ศรัณย์ ทองปาน

5months

ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา
น. ณ ปากน้ำ
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ
พิมพ์ครั้งที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๘
๕๓๖ หน้า ๕๕๐ บาท

ทดลองอ่าน

เมษายน ๒๕๖๐ คือวาระครบรอบ ๒๕๐ ปีแห่งการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาราชธานี ในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “เสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒” เท่าที่เห็นผ่านตา ในปีนี้ก็มีการจัดกิจกรรม เช่นการเสวนา ทัศนศึกษา รวมถึงตีพิมพ์หนังสือ หลายงานหลายเล่มด้วยกัน เช่นเดียวกับเมื่อครึ่งศตวรรษมาแล้ว ขณะที่กำลังจะถึงวาระ ๒๐๐ ปี “อวสานกรุงศรีฯ” ในปี ๒๕๑๐ ก็มีทีม “ปัญญาชน” แห่งยุค นำโดยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ซึ่งก็เพิ่งมีการเฉลิมฉลองวาระ ๗ รอบชาตกาลของท่านไปเมื่อไม่นานมานี้) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญ จัดกิจกรรมในนามคณะกรรมการจัดงานอนุสรณ์อยุธยา ๒๐๐ ปี ซึ่งว่าที่จริงก็ไม่ได้ต่างกับสมัยนี้เท่าใดนัก เช่นมีการจัดปาฐกถาเนื่องด้วยอยุธยาหลากหลายแง่มุม รวมถึงมีโปรเจ็คใหญ่ในการศึกษาศิลปกรรมของอยุธยา ซึ่งอาจารย์สุลักษณ์ มอบหมายให้มิตรสหายท่านหนึ่ง คือ น. ณ ปากน้ำ หรืออาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ (๒๔๗๑–๒๕๔๓) รับงานนี้ไป ด้วยทุนสนับสนุนจากมูลนิธิเอเซีย (Asia Foundation) โดยมีวัตถุประสงค์ว่าจะนำผลงานการค้นคว้า เช่น ภาพถ่าย ภาพคัดลอกจิตรกรรมฝาผนัง และรายงานการสำรวจ ไปจัดนิทรรศการในเดือนเมษายน ๒๕๑๐

ขณะนั้น น. ณ ปากน้ำ เป็นหนุ่มใหญ่วัยใกล้ ๔๐ ปี มีดีกรีเป็นลูกศิษย์ “อาจารย์ฝรั่ง” ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผนวกด้วยชื่อเสียงที่สั่งสมมานับสิบปี ในฐานะนักเขียนนักค้นคว้าเรื่องศิลปกรรมโบราณ

เพื่อการนี้ น. ณ ปากน้ำ และลูกศิษย์ ๒-๓ คน ต้องไปฝังตัวอยู่ที่อยุธยาถึงห้าเดือนเต็ม ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ๒๕๐๙ ถึงเดือนมีนาคม ๒๕๑๐ ลงทุนเช่าบ้าน ซื้อเรือ ออกตะลุยสำรวจกัน ด้วยความฝันอันยิ่งใหญ่ว่า “ข้าพเจ้าต้องการสำรวจอยุธยาให้มากที่สุด โดยจะตะลุยค้นให้หมดไม่ให้เหลือ แม้ว่าจะบุกป่าฝ่ารกลำบากขนาดไหน จะต้องดั้นด้นไปให้ได้”

เมื่อครึ่งศตวรรษก่อน โบราณสถานส่วนใหญ่ของอยุธยายังจมอยู่ในป่าในดง การสำรวจจึงต้องทำงานอย่างสมบุกสมบัน เดินเท้าข้ามทุ่งร้าง บุกพงหญ้าสูงท่วมหัว บางครั้งก็ต้องลงลุยน้ำลึกถึงเอว เพื่อค้นหาวัดร้างที่เห็นชื่ออยู่ในแผนที่ หรือชาวบ้านเล่าว่ามีอยู่ตรงนั้นตรงนี้

รายงานภาคสนามนั้นต่อมาแปรสภาพเป็นรูปเล่มหนังสือชื่อ ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ๒๕๑๐ โดยสำนักพิมพ์ศึกษิตสยาม หลังจากนั้นในปี ๒๕๒๙ และ ๒๕๔๐ ก็มีฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ และ ๓ เกิดขึ้น โดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ เช่นเดียวกับฉบับล่าสุดในปี ๒๕๕๘ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ ๔ และเป็นครั้งแรกตั้งแต่ น. ณ ปากน้ำ ผู้เขียน ถึงแก่กรรมไปเมื่อปี ๒๕๔๓ ในวัย ๗๒ ปี

นักประวัติศาสตร์ศิลปะรุ่นต่อๆ มาอาจพัฒนาความรู้จนก้าวผ่านข้อคิดเห็นหรือประเด็นบางอย่างที่ น. ณ ปากน้ำ เคยเสนอไปแล้ว อันเป็นสามัญลักษณะแห่งวงวิชาการที่ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปเรื่อยๆ หากแต่ ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา ยังคงมีสถานะอันพิเศษเฉพาะตัว ประดุจหลักไมล์ตรึงแน่นบนถนนแห่งกาลเวลา บันทึกประสบการณ์และข้อมูลกรุงเก่าอยุธยาเมื่อหลายสิบปีก่อนหน้าไว้ให้คนชั้นหลังได้ร่วมรับรู้

โดยเฉพาะ ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา ฉบับล่าสุดที่มีจำนวนหน้ามากที่สุดเท่าที่เคยพิมพ์กันมา เนื่องเพราะเพิ่มภาพวาดจากสมุดบันทึกภาคสนาม ปี ๒๕๐๙ – ๒๕๑๐ เข้าไปอีกนับร้อยหน้า ยามเมื่อผู้อ่านนั่งกรีดพลิกผ่านหน้ากระดาษยังที่นั่งที่นอนอ่านอันแสนสุโขของตน นอกจากจะได้หวนระลึกถึงความเหนื่อยยากแสนเข็ญแห่งการสำรวจเมื่อ ๕๐ ปีมาแล้ว ยังมีโอกาสลอบชำเลืองข้ามไหล่ น. ณ ปากน้ำ ระหว่างลากปากกาหมึกซึม สเก็ตช์ภาพเจดีย์ พระพุทธรูป ใบเสมา ลงบนหน้ากระดาษสมุดวาดเขียนเล่มใหญ่ของท่านอีกด้วย