เรื่อง : วิมลรัตน์ ธัมมิสโร
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ดอกไม้นานาชนิดบรรจุลงถุงบุหงาสราญรมย์ ดอกไม้ของพระราชา

ดอกไม้นานาชนิดบรรจุลงถุงบุหงาสราญรมย์ ดอกไม้ของพระราชา

ตากดอกไม้นานาชนิด เพื่อนำไปทำบุหงา

ตากดอกไม้นานาชนิด เพื่อนำไปทำบุหงา

จิตอาสาช่วยกันตัดใบเตย ส่วนหนึ่งของการทำบุหงาที่สวนสราญรมย์

จิตอาสาช่วยกันตัดใบเตย ส่วนหนึ่งของการทำบุหงาที่สวนสราญรมย์

ดอกไม้สดที่ผ่านการตากแห้ง ผสมน้ำอบ น้ำปรุง รอบรรจุลงในถุงผ้าโปร่ง

ดอกไม้สดที่ผ่านการตากแห้ง ผสมน้ำอบ น้ำปรุง รอบรรจุลงในถุงผ้าโปร่ง

นับตั้งแต่วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ หลังพิธีเคลื่อนพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พสกนิกรนำดอกไม้และพวงมาลัยมาถวายความอาลัยแด่พระองค์ท่านบริเวณรอบกำแพงพระบรมมหาราชวังจำนวนวันละไม่ต่ำกว่า ๒ ตัน

“ดอกไม้จำนวนมากเราไม่รู้จะนำไปไหนดี แต่ต้องการทำให้เกิดประโยชน์ที่สุด เพราะดอกไม้เหล่านี้เกิดจากความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงมีการประชุมและเสนอให้นำดอกไม้มาประดับตกแต่งให้สวยงามหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ที่สวนสราญรมย์”

ภาสกร พจน์จิราภรณ์ หัวหน้าสวนสาธารณะสราญรมย์ เล่าว่าดอกไม้ที่ฝูงชนนำมาเคารพสักการะจะเคลื่อนย้ายมาประดับหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ภายในสวนสราญรมย์ ทุกเช้าจะคัดดอกเฉาและสิ่งห่อหุ้มออก นำดอกไม้สดชุดใหม่เข้ามาประดับแทน ส่วนดอกไม้เก่าจะส่งไปทำปุ๋ยหมัก กระทั่งสำนักพระราชวังเปิดให้พสกนิกรเข้าไปถวายสักการะเบื้องหน้าพระบรมโกศ จำนวนดอกไม้จึงลดลง แต่ก็ยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

อนุสรณ์ กะดามัน เล่าว่าขณะที่กำลังวิ่งออกกำลังกายเห็นเจ้าหน้าที่คัดแยกดอกไม้จึงเข้ามาช่วย เขาเล่าว่าเมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระประชวรอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช พสกนิกรนำดอกไม้ไปถวาย ไม่เพียงแต่พระองค์ท่านไม่ทิ้งดอกไม้ยังทรงมอบต่อให้ผู้ป่วยคนอื่นๆ รวมถึงหมอ พยาบาลเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ กลายเป็นแนวคิดยืดอายุ เพิ่มคุณค่าให้ดอกไม้ของพ่อหลวงในวันนี้

“เราไม่ได้ยกตนเทียบพระองค์ท่าน เพียงน้อมนำหลักปฏิบัติ คืนดอกไม้กลับสู่ประชาชน”

ทุกเช้าวันอาทิตย์ ประชาชนจิตอาสาจะเดินทางมายังสวนสราญรมย์เพื่อนำดอกไม้สดหลากชนิดมาคลุกเคล้ารวมกันเป็นบุหงา โดยเริ่มต้นจากคัดแยก ตัดให้เล็กสั้น ตากแห้ง ผสมพิมเสน น้ำอบ น้ำปรุง ก่อนนำมาบรรจุลงในถุงผ้าโปร่ง คล้องป้ายชื่อ “บุหงาสราญรมย์ ดอกไม้ของพระราชา” แจกให้กับจิตอาสาและเก็บไว้มอบให้กับประชาชนเพื่อเป็นความทรงจำถึงในหลวง

ลูกแก้ว ขันตยาคโม หญิงวัย ๔๖ ปี อาชีพรับจ้าง เล่าว่าเดินทางมาคนเดียวถึงสวนตั้งแต่ ๗ โมงเช้า ได้พบเจอเพื่อนใหม่ นับเป็นสิ่งที่ดี รู้สึกชอบ เพราะเป็นกิจกรรมที่ได้สานต่อความพอเพียงของในหลวง นำสิ่งธรรมดาที่ไร้ค่าให้กลับเกิดคุณค่ามหาศาล

ในวงสนทนาเดียวกัน ทิพวรรณ ลออพันธ์พล อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เล่าว่าตนชอบดอกไม้ ชอบงานฝีมือ งานประดิษฐ์ สนใจเป็นจิตอาสาทำทุกอย่าง อยากให้สิ่งที่ทุกคนร่วมใจกันถวายพ่อหลวงได้นำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง

ตั้งแต่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๙ กิจกรรมทำบุหงาย้ายจากสวนสราญรมย์มายังวัดโพธิ์

ภาพความรัก ความสามัคคี การแบ่งปัน หรือแม้กระทั่งการพูดคุยกับคนแปลกหน้าที่ปรกติไม่ค่อยพบเห็น บัดนี้ความพร้อมเพรียงนั้นกลับปรากฏ เปรียบดั่งบุหงาที่ไม่ได้เกิดจากดอกไม้เพียงดอกเดียว แต่เกิดจากการรวมตัวกันแล้วส่งกลิ่นหอมอันควรค่าแก่การรักษา