ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ

สัมภาษณ์ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ - Documentary Club สารคดีทางเลือกใหม่ 

ขึ้นชื่อว่าสารคดี หรือสื่อที่เน้นให้สาระความรู้มากกว่าความบันเทิง เราย่อมทราบดีถึงการเป็นสื่อที่เกิดประโยชน์แก่คนดูทุกระดับ แต่หากวัดความสำเร็จด้วยยอดจำนวนผู้ชม (rating) ที่ต่างกันลิบลับระหว่างละครโทรทัศน์หลังข่าวกับรายการสารคดี อาจเป็นภาพจำไปโดยปริยายว่ารายการที่เน้นเนื้อหาสาระนั้นดูเคร่งเครียดและขายยาก ไม่ต่างจากภาพยนตร์สารคดีที่แม้ในยุคโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์จะมีโรงฉายทั่วประเทศหลายพันโรง แต่ละปีกลับมีจำนวนหนังสารคดีเข้าฉายในระบบปรกติไม่เคยเกินจำนวนนิ้วในสองมือ นาน ๆ ครั้งจะมีหนังสารคดีที่สร้างกระแสในบ้านเรา เช่น An Inconvenient Truth (ค.ศ. ๒๐๐๖) ที่สะท้อนปัญหาภาวะโลกร้อน

การมาของ Documentary Club ที่ก่อตั้งโดย ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ บรรณาธิการนิตยสาร Bioscope เพื่อจัดฉายหนังสารคดีจากทั่วโลกในไทยเมื่อปี ๒๕๕๗ จึงนับเป็นธุรกิจที่ไม่เพียงได้รับคำชม แต่ผลลัพธ์กลับไปไกลกว่านั้น เพราะแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริงและต่อเนื่อง

โครงการเริ่มต้นจากการระดมทุนหาเงินทางอินเทอร์เน็ต มีผู้สนใจจนยอดบริจาคได้ตามเป้าหมายแรกภายในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อนำหนังเข้าฉายหลายเรื่องประสบความสำเร็จ เช่น Citizenfour สารคดีรางวัลออสการ์ กล่าวถึง เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผู้เปิดโปงโครงการของ NSA, The New Rijksmuseum ว่าด้วยการปิดปรับปรุงพิพิธ-ภัณฑ์ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเฉพาะ Amy หนังชีวประวัติของศิลปินเพลง เอมี ไวน์เฮาส์ ที่ทำรายได้ถึง ๒ ล้านบาท กลายเป็นหนังสารคดีต่างประเทศที่ทำเงินสูงสุดของหนังที่ Documentary Club จัดจำหน่าย นอกจากนี้ยังมีการจัดฉายในต่างจังหวัด สร้างกลุ่มคนดูรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น ผลตอบรับดังกล่าวนำไปสู่การฉายทางโทรทัศน์ที่เนชั่นทีวี (ช่อง ๒๒) และต่อยอดยัง Video on Demand เพื่อให้การรับชมแพร่หลายยิ่งขึ้น

พ้นจากประเด็นเสน่ห์ของหนังสารคดี ในช่วงที่เกิดสื่อต่าง ๆ จำนวนมากภาครัฐพยายามสนับสนุนธุรกิจ startup ตามกระแสโลก การมองธุรกิจด้านสื่อทางเลือกที่ตอบโจทย์ทั้งการสร้างรายได้และส่งผลดีต่อสังคมของ Documentary Club จึงน่านำมาเป็นกรณีศึกษาถึงการเริ่มต้นของกลุ่มตลาดที่ไม่มีใครมองเห็น และการฉีกข้อจำกัดเดิม ๆ หลายอย่าง คล้ายความเชื่อที่ธิดาย้ำบ่อยครั้งว่า

“เพราะหนังไม่ได้มีทางเดินเดียว”

ในอดีตมีหนังสารคดีเรื่องไหนที่เริ่มดูแล้วทำให้มองเห็นเสน่ห์ของสารคดี
สารคดีเรื่อง The War Room* ชื่อห้องประชุมวางแผนเลือกตั้ง เป็นหนังสังเกตการณ์ติดตามคณะวางแผนของ บิล คลินตัน ตอนลงสมัครประธานาธิบดี ตอนนั้นมือใหม่ไม่ค่อยได้ดูสารคดี ตัวหนังก็นิ่ง ๆ ชวนโงกเงก แต่มันให้ภาพที่เราไม่เคยเห็นในข่าวทั่วไป เวลาดูข่าวเลือกตั้งเราไม่เคยเห็นการทำงานของคน แต่เบื้องหลังปรากฏการณ์เหล่านี้มีกลุ่มคนทำงาน คนนี้ประสานงาน คนนี้วางกลยุทธ์ทำให้เกิดขึ้น เราได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น และได้รู้ว่าคนทำสารคดีสามารถทำเรื่องแบบนี้ได้ด้วย เอาคนมาพูดกัน ไม่ใช่แค่เรื่องธรรมชาติสัตว์ป่า พอดูไปความขัดแย้งต่าง ๆ เมื่อถึงจุดวิกฤตก็ปรากฏดราม่าขึ้นเอง ขณะที่หนังให้ข้อมูลเรื่องไกลตัวมาก ๆ แต่ทำให้เราตื่นเต้นกับสิ่งที่เห็น มันมีความขัดแย้ง มีเรื่องของมนุษย์ ถึงได้เห็นว่าวิธีการของสารคดีมีเสน่ห์ที่น่าสนใจ โดยไม่ได้เร้าอารมณ์เราด้วยเทคนิคเยอะแยะแบบหนังทั่วไป แต่ด้วยข้อเท็จจริงและทักษะของคนทำว่าจะเก็บอะไรมา แค่นั้นมันกลับทำงานได้ หนังสารคดีมีลักษณะเฉพาะที่ไม่พบเจอในหนังทั่วไป

doc01*The War Room

หนังสารคดี ค.ศ. ๑๙๙๓ ได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์แห่งชาติอเมริกา (NBR)

จากคนดูหนังเป็นคอลัมนิสต์ด้านหนัง เกิดแรงบันดาลใจอะไรจึงขยับมาทำ Documentary Club
เราจะมีคำถามว่าทำไมอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เด็กจนโต จริง ๆ เราค่อนข้างคุ้นเคยกับหนังหลากหลาย มาย้อนนึกถึงสมัยพ่อแม่เขาก็เป็นชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ดูหนังในโรงทั้งหนังไต้หวัน อิตาลี ญี่ปุ่น และสารพัด เขาก็รู้จักดาราดัง ๆ ระดับโลกโดยที่ไม่ได้เป็นนักดูหนังอะไรเลย มีหนังของเฟลลินี* มาฉายอยู่เนือง ๆ เรารู้สึกว่าแบบนี้สนุก ได้รู้จักวัฒนธรรมต่าง ๆ ไม่ได้รู้สึกแปลกแยกเวลาพูดถึงหนังไต้หวัน หนัง ฉินฮั่น-หลินชิงเสีย* ไม่ได้จัดเป็นหนังอาร์ต แต่ยิ่งโตความหลากหลายนี้ค่อย ๆ หดลงเรื่อย ๆ หนังญี่ปุ่นซึ่งสมัยก่อนเราคิดว่าป็อปมากก็ฉายแค่ในโรงสองโรง ระยะหลังแม้แต่หนังฮอลลีวูดที่ไม่ใช่หนังฟอร์มใหญ่ก็ยังทำเป็นหนังอาร์ตอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างกรณี The Intern* ค่ายหนังไม่ได้มั่นใจว่าจะเข้าโรงเลยด้วยซ้ำ แต่พอดีหนังทำงานกับคนก็เลยขยายขึ้น หนังฟอร์มกลาง ๆ แทบจะหาโรงฉายยาก พวกนี้เป็นเรื่องที่เรารู้สึกมาตลอด

ตอนทำ Bioscope ซึ่งเป็นนิตยสารที่พยายามจะพูดถึงหนังนอกกระแส การดูหนังหลากหลายแบบไม่ต้องพูดถึงเชิงประโยชน์ที่กว้างไกล ก็เป็นความบันเทิงแบบหนึ่งที่จะได้รู้จักหนังหลากหลาย ตลาดหนังในบ้านเราดำเนินรอยตามแบบตลาดหนังในอเมริกา คือหนังใหญ่ครอบไปหมด หนังเล็กพื้นที่น้อยลง ๆ ทุกที เราเลยอยากบอกว่าหนังที่ปรากฏในโปรแกรมการฉายนั้นมีความเคลื่อนไหวทางภาพยนตร์อีกตั้งเยอะ ภาษาหนังเองก็มีอีกสารพัดแบบ เราชอบดูหนังสารคดีเพราะเวลาหนังเล่าเรื่องหรือมีประเด็นดี ๆ มันอิมแพกต์ (impact) เรายิ่งกว่าหนังปรกติ ด้วยเป็นข้อเท็จจริง บุคคลในเรื่องมีตัวตนจริง ๆ หนังสารคดีก็เป็นหนังกลุ่มหนึ่งที่เราสงสัยว่าทำไมหาดูยากขนาดนี้ สวนทางกับตลาดโลกที่โตและหลากหลายขึ้น เมื่อก่อนเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น กว่าหนังสารคดีเรื่องหนึ่งจะออกมาก็ ๕ ปีให้หลัง เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีการทำหนังง่ายขึ้น ความคล่องตัวมากขึ้น เหตุการณ์เกิดปีนี้ปีหน้ามีหนังดูแล้ว แต่บ้านเราไม่มีพื้นที่ นอกจากจะดูในเทศกาลหรือจัดเป็นกิจกรรมพิเศษ

เวลาบอกใครว่าจะนำหนังสารคดีมาฉาย ทุกคนก็มีความรู้สึกว่าไม่มีใครดูหรอก จนมาช่วง ๒-๓ ปีนี้เราได้มีส่วนร่วมกับบางกิจกรรม อย่าง Social Film Festival ซึ่งมีหนังสารคดีเรื่อง Urbanized* ก็พบว่าจริง ๆ พอพีอาร์บางประเด็นโดนคนพอดี เริ่มรู้สึกว่าหนังสารคดีมีเสน่ห์ตรงนี้ มีประเด็นบางอย่างที่กระทบกับชีวิตของคน แม้จะเป็นคนละบริบททางสังคม แต่หนังเหล่านี้ก็ไม่ได้มีโอกาสเข้าฉาย เราคิดถึงเรื่องนี้มากขึ้น ได้คุยกับเพื่อนที่ทำงานเพื่อสังคมซึ่งเขาก็เห็นประโยชน์ของหนังสารคดีร่วมกัน ถ้าเราสามารถฉายหนังเหล่านี้และพยายามทำให้มีความต่อเนื่อง ก็มีคนสนใจพอสมควร เช่นเว็บไซต์ taejai.com บอกว่าโครงการเราก็ทำงานในเชิงสังคม จึงเกิดมาจากการระดมทุนตรงนั้น

doc02

*Federico Fellini ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังของอิตาลี มีผลงานที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกทั้งจากคนดูและการประกาศผลรางวัลต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือ La Dolce Vita (ค.ศ. ๑๙๖๐) ซึ่งประสบความสำเร็จ และทำให้เกิดคำศัพท์เรียกนักข่าวแอบถ่ายดาราว่า ปาปารัซซี

*ฉินฮั่น-หลินชิงเสีย ดาราคู่ขวัญจากหนังรักไต้หวันเรื่อง Outside The Window (ค.ศ. ๑๙๗๓)

* The Intern (ค.ศ. ๒๐๑๕)
หนังอเมริกันว่าด้วยผู้ประกอบการสาวยุคใหม่ ซึ่งทางบริษัทมีนโยบายรับคนฝึกงานเป็นคนแก่วัยหลังเกษียณกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ เข้าฉายในไทยและได้รับคำชมแบบปากต่อปากจนเป็นหนังทำเงินในระดับน่าพอใจ
doc03*Urbanized (ค.ศ. ๒๐๑๑) สารคดีอเมริกาที่พาไปสำรวจแนวคิดสถาปนิก นักวางแผนและนักคิดชื่อดัง ผู้ออกแบบเมืองใหญ่ต่าง ๆ ของโลกว่าทำอย่างไรให้เมืองน่าอยู่
*social entrepreneur ผู้ประกอบการเพื่อสังคม องค์กรที่สร้างธุรกิจซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ

เว็บไซต์ระดมทุนอย่างเทใจเริ่มมาคุยกับเราได้อย่างไร
จริง ๆ คนที่ทำเว็บไซต์คือกลุ่มเดียวกับ ChangeFusion องค์กรทางสังคมที่สนับสนุน social entrepreneur* ตอนทำนิตยสาร Bioscope หรือ Fuse เขาก็มาสนับสนุนอยู่เนือง ๆ โดยให้ทุนบางกิจกรรม เทใจค่อนข้างเป็นโครงการเพื่อสังคมมากกว่า ไม่ใช่เว็บไซต์สนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัปโดยตรง แต่ตอนนั้นไทยยังไม่มีรูปแบบเว็บฯ แบบสตาร์ตอัปเต็มตัว และทางเขาก็อยากได้โครงการที่ทำงานเชิงสังคมด้วยสื่อด้านบันเทิงเหมือนกัน เพราะเขายังไม่เคยมี

ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง
ค่อนข้างดีมาก เว็บฯ เทใจบอกว่าเป็นโครงการระดมทุนใหญ่ที่สุดและถึงเป้าหมายเร็วที่สุดตั้งแต่เคยเปิดเว็บไซต์ เดิมเขามีโครงการไม่ใหญ่ เช่น ระดมทุนทำบ้านให้หมาจรจัด ซึ่งตั้งเป้าไว้ประมาณหลักหมื่นบาท แต่เราตั้งเป้า ๑ ล้านบาท ตอนทำก็ไม่ได้คาดหวัง ปรากฏว่ามีคนสนับสนุนเยอะ บริจาคตามกำลังของเขาตั้งแต่ ๕๐๐ บาท มีคนหนึ่งบริจาคถึง ๑ แสนบาท จนเรายังตกใจว่ามีคนที่จริงจังขนาดนี้เลยหรือ พอได้แสนแรกค่อนข้างเร็ว ทางเทใจเลยบอกว่าน่าจะทำอะไรได้แล้ว ให้เห็นว่าโครงการทำได้จริง เราก็นำหนังเรื่อง Finding Vivian Maier* เข้าฉายเป็นเรื่องแรกเลย โชคดีว่าพอโปรโมตคนสนใจ เปิดฉายจำกัดรอบแค่เจ็ดแปดรอบก็เต็มหมด เราเห็นความสำเร็จจากเรื่องนี้ พอระดมทุนจนถึง ๔ แสนใน ๒ เดือน ก็ปรึกษากับเทใจว่าพอดีกว่า เพราะสามารถนำหนังเข้าแล้วให้เวียนฉายได้อีกสองสามเรื่องโดยใช้เงินก้อนนี้หมุนรวมกับรายได้จากหนังเรื่องแรก จึงหยุดและจะไม่รับบริจาคเพิ่มแล้ว จะพยายามใช้ส่วนที่ได้มาทำให้ธุรกิจดำเนินไป

doc04*Finding Vivian Maier (ค.ศ. ๒๐๑๓)

การตามหาชีวิตศิลปินที่เพิ่งถูกค้นพบ วิเวียน ไมเออร์ ผู้หญิงที่ยึดอาชีพพี่เลี้ยงเด็กตลอด ๔๐ ปี หากต่อมากลับพบว่าอีกด้านเธอคือ
ช่างภาพแนวสตรีตฝีมือเยี่ยมแห่งทศวรรษที่ ๑๙๕๐

อยากให้อธิบายรูปแบบการฉายหนังเรื่องนี้ ถือเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ของการฉายหรือเปล่า
ไม่ได้ต่างมากขนาดนั้น เป็นโมเดลเดียวกับการฉายเทศกาลหนัง คือซื้อมาแค่ ๑-๓ รอบ กี่บาทก็จ่ายไป ทีนี้เพราะ Finding Vivian Maier เป็นเรื่องแรกและค่ายที่ขายหนังเรื่องนี้บอกราคาค่อนข้างสูง ด้วยองค์ประกอบหลายอย่างจึงตัดสินใจทดลองตลาดซื้อแบบจำกัดรอบแค่ ๓๐ รอบ แล้วค่อย ๆ ทยอยจัดฉายไป แต่ก็จัดเป็นโมเดลที่น่าใช้อยู่สำหรับเราเอง หรือค่ายหนังใหม่ ๆ ที่ไม่สามารถแบกรายจ่ายของหนังเต็มเรื่อง เพราะไม่แน่ใจว่าให้รายได้คุ้ม อีกอย่างเราทำโปรเจกต์นี้กับ SF Cinema จึงทำโมเดลไปคุยกับเขาในชื่อ Docs Holiday คือฉายทุกศุกร์ เสาร์ อาทิตย์เท่านั้น วันละรอบ หวังน้อยมากแค่ ๓ รอบ ถ้าทำรายได้สัปดาห์หน้าก็ฉายต่อ เพราะเราไม่แน่ใจว่าตลาดนั้นใหญ่แค่ไหน คิดว่าความชัดเจนของโมเดลทำให้โรงหนังตัดสินใจง่ายในการแบ่งโรง เขาจัดการง่าย เราก็ควบคุมง่าย

thida02

ทำไมคนสนใจสารคดีเรื่องแรกที่นำมาฉายขนาดนั้น
เบื้องต้นเราแค่ดูก็รู้สึกว่าชีวิตเป็นปริศนาดี น่าสนใจประเด็นนี้ แต่พอโปรโมตถึงพบว่าประเด็นหนึ่งคือ street photo เป็นสิ่งที่คนกำลังสนใจมาก ๆ ซึ่งก็มีความเท่ของมัน มีเซนซ์ของความงาม สายตาที่เฉียบคมของคนถ่าย การถ่ายรูปตอนนี้นอกจากการเซลฟี ยังมีคนที่มีกล้องแล้วฝึกปรือฝีมืออย่างจริงจัง การถ่ายสตรีตโฟโตก็เป็นความฝันอย่างหนึ่ง เพราะทำด้วยตนเองและอาศัยทักษะของตน แล้วตัวหนังวิเวียนฯ เอง งานของเขาที่มีคนนำมาลงก็สวย น่าทึ่งจริง ๆ พองานแบบนี้มารวมกับชีวิตของเขา คนเลยโดนใจตรงนี้เยอะ เกิดกระแสพูดถึง พอได้ดูก็มีเสียงตอบรับอื่น ๆ ที่ตอบบางอย่างในใจคนว่า นี่ไงถ้าทำงานด้วยความรัก ไม่จำเป็นต้องเป็นสตาร์ เขาก็ดำเนินชีวิตไปได้

doc05หลายเรื่อง Documentary Club เองก็ยอมรับว่ามีคนดูมากกว่าที่คิด เช่น The New Rijksmuseum
จริง ๆ เป็นหนังที่เราชอบ แต่ไม่แน่ใจว่าคนจะชอบไหม หนังมันก็เรียบ ๆ แต่ตลกร้ายเพราะพูดถึงการปิดปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ มีการปะทะและทะเลาะกัน กว่าจะได้เปิดอีกทีก็ ๑๐ ปีเต็ม ตอนโปรโมตคนแชร์เยอะและตอนฉายคนก็แน่นเกือบทุกรอบจนฉายเกือบเดือน รอบสุดท้ายยังมีคนดูครึ่งโรง คิดว่าส่วนหนึ่งเรื่องเกี่ยวกับศิลปะบ้านเรามีคนสนใจ และหนังมีลักษณะของการไปเที่ยว ซึ่งคนไปเที่ยวก็ชอบเที่ยวพิพิธภัณฑ์

มีเกณฑ์คัดเลือกหนังมาฉายอย่างไร
เราจะทำตัวเป็นคนดู ก็ต้องดูแล้วชอบก่อน ประทับใจ ร้องไห้ ตลก ซาบซึ้ง อันนี้อันหนึ่ง อีกเกณฑ์ของการเป็นผู้จัดจำหน่ายคือต้องมองเห็นว่าจะขายยังไง ถ้าหนังดีแต่ไม่รู้จะสื่อสารอย่างไรให้คนยอมเสียเงินมาดู นี่เป็นสิ่งที่เรายังไม่เจอคำตอบเสียทีเดียว บางเรื่องคลำถูก บางเรื่องผิด แต่หลัก ๆ มีประมาณนี้ ที่เหลือก็เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ราคาต้องไม่แพงเกินไป

Documentary Club มีหนังที่ไม่ได้มีแนวโน้มทำเงิน แต่เลือกเพราะเป็นสารคดีที่ฮือฮาทั่วโลก อย่าง The Act of Killing
เราจะเล็งแต่หนังที่ได้รับความนิยมไม่ได้ทุกเดือน หนังที่เป็นปรากฏการณ์โลก ได้รางวัล ก็ต้องมีคละมาฉายบ้าง


ทำไมสารคดีอย่าง The Act of Killing และ The Look of Silence* จึงเป็นที่สนใจระดับโลก เพราะมีเนื้อหาที่เปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ หรือเปล่า ?

จริง ๆ ประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศไหน ๆ ที่ยังดำรงความรุนแรงอยู่ ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว แต่เรื่องนี้มีองค์ประกอบที่ช็อกคนเยอะ เช่น การนำฆาตกรที่ยังมีชีวิตมาพูดแบบอวดโอ่ถึงวีรกรรมการฆ่าคนเหมือนเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ ทุกวันนี้ยังภาคภูมิใจ ไม่เคยยอมรับผิด และไม่มีใครลงโทษ เพราะสังคมอินโดนีเซียเปิดให้เขาทำอย่างนั้น เทคนิคของผู้กำกับ โจชัว ออพเพนไฮเมอร์ นั้นทั้งได้รับคำชมและถูกด่าในเวลาเดียวกัน คือไปตามถ่ายเขาและหลอกว่ากำลังทำสารคดีเชิดชู เขาจึงพูดทุกสิ่งทุกอย่าง ยอมให้ตามถ่าย ให้อยู่ในวง แต่พอทำหนังกลับพูดความจริงอีกด้าน จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะในแง่นี้ ยังมีเทคนิคภาพยนตร์ที่แปลกประหลาดและมีชั้นเชิงแพรวพราว เช่น มีฉากเล่นละคร เต้นระบำ และหลอกคนเหล่านี้ว่ากำลังถ่ายหนังอีกต่างหาก นี่เป็นความจริงอันโหดเหี้ยมที่ยังอยู่ในสังคมปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องย้อนอดีต พอผสมกันคนเลยตกใจว่ายังมีอะไรแบบนี้อยู่ในโลกอีกหรือ ?

การฉายแบบนี้ต่างจากการฉายหนังทั่วไปที่ต้องมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดเสวนา รอบพูดคุยกับคนดู
ก็พยายามมีเพราะหนังสารคดีต่างจากหนังปรกติอยู่แล้วในแง่ที่มีประเด็นต่อยอดชัดเจนกว่า อย่างหนังของ ไมเคิล มัวร์* พูดถึงบริบทที่ห่างจากเรา แต่ประเด็นน่าสนใจ เป็นโอกาสในการจัดเสวนา คนดูก็อยากรู้ หนังสารคดีทำงานแบบนี้ แต่เราไม่ได้ทำทุกเรื่อง อาจจะโดยกำลังของเราเอง อีกอย่างที่ต่างคือหนังฟอร์มใหญ่ไม่ต้องการคำอธิบายอะไรมาก ใช้แรงของการโฆษณาทำให้คนอยากออกไปดูในวันแรกให้มากที่สุด แต่กรณีหนังเล็ก ๆ ต้องการการสื่อสารอีกแบบ จำเป็นต้องให้เขารู้สึกว่าทำไมต้องออกจากบ้านมาเสียเงินดูด้วย และสร้างกลุ่มคนที่ค่อนข้างต่อเนื่อง

doc06*The Act of Killing (ค.ศ. ๒๐๑๒) และ The Look of Silence (ค.ศ. ๒๐๑๔)

หนังสารคดีสองเรื่อง ผลงานของ โจชัว ออพเพนไฮเมอร์ ซึ่งแฉความโหดเหี้ยมของเหตุการณ์ช่วง ค.ศ. ๑๙๖๕-๑๙๖๖ ในอินโดนีเซีย

doc07*ไมเคิล มัวร์ (Michael Moore) 

คนทำหนังสารคดีชาวอเมริกันซึ่งมีจุดเด่นคือบุคลิกโผงผาง วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของอเมริกา โดยใช้ตัวเองเป็นผู้ดำเนินเรื่องในสารคดี งานเด่น ๆ เช่น Fahrenheit 9/11 (ค.ศ. ๒๐๐๔)

รายการสารคดีทางโทรทัศน์ทุกวันนี้ก็หยิบยืมเทคนิคภาพยนตร์มาใช้ อะไรคือความแตกต่างจากหนังสารคดีในโรง
มันมีฟอร์แมต โดยธรรมชาติของทั้งสองอย่างนั้นไม่เหมือนกัน สารคดีโทรทัศน์มีโฆษณา จำเป็นต้องใช้การสื่อสารที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา คนดูไม่ได้ถูกบังคับให้จ้องจอทีวีแล้วลุกไปไหนไม่ได้ อาจทำนั่นทำนี่ตลอดเวลา ชั้นเชิงการเล่าก็ต้องทำให้เข้าใจง่าย เช่น มีพิธีกร มีเสียงบรรยาย ขณะหนังสารคดีมีภาษาของภาพยนตร์มากกว่า เช่น การเล่าเรื่องที่ต้องดูไปครึ่งชั่วโมงถึงจะเริ่มเข้าใจว่าเป็นเรื่องอะไร หรือเทคนิคการตัดต่อที่พยายามหาเทคนิคอื่น ๆ ซึ่งพอดูแล้วจะรู้ว่าให้อิมแพกต์ไม่เหมือนกัน สารคดีโทรทัศน์ดูเพื่อเอาข้อมูล ไม่ได้เน้นการซึมซับอารมณ์อื่น ๆ มากนัก สารคดีในโรงดูเพื่อซึมซับความรู้สึกจากเสียง หรือภาษาภาพ ไปพร้อมข้อมูล

สำหรับวงการสารคดีพื้นที่ของมันอยู่ในโรง ทีวี หรือในปัจจุบันก็มี Netflix โดยพื้นที่การทำงานของคนทำหนังนั้นกลืนกันอยู่ตลอดเวลา สารคดีจำนวนมากในโลกไม่ได้เกิดมาเพื่อฉายโรง คือในระบบการผลิตไม่ได้แยกตัวเองชัดว่ามีค่ายหนังที่ผลิตสารคดีเพื่อฉายโรงโดยเฉพาะ อย่างโซนี่ฯ พาราเมาต์ฯ หนังสารคดีส่วนหนึ่งก็ทำหน้าที่กลืนกับข่าว สารคดีในเมืองนอกจำนวนมากเกิดจากสถานีโทรทัศน์อย่าง BBC, CNN, HBO อะไรก็ทำสารคดีเป็นของตัวเอง อย่างบีบีซีมีทั้งรายการสารคดีที่มีความเป็นทีวีมาก ๆ หรือสารคดีที่มีความเป็นภาพยนตร์มากกว่า ไม่ได้มีการแยกขาดจากกันมาตั้งแต่แรก

นั่นหมายความว่าคนทำสารคดีจำนวนหนึ่งก็ยังตั้งเป้าจะทำหนังสารคดีเพื่อฉายในโรงอยู่หรือ
คิดว่าเป็นอย่างนั้น เพราะมันให้ความรู้สึกไม่เหมือนกันอยู่ดี อย่าง ไมเคิล มัวร์ เขาคาดหวังรายได้จากโรงเป็นหลัก เพราะพอหนังฉายโรงมันมีอิมแพกต์ มีความเป็นกิจกรรม มีธรรมชาติอีกแบบ การฉายในโรงคือกิจกรรมเฉพาะช่วงเวลาที่หนังเข้า คนเข้าไปดู พูดถึง เกิดกระแสฮือฮาวิพากษ์วิจารณ์จนเกิดปรากฏการณ์บางอย่าง ซึ่งทีวีทำแบบนี้ไม่ได้ เราออกอากาศวันนี้ แล้วอีก ๓ เดือนออกใหม่ก็ไม่เกิดลักษณะแบบที่เกิดกับหนัง คนทำสารคดีจำนวนหนึ่งก็คาดหวังแบบนี้

thida03

doc08
รูปแบบหนังสารคดียุคปัจจุบันมีแนวโน้มเป็นอย่างไร

ที่เห็นได้ชัดและต่อเนื่องคือสารคดีกลุ่มที่เล่าเหตุการณ์ความขัดแย้งหรือสงครามในโลกตอนนี้อย่างจะแจ้ง คนทำเสี่ยงตายสูง เน้นความสมจริง พอไม่ค่อยมีอุปสรรคเรื่องเวลาในการถ่ายทำสารคดี ก็จะมีคนทำหนังที่เอากล้องเข้าไปในเหตุการณ์นั้น แล้วอีก ๑ ปีต่อมาก็ตัดมาให้ดู นับเป็นความต้องการของคนทำหนังช่วงนี้ที่อยากจับความเร่าร้อนของเหตุการณ์ อย่างเช่น Winter on Fire ที่เข้าไปถ่ายการสลายการชุมนุมในยูเครน ใช้ภาพที่ถ่ายจริงจากคนในเหตุการณ์ ซึ่งมีความพยายามให้รู้ว่ามีความขัดแย้งของคนกลุ่มต่าง ๆ มากมายในโลกนี้ ถ้าเมินมัน เราจะทำให้คนดูรู้สึกว่าคนที่อยู่ในนั้นเกิดการปะทะกันอย่างไร

ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เกิดความขัดแย้งอย่างอียิปต์ หรือฮ่องกง ก็เกิดสารคดีแบบนี้เหมือนกัน ?
ใช่ หนังพวกนี้ถ่ายทำไม่ได้แย่ด้วยนะ แม้จะทำเป็นเรื่องแรก แต่มีชั้นเชิงอย่างที่นักข่าวกระแสหลักสำนักไหนก็ให้คุณไม่ได้ ตอนนี้เริ่มมีหนังสารคดีเกี่ยวกับผู้อพยพซีเรียทยอยออกมา คือมีคนวิเคราะห์ไว้ว่าหนังเหล่านี้มาพร้อมความตกต่ำของวงการสื่อมวลชน เพราะสื่อกระแสหลักไม่เคยทำข่าวเจาะลึกแบบที่ลงไปอยู่ในเหตุการณ์ขนาดนี้ อย่างกรณี Cartel Land* ก็ไม่เคยมีสื่อหรือสำนักข่าวไหนไปอยู่ในความขัดแย้งนั้นจริง ๆ ตรงชุมชนในเม็กซิโกที่แก๊งค้ายาปะทะกับชาวบ้าน ว่าเขาคิดอะไร เกิดอะไรขึ้น ความขัดแย้งทางการเมืองภายในนำไปสู่ความพินาศยังไง ทุกวันนี้เขาตัดงบข่าวเชิงสืบสวนหรือข่าวที่ต้องส่งนักข่าวไปฝังตัวนาน เพราะไม่คุ้มค่า ไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร เลยกลายเป็นภารกิจของคนทำหนังสารคดีจำนวนมากที่ต้องไปแทนตรงนี้

doc09*Cartel Land (ค.ศ. ๒๐๑๕)

สารคดีที่ผู้กำกับ แมททิว ไฮเนแมน ไปคลุกวงในกับกองกำลังป้องกันตัวเองรัฐมิโชอากังหลายเดือนเพื่อบันทึกสถานการณ์ยาเสพติดและความรุนแรงบริเวณรอยต่อสหรัฐฯ กับทางตอนใต้เม็กซิโก

เพราะคนเลือกอ่านผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น จนยอดขายหนังสือพิมพ์น้อยลง
ก็มีคนพูดในเชิงนี้เหมือนกัน พอสื่อมวลชนพบว่าตนไม่ได้มีบทบาทเหมือนเมื่อก่อน ลงข่าวฉับไวไม่เท่า ก็เลยมาแข่งเรื่องพวกนี้ การเจาะลึกโดยให้นักข่าวไปฝังตัว ๗ เดือน เพื่อให้ได้ข่าวหรือสกู๊ปมาชิ้นเดียวนั้นจะน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ข่าว แม้แต่นิตยสารก็จะน้อยลง อย่าง Rolling Stone เป็นนิตยสารดนตรี แต่มีสกู๊ปเกี่ยวกับสังคมซึ่งคนทำลงไปขลุกกับเรื่องดังกล่าวแบบลึกมาก ๆ ตอนนี้มีไม่กี่หัวที่ยังทำข่าวเชิงสืบสวนเจาะลึกอยู่ คนทำสารคดีเองก็ต้องดิ้นรน ไม่มีทุนอะไร ส่วนใหญ่ก็ไปโดย passion ของตนเอง

เราอาจมองว่าจุดที่แตกต่างระหว่างคนทำข่าวกับคนทำหนังสารคดีกลุ่มใหม่นี้คือ passion กับเหตุการณ์ที่เขาสนใจอย่างจริงจัง ?
เราเคยอ่านเรื่องของหลาย ๆ คน จะไม่เหมือนสำนักข่าวที่ส่งคนไป มีโจทย์ มีกรอบ เลือกมือดีไปทำตามหน้าที่ แต่คนทำสารคดีส่วนใหญ่ไปเอง หรือลงทุนโดยกลุ่มก้อนของตัวเองเพราะสนใจจริง ๆ และมีความบ้าพอจะไปใช้เวลากับมันนาน ๆ ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อตัวเอง นักข่าวที่ไปในนามสำนักข่าวจะได้รับความคุ้มครองทางสังคมและกฎหมายมากกว่า เช่น คุณไปทำหนังหรือข่าวที่กระทบใคร ยังมีต้นสังกัดคุ้มครองอยู่ เหมือนอยู่ภายใต้เปลือกหอยอีกที แต่คนทำหนังสารคดีเอาตัวเองไปชนตรง ๆ มีไม่รู้กี่คนที่ทำหนังแฉบริษัทต่าง ๆ แล้วโดนฟ้อง เป็นการเสี่ยงและไปปะทะเอง เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ก็พูดเรื่องนี้เหมือนกัน และพยายามตั้งกลุ่มองค์กรที่ปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยของคนทำหนังประเภทนี้

Amy_Poster_70x100.inddจากที่สังเกต อีกหนึ่งความนิยมในหนังสารคดีช่วงหลังคือเรื่องศิลปินเพลง
สารคดีวงการดนตรีมีมานาน แต่ช่วงนี้กลับเยอะขึ้น ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร คิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเครื่องมือการตลาดของวงหรือเปล่า ทุกวันนี้วงไม่ได้มุ่งที่การขายอัลบัม พอจะออกคอนเสิร์ต จะรวมตัวกันทีก็มีหนังสารคดีออกมา แต่ก็มีเทรนด์ที่น่าสนใจด้วยว่า ถึงแม้จะเกิดจากทางวง แฟนศิลปิน หรือคนทำสนใจประเด็น ทุกคนจะรู้ว่าไม่อาจทำสารคดีพีอาร์ตัวเอง หรือทำแต่เรื่องดีงาม เพราะคนยุคโซเชียลมีเดียจะขุดอะไรได้เยอะกว่าหนังที่คุณพูดตั้ง ๑๐ เท่า อย่าง Amy ในปีที่แล้วซึ่งโดดเด่นจากหนังสารคดีนักดนตรีด้วยกัน ทั้งที่โดยตัวหนังไม่มีอะไรใหม่ เพียงพูดถึงศิลปินคนหนึ่งที่พินาศล่มจม แต่ท่าทีของคนทำซึ่งไม่ได้ทำเพื่อพีอาร์เอมี กล้าหยิบข้อมูลหลายอย่างที่เขาขุดได้ ในเชิงเทคนิคหนังไม่มีคลิป talking head* เลยแม้แต่ครั้งเดียว เป็นการใช้คลิปที่มีอยู่แล้ว ข้อจำกัดคือสมัยมีชีวิตอยู่เอมีเป็นคนเปรี้ยวโลกแตกมาก ไม่มีใครเคยถ่ายหรือทำสกู๊ปมุมดี ๆ ของเธอเลย มีแต่ข่าวกอสซิป คนทำหนังต้องรวมสิ่งไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แล้วมันก็สะท้อนด้านมืดกันใหญ่ ซึ่งแม้จะมีคนทำหนังสารคดีแนวนี้เยอะ แต่น่าสนใจที่หนังเรื่องนี้มาพร้อมความกล้าบางอย่างมากขึ้นในการทำหนังสารคดีชีวประวัติซึ่งเจ้าตัวจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ ไม่ว่าจะตายแล้วหรือยังอยู่ แต่จะมีเทรนด์ที่พูดกันแบบไม่ต้องเกรงใจ ต่อให้คุณยังมีชีวิตอยู่ ต่อให้ตระกูลคุณเป็นคนจ้างทำ ก็จะพูดแบบไม่ไว้หน้าใคร ซึ่งสารคดีชีวประวัติควรจะมีแนวทางแบบนี้

*talking head คำเรียกเทคนิคการถ่ายทำด้วยภาพระยะกลาง เห็นเฉพาะส่วนศีรษะและไหล่ผู้ให้สัมภาษณ์ความเห็นต่าง ๆ ในงานข่าวและสารคดี

วงการสารคดีทางโทรทัศน์ในต่างประเทศจากกรณี Making a Murderer หรือ The Jinx* ดูเหมือนจะเป็นแนวทางใหม่ ๆ สร้างความฮือฮาในวงกว้าง สารคดีรูปแบบนี้มีจุดเด่นอย่างไร
ที่จริงก็เหมือนรายการประเภท “เรื่องจริงผ่านจอ” คือเล่นกับความอยากรู้อยากเห็นของคน คอนเซปต์คือ หนึ่ง ทำเป็นซีรีส์เพื่อให้คนติดตาม สอง ใช้ประเด็นอะไรก็ได้ที่คนสนใจมาก ๆ เช่นความอื้อฉาวของนักกีฬาอย่าง โอ. เจ. ซิมป์สัน หรือประเด็นทางอาชญากรรม ซึ่งสังคมมีแนวโน้มสนใจอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น รายการแบบนี้มีเยอะแยะ แต่วิธีการทำ ขลุกกับเรื่องนี้อย่างมาก ถึงขั้นขุดค้นข้อมูลมาปะทะข้อมูลของตำรวจ ปะทะกับสิ่งที่สังคมรับรู้ พวกนี้ได้รับอิทธิพลจากสารคดี The Thin Blue Line* ทั้งนั้น แต่ด้วยการเป็นทีวีและรูปแบบการถ่ายทำที่ล้วงลึกซอกซอนกว่าเยอะ หนังจึงออกมาจะแจ้ง มีลักษณะสอดรู้สอดเห็น เสี่ยงตายเสี่ยงโดนฟ้องมากกว่า แง่หนึ่งก็ดีนะ ท้าทายคนว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องถูกสำรวจ แต่ก็ทำให้วงการสื่อวงการสารคดีถูกตั้งคำถามเรื่องเส้นแบ่งของคนทำหนังสารคดี อย่าง The Jinx ที่ทำนำไปสู่การจับกุมฆาตกรตัวจริงได้ แต่การจะไปถึงตรงนั้นต้องยอมข้ามเส้นความพอดีของคนทำหนังด้วยการหลอกล่อให้เขาพูดต่อหน้ากล้อง ซึ่งการทำสารคดีคุณมีหน้าที่ขนาดนั้นเลยหรือ ?

doc11*Making a Murderer (ค.ศ. ๒๐๑๕)

มินิซีรีส์สารคดีแนวอาชญากรรมของ Netflix ขนาด ๑๐ ตอนเกี่ยวกับ สตีเวน เอเวอรี ซึ่งสันนิษฐานว่าถูกตำรวจยัดข้อหา จุดเด่นคือชมต่อเนื่องทั้ง ๑๐ ตอนได้ทันทีโดยไม่ต้องรอในอีกสัปดาห์แบบมินิซีรีส์ทางโทรทัศน์ จนเกิดกระแสเรียกร้องการอภัยโทษอย่างรวดเร็วdoc12

*The Jinx : The Life and Deaths of Robert Durst (ค.ศ. ๒๐๑๕)

มินิซีรีส์สารคดีทางช่อง HBO ความยาวหกตอน ที่ถ่ายทอดชีวิตของ โรเบิร์ต เดิร์ส เศรษฐีที่ดินซึ่งถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรมเพื่อนสนิท อดีตภรรยา และเพื่อนบ้านในหลายครั้ง หลังการให้สัมภาษณ์ตอนสุดท้ายเดิร์สเข้าห้องน้ำโดยไม่ทราบว่าไมโครโฟนที่ติดกับตัวยังคงทำงานอยู่ และเผลอพูดพึมพำกับตัวเองซึ่งกลายเป็นหลักฐานในการจับกุมในที่สุด หลังเกิดคดีมานานกว่า ๑๕ ปีdoc13

*The Thin Blue Line (ค.ศ. ๑๙๘๘)

สารคดีเชิงสืบสวนที่นำเสนอข้อมูลคัดง้างกับการตัดสินคดีลงโทษประหารชีวิตคดีหนึ่ง จนสร้างความฮือฮาและมีการนำคดีดังกล่าวมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

เท่าที่เห็นในบ้านเราแม้จะเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัลที่เกิดรายการจำนวนมาก แต่ดูเหมือนส่วนใหญ่ยังคุ้นชินกับสารคดีให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และธรรมชาติ หรือสารคดีแนวท่องเที่ยว เมืองไทยทำสารคดีรูปแบบซีรีส์ขนาดยาวที่ก่อให้เกิดกระแสการถกเถียงอย่างที่ว่าได้หรือไม่
บ้านเรายังคุ้นกับการเสพชุดความรู้ที่มาแบบสำเร็จรูป สมมุติดูสารคดีเรื่องหนึ่งเราจะมีความรู้สึกว่าเขาต้องเล่าแบบหนึ่ง สอง สาม สี่ ครบในความรู้สึกเรา และมีบทสรุป ดูจบเสร็จ ไม่ค้างคา ไม่รู้สึกว่าทำอะไรขาดไป หรือทำให้สงสัยต่อ สังคมไทยยังไม่ถึงจุดที่เปิดให้เกิดการถกเถียง คนที่เห็นต่างยังไม่สามารถคุยกันได้ สกู๊ปข่าวหรือสารคดีที่มีลักษณะเจาะปัญหาบางอย่าง เช่นการค้ายาในเม็กซิโก แล้วได้คำตอบทุกอย่าง เราว่าความจริงไม่มีอะไรในโลกที่เป็นแบบนั้นหรอก หนังก็ทำได้เท่านี้ เสนอภาพความขัดแย้งมาโยนใส่คนดู ไม่ใช่หน้าที่ของหนังที่จะต้องบอกว่าวิธีการแก้ปัญหาคืออะไร บ้านเราไม่คุ้นเคยกับการพูดให้เห็นภาพความขัดแย้งแล้วไม่มีคำตอบให้ จึงรู้สึกว่าสังคมนี้มีความขัดแย้งเยอะแยะ คุณจะต้องรับรู้สิ่งที่เกิดโดยไม่มีใครหาคำตอบให้สบายใจหรอก เวลาเราพูดถึงความขัดแย้งระดับไหนก็ตามจะมีคนรู้สึกรับไม่ได้ สงบดีอยู่แล้วพูดทำไม อย่างในอเมริกา กรณี Making a Murderer ก็เป็นที่ถกเถียง คนทำใช้เวลานานมากเพื่อให้ข้อมูลกลมที่สุด พอออกอากาศโดนด่าทันทีว่าเลือกข้าง รู้ไม่จริง ทำข้อมูลไม่ครบ แต่หน้าที่เขาคือทำอย่างดีที่สุดและมั่นใจในสิ่งที่พูดแล้ว การถูกสังคมตีกลับเป็นเรื่องที่เขารับได้ ไม่จำเป็นต้องตอบโต้หรือด่าคนดู ซึ่งสังคมเรายังไปไม่ถึงระดับนั้น

ถ้าอย่างนั้นหนังสารคดีหรือสื่อจำเป็นต้องเป็นกลางหรือ ? ถ้าไม่ใช่ อะไรสำคัญที่สุด
ต้องบอกก่อนว่าเราไม่ได้ชี้ชัดอะไรแบบนั้นนะ มันแค่ส่วนเดียว ไม่ใช่ว่าความเป็นกลางเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ไม่ได้พูดแบน ๆ แบบนั้น แต่ต้องการจะบอกว่าความคิดเรื่องเป็นกลางนั้นเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเหมือนกัน เราต้องการความเป็นกลางเนื่องจากอยากเสพสิ่งที่ไม่มีความขัดแย้ง พอฟังคนนี้พูดแล้วอยากฟังคนนั้นด้วยเพราะรู้สึกสบายใจที่ได้ฟังทั้งสองฝั่ง แต่สองฝั่งนี้เป็นความจริงหรือเปล่า หรือทำไมคนนี้ได้พูดทุกสื่อเลย คนนั้นเพิ่งได้พูด หนังเรื่องนี้ต้องมาเกลี่ยให้คนพูดเท่ากัน เราไม่รู้สึกว่านี่เป็นความไม่ยุติธรรมเหรอ ? เราเชื่อว่าถ้าให้คนจนพูด ก็ต้องให้นายทุนพูด นักข่าวสบายใจทำหน้าที่ครบแล้ว ปัญหาก็ยังดำรงอยู่ต่อไป เรารู้สึกว่าความเป็นกลางถูกใช้งานแบบนี้ซึ่งเราไม่เห็นด้วย

อย่างหนังสารคดีของ ไมเคิล มัวร์ ผู้ซึ่งถูกด่าเยอะมากว่าไม่เป็นกลาง เช่นเขาทำหนังด่า จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ผู้มีสำนักข่าวทำงานรับใช้เยอะมาก เช่น Fox ทั้งช่องพูดแต่ข่าวด้านบวกของบุช พอเกิดเหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรด ก็พูดถึงแต่การปราบปรามผู้ก่อการร้ายโดยไม่ได้นึกถึงความรุนแรงที่เกิดแก่มุสลิม ในฐานะคนทำหนังเขาเห็นว่าเปลี่ยนเป็นทำแบบนี้มันไม่ถูก เขาเสนอว่าทำไมตอนเกิดเหตุโศกนาฏกรรม ๙/๑๑ บุชถึงไม่มีการจัดการที่ดีกว่านี้ พอค้นข้อมูลจริง ๆ ก็พบว่า บุชเห็นด้วยกับการถล่มด้วยซ้ำเพราะได้ผลประโยชน์เนื่องมาจากข้ออ้างยึดแหล่งน้ำมัน มัวร์เชื่อในข้อมูลชุดนี้ เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะทำข้อมูลหรือ ?

หมายความว่าการที่คนทำหนังสารคดีเลือกข้างนั้นมีที่มาที่ไป เพราะสื่อกระแสหลักขณะนั้นนำเสนอในลักษณะโฆษณาชวนเชื่อ
ประเด็นคือคนที่เชื่อเขาก็เชื่อไป คนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อมูลเหล่านี้ก็มี ขณะเดียวกันสังคมไม่ได้ปิดกั้น มีคนทำหนังด่า ไมเคิล มัวร์ หรือทำหนังเชิดชูฟอกซ์ ก็ทำได้ทั้งสองฝ่าย การทำสิ่งที่ค้านกับกระแสส่วนใหญ่นั้นเป็นหน้าที่ของคนทำหนัง อีกฝ่ายไม่เห็นด้วยก็ทำหน้าที่ของตัวเอง คือแทนที่จะเรียกร้องให้ทำหนังเป็นกลาง หรือโยนภาระแบบนั้นให้ คนดูควรทำงานให้มากขึ้น ถ้ารู้สึกว่าเขาอคติ ก็ไปหาดูหนังของอีกฝั่ง แล้วหาข้อมูลเพิ่ม ใช้ปัญญาตัวเองตัดสิน

thida04

แต่บ้านเรายังมีการทำความเข้าใจกับสารคดีลักษณะนี้ไม่มากนัก
คือทุกสังคมควรบ่มเพาะ เราเสพฝั่งนี้แล้วเสพอีกฝั่ง มีกระบวนการคิดชั่งตวงวัด คิดได้ด้วยตัวเอง ซึ่งต้องส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ประเภทนี้และมีพื้นที่ของการถกเถียงเรื่องที่เกิด ถ้าสังคมยังบังคับให้ทุกคนปิดปากก็จะเอาแต่กลัว สังคมจะไปสู่จุดนั้นก็ต้องค่อย ๆ สร้าง จะให้กดไว้และบอกแต่ให้เป็นกลางทุกอย่างมันเป็นไปไม่ได้ อเมริกาก็ไม่ใช่ว่าไม่มีปัญหา มีความขัดแย้งในการผ่านกฎหมายแต่งงานของคนเพศเดียวกัน มีคนออกมาประท้วงเยอะแยะ หรือคนขาวไล่ฆ่าคนผิวสีก็ยังมี รวมถึงปัญหาในระดับที่ยังแก้ไขไม่ได้ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่จะนำไปสู่การเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งแล้วคนยังอยู่กันได้

นอกจากฉายเฉพาะในกรุงเทพฯ ช่วงหลังหนังได้ไปฉายต่างจังหวัดด้วย มีที่มาอย่างไรและได้ผลตอบรับอย่างไรบ้าง
ตอนที่นำหนังมาเราก็อยากฉายให้ทั่วอยู่แล้ว แต่เอาเข้าจริงยาก เคยฉายขอนแก่น เชียงใหม่บ้าง บางเรื่องได้บางเรื่องไม่ได้ ทางโรงเขาก็คงไม่ได้อยากให้โรงขนาดนั้น แต่จะมีกลุ่มคนดูที่ไม่ใช่กลุ่มใหญ่ซึ่งอยากดูปรากฏในเพจต่าง ๆ ถ้าเราไม่สามารถฉายระบบปรกติก็หาวิธีอื่น อย่างน้อยการจัดการก็มีความคล่องตัวกว่าค่ายหนังทั่ว ๆ ไป เรามีพันธมิตรพอสมควร เช่น Filmsick (นักวิจารณ์ภาพยนตร์) ที่จัดฉายหนังในภูเก็ต น้องที่ทำเพจอยู่หาดใหญ่ เพจจากขอนแก่น ถ้าอยากฉายหนังเราให้ แต่มีเงื่อนไขสองอย่างว่า ถ้าไม่ติดขัดอะไรจริง ๆ ขออย่าให้จัดฉายฟรี เพราะสิ่งที่เราพยายามทำคือให้สารคดียืนอยู่ได้ในตลาด ไม่อยากให้มองเป็นของแถมของฟรีตามกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา จะเก็บเงินเท่าไรก็แล้วแต่ และเราให้ยืมหนังก็ช่วยรักษาให้ดี อย่าให้หลุดไปไหน เขาก็เอาหนังไปจัดฉายตามโปรแกรมที่สนใจ

อย่างที่จัดมาทุกครั้ง มันอาจไม่แน่นอน ไม่ได้เยอะ แต่จำนวนคนดูก็โตขึ้นอย่างเห็นชัด ที่ขอนแก่นผู้จัดเป็นนักศึกษาซึ่งไม่เคยจัดกิจกรรมแบบนี้ แต่อยากเอาไปฉาย ก็จัดในห้องประชุมแบบเก็บเงิน ปรากฏว่าฉายสามครั้งคนมาเต็มห้อง ทำให้เราเห็นว่าความสนใจใคร่รู้ของคนดูมีอยู่ทุกที่ เพียงแต่หนังไม่ได้มีโอกาสไปถึง คนเหล่านี้อาจมีอยู่แค่ ๓๐-๕๐ คนเท่านั้น เอาไปฉายในโรงใครจะมาดู อาจไม่ได้ตอบโจทย์ธุรกิจเต็มรูปแบบ แต่เราก็เชื่อว่าคนดูมี แล้วเราก็พยายามกระตุ้นคนที่เอาหนังไปฉายว่าถ้ามีโอกาสก็ทำอีก ถ้าอยากทำต้องทำให้ต่อเนื่อง แล้วก็จะเกิดฟิล์มคลับของคุณขึ้นมาตรงนั้น

มีคำที่คุณชอบใช้ทั้งชื่อคอลัมน์ของนิตยสาร Bioscope และงานเสวนาต่าง ๆ ว่า “หนังไม่ได้มีทางเดินเดียว” เพราะต้องการสื่อว่าโรงภาพยนตร์ไม่ได้มีแค่สิ่งที่เราเห็นหรือเปล่า
เราทำงานเรื่องหนังเพราะชอบดูหนัง ความทรงจำต่อการดูหนังเป็นความทรงจำที่ดี ไม่ว่าจะดูในโรง ในบ้าน ดูกับเพื่อน กับครอบครัว มันเป็นกิจกรรมที่เราใช้เวลา ๑-๒ ชั่วโมงแบบมีสมาธิกับเรื่องเล่าตรงหน้า ไม่ค่อยมีกิจกรรมอื่นที่ตรึงเราไว้แบบนี้ และยังทำงานกับความรู้สึกเราด้วย หนังมีเสน่ห์แบบนี้ โรงหนังที่เป็นอยู่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสุขในการดูหนังแบบนี้ แต่ให้ความสำคัญกับอย่างอื่น ทำไมเราต้องถูกตลาดทำให้ที่เดียวที่จะดูหนังคือที่แบบนั้น แล้วพอเรามุ่งหน้าไปโรงก็จะได้ดูแค่หนังที่เขาเลือกมาให้ ซึ่งธรรมชาติของคนดูหนังไม่ใช่แบบนี้ พอทำคอลัมน์ “หนังไม่ได้มีทางเดินเดียว” ก็พยายามพูดว่าคนดูหนังต้องการมีโอกาสเข้าถึงหนังหลายแบบ เพราะอยากมีความสุขกับสิ่งที่ดู คนทำหนังเองก็ควรหลุดจากวิธีคิดแบบทำหนังเสร็จต้องไปง้อโรงจนรู้สึกแย่เสียศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นวงจรที่ไม่ถูก โมเดลการเดินสายฉายต่างจังหวัดใครจะไปทำไหว จริง ๆ มันยากนะ แต่ก็มีคนพยายามทำ หรือทำโมเดล
อย่างอื่น ๆ อีกที่ไม่ใช่จมปลักอยู่กับแบบนี้

ในสหรัฐอเมริกาก็มีสถานการณ์คล้าย ๆ กับเรา
ก็มี มีโรงหนังประเภทเครือใหญ่เปิดทั่วเมือง แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันในหลายประเทศคือมีกฎหมายการค้าผูกขาด ที่จะไม่ให้ใครครอบครองตลาดแบบ ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์อยู่คนเดียว บ้านเราเองมีปัญหาการผูกขาดในเรื่องอื่น ๆ ด้วยเช่นอาหาร ในอเมริกามีเครือใหญ่สองสามเครือ มีโรงหนังสแตนด์อะโลนที่ยังดำรงอยู่ ถึงแม้จะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและลำบาก แต่ก็ยังมีกลไกเหล่านี้ หรือยังมีเครือทางเลือกอย่าง Alamo ที่เปิดในเมืองเล็ก ๆ เช่นเทกซัส ซึ่งทำออกมาดีมาก สุดท้ายก็มาเปิดในนิวยอร์ก คือยังมีช่องทางความหลากหลาย

ปัจจัยหลักของความสำเร็จของ Documentary Club คืออะไร
คิดว่าหัวใจหลักของเราคือการขายคอนเทนต์ หนังสารคดีไม่ได้มีจุดขายอื่น ไม่มีซีจี ไม่มีดารา การดำเนินงานขายจุดนี้เป็นหลัก เราเห็นหนังเล็ก ๆ หนังนอกกระแสที่เข้าฉายหลายเรื่อง แต่ขาดการสื่อสารกับคน ยิ่งพอเป็นหนังเล็กที่ทุนโฆษณาทางสื่อหลักน้อย ก็ต้องอาศัยโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ซึ่งไม่ว่าจะสื่อสารกับคนด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่ ต้องให้คนรู้สึกสนใจหนังเรื่องนั้น เราคิดว่าที่ผ่านมาหลายเรื่องทำตรงนี้น้อย แค่นำหนังเข้าระบบการฉายปรกติ โปรโมตตามกำลังที่มี บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหนังกำลังฉาย ถ้าทำเราก็อยากให้ความสำคัญกับตรงนี้

พูดถึงการเกิดธุรกิจใหม่ ๆ อย่าง Video on Demand ซึ่งทาง Documentary Club จะมีการขายผ่านช่องทางนี้ สถานการณ์จะคล้ายการลงเนื้อหาในโซเชียลมีเดียที่ส่งผลกระทบต่อวงการสิ่งพิมพ์หรือเปล่า แต่นี่ส่งผลต่อสื่ออย่างดีวีดีแทน
คิดว่าเป็นเรื่องปรกติ เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีก็ต้องปรับตัว อย่างนิตยสารเองก็ต้องปรับตัว การที่เราจะเอาชนะช่องทางอื่นมันเป็นไปไม่ได้ เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยน พอมีเทคโนโลยีใหม่ สิ่งเดิมที่อาศัยเทคโนโลยีเก่าก็ต้องเปลี่ยน เพียงแต่พฤติกรรมคนยังดูยังอ่านอยู่ แค่เปลี่ยนช่องทาง เนื้อหา รูปแบบการดูการอ่าน เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องหาทางปรับให้ได้อยู่แล้ว