไม่ชอบเลย ราชบุรีเคยสงบเงียบ แต่ตอนนี้วุ่นวาย ก็เลยตอบไปว่างานศิลปะที่ผมทำมันเป็นนิทรรศการ เดี๋ยวมันก็หายไป แต่ผมดีใจมากเลยที่ทำให้คุณเห็นบางอย่างที่คุณไม่เคยนึกว่ามันมีมาก่อน ความเงียบสงบของราชบุรีมันไม่โดนทำลายด้วยศิลปะหรอก มันอยู่แค่เดือนสองเดือน มันจะโดนทำลายด้วยบางสิ่งบางอย่างที่กำลังเข้ามา ถ้าคุณไม่รู้สึกถึงการมีตัวตน และคุณค่าของมัน คุณอาจจะเสียมันไปโดยที่คุณยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เราพูดเสมอว่าการสร้างเมืองศิลปะมันเหมือนกับภาพจิ๊กซอว์ มันต้องหลายๆ คนมาช่วยกันต่อ ไม่ใช่ว่าตัวเองอยู่ตรงกลางแล้วจะกำหนดทิศทางทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างต้องทำร่วมกัน”

การปั้นเมืองที่เคยมีเอกลักษณ์เรื่องโอ่งมังกรให้กลายเป็นเมืองศิลปะโดยที่ยังคงความดั้งเดิมของเมืองไว้ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ ปัญหาและข้อพิพาทต้องเกิดขึ้นระหว่างคนต้นคิดและคนปลายทางที่รับความคิดนั้นมา เพราะศิลปะเป็นเรื่องของมุมมอง

“ มันอยู่ที่การมอง ต่างคนต่างอยู่ด้วยกันได้ ต่างคนต่างยอมรับในภาพลวงตาของอีกฝ่ายหนึ่ง มันคือภาพลวงตาของคนคนหนึ่ง แต่อาจจะเป็นความจริงของคนอีกคนหนึ่งก็ได้ ความเป็นจริงของอีกฝ่ายหนึ่งก็คือมายาของอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าคุณยืนด้วยพื้นฐานของความจริง คุณจะมองว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำไมไม่เข้าใจ ทำไมไม่รับรู้ ทำไมไม่เป็นอย่างคุณ ทำไมไม่เสพ ทำไมไม่ฟังกัน ทำไมไม่เข้าใจคุณก็แสดงว่าคุณไม่ได้เข้าใจเขาเลย จึงอยากบอกว่า เราทำศิลปะง่ายๆ แต่ไม่ใช้คำว่าง่ายเป็นตัวตัดสิน เราก็ทำของเราอย่างนี้เพราะเราพร้อมเท่านี้ เราต้องการปูฐานความเข้าใจในศิลปะ แล้วเอาเอาศิลปะมาผูกกับคนในชุมชนให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีอะไร”

Scene 4 “…..”

ตรงข้ามกับหอศิลป์ d kunst มีเด็กวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี อายุราว 18-20 ปี สวมเสื้อสีเทา 3 คนนั่งอยู่บนราวเหล็กริมถนน ด้านหลังเขาเป็นกราฟฟิติงานติดศิลป์บนครั้งที่ 2 ด้านซ้ายเป็นภาพพอร์ตเทรตงานอาร์ซีเอสูงขนาดตึกสองชั้น ด้านขวาเป็นคิวรถเมล์สวนผึ้งที่เคยจัดแสดงงานปกติศิลป์ แต่เมื่อถามถึงกลิ่นอายศิลปะภายในเมือง ทั้งนิทรรศการติดศิลป์บนที่มองเห็นอยู่ลิบๆ ปกติศิลป์ที่โด่งดัง เด็กฝึกหัตถ์ที่กำลังมีอยู่ที่โรงโอ่งมังกรเถ้า ฮง ไถ่ หรือนิทรรศการอาร์ซีเอที่อยู่ข้างๆ ไม่เกิน 2 เมตร กล้องบันทึกเสียงได้ในระดับปกติ แต่เหมือนมีใครมากดปุ่ม mute ไว้

“…..”

3 วินาที 4 วินาทีผ่านไปยังคงเป็นเสียงลมริมเขื่อนแม่น้ำแม่กลอง พวกเขามองหน้ากันไปมา แลกเปลี่ยนสายตาและทัศนะบางอย่างที่กล้องจับไว้ไม่ได้ แต่ก็หลุดคำว่า “เฉยๆ” ออกมาเมื่อถามถึงภาพรวมและความชื่นชอบในความเป็นศิลปะของเมืองราชบุรี รูปแบบคำถามจึงต้องเปลี่ยนเป็นการให้ตอบว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่

“คิดว่าที่มองเห็นอยู่นี้เป็นศิลปะหรือไม่ “
“ไม่ใช่” เด็กเพาะช่างร่างท้วม ตอบพร้อมคิ้วขมวดมุ่น
“ภาพวาดที่เห็นอยู่กระจัดกระจายทั่วเมือง มีก็ดี ไม่มีก็ได้ใช่ไหม”
“ใช่” เด็กเพาะช่างร่างท้วม และร่างผอมอีก 2 คนพยักหน้าแล้วตอบพร้อมกัน พวกเขาแค่นหัวเราะเล็กน้อยอย่างไร้สาเหตุ

สิ้นสุดคำถามและการบันทึกภาพ ลองหลุดจากวงโคจรของศิลปะและความเนิบช้าเข้าหาความเร็วที่สร้างขึ้นได้เองจากสองล้อมอเตอร์ไซค์ ภาพถนนและร้านรวงผลุบเข้ามาในเฟรมด้วยความเร็วที่ทำให้สองข้างทางพร่ามัว เสียงแหบปร่าของลุงในเสื้อวินสีส้มประจำเมืองราชบุรีปะปนกับลมแหวกอากาศเข้ามาในกล้อง

“มีคนมาถามลุงว่ามันเกิดอะไรขึ้น เขามาแขวนภาพคนปิดหน้าปิดตาไว้ทำไม ลุงก็บอกว่าลุงไม่รู้ ไม่เข้าใจเหมือนกัน เดินมาถามกันเยอะเลย คนในพื้นที่ก็เดินมาถาม ลุงก็ตอบเขาไม่ได้”

ความรู้สึกของลุงวินมอเตอร์ไซค์เป็นบล็อกความคิดเดียวกับเด็กนักเรียนเทคนิคเพาะช่างและทฤษฎีเล็กๆ น้อยๆ ของประชา สุวีรานนท์ นักออกแบบกราฟฟิกดีไซน์ที่ว่า

“ การทำให้ผู้ดูมีส่วนร่วมในกราฟฟิกดีไซน์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะดีไซน์มักจะหมายถึงการกำหนดรูปแบบหรือกรอบสำเร็จรูปไว้ให้ดู”

การที่ชาวเมืองราชบุรีที่เป็นเยาวชนและคนสูงอายุบางกลุ่ม ‘ไม่รู้สึกอะไร’ กับปรากฏการณ์ที่คนนอกมองว่ายิ่งใหญ่ก็เป็นการมีส่วนร่วมที่ไม่มีส่วนร่วมอย่างหนึ่งในงานศิลปะที่มองเห็น

ลองประมวลภาพสถานที่ ผู้คน อารมณ์เมืองภายใน 10 วินาที เราจะเห็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรีที่สร้างตั้งแต่ปี 2465 วัดมหาธาตุวรวิหารที่เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวราชบุรีตั้งแต่สมัยทวาราวดี ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองที่เป็นปูชนียสถานที่สร้างไล่เลี่ยกัน สะพานจุฬาลงกรณ์ โรงแรม ร้านขายข้าวแกง ถนนหนทาง บ้านเรือน และท้องฟ้าสีฟ้าที่มองด้วยตาเปล่าก็ยังเก็บได้ไม่หมด

rajburi07

ลวดลายกราฟฟิตี้ที่ถูกพ่นลงตลอดแนวเขื่อนแม่น้ำ ผลงานของกลุ่มกราฟฟิตี้เมืองราชบุรีที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า “JARTOWN” ช่วยสร้างสีสันให้กับเมืองราชบุรี และกลายเป็นที่ที่นักท่องเที่ยวชอบมาถ่ายภาพกัน

rajburi08

‘ศิลปะดีนะ ดูแล้วมันทำให้สบายใจนะ บางคนเขาก็อาจเฉยๆ แต่ผมชอบนะศิลปะ’ ลุงสงคราม บุตรวงศ์ ช่างตัดผมวัยเจ็ดสิบกว่า ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพฝึกฝนฝีมือการถ่ายภาพผ่านการเรียนรู้ด้วยตัวเองมาตั้งแต่สมัยยังเป็นหนุ่ม ลุงสงครามเป็นหนึ่งในศิลปินที่ร่วมแสดงงานภาพถ่ายในงานนิทรรศการปกติศิลป์

Scene 5 “การเป็นเมืองสร้างสรรค์ไม่ใช่การเอาเมืองไปชุบน้ำตาลแล้วบอกว่าเป็นแล้ว”

หลบจากเมืองราชบุรี มาตั้งกล้องที่บริเวณใกล้กับ สำนักงานศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative and Design Center : TCDC ) กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการพัฒนาการออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) กำลังสำคัญในการจัดงานออกแบบที่โด่งดังอย่าง Creativities Unfold เดินเข้ากล้องมาด้วยบุคลิกที่ยิ้มแย้มเป็นกันเอง กระเป๋าเป้สีดำและเสื้อหนาวมีฮู้ดสีเดียวกันบ่งบอกว่าเขายังหนุ่มแน่นทางความคิด เพราะเป็นวิทยากรบรรยายอยู่ในแวดวงเมืองสร้างสรรค์และนั่งเก้าอี้คณะกรรมการตัดสินการประกวดด้านความคิดสร้างสรรค์อย่าง “กระตุกต่อมคิด” และกิจกรรมในแวดวงดีไซน์อื่นๆ

เขาพยักหน้าเป็นเชิงรับรู้เมื่อเอ่ยถึงการปรับปรุงวิถีเมืองราชบุรีให้เป็นเมืองศิลปะ แล้วเปิดบทสนทนาด้วยทัศนะที่น่าสนใจของผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมืองสร้างสรรค์ชื่อ กุสชาว สแลนดี ว่าการจะวัดว่าเมืองไหนเป็นเมืองสร้างสรรค์ให้ดูว่าเมืองนั้นมีเพศที่สามเยอะหรือเปล่า เพราะการที่เมืองๆ หนึ่งประกอบด้วยผู้คนหลากหลายประเภท ก็เหมือนเป็นการแปะฉลากไว้หน้าเมืองว่าเมืองนี้เปิด ไม่ปิดกั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารูปแบบนี้จะถูกต้องเสมอไป ต้องมองลงไปในเชิงลึกกว่านั้นอีกว่าเมืองไหนอนุญาตให้เพศที่สามจัด Gay parade ได้บ้าง จำนวนเมืองที่อนุญาตก็จะเริ่มน้อยลงถึงแม้ว่าจะมีประชากรเพศที่สามเยอะก็ตาม

ความพร้อมที่เมืองๆ หนึ่งจะเป็นเมืองศิลปะหรือเมืองสร้างสรรค์นั้นต้องประกอบร่างมาจากประตูเมืองที่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานหลักของเมืองที่เหนียวแน่น และผู้คนที่คิดอ่านกับศิลปะในระดับที่ยอมรับเข้ามาในวิถีชีวิตได้เหมือนเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ซึ่งราชบุรีในตอนนี้ก็ถือเป็นเมืองที่ “เข้าข่าย”

“ ถ้ามองในเรื่องขององค์ประกอบ เมืองราชบุรีก็มีชุมชนทางศิลปะอยู่ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นพื้นแล้ว แล้วก็มีกิจกรรมบางอย่างเกิดขึ้นมาก ตอนนี้คือเขาจะทำอย่างไรที่จะสร้างฐานจากข้างล่างให้มากขึ้น และต้องมีคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้นำของฝ่ายเขาคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เป็นระดับสูงที่จะมาเป็นผู้นำประชาชนอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งผู้นำก็แปรไปตามวัฒนธรรม ผมเชื่อว่าวิธีการไม่ได้จำกัด แต่ข้างล่างกับข้างบนต้องเห็นพ้องกัน ในเคสของราชบุรี ข้างล่างเริ่มมีเชื้อแล้ว แต่ก็อาจจะเกิดปัญหาความต่อต้านจากชาวบ้าน ต้องลองหาวิธีการให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม เห็นว่าประโยชน์ของการมีศิลปะในเมืองคืออะไร แล้วสิ่งที่เขาทำมันสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นได้ยังไง”

การมีส่วนร่วมหรือการมีประโยชน์ของการมีศิลปะในเมือง ในแง่หนึ่งหมายถึงการมีรายได้เข้ามา ถึงแม้ว่าวศินบุรีจะกล่าวไว้ในสูจิบัตรงานปกติศิลป์ว่าจุดประสงค์หลักของงานไม่ได้มีเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่กิตติรัตน์ หรือ “อาจารย์ต้อง” ก็ให้แนวคิดว่ารายได้เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เมืองราชบุรีกลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ศิลปะ เพราะถ้าหากศิลปะสร้างผลประโยชน์ที่เป็นศูนย์ ประชาชนมีส่วนร่วมน้อย ก็เป็นงานหินที่จะดึงคนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วม

เมื่อรายได้เริ่มจุนเจือชาวเมืองและครอบครัวมากขึ้น โครงสร้างพื้นฐานหลักเริ่มเข้ารูปเข้ารอย ร้านก๋วยเตี๋ยวเริ่มยุ่งวุ่นวายเพราะลูกค้าชาวต่างชาติ ร้านข้าวแกงเริ่มมีความสุขกับผู้เยี่ยมชมต่างเมือง คุณภาพชีวิตของคนราชบุรีก็จะดีขึ้นเพราะศิลปะ และในเมื่อศิลปะนำพาสิ่งที่ดีงามเข้ามา เขาก็จะเริ่มให้การสนับสนุนการมีอยู่ของมันต่อๆ ไปในอนาคต

“มาแขวนรูปทั่วเมือง เกะกะ รกหูรกตา แทนที่จะทำให้เมืองมันสะอาด”

เสียงในฟิล์มจากชายในร้านอัศวินยนต์สะท้อนก้องออกขึ้นมาอีกหนึ่งรอบ แนวคิดของเขาบ่งบอกถึงการมองนิทรรศการอาร์ซีเอ ที่ถ่ายรูปกรรมกรชนชั้นแรงงาน ปิดหน้าปิดตาตามเครื่องแต่งกายเดิม ว่าเป็นการแสดงออกในมุมที่ไม่น่าพิสมัยนัก ยังไม่รวมชาวเมืองคนอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้ค้านการมีอยู่ของมัน แต่ก็ไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของนิทรรศการ ผู้อำนวยการการออกแบบของ TCDC มุ่นคิ้วครู่หนึ่ง แล้วจึงเอ่ยว่า

“ศิลปะสมัยนี้ก็มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ไม่ได้แสดงออกมาในเรื่องของความงามเป็นหลัก ศิลปะสมัยก่อนอาจจะเน้นที่ความงาม ศรัทธา ความเชื่อ ศาสนา แต่ในปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ศิลปะกลายเป็นผลผลิตของการตีความของคน ซึ่งถ้าคนไหนเข้าถึงก็จะรู้สึกกับความงามนั้นๆ ดังนั้นเรื่องรูปแบบจึงเป็นเรื่องที่สำคัญรองลงมา”

การสื่อสารกับคนในเมืองราชบุรีเรื่องศิลปะที่จัดแสดงสำคัญไม่แพ้กับการสร้างต้นกล้าความสัมพันธ์ที่แข็งแรง เพราะอาจจะทำให้เกิดการสื่อสารที่ผิดได้

“ สำหรับชาวบ้านส่วนใหญ่ที่อาจจะไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านศิลปะมาก่อน รูปแบบสำหรับเขามีความสำคัญมาก รูปแบบไหนที่เขาคุ้นเคย และสามารถเข้าถึงได้ เขาก็จะรับรู้ว่าสวย ไม่สวย ดี ไม่ดีในแบบของเขา แต่เมื่อไหร่ที่เขาเห็นแล้วเขารับทราบ แต่เขาไม่เข้าใจจึงเกิดการตีความที่ผิดไป เพราะฉะนั้นก็จะเป็นปัญหากับงานเหมือนกัน คือขั้นตอนการสื่อสารระหว่างตัวงานศิลปะกับชาวบ้านมีไม่ดีพอ ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งได้ไม่ยากนัก”

แต่กว่าคนในเมืองจะสื่อสารกับศิลปะรู้เรื่องก็ต้องใช้ระยะเวลา ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ข้ามวันข้ามคืน เพราะยังมีความขัดแย้งในเรื่องเอกลักษณ์ของเมืองราชบุรี ที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าการนำเข้าศิลปะร่วมสมัยตามแนวคิดของวศินบุรีจะลบจุดยืนของเมืองราชบุรีที่เคยมีมาแต่ก่อนเก่า คำขวัญของจังหวัดที่ว่า “คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี” อาจจะถูกบิดเบือนไป

“เอกลักษณ์ของเมืองเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าคุณจะสนับสนุนก็ทำไป เป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก (mainstream culture) แต่สิ่งที่คุณจะต้องทำเพิ่มขึ้นคือต้องสนับสนุนวัฒนธรรมย่อยต่างๆ (subculture) ที่เกิดขึ้น ต้องมีพื้นที่ให้เขาแสดงออก เมืองคุณจะต้องมีเด็กแร็พ กราฟฟิติ เพราะเมืองที่สามารถตอบรับกับวัฒนธรรมย่อยได้ก็จะมีโอกาสเติบโตไปเป็นเมืองสร้างสรรค์ได้สูงขึ้น เพราะเขาไม่ได้ปิดตัวเองว่าคำขวัญมีแค่สามอย่างนี้ แล้วต้องทำตามสามอย่างพอ สามอย่างก็ทำไป แต่คุณต้องมีเวทีให้สิ่งอื่นด้วยเหมือนกัน”

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมืองสร้างสรรค์ในเมืองไทยให้ข้อคิดเห็น เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปก็เปรียบเสมือนอีกหน้ากระดาษหนึ่งของวัฒนธรรม ซึ่งวัฒนธรรมคือสิ่งที่ไม่ตาย เลื่อนไหลอยู่ตลอด วัฒนธรรมที่นิ่งคือวัฒนธรรมที่ตายแล้ว เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมของคนเราก็จะมาผูกติดกับวิวัฒนาการอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ วัฒนธรรมมันก็มีวิวัฒนาการของมันเอง เพราะฉะนั้นการขยับหรือเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องที่ปกติ

แนวทางการพัฒนาเมืองที่ดู “อาร์ต” และร่วมสมัยแบบนี้จะเป็นไปได้ยากมากหากภาครัฐไม่ลงมาช่วยสนับสนุนแนวทางการเป็นเมืองศิลปะ เพราะโดยหลักการแล้วการพัฒนาเมืองให้กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์จากแนวคิดที่กิตติรัตน์ศึกษามาคือ จะต้องมีหลักการแบบ bottom up คือพัฒนาจากฐานล่างขึ้นไป จากชุมชน ชาวบ้าน ผู้ประกอบการ นักคิด ควบคู่ไปกับหลักการ top down คือภาครัฐสนับสนุนเงินทุนลงมา เช่น ตั้งโรงเรียนสอนศิลปะ และมีนโยบายพิเศษให้กับนิคมอุตสาหกรรมเชิงศิลปะ จัดพื้นที่ให้ศิลปินใช้สตูดิโอแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย แล้วจึงชวนนักคิด นักสร้างสรรค์เข้ามา และสองหลักการนี้ต้องทำควบคู่กันไป

สิ่งที่น่ากลัวคือเหตุการณ์ไม่คาดฝันอาจจะเกิดขึ้นได้หากกระบวนการ bottom up และ top down เดินสวนทางกัน เมื่อรัฐลงทุนสร้างโรงเรียนสอนศิลปะแล้วชาวบ้านไม่ซื้อความคิดนี้ หรือชุมชนมีความคิดจะพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองศิลปะ แต่รัฐไม่สนับสนุน ก็ไม่มีเงินทุนสร้างแกลเลอรี่ หรือจัดกิจกรรมทางศิลปะ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเดินขบวนหรือต่อต้านทางเชิงความคิดได้

คนมีมาดทางความคิด และมีดีไซน์ในการร้อยเรียงคำพูดนาม กิตติรัตน์ ปิติพานิช เสริมเรื่องการสร้างเมืองที่ฉีกกรอบของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมด้วยสีหน้าขรึมตัดกับบุคลิก เสียงทุ้มต่ำเจือความจริงจังในปริมาณสูง

“เมืองหลายๆ เมืองในโลก ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง หรือ การสร้าง infrastructure เติบโตมาจากการที่เราจะทำให้เมืองเป็นเมืองอุตสาหกรรม เพื่อจะผลิตๆๆ เมืองจึงต้องอยู่ใกล้กับท่าเรือ มีโรงไฟฟ้าขนาดนี้มาสนับสนุน แต่ถ้าเราจะเปลี่ยนเป็นเมืองศิลปะล่ะ เราต้องการ infrastructure ประเภทไหนมาทำให้เมืองเป็นเมืองศิลปะได้ มันไม่ใช่ถนนหนทาง ไม่ใช่ท่าเรือแล้ว แต่มันต้องเป็น infrastructure ทางความคิด infrastructure ทางปัญญา ที่มันต้องเพิ่มมากยิ่งขึ้น มันอาจจะเป็นห้องสมุด หอศิลป์ หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้ว infrastructure เหล่านี้ต้องถูกพลิกความคิดใหม่เรื่องการสร้างความพร้อมของเมืองเพื่อตอบสนองจุดมุ่งหมายนั้นให้ได้ มันก็จะเป็นการคิดในลักษณะใหม่ทั้งหมดเลย เพราะเราไม่ได้ต้องการเปลี่ยนเมืองราชบุรีให้เหมือนเมืองอื่นๆ ในทางอุตสาหกรรมแล้ว ดังนั้นคนที่จะทำก็ต้องคิดเรื่องนี้ให้เยอะๆ”

เขาหันหน้าเข้าหากล้องแล้วปิดท้ายว่า

“ มีหลายต่อหลายเมืองที่พยายามจะเป็นเมืองสร้างสรรค์ แต่เมืองคุณยังไม่มีร้านหนังสือดีๆ สักร้านหนึ่งเลย เมืองคุณต้องพร้อม ผู้นำต้องเข้าใจด้วย ไม่ใช่การ wanna be หรืออยากจะเป็น การเป็นเมืองสร้างสรรค์ไม่ใช่การเอาเมืองไปชุบน้ำตาลแล้วบอกว่าเป็นแล้ว มันไม่ใช่ คุณต้องมีโครงสร้างที่จะเติบโตและยั่งยืนได้ เพราะมันไม่ใช่นิทรรศการที่เกิดขึ้นปีสองปีแล้วจบไป”

กล้องตัดภาพเป็นจอดำ

rajburi09

‘เขามาชวนเราไปวาดรูป เราก็ดีใจนะที่เขาชวน ลองวาดดูก็สวยดีนะ พอวาดเติมไปเรื่อยๆ กลายเป็นเหมือนกระเทยไปได้ ฮ่า ฮ่า’ ป้าหม่อง-อุบล บัวพุ่มไทย เจ้าของร้านเสริมสวยผู้ที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะสร้างงานศิลปะได้จนกระทั่งได้ลงมือวาดภาพ และเข้าร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการปกติศิลป์

rajburi10

‘ศิลปะมันยากนะ ตอนคุณติ้วมาชวน ผมก็ไม่รู้จะวาดอะไร แต่อยากให้ตัวเองได้ลองดู เราก็วาดสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันกลายเป็นรูปหน้าร้านข้าวหมูแดง เราภูมิใจนะ’ ลุงศักดิ์ชัย วงศ์มณีประทีป เจ้าของร้านข้าวหมูแดง ข้าวมันไก่ 100 ปี พร้อมภรรยาและหลานๆที่ได้รวมแสดงภาพวาดในนิทรรศการปกติศิลป์ นอกจากความภูมิใจในรสชาติของข้าวหมูแดงที่คงความอร่อยมา 100 ปี ครอบครัวลุงศักดิ์ชัย ยังภูมิใจและตื่นเต้นทุกครั้งที่ลูกค้าได้กล่าวถึงงานศิลปะภายในร้าน

Cut “หนังคนละม้วนที่อยู่ในเรื่องเดียวกัน” 5 4 3 2 cut

ถึงเวลาที่ภาพยนตร์ต้องตั้งคำถามกับตัวแสดงบ้างแล้วว่าหากทุกสิ่งอย่างมีการเปลี่ยนผ่าน ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงพร้อมกับการบิดพลิ้วของความดั้งเดิม ก่อนจะสร้างเมืองราชบุรีให้เป็นเมืองศิลปะ จำเป็นไหมที่จะต้องสร้างความเข้าใจร่วมให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชนจริงๆ เสียก่อน

แล้วถ้าความเข้าใจนั้นเกิดขึ้นจริง เสียงบรรยายจะถามขึ้นว่าคนที่จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันคำว่า “ศิลปะ”ให้แปะอยู่หน้าทางเข้าเมืองราชบุรีคือใคร วศินบุรี นายกเทศมนตรี อบจ. หรือ ทุกคนในเมือง ศิลปะไม่สร้างความขัดแย้งและความระหองระแหงที่แท้จริงในสังคมรูปแบบใดก็ตามตราบใดที่ทุกคนในสังคมนั้นเข้าใจและถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล เหมือนเวลาที่มองฟ้าแล้วเข้าใจว่านี่ไม่ใช่แค่ฟ้าเดียวที่เรามองเห็น และฟ้าของเราก็อาจจะแตกต่างกับฟ้าของคนอื่นๆ

ฉากสุดท้ายอยู่ในเมืองราชบุรีที่ยังคงเป็นเมืองราชบุรีอยู่ มีชาวราชบุรีคนหนึ่งเลิกคิ้วขึ้น ทำสีหน้ากังขา กางมือขึ้นแนบฟ้าแล้วโปรยคำถามง่ายๆ

“คุณว่านิ้วทั้ง 5 นิ้วนี่มันเท่ากันไหม”

To be continued โปรดติดตามตอนต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  • http://www.creativethailand.org/th/creativecity/creativecity_detail.php?id=50
  • หนังสือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี
  • หนังสือ the design of everyday things Donald d. norman
  • หนังสือ ดีไซน์+คัลเจอร์ เล่ม2 โดยประชา สุวีรานนท์
  • คุณวิศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
  • คุณพี่แอ๊ด jartown
  • ชาวบ้านเมืองราชบุรี
  • คุณกิตติรัตน์ ปิติพานิช