
นอกจากเรื่องมหาทักษา อันเป็นตำราว่าด้วยเทวดาพระเคราะห์เข้ามาเสวยอายุและเข้ามาแทรกเป็นระยะๆ ตลอดทั้งชีวิตแล้ว โหราจารย์แต่โบราณยังดัดแปลงมาเป็นหลักเกณฑ์อีกอย่างหนึ่ง เรียกกันว่า “ทักษาพยากรณ์” หรือ “ภูมิพยากรณ์”
อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร (๒๔๖๒-๒๕๓๖) ครูใหญ่ฝ่ายวิชาโหราศาสตร์คนสำคัญ อธิบายในหนังสือ “มหาทักษาพยากรณ์” (ฉบับพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูสุวรรณรังสี สุวรรณ ชุตินฺธโร ๒๕๐๗) ว่า ชีวิตของแต่ละคน ประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมสำคัญ ๘ ประการ อันได้แก่
- บุตร ภรรยาสามี ญาติมิตร ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือผู้ที่ต้องให้ความอุปการะเลี้ยงดู เรียกว่า “บริวาร”
- ความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิต โรคภัยไข้เจ็บ เรียกว่า “อายุ”
- อำนาจวาสนา ความเจริญก้าวหน้าในชีวิต รวมเรียกว่า “เดช”
- ทรัพย์สินเงินทอง ความร่มเย็นเป็นสุข คุณงามความดี และศิริมงคล เรียกว่า “ศรี”
- บ้านเรือนที่อยู่อาศัย บิดามารดา หลักฐานความเป็นปึกแผ่นมั่นคง คือ “มูละ”
- ความขยันหมั่นเพียร การงาน การศึกษา เรียกว่า “อุตสาหะ”
- ผู้ให้ความคุ้มครอง อุปถัมภ์ ดูแลช่วยเหลือ เจ้านาย ผู้เป็นที่พึ่ง รวมเรียกว่า “มนตรี”
- ศัตรู อุปสรรค ความทุกข์ยาก รายจ่าย ความชั่วร้ายล้างผลาญ คือ “กาลกรรณี” (โดยทั่วไป รู้จักกันในนาม กาลกิณี)
หลักทักษาพยากรณ์ได้นำเอาความเป็นไปทั้ง ๘ ประการในชีวิตดังกล่าวนี้ อันได้แก่ บริวาร-อายุ-เดช-ศรี-มูละ-อุตสาหะ-มนตรี- กาลกรรณี (หรือกาลกิณี) มาประกอบเข้ากับดาวเคราะห์หรือเทวดาอัฐเคราะห์ คือ อาทิตย์-จันทร์-อังคาร-พุธ-เสาร์-พฤหัสบดี-ราหู-ศุกร์ อันมีจำนวนเป็น ๘ เสมอกัน
วิธีการคำนวณเรื่องนี้ ให้เริ่มนับจากวันที่เป็นวันเกิด ถือว่าเป็น “บริวาร” แล้วไล่ไปตามลำดับของเทวดาอัฐเคราะห์
เช่นคนเกิดวันจันทร์ จะมีจันทร์ (๒) เป็นบริวาร มีอังคาร (๓) เป็นอายุ มีพุธ (๔) เป็นเดช มีเสาร์ (๗) เป็นศรี มีพฤหัสบดี (๕) เป็นมูละ มีราหู (๘) เป็นอุตสาหะ มีศุกร์ (๖) เป็นมนตรี และมีอาทิตย์ (๑) เป็นกาลกิณี
หลักทักษาพยากรณ์ ถือเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญที่สุดในการตั้งชื่อของคนไทย อันเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดสลับซับซ้อน รวมทั้งยังถูกนำไปทาบซ้อนทับกับเรื่องของสีประจำวัน อันเป็นที่มาของคติเรื่อง “เสื้อสีมงคล” ดังที่หลายคนขวนขวายปฏิบัติกันในบัดนี้ เช่นสีที่ว่าจะส่งเสริมโชคลาภ จะตรงกับ “เดช” สีที่ให้คุณแก่เรื่องการงาน คือ “ศรี” สีที่เสริมส่งสุขภาพ คือ “อายุ” สีที่มีผลแก่การเสริมเมตตามหาเสน่ห์ คือ “บริวาร”
ส่วน “สีฉุดดวง” ก็คือกลุ่ม “กาลกิณี” นั่นเอง