banner-camp-12-for-web-logo

งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 11 (ได้รับงานเขียนสารคดี ดีเด่น)
เรื่อง… ปวีณา ห้อยกรุด
ภาพ… วิศรุต แสนคำ

susanmusyid01
susanmusyid02
susanmusyid03
susanmusyid04
susanmusyid05
susanmusyid06
สุสานมัสยิดต้นสน : โดดเด่นในความโดดเดี่ยว
susanmusyid08
susanmusyid09

“…ละแวกนี้ไม่มีชุมชนมุสลิมเหลือแล้วครับ จะมีก็แต่บ้านมุสลิมสามหลังภายในรั้วมัสยิด ส่วนใหญ่ก็เป็นคนดูแลที่นี่ ความผูกพัน ความสัมพันธ์ระหว่างสุสานกับชุมชนก็ไม่มี ดังนั้นในประเด็นนี้ ผมแนะนำให้ไปมัสยิดหรือสุสานอื่นดีกว่า”

นั่นคือประโยคที่คุณชาครีย์ ชลายนเดชะ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลมัสยิดต้นสน กล่าวทิ้งท้ายผ่านการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้…

…………………………………………………

 

ท่ามกลางแดดจัดและอากาศร้อนอบอ้าวยามบ่ายแก่ๆ ค่าโดยสารสามบาทบวกกับเวลาครู่หนึ่งคือสิ่งที่ใช้ข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาจากฝั่งท่าเตียนมายังท่าวัดอรุณฯ แต่ของแถมสำหรับบางคนคืออาการคลื่นเหียนเวียนหัวชั่วครู่ชั่วคราว ในที่สุดก็มาถึงฝั่งธนบุรีศรีศาสนสถาน ย่านซึ่งเต็มไปด้วยโบสถ์ มัสยิด วัดวาอาราม บ้านเรือน ชุมชน ในขณะที่ผู้คนดูบางตา ไม่นานพอมาถึงบริเวณใต้สะพานอนุทินสวัสดิ์ก็เป็นอันถึงจุดหมาย…

 

จากหลายรอยอดีตทับถม

ด้านหลังประตูอัลลอยบานใหญ่ลวดลายวิจิตรที่เห็นอยู่เบื้องหน้า คือมัสยิดต้นสน ที่รายรอบด้วยสุสานบริเวณด้านข้างและด้านหลังอาคารมัสยิด สุสานจึงใช้ชื่อเดียวกันกับมัสยิด อีกทั้งยังมีชื่ออื่นๆที่คนต่างชุมชนรู้จักดีในนามสุสานกะฎีใหญ่หรือป่าช้าแขกท้ายวัดหงส์ฯ(ชื่อย่อที่คนละแวกนั้นนิยมใช้เรียก ‘วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร’) สุสานแห่งนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนและบ้านเรือนฝั่งซ้ายของคลองบางกอกใหญ่ ในซอยวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่

สุสานมัสยิดต้นสนเป็นสุสานมุสลิมซึ่งเก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ และมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า300ปี บรรพชนที่ร่างถูกฝังอยู่ ณ ที่แห่งนี้ส่วนหนึ่งคือกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทยในแต่ละยุคสมัย อาทิ เจ้าพระยาราชวังเสนีย์(ม๊ะหมูด),เจ้าพระยาจักรีศรีองค์รักษ์(หมุด)ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช,เจ้าพระยาราชบังสิน(ฉิม)แม่ทัพเรือในรัชกาลที่ 2 ตลอดจนบรรดาจุฬาราชมนตรีทั้ง 9 ท่าน ตลอดสมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

เดิมทีมัสยิดถูกสร้างเป็นอาคารไม้ที่ไม่ใหญ่โตนัก จากนั้นค่อยขยับขยายเปลี่ยนเป็นอาคารใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับจำนวนสัปปุรุษ(คนดี,คฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาในศาสนา)ที่เพิ่มขึ้น โดยปลูกต้นสนคู่ที่หน้าประตูมัสยิด เมื่อต้นสนนี้สูงใหญ่ชะลูดขึ้นเป็นจุดเด่นสะดุดตา จึงกลายเป็นที่มาของชื่อทางการนี้

 

สู่การพักผ่อนรอวันพิพากษา

ทันทีที่เดินตามทางเดินหินขัดเข้ามาภายในบริเวณสุสานซึ่งมีบรรดาไม้ยืนต้นน้อยใหญ่แผ่กิ่งก้านบดบังแสงแดดให้ร่มรื่น อากาศบริสุทธิ์ สดชื่น ราวกับแมกไม้นานาพันธุ์เหล่านี้กำลังทำหน้าที่เสมือนปอดของชุมชน และกล่าวต้อนรับผู้มาเยือน บนพื้นมีโคกดินต่างระดับเรียงราย ไม้นิฌาน(ไม้หลักหน้าหลุมศพ)ลวดลายวิจิตรทั้งหลายถูกปักเรียงรายเต็มพื้นที่ แผ่นป้ายไวนิลสีขาวสกรีนข้อความสั้นๆแต่โดดเด่นดึงดูดสายตาให้จับจ้อง

‘สิ่งแรกที่มนุษย์จะถูกสอบสวนในวันกิยามะห์(วันสิ้นโลกตามหลักของศาสนาอิสลาม)ก็คือเรื่องของการละหมาด ถ้าหากการละหมาดของเขาทำดีทำได้ครบถ้วน ไม่ขาดตกบกพร่อง ทุกสิ่งที่จะติดตามมาก็พลอยดีไปด้วย แต่ถ้าหากเรื่องของการละหมาดบกพร่อง ทำไม่ครบถ้วน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ติดตามมาก็ย่อมเสียหายไปด้วย’

ในศาสนาอิสลามไม่มีสัปเหร่อ หน้าที่สุดท้ายจึงเป็นของคนในครอบครัว อีกทั้งศพของมุสลิมต้องฝังทั้งหมด แม้ไม่ได้ระบุระยะเวลาแน่ชัดก็ต้องจัดการให้เร็วที่สุด แต่ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ภายในสุสาน ปัจจุบันผู้มีคุณสมบัติในการใช้สุสานของที่นี่ต้องมีเชื้อสายของมัยยิต(ศพ, ผู้ตาย) โดยฝังทับถมกันไป หรือไม่ก็ต้องเป็นสัปปุรุษซึ่งใช้พื้นที่ร่วมกัน โดยขึ้นกับดุลพินิจของอิหม่าม(ผู้นำในการทำละหมาด, ผู้นำในชุมชน, ผู้ที่มีความรู้และมีคุณธรรม)ด้วย

“ทุกชีวิตจะต้องลิ้มรสชาติของความตาย หลังจากนั้นจะไปอยู่ในโลกแห่งการรอคอย ที่เป็นทางผ่านระหว่างวันนี้ถึงวันสุดท้ายของโลก วันนั้นคือวันแห่งการพิพากษาความเลวความดีทั้งหมด มนุษย์ทุกดวงวิญญาณจะถูกนำมาตัดสินพร้อมๆกัน”คุณธีรนันท์ ช่วงพิชิต ฝ่ายศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี กล่าวถึงความเชื่อของชาวมุสลิม

เมื่อเดินมาเกือบสุดเขตสุสาน ก็พบบริเวณลานกว้างที่จอดรถของมัสยิด แสงแดดยามห้าโมงเย็นยังคงแผดเผาแรงกล้ากระทบแผ่นป้ายโลหะตรงหน้าเป็นประกายจนต้องหรี่ตามอง

‘ข้อ 7.ห้ามมีการรับจ้างประกอบศาสนกิจกับมัยยิตในกุโบร์(สุสานมุสลิม) เด็ดขาด’

กึก! กึก! กึก!
ฉันหันมองหาต้นเสียงและเดินตามเสียงฝีจอบหนักแน่นมาพบลุงเตี้ย ชายรูปร่างเล็ก ท่าทางทะมัดทะแมงในชุดมอมแมม แกกำลังขุดดินมาก่อโคกของแต่ละหลุมให้สูงขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง ฉันรีบเข้าไปพูดคุยซักถามที่มาที่ไป

“ผมไม่ใช่คนแถวนี้ ดูคล้ายสัปเหร่อของคนพุทธ แต่จะเรียกอย่างนั้นก็ไม่ใช่ เพราะปกติหน้าที่หลักๆก็เป็นของลูกหลานเขา แต่ใครจะตายใครจะขุดเขาให้มาช่วย ผมมาหมด เรื่องค่าจ้างผมไม่เคยเรียกร้องอะไร ไม่ค่อยมีใครทำหรอก ของอย่างนี้มันอยู่ที่จิตใจ เราทำก็ได้กับตัวเรา”ลุงเตี้ยกล่าว

 

คนอยู่ไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้อยู่

“ขึ้นมานั่งข้างบนก็ได้ค่ะ นั่งยองๆอย่างนั้นเมื่อยแย่”

ป้าสันพูดจบก็เลื่อนจานเปล่าที่วางอยู่ข้างๆ ตัวออกพลางยิ้มน้อยๆ ร่องรอยแห่งวันเวลาปรากฏชัดบนใบหน้าครู่หนึ่ง ป้าสันหรือคุณสันทนา โสภาจารีย์เป็นหญิงชราชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ภายในรั้วมัสยิดต้นสน นอกจากเสียงอาซานวันละห้าเวลา สิ่งที่แกต้องตื่นขึ้นมาเจอในอรุณแรกของทุกวันก็คือสุสาน ป้าสันเล่าว่าบรรพบุรุษของแกอาศัยอยู่ที่นี่มานานแล้ว

“ตอนหลังมุสลิมในชุมชนเขาทยอยย้ายออกไปเกือบหมด ลูกหลานเราก็แยกย้ายไปทำงานที่อื่น เหลือไม่กี่คนคอยดูแล เป็นหูเป็นตาอยู่ที่นี่ แต่พอถึงพิธีสำคัญประจำปีอย่างวันอีด8เขาก็กลับมากันท่วมท้นจนแทบไม่มีที่ยืน”

ชุมชนมุสลิมเริ่มขยายตัวออกไปตามมัสยิดที่เกิดขึ้นภายหลัง โดยมีหลายครอบครัวต่างแยกย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานที่อื่นๆตั้งแต่ก่อนสร้างสะพานอนุทินสวัสดิ์ หลังพ.ศ.2540 เป็นต้นมา เนื่องจากหลบหนีความแออัดและการถูกเวนคืนที่ดิน ซึ่งจะเห็นได้ว่าชาวมุสลิมในพื้นที่ให้ความสำคัญกับมัสยิดเป็นอันดับแรก รวมถึงมองมัสยิดในฐานะ ‘บ้านของพระเจ้า’ จึงพร้อมใจกันปกป้องมัสยิดด้วยการเสียสละที่ดินของตนเอง

 

…………………………………………………

 

บรรยากาศช่วงเย็นย่ำค่ำบริเวณมัสยิดและชุมชนเงียบสงบ ผู้คนที่อาศัยอยู่แถวนี้ไม่หนาแน่นแออัดจนอึดอัดเท่าบ้านเรือน เสียงอาซาน(การร้องเรียก,การเชิญชวนละหมาด)จากมัสยิดบางหลวงแว่วมาแต่ไกล คุณสุนีย์ พันพุทธ หรือคุณหน่อย สาวใหญ่อารมณ์ดี ประธานชุมชนวัดโมลีโลกยาราม มักมานั่งเล่นพูดคุยกับเพื่อนบ้านบริเวณใต้สะพานข้างมัสยิด เธอเล่าว่า

“ตอนนี้พวกอิสลามเหลืออยู่สามบ้านเลขที่ แต่ยังมีแตกย่อย มีทับหนึ่งทับสองอีกนะ ชื่อคนในทะเบียนบ้านก็เยอะเชียวล่ะ แต่สองศาสนาเราอยู่ร่วมกันได้ เรารักกันดี—จริงๆ (หัวเราะ) ไม่มีอะไร พอเรียกประชุมทุกคนในชุมชนก็มากัน ตรงนี้แหละ(ชี้ไปที่ลานกีฬาใต้สะพาน) เราอยู่อย่างนี้มานานแล้ว ต่างคนต่างชิน เวลาเขาสวดเสียงดังเราก็ฟังได้ นอนหลับได้ แต่ตอนวัดเราสวดเสียงดังเขาก็ต้องฟังเหมือนกัน”

สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของพระมหาจำลอง ธมฺมวโร แห่งวัดโมลีฯ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากมัสยิดต้นสน

“บริเวณนี้เป็นที่เก่าแก่ ถ้าคนต่างถิ่นมาอยู่ใหม่ก็จะไม่ชินกับเสียงสวดของอิสลาม แต่อยู่ไปนานๆก็ชิน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างสองศาสนา เช่นเวลาขอใช้พื้นที่ ทางนี้มีงานก็ไปขอใช้พื้นที่ทางโน้นจอดรถ ทางโน้นมีงานก็มาใช้พื้นทางนี้จอดรถโดยไม่เก็บค่าเช่า แต่ความรู้สึกลึกๆของชาวบ้าน อาตมาไม่รู้”

…………………………………………………

จักจั่นบนต้นก้ามปูแข่งขันกันขยับปีกขับขานเร่งจังหวะ ส่งเสียงระงมจนก้องกังวานไปทั่วสุสาน แสงนวลสุดท้ายจากดวงตะวันริบหรี่ลงทุกขณะ ความมืดเองไม่รอช้า คืบคลานเข้ามาแทนที่ บ่งบอกเวลาต้องบอกลา

ชุมชนนี้เป็นตัวอย่างของความหลากหลายทางศาสนาและชาติพันธุ์ ที่มีมานานหลายร้อยปี การยอมรับในความต่าง การช่วยเหลือเกื้อกูลและความเคยชิน ล้วนอยู่คู่กับคนที่นี่ ดังที่พระมหาจำลองกล่าวทิ้งท้าย

“หัวใจสำคัญของศาสนาอยู่ที่ศาสนิกชน ส่วนหัวใจของชุมชนก็คือการอยู่ร่วมกัน”

แม้สุสานมัสยิดต้นสนจะถือเป็นเขตพื้นที่ อวมงคล(ไม่เป็นมงคล) ในศาสนสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนและสังคมแวดล้อมซึ่งเปลี่ยนแปลง คนมุสลิมในพื้นที่ไม่ได้อยู่ร่วมกันหนาแน่นเท่าในอดีตและไม่อาจดำรงความเป็นชุมชนมุสลิมดั้งเดิมไว้ได้ แต่กลับยังรักษาความสัมพันธ์และขนบธรรมเนียม ไว้ได้แนบแน่นกับวัฒนธรรมซึ่งถูกกำหนดโดยพระผู้เป็นเจ้า ดังคำให้สัมภาษณ์ของสัปปุรุษหนุ่มจากเขตพญาไท ผู้มาละหมาดที่นี่ทุกวันศุกร์

“เพราะพวกเราเชื่อว่าศูนย์กลางของชุมชนมุสลิมไม่ใช่เพียงสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง แต่เป็นศูนย์รวมความคิด จิตใจ ที่คอยเตือนให้หวนระลึกนึกถึงวันจะกลับมารวมตัวกันที่นี่ในพิธีสำคัญ รวมถึงการไปยังอีกดินแดนซึ่งเป็นรอยต่อเพื่อรอคอยวันตัดสิน…วันที่พวกเราจะได้พบกับพระเจ้า”

ระหว่างเดินกลับทางเดิม ฉันนึกถึงประโยคอมตะเหนือกาลเวลา ขณะเดินผ่านบ้านเล็กบ้านหรูในซอยแคบ

‘กาลเวลาเปลี่ยนไป บางสิ่งเปลี่ยนแปลงอยู่เหนือการควบคุม’

เอกสารอ้างอิง

  • กุลธิดา สามะพุทธิ.(2542).ธนบุรี.สารคดี,15(175),62-84.วันที่ค้นข้อมูล 25 พฤษภาคม 2558.
  • คณะกรรมการจัดงานเสวนา “มุสลิมมัสยิดต้นสนกับบรรพชนสามยุคสมัย”.(2544).มุสลิมมัสยิดต้นสนกับบรรพชนสามยุค สมัย : ประวัติชาวมัสยิดต้นสน บทวิเคราะห์ความเป็นมา 400 ปีเคียงคู่เอกราชชาติไทย .กรุงเทพฯ :คณะกรรมการฯ
  • ป. บุนนาค.(2553).ธนบุรีมีอดีต.กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์
  • สุดารา สุจฉายา.(2542).ธนบุรี.กรุงเทพฯ : สารคดี
  • เสาวนีย์ จิตต์หมวด.(2541).กลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมในธนบุรี. วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,4(1),53-67.วันที่ค้นข้อมูล 25 พฤษภาคม 2558.
  • อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี. (2557).มัสยิดในกรุงเทพฯ.กรุงเทพฯ : มติชน

สัมภาษณ์

  • คุณชาครีย์ ชลายนเดชะ. 2558.ให้สัมภาษณ์ 25 พฤษภาคม.
  • คุณลุงเตี้ย. 2558.ให้สัมภาษณ์ 28 พฤษภาคม.
  • คุณธีรนันท์ ช่วงพิชิต. 2558.ให้สัมภาษณ์ 24 พฤษภาคม.
  • พระมหาจำลอง ธมฺมวโร. 2558.ให้สัมภาษณ์ 28 พฤษภาคม.
  • คุณสันทนา โสภาจารีย์. 2558.ให้สัมภาษณ์ 24 พฤษภาคม.
  • คุณสุนีย์ พันพุทธ. 2558.ให้สัมภาษณ์ 28 พฤษภาคม.