ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 11 งานเขียนดีเด่น
เรื่อง : เจนยุภา จันทร์ตรี
ภาพ : กันต์หทัย จิตรไมตรีเจริญ

ตั้งโต๊ะกัง เสือทองคำ ผู้ยืนหยัดแห่งราชวงศ์

ถนนเยาวราช อาจเป็นย่านการค้าขายทองที่มีชื่อเสียงมากในเมืองไทย แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าต้นกำเนิดการค้าขายทองคำที่ยิ่งใหญ่นั้นจะตั้งอยู่ในซอยวานิช ถนนมังกร หรือบริเวณตลาดสำเพ็งนั่นเอง

อาคาร 7 ชั้นทรงโบราณ สร้างโดยฝีมือช่างชาวฮอลันดาและตกแต่งภายในโดยช่างชาวเซี่ยงไฮ้ หน้าร้านมีแผ่นป้ายที่ตวัดด้วยตัวอักษรไทย อ่านเป็นใจความว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ห้างทองเพียงหนึ่งเดียว ชื่อเดียว และมีเพียงสาขาเดียวในเมืองไทยที่ยังยืนหยัดค้าทองส่งทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาแล้วกว่า 160 ปี

ข้าวของภายในอาคารซึ่งเป็นทองคำที่รวมกันแล้วตีเป็นมูลค่าเงินตรานับร้อยล้าน วางเรียงรายกันเต็มตู้กระจก ซึ่งเป็นสินค้าเพียงหนึ่งเดียวของตระกูล “ตันติกาญจน์” ที่สืบทอดกันมาถึง 4 ช่วงอายุและยึดถือกิจการขายทองคำรูปพรรณกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

tangto02 1

tangto03

tangto04

ตั้งรากฐานบรรพบุรุษทองบริสุทธิ์…

รากเหง้าของตั้งโต๊ะกังเริ่มต้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และจดทะเบียนการค้าไว้ในสมัยรัชกาลที่ 6 หากลองนับดูอายุคร่าวๆ ของร้านทองแห่งนี้ก็มากกว่า 160 ปีแล้ว

ในยุคแรกเริ่ม นายโต๊ะกัง แซ่ตั้ง คุณทวดซึ่งเดินทางจากเมืองจีน ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาทำมาหากินในสยาม เริ่มก่อร้างสร้างตัวด้วยการรับจ้างเป็นช่างทำทอง แถวท่าน้ำราชวงศ์ แม้ในตอนเริ่มต้นจะมาเพียงตัวเปล่าๆ แต่ด้วยความมานะ ขยันหมั่นเพียร จึงทำมาเรื่อยๆ จนเก็บสะสมเงินทุนเพียงพอและสามารถเปิดร้านของตัวเองขึ้นมา

“ตั้งโต๊ะกัง มาจากชื่อและนามสกุลของคุณทวด แต่ก่อนร้านทองไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ ไม่มีทองที่มาตั้งโชว์หน้าร้านหรือมีสต็อกทองเก็บไว้ขาย จะมีก็แค่โต๊ะทำงานของช่างทอง นั่งทำตามที่ลูกค้ามาสั่งทำ”

ไชยกิจ ตันติกาญจน์ ทายาทเสือทองคำรุ่นที่ 4 บอกเล่าเรื่องราวด้วยรอยยิ้มของความภาคภูมิใจ ทรงผมที่ดูทันสมัย เข้ากับเสื้อเชิ้ตลายทางและกางเกงเข้ารูป ไม่น่าเชื่อเลยว่า เขาจะเป็นผู้จัดการร้านทองที่อายุ 60 ปีแล้ว

จากงานรับจ้างกลายเป็นเจ้าของกิจการรับทำทองขนาดเล็ก ร้านขนาดหน้ากว้างไม่กี่ตารางเมตรบนถนนวานิช มีเพียงโต๊ะไม้ขนาดเล็กตั้งไว้ในร้านที่ตั้งตามชื่อและนามสกุลของตัวเองว่า “ตั้งโต๊ะกัง” เพื่อใช้เป็นโต๊ะรับลูกค้า รับจ้างทำทองจากพ่อค้าและชาวบ้านในสยามด้วยลวดลายตามที่ลูกค้าต้องการ

“เมื่อก่อนช่างในร้านมีเป็นร้อย นั่งอยู่กับโต๊ะ คอยรับทำทองตามลูกค้าสั่ง”

นายห้างเล่าต่อไปว่า ตั้งโต๊ะกังเองก็เป็นหนึ่งในนั้น จนกระทั่งในเวลาต่อมาตั้งโต๊ะกังสามารถขยายจำนวนของช่างทองให้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

ร้านทองตั้งโต๊ะกังในสมัยก่อตั้งก็ถือว่ากิจการเป็นไปด้วยดี เพราะทำเลที่ตั้งของร้านอยู่ใกล้กับท่าน้ำราชวงศ์ซึ่งจะมีเรือมาลง และนำสินค้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ที่นี่จึงกลายเป็นย่านการค้าสำคัญในตอนนั้น เมื่อคนค้าขายได้เงินมาก็มักจะมาซื้อทองเก็บเอาไว้

การเห็นคุณค่าของทองมากกว่าธนบัตรเหรียญเงินของชาวสยามในยุคนั้น แทบไม่ต่างอะไรกับคนจำนวนมากในโลก ที่ว่าไม่มีสิ่งของอื่นใดในโลกนี้ที่จะสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้รวดเร็วยิ่งกว่าทองคำอีกแล้ว

“สมัยก่อนไม่ค่อยมีคนเชื่อถือค่าเงินเท่าไร เมื่อผู้คนมีรายได้จากการค้าขาย จึงนำเงินมาเปลี่ยนเป็นทอง ถือเป็นการเก็บออมของคนในสมัยนั้น” เสียงบอกเล่าจากไชยกิจ

ในยุคของคุณปู่ เมื่อเริ่มมีหน้าร้านจนเป็นที่รู้จัก ห้างทองตั้งโต๊ะกังถือว่าเป็นหนึ่งในสี่เสือของวงการทองในเวลานั้น ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดราคาทองคำให้มีอัตราเดียวกันได้คล้ายกับสมาคมทองคำ แต่ในปัจจุบันห้างทองทั้งสามได้เลิกกิจการไปหมด เหลือเพียงแต่ห้างทองตั้งโต๊ะกังที่ยังยืดหยัดผ่านมรสุมและกาลเวลาล่วงมาถึง 4 ชั่วอายุคน

แต่เดิมเยาวราชไม่ได้เป็นถนนสายหลักในการซื้อขายทองคำของประเทศไทยดังเช่นปัจจุบัน แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปจากคลองหลายสายถูกถมกลายเป็นถนนหลายเลนอย่างที่เห็น ทำให้ร้านทองหลายร้านที่อยู่ในถนนวานิชด้านในปัจจุบันเป็นสำเพ็ง ขยับออกมาอยู่ด้านหน้าบนถนนเยาวราช เนื่องจากผู้คนพลุกพล่านกว่าถนนวานิชมาก

ตั้งโต๊ะกังซึ่งเติบโตบนถนนวานิช ถนนสายหลักของการค้าทองในอดีตอย่างไร ปัจจุบันก็ยังยืนหยัดอยู่ที่ถนนวานิชเพื่อการค้าทองเช่นเดิม ขณะที่ร้านทองคำเปิดใหม่อายุเกิน 50 ปีหรือต่ำกว่านี้ กลับมารวมอยู่ในที่เดียวอย่างถนนเยาวราชกันแทบทั้งสิ้น

นี่จึงคลายความสงสัยให้กับเราได้ว่าทำไมตั้งโต๊ะกังจึงอยู่ในซอย ไม่มีหน้าร้านที่ติดกับถนนเหมือนร้านทองอื่นๆ ในเยาวราช

ไม่เพียงแต่ความเก่าแก่ของร้านทองเท่านั้นที่น่าสนใจ เพราะแม้แต่ตัวอาคารก็ยังมีความเก่าแก่ถึง 90 ปี เมื่อครั้งสร้างเสร็จใหม่ อาคารหลังนี้ถือว่าสูงที่สุดในเยาวราชอีกด้วย สังเกตได้ว่าอาคารเก่าๆ มักจะหันหน้าไปทางท่าน้ำ ไม่เหมือนอาคารในปัจจุบันที่อยู่ติดริมถนน

อาคารเจ็ดชั้นที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 หลังจากได้รับพระราชทานตราตั้งครุฑจากพระองค์ คุณปู่ ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการรุ่นที่สอง ได้สร้างอาคารหลังนี้ขึ้นเพื่อรับตราตั้ง ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฮอลันดา แต่การตกแต่งภายในและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เป็นแบบจีน ถือว่าเป็นตึกที่โดดเด่นมากในเยาวราชสมัยนั้นที่มีแต่ตึกสองชั้นเป็นส่วนมาก ซึ่งก็ช่วยในเรื่องของความน่าเชื่อถือ ดูสมฐานะของร้านทองอีกด้วย คุณไชยกิจกล่าว

……………………………………..

“ผมรับหน้าที่แทนคุณพ่อ ก็เลยอยากจะมาพัฒนาต่อ”

ผู้จัดการร้านตั้งโต๊ะกังรุ่นที่ 4 บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการสานต่อกิจการร้านทองที่มีอายุเก่าแก่แห่งนี้ ก่อนหน้านั้นเจ้าตัวไม่ได้สนใจเรื่องทองคำมากนัก แต่เริ่มลองทำงานที่ตนเองชอบ ก่อนจะต้องกลับมารับช่วงงานต่อจากคุณพ่อ

หลังเรียนจบจากโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยาการ เขาได้เริ่มต้นการทำงานในสายการบิน ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำบัญชี การตลาด และวิธีการบริหารงาน ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ช่วยในการจัดการร้านทองให้เป็นระบบยิ่งขึ้น

“เมื่อก่อนจะได้เข้ามาร้านเพราะมีงานไหว้บรรพบุรุษ ตอนนั้นผมไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับร้านทองเลย”

เขาเล่าเสริมถึงช่วงเวลาตอนสมัยวัยรุ่นที่ไม่มีความรู้สึกอยากเข้ามาช่วยกิจการที่ร้าน แต่เมื่อมีโอกาสได้เข้ามาสัมผัสกับบรรยากาศที่นี่เป็นครั้งคราว จึงเห็นแนวทางที่สามารถพัฒนาร้านให้ก้าวไปข้างหน้า แม้ในตอนนั้นเขาเองก็ยอมรับว่า การทำงานกับบริษัทได้ค่าตอบแทนมากกว่าการทำงานที่ร้านทอง แต่เขาเองก็เลือกที่จะเข้ามาช่วย

“ตอนมาเริ่มต้น ผมยังไม่รู้เลยว่าทอง 1 บาทหนักเท่าไร”

ในวัย 30 ปี เขาตัดสินใจเข้ามาเรียนรู้กิจการร้านทอง ประสบการณ์ทั้งหลายจึงเกิดจากการลงมือทำและสัมผัสด้วยตนเอง และบางครั้งต้องรู้จักสังเกตเรื่องราวที่เกิดขึ้นในร้านทั้งจากคนขายและลูกค้า

“พ่อแม่ไม่มีเวลาสอน เราก็ต้องไปนั่งศึกษาเอาเอง ในช่วงแรกๆ พ่อยังไม่ให้เงินผมเลย ผมเองต้องเริ่มเรียนรู้จากประสบการณ์ดั้งเดิม เพราะไม่มีทฤษฎีหรือบทเรียนบอกเอาไว้ แม้ตอนนั้นจะเป็นยุครุ่งเรือง ค้าขายดี แต่ผมคิดว่าร้านน่าจะทำกำไรได้มากกว่านี้”

ไชยกิจค่อยๆ เข้ามาศึกษางาน โดยในช่วงแรกยังคงทำงานประจำไปด้วย เมื่อมีเวลาว่างจึงสับเปลี่ยนแวะเวียนเข้ามาดูแลร้าน เขาใช้เวลาเรียนรู้อยู่นานเกือบปี

“ผมบอกกับที่บ้านว่า ผมจะลาออกจากงานประจำแล้วมาทำที่นี่ อาจจะต้องปรับระบบใหม่ แต่ทางผู้ใหญ่เขาก็ไม่ยอม”

ในสมัยนั้น การบริหารร้านจะอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไม่มีระบบที่เป็นรูปธรรม มีแต่ญาติพี่น้องเป็นพนักงานขายอยู่หน้าร้าน ไม่มีการบันทึกหรือตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องกำไร หรือขาดทุน ยิ่งเป็นการตรวจสอบยอดการจำหน่ายทองด้วยแล้ว ไชยกิจบอกว่าปีหนึ่งจะมีการตรวจสอบกันสักหน

ด้วยความรู้ที่ร่ำเรียนมาบวกกับประสบการณ์ในการทำงาน ทำให้ไชยกิจนำมาผนวกเข้ากับการบริหารร้านให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากการใช้ความไว้วางใจกันในเครือญาติที่ไม่มีระบบบัญชีควบคุม แม้จะเชื่อใจกันได้ แต่ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ในระยะยาว เขาจึงเริ่มสร้างระบบ Barcode ลงไปในสินค้าเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ และเพื่อให้ทราบว่าสินค้าตัวไหนขายไปแล้ว

“ที่จริง ผมก็ไม่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์หรอก แค่ลองเขียนระบบบัญชีและคำนวณราคาทองขึ้นมา แล้วให้คนมาทำโปรแกรมให้”

และนี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของร้านทองตั้งโต๊ะกังโดยการนำระบบคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยมาใช้ ถือว่ามีการใช้ระบบการคิดราคาทองแบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นที่แรก

นายห้างอธิบายระบบใหม่อย่างคร่าวว่า เขาให้พนักงานขายดูแลแต่ทองเท่านั้น ส่วนเรื่องการเงินต้องเป็นหน้าที่ของพนักงานบัญชี ให้แยกหน้าที่ออกจากกันเพราะทำให้ตรวจสอบซ้ำได้

“เป็นเรื่องยากมากในการปรับระบบจากระบบเดิมที่ยึดกันมาเป็นร้อยปี แล้วต้องมาเปลี่ยนในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ผู้ใหญ่ทำใจไม่ได้หรอก ผมก็ปรับทั้งตัวเอง และปรับผู้ใหญ่ให้เข้าใจด้วย ต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าเขาจะยอมรับ แม้แต่พ่อเราเองเขายังไม่ยอมรับเลย ผมก็ค่อยๆ ปรับทัศนะให้เขาเห็นว่า ทำแบบนี้มันดีขึ้น สามารถตรวจสอบได้ว่าสินค้าขายไปกี่ชิ้น ราคาเท่าไร ไม่ยุ่งยากเหมือนแต่ก่อน”

tangto05

… ทองแท้ ไม่แพ้ไฟ

ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 หากทุกคนยังจำได้ เป็นช่วงเวลาที่คนไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจย่ำแย่ ตั้งโต๊ะกังก็เป็นหนึ่งในบรรดาห้างร้านที่โดนพิษจากมรสุมลูกนี้

“ตอนนั้นเราขายทองช่วยชาติ”

เจ้าของกิจการตั้งโต๊ะกังเล่าว่าเวลานั้นราคาทองผันผวนมาก ภายในหนึ่งวันราคาทองได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ก่อนเข้าช่วงวิกฤต ราคาทองยังคงราคาอยู่ที่ประมาณบาทละ 4,000 บาท แต่เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจการค้าถดทอยลง ประเทศไทยจึงเข้าสู่ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ราคาทองก็พุ่งขึ้นมาเป็นบาทละ 8,000 บาท ทำให้ผู้คนต่างออกมาขายทองคืนร้านเป็นประวัติการณ์ ลูกค้ายืนต่อแถวตั้งแต่หน้าร้านยาวออกไปถึงด้านนอก หากทางร้านไม่รับซื้อก็จะขาดความเชื่อมั่น แม้ในตอนนั้นตั้งโต๊ะกังไม่มีเงินสดเพียงพอในการรับซื้อคืน จึงจำเป็นต้องเขียนเช็คจ่ายล่วงหน้าเป็นหลักประกันไปให้ก่อน แล้วจึงนำทองทั้งหมดส่งขายต่อไปยังต่างประเทศ เพื่อนำเงินดอลลาร์เข้ามาในประเทศไทย หากยังจำได้ ในตอนนั้น หลวงตามหาบัวฯ ได้รวบรวมทองคำจากผู้บริจาค เพื่อเป็นกองทุนสำรองให้กับประเทศไทยซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านบาท

“จริงๆ แล้วคนไทยเป็นนักสะสม เก็บออมมาตั้งแต่ยุคแรกๆ แต่ไม่ได้เก็บออมด้วยเงิน กลับเก็บเป็นทองแทน เมื่อไรขัดสนเขาก็เอาทองมาเปลี่ยนเป็นเงินมาใช้ได้”

ไชยกิจเล่าถึงช่วงเวลาในตอนนั้นถึงสาเหตุที่ประเทศไทยรอดพ้นจากพิษเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการขายทองคำไปยังตลาดต่างประเทศ

ทองคำคือสมบัติที่สะสมกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษส่งต่อให้ลูกหลาน ญาติผู้ใหญ่นิยมรับขวัญทารกที่เกิดใหม่ด้วยกำไลทอง สร้อยทอง อาจเป็นไปได้ว่าคนไทยได้สะสมและเก็บออมทรัพย์สินทองคำกันมาหลายชั่วอายุ เมื่อเกิดวิกฤตเช่นนี้ ทองคำจึงกลายเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด เพราะราคาของทองไม่เคยหยุดนิ่ง หากเศรษฐกิจไม่ดี ค่าเงินอ่อน ทองคำยิ่งมีราคาเพิ่มขึ้น

“ทองไม่ได้อิงกับเศรษฐกิจ แต่อิงกับตัวของมันเอง เพราะทองคำมีค่าในตัวเองอยู่แล้ว มูลค่าจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” เขากล่าวเสริม

ทองคำจึงกลายเป็นกองทุนสำรองให้กับประเทศในยามวิกฤต หากไม่มีทองคำจากผู้คนในวันนั้น ไทยเองก็คงไม่ต่างอะไรกับหลายประเทศในยุโรปเวลานี้

ไชยกิจเผยว่าหากไม่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนไป ตั้งโต๊ะกังคงไม่อยู่รอดมาได้จนทุกวันนี้ ในทุกยุคทุกสมัย ร้านทองแห่งนี้ยังคงพบเจออุปสรรคขวากหนาม

“ไม่มีใครเดินทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบสักคน”

ตั้งแต่สมัยคุณปู่รุ่นที่สอง ก็ต้องประสบการเหตุการณ์สงครามโลกทั้งสองครั้ง มายุคคุณพ่อรุ่นที่สามก็ยังอยู่ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง

หลังจากคุณปู่ และคุณย่าเสีย คุณพ่อก็เข้ามารับช่วงต่อ ตอนเริ่มเข้ามาบริหาร คุณพ่อเองก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจในยุคสงครามโลก การค้าขายซบเซาอย่างมาก ลูกค้าส่วนใหญ่จึงนำทองกลับมาขายคืนให้ร้าน ในเวลานั้นยังไม่มีการซื้อขายกับต่างประเทศ ทำให้เงินที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการรับซื้อทองคืน สุดท้ายคุณพ่อจึงตัดสินใจที่เอาทองไปเข้าโรงรับจำนำเพื่อนำเงินมาซื้อทองจากลูกค้า แม้ดอกเบี้ยจะไม่คุ้มกัน แต่เขาก็ยอมเจ็บเพื่อรักษามาตรฐานความเชื่อใจของร้านเอาไว้

“พ่อเล่าว่าตอนนั้นไม่ค่อยมีลูกค้าเข้าร้าน ต้องเอาทองไปเข้าโรงรับจำนำเพื่อเอาเงินมาซื้อทองคืนใหม่ ดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องแบกภาระไว้กับตัวเองก่อน”

ตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ยาวนานที่ก่อตั้งกิจการร่วมกันมาระหว่างผู้เป็นทวด ปู่ พ่อและตัวเขาไม่เคยลบเลือนหายไป ไม่มีรุ่นไหนที่ไชยกิจบอกว่าจะหยุดคิดประคองธุรกิจทองคำของตั้งโต๊ะกังเอาไว้

ทุกยุคทุกสมัยมักมีผลกระทบทำให้ต้องคิดอยู่เสมอ ว่าหากขายกิจการทองทิ้งแล้วหันหลังให้ธุรกิจนี้ก็คงจะไม่ลำบากมากนัก แต่ทุกครั้งก็มักจะเลิกล้มความคิดนี้ไปอยู่เสมอ เหตุผลสำคัญก็คือรากเหง้าทั้งหมดที่เคยสั่งสมกันมายาวนานจะหายไปฉับพลันนั่นเอง

“สมัยก่อนเราเจอวิกฤตหนักหนากว่านี้เยอะ สมัยนี้มันเจ็บนิดหน่อยเอง เมื่อก่อนใช้เวลานานมากกว่าเขาจะทำสร้อยทองเส้นหนึ่งได้ เพราะเครื่องไม้เครื่องมือไม่ได้ดีอย่างในตอนนี้ กว่าจะได้เงินจากลูกค้าต้องอดทนมาก ผิดกับตอนนี้ตั้งเยอะ แล้วผมจะไปกลัวอะไร”

ตราบใดที่ทองยังหลอมขึ้นมาใหม่ได้ แล้วมนุษย์อย่างเราๆ จะไม่ยอมหลอมใจตัวเองขึ้นมาใหม่เชียวหรือ…..

“ผมไม่ได้ห้ามคุณหมดกำลังใจ แต่คุณต้องฟื้นขึ้นมาให้ได้” เขากล่าวทิ้งท้าย

tangto06

ทองไม่นิ่ง ใจต้องนิ่ง ….

“ถ้ารักจะทำเรื่องทองต้องทำใจ เพราะราคามันผันผวนตลอดเวลา ไม่นิ่ง ถ้าเกิดคุณทุกข์ คุณจะอยู่กับมันไม่ได้”

ทายาทตั้งโต๊ะกังรุ่นที่ 4 เล่าว่าในยุคแรกๆ ทองคำยังมีค่าไม่มาก ใครจะไปนึกว่าราคาของทองจะพุ่งทะลุไปกว่าหมื่นบาทแล้วในตอนนี้ หากเปรียบเทียบราคาทองก็มีความคล้ายคลึงกับราคาข้าวสารหรือข้าวแกง สมัยก่อนราคาทองไม่ต่างจากราคาข้าวแกงมาก แต่ปัจจุบันนั้นราคาทองพุ่งสูงไปกว่าราคาข้าวแกงมากโข

ข้อความบนป้ายทองเหลืองขนาดใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเคยตั้งตระหง่านบอกราคาแก่ผู้มาซื้อ มีช่องบอกราคาที่มีหน่วยสตางค์ เพราะสมัยนั้นคิดว่าราคาทองไม่น่าถึงร้อยบาท

“เราจะคอยควบคุมคุณภาพให้คนที่ซื้อมั่นใจในทองของเราได้ แล้วก็คอยดูแลคนงานให้ผลิตได้ตามต้องการ”

หากหลุยส์ วิตตอง คือแบรนด์กระเป๋าที่คนซื้อมั่นใจในคุณภาพมาก ตั้งโต๊ะกังก็คงเป็นแบรนด์ร้านทองที่ลูกค้าทั่วไปเชื่อมั่นในคุณภาพเช่นกัน

การบริการด้วยใจ ยินดีต้อนรับลูกค้าทั้งใหม่และเก่าอย่างเท่าเทียม สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการที่นี่ ถือว่าเป็นของแถมสำหรับลูกค้าทุกคน

เท่าที่เราได้สังเกตกันมา ร้านทองหลายๆ แห่ง มักรักษาความปลอดภัยด้วยการติดลูกกรง แต่สำหรับลูกค้าอย่างเราๆ ที่ได้เข้าไปใช้บริการกลับรู้สึกหวั่นใจอยู่ไม่น้อยที่ต้องเข้าไปซื้อทองผ่านกรงเหล็ก ที่ตั้งโต๊ะกังจึงใช้ความเป็นมิตรและรอยยิ้มของพนักงานทุกคน เป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความเป็นกันเองระหว่างผู้ขายกับลูกค้า อีกทั้งพวกเขายังเชื่อว่าลูกค้าของตั้งโต๊ะกังทุกคนเข้ามาซื้อทองด้วยความจริง

“ร้านเราไม่มีลูกกรง ไม่มียามที่เข้มงวด อาม่า อากงใจดีให้ร้านค้าขายของหน้าร้านได้ ให้เขาเข้ามาใช้ห้องน้ำ ถือว่าเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ถ้าเกิดอะไรขึ้น คนเหล่านี้แหละที่จะช่วยเราได้”

สาเหตุที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมมาซื้อทองคำย่านเยาวราชเป็นเพราะมีร้านเก่าแก่ดั้งเดิม ร้านเหล่านี้จะขายความเชื่อใจจากชื่อเสียงที่สะสมกันมาหลายร้อยปี การที่ร้านทองต้องสร้างตัวอาคารให้สูงก็เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่า ร้านจะไม่ย้ายไปที่ไหน จะยั่งยืนอยู่ที่นี่ แม้จะต้องใช้เงินลงทุนมาก แต่ก็คุ้มค่าในการสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าหากมาซื้อทองที่นี่ก็ไม่ต้องกลัวโดนหลอกลวง

“สมัยตอนที่สร้างอาคารปีแรกๆ ถนนยังไม่สูงเท่านี้ ลูกค้าที่มาร้านต้องขึ้นบันได 3 ชั้น บางคนถึงกับถอดรองเท้าเหมือนเข้ามาในบ้าน เพราะเขาเกรงใจพื้นที่เป็นหินอ่อน ลูกค้าชอบมาที่นี่ก็เพราะเราเป็นกันเอง เขาเองก็เชื่อมั่นในสินค้าของเราว่ามีคุณภาพ”

ร้านทองตั้งโต๊ะกังถือว่ามีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่รุ่นคุณทวด คุณปู่ คุณพ่อ ซึ่งในยุคนั้นร้านทองแต่ละร้านจะช่วยกันสร้างชื่อเสียงให้ย่านนี้เป็นถนนสายทองคำที่หนักแน่น แต่ในยุคคุณพ่อก็มีบางร้านที่แอบเอาชื่อของตั้งโต๊ะกังไปใช้บ้าง นั่นยิ่งเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าชื่อของร้านทองแห่งนี้ สามารถการันตีคุณภาพและได้รับความเชื่อมั่นอย่างมากจากลูกค้า

tangto07

โต๊ะแห่งผลกำไร ในสายรูปพรรณ…

“ผมคือพะจั๊บของร้านนี้”

พี่กิตติ ฤทธิ์ฉิ้ม ชายวัยกลางคนอายุ 39 ปี ท่าทางคล่องแคล่ว แต่งตัวทะมัดทะแมง รอบเอวคาดด้วยกระเป๋าที่มีเครื่องมือครบครันพร้อมทำงาน เขากล่าวแนะนำตัวด้วยรอยยิ้มท่าทางใจดี

‘พะจั๊บ’ ในภาษาจีนแต้จิ๋ว หมายถึง งานหนักสิบอย่าง แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องทำสิ่งใดเป็นกิจจะลักษณะ

พี่กิตจึงต้องดูแลงานทุกอย่างภายในร้านตั้งแต่ร้านเปิดจนถึงเวลากลับบ้าน รวมไปถึงกระบวนการทำทองด้วย ไม่ว่าจะเรียกใช้ให้ช่วยทำอะไร เขาก็สามารถทำได้ทุกอย่างโดยไม่มีปัญหา ด้วยความมากประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีกับตั้งโต๊ะกัง จึงทำให้เจ้าตัวเล่าเรื่องราวการทำทองได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน

ทองคำความบริสุทธิ์ 99.99% เป็นมาตรฐานทองคำที่นิยมซื้อขายกันในตลาดโลกหรือที่เรียกกันว่าทอง

24 K หรือทองสวิส ซึ่งมีความบริสุทธิ์และความอ่อนตัวของโลหะมากกว่าทองคำความบริสุทธิ์ 96.5%

สำหรับประเทศไทยทองคำที่นิยมซื้อขายจะเป็นทองคำบริสุทธิ์ 96.5% ตั้งโต๊ะกังเป็นร้านทองหนึ่งเดียวในประเทศที่ยังขายทองรูปพรรณความบริสุทธิ์ 99.99% อยู่ เนื่องทางร้านมีความเห็นว่าทองคำที่มีความบริสุทธิ์ 96.5%จะใช้ในการทำทองรูปพรรณเท่านั้น เพราะต้องผสมกับโลหะเพื่อให้มีความแข็งแรงเป็นรูปทรง แต่สำหรับทองคำแท่งที่ร้านจะทำเป็นทองคำบริสุทธิ์ 99.99% ไม่มีสิ่งใดเจือปน เมื่อลูกค้านำไปแลกขายที่ไหน ก็ยังคงได้ราคาดี มีมูลค่าสูง แม้จะมีต้นทุนจะสูงมากกว่าทอง 96.5% ประมาณ 700-800 บาทก็ตาม

ที่นี่นำเข้าทองจากต่างประเทศ เพราะมีมาตรฐานและความน่าเชื่อถือมาก เมื่อต้องนำไปแปรรูป ก็นำมาหลอมในเบ้าให้เป็นทอง 96.5% นำไปตีแล้วรีดเป็นเส้นลวด ตีเป็นแผ่น หรือนำไปหล่อขึ้นรูป จากนั้นก็นำไปทำเป็นทองรูปพรรณต่อไป

“เสน่ห์ของร้านทองตั้งโต๊ะกัง คือเทใส่เบ้าหลอมสดๆ ใช้มือทำ ทองของเราเลยนุ่ม และนิ่ม”

พะจั๊บเล่าถึงความพิเศษของทองตั้งโต๊ะกังที่หาที่ไหนเปรียบไม่ได้นั้น คงหนีไม่พ้นการขึ้นรูปด้วยมือ และการหลอมด้วยกรรมวิธีแบบดั้งเดิม ทองที่ออกมาจึงมีความสวยงาม ประณีต สร้อยขอไม่แข็งกระด้าง ขดงอเหมือนกับที่ใช้เครื่องจักรทำ

“ตอนนี้ที่ร้านเหลือช่างทองเพียงคนเดียวแล้ว ที่เหลือกลับไปทำที่บ้าน”

ด้วยเหตุผลของความไม่สะดวก หากช่างทองต้องพักอยู่ด้วยกันที่ร้าน อาจมีปัญหาเรื่องความไม่เชื่อใจกัน การให้ทองกับช่างไปทำงานที่บ้าน ทางร้านจะต้องคำนวณน้ำหนักให้เอง แล้วอาจจะเพิ่มน้ำประสานทองให้ด้วย พร้อมกับค่าแรงซึ่งคิดตามจำนวน รายละเอียด ความยากง่าย และค่ากำเหน็จ ส่วนช่างเองต้องควบคุมน้ำหนักและเปอร์เซ็นต์ของทองให้ได้ตามสั่ง ซึ่งทางร้านจะมีการตรวจสอบด้วยการเลือกสุ่มเส้นต่อเส้น

ในยุคก่อนๆ เจ้าของร้านจะมีโต๊ะรับออเดอร์แยกรับงานจากลูกค้า และจัดแจงส่งงานให้ช่างแต่ละคนอีกที ซึ่งลูกค้าจะไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับช่างโดยตรง เพราะอาจจะไปกวนสมาธิ และสร้างความวุ่นวาย

บนชั้นสามของตึกได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำงานของช่างทองหนึ่งเดียวของที่นี่ อุปกรณ์ทุกอย่างถูกวางเรียงรายอยู่บนโต๊ะ ทั้งตะไบ คีมหนีบ กรรไกร อายุการใช้งานของเครื่องมือแต่ละชนิดคงไม่ต่ำกว่า 20 ปีเป็นแน่ แต่กลับทำให้อุปกรณ์ทำมาหากินเหล่านี้ดูมีประสบการณ์มากขึ้นพอๆ กับอายุการทำงานของช่างทอง พี่อรุณ (ขออนุญาตไม่เปิดเผยนามสกุล) ช่างทองรุ่นสุดท้ายของร้านในวัย 35 ปี แสดงฝีมือความชำนาญในการทำทองรูปพรรณให้ประจักษ์แก่สายตาทุกคน ด้วยการสืบทอดวิชามาหลายยุคหลายสมัย กระทั่งตัวเขาเองก็ได้รับวิชาความรู้มาจากผู้เป็นพ่ออีกที

เขาเริ่มเรียนรู้และหัดทำตั้งแต่อายุ 5 ขวบด้วยการสังเกตและคลุกคลีกับพ่อทุกวัน

“ตอนนั้นพ่อก็เริ่มให้เราทำอะไรง่ายๆ ก่อน บางทีก็ให้ไปขัดทองให้ขึ้นเงา แล้วพอโตขึ้นมาเรื่อยๆ เขาถึงจะให้ลองทำจริงๆ”

การทำสร้อยทองจะต้องใช้สมาธิอย่างมาก ระหว่างการพูดคุยพี่อรุณก็ต้องมีสมาธิไปกับการร้อยข้อต่อของทองแต่ละเส้นให้แม่นยำ เขาค่อยๆ นำทองมาคล้องต่อกันด้วยจังหวะมือที่พอดี ใช้คีมหนีบทองแต่ละข้อให้ลงล็อค หากไม่เช่นนั้นแล้วทองที่ออกมาจะไม่นุ่ม และแข็งกระด้าง อีกทั้งสายตาต้องประสานไปพร้อมกับมือ แตะน้ำประสานทองเชื่อมทองแต่ละข้อเข้าด้วยกัน แล้วหลอมมันด้วยเปลวไฟ

การทำทองไม่เหมือนกับการทำเครื่องประดับ หรือจิวเวลรี่ที่ต้องใช้ความชำนาญที่ต่างกัน

“สำหรับมือใหม่ ต้องเริ่มหัดจากโลหะเงินก่อน ให้ได้ลองใช้เครื่องมือจนชำนาญแล้วค่อยมาเริ่มทำทอง”

ในการเชื่อมทองแต่ละครั้งอาจมีความผิดพลาด เช่น หล่อแล้วข้อไม่ตรงกัน หรือน้ำประสานเชื่อมทองไม่ตรงข้อ ทำให้บางครั้งต้องนำทองกลับไปหลอมสกัดใหม่อีกครั้ง หากช่างไม่ชำนาญ สร้อยทองที่ทำออกมาจะไม่นิ่ม มีความแข็ง หรือเรียกว่า “ข้อตาย” ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความท้าทายอีกอย่างสำหรับช่างทองก็คือ ต้องคำนวณน้ำหนักและความยาวของสร้อยแต่ละชิ้นให้ออกมาพอดีกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ ตั้งแต่ 50 สตางค์ 1 สลึง 2 สลึง 1 บาท ไปเรื่อยๆ

“เมื่อก่อนคนเขาไม่รู้ว่าจะซื้อทองหนักเท่าไรดี เขาเลยบอกว่าเอาหนักเท่ากับเหรียญบาท”

พี่กิตติหันมาเล่าให้เราได้คลายสงสัยถึงที่มาของน้ำหนักทองที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน โดยเทียบกับน้ำหนักเหรียญหนึ่งบาทในสมัยก่อนที่มีลักษณะเป็นรูตรงกลาง ด้วยเหตุนี้เองทำให้ช่างทองของไทยต้องคำนวณน้ำหนักให้ถูกต้องตามมาตรฐานแบบเป๊ะๆ เป็นการเพิ่มความยากที่ต้องเค้นเอาทุกประสบการณ์ที่สั่งสมกันไว้มาใช้ในการทำ ต่างจากช่างทองต่างประเทศที่ไม่ว่าจะผลิตออกมาแล้วได้น้ำหนักไหน ก็จะซื้อขายกันตามน้ำหนักนั้น

สมัยก่อนมีการใช้ระบบตราชั่งแบบจีน แยกเป็น ตำลึง สลึง หุน หลี เรียงลำดับจากค่ามากไปน้อย 1 ตำลึงมีค่าเท่ากับ 10 สลึง และ 1 สลึงมีค่าเท่ากับ 10 หุน อย่างนี้ไปเรื่อย ซึ่งระบบการคำนวณนี้นำมาใช้จากการดีดลูกคิด แต่เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน ระบบมาตราเมตริกแบบสากลได้นำมาใช้ในประเทศไทย การคิดคำนวณน้ำหนักจึงเปลี่ยนมาใช้เป็น กรัม และกิโลกรัม อย่างในปัจจุบัน

ลวดลายที่ขายอยู่ในปัจจุบันก็เหลือเพียงลายยอดนิยม ที่ขายต่อกันมาตั้งแต่รุ่นก่อน นั่นก็คือ ลายห่วงคู่ ลายผ่าหวาย และลายคดกริช

“วิธีสังเกตทองรุ่นเก่าจะตัน ส่วนทองสมัยใหม่จะตีโป่ง มีลักษณะอ้วนเบา ข้างในมันกลวงเลยทำให้น้ำหนักเบา แต่ทองมีขนาดใหญ่ขึ้น” พี่กิตติวางสร้อยทองสองรุ่นลงบนมือซ้ายและขวาของเรา ให้ลองเทียบน้ำหนัก

ผ่านไปค่อนวัน ข้อต่อทั้งหมดก็ถูกประกอบรวมกันเป็นเส้นเดียว ถ้าสังเกตดูให้ดีสร้อยทองทุกเส้น ทองคำทุกแท่งจะถูกตีตราค่าความบริสุทธิ์ของทอง และเพื่อเพิ่มการการันตีคุณภาพ ทางร้านจึงตอกโลโก้ตั้งโต๊ะกังลงไปด้วย หากลูกค้าซื้อทองไปแล้วนำมาขายคืน ที่ร้านก็จะรับซื้อกลับทันที

นอกจากช่างทองที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของร้านทองแห่งนี้แล้ว พนักงานขายและพนักงานบัญชีก็เป็นคนสำคัญให้การขับเคลื่อนตั้งโต๊ะกังเช่นกัน

“ตอนที่ผมมาใหม่ พนักงานรุ่นนี้ยังไม่ได้เข้ามาเลย แต่ก่อนจ้างเฉพาะญาติพี่น้อง คนที่รู้จัก แต่ผมคิดว่าต่อไป ถ้าญาติๆ ไม่อยากมาทำงานกับเรา แล้วเราจะทำอย่างไร”

ด้วยเหตุนี้ไชยกิจจึงริเริ่มในการว่าจ้างพนักงานใหม่เข้ามาทำงาน จากการคัดเลือกด้วยตัวเขาเอง ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยระบบที่สามารถควบคุมดูแลได้ด้วย

“ผมเป็นคนคัดเลือกเข้ามาเองทั้งหมด ถ้าเป็นคนนิสัยใจคอดีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ผมก็ทาบทามเข้ามาที่ร้าน มีพนักงานบางคนที่แต่ก่อนเป็นพะจั๊บ ก็คือเด็กที่คอยดูแลร้าน ไม่ได้ยุ่งกับทองเลย แต่เขาเป็นคนซื่อสัตย์ อยู่ที่ร้านมาตั้งแต่ยังเด็กๆ ผมดูเขาแล้วก็เห็นแวว ลองให้เขามาเรียนรู้ในร้าน”

ในตอนแรกที่เขาให้พะจั๊บมาเป็นพนักงานขาย ทางผู้ใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าไม่ใช่ญาติพี่น้อง จึงไม่มีสิ่งใดมายืนยันความไว้เนื้อเชื่อใจได้ แต่เจ้าตัวก็ยืนยันว่าระบบของเขาสามารถตรวจสอบได้ ทั้งพนักงานขายและพนักงานบัญชี หาทำผิดก็มีการทำโทษ เมื่อมีระบบทางร้านก็สามารถจับคนทำผิดได้ จากนั้นระบบจะดำเนินการเอง

tangto08

tangto09

… พิพิธภัณฑ์ทองคำ

“คุณค่าของบางอย่าง มันประเมินค่าไม่ได้ ถ้ามองว่ามันเป็นเศษเหล็ก มันก็จะเป็นแค่เศษเหล็ก แต่พอเอามาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ว่าในอดีตมีความเป็นมาอย่างไร มันมีคุณค่ากว่านะ”

จากแนวคิดที่เป็นการจุดประกายในวันนั้น ทำให้ไชยกิจริเริ่มนำเครื่องมือการทำทองในยุคก่อนมาจัดเก็บรวบรวมจนเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นบนชั้น 6 ของอาคารเก่าแก่หลังนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 โดยไม่เสียค่าเข้าชมใดๆทั้งสิ้น

“พอคุณปู่กับคุณพ่อย้ายไป ชั้นบนสุดปิดไว้จนไม่มีใครกล้าขึ้น ข้าวของต่างๆ ที่บรรพบุรุษสะสมมาก็เต็มไปหมด อีกทั้งตึกนี้ก็เริ่มโทรม เลยรู้สึกว่าอุตส่าห์สร้างตึกมาอย่างดีแล้ว แล้วก็ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย เราก็ควรจะตกแต่งให้ดีๆ”

ทายาทรุ่นปัจจุบันผู้นี้ยังเล่าต่ออีก ในวันตรุษจีนปี 2544 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จมาเยาวราช และเสด็จมาที่ร้านทองตั้งโต๊ะกังเป็นครั้งแรก จึงต้องตกแต่งใหม่ให้สมพระเกียรติ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เขาเริ่มบูรณะอาคารขึ้นพร้อมกับก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ ด้วยความตั้งใจว่าอยากจะให้ลูกหลานได้เรียนรู้

“พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ผมทำเพื่อจะสอนคนรุ่นหลัง และลูกๆ ด้วยว่า ถ้าคิดท้อเมื่อไร ให้ขึ้นไปดูว่ารุ่นคุณปู่คุณทวด เขาเจออะไรหนักกว่านี้เยอะ คุณจะท้อไม่ได้ คุณต้องมีใจเท่านั้นเองที่สำคัญที่สุด”

ในพิพิธภัณฑ์บนชั้น 6 ของอาคาร ได้บอกเล่าเรื่องราวตำนานห้างทองถึงวิถีชีวิต และรากเหง้าของบรรพบุรุษที่สั่งสมมานานกว่าร้อยปี อุปกรณ์และเครื่องมือทำมาหากินอันเก่าแก่ตั้งแต่สมัยเริ่มก่อร้างสร้างตัวได้รับการเก็บสะสมไว้ในอาคารแห่งนี้ หวนให้นึกถึงบรรยากาศเก่าๆ ที่ยังประดิษฐ์เครื่องมือขึ้นใช้ผสมกับภูมิปัญญาเก่าแก่ของบรรพบุรุษ

“เราเสียดายของเก่าแก่ที่ร้าน ถ้าเกิดเราไม่เก็บ ไม่ทำมันก็จะเป็นแค่อดีตที่ไม่มีใครรู้จัก”

ภายในห้องนี้ยังมีครุฑตัวใหญ่คู่แรกที่ปลดประจำการจากหน้าอาคาร มาเก็บรักษาไว้ เขาเล่าว่า หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เศรษฐกิจย่ำแย่ลง ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์จึงพระราชทานตราครุฑมาให้ห้างร้านต่างๆ เพื่อแสดงถึงความน่าเชื่อถือ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนนำเงินออกมาจับจ่ายใช้สอย ร้านทองตั้งโต๊ะกังถือเป็นร้านทองแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับตราครุฑพระราชทานมาเมื่อ พ.ศ. 2464

tangto10

tangto11

กังวานไกลสืบสกุล ส่งไปไม่สิ้นสุด…

“หากคนรุ่นใหม่เข้ามาทำต่อ แล้วเห็นว่ามีอะไรที่จะช่วยทำให้มันดีขึ้นกว่านี้อีก ผมก็ยินดีรับฟังสนับสนุน”

ไชยกิจกล่าวทิ้งท้ายก่อนจะเริ่มส่งต่อกิจการร้านทองตั้งโต๊ะกังไปยังรุ่นต่อไป ด้วยความคิดที่ทันสมัย และความใจกว้างที่เปิดรับสิ่งใหม่ตลอดเวลา จึงเป็นสิ่งที่ช่วยย้ำก้าวต่อไปของร้านทองแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

“พิซซ่ามีส่งแบบเดลิเวอรี่ ร้านผมก็มีส่งทองแบบเดลิเวอรี่เหมือนกัน”

การบริการลูกค้าแบบครบวงจรของที่นี่ช่วยให้ลูกค้ามีความประทับใจอย่างมาก เพราะลูกค้าประจำของที่ร้านหลายคนไม่อาจเดินทางมาซื้อทองได้ การจัดส่งถึงหน้าบ้านจึงเป็นวิธีที่สะดวก ได้ใจทั้งลูกค้า และเพิ่มยอดการขายให้กับทางร้านด้วย

ลมหายใจของการทำร้านทองแบบดั้งเดิมส่งต่อมายังทายาทรุ่นต่อไป พี่เจ เจนวลี ตันติกาญจน์ ทายาทรุ่นที่ 5 ของตั้งโต๊ะกัง หญิงสาวรุ่นใหม่ไฟแรงวัย 30 ปี จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) ได้เริ่มเข้ามาเรียนรู้งานเพื่อสืบตำนานสายทองคำ

“เราสนุกกับงานดีไซน์มาก ก็เลยมานั่งคิดว่าคนรุ่นใหม่อยากได้อะไร อยากใส่อะไร แล้วเขามีกำลังซื้อหรือเปล่า เราอยากทำอะไรให้มันสนุก”

การทำความเข้าใจกระบวนขั้นตอนทุกอย่าง ตั้งแต่หน้าร้านไปจนถึงกระบวนการผลิตทั้งหมด ทำให้เธอเริ่มเข้าใจชีวิตของทองมากขึ้น พี่เจเริ่มเข้ามาเรียนรู้งานจากการทดลองขายทองในร้าน การสังเกตและซักถามเรื่องที่ไม่เข้าใจทำให้เธอพัฒนาต่อ

เมื่อเธอได้เห็นทองเก่าที่ลูกค้านำมาขาย ลวดลายวิจิตรงดงามซึ่งหาไม่ได้ ทำให้เธอไม่หยุดที่จะพัฒนาต่อ

การสร้างทองคำให้ตอบสนองกับคนรุ่นใหม่ถือเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยต่อลมหายใจของตั้งโต๊ะกังให้กลับมาผงาดอีกครั้ง ในเมื่อมีวัตถุดิบอยู่แล้ว ก็ย่อมเป็นต่อกว่าคนอื่น พี่เจจึงเลือกปรุงรสชาติให้อร่อยถูกปากกับคนรุ่นใหม่ยิ่งขึ้น

 

……………………………………..

ต่อให้อดีตของตั้งโต๊ะกังเคยรุ่งเรือง แต่ในช่วงที่ผ่านมาก็มีช่วงเวลาที่ไม่หอมหวานปะปนอยู่เสมอ หลายครั้งผู้สืบทอดกิจการต้องคิดถึงการประคองธุรกิจให้อยู่รอดทั้งประสบการณ์ที่ยาวนานของการดำเนินธุรกิจและความประณีตในการทำลวดลายทองที่ตอกยี่ห้อตั้งโต๊ะกังไว้ที่ตัวสินค้าทุกชิ้นตกเป็นมรดกสู่ทุกรุ่นและช่วยสั่งสมให้ธุรกิจนี้อยู่รอดไปได้ แม้จะต้องฝ่าฟันธุรกิจทองคำที่ยังไม่เห็นทีท่าว่าจะหยุดนิ่งได้อีกเมื่อไรก็ตามที

ตราบใดที่ยังไม่สิ้นลมหายใจ เราคงยังได้ยินเสียงคำรามของเสือทองคำก้องกังวานไปทั่วแดน…