dullayapak04มหาอำนาจอย่างจีนเองก็มีปัญหาภายใน เช่นการชุมนุมประท้วงของชาวฮ่องกงในปี ๒๕๕๗
ตอนเกิดเหตุการณ์ umbrella revolution จีนมักบอกว่าคนที่มาประท้วงตามก้นตะวันตก แต่นัยการประท้วงนี้คือความไม่พอใจของคนฮ่องกง ปัญหาความต่างทางวัฒนธรรมกับคนจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะคนฮ่องกงเป็นชาวกวางตุ้ง เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เป็นทุนนิยมสูงมาก มองว่าตนต่างจากคนจีนแผ่นดินใหญ่ ประกอบกับปกครองคนละแบบตามนโยบายหนึ่งประเทศสองระบบ แต่มีการแทรกแซงจากรัฐบาลกรุงปักกิ่งกรณีเลือกตั้งผู้ว่าการเกาะฮ่องกง ปักกิ่งส่งคนมาให้เลือก ขณะที่คนฮ่องกงอยากเลือกผู้แทนอย่างเสรี ทั้งยังมีเรื่องคนจีนใช้โรงพยาบาลในฮ่องกงเพราะได้สิทธิดีกว่า มหาวิทยาลัยในฮ่องกงต้องเปิดโควตารับเด็กจีนแผ่นดินใหญ่ กระแส “umbrella revolution” ส่วนหนึ่งจึงเป็นกระแสประชาธิปไตย อีกส่วนคือความไม่พอใจปักกิ่งซึ่งยังมองว่าเป็นเกมการเมืองระหว่างประเทศ หน่วยงานความมั่นคงจีนบอกว่า เยาวชนที่เป็นแกนนำประท้วงเชื่อมโยงกับนักการทูตอเมริกัน ซีไอเอใช้ฮ่องกงเป็นหัวหาดไม่ต่างจากไต้หวัน ซึ่งจริงหรือไม่ก็ต้องพิจารณา

หลายคนแปลกใจว่าทำไมจีนไม่ปราบกลุ่มผู้ประท้วงเหมือนกรณีเทียนอันเหมิน
ผมประเมินว่ารัฐบาลจีนไม่ต้องการให้สถานการณ์สะเทือนไปถึงเขตปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ จีนยังมีกรณีกับทิเบต มาเก๊า ไต้หวัน หากเกิดความขัดแย้งที่คุมไม่ได้ก็จะระส่ำระสาย คนฮ่องกงมีพรรคการเมืองใต้ดินจำนวนมาก พรรคหนึ่งชื่อ “พรรคภราดรภาพปลดปล่อยทิเบตและฮ่องกง” ตั้งขึ้นเพื่อปลดปล่อยฮ่องกงและทิเบตเป็นประเทศใหม่ ใครจะคิดว่า
มีพรรคนี้เคลื่อนไหวอยู่ ดังนั้นในสีสันของประชาธิปไตยจึงมีการเมืองเรื่องแบ่งแยกดินแดนแฝงอยู่ด้วย สถานการณ์ในฮ่องกงซับซ้อน ที่จีนกลัวคือปราบแล้วบานปลายกลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ กระทบการค้าการลงทุน ปัญหาจะลามไปถึงมาเก๊า จูไห่ เซินเจิ้น ฯลฯ เขตเศรษฐกิจชายฝั่งเหล่านี้พึ่งพากัน อีกอย่างถ้าจีนจัดการฮ่องกงอย่างละมุนละม่อมไม่ได้ย่อมกระทบการรวมไต้หวันในอนาคต ใครจะอยากอยู่หนึ่งประเทศสองระบบที่มีการปราบปรามรุนแรง

วันนี้จีนมีแสนยานุภาพทางบก แต่ทางทะเลยังสู้สหรัฐ-อเมริกาไม่ได้ กระทั่งอีก ๑๐ ปีก็ไม่แน่เพราะห่างชั้นกันมาก กองเรือจีนมีศักยภาพแค่คุ้มครองชายฝั่ง ขณะที่กองเรือรบของสหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจทางทะเล มีฐานทัพทั่วโลกเติบโตมานานนับสิบปี ดังนั้นจีนจะใช้นโยบายก้าวร้าวในภาพรวมไม่ได้ จึงต้องจัดลำดับความสำคัญให้แต่ละพื้นที่ เช่น ในทะเลจีนใต้ จีนเลือกเล่นเกมรุกทางทหาร กรณีไต้หวันจีนน่าจะใช้มาตรการทางการทูตมากกว่าการทหาร ถ้ารวมไต้หวันได้จีนน่าจะใช้สูตรหนึ่งประเทศสองระบบ การปกครองเป็นอย่างไรไม่ว่ากัน ค้าขายกันไป เก็บภาษีเองก็เก็บไป ส่วนอำนาจอธิปไตย การยอมรับทางการทูตในเวทีระดับประเทศ ต้องมีจีนเดียว

ในรอบปีที่ผ่านมา เรื่องที่เกี่ยวกับจีนและหลายประเทศคือกรณีชาวอุยกูร์ที่เรียกร้องการปกครองตนเองไปจนถึงแบ่งแยกดินแดน ไทยก็เกี่ยวข้องด้วยจากการส่งชาวอุยกูร์ให้รัฐบาลจีนจนเป็นเหตุให้ตุรกีไม่พอใจ
เรื่องนี้เป็นผลจาก “มหายุทธศาสตร์โลก” ของชาติมหาอำนาจ ต้องมองในกรอบเอเชียกลางศึกษาด้วย เพราะอุยกูร์อยู่ในเขตฯ ซินเจียงฯ มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์ กับอดีตรัฐบริวารของสหภาพโซเวียต การที่จีนไปคุมเข้มบริเวณนั้นผมมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “สุดยอดบัญชรตะวันตก” (look west policy) เนื่องจากจีนต้องการสร้างทางหลวง วางท่อก๊าซท่อน้ำมันผ่านซินเจียงฯ เข้าไปในเอเชียกลาง เพราะบริเวณนั้นเรียกว่าเป็นขุมพลังงานสำคัญแห่งหนึ่งของโลก สหรัฐฯ เองก็พยายามเข้าไปมีอิทธิพลโดยมีเอกชนรับสัมปทานพลังงาน จีนมองว่าสหรัฐฯ พยายามปิดล้อมจีนผ่านจุดนี้ด้วย และกังวลว่าช่องทางนี้อาจโดนปิดด้วยมหาอำนาจชาติอื่นซึ่งจะส่งผลต่อการแยกดินแดน

ที่การจัดการชาวอุยกูร์กระทบตุรกีก็เพราะเรื่องนี้มีประเด็นทางศาสนากับการเมืองมาเกี่ยวข้อง นักการเมืองอุยกูร์ที่อยากแยกซินเจียงฯ จากจีนเคยศึกษาโมเดลการปกครองจากอิหร่านและตุรกี โมเดลอิหร่านคือปฏิวัติอิสลามให้เป็นรัฐศาสนา โมเดลแบบตุรกีคือปฏิวัติสายกลางอยู่ฝ่ายตะวันตก นักเคลื่อนไหวอุยกูร์อยากใช้โมเดลแบบตุรกี ดังนั้นจึงเห็นตุรกี สหรัฐฯ และชาวอุยกูร์ ร่วมมือกัน

ตรงนี้เป็นอีกความเปลี่ยนแปลงสำคัญในดินแดนยูเรเชียและเอเชียกลางที่เราต้องติดตาม มิติความขัดแย้งนี้ไทยไปเกี่ยวเพราะเรื่องผู้อพยพลี้ภัย นโยบายต่างประเทศของไทยดูเหมือนพยายามพิสูจน์ว่าพวกเขามาจากไหนแล้วส่งกลับไป การนิยามชาวอุยกูร์ว่ามาจากที่ไหนซับซ้อน แล้วเราก็พลาดจึงมีเรื่องกับตุรกี แต่เรื่องนี้นักนโยบายต่างประเทศบางคนอาจบอกว่า ระหว่างเลือกผิดใจกับตุรกีและจีน การผิดใจกับจีนอาจสร้างผลเสียต่อผลประโยชน์ไทยมากกว่า

มองไปที่เอเชียตะวันออก ปัญหาเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้จะยังยืดเยื้ออีกนานแค่ไหน
มีข้อพิจารณาอย่างน้อยสามประการ

๑. กรณีคาบสมุทรเกาหลีสัมพันธ์กับการเจรจาหกฝ่าย ตัวแสดงหลักคือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น รัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ฉะนั้นสัมพันธภาพระหว่างรัฐมหาอำนาจท้องถิ่น รัฐมหาอำนาจภูมิภาค และรัฐมหาอำนาจระดับโลก เป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์ลากยาวและซับซ้อน เพราะเป็นเรื่องมหายุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ถ้าเกาหลีเหนือยังเอนเข้ากลุ่มจีนและรัสเซีย เกาหลีใต้เอนเข้าฝ่ายญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ เช่นนี้ ก็ยากที่ทั้งสองรัฐจะสามัคคีถึงขั้นรวมชาติกันได้อย่างรวดเร็ว
๒. นักการทหารเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังพะวงกับสงครามและคิดถึงภาพจำพวกการยกกำลังขนาดใหญ่ของทหารเกาหลีเหนือ การยิงจรวดถล่มโซล เครือข่ายอุโมงค์ที่ซับซ้อนและหัวรบนิวเคลียร์ ภาพเหล่านี้อยู่ในมโนทัศน์ผู้นำเกาหลีใต้เสมอ ส่วนเกาหลีเหนือก็มองภาพเรือดำน้ำ เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ กำลังทางอากาศอันทันสมัยที่พร้อมช่วยเกาหลีใต้ถล่มเปียงยาง ฉะนั้นความระแวงด้านความมั่นคงจึงยังส่งผลต่อความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี เมื่อรู้สึกเช่นนั้นทั้งสองฝ่ายก็จะสะสมอาวุธและเพิ่มกำลังทหารเพื่อรองรับการประจันหน้าในอนาคต
๓. เกาหลีเหนือเป็นรัฐนาฏกรรมนิวเคลียร์ คือมักอวดเรื่องราวทางการยุทธ์แก่ชาวโลกตลอดเวลา แต่เอาเข้าจริงก็ไม่กล้าเปิดศึกเต็มพิกัด เพราะความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจ ความไม่มั่นใจในปฏิบัติการทางทหารที่จะเผชิญหน้าสหรัฐฯ และเกาหลีใต้จริง ๆ พูดง่าย ๆ ของโชว์กับของจริงอาจต่างศักย์กันมาก ฉะนั้นเกาหลีเหนือจึงสำแดงอำนาจผ่านการสวนสนามและข่มขู่เป็นระยะ แต่ก็มักยอมเจรจาปลดล็อกเพื่อไม่ให้สถานการณ์ถึงขั้นสงครามเต็มรูปแบบ เราจึงเห็นเกาหลีเหนือเล่นเกมนาฏกรรมอวดอาวุธยุทโธปกรณ์จนเป็นพฤติกรรมปรกติ

อาเซียนในศตวรรษที่ ๒๑ จะไปถึงจุดที่สหภาพยุโรปทำได้หรือไม่ ในแง่การร่วมมือกันในระดับภูมิภาค
การที่กลุ่มอาเซียนจะพัฒนาได้เท่าสหภาพยุโรปนั้นยากมาก ผมมองว่าเต็มที่อาเซียนก็แค่รวมตัวทางเศรษฐกิจ แม้จะมีการขึ้นโครงประชาคมไว้ เพราะมีช่องว่างทางเศรษฐกิจสูงมากระหว่างสมาชิกที่ร่ำรวยกับยากจน ตัวอย่างคือ สิงคโปร์กับลาว มีรายได้ต่อหัวประชากรต่างกันมาก อาเซียนเองต่างจากสหภาพยุโรปตรงที่เติบโตเดี่ยว ๆ ไม่ได้ ต้องรวมมหาอำนาจเข้าไปด้วย คือ บวกสาม บวกหก บวกแปด พูดง่าย ๆ ว่าหนีมหาอำนาจไม่พ้น ขณะที่สหภาพยุโรปเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง มีกลไกชัดเจน มีรัฐสภา กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ก็ชัดเจนว่าเป็นเมืองหลวงยุโรปจริง ๆ ทว่าอาเซียนไม่มีแบบนั้น ก็คงอยู่ต่อไป เพียงแต่การขยายความร่วมมือให้ใกล้ชิดมากขึ้นคงต้องใช้เวลามากกว่านี้

เชิงอรรถ

* ฏ่ระฉ่วยมาง์ – ประธานรัฐสภาของพม่า เป็นอดีตนายพลผู้หนึ่งของพม่าที่ลงเล่นการเมือง ระยะหลังมีการสร้างสัมพันธไมตรีอันดีกับ อองซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี เขาเคยเป็นหนึ่งในตัวเก็งที่อาจจะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีพม่าคนต่อไปหลังประธานาธิบดีเต็งเส่งหมดวาระ ก่อนจะถูกนำตัวไปกักบริเวณไว้ในบ้านและหมดอำนาจลงแม้จะยังดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาพ

** พลเอก มึงอ่าวง์หล่ายง์ – ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า ในกรณีฉุกเฉินรัฐธรรมนูญพม่า ค.ศ.๒๐๐๘ ให้อำนาจเขาไว้มากกว่าประธานาธิบดี จึงถูกจับตาว่าเป็นผู้กุมอำนาจตัวจริงของพม่าในยุคปัจจุบัน