วิมลรัตน์ ธัมมิสโร : รายงาน
ผลงานจากนักศึกษาฝึกงานนิตยสาร สารคดี

แรมซาร์ไซต์ : ลมหายใจชาวกระบี่

A majestic view of Krabi Island in Krabi province, Thailand. Its biodiversity and people are under threat by the proposed coal power plant project owned by the government.

๒ กุมภาพันธ์ของทุกปีได้รับการกำหนดให้เป็นวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก* นับแต่มีการแต่งตั้งอนุสัญญาแรมซาร์ หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน เมื่อปี ๒๕๑๖ อนุสัญญาเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาล ความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่ออนุรักษ์ ยับยั้งการบุกรุก และการลดถอยของพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ประเทศไทยคือ ๑ ใน ๑๖๐ ประเทศจากภูมิภาคทั่วโลกที่เป็นภาคี นับจากวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๑ ถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ “แรมซาร์ไซต์” ทั้งสิ้น ๑๕ แห่ง กระจายทุกภูมิภาค อาทิ พื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสียน จังหวัดพัทลุง พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

(หมายเหตุ : เมษายน ๒๕๖๓ ได้มีการเพิ่มพื้นที่ แม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งที่ ๑๕)

กระบี่เมืองสวรรค์แห่งการท่องเที่ยว ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกถึงทะเลเป็นหลัก เพราะทะเลแห่งนี้สวยงามติด ๑ ใน ๑๐ ของชายหาดที่น่าเที่ยวที่สุดในโลก นอกจากนี้ธรรมชาติยังรังสรรค์ความงามอีกอย่างหนึ่งให้อยู่คู่กับพื้นที่มรกตแห่งอันดามัน นั่นคือพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่

พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้เสมือน “ปอด” ของชาวกระบี่และจังหวัดใกล้เคียง เป็นถังก๊าซออกซิเจนขนาดใหญ่ที่เลี้ยงคนในพื้นที่มาช้านาน

พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ตั้งอยู่ในพื้นที่สองอำเภอ คือ อำเภอเมือง และอำเภอเหนือคลอง ซึ่งกำลังจะเกิดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2015

นอกจากนี้ยังมีประกาศจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ พ.ศ. ๒๕๕๓ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ถึง ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๕ เป็นเวลา ๕ ปีแล้วที่การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ไม่ได้รับการต่ออายุ ปล่อยให้กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แก้ไขในร่างประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ เดินหน้าโครงการด้านพลังงานได้

เกิดเป็นคำถามจากประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันหยุดถ่านหินกระบี่

“ถูกแล้วหรือ ?” ที่ภาครัฐกำลังร่วมมือกันปรับเปลี่ยนเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่อันเป็นฐานทรัพยากรธรรมชาติระดับประเทศและครอบคลุมพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมถ่านหิน ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่ครอบคลุมพื้นที่แรมซาร์ไซต์

อย่างไรก็ตามยังไม่มีบทสรุปชัดเจนว่าผิดหรือถูก ดีหรือร้าย หรือต้องเลือกระหว่างความมั่นคงทางด้านพลังงานที่ต้องการให้เกิดอุตสาหกรรมโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว หรือเลือกความมั่นคงทางด้านฐานทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน

การจัดการทรัพยากรเหล่านี้ยังคงเป็นคำถามที่คนกระบี่และใครหลาย ๆ คนต้องการคำตอบที่ชัดเจนก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป

เชิงอรรถ

* พื้นที่ชุ่มน้ำ หมายถึง ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือ น้ำท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงชายฝั่งทะเลและที่ในทะเลในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุดมีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน ๖ เมตร (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ๒๕๕๒)