ผีสางเทวดา  เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


maeposop01

“แม่โพสพ” หรือ “เจ้าแม่โพสพ” เทพีแห่งข้าว เป็นที่นับถือของคนไทยมาแต่โบราณ แม่โพสพไม่ได้ผูกติดกับท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ผูกพันกับช่วงเวลาในฤดูกาลทำนามากกว่า ชาวนาไทยจึงสามารถสักการะเซ่นไหว้ที่ใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นในผืนนาเมื่อทำขวัญข้าว หรือที่ยุ้งฉางของตนเองเมื่อขนข้าวขึ้นยุ้ง และอาจด้วยเหตุนั้นจึงไม่ค่อยปรากฏศาลแม่โพสพมากนัก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังพอมีอยู่ให้เห็นบ้าง

maeposop02

ศาลแม่โพสพในวัดศิริวัฒนาราม แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี มีประวัติว่าเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว มีชาวบ้านผัวเมียแช่ข้าวสารค้างคืนตั้งใจจะโม่เป็นแป้งข้าวเจ้าไว้ทำเส้นขนมจีน แต่รุ่งเช้าขึ้นมา ข้าวสารนั้นกลับงอกเป็นต้นข้าว ตามความเชื่อของคนโบราณ อะไรที่ไม่ควรมีไม่ควรเป็น แต่ดันเกิดขึ้นมา ถือกันว่าเป็นลางร้ายหรือเป็น “อุบาทว์” สองตายายเลยเอาข้าวสารงอกไปผสมดินปั้นเป็นรูปแม่โพสพขึ้นไว้ แล้วเลยกลายเป็นที่นับถือของชาวนาแถบบางพรม จนมีการตั้งศาลทรงไทยขึ้นเป็นที่ประดิษฐาน ที่สี่แยกจุดตัดของคลองในย่านนั้น นอกจากชาวนาบางพรม แม้แต่แม่ค้าที่พายเรือผ่านทางก็ไม่เว้นจะต้องเอาพวงมาลัยมาไหว้

นั่นคือนอกจากแม่โพสพจะเป็นเทพธิดาแห่งข้าวแล้ว ยังเป็นที่เคารพในฐานะ “เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์” ของคนค้าคนขายด้วย

แต่รูปปั้นแม่โพสพองค์เดิมที่ว่า มีคนขโมยไปแล้วเมื่อราว 40 ปีก่อน เพราะลือกันว่าข้างในเป็นทอง เช่นเดียวกับที่ศาลหลังเดิมก็ถูกไฟไหม้ ว่ากันว่าเกิดจากพวงมาลัยแห้งๆ ที่สุมกันอยู่จนเต็มกลายเป็นเชื้อไฟอย่างดี ชาวบ้านจึงช่วยกันจัดหารูปแม่โพสพองค์ใหม่ แล้วย้ายศาลมาตั้งในวัดศิริวัฒนารามที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อให้ใกล้หูใกล้ตามีคนคอยช่วยดูแล

เมื่อสัก 10 กว่าปีมานี้ มีการเรี่ยไรเงินสร้างศาลถวายให้ใหม่เป็นคอนกรีตใหญ่โต มีหน้าบันปั้นรูประบายสีเป็นแม่โพสพ เหมือนกับรูปปฏิมากรรมที่ประดิษฐานอยู่ภายใน คือทำเป็นรูปสตรีนั่งพับเพียบเรียบร้อย มือถือรวงข้าว

ทุกวันนี้ทุ่งนาแถบบางพรมหมดไปหลายสิบปีแล้ว แต่ศาลแม่โพสพก็ยังเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้าน โดยจะมีการจัดงานสมโภชประจำปีขึ้นพร้อมกับงานประจำปีของวัดศิริวัฒนารามในช่วงเดือนมีนาคม แถมในศาลยังมีการนำเอารูป “แม่” องค์อื่นๆ คือแม่พระธรณี กับแม่นางกวัก มาตั้งรวมกันไว้ด้วย

maeposop03

อีกแห่งที่เคยเห็นคือศาลเจ้าแม่โพสพที่ซอยลาดพร้าว 1 ใกล้ๆ ห้าแยกลาดพร้าว กรุงเทพฯ เดิมย่านนั้นสมัยก่อนโน้นก็เคยเป็นชนบทเป็นทุ่งนามาก่อน ครั้นเมื่อราว 30 กว่าปีมานี้ ลาดพร้าวเริ่มกลายเป็นย่านกลางเมือง มีห้างร้านใหญ่โตไปตั้ง ทุ่งนาและชาวนาก็ค่อยๆ สาบสูญไป แล้วแถวนั้นคงไม่มีวัดใกล้ๆ ที่ไหนที่จะย้ายศาลไป “ฝาก” ไว้ได้ ศาลแม่โพสพที่ตั้งติดที่มาจากยุคของชาวนาจึงได้กลุ่มผู้ศรัทธาใหม่เป็นชาวตลาด จึงมีการสร้างศาลใหม่เป็นเก๋งจีน แล้วเจ้าแม่เลยได้ชื่อภาษาแต้จิ๋วไปด้วย คือต้องมีวงเล็บต่อท้ายว่า (ตี่บ้อเซี้ยเนี้ย)

maeposop04

ไม่นานมานี้ ผ่านไปทางถนนท้องถิ่นเล็กๆ ในตำบลบ้านใหม่ อำเภอบางใหญ่ นนทบุรี เห็นมีศาลแม่โพสพอยู่ริมถนน ถามคนแถวนั้นก็ไม่มีใครทราบประวัติความเป็นมา แต่ถ้าดูจากภาพวาดฝาผนังด้านหลังศาลก็ยังเป็นฉากชีวิตไทยในอุดมคติ มีวิวทุ่งนา มีคนเกี่ยวข้าว มีวัวควายประกอบ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง รอบๆ ศาลนั้นเองก็กำลังเปลี่ยนจากทุ่งนาเป็นเมืองใหม่แล้ว คาถาที่ตั้งป้ายไว้ข้างหน้าเป็น “คาถาขายของดี” ซึ่งน่าจะมีกลุ่มเป้าหมายเป็นบรรดาพ่อค้าแม่ขาย

ในสังคมยุคที่ชาวนาเหลือน้อยลงและการทำนาต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการเกษตรมากขึ้น ฐานะของแม่โพสพจึงอาจต้องเปลี่ยนมาเป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ “ขายของดี” เป็นหลัก แทนตำแหน่งเทพธิดาแห่งข้าวที่เคยเป็นมากระมัง ?


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี