ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
มีตอนหนึ่งใน “ตำนาน” พระราชประวัติ “พระองค์ดำ” สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่คนทั่วไปจำกันได้ดี คือเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์และต้องตกไปเป็นองค์ประกัน (ตัวประกัน) ที่กรุงหงสาวดี หลังสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 พระองค์เคยทรงท้าพนันชนไก่กับมังสามเกียด (หรือมังกะยอชวา) รัชทายาทของพระเจ้ากรุงหงสาวดี ผลปรากฏว่าไก่ของพระองค์ดำชนะ ตำนานเล่าไว้ว่ามังสามเกียดออกปากเยาะเย้ยทำนองว่า “ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงนะ” ซึ่งพระองค์ดำทรงตอกกลับไปประมาณว่า “อย่าว่าแต่ชนกันเล่นๆ อย่างนี้เลย ไก่ตัวนี้จะตีเอาบ้านเอาเมืองก็ยังได้”
เรื่องนี้ถูกเล่าไว้ในฐานะ “ลางบอกเหตุ” ถึงการกู้เอกราชและการประกาศอิสรภาพที่จะเกิดขึ้นตามมาในภาคต่อ
ไม่นานมานี้ จากถ้อยคำในตำนานยังขยายตัวต่อไปกลายเป็นเรื่องราวเล่าขาน จนรู้ลึกรู้ละเอียดถึงขนาดว่า ไก่ตัวนั้นเป็นไก่เหลืองหางขาว แล้วเลยมีวิวัฒนาการเป็นที่มาของมหกรรม “ไก่แก้บน”
ไก่ปูน วัดวรเชษฐ์ในเกาะเมืองอยุธยา
ไก่ปูน วัดวรเชตุเทพบำรุง นอกเกาะเมือง
ไก่ปูน วัดวรเชตุเทพบำรุง นอกเกาะเมือง
เบื้องหน้าอนุสาวรีย์ ศาล และสถานที่สำคัญทุกแห่งในพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทั่วทั้งประเทศ เราจึงมักพบเห็นไก่ปูนระบายสี (แน่นอนว่าส่วนใหญ่ต้อง “หางขาว”) ที่มีคนนำไปถวายไว้เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นวัดวรเชษฐ์ในเกาะเมืองอยุธยา ที่เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือวัดวรเชตุเทพบำรุง นอกเกาะเมืองไปทางทิศตะวันออก ซึ่งก็มีบางท่านเชื่อว่าที่นี่ต่างหาก คือสถานที่ที่เคยประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระองค์ ล้วนมีไก่ปูนตั้งระเกะระกะอยู่ตามโบราณสถาน
ต่อมาลัทธิแก้บนด้วยไก่ยังขยายตัวต่อไปยังอนุสาวรีย์ของบุคคลอื่นๆ ที่เชื่อกันว่ามีความนิยมชมชอบการชนไก่อีก เช่นที่อนุสาวรีย์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) หน้าตึกโบราณหลังใหญ่ในโรงพยาบาลอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ตามตำนานก็กล่าวว่าสมัยยังมีชีวิต ท่านชื่นชอบการละเล่นประเภทตีไก่กัดปลา ดังนั้นเมื่อท่านกลายเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ประจำโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยไปบนบานศาลกล่าว
ไก่ปูน ที่่โนนทัน มุกดาหาร
หรือที่ศาลพันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทรสาคร ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีไก่ปูนสารพัดแบบสารพัดสีตั้งไว้ทุกหนทุกแห่ง ทั้งที่แทบไม่สามารถหาความเชื่อมโยงอะไร (แม้ในทางตำนาน) ได้เลย นอกจากว่าพันท้ายนรสิงห์เป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระเจ้าเสือ ซึ่งก็มีเรื่องเล่าในพระราชพงศาวดาร (เป็นเชิงบั่นทอนพระเกียรติยศ) ว่าทรงมีพระราชนิยมในกิจกรรมชาวบ้านๆ จำพวกชกมวย ตกปลา ตีไก่ ถ้าจะให้เดาก็คงเป็นว่า คนเลยเหมารวมเอาว่า พันท้ายนรสิงห์คงต้องโดยเสด็จพระเจ้าเสือไปตีไก่ด้วยกระมัง ?
ยิ่งกว่านั้น แม้แต่ท่านที่ไม่อาจหาส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับไก่หรือการตีไก่ได้เลย เช่น เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) อดีตเสนาบดีหลายกระทรวงในยุคราชาธิปไตย อนุสาวรีย์ของท่านด้านหน้าโรงพยาบาลประจำจังหวัดสุพรรณบุรี ก็มีคนอุตสาหะเอาไก่ปูนระบายสีมาตั้งบวงสรวงบนบานเช่นกัน