สุเจน กรรพฤทธิ์ : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ

Daniel Price - ดร. แดเนียล ไพรซ์ กับภารกิจ “ส่งสาร” สู่ปารีสวันแรกที่เราพบ ดร. แดเนียล ไพรซ์(Daniel Price) หรือ “แดน” ที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ กรุงเทพฯ เขามีไข้เล็กน้อยและเพิ่งทดลองปั่นจักรยานฝ่าสภาพอากาศร้อนจัดมาจากย่านถนนข้าวสาร

เบื้องต้นเราไม่แปลกใจที่นักวิทยาศาสตร์อย่าง ดร. ไพรซ์ปั่นจักรยาน เพราะสมัยนี้ไม่ว่าคนไทยหรือฝรั่งก็นิยมเดินทางด้วยจักรยานพอสมควร

ทว่าสำหรับแดนการปั่นจักรยานของเขามีความหมายมากกว่าการเดินทาง เพราะเขามี “วาระ” นำสารจากขั้วโลกใต้ไปสู่การประชุมครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ ซึ่งน่าเชื่อว่า “มนุษยชาติ” ส่วนมากของโลกไม่ได้ให้ความสนใจ

การประชุมที่ว่าคือ “การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสมัยที่ ๒๑ ขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (the 21st Session of the Conference of the Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change) หรือ COP21 เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันในการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่จะเริ่มประชุมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๐๑๕ ซึ่งแดนบอกเราว่าเป็น “ปัญหาท้าทายที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยเผชิญ” และถ้าหาทางออกไม่ได้ก็เท่ากับจุดจบอารยธรรมในอีกไม่เกิน ๒ ศตวรรษนับจากนี้

หลังทำงานอยู่ในทวีปแอนตาร์กติกา (ขั้วโลกใต้) แดนในฐานะนักวิทยาศาสตร์และ “นักวิจัยน้ำแข็งทะเล” (sea ice researcher-ตามที่เขาเรียกตัวเอง) ตระหนักถึงจุดจบที่ใกล้เข้ามา สภาวการณ์ในดินแดนที่มีสภาพแวดล้อมสุดขั้ว แต่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกบอกเขาว่า สถานการณ์ข้างหน้า “อาจยิ่งกว่าภาพยนตร์ฮอลลีวูด” หากมนุษย์ไม่ทำอะไรเลยกับปัญหาโลกร้อน มนุษย์จะพบ “จุดจบของอารยธรรม” อย่างแน่นอน

แดนเล่าว่า วันนี้คนจำนวนมากเบื่อคำว่า “โลกร้อน” เสียแล้ว ซ้ำบางคนยังหมดหวัง ทั้งที่นี่ไม่ใช่อีเวนต์ซึ่งผ่านมาแล้วก็ผ่านไป และการ “ลืม” ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจบลง

แดนตัดสินใจว่าจะ “สื่อสาร” กับคนทั้งโลก เขาตัดสินใจวางอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ กระโดดขึ้นอานจักรยาน แล้วปั่นรณรงค์แคมเปญ “Pole to Paris” ให้คนตระหนักถึงเรื่องนี้จากนิวซีแลนด์ไปยังกรุงปารีส สถานที่จัดประชุม COP21 ด้วยระยะทาง ๑๗,๐๐๐ กิโลเมตร เพื่อว่าถึงตอนนี้มนุษยชาติยัง “มีหวัง” และปัญหาโลกร้อนยังรับมือได้หากลงมือแก้ไขเร็วพอ

สารคดี สัมภาษณ์แดนระหว่างขี่จักรยานผ่านเมืองไทยเพื่อนำ “สารจากขั้วโลกใต้” ที่บรรจุอาการป่วยล่าสุดของโลกมานำเสนอแก่ผู้อ่านชาวไทยในฐานะส่วนหนึ่งของ “มนุษยชาติ”

ที่ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องนี้อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

ทราบว่าคุณเรียนจบจากมหาวิทยาลัยในอังกฤษแล้วต่อปริญญาเอกที่นิวซีแลนด์และได้ทำงานที่ขั้วโลกใต้
ผมจบปริญญาตรีและโทที่อังกฤษก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาเอกที่นิวซีแลนด์ ๔ ปี ช่วงเรียนปริญญาเอกนี่เองผมมีโอกาสทำงานที่ขั้วโลกใต้ ต้องเล่าย้อนไปว่าสมัยเด็กผมเคยอยากเป็นนักบินเครื่องบินขับไล่ แต่ก็เปลี่ยนใจใน ค.ศ. ๒๐๐๓ เพราะปีนั้นสหรัฐอเมริกาทำสงครามกับอิรักโดยรัฐบาลอังกฤษสนับสนุน ตอนนั้นผมอายุ ๑๔ ปี ได้ติดตามข่าวสารตลอดเวลา จึงไม่เห็นด้วยกับนโยบายทำสงครามของสหรัฐฯ เหตุการณ์นี้ทำให้ผมเบนเข็มไปเรียนต่อด้านสิ่งแวดล้อม ด้านหนึ่งผมก็ชอบผจญภัย เคยออกเดินเรือในทะเลกับพ่อ พออายุ ๑๗ ปีผมเข้าทำงานกับหน่วยยามฝั่ง (coast guard) ในอังกฤษ ซึ่งเป็นหน่วยงานขนาดใหญ่ มีภารกิจช่วยชีวิตผู้ประสบภัยในทะเล ลักษณะงานคล้ายกับที่เจ้าชายวิลเลียมทรงทำ คือขับเฮลิคอปเตอร์กู้ภัย ต่างตรงที่เราออกเรือไปช่วย และแน่นอนว่าต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นรวมถึงหน่วยงานที่เจ้าชายทรงงานอยู่ด้วย

ตอนทำงานที่นั่นคุณช่วยไว้ได้กี่คน
คุณถามผมอย่างกับหนังฮอลลีวูดเรื่อง The Guardian ที่พระเอกเป็นยามฝั่งซึ่งถูกถามเสมอว่าช่วยไว้ได้กี่คน (หัวเราะ) เท่าที่นึกออกช่วยไว้ได้ประมาณ ๔๐ คนครับ (ยิ้ม) แต่ไม่เหมือนในหนัง เรานั่งเรือออกไป สวมชุดสูทสำหรับว่ายน้ำ งานนี้ทำให้ผมสนใจสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศรอบตัวมากขึ้น ช่วงวัยเด็กผมเติบโตในลอนดอน เช่นเดียวกับคนอีกร้อยละ ๕๐ ของโลกที่ตอนนี้อาศัยอยู่ในเมือง เมื่อคุณอยู่ในเมืองการทำความเข้าใจระบบธรรมชาติก็ยาก ผมโชคดีที่ต่อมาย้ายไปอยู่ชนบท มีเวลาใช้ชีวิตกลางแจ้งเพิ่มขึ้น พอจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ผมก็ยิ่งอยากเรียนรู้กลไกธรรมชาติ โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่ส่งผลต่อมนุษย์มากขึ้นในยุคของเรา สมัยเรียน ป. ตรีผมศึกษาประวัติศาสตร์สภาพแวดล้อมโลกมาแล้ว เมื่อเรียน ป. เอกผมจึงเล็งทวีปแอนตาร์กติกาอันเป็นสถานที่ที่พิเศษ สำคัญต่อปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาก ๆ ผมไปศึกษาน้ำแข็งทะเล (sea ice) หิ้งน้ำแข็ง (ice shelf) ที่ยื่นไปในทะเลเป็นระยะไกล และสถานการณ์ของน้ำแข็งบก (land ice)

ทำไมคุณต้องดั้นด้นไปศึกษาน้ำแข็งทะเลถึงขั้วโลกใต้
การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมบริเวณขั้วโลก (polar amplification) จำเป็นอย่างมากในแง่วิทยาศาสตร์ เพราะบริเวณนี้ละเอียดอ่อนและไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกมาก เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พื้นที่ขั้วโลกจะได้รับผลกระทบมากกว่าบริเวณอื่นสองเท่า โดยเฉพาะแถบอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) หลายปีที่ผ่านมาเราจะได้ยินข่าวบ่อยครั้งว่าน้ำแข็งขั้วโลกละลายเพราะอุณหภูมิสูงขึ้น เหตุการณ์นี้ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร ทั้งยังส่งผลต่อสภาพอากาศในภูมิภาคอื่นของโลกด้วย นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงต้องไปติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดที่ขั้วโลกใต้ ที่นั่นมีสถานีทดลองทางวิทยาศาสตร์ของหลายประเทศ

ผมไปทำงานที่ฐานสกอตต์ (Scott Base) ของนิวซีแลนด์ด้วยเครื่องบินขนส่งเครื่องมือและเสบียงของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ฐานนี้ตั้งบนเกาะใกล้หิ้งน้ำแข็งรอสส์ (Ross Ice Shelf) และทะเลรอสส์ (Ross Sea) ด้านตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกาพิกัดละติจูดที่ ๗๗ องศาใต้ (ดูแผนที่) ตั้งชื่อตามนาวาเอก โรเบิร์ต ฟอลคอน สกอตต์ (Captain Robert Falcon Scott) นายทหารเรือชาวอังกฤษที่เคยเดินทางมาสำรวจขั้วโลกใต้ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งมีภารกิจคือการไปจุดที่เป็นขั้วโลกใต้ แต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตามการสำรวจของกัปตันสกอตต์ไม่ได้มีเป้าหมายแค่ไปถึงขั้วโลกใต้อย่างเดียว ยังมีอีกภารกิจคือศึกษาสภาพแวดล้อมและทดลองทางวิทยาศาสตร์ นั่นเป็นเหตุผลที่ฐานนี้ตั้งชื่อตามกัปตันสกอตต์ ผมไปขั้วโลกใต้สองครั้ง อยู่ครั้งละ ๑ เดือน เพื่อติดตามสถานการณ์ของพืดน้ำแข็ง (ice sheet) ว่ายังมั่นคงอยู่หรือไม่

danielprice03ชีวิตประจำวันที่ขั้วโลกใต้เป็นอย่างไรบ้าง
ผมไปที่ฐานสกอตต์ด้วยเครื่องบินส่งเสบียงของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ฐานสกอตต์ไกลจากจุดขั้วโลกใต้ในเชิงภูมิศาสตร์ประมาณ ๑,๕๐๐ กิโลเมตร สร้างจากเหล็กและโลหะ จึงมองดูคล้ายอาณานิคมบนดาวดวงอื่นแบบในหนังวิทยาศาสตร์ หรือสถานีอวกาศที่อยู่ในดินแดนอ้างว้าง ฐานมีหน้าที่อย่างโรงแรม คือเป็นที่นอน ทุกอาคารเชื่อมกัน หากปราศจากชุดทำงานโดยเฉพาะจะออกไปข้างนอกไม่ได้ เนื่องจากอุณหภูมิต่ำมากจนมนุษย์อยู่ไม่ได้ กิจวัตรประจำวันคือตื่นมารับประทานอาหารเช้า ไปทำงานข้างนอกด้วย “snow mobile” (รถเลื่อนหิมะติดมอเตอร์) แล้วก็กลับมาตอนกลางคืน สมัยก่อนใช้สุนัขลากเลื่อน แต่ตอนหลังเลิก เพราะถ้ายังใช้สุนัขเราต้องฆ่าสัตว์แถวนั้นให้พวกมันกิน มีครั้งหนึ่งผมออกไปนอนนอกฐาน คือหลังจบปริญญาเอกผมกลับไปที่นั่นอีกครั้งเพื่อวิจัย “น้ำแข็งบก” ที่เกิดจากการสะสมตัวของหิมะ โดยกางเต็นท์กับทีมห่างจากฐานสกอตต์ ๘๐ กิโลเมตร ราว ๒ สัปดาห์ ใช้เป็นเต็นท์พักอาศัยสามหลัง ห้องน้ำหนึ่งหลัง จำได้ว่าในเต็นท์อุณหภูมิติดลบ ๑๐-๒๕ องศาเซลเซียส นอกเต็นท์อุณหภูมิติดลบ ๔๐ องศาเซลเซียส ต้องนอนในถุงนอนสองชั้น การสื่อสารทั้งหมดใช้คลื่นวิทยุเพราะไม่มีคลื่นโทรศัพท์มือถือ

แถบขั้วโลกใต้มีเพียงสองฤดู คือ ฤดูร้อน (กันยายน-มีนาคม) และฤดูหนาว (เมษายน-สิงหาคม) อุณหภูมิสูงสุดของฤดูร้อนเท่าที่เคยบันทึกไว้คือ -๑๒.๓ องศาเซลเซียสในเดือนธันวาคม ๒๐๑๑ การทดลองทางวิทยาศาสตร์จึงทำช่วงฤดูร้อน ผมไปเริ่มงานเดือนพฤศจิกายนหรือไม่ก็ธันวาคม ฤดูร้อนจะเห็นดวงอาทิตย์นานกว่า ๕ เดือน ลอยอยู่ตรงขอบฟ้า พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ทุกคนต้องถอนตัวออกมา เหลือแค่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลฐาน เพราะในฤดูหนาวอุณหภูมิอาจติดลบถึง ๙๐ องศาเซลเซียส สภาพนั้นเราไม่สามารถทำอะไรได้ ฤดูหนาวพระอาทิตย์จะไม่ขึ้นเลย ก่อนจะกลับมาขึ้นอีกครั้ง สังเกตจากระยะเวลาที่มีแสงแดดจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีแสงแดดตลอด ๒๔ ชั่วโมงซึ่งนั่นแสดงว่าเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ปัญหาก็คือคุณต้องหลับให้ได้กลางแสงสว่างแบบนั้น (หัวเราะ) การทดลองทางวิทยาศาสตร์ในขั้วโลกใต้ปัจจุบันดำเนินการตามระบบสนธิสัญญา Antarctic Treaty System (ATS) อันประกอบด้วยข้อตกลงหลายฉบับ สาระหลักคือให้ทวีปแอนตาร์กติกาเป็นพื้นที่ทดลองทางวิทยาศาสตร์และปลอดกิจกรรมทางทหาร

งานของคุณเหมือนที่เราเห็นใน Discovery Channel ที่เจาะแท่งน้ำแข็งขึ้นมาทดลองหรือเปล่า
ก่อนจะเล่าเรื่องงาน อยากเล่าให้ฟังว่าแอนตาร์กติกาใหญ่กว่าประเทศออสเตรเลียประมาณ ๑.๕ เท่า นี่คือทวีป ทีนี้มาทำความเข้าใจเรื่องน้ำแข็ง ที่ปรากฏมีสองประเภท ประเภทแรกก่อตัวจากหิมะที่ตกสะสมกันจนชั้นน้ำแข็งหนาเฉลี่ยราว ๓ กิโลเมตร เรียกว่าน้ำแข็งบก (land ice) ซึ่งปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของแอนตาร์กติกา รวมถึงธารน้ำแข็ง (glacier) ด้วย น้ำแข็งบกมีอยู่ทั่วโลก กินพื้นที่ร้อยละ ๑๐ ของโลก หรือ ๑๗ ล้านตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่อยู่ในแอนตาร์กติกา คือ ๑๕ ล้านตารางกิโลเมตร น้ำแข็งประเภทที่ ๒ เกิดจากการแข็งตัวของน้ำในมหาสมุทรในฤดูหนาว เรียก “น้ำแข็งทะเล” (sea ice) ซึ่งเป็นงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผม ผมศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับน้ำแข็งทะเลที่ก่อตัวในมหาสมุทรรอบแอนตาร์กติกาด้วยดาวเทียมหลายดวง ใช้ดาวเทียมขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐฯ (NASA) และองค์การการบินยุโรป (EASA) ดูการสะสม-ขยาย-หดตัว และปัจจัยอื่นที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในแง่ของพื้นที่ทำงาน ทวีปแอนตาร์กติกาแบ่งเป็นส่วนตะวันตก (West Antarctica) และตะวันออก (East Antarctica) มีแนวเทือกเขา Transantarctic Mountains (ดูแผนที่ประกอบ) กั้นกลาง จะเห็นว่าฝั่งตะวันตกมีพื้นที่น้ำแข็งทะเลและพืดน้ำแข็งที่ยื่นไปในทะเลจำนวนมาก (marine based ice sheet) ถ้าน้ำทะเลอุ่นขึ้นจะละลายน้ำแข็งส่วนนี้อย่างรวดเร็ว นี่คือพื้นที่ที่ผมลงไปทำงานตอนเรียนปริญญาเอก

ที่คุณเห็นในทีวีว่านักวิทยาศาสตร์เจาะน้ำแข็งบกแล้วดึงแท่งน้ำแข็งขึ้นมาวิเคราะห์ นั่นคือการสำรวจชั้นบรรยากาศของโลกในอดีต คุณลองจินตนาการถึงทวีปแอนตาร์กติกาไม่มีน้ำแข็ง จู่ ๆ อากาศหนาวยะเยือก แล้วหิมะก็ตกลงมา หิมะเหล่านี้ตกผ่านชั้นบรรยากาศ เก็บอากาศในเวลาที่ตกไว้ก่อนจะทับถมกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า กินเวลานับร้อยล้านปี กลายเป็นไทม์แมชชีนบันทึกสภาพบรรยากาศโลก นักวิทยาศาสตร์จะสกัดอากาศจากชั้นน้ำแข็งเหล่านี้เพื่อศึกษาดูองค์ประกอบต่าง ๆ ของอากาศที่แทรกตัวอยู่ในน้ำแข็ง

ในส่วนงานของผม ผมเองก็ต้องเจาะลงไปในน้ำแข็งทะเลลึกราว ๑-๒ เมตร จากนั้นก็นำผลมาเทียบกับข้อมูลจากดาวเทียมที่ลอยเหนือพื้นโลก ๗๐๐ กิโลเมตร ดาวเทียมเหล่านี้มีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เช่น เรดาร์ แสงเลเซอร์ ฯลฯ ประเมินความหนาและสถานะน้ำแข็ง ดูว่าตรงไหนเป็นพื้นหิน ตรงไหนเป็นน้ำแข็ง นี่เป็นเทคโนโลยีล่าสุดที่ยังไม่ค่อยมีใครใช้ จริง ๆ ในวงโคจรโลกเรามีดาวเทียมสำรวจสภาพแวดล้อมโคจร ๖๐-๗๐ ดวง บางดวงเอกชนเป็นเจ้าของ บางส่วนก็ของรัฐบาล แต่ส่วนมากให้ใช้งานเพื่อการศึกษาฟรี ดาวเทียมเหล่านี้โคจรมาเหนือขั้วโลกใต้ทุก ๑๙ นาที การใช้งานทำผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขียนขึ้นโดยเฉพาะ ผมใช้ดาวเทียมได้อย่างน้อยสามดวง เต็มที่คือห้าดวง

Daniel Price - ดร. แดเนียล ไพรซ์ กับภารกิจ “ส่งสาร” สู่ปารีสตอนนี้สถานการณ์ที่ขั้วโลกใต้เป็นอย่างไร
สิ่งที่ผมเห็นอย่างกับหนังฮอลลีวูด ในฐานะ “นักวิจัยน้ำแข็งทะเล” ผมทำแผนที่ความสมดุลของน้ำแข็งทะเล น้ำแข็งบก และหิ้งน้ำแข็ง ลงจุดกระทั่งหิ้งน้ำแข็งเล็ก ๆ ในนิวซีแลนด์ ดูการสะสมตัวของหิมะและอัตราการละลาย ผลลัพธ์จากข้อมูลทั้งสองนี้จะบอกว่าน้ำแข็งแต่ละพื้นที่อยู่ในสภาพไหน คงต้องอธิบายให้ชัดด้วยว่าหาก “น้ำแข็งทะเล” ละลาย จะไม่ส่งผลต่อระดับน้ำทะเล แต่ถ้าน้ำแข็งบกละลาย ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นแน่นอน

ทวีปแอนตาร์กติกา (ขั้วโลกใต้) นั้นมีทะเลล้อมรอบทุกด้าน ตรงกลางเป็นแผ่นดิน ต่างจากเขตอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) ที่ภูมิประเทศเป็นทะเลทั้งหมด เมื่อน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น น้ำแข็งทะเลที่ขั้วโลกเหนือจะละลายรวดเร็วกว่าที่ขั้วโลกใต้ อย่างไรก็ตามที่ขั้วโลกเหนือเมื่อถึงฤดูหนาวน้ำแข็งทะเลส่วนที่ละลายจะจับตัวเป็นน้ำแข็งทะเลอีกครั้ง นักวิทยาศาสตร์ก็ดูอัตราการละลายในฤดูร้อน ผลคือที่ผ่านมาน้ำแข็งทะเลละลายในอัตราเร่ง ส่วนขั้วโลกใต้ ผมพบว่าน้ำแข็งทะเลในฤดูหนาวมีพื้นที่เพิ่มขึ้นน้อยมาก อีกทั้งสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงเพราะใน ค.ศ. ๒๐๑๔ ทวีปแอนตาร์กติกามีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุดในรอบ ๕๐ ปี เดือนเมษายนที่ผ่านมาอุณหภูมิสูงถึง ๑๗.๕ องศาเซลเซียส เทียบกับกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในเวลาเดียวกันอุณหภูมิอยู่ที่ ๗.๗ องศาเซลเซียส เรื่องนี้น่าตกใจมาก

ตอนนี้น้ำแข็งทะเลบริเวณแอนตาร์กติกาตะวันตกเริ่มไม่มั่นคง เมื่อน้ำทะเลอุ่นขึ้นจะละลายน้ำแข็งทะเลบางส่วนซึ่งไหลทะลักเข้าใต้ฐานหิ้งน้ำแข็งจนเกิดการละลาย ถ้านึกกระบวนการละลายที่เกิดจากน้ำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้นไม่ออก ให้ลองนึกถึงน้ำแข็งที่นำออกจากตู้เย็นแล้วราดด้วยน้ำประปาจากก๊อกที่อุณหภูมิห้อง น้ำแข็งนั้นจะแตกและละลายอย่างรวดเร็ว การสูญเสียน้ำแข็งทะเลกระทบถึงหิ้งน้ำแข็งซึ่งจะละลายตามไปด้วย ผลคือ หิ้งน้ำแข็งที่ยื่นลงทะเลเหล่านี้จะหายไป ไม่มีอะไรประคองธารน้ำแข็งและน้ำแข็งบกไม่ให้หลุดและไหลลงทะเลเร็วเกินไป ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ระดับน้ำทะเลย่อมเพิ่มขึ้น เราจะสูญเสียน้ำแข็งบกและธารน้ำแข็งจะหายไปเรื่อย ๆ ตอนนี้ทางตะวันออกของแอนตาร์กติกาน้ำแข็งบกส่วนมากยังดูดีอยู่ แม้จะเริ่มได้รับผลกระทบแล้ว

สิ่งที่ผมกลัวคือ ถ้าน้ำแข็งบกด้านตะวันตกของแอนตาร์กติกาละลายทั้งหมด น้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้น ๔-๕ เมตร หากน้ำแข็งในแอนตาร์กติกาฝั่งตะวันออกละลายทั้งหมด น้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นอีก ๕๘ เมตร และถ้าน้ำแข็งที่เกาะกรีนแลนด์ (ใกล้ขั้วโลกเหนือ) ละลายหมด ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะเพิ่มอีก ๖ เมตร คำนวณจากสถานการณ์ปัจจุบันคาดว่าน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น ๑ เมตรภายใน ค.ศ. ๒๑๐๐ ที่น่ากังวลคือ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลต่อเขตทุนดราในไซบีเรีย ทำให้น้ำแข็งที่กักเก็บก๊าซมีเทนไว้ใต้ดินเกิดละลาย ซึ่งเป็นปัญหาเพราะก๊าซมีเทนกักความร้อนได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง ๒๐ เท่า สถานการณ์จะแย่ลงแน่ถ้ามันถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลก

Daniel Price - ดร. แดเนียล ไพรซ์ กับภารกิจ “ส่งสาร” สู่ปารีส

ความกังวลหลักตอนนี้คือส่วนตะวันตกของแอนตาร์กติกา
ผมห่วงสถานการณ์พืดน้ำแข็ง West Antarctica Ice Sheet ที่ยื่นลงมหาสมุทร (จากธารน้ำแข็งบนแผ่นดิน) เสี่ยงมากที่จะละลายเนื่องจากน้ำทะเลอุ่นขึ้นและไหลเซาะเข้าไปยังฐานน้ำแข็ง ซึ่งจะรุกส่วนที่เป็นแผ่นดินมากขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องนี้เกี่ยวพันกับอีกเรื่อง คุณคงเคยได้ยินเรื่องรูโอโซนขนาดใหญ่ที่ขั้วโลกใต้ซึ่งสาเหตุมาจากการปล่อยสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ที่ใช้ทำความเย็นในตู้เย็น สาร CFC นี้ถูกทั่วโลกแบนตามพิธีสารมอนทรีออลในทศวรรษที่ ๑๙๘๐ รูโอโซนส่งผลให้สภาพแวดล้อมที่ขั้วโลกใต้ต่างจากส่วนอื่นของโลกโดยสิ้นเชิง แสงอัลตราไวโอเลตที่ก่อมะเร็งนั้นจะส่องถึงผิวโลกมากขึ้นในบริเวณนี้ เกิดปฏิกิริยาทางเคมีบนชั้นบรรยากาศ ผลคือฤดูหนาวที่แอนตาร์กติกามีอุณหภูมิต่ำมากผิดปรกติ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่เกิดขึ้นบริเวณขั้วโลกเหนือที่มีรูโอโซน ปัจจุบันเมื่อสาร CFC หายไป โอโซนก็ฟื้นฟูตัวเอง ทว่าความย้อนแย้งคือสภาพอากาศของขั้วโลกใต้กลับมาเชื่อมกับพื้นที่อื่น ๆ ของโลกอีกครั้ง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศบริเวณอื่นของโลกจึงส่งผลต่อที่นี่ด้วย ปรากฏการณ์แปลก ๆ อีกเรื่องคือ กระแสลมรอบแอนตาร์กติกาพัดแรงขึ้น ทำให้น้ำแข็งก่อตัวในเขตละติจูดที่สูงขึ้น (หมายถึงพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณรอบทวีปแอนตาร์กติกา) แม้น้ำทะเลจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนก็ตาม

ตอนนี้น้ำแข็งบกด้านตะวันตกของแอนตาร์กติกาไม่เสถียร ขณะฝั่งตะวันออกเริ่มได้รับผลกระทบ แต่ด้วยน้ำแข็งบกฝั่งตะวันออกปกคลุมพื้นที่กว้างและค่อนข้างหนาจึงยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนที่เป็นข่าวใหญ่เมื่อหลายปีก่อน คือต้น ค.ศ. ๒๐๐๒ หิ้งน้ำแข็งลาร์เซนบี (Larsen B Ice Shelf) บริเวณทะเลเวดเดลล์ (Weddell Sea) ติดแหลมแอนตาร์กติกซึ่งยื่นออกจากธารน้ำแข็งที่มีอายุนับหมื่นปีบนแผ่นดินนั้นพังทลายไป ตอนนี้เรากำลังจับตาดูลาร์เซนซีและลาร์เซนเอที่อยู่ใกล้กัน

อย่างที่ผมอธิบายไปก่อนหน้านี้ น้ำแข็งมีกลไกการละลายค่อนข้างซับซ้อน อันเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น อุณหภูมิน้ำทะเล น้ำทะเลอุณหภูมิสูงไหลเข้าบริเวณฐานหิ้งน้ำแข็งที่ยื่นออกมาจากแผ่นดิน ซึ่งอาจทำให้น้ำแข็งแตก ขณะเดียวกันน้ำทะเลอุ่นเหล่านี้ก็อาจแข็งตัวและแตกได้ทุกเวลาเพราะหิ้งน้ำแข็งจะไม่เสถียรอีกต่อไป เรื่องพวกนี้เข้าใจง่ายมากเพราะเป็นกฎฟิสิกส์พื้นฐาน เมื่อมหาสมุทรดูดซับความร้อนของโลกไว้มากกว่าร้อยละ ๙๐ อุณหภูมิน้ำทะเลจะสูงขึ้น มวลน้ำจึงขยายตัว ยิ่งเมื่อน้ำอุ่นไปละลายน้ำแข็ง ระดับน้ำทะเลก็ต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ถึงตอนนี้มนุษยชาติเลย “จุดที่ไม่อาจหวนกลับ” (the point of no return) หรือยัง คือไม่ว่าจะทำอะไร เราก็หยุดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้อีกแล้ว
ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนว่าจะนิยามว่าผ่านมาแล้วหรือยัง ในอดีตอุณหภูมิบนโลกนั้นขึ้นกับอิทธิพลของดวงอาทิตย์ค่อนข้างมากเพราะวงโคจรในแต่ละฤดูกาลมีผลต่อการรับพลังงาน แต่ดวงอาทิตย์ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิบนโลกเนื่องจากยังมีก๊าซเรือนกระจกด้วย ปัจจัยต่อมาคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศ ทำให้โลกอบอุ่น ถ้าไม่มีคาร์บอนไดออกไซด์ อุณหภูมิบนพื้นโลกอาจอยู่ที่ -๑๔ องศาเซลเซียส เดิมจะมีสองปัจจัยนี้ แต่พอถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น ตอนนี้เกินระดับ ๓๐๐ พีพีเอ็ม (๓๐๐ ต่อ ๑ ล้านส่วนของชั้นบรรยากาศ) โลกจึงเก็บความร้อนไว้แทนที่จะปล่อยสู่อวกาศในอัตราที่เหมาะสม ขณะนี้โลกกำลังปรับสมดุลภายในจากปรากฏการณ์ที่เราเห็น คือภาวะเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผมพยายามสร้างแบบจำลองว่าอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นสักแค่ไหน

ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ขององค์การสหประชาชาติเคยสร้างแบบจำลองไว้ ถ้าประเมินจากสถานการณ์ตอนนี้ (กลาง ค.ศ. ๒๐๑๕) และข้อตกลงที่เตรียมไว้ในการประชุม COP21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสปลายปีนี้ เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับนานาชาติ บรรลุข้อตกลงกันได้คร่าว ๆ ว่าภายใน ค.ศ. ๒๐๒๐ จากอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปัจจุบัน ยุโรปจะลดได้ร้อยละ ๔๐ ภายใน ค.ศ. ๒๐๒๕ สหรัฐฯ จะลดร้อยละ ๒๖-๒๘ จีนร้อยละ ๒๕-๓๐ และภายใน ค.ศ. ๒๐๓๐ อุณหภูมิต้องเพิ่มขึ้นไม่เกิน ๒ องศาเซลเซียส ทว่าจากสมมุติฐานนี้อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น ๓ องศาเซลเซียส ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จริง ๆ อุณหภูมิไม่เกิน ๒ องศาเซลเซียสไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่ดีทางวิทยาศาสตร์ มันสูงเกินไป ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกต้องการเป้าหมายที่ไม่เกิน ๑.๕ องศาเซลเซียสด้วยซ้ำ หากอุณหภูมิสูงกว่านี้จะทำให้ประเทศพวกเขาจมหายไปจากพื้นผิวโลก

ในทางวิทยาศาสตร์ “จุดที่ไม่อาจหวนกลับ” คือการปล่อยให้อุณหภูมิเพิ่มเกิน ๒ องศาเซลเซียส ถ้าถึงตรงนั้นสภาพแวดล้อมตอนนี้จะหายไป น้ำแข็งขั้วโลกจะละลาย ประเทศเกาะในมหาสมุทรอย่างมัลดีฟส์ คิริบาตี ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล ๑-๒ เมตรจะหายไป เขตเส้นศูนย์สูตรอุณหภูมิคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ระบบนิเวศเปลี่ยน สัตว์บางสายพันธุ์ต้องปรับตัว คนยากจนโดนกดดัน ประเทศกำลังพัฒนาจะลำบาก อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังอยู่ในจุดที่เราพอจะคุมให้อุณหภูมิเพิ่มไม่เกิน ๒ องศาเซลเซียสได้ ดังนั้นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วที่สุด ทุกนาทีที่เราช้า โลกร้อนขึ้น ๆ ซึ่งถ้าอยู่ในเบอร์ลินหรือลอนดอน คุณแทบไม่ได้รับผลกระทบ แต่พอถึงจุดหนึ่งมันจะกระทบทั้งหมด เหตุการณ์ร้ายแรงจะกลายเป็นเหตุการณ์ปรกติ เช่น พายุใหญ่ น้ำท่วม ถึงตรงนั้นเมื่อรู้ตัวว่าต้องเปลี่ยน เราก็จ่ายค่าเรียนแพงมหาศาล

คุณกำลังบอกให้คนทั่วโลกกดดันรัฐบาลของพวกเขา
ใช่ครับ ในระดับโลก ในสังคมประชาธิปไตย รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบความต้องการของประชาชน ปัญหาเรื่องโลกร้อนมีคนจำนวนน้อยมากทราบว่าสถานการณ์เลวร้ายแค่ไหน ซ้ำผลกระทบจะเกิดขึ้นเร็วมากจนคนไม่ทันตั้งตัว ตอนนี้ผมอยากให้คนจำนวนมากเข้าใจ ช่วยกันพูด สื่อมวลชนบอกนักการเมืองว่าประชาชนสนใจเรื่องนี้ให้ทำตาม และเราต้องการมาตรการที่เป็นรูปธรรมจากการประชุม COP21

เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จากเดิมวัดด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) อย่างเดียว คงต้องเพิ่มตัวชี้วัด เพิ่มแนวทางพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เราคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะโตเท่าไร แล้วก็ใช้ทรัพยากร แต่ข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมต้องเปลี่ยนเพราะเรากำลังเดินไปสู่จุดจบ ระบบเศรษฐกิจที่เรารู้จักตอนนี้จะล่มสลายเมื่อสิ่งแวดล้อมถึงขีดจำกัด การเปลี่ยนระบบทำได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น ผมคิดถึงระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างจากปัจจุบัน เราต้องการการเปลี่ยนผ่านและมีงานที่ต้องทำมากมาย ต้องคิดว่า “โลก” คือบ้านของเรา นี่คือปัญหาเร่งด่วนที่สุดที่ต้องแก้ โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องรีบเริ่มให้เร็วที่สุด

คุณมาจากประเทศพัฒนาแล้ว ในประเทศกำลังพัฒนา ผู้คนบอกว่าปัญหาปากท้องต้องมาก่อน
เป็นเรื่องยุติธรรมมากที่ผู้คนคิดเรื่องปากท้อง เรื่องครอบครัว แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง วาระที่เสนอจะเดินหน้าได้ยาก อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานที่ส่งผลกระทบถึงทุกเรื่อง เวลาพูดเรื่องเศรษฐกิจเรามักเห็นแต่กลไกที่มนุษย์สร้าง เรื่องสิ่งแวดล้อมดูไม่ค่อยเกี่ยว ทั้งที่จริง ๆ กระทบโดยตรง เช่นภัยธรรมชาติซึ่งไม่สนว่าเศรษฐกิจของมนุษย์จะพินาศอย่างไรเสียด้วย ในสถานการณ์นี้ พืชปรับตัว สัตว์ปรับตัว มนุษย์ปรับตัวเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี คิดดูว่าอีกหน่อยคุณอาจจะปลูกข้าวไม่ได้อีกแล้ว นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต่าง ๆ ต้องกลัว ประเทศพัฒนาแล้วต้องช่วยประเทศกำลังพัฒนามากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเปลี่ยนผ่านจาก “เศรษฐกิจฟอสซิล” สู่เศรษฐกิจที่มีฐานบนพลังงานหมุนเวียน บริษัทผลิตพลังงานฟอสซิลซึ่งก่อมลภาวะจำนวนมากควรแบ่งงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐมาสักร้อยละ ๓ สำหรับหาแหล่งน้ำมันและก๊าซใหม่ ๆ เพื่อวิจัยพัฒนาพลังงานหมุนเวียน หาเทคโนโลยีมาช่วยผู้คนที่ได้รับผลกระทบ

ผู้รู้บางท่านบอกว่า ต่อให้หยุดกิจกรรมทุกอย่างในตอนนี้ มนุษย์ก็หลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยไปก่อนหน้านี้ไม่ได้อยู่ดี
ใช่ครับ มากกว่า ๑ ศตวรรษหลังจากนี้ แม้จะหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสิ้นเชิง แต่คาร์บอนไดออกไซด์ยังอยู่ในชั้นบรรยากาศ ในทะเล เราต้องรับผลที่ก่อไว้ พันธกิจตอนนี้คือควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เรากำลังจะก่อ เราเลือกได้ว่าจะให้โลกร้อนขึ้นแค่ไหน กระทั่งเป้าหมายที่ไม่ให้เพิ่มเกิน ๒ องศาเซลเซียส ก็ยังไม่แน่ว่าเราจะรับมือกับผลกระทบได้ ยิ่งปล่อยให้เวลาผ่านไปสัก ๑๐ ปี เราก็จะทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว ผมวิตกว่าความกดดันเรื่องสิ่งแวดล้อมจะเป็นต้นเหตุของสงครามขนาดใหญ่ โลกร้อนไม่ได้ทำให้โลกจบสิ้น โลกยังคงอยู่ แต่มนุษย์จะสูญพันธุ์ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย โลกผ่านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาแล้ว ย้อนไป ๔-๕ ล้านปีก่อน ภาวะโลกร้อนเคยเกิดขึ้นแล้ว ตอนนั้นน้ำแข็งจำนวนมากละลาย น้ำทะเลสูงกว่าตอนนี้ ๗ เมตร หรือย้อนไปไกลกว่านั้นประมาณ ๑๐๐ ล้านปีก่อน โลกเคยมีคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศสูงถึง ๑๗,๐๐๐ พีพีเอ็ม เรียกได้ว่าจระเข้เขตร้อนไปอยู่แถบขั้วโลกได้สบายเพราะไม่มีน้ำแข็งในโลกเลย ผมจึงมองว่าไม่แปลกที่มันจะเกิดขึ้นอีก

แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย อีก ๒๐ ปี ประเทศหมู่เกาะจะหายไป มีคลื่นผู้อพยพจำนวนมากจากเกาะต่าง ๆ กรุงเทพฯ เองก็ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลแน่นอน เราเริ่มจัดการปัญหาได้เร็วเท่าไรก็จำกัดความเสียหาย ลดการละลายของน้ำแข็งได้มากขึ้น เราจะซื้อเวลาให้ผู้คนได้ปรับตัวมากขึ้น ต้องทำความเข้าใจว่าเราไม่ได้ “กู้โลก” ครับ โลกยังสบายดี เคยเกิดสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว ปัญหาคือมนุษย์ที่อยู่บนโลกตอนนี้จะทำอย่างไร จะรักษาเผ่าพันธุ์ตัวเองไว้หรือไม่

เคยมีกระแสข่าวโจมตีว่าโลกร้อนเป็นปัญหาที่ไม่มีอยู่จริง
ในทางวิทยาศาสตร์แทบไม่เข้าใจว่าทำไมยังคุยเรื่องแบบนี้ รายงานทุกฉบับของ IPCC รายงานสถานการณ์ที่แย่ลง ๆ ตอนนี้เราต้องทำอะไรสักอย่างมากกว่ามาถกเรื่องที่มีหลักฐานแน่นหนา บางทีผู้กำหนดนโยบาย (รัฐบาล) ก็เรียกหารายละเอียดเรื่องนี้ ซึ่งผมคิดว่าเราไม่มีเวลาพอ การโจมตีว่าโลกร้อนไม่ใช่เรื่องจริง เป็นผลจากการที่ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลพยายามนำเสนอ เพราะถ้าลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลง พวกเขาย่อมเสียประโยชน์ น่าเสียดายที่อุตสาหกรรมพลังงานรู้อยู่แก่ใจว่าถ้ามนุษย์ยังใช้พลังงานฟอสซิลแบบเดิม เราจะมีปัญหา ทำไมยังทำเช่นนี้ อุตสาหกรรมเหล่านี้มีทั้งเงินและผู้เชี่ยวชาญในการเปลี่ยนผ่านผู้คนไปสู่ยุคใหม่ พวกเขาหาพลังงานใหม่ ๆ ได้ สมมุติก็ได้ แม้เรื่องโลกร้อนมันจะไม่จริง แต่ความจริงคือเชื้อเพลิงฟอสซิลมีวันหมดไป ยังไงก็ต้องหาพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในอนาคตอยู่ดี

บริษัทพลังงานมักบอกว่าพลังงานหมุนเวียนยังไม่เสถียรพอ
ใช่ครับ ปัญหาคือมันไม่เสถียร แต่เรามีแหล่งพลังงานอื่น ๆ มากมาย เช่นเมืองไทยมีแดดตลอดปี ที่ต้องทำคือหาทางเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ไว้ให้ได้ ต้องพัฒนาแบตเตอรี่และอุปกรณ์ต่าง ๆ ยี่สิบปีหลังจากนี้คือยุคแห่งการพัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าว มีสถิติว่าแสงแดดที่ส่องลงพื้นที่เส้นศูนย์สูตรโลก หากเก็บไว้ได้หมดจะให้พลังงานคนทั้งโลกนานถึง ๑ ปี นี่เป็นตัวอย่างว่าเรามีพลังงานมากมาย แต่ต้องเรียนรู้ว่าจะนำมาใช้อย่างไร ถ้าปัญหาของพลังงานหมุนเวียนคือความเสถียรก็ต้องมุ่งแก้โจทย์นี้ ไม่ใช่หันไปหาพลังงานฟอสซิล ประเทศใหญ่ ๆ ต้องหาทางพัฒนาเทคโนโลยีพวกนี้ด้วย น่าสนใจว่าแผงโซลาร์เซลล์ราคาถูกลงเรื่อย ๆ เชื่อว่าพอถึงจุดหนึ่ง ต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์จะลดลงมาพอ ๆ กับต้นทุนผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่รัฐบาลทั่วโลกอุดหนุนงบประมาณมาตลอด ยิ่งถ้ามีการเก็บภาษีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พลังงานหมุนเวียนย่อมมีต้นทุนถูกกว่าพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างแน่นอน

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ดร. แดนเชื่อเรื่อง “ถ่านหินสะอาด” หรือไม่
ผมไม่เข้าใจคำว่า “ถ่านหินสะอาด” มันหมายถึงกระบวนการที่คุณดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาถ่านหินใช่หรือไม่ ก๊าซนี้ไม่สะอาดและต้องจ่ายแพงมากสำหรับเทคโนโลยีนั้น ด้วยวิธีนี้อาจลดการปล่อยมลภาวะได้ แต่ไม่ทั้งหมด และต้องลงทุนสูงมาก มีงานวิจัยระบุว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินทำให้ประชาชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าอายุสั้นลงถึง ๕ ปี ผมคิดว่าเราใช้ถ่านหินไม่ได้แล้ว มันเป็นเชื้อเพลิงที่แย่ที่สุด

คิดอย่างไรกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นทางออกได้หรือไม่
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในแง่ของความปลอดภัย ในยุโรประวังเรื่องการพัฒนาหรือสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาก เพราะเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้านำไปทำระเบิดได้ด้วย ตอนนี้พลังงานนิวเคลียร์ปลอดภัยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือไม่
ผมไม่แน่ใจ มันอาจจะดีกว่าถ่านหิน แต่ถ้าเลือกได้ผมเลือกพลังงานหมุนเวียนมากกว่า

danielprice04

นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์อย่าง ดร. แดนมาขี่จักรยานรณรงค์แคมเปญ “Pole to Paris”
เรื่องโลกร้อนมันน่าเบื่อครับ (หัวเราะ) อธิบายยาก คนไม่ค่อยสนใจ แน่นอนว่ามีคนจำนวนหนึ่งสนใจเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมาสื่อมวลชนเองก็รายงานข่าวอย่างยากลำบากเพราะมันซับซ้อน ผมพยายามจะบอกชาวโลกโดยเน้นที่การประชุม COP21 ที่ปารีสช่วงปลายปี ผมปั่นรณรงค์ด้วยเหตุผลสองสามข้อ ข้อแรก ครอบครัวผมทราบดีว่าปลายปี้นี้จะมีการประชุม COP21 เพราะผมเล่าให้พวกเขาฟัง แต่เพื่อน ๆ ของผมแทบไม่ทราบเลย มันไม่ยุติธรรมที่คนส่วนมากไม่รับรู้การประชุมที่มีผลต่อชะตากรรมของพวกเขา สื่อมวลชนก็บกพร่องในการสื่อสารเรื่องนี้

ข้อ ๒ การเดินทางมีเสน่ห์ ผมใช้การขี่จักรยานดึงดูดผู้คนและเล่าเรื่องดังกล่าว การขี่จักรยานเป็นการเดินทางที่มีตรรกะที่สุดสำหรับมนุษย์ นอกจากไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ยังน่าสนใจเพราะคุณจะได้สัมผัสชุมชนระหว่างทางและพบปะผู้คนด้วย ดร. เออร์เลนด์ (Dr. Erlend Moster Knudsen) เพื่อนผมที่ศึกษาและเชี่ยวชาญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเขตอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) ก็กำลังวิ่งจากนอร์เวย์-ปารีส ระยะทาง ๓,๐๐๐ กิโลเมตร ส่วนของผมเรียก “southern cycle” ส่วนของเออร์เลนด์เรียก “northern run” เรานัดเจอกันที่ปารีส ผมหวังว่ากิจกรรมนี้จะดึงคนกลุ่มใหม่ ๆ ให้สนใจปัญหาโลกร้อน

ข้อที่ ๓ หลายคนสูญเสียความหวังที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนไปแล้วซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เรายังทำอะไรได้อีกมากโดยใช้การประชุมที่ปารีสเป็นจุดเริ่มต้น ผู้นำรัฐบาลต้องทะเยอทะยานในการแก้ปัญหา ต้องมีมาตรการจัดการภาวะโลกร้อนมากกว่านี้ เราต้องทำให้ช่วงเวลาหลายเดือนก่อนการประชุมที่ปารีสมีความหมาย

แคมเปญนี้ทุกคนเป็นอาสาสมัคร ผมเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ เออร์เลนด์เป็นนักวิทยาศาสตร์เชื้อสายเยอรมัน-นอร์เวย์ ผมรู้จักเขาตอนไปทำวิจัยเรื่องพืดน้ำแข็งที่นอร์เวย์ในฤดูร้อนเมื่อหลายปีก่อน เขาคิดแบบเดียวกับผม เต็มใจอุทิศ ๑ ปีให้การวิ่งเพื่อเล่าเรื่องราวเหล่านี้ ยังมีเพื่อนอีกแปดคนที่ช่วยเหลือเราอยู่เบื้องหลัง เช่น ทอมัส กิลล์แมน (Thomas Gillman) ประสานกับโครงการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNDP) ปรากฏว่ารองเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติท่านหนึ่งสนใจโครงการนี้ UNDP จึงร่วมงานกับเรา ตามเส้นทางยังมีคนอีกจำนวนมากช่วยเหลือเรา เช่น ที่อินโดนีเซียเราได้พื้นที่สื่อ ได้แถลงข่าว เพราะที่นั่นกำลังผลักดันพลังงานหมุนเวียนอย่างลมและแสงอาทิตย์เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย

หลายประเทศที่คุณปั่นผ่านมามีระบบการเมืองแตกต่างกัน คุณจะผลักดันเรื่องนี้ในประเทศที่มีระบบการเมืองค่อนข้างปิดอย่างไร หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นแยกเป็นคนละส่วนจากการเมือง
ถ้าบอกว่าสิ่งแวดล้อมกับการเมืองไม่เกี่ยวกัน ผมเชื่อก็ได้ครับ แต่นั่นไม่ใช่ความจริง อันตรายมากถ้าคุณแยกปัญหาสิ่งแวดล้อมออกจากประเด็นทางสังคม คุณจะเดินผิดทาง แน่นอน ถ้าประชาชนต้องการเปลี่ยนนโยบายบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จุดสำคัญคือคุณต้องมีเสรีภาพและประชาธิปไตย สิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานของระบบนิเวศที่เราดำรงชีวิตอยู่ได้ ผมมองว่าเราต้องการระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทำให้สังคมมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมอยู่ด้วยกันโดยไม่ทำลายกัน “โลกร้อน” เป็นอาการที่ต้องรักษา เป็นเรื่องบ้านของพวกเรา ปัญหาคือปัจจุบันคนกว่าครึ่งโลกอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ คงจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ยากด้วยสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่

หลายล้านปีที่ผ่านมามนุษย์ประสบความสำเร็จในการปรับตัว แต่เราตกต่ำลงเพราะทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายตัวเอง ระบบที่สนับสนุนให้มนุษย์มีชีวิตกำลังพังทลาย โลกร้อนเป็นปัญหายากที่สุดเท่าที่มนุษย์เผชิญ ซึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์และท้าทายมนุษย์ เราต้องการการเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่มากและควรเริ่มจากประเทศชั้นนำของโลกอย่างสหรัฐฯ จีน กุญแจคือภาวะผู้นำของชาติมหาอำนาจ หลังจากนั้นประเทศอื่นไม่ว่าจะมีระบบการปกครองแบบไหน คุณจะถูกทิ้งไว้ถ้าประเทศชั้นนำเดินหน้าเรื่องพลังงานหมุนเวียน ใช้ระบบเศรษฐกิจยั่งยืน เรื่องนี้ต้องทำให้เร็วที่สุดเพื่อรักษาระบบที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ประเทศเล็ก ๆ อย่างไทยคงทำได้ยากหากไม่ได้รับการสนับสนุน ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศพบปัญหาความยากจนต้องคิดเรื่องปากท้อง ดูเหมือนรัฐบาลทหารของไทยต้องการจัดการเรื่องเศรษฐกิจก่อนเรื่องอื่น ผมมาเมืองไทยครั้งนี้พบสื่อมวลชนไทย แต่ไม่ได้พบเจ้าหน้าที่รัฐเลย

คุณคาดหวังกับ COP21 ไว้แค่ไหน
ถ้าการประชุมที่ปารีสไม่ประสบความสำเร็จ ผมมองว่ามันจะกลายเป็นหายนะซึ่งแสดงว่าระบบกา

 


danielprice06
danielprice07รทำงานขององค์การสหประชาชาติบกพร่อง ต้องไม่ลืมว่ายูเอ็นรวมรัฐบาลและหน่วยงานทั่วโลกไว้ ถ้าเราพลาด สถานการณ์หลังจากนั้นคืออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นและเกิดการทำลายล้างครั้งใหญ่ของธรรมชาติ แต่ผมไม่คิดว่าการประชุมจะล้มเหลว กลัวแต่จะได้เจตจำนงที่ไม่แข็งแรงพอ เป็นการสักแต่เซ็นเอกสารและออกแถลงการณ์เท่านั้น ที่เราต้องการคือนโยบายและการทำงานอันเข้มแข็ง สัญญาณการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ ถ้าได้สัญญาณ ภาคเอกชนจะลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นและพัฒนาเทคโนโลยี

จินตนาการในภาพยนตร์ทำลายล้างอย่าง The Day After Tomorrow หรือ Water World จะมีโอกาสเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และถ้าเกิดขึ้นจริง ถ้ามีตัวช่วยโดยบังเอิญเช่นภูเขาไฟระเบิดจะชะลอสถานการณ์ได้หรือไม่
มีโอกาสครับ แต่จะไม่รวดเร็วเหมือนหนังฮอลลีวูด สมมุติฐานเรื่องภูเขาไฟระเบิดแก้ปัญหาโลกร้อนนั่นเป็นไปไม่ได้ ตามทฤษฎี ควันจากภูเขาไฟที่ระเบิดอาจปกคลุมชั้นบรรยากาศโลก แสงอาทิตย์ส่องถึงพื้นโลกน้อยลง แต่ก็แค่ไม่กี่ปี อีกอย่างเรายังไม่เข้าใจระบบการทำงานของภูเขาไฟด้วยซ้ำ ถ้ามันระเบิดจริงก็ไม่ได้ช่วยแก้เรื่องโลกร้อนที่ต้นเหตุ เป็นแค่ปลาสเตอร์ยาปิดแผลที่ยังมีหนองเท่านั้นเอง พอผ่านไปสักพักโลกก็จะร้อนขึ้นอีก ที่ดีที่สุดเราต้องไม่คิดถึงตัวช่วยแบบนี้ สถานการณ์ทั้งหมดจะรุนแรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับมนุษย์ ถ้าไม่ทำอะไร อีกหน่อยเราคงต้องหาดาวดวงอื่นอยู่ แต่ทางออกประเภทเอาคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศโลกก็เริ่มจะมีคนคิดแล้ว

ตอนมาถึงกรุงเทพฯ คุณลองปั่นจักรยานบ้างแล้ว คิดว่ากรุงเทพฯ พอจะเป็นเมืองจักรยานได้หรือไม่
ผมคิดว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองจักรยานได้ครับ เราต้องการคนที่เอาจริงเอาจังรณรงค์เรื่องนี้อย่างเช่นคุณแนน (นนลนีย์ อึ้งวิวัฒน์กุล เจ้าของร้านคาเฟ่ เวโลโดม) ที่รณรงค์ปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ อย่างจริงจัง ทำให้คนกล้าขี่จักรยานมากขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปรกติ และกระตุ้นให้รัฐมาดูแลเรื่องความปลอดภัย ผมมองว่าหลายคนอยากขี่ แต่ถนนในกรุงเทพฯ อันตรายเกินไป ผมขี่ลัดเลาะไปตามชุมชน ถนนเล็ก ๆ พบว่าปลอดภัยมาก ๆ ได้เห็นส่วนที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่บนถนนใหญ่อันตรายมีมากกว่า ประเด็นคือคุณเรียกร้องให้คนออกมาปั่นได้ ก็ต้องทำให้รัฐบาลสร้างความปลอดภัยแก่พวกเขาด้วย

มีคนบอกว่ากรุงเทพฯ ร้อนเกินไปสำหรับการปั่นจักรยาน
ใช่ครับ อากาศในกรุงเทพฯ ร้อนมาก ผมคิดว่าจักรยานไม่ใช่คำตอบเดียวของการทำให้เมืองน่าอยู่ กรุงเทพฯ ต้องการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ มีระบบขนส่งที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ในระดับนานาชาติช่วง ๑๐ ปีมานี้สิ่งที่เราคุยกันคือทำอย่างไรให้ระบบขนส่งใช้พลังงานน้อยลง ขนคนได้มากขึ้น เราต้องการเชื้อเพลิงอย่างแสงอาทิตย์ น้ำ มาใช้กับระบบขนส่งแบบนี้ แต่ยังยากสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะพัฒนาเทคโนโลยีนี้ด้วยตนเอง คุณอาจออกมาตรการเบื้องต้น อย่างที่ลอนดอนหากต้องการขับรถยนต์เข้าใจกลางเมือง ต้องจ่ายเงินจำนวนมาก ระบบนี้มีขึ้นเพื่อลดความหนาแน่นของการจราจร เราต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่า smart city เมืองที่มีระบบขนส่งที่ดี คนในเมืองไปทำงานที่ออฟฟิศไกลบ้านได้สบาย ๆ ผมคิดว่ากรุงเทพฯ เป็นตัวอย่างของการวางแผนที่ล้มเหลวพูดตรง ๆ ผมมองว่ารถยนต์เป็นพาหนะที่มีปัญหา เคยมีการคำนวณว่า คนจำนวนมากใช้เวลาครึ่งชีวิตนั่งอยู่ในรถ แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทุกคนปั่นจักรยาน เราคงต้องใช้พลังกลไกตลาดจากประเทศพัฒนาแล้วเข้าช่วย ถึงอย่างนั้นผมก็รู้สึกแย่ที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศไม่ทำอะไรเรื่องนี้เท่าที่ควร ออสเตรเลียเป็นตัวอย่างที่แย่ พวกเขามีศักยภาพ มีแสงอาทิตย์มากมาย แต่แทบไม่ทำอะไรเลย ซ้ำยังส่งออกถ่านหินให้อินเดียนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า ส่วนอังกฤษ ดีที่ตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๐ มีการผ่านกฎหมายโลกร้อน ทำให้รัฐบาลทุกชุดต้องจัดการปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมาอังกฤษพยายามใช้นักการทูตเสนอความช่วยเหลือเรื่องนี้แก่ประเทศอื่น ๆ เช่นเดียวกับฝรั่งเศสและเยอรมนี

จนถึงตอนนี้ (กรกฎาคม) ท้อกับการรณรงค์หรือไม่
ตลอดเวลาครับ (หัวเราะ) แต่ผมก็ต้องจัดการกับวิธีคิด

โอกาสที่จะนำเรื่องราวแบบนี้มาคุยกับคนหลายคนนั้นยาก
เพราะคนจำนวนมากยังไม่เข้าใจสถานการณ์ ทางเดียวคือต้องสื่อสาร ดังนั้นจึงไม่คาดหวังมากมาย หวังเพียงว่ากิจกรรมของผมจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้ แต่ยอมรับว่ายากครับเพราะต้องใช้ทั้งจิตใจและร่างกายในการปั่น อีกทั้งความพยายามใน
การสื่อสาร ผมดีใจที่มีทีมงานสนับสนุนตลอดเวลา ตั้งแต่ปั่นมาผมยังไม่พบอุบัติเหตุรุนแรง แค่โดนรถชนครั้งหนึ่งที่อินโดนีเซีย แต่ก็ไม่เป็นอะไรมาก ลึก ๆ ผมเชื่อว่าเราจะยังรักษาอารยธรรมของเราไว้ได้ สิบปีต่อจากนี้สำคัญมาก ถ้าเราไม่เริ่ม มันจะสายเกินไป และเราต้องเผชิญการทำลายล้างครั้งใหญ่จากธรรมชาติอย่างแน่นอน

สนใจกิจกรรม Pole to Paris ติดตามได้ที่