เรื่อง : อธินันท์ อรรคคำ
ภาพ : ภานุพงศ์ ชาญนรา
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ณ บ้านไม้สองชั้นของคุณยาย มีเสลาต้นใหญ่สูงตระหง่านอยู่หน้าบ้าน ดอกสีม่วงอมชมพูของมันบานสะพรั่ง ริมรั้วบ้านเต็มไปด้วยดอกคุณนายตื่นสายหลากสีที่ข้าพเจ้าปลูกเอง (เพราะมันปลูกง่ายยิ่งนัก) ช่วงเวลาในวัยเด็กนั้นดูเลือนราง แต่สีสันของดอกไม้เหล่านั้นยังชัดเจนในความทรงจำเสมอ
ประโยชน์จากดอกไม้ที่ข้าพเจ้าเคยใช้สอยคือชื่นชมความงามตามธรรมชาติ ได้เด็ดดมบ้าง และบางครั้งก็อุตส่าห์ซื้อดอกไม้ช่อสวยจากร้านริมทางเพื่อมอบให้ใครสักคนได้ชื่นชมความงามของมัน
ข้าพเจ้าไม่เคยใส่ใจเลยว่าเจ้าดอกไม้จะกระซิบบอกอะไรบ้างเกี่ยวกับความงามของโลกใบนี้ จนกระทั่งได้เดินทางเรียนรู้ดอกไม้ผ่านผู้หญิงสี่คน ต่างบทบาท ต่างพื้นที่ ซึ่งมาพานพบกันที่นิทรรศการศิลปะ Colors of Flower
โครงการ Somewhere, ย่านประดิพัทธ์, กรุงเทพมหานคร
กลางกรุงเทพฯ เมืองใหญ่ ยังมีพื้นที่เล็ก ๆ ซ่อนตัวอยู่ เพียงเดินเข้ามาในซอยประดิพัทธ์ ๑๗ ไม่กี่ก้าวก็จะพบกับโครงการ Somewhere พื้นที่ด้านหน้าเป็นคาเฟ่สไตล์มินิมอล ข้าง ๆ มีรถตู้สีเขียวคันน่ารักกะทัดรัดจอดอยู่ ลึกเข้าไปมีร้านอาหารขนาดเล็ก และพื้นที่จัดนิทรรศการ ทั้งสามโซนนี้รายล้อมด้วยบ้านและตึกเก่า
หลังนั่งลิ้มลองรสกาแฟใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ มีลมพัดต้องกายแผ่วเบา ข้าพเจ้าก็ลุกจากเก้าอี้ในพื้นที่ส่วนกลาง เดินตรงไปที่เรือนจัดนิทรรศการซึ่งรายล้อมด้วยเงาต้นไม้ร่มรื่น กระถางดอกไม้เล็กๆ หลากสีสันหลายใบที่วางเรียงรายด้านหน้าดูราวกับว่าผู้จัดวางตั้งใจให้ตรงกับนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวความงดงามของดอกไม้ผ่านศิลปินผู้คุ้นเคยกับการใช้ดอกไม้ในงานศิลป์ นิทรรศการนี้จัดแสดงทุกวันตลอดเดือนกรกฎาคม
เมื่อเปิดประตูก้าวเข้ามาข้างใน ได้พบชิ้นงานมากมายหลายสีสัน ทั้งที่ติดอยู่ตามฝาผนังและเรียงรายบนโต๊ะจัดแสดงผลงาน ทั้งหมดนี้อยู่ในความดูแลของ “เบล” พนินทร โชคประเสริฐถาวร ผู้ผันตัวจากสถาปนิกออกแบบออฟฟิศมารับหน้าที่เป็นคิวเรเตอร์ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโครงการแห่งนี้
“เบล” พนินทร โชคประเสริฐถาวร : คิวเรเตอร์ผู้ใช้ศิลปะถ่ายทอดความงดงามของดอกไม้
“ดอกไม้เกิดขึ้นมาบนโลก มันสวยในระยะเวลาสั้น ๆ แล้วก็ตายจากไป จะทำยังไงให้ดอกไม้ที่เราชอบอยู่กับเราได้นานขึ้น และยังมีคุณค่าอยู่บนโลก”
สำหรับเบล ดอกไม้คือสีสันอันสวยงาม คือผลผลิตจากความเจริญงอกงามของธรรมชาติ แต่อนิจจา…เป็นเพียงเวลาสั้นๆ เท่านั้นที่เธอมีโอกาสได้ชื่นชมความงามของดอกไม้ก่อนที่มันจะโรยรา เบลจึงจุดประกาย อยากต่อชีวิตให้ดอกไม้ผ่านงานศิลปะจากศิลปินทั้งเจ็ด ด้วยโจทย์ “Colors of Flower”
ไม่ว่าจะเป็น
“มล จิราวรรณ” นักชีววิทยาผู้เก็บเมล็ดพันธุ์ป่าจากเชียงดาวมาเล่าเรื่องราวของระบบนิเวศ
“แพร แพรี่พาย” อินฟลูเอนเซอร์ที่นำผ้าท้องถิ่นและเศษผ้ามาตัดชุดใหม่ พร้อมนำไจไหมที่ย้อมสีธรรมชาติมาจัดแสดง
“แซน สุวัลญา” นักสร้างสีจากธรรมชาติผู้บันทึกเรื่องราวของวัชพืชรอบบ้านและนำมาสกัดสีเพื่อสร้างงานศิลปะ
“ไหม ณพกมล” จาก Lamunlamai แบรนด์เครื่องปั้นออร์แกนิก และผลงานจานเซรามิกที่ได้รับแรงบันดาลใจจากดอกไม้ต่างฤดู
“พัช ภิญญาพัชญ์” จาก Papin-garden ช่างภาพและเจ้าของฟาร์มดอกไม้กินได้และเซ็ตภาพถ่ายดอกไม้รสชาติต่างๆ
“จุ๊ จุฑารัตน์” จาก Flowering Mind ผู้จัดดอกไม้สไตล์โคริงกะซึ่งเน้นความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของดอกไม้
และ “แพร พานิชกุล” จาก Flower in hand by P. ร้านดอกไม้ในย่านอารีย์ซึ่งนำดอกไม้เหลือใช้มาสร้างงานศิลปะ
ยังมีกิจกรรมเวิร์กชอปจากศิลปินทุกวันเสาร์ตลอดเดือนกรกฎาคม รวมถึงมี flower store นำผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกจากร้านที่ขายสินค้าเกี่ยวกับดอกไม้มาวางขาย
นอกจากการส่งต่อความงามและการใช้ประโยชน์ดอกไม้ผ่านงานศิลปะแล้ว ปลายทางอีกอย่างของนิทรรศการนี้คือการสะท้อนถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ได้เน้นไปที่การนำดอกไม้มาอัปไซเคิล รีไซเคิล หรือรียูสแต่อย่างใด แต่เริ่มที่สร้างความตระหนักรู้ให้คนเห็นคุณค่าของดอกไม้มากไปกว่าแค่ความงามเพียงเปลือกนอก โดยใช้พลังบวกสื่อสารให้คนมองเห็นความสวยงามและเกิดความรู้สึกอยากอนุรักษ์โดยธรรมชาติ
“เราแค่อยากเป็นพลังบวกในการบอกเล่าเรื่องราว มากกว่าจะไปเกรี้ยวกราดว่าทำไมไม่รักษา เรียกว่าเป็น indirect massage โดยที่ไม่ต้องพูดว่า เฮ้ย ดูแลกันสิ”
สารที่เบลตั้งใจส่งนี้มุ่งไปที่คนหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อม คนชื่นชอบงานศิลปะ คนทั่วไปที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง หรือแม้แต่เหล่า cafe hoping ที่ตั้งใจมาแชะรูป ดื่มด่ำรสชาติกาแฟ แวะเข้ามาชมงานนิทรรศการชิค ๆ และได้แรงบันดาลใจดี ๆ กลับไป เป็นการทำให้ไลฟ์สไตล์คนเมืองเข้าถึงศิลปะได้ง่ายขึ้น
“ด้วยความที่ชอบงานศิลปะ ชอบให้มันเกิดแรงบันดาลใจกับคน เรารู้สึกว่าการที่มันแทรกตัวอยู่ในเมือง อยู่ในคาเฟ่ มันเข้าถึงได้ง่าย ทำให้คนทั่วไปที่ไม่ได้รู้จักงานอาร์ตได้เห็นงานมากขึ้น ทำให้ศิลปินมาเจอกับคนทั่วไปโดยที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของเขา ทำให้สิ่งที่เขาอยากสื่อสารมันไปในวงกว้างมากขึ้น”
เธอหวังว่าคนที่เข้ามาชมงานจะเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับดอกไม้มากขึ้น และได้อะไรกลับไปใช้ประโยชน์บ้าง เช่น อยากปลูกดอกไม้ รู้วิธีนำดอกไม้มาใช้ทำอาหาร นำไปต่อยอดสร้างอาชีพ หรือนำไปใช้ในการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ฯลฯ อย่างไรก็ตาม เธอไม่ได้ตั้งใจให้คนที่มาชมงานมองเห็นเพียงประโยชน์ที่มนุษย์จะได้จากดอกไม้เพียงอย่างเดียว
“ไม่อยากให้เสพแค่ว่า เฮ้ย เราจะใช้ๆ ๆ ดอกไม้ อยากให้เข้าใจว่าก่อนจะใช้ ก็ต้องมีสติรู้จักมันด้วยนะ”
เธอจึงแบ่งการสื่อสารเรื่องราวของดอกไม้เป็นสามส่วน ได้แก่ ธรรมชาติดั้งเดิมของดอกไม้ การนำดอกไม้มาแปรรูปเป็นงานศิลปะ และการต่อยอดสู่ความยั่งยืน
เบลมอบหมายให้ “มล” จิราวรรณ คำซาว นักชีววิทยาซึ่งเข้าใจระบบนิเวศเป็นอย่างดีมารับหน้าที่เล่าถึงความเป็นมาของดอกไม้ตั้งแต่ยุคอดีตเป็นต้นมา
ด้วยความสงสัยใคร่รู้ ข้าพเจ้าจึงได้โอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกับคนไกลที่เชียงใหม่…
จากเชียงดาว, เชียงใหม่
“มล” จิราวรรณ คำซาว : นักชีววิทยาผู้เล่าเรื่องความสำเร็จของดอกไม้จากป่าสู่เมือง
“คุณเข้าใจดอกไม้มากแค่ไหน พี่พยายามสื่อสารออกไปในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ดอกไม้มันไม่ได้เกิดมาให้เราใช้ประโยชน์นะ มันมีหน้าที่และประโยชน์อยู่เอง แต่เราไปหยิบจับประโยชน์มาเป็นของเรา”
มลเอ่ยขึ้นขณะขับรถไปเก็บเมล็ดยางแดงที่ถนนต้นยางระหว่างเส้นทางไปถ้ำเชียงดาว เพื่อนำมาเพาะปลูกและแจกจ่ายแก่คนในชุมชน เธอเป็นนักชีววิทยาที่กลับบ้านมาทำการเกษตรอินทรีย์ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนเรื่องความมั่นคงทางอาหาร
เธอเชื่อว่าเมื่อมนุษย์ใช้ประโยชน์จากดอกไม้แล้ว ก็ควรรู้จักคืนประโยชน์ให้มันด้วยการดูแลรักษาพันธุ์ให้ดี ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่าดอกไม้เกิดขึ้นมาเพื่ออะไร แต่ละสายพันธุ์เติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมแบบไหนและอย่างไร
“ความธรรมดาของธรรมชาติมีความงามอยู่ในนั้น แต่เราจะพรีเซนต์ยังไงให้ทุกคนเห็นความงามที่เป็นความจริง นี่คือหน้าที่ของพี่ที่ต้องไปเล่า”
ผลงาน “Flowers of Life” ของมล จัดแสดงตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ในขวดใสเล็กๆ และในกล่องไม้สี่เหลี่ยม เป็นเมล็ดพันธุ์ไม้ป่าจากเชียงดาว เช่น หญ้าแห้วหมู ประดู่ป่า เพกา คล้าน้ำ ยางแดง ส้มป่อย ฯลฯ บนกล่องยังแปะตัวอักษรภาษาอังกฤษที่เป็นใจความสำคัญที่มลต้องการสื่อสาร นั่นคือคำว่า “Success”
“คีย์เวิร์ด Success พรีเซนต์ความสำเร็จของพืชที่ออกแบบฟังก์ชันดอกขึ้นมาค่ะ”
มลสวมบทนักชีววิทยา ค่อยๆ เล่าเรื่องราวเชิงวิทยาศาสตร์ของดอกไม้ให้ข้าพเจ้าเข้าใจโดยง่าย สรุปได้ใจความว่า ในอดีตพืชขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด อาศัยน้ำและลมช่วยพัดพาเมล็ดไปตกตามที่ต่างๆ แล้วเจริญเติบโตเป็นต้น
แต่เมล็ดก็ยังกระจายไปได้ไม่ไกลเท่าไรนัก พืชจึงวิวัฒนาการสร้างโครงสร้างพิเศษที่เรียกว่า “ดอก” ขึ้นมา เพื่อให้เกิดการผสมพันธุ์ข้ามต้นในระยะไกล ส่งผลให้กระจายพันธุ์ได้ดีขึ้น
ดอกไม้จะหลอกล่อผู้ช่วยผสมเกสรด้วยสีสัน และตบรางวัลเป็นน้ำหวานให้ผึ้ง นก แมลง ค้างคาว และสัตว์ต่างๆ ในระบบนิเวศ
มลยังบอกอีกว่า “ถ้าไม่มีดอกไม้ในวันนั้น ก็คงไม่มีเราในวันนี้”
เธออธิบายว่าหลังจากพืชวิวัฒนาการส่วนดอกแล้ว ความหลากหลายของผลก็เกิดตามมาด้วย ซึ่งผลเป็นแหล่งอาหารที่ให้พลังงานสูงกว่าพืชใบ หากโลกนี้มีเพียงพืชใบ ไพรเมต (primates) ที่เป็นสายบรรพบุรุษของมนุษย์ก็ไม่แคล้วต้องใช้เวลากินหญ้าทั้งวันเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ จนไม่มีเวลาพัฒนาสมอง แต่เมื่อมีผลไม้ แค่มนุษย์กินไม่กี่ผลก็อิ่มท้อง ทำให้มีเวลาว่าง
“เมื่อว่างก็มีเวลาคิดในสิ่งอื่น คิดกิจกรรม คิดแก้ปัญหานู่นนี่นั่น จนวิวัฒนาการมาเป็นคน”
มลชวนคิดอีกว่า บางทีพวกเราอาจกำลังถูกดอกไม้หลอกล่อก็เป็นได้…
“ดอกไม้เขาอาจจะหลอกใช้เราก็ได้นะ อย่างเช่นการที่เขาสวยงามโดดเด่น มันเชิญชวนให้เราอยากเอาไปปลูก ช่วยให้เขากระจายพันธุ์ และยังมีเผ่าพันธุ์อยู่ในโลกต่อไป”
นอกจากผลงานของเธอในนิทรรศการแล้ว มลยังได้ทำงานร่วมกับ แพร-แพรี่พาย ในโปรเจกต์สร้างความมั่นคงทางอาหารจากป่าสู่เมือง
หลังจากที่มลพาแพรเดินเท้าเข้าป่าใกล้บ้านของเธอที่เชียงดาวเพื่อศึกษาระบบนิเวศในธรรมชาติ พวกเธอก็มองว่าทุกคนในโลกควรมีโอกาสเรียนรู้ว่าในธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์อย่างไร ในขณะที่ชุมชนรอบๆ ป่าสร้างแหล่งอาหารขึ้นมาได้เอง มีสวนเกษตร ไร่ข้าว แต่คนในเมืองยังต้องพึ่งพาร้านค้าต่างๆ ไร้ความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่เมืองของตน
ทั้งคู่จึงใช้ชั้นดาดฟ้าบนคอนโดมิเนียมหรูย่านสุขุมวิทของแพรเป็นพื้นที่ทดลองสร้าง “sky garden” นำเมล็ดพันธุ์จากเชียงดาว เช่น ดอกเสี้ยว ดอกงิ้ว ดอกแค ฯลฯ ไปทดลองปลูก สร้างระบบนิเวศบนดาดฟ้า และสร้างแหล่งอาหารขึ้นมาสำเร็จ
“เมื่อเมล็ดที่เกิดบนดาดฟ้าของน้องแพรเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดี ปรับตัวเข้ากับกรุงเทพฯ ได้แล้ว เราก็กระจายพืชพันธุ์เหล่านี้เป็นต้นทุนทางอาหารให้พื้นที่ภาคกลางและคนกรุงเทพฯ ได้ นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำ”
นั่นเป็นมุมมองของนักชีววิทยาที่ทำงานใกล้ชิดป่ามานานและพยายามผลักดันสิ่งแวดล้อมในเมืองร่วมด้วย
โอกาสนี้ข้าพเจ้าจึงติดต่อพูดคุยกับ “แพร แพรี่พาย” ด้วยความสงสัยว่าเธอเห็นอะไรจากการสัมผัสป่า จนกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม และมีแนวคิดนำสิ่งที่ได้มาปรับใช้กับพื้นที่ในเมืองอย่างไร…
จากคอนโดฯ หรูย่านสุขุมวิท, กรุงเทพมหานคร
“แพร” อมตา จิตตะเสนีย์ : อินฟลูเอนเซอร์ผู้พยายามเชื่อมป่ากับเมือง
“เรามีความสุขทุกครั้งที่มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้ทำงานกับชุมชนที่ใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อม เราอยากเป็นตัวเชื่อมให้คนเมืองเข้าใจธรรมชาติแล้วอินไปกับมัน เพราะเราส่งต่อมันผ่านความสุข”
“แพร แพรี่พาย” กล่าวถึงการเดินทางบทใหม่ของเธอในนาม “Flower girl” ที่เธอมักจะแบ่งปันกิจกรรมเกี่ยวกับดอกไม้ที่ประทับใจลงบนโซเชียลมีเดียเสมอ เพื่อส่งต่อพลังงานดีๆ ให้คนที่ได้เห็นโพสต์ และช่วยสร้างแรงกระเพื่อมเล็กๆ ให้ชุมชนคนรักสิ่งแวดล้อมแข็งแกร่งขึ้น
โพสต์ในโซเชียลมีเดียของแพรและวิดีโอที่ฉายในนิทรรศการมีภาพที่เธอกำลังเก็บดอกไม้นานาพรรณจากสวนบนดาดฟ้าคอนโดฯ เช่น ดอกเข็ม ดอกฟักทอง ดอกขจร ดอกชมจันทร์ ดอกแค ฯลฯ ซึ่งเจ้าตัวเอามาทำแกงส้มดอกไม้รวมนั่งกินอย่างเอร็ดอร่อย และมีภาพเธอและมลที่เชียงดาวขณะเก็บดอกงิ้วเอามาทำน้ำเงี้ยวกินกับขนมจีน
“แพรี่พาย” เป็นชื่อที่ใครๆ เคยเอ่ยถึงในฐานะศิลปินแต่งหน้า บิวตีบล็อกเกอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง จากคนเมืองที่ไม่เคยเข้าใจ ไม่เคยสัมผัสกับธรรมชาติในพื้นที่ห่างไกลมากนัก เธอเล่าว่าในช่วง ๔-๕ ปีที่ผ่านมา มีโอกาสเข้าป่าศึกษาธรรมชาติ ซึ่งทำให้ “ตื่นรู้” ได้ค้นพบว่ารากเหง้าของมนุษย์แท้จริงแล้วอยู่ในธรรมชาติ
การได้สัมผัสวิถีชีวิตชุมชนรอบป่ายังทำให้เธอค้นพบรากเหง้าทางวัฒนธรรม ซึ่งก็คือภูมิปัญญาของแต่ละชุมชน เช่นผ้าประจำท้องถิ่นต่างๆ หลังจากนั้นหลายคนก็เริ่มรู้จักเธอในฐานะอินฟลูเอนเซอร์สายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หญิงสาวที่รักผ้าไทย และ Flower girl นักเล่าเรื่องราวของดอกไม้ในนิทรรศการแห่งนี้
ผลงาน “The Next Chapter in Life” ของแพรจัดแสดงเสื้อโค้ตผ้าไหมทอมือจากชุมชนในจังหวัดสุรินทร์ เธอยังเนรมิตเศษผ้าจากผ้าทอให้กลายเป็นดอกไม้หลายพันธุ์หลากสี นำมาปักเข้าที่ด้านหลังของชุด ดอกไม้บนผ้าเป็นตัวแทนของดอกไม้จากสวนบนดาดฟ้าและจากเชียงดาวที่เจ้าตัวแสนประทับใจ
แพรอยากส่งต่อแนวคิดที่ว่าไม่ว่าจะเป็นวัสดุเหลือใช้จากการทอผ้าในชุมชน จากวงการอุตสาหกรรมแฟชัน ล้วนยังมีมูลค่าให้นำมาทำผ้าผืนใหม่ได้ ซึ่งเธอหวังว่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนที่มาชมงานนำไปต่อยอดเป็นอาชีพ
ข้างๆ จุดแสดงผลงานเมล็ดพันธุ์ของมล แพรยังจัดแสดงไจไหมย้อมสีธรรมชาติพร้อมวัสดุธรรมชาติต่างๆ ที่ให้สีต่างกัน เช่น ครั่งให้สีโทนแดงและชมพู เปลือกไม้ให้สีน้ำตาล ครามให้สีน้ำเงิน เป็นต้น
ข้าพเจ้าชวนเธอสนทนาถึงเทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อมในเมืองที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้ คำว่า “เทรนด์” เหมือนจะปลุกเร้าบางอย่างในตัวเธอให้ออกความเห็นอย่างกระตือรือร้น
“การรักสิ่งแวดล้อมหรือรักษาธรรมชาติที่ยังหลงเหลืออันน้อยนิดคือหน้าที่ของทุกคนในฐานะมนุษย์ที่เกิดมาบนโลกนี้ เรายังต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติในเรื่องการกินและสิ่งของมากมายที่กำลังใช้อยู่” เธอกล่าวอย่างหนักแน่น
แพรแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลายเป็นเทรนด์การตลาดมากกว่าหน้าที่ที่ทุกคนต้องช่วยกันเสียอีก เป็นกลยุทธ์ที่บริษัทต่างๆ แข่งกันสร้างเพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยกล่อมให้ผู้บริโภครู้สึกสบายใจว่าตนกำลังสนับสนุนแบรนด์ที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม เป็นการตลาดแนวใหม่จับใจคนเมือง ทั้งสร้างเทรนด์ Go green ผุดแคมเปญรักษ์โลก งาน CSR สร้างภาพลักษณ์เป็นองค์กรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากกว่าจะลงมือทำอะไรจริงจัง
อินฟลูเอนเซอร์นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคนนี้ยังเป็นห่วงวิกฤตการณ์ขาดแคลนแหล่งอาหารในอนาคตของคนเมือง เธออดจินตนาการถึงตนเองในช่วงอายุ ๖๐ ปีไม่ได้ หากต้องคอยพึ่งพาอาหารจากผู้ผลิตรายใหญ่ซึ่งไม่ได้ใส่ใจการสร้างอาหารดีๆ ให้คนกิน หนำซ้ำรัฐบาลยังสนับสนุนแต่ผู้ผลิตรายใหญ่ เธอสู้ลงมือสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นตั้งแต่วันนี้ ณ สวนบนดาดฟ้าคอนโดฯ เลยดีกว่า
ทว่าเธอจะไม่ทำคนเดียว แต่ดึงคนที่มีความสนใจเดียวกันมาสร้างคอมมูนิตี ขยายเครือข่ายคนปลูกผักในเมืองให้กว้างและหลากหลายกลุ่มมากขึ้น และเธอจะทำงานร่วมกับมล รวมถึงชุมชนต่างๆ ทั่วไทยต่อไป
แพรเล่าว่าได้รับแรงบันดาลใจการสร้างเครือข่ายจากการอยู่ร่วมกันในธรรมชาติน้อยใหญ่ในผืนป่า
“เราประทับใจมาก ระบบนิเวศในป่าไม่ว่าเขาจะเป็นต้นไม้ใหญ่สูง ดอกไม้แสนสวย ผึ้งตัวจิ๋ว หรือแม้กระทั่งเห็ดราที่เราไม่ได้มองด้วยซ้ำ แต่ละชนิดอยู่ด้วยกันอย่างพึ่งพาอาศัย อาจจะสูงมาก สวยมาก ตัวเล็กมาก แต่ทุกสิ่งมีหน้าที่ มีความสามารถแตกต่างกันออกไป เราอยากถอดแบบการพึ่งพาอาศัยกันและกันมาใช้กับตัวเราเอง กับกลุ่มคนที่เราอยากทำงานด้วย” ข้าพเจ้ารู้สึกถึงความสุขที่แพรส่งผ่านมาทางน้ำเสียง
เธอไม่รู้ว่าผลงาน “The Next Chapter in Life” จะสื่อสารเรื่องความยั่งยืนออกไปสู่ผู้ชมได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถือว่าเป็นก้าวเล็กๆ ในการใช้ศิลปะเป็นสื่อเพื่อขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมให้เข้าใจง่ายมากขึ้น
เธอเชื่อว่าศิลปินแต่ละคนล้วนมีความสามารถต่างกัน และทุกคนไม่ได้สักแต่ว่าใช้ดอกไม้โดยที่ไม่แยแสอะไร แต่เพราะเข้าใจถึงคุณค่าของดอกไม้และธรรมชาติอย่างจริงแท้แล้ว จึงกล้าที่จะนำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวของตนเองผ่านงานศิลปะ
แล้วข้าพเจ้าก็มีโอกาสได้พูดคุยกับศิลปินอีกคนหนึ่ง ซึ่งคลุกคลีอยู่กับดอกไม้ในสวนเล็กๆ ของเธอในเมืองใหญ่ และนำเรื่องราวมาถ่ายทอดผ่านงานศิลป์…
จากศาลายา, นครปฐม
“แซน” สุวัลญา ศักดิ์สมบัติ : ศิลปินผู้ค้นพบเพื่อนใหม่ในสวนหลังบ้านผ่านงานศิลปะ
ข้างๆ จุดจัดแสดงไจไหมของแพรมีกระดาษแผ่นเล็กของศิลปินคนหนึ่งวางอยู่ รูปวาดดอกไม้และลายมือน่ารักสามสี่บรรทัดเรียกความสนใจให้ข้าพเจ้าก้มลงไปอ่านในทันที
สวนน้อยๆ หน้าบ้านฉันเอง ไอ้ที่ตั้งใจปลูกดูจะร่อแร่ แต่เจ้าพืชหน้าตากระจุ๋มกระจิ๋มที่ขึ้นเอง โตเอง นี่สิ เติบโตมาได้ดีจริงๆ ใครๆ ก็เรียกเจ้าว่า “หญ้า” (ya)
อืม…แต่ลองมองดีๆ สิ ฉันว่าเขาน่ารักและเข้มแข็งชะมัดเลย Hello ya! จึงเป็นบันทึกของฉัน มีสีเป็นตัวนำทาง ให้ฉันได้มีเวลาและรู้จักเธอให้มากกว่านี้…
ตะมุตะมิจัง…ข้าพเจ้ารำพึงหลังอ่านบันทึกที่มีรูปวาดประกอบเป็นดอกไม้สีชมพู มองดูแล้วอดนึกถึงไดอารีในวัยเด็กที่ข้าพเจ้าเคยขีดเขียนไม่ได้
บันทึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงาน “Hello ya!” ของ “แซน” สุวัลญา ศักดิ์สมบัติ ศิลปินนักสร้างสีจากธรรมชาติ ซึ่งเริ่มสกัดสีจากธรรมชาติมาใช้ในงานศิลปะแทนการใช้สีเคมีที่เธอแพ้ ในครั้งนี้เธอถือโอกาสทำความรู้จักกับวัชพืชเล็กๆ ที่คนมักเรียกว่า “หญ้า” ซึ่งเจ้าตัวอยากให้คนอื่นๆ เห็นคุณค่าของมันอย่างที่เธอเห็นบ้าง
“บางอย่างเขารู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ เลยเรียกมันว่าวัชพืช ก็ถอน ตัดทิ้ง หรือใช้ยาฆ่าหญ้า แต่สิ่งที่ไม่มีประโยชน์แปลว่ามันไม่ควรจะมีชีวิตอยู่เหรอ” แซนปกป้องเพื่อนหญ้าของเธอ
ด้วยความอยากเห็นพื้นที่ทำงานของแซน ข้าพเจ้าจึงขอไปเยี่ยมชมบ้านและสวนอันรื่นรมย์ของเธอ
ณ บ้านสองชั้นริมถนนใกล้ทางรถไฟแถวศาลายา ข้าพเจ้าเห็นภาพแซนกำลังนั่งฝนสี มีพื้นที่กลางบ้านเป็นสตูดิโอขนาดย่อม แวดล้อมไปด้วยงานศิลปะและอุปกรณ์การทำสี สวนหลังบ้านเป็นเหมือนตลาดที่มีวัตถุดิบมากมายให้เธอชอปปิงมาใช้ทำสี ซึ่งเธอต้องเอามาสุ่มทดลองก่อนเพื่อให้รู้ว่าดอกไม้แต่ละชนิดให้สีอะไร ทำปฏิกิริยากับสารต่างๆ แล้วให้สีอะไรบ้าง
“ครั้งหนึ่งมีน้องมาเรียนกับเรา แล้วถามว่าแล้วดอกไม้ที่ให้สีขาวมีสีไหมคะ เราก็สงสัย ไหนทดลองดิ๊ สุดท้ายก็ได้เป็นสีเหลืองอ่อนๆ แต่พอโดนด่างมันกลายเป็นเหลืองแบบใสมาก เราเลยแบบ เฮ้ย! มันรีแอกชันกับอย่างอื่นแล้วเปลี่ยนสี” แซนกล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น ดวงตาเป็นประกาย
แซนเล่าว่าเธอปลูกต้นไม้ไม่เก่งเอาซะเลย ต้นที่ตั้งใจปลูกมักจะไม่ค่อยขึ้น แต่ต้นหญ้าและนานาวัชพืชเล็กๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจปลูกกลับโตเอาๆ เลยอยากทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ไซซ์เล็กจิ๋วเหล่านี้ผ่านการทำชิ้นงาน “Hello ya!”
“เราอยากได้ความเรียบง่าย อยากทำความรู้จักกับสิ่งเล็ก ๆ พวกนี้ที่เกิดเอง โตเองแบบที่มันเป็น ไม่ได้บังคับ ไม่ได้ตัดต่อ”
แซนพกสมุดโน้ตเล่มเล็กและปากกาเดินนำข้าพเจ้าเข้าไปในสวนหลังบ้าน พืชในสวนที่ข้าพเจ้ารู้จัก เช่น ต้นมะม่วง เฟื่องฟ้า อัญชัน ชะอม บานไม่รู้โรย ฯลฯ เติบโตอยู่ใกล้กัน สังเกตว่าเธอไม่ได้แบ่งพื้นที่พืชแต่ละชนิดแน่นอน ปล่อยให้เติบโตเองตามธรรมชาติ จึงมีทั้งส่วนที่รก เว้าแหว่ง และเหี่ยวแห้ง ข้างหลังสวนที่ติดกับริมคลองยังมีต้นกล้วยและต้นฝรั่งที่ผลกำลังสุกงอม บรรยากาศที่นี่โปร่งโล่งสบาย มีเงาไม้พอประมาณถึงค่อนข้างร่มรื่น
เมื่อเราสนทนากันถึงเรื่องของป่าและเมือง แซนกล่าวว่าเธอไม่อยากแยกความเป็นป่า ความเป็นเมืองเท่าไรนัก เพราะสวนของเธอก็มีสภาพไม่ต่างจากป่า แค่ย่อขนาดลงมาและมีคนเข้ามายุ่มย่ามได้มากกว่าป่าเท่านั้นเอง
“ความหลากหลายในนี้ก็โคตรเยอะมากเหมือนกันนะ ต้นไม้ใหญ่อยู่ข้างบน พืชเล็กๆ ยิบๆ ย่อยๆ ที่ขึ้นเองอยู่ข้างล่าง ทุกซีซันมีแมลงเยอะมาก ผึ้งจะมาหน้ามะม่วงที่มันออกดอก เรารู้สึกว่าระบบนิเวศมีอยู่ในทุกที่” แซนกล่าว
แซนจดบันทึกและสุ่มหยิบดอกต่างๆ มาสวอชสี (ทำตัวอย่างสี) ให้ดู ตั้งแต่ในสวนหลังบ้านยันริมรั้วที่มีดอกไม้เล็กๆ มากมายขึ้นอยู่ เธอเปิดประตูพาข้าพเจ้าออกไปสำรวจพืชริมถนนหน้าบ้านซึ่งมีรถวิ่งผ่านไปมา ข้าพเจ้าก็ตามเธอไปเหมือนเด็กอนุบาลที่วิ่งตามครูด้วยความอยากรู้อยากเห็น
แซนหยิบดอกหญ้าเล็กจิ๋วมีกลีบสีขาวล้อมรอบจุดตรงกลางที่เป็นสีเหลืองมาลองสวอชสี สีเหลืองอ่อนค่อยๆ ปรากฏขึ้นบนสมุด เราสองคนต่างไม่รู้ชื่อของมัน แซนเล่าว่าส่วนใหญ่เธอจะวาดรูปไว้ แล้วนำลักษณะของมันไปพิมพ์ค้นหาชื่อในกูเกิล เมื่อข้าพเจ้าลองค้นดูก็พบว่ามันคือ “หญ้าตีนตุ๊กแก” พืชที่ข้าพเจ้าเคยเห็น เคยเด็ดเล่น แต่ไม่เคยสนใจจะเรียกชื่อมาก่อน
กระบวนการทำงาน “Hello ya!” ก็เป็นเช่นนี้ แซนจะเดินสังเกตดอกไม้เล็ก ๆ รอบบ้าน จดบันทึกสิ่งที่สังเกตได้ด้วยตาและด้วยใจ สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่ได้ปฏิสัมพันธ์กับดอกไม้นานาชนิด บางครั้งก็จดบันทึกความทรงจำเก่าๆ ที่มีต่อกันลงไปด้วย ปิดท้ายด้วยการเก็บมันมาสกัดสีดูตามประสานักทำสี
อย่างดอกหญ้าใบพริกดอกเล็กๆ สีขาว ดูเหมือนจะให้สีใส แต่เมื่อนำมาทำปฏิกิริยากับด่างแล้วกลับได้สีเหลืองสว่าง พอทำปฏิกิริยากับสารสนิมก็กลับกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม เป็นต้น
บางวันเธอก็เดินสำรวจพืชไปเรื่อยๆ จนถึงรั้วบ้านข้างๆ ได้พูดคุยทักทายกับเพื่อนบ้านบ่อยขึ้น
แซนนำบันทึกบางส่วนมาจัดแสดงในนิทรรศการ เช่น บันทึกของดอกกะทกรก ดอกต้อยติ่ง ดอกบุษบาริมทาง ดอกผักเสี้ยน ฯลฯ ข้าพเจ้าได้ดูได้อ่านผลงานบันทึก Hello ya! ในนิทรรศการแล้วรู้สึกราวกับว่าแซนกำลังสนทนากับเพื่อนที่คุ้นเคยมานาน แต่เพิ่งได้พูดคุย ทำความรู้จักกันจริงจังเมื่อไม่นานมานี้เอง เป็นความสัมพันธ์ที่น่ารักดีอย่างบอกไม่ถูก
คุณ “บุษบาริมทาง” เติบโตเองอยู่ระหว่างรอยแยกของแผ่นปูนสี่เหลี่ยมจตุรัสกลางสวนน้อยหน้าบ้านฉันมาได้หลายเดือนแล้ว แผ่ขยายเป็นวงกลมจากจุดเริ่มต้น มองจากมุมบนจะรู้สึกเหมือนเป็นต้นไม้น้ำพุเลย
เวลานึกอะไรไม่ออกฉันมักเด็ดไปทำต้มจืด ไข่น้ำนิ่มๆ ให้ความรู้สึกเหมือนซุปสาหร่ายเลยนะ งั่มๆ
ฉันไม่เคยรดน้ำเลยสักครั้ง เติบโตเอง ดูแลตัวเองได้ดีเสมอมา ขอบคุณนะที่อยู่ข้างๆ กันมาเสมอ…
ในบันทึกมีภาพวาดดอกบุษบาริมทางซึ่งระบายสีน้ำจากธรรมชาติ มีทั้งดอกสีม่วง เหลือง ชมพู และขาวด้วย
แซนมีโอกาสพาเพื่อนไซซ์จิ๋วไปออกงานผ่านการจัดกิจกรรมให้ผู้ร่วมเวิร์กชอปได้รู้จักและทดลองสกัดสีด้วยตัวทำปฏิกิริยาต่างๆ ทั้งกรด ด่าง สารสนิม เสร็จแล้วให้เลือกสีไปวาดรูประบายสีน้ำตามต้องการ
ภาพน่าประทับใจเกิดขึ้นเมื่อแซนและเบลพาผู้ร่วมกิจกรรมออกนอกห้องสี่เหลี่ยม เพื่อเก็บดอกไม้ในพื้นที่ของโครงการมาลองสกัดสีร่วมด้วย บ้างพากันเดินสำรวจต้นไม้ บ้างนั่งจ้องดอกไม้ในกระถาง มีการพูดคุยถามไถ่ว่าดอกนั้นดอกนี้เรียกว่าอะไร จนเกิดการแลกเปลี่ยนความทรงจำส่วนตัวที่มีต่อดอกไม้แก่กันและกัน
เสียงหัวเราะดังขึ้นมาพร้อมเสียงคนสนทนากันเจื้อยแจ้ว ข้าพเจ้าได้แต่ยืนอมยิ้มและจดบันทึกอยู่ไกลๆ ภาพที่ได้เห็นคือผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับชีวิตรอบตัว ทั้งระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และมนุษย์กับดอกไม้นานาพรรณ
“สีก็เป็นเหมือนสื่อเชื่อมโยงให้คนมาทำความรู้จักกันเองด้วย มาทำความรู้จักกับดอกไม้ด้วย เกือบทั้งหมดไม่มีใครรู้จักชื่อดอกไม้เลย ทั้งๆ ที่อยู่รอบตัวเราด้วยซ้ำ” แซนกล่าว
สำรวจ “ความยั่งยืน” ผ่านสายตาคนร่วมชมนิทรรศการ
เมื่อกิจกรรมเวิร์กชอปจบลง ข้าพเจ้าลองหาโอกาสพูดคุยกับผู้ร่วมกิจกรรม รวมทั้งที่มาเยี่ยมชมนิทรรศการด้วย
คิ้ว-ธัญชนิต นักการตลาดแบรนด์แฟชันที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเล่าว่า เธอเซอร์ไพรส์ที่สีของดอกไม้เมื่อทำปฏิกิริยากับสารต่างๆ แล้วจะต่างจากที่มองเห็นดอกไม้ เช่น ดอกไม้สีชมพูแต่ลองสวอชแล้วได้สีเทา เป็นต้น
สำหรับเธอความยั่งยืนของแต่ละคนคงแตกต่างกันไป เช่นแบรนด์เสื้อผ้า fast fashion บางแบรนด์อาจมองว่าการนำใยผ้ามารีไซเคิลคือความยั่งยืน แต่ก็ยังผลิตเสื้อผ้าจำนวนมากจนสิ้นเปลืองอยู่ดี ความยั่งยืนสำหรับเธอในฐานะผู้บริโภคคือใช้สิ่งที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุดและลดการซื้อใหม่ เธอจะเก็บแรงบันดาลใจจากผลงานผ้าทอของแพรและไอเดียที่ได้จากเวิร์กชอปของแซนไปประยุกต์ใช้กับเสื้อผ้าตัวเก่าที่มีอยู่ในบ้าน ด้วยการนำดอกไม้มาต้ม สกัดสี และนำไปย้อมสีเสื้อผ้าตัวเก่าให้ได้สีใหม่ เสมือนได้เสื้อผ้าชิ้นใหม่นั่นเอง
นิสาพร วิบูลย์จันทร์ วัย ๔๐ กว่าปี กล่าวว่าเธอตามมาดูนิทรรศการนี้เพราะเห็นแพรโพสต์เชิญชวนผ่านเฟซบุ๊กที่เธอติดตาม ด้วยอาชีพข้าราชการทำให้เธอต้องสวมชุดไทยอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเห็นแพรนำผ้าไหมท้องถิ่นและเศษผ้ามาตัดเย็บเป็นชุดสไตล์ใหม่ จึงสนใจอยากศึกษากระบวนการเพื่อนำไปต่อยอดในอนาคต
ในมุมมองของเธอ การที่ดอกไม้เป็นสิ่งสวยงามตามธรรมชาติให้มนุษย์ได้เชยชมแล้วเกิดความสุข ความจรรโลงใจที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีงามอื่นๆ ต่อไปก็ถือว่าเป็นความยั่งยืนแล้ว
ไม่น่าเชื่อว่าจากนิทรรศการศิลปะเกี่ยวกับดอกไม้ที่ข้าพเจ้ามองว่าเป็นความสวยงามที่อาจเข้าถึงได้บ้าง ไม่ได้บ้างแล้วแต่บุคคล จะทำให้ข้าพเจ้าได้สนทนากับกลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อมที่ตั้งใจส่งต่อแนวคิดดีๆ รวมถึงความสัมพันธ์น่ารักๆ อันเกิดจากการได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติในพื้นที่ของตน ทั้งในป่าใหญ่ ในสวนเล็ก และบนดาดฟ้าสูง ส่งต่อมาสู่ผู้ชมงานนิทรรศการด้วยมวลพลังงานแห่งความสุข
ดอกไม้เป็นความสำเร็จของพืชที่ยังสืบเผ่าพันธุ์ไว้ได้ฉันใด
ดอกไม้ก็เป็นตัวแทนความสำเร็จของมนุษย์ที่ยังรักษาธรรมชาติไว้ได้ฉันนั้น
เจ้าบุปผายังคงงอกเงยงดงาม ปรากฏตามป่าเขาลำเนาไพร งามสง่าอยู่บนตึกสูงใหญ่ เติบโตอยู่ในสวนหลังบ้าน บานสะพรั่งแม้อยู่ริมถนน…
หวังว่าเราจะรักษาสีสันอันหลากหลายของพรรณไม้ไว้ได้ตราบนานเท่านาน
เพราะเมื่อใดไร้ดอกไม้ เมื่อนั้นไร้เรา…