ผีสางเทวดา  เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ศรัณย์ ทองปาน

erawan-01
ในหนังหรือในละครทีวีมักจะเห็นว่าเวลามีคนไปหาคนทรงหรือไปบนบานศาลกล่าว เขามักต้องต้องแทนตัวเองเวลาพูดกับ “ผี” หรือ “เจ้า” ว่า “ลูกช้าง” ทุกที ไม่รู้ทำไม ? อาจเพราะเทียบตัวเองกับตุ๊กตาช้างที่เอามาแก้บนกระมัง ?

และช้างแก้บนที่น่าจะโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทยคงได้แก่ที่ศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์ ซึ่งมีผู้นำเอาช้างสารพัดขนาด ตั้งแต่ตัวเล็กจิ๋วจนถึงตัวใหญ่เกือบเท่าลูกช้างจริงๆ ไปแก้บนกันทุกวัน เช่นเดียวกับละครรำที่มีตั้งประจำอยู่ที่ข้างศาล

แต่พระพรหมจะเกี่ยวอะไรกับช้างอีกก็ไม่รู้เหมือนกัน ถ้าจะให้เดา สงสัยว่าอาจเนื่องมาจากชื่อ “เอราวัณ” ของโรงแรมที่เคยตั้งอยู่ตรงนั้นก็เป็นได้

เอราวัณเป็นชื่อช้างทรงของพระอินทร์ เทพผู้เป็นใหญ่แห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในคัมภีร์ (เช่น “ไตรภูมิพระร่วง”) เล่าว่า ตามปกติท่านก็เป็นเทวดานี่แหละ แต่เมื่อพระอินทร์จะเสด็จ ก็มีหน้าที่ต้องแปลงตัวเป็นช้าง ๓๓ หัวให้พระอินทร์ขี่ไปไหนมาไหน

มีตำนานเล่าถึงกำเนิดศาลพระพรหมแห่งนี้ว่ารัฐบาลไทยสมัยเมื่อ ๖๐ กว่าปีมาแล้ว เริ่มต้นนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยว จึงวางแผนสร้างโรงแรมหรูหราใหญ่โตของทางราชการไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว แล้วคงจะนึกเอาว่าอยากให้โรงแรมนี้สนุกสุขสบายเหมือนสรวงสวรรค์ เลยตั้งชื่อว่า “เอราวัณ” ตามชื่อช้างของพระอินทร์ และมีตราโรงแรมเป็นรูปช้างสามเศียร

ปรากฏว่าระหว่างการก่อสร้างเกิดปัญหาและอุปสรรคมากมาย วัสดุก่อสร้างขาดแคลน คนงานประสบอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิต ทำให้การก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดมาก เจอแบบนี้เข้าไป ทางผู้ใหญ่ในรัฐบาลจึงต้องขอความช่วยเหลือจากนายพลทหารเรือท่านหนึ่ง คือคุณหลวงสุวิชานแพทย์ (อั๋น สุวรรณภาณุ) ซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้มีฌาณพิเศษ สามารถติดต่อกับ “เบื้องบน” ได้ ให้ท่านมาช่วย “นั่งทางใน” ดูว่ามีปัญหาอะไร

คำตอบที่ได้รับคือการใช้ชื่อ “เอราวัณ” นั้น เป็นเรื่องไม่สมควร เพราะเป็นชื่อช้างทรงของพระอินทร์ เป็น “ของสูง” ทางแก้คือให้สร้างศาลพระพรหมขึ้น หลังจากนั้นเป็นต้นมา การก่อสร้างก็ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น จนโรงแรมเปิดให้เข้าพักได้เรียบร้อยในท้ายที่สุด

ทว่ายังเหลือข้อที่น่าสงสัยก็คือ ถ้าปัญหาอยู่ที่ว่าอุปสรรคคือการใช้ชื่อช้างของพระอินทร์ ทำไมจึงไม่สร้างศาลพระอินทร์เพื่อเป็นการขออนุญาต ?

erawan-02

ไม่เคยมีคำอธิบายอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้ แต่บางที คำตอบอาจอยู่ใน “วัฒนธรรมอำนาจ” ของไทยนั่นเอง เพราะคนไทยแต่โบราณนับถือพระอินทร์พระพรหมว่าเป็นเทพยดาผู้รักษาพระพุทธศาสนาทั้งคู่ ในพุทธประวัติจึงมาปรากฏตัวด้วยกันเสมอๆ แต่ถ้าเทียบกันโดยลำดับศักดิ์ พระพรหมถือว่าเป็นเทพชั้นสูงกว่า ตามวิธีแก้ปัญหาแบบไทยๆ นั้น ถ้ามีเรื่องกับใครแล้ว “เคลียร์” ไม่ได้ ก็ต้องไปหา “ผู้ใหญ่” มาช่วยคุยให้ ดังนั้นในกรณีนี้ เมื่อรัฐบาลมีปัญหากับ “พระอินทร์” ก็เลยต้องไปพึ่งบารมีของ “พระพรหม” ที่เป็นผู้ใหญ่ใกล้ชิดนั่นเอง

โรงแรมเอราวัณเลิกกิจการและรื้อไป ๓๐ ปีแล้ว แต่ศาลพระพรหมยังอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ และกลายเป็นสถานที่สักการะสำคัญ โดยเฉพาะในหมู่นักท่องเที่ยวเชื้อสายจีนทั่วทั้งภูมิภาคที่เดินทางมากรุงเทพฯ


srunศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสารสารคดี