passport02Passport  

สารคดีท่องเที่ยวเชิง unique ชวนแบกเป้ไปเปิดมุมมองนอกขวานไทย ติดตามคอลัมน์ Passport ทุกวันศุกร์-สุขหรรษา


เรื่อง / ภาพ : สุชาดา ลิมป์

“Are you ready?”

สาวชาวฝรั่งเศสทัก เธอมองหน้าคู่รักแล้วรัวหัวเราะขณะก้าวจากรถไฟไม้ไผ่ที่ชาวกัมพูชาเรียกว่า “โนรี” (Norry หรือ Nori) เพื่อเปิดทางให้คิวถัดไปขึ้นใช้บริการ เราตอบกลับแบบไม่รู้ชะตา

“Yeah!”

รถไฟไม้ไผ่ แรงทะลุราง!

ที่สถานีรถไฟในชุมชนอุดัมบัง (Odambang) จังหวัดพระตะบอง ชาวกัมพูชากลุ่มหนึ่งยังหาเลี้ยงชีพด้วยการให้บริการ “รถไฟไม้ไผ่” (Bamboo train) ที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างง่ายตามภูมิปัญญาท้องถิ่น เพียงตัดไม้ไผ่ทำแคร่อุปโลกน์เป็นตัวรถไฟ ขัดสานตอกไผ่เป็นที่นั่ง เชื่อมต่อเข้ากับชุดล้อโลหะ แล้วติดเครื่องยนต์ดัดแปลงจากเครื่องยนต์ของเรือ เท่านี้ก็พร้อมโลดแล่นไปตามรางรถไฟสายโบราณ

ช่วงต้นทศวรรษที่ ๑๙๗๐ เจ้าหน้าที่รถไฟเคยใช้พาหนะนี้ในภารกิจซ่อมแซมราง โดยใช้ไม้ค้ำยันช่วยเคลื่อนไปบนรางคล้ายการถ่อเรือ ในยุคเขมรแดงก็เคยทำหน้าที่ลำเลียงสินค้า ขนส่งทหารเวียดนามและทหารกัมพูชาเข้าสู่สนามรบ กระทั่งสงครามกลางเมืองยุติ รางรถไฟสายนี้ก็ถูกทิ้งร้าง

bambootrain06

หลายสิบปีที่ผ่านมาชาวบ้านจึงร่วมชุบชีวิตให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง พัฒนาการใช้งานโดยติดเครื่องยนต์ ให้เป็นรถไฟไม้ไผ่รับจ้างขนข้าวของและขนส่งคนในละแวก รวมถึงเปิดให้นักท่องเที่ยวใช้บริการเที่ยวชมวิถีชนบทริมทางรถไฟด้วยระยะทาง ๕๐๐ เมตร ในราคาคนละ ๑๐ ดอลลาร์ (๓๕๐ บาท)

คนขับรถไฟติดเครื่องยนต์เสียงสนั่นราวช้างคำราม แล้วตะโกนถามความพร้อมอีกครั้ง

“I’ll go for it!”

bambootrain05

เราตะโกนตอบไปด้วยความรู้สึกพร้อมลุยสุดๆ พอรถเคลื่อนตัวได้ก็ซิ่งทะยานด้วยความเร็วสูงสุด ๔๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วจนเนื้อกระเพื่อมคันผิวยุบยิบ-แรงจนก้นกระดกลอยไม่ติดเก้าอี้

bambootrain04 bambootrain03

คนขับเล่าว่า รถไฟไม้ไผ่รับผู้โดยสารได้สบายถึง ๑๕ คน แต่จะให้บริการนักท่องเที่ยวคันละไม่เกิน ๘ คน เพื่อความปลอดภัย อันที่จริงเขาไม่ได้ขับซิ่งตลอดเวลา บริเวณไหนมีทัศนียภาพทุ่งนาสวย ผ่านชุมชนเล็กๆ จะชะลอให้ซึมซับบรรยากาศถ่ายรูปเล่น สนุกสุดคือประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบได้มีส่วนร่วมระหว่างผู้โดยสารกับคนขับที่ต้องคอยลุ้น-ระวังสัตว์ เด็กน้อย หรือผู้คนที่อาจข้ามรางรถไฟอยู่ ใครเห็นสิ่งผิดสังเกตก่อนต้องช่วยร้องเตือนกัน เพราะกว่ารถไฟไม้ไผ่จะหยุดสนิทต้องใช้ระยะทาง ๔-๕ เมตร

bambootrain02

ความที่เป็นรถไฟรางเดี่ยว เมื่อเจออีกคันสวน ขากลับต้องหลีกทางให้ฝั่งขาไป หรือหากคันไหนมีผู้โดยสารน้อยกว่าก็อาจเสียสละเป็นฝ่ายหยุด คนขับทั้งสองจะช่วยกันยกรถไฟลงจากราง เคลื่อนคันหนึ่งให้ผ่านพ้นแล้วช่วยยกอีกคันกลับคืนรางก่อนแยกย้าย เป็นเช่นนี้จนถึงสถานีปลายทาง รถจะพัก ๕ นาที ให้ผู้โดยสารอุดหนุนเครื่องดื่ม ของที่ระลึกอย่างผ้าขาวม้า เสื้อยืด เสื้อกล้าม สกรีนลาย Bamboo Train

เพื่อนที่ไปด้วยกันหวังดื่มเบียร์ช่วยลดความหวาดเสียวขากลับ ผลคือไม่ช่วยอะไรเพราะคนขับรักษาความเร็ว-แรงทะลุรางจนไม่สามารถยกเบียร์ซดได้ กรวดหินดินทรายและสะพานไม้ใต้รางรถไฟที่เปลี่ยนระดับความขรุขระตลอดเวลาทำให้เบียร์กระฉอกหมดกระป๋องในเวลาไม่นาน

นี่คือเสน่ห์ของเมืองพระตะบอง ที่ไม่อยู่ในโปรแกรมท่องเที่ยวมหาชน

ซึ่งอีกไม่นานจะกลายเป็นตำนานอีกครั้ง หากบริษัทของออสเตรเลียกับกลุ่มบริษัทในกัมพูชาก่อสร้างและฟื้นฟูยกระดับทางรถไฟสายหลักแล้วเสร็จ รถไฟไม้ไผ่จะไม่ได้รับอนุญาตให้วิ่งบนรางนี้อีก

ในที่สุดช่วงเวลาแห่งความสนุกเสี่ยงๆ แบบคลาสสิกของเราก็ถึงเวลาส่งต่อให้กลุ่มถัดไปบ้าง

bambootrain01

เป็นหนุ่มสาวชาวเยอรมัน Volunteer Teacher สอนภาษาอังกฤษให้เด็กน้อยชาวขแมร์

“Are you ready?”

เราถามแฝงความรู้สึกที่คนนั่งแล้วเท่านั้นจะเข้าใจ พวกเขายกนิ้วโป้งตอบคะนอง

“I was born ready!”, “Bring it on!”, “I’m game!”

นั่นเป็นเพราะพวกเขายังไม่รู้จัก โนรี-รถไฟไม้ไผ่ของชาวพระตะบองดีพอ